|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ขณะที่ภาพลักษณ์ "ซิตี้แบงก์" หรือแม้แต่ "เอชเอสบีซี" สาขาแบงก์นอก สายเลือดตะวันตกเหมือนกัน กลายเป็นสัญลักษณ์ "แบรนด์บัตรเครดิต" ในความจดจำของลูกค้า ... แต่ในฐานะผู้เล่นหน้าใหม่ในตลาด "รีเทล" การรีแบรนดิ้งในช่วง 2 ปีให้หลัง "สแตนชาร์ด"เลือกที่จะใช้สินค้าหลากหลาย และนวัตกรรมแปลกใหม่เป็นใบเบิกทางสู่ตลาดลูกค้ารายย่อยแทน การรุกสู่สนาม "รีเทล" จึงหมายถึงการก้าวสู่บันไดขั้นที่สองในสมรภูมิรบที่เริ่มจะเข้มข้น....
สำหรับ "สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด" ธนาคารเก่าแก่เชื้อสายผู้ดีอังกฤษ ที่มีวัยมากกว่า 100 ปี กลับไม่ได้ช่วยให้แบรนด์เป็นที่รู้จัก ในตลาดแห่งใหม่ที่มีตัวเลือกและผู้เล่นมากมายก่ายกองอย่างตลาดเมืองไทย
ว่ากันว่า การรับรู้และเริ่มจดจำชื่อ สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด จนติดปากน่าจะเริ่มต้นในช่วง 10 ย้อนหลังมานี้เอง แต่ที่รู้จักก็ต่ำกว่า 10%
กระทั่ง 5 ปีในตลาดเมืองไทย การเข้าเทกโอเวอร์ แบงก์นครธน ของคนจีนโพ้นทะเล ตระกูล "หวั่งหลี" ก็ทำให้เปอร์เซ็นต์ของกราฟการจดจำชื่อธนาคารเริ่มจะวิ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจาก 5 ปีที่กลายมาเป็นแบงก์โลคอล เลือดตะวันตก
ไม่นานนัก สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด นครธน ก็มีเปอร์เซ็นต์การจดจำได้มากถึง 60-70% อย่างรวดเร็ว ในช่วง 2 ปีให้หลัง ซึ่งถือเป็นการไต่บันไดขั้นที่ 2 ภายหลังปรับโฟกัสมาที่ "ตลาดรีเทล" อย่างจริงจังเป็นครั้งแรก
"เหมือนเด็กที่กำลังเติบโตเป็นผู้ใหญ่" ....
ศักดิ์สิทธิ์ ปิติพงศ์สุนทร ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายบริการด้านการตลาด ธนาคาร สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ยอมรับว่า ผู้คนเริ่มรู้จักมากขึ้น เพราะการ "รีแบรนดิ้ง" ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เพราะก่อนนั้น แบรนด์สแตนชาร์ดทำให้นึกถึง ธุรกิจขนาดใหญ่ ลูกค้าสถาบัน กลุ่มคอร์ปอเรทมากกว่าจะเป็นบุคคลทั่วไป
การปรับเปลี่ยนโดยหันไปโฟกัสตลาดรายย่อย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแผนแม่บททางการเงินที่เปิดให้เลือกสถานภาพเพียง 1 เดียว จากนั้นสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด นครธนก็กลายมาเป็น ธนาคาร สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) พร้อมกับการเปลี่ยน "ลุค" ใหม่ที่ดูแปลกตาขึ้น
ในอดีตสแตนชาร์ดถือเป็นแบงก์ทุนนอก ที่ค่อนข้างไปทางอนุรักษ์นิยม การรุกสู่ตลาดจึงเป็นไปอย่างระแวดระวัง ไม่หวือหวา เหมือนกับค่ายใหญ่อย่าง ซิตี้แบงก์หรือเอชเอสบีซี ที่รุกสู่ตลาดรีเทลอย่างหนักหน่วงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
ขณะที่ สแตนชาร์ดเริ่มทำความรู้จักกับลูกค้ารายย่อยแบบค่อยเป็นค่อยไป มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างผู้บริหารแบบเงียบๆ ควบคู่ไปกับการปรับโลโก้ใหม่ ให้ดูมีการเคลื่อนไหว พร้อมกันนั้นก็เริ่มทยอยปล่อยสินค้าออกสู่ตลาดหลากหลาย จนเดาไม่ถูกว่าจะโฟกัสส่วนไหนเป็นหลัก
ศักดิ์สิทธิ์บอกว่า ซิตี้แบงก์หรือเอชเอสบีซี อาจจะให้น้ำหนักกับธุรกิจบัตรเครดิตในช่วงเริ่มต้น จนถูกมองเป็นสัญลักษณ์ของแบงก์บัตรเครดิตในสายตาผู้คนทั่วไป แต่สแตนชาร์ดเลือกที่จะต่างออกไป
ในเวลา 2 ปีของการรีแบรนดิ้ง "สแตนชาร์ด" หันมาเทน้ำหนักให้กับการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อทุกรูปแบบ ที่เห็นชัดเจนที่สุดก็คือ การเปิดตัวผ่านสื่อบนสถานีรถไฟฟ้า บีทีเอส
ถัดจากนั้น ก็มีการลอนช์โปรดักส์อยู่เป็นระยะๆ แบบไม่ซ้ำประเภท รวมถึงโปรโมชั่นที่ออกมายิ่งกว่าห่าฝนแล้วแต่สถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็น บัญชีเงินฝาก BUSINESS ADVANTAGE และบัญชีเงินฝาก SME BUSINESS ADVANTAGE PLUS สินเชื่อเพื่อธุรกิจ-พลัส บัญชีเงินฝากบุคคลธรรมดา วงเงินพิเศษส่วนบุคคล บัตรเครดิต และบัตรเดบิต
ก่อนจะเร่งอัตราความถี่ของโปรดักส์ใหม่ๆผ่านโปรโมชั่นหลากหลายไม่เลือกเทศกาล ไม่นานนักฐานลูกค้ารีเทลก็มาอยู่ที่ 1.2 แสนราย อยู่ในเขตใจกลางเมืองหลวงและปริมณฑลถึง 70% ในจำนวนนี้เป็นลูกค้าบัตรเครดิต 3 แสนราย และวงเงินพิเศษส่วนบุคคล 3 แสนราย
ศักดิ์สิทธิ์บอกว่า การวางโพซิชั่นของสแตนชาร์ดคือ การเป็นพาร์ทเนอร์หรือ "คูคิดมิตรแท้" ของลูกค้าผ่านไปทางการหว่านงบโฆษณา โปรโมชั่นที่จะเริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และมากที่สุดก็คือ เทศกาลแจกโชค "ลุ้นรับทุกวัน ลุ้นรถทุกเดือน" ที่ใช้งบไปกว่า 25 ล้าน ผ่านรายการเมืองไทยวาไรตี้ ทางช่อง 5 ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนทำงาน
" เราอยากให้คนรู้จักว่า เรามีโปรดักส์ใหม่ๆหลากหลาย พร้อมกับมีกิจกรรมการตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างการจดจำและดึงลูกค้าไว้กับเรา"
รายการส่งเสริมการขาย ไม่เว้นแต่ละเดือนจึงถือเป็นก้าวสำคัญ ที่จะบอกให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของสแตนชาร์ด ที่พรีเซ้นท์ว่าจะเติบโตคู่ไปกับลูกค้า
" การตอกย้ำแบรนด์ผ่านโปรดักส์หลากหลาย ลึกๆก็คือการนำเสนอธนาคารให้ลูกค้าได้รู้จักในฐานะ คอนซูเมอร์ แบงเกอร์ จากเดิมที่มีแต่โฮล์ดเซลส์"
ศักดิ์สิทธิ์ บอกว่า โปรดักส์การเงินเป็นสินค้าที่ซับซ้อนมากขึ้น จึงต้องทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย และต้องลงมาคุยกับตลาดในทุกระดับ จากแต่ก่อนที่คุยกับคนมีการศึกษาเท่านั้น
ดังนั้น การสร้างแบรนด์จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ศักดิ์สิทธิ์ยอมรับว่า หลายปีมานี้คนรู้จักแบงก์ต่างชาติเพราะให้บริการบัตรเครดิต หรือสินเชื่อบุคคล แต่ผลสำรวจพักหลังพบว่า คนเริ่มมองต่างออกไป โดยรู้จักผ่านสินค้าอื่น โดยเฉพาะเงินฝากมากขึ้น ผลตอบรับจากโปรโมชั่นก็ค่อนข้างดี นอกจากนั้นก็มองสแตนชาร์ดเป็นแบงก์ครบวงจรและมีมูฟเม้นท์มากขึ้น....
|
|
|
|
|