ตลาดอนุพันธ์เร่งสร้างสภาพคล่องในการซื้อขาย เล็งใช้ระบบมาร์เกตเมกเกอร์ในเดือนก.ย.นี้ เผยมี 4 โบรกเกอร์แล้วที่แสดงความสนใจเข้าร่วม "เคจีไอ-ฟิลลิป-กิมเอ็ง-ภัทร" ชี้ผู้ทำหน้าที่จะต้องส่งคำสั่งซื้อขาย 5 สัญญาต่อ 1 ครั้ง และต้องรับการอนุมัติจากก.ล.ต. ตั้งเป้าภายในสิ้นปีนี้จะมีสัญญาซื้อขายสถานคงค้างประมาณ 5,000 สัญญา จากปัจจุบันที่มี 2,967 สัญญา
นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัทตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TFEX เปิดเผยว่า ภายในสิ้นปีนี้การซื้อขายในตลาดอนุพันธ์โดยเฉลี่ยจะอยู่ในระดับกว่า 1,000 สัญญา จากการที่ในปลายสิงหาคมนี้ตลาดอนุพันธ์จะมีการเปิดซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ต ทำให้นักลงทุนสะดวกและรวดเร็วในการส่งคำสั่งซื้อขายและในเดือนกันยายนนี้จะมีผู้ดูแลสภาพคล่องหรือมาร์เกตเมกเกอร์ ซึ่งขณะนี้ได้มีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) จำนวน 4 บริษัทที่เสนอจะเป็นหน้าที่ดังกล่าว ประกอบดัวย บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด, บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด, บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด, บล.ภัทร จำกัด
ขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอแนวทางการดำเนินงาน และผลประโยชน์ที่ผู้ที่มาทำหน้าที่เป็นมาร์เกตเมกเกอร์จะได้รับ โดยผู้มาทำหน้าที่ดังกล่าวจะต้องมีการส่งคำสั่งซื้อขาย 5 สัญญาต่อ 1 ครั้ง รวมถึงผู้ที่จะมาทำหน้าที่ดังกล่าวจะต้องได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก่อน ซึ่งคาดว่าจะสรุปได้ภายในเดือนนี้
นางเกศรากล่าวว่า หลังจากที่มีมาร์เกตเมกเกอร์จะทำให้มีนักลงทุนเข้ามาซื้อขายมากขึ้นและสัญญาที่มีอายุยาวมากขึ้น เพราะขณะนี้นักลงทุนจะลงทุนในสัญญาที่มีอายุสั้น คือเดือนกันยายนและเดือนธันวาคม ส่วนสัญญาเดือนมีนาคม 2550 และมิถุนายน 2550 จะไม่มีการซื้อขาย เนื่องจากนักลงทุนไม่แน่ใจทิศทางทางตลาดหุ้นในปีหน้า
จากการที่จะมีการซื้อขายอินเทอร์เน็ต และมาร์เกตเมกเกอร์ หวังว่าภายในสิ้นปีนี้จะมีสัญญาซื้อขายสถานคงค้างประมาณ 5,000 สัญญา จากปัจจุบันที่มี 2,967 สัญญา ซึ่งคาดว่าสัดส่วนนักลงทุนที่เข้ามาซื้อขายอนุพันธ์จะอยู่ที่นักลงทุนรายย่อยประมาณ 60% นักลงทุนสถาบันในประเทศ 20% นักลงทุนต่างประเทศ 20% จากขณะนี้ที่มีสัดส่วนนักลงทุนรายย่อย 52% นักลงทุนสถาบันในประเทศ 31% และนักลงทุนต่างประเทศ 17%
นอกจากนี้ภายในสัปดาห์นี้ตลาดอนุพันธ์จะมีการสรุปผลการทดสอบระบบการซื้อขายของบริษัทหลักทรัพย์ 5 แห่ง คือ บล.เกียรตินาคิน,บล.นครหลวงไทย, บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย), บล.ไซรัส และบล.บีที จากกที่มีการทดสอบระบบมาเป็นเวลา 12 สัปดาห์หลังจากนั้นทางสำนักงานก.ล.ต.จะมีการเข้าตรวจสอบระบบงานอีกครั้ง เพื่อที่จะให้ใบอนุญาตสามารถเปิดซื้อขายอนุพันธ์ก่อน
อย่างไรก็ตามตลาดอนุพันธ์จะมีการปรับปรุงระบบโดยให้ผู้พัฒนาระบบเชื่อมต่อกับระบบงานการชำระราคาอนุพันธ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของระบบปฏิบัติการหลังการซื้อขายของสมาชิก และการเปิดให้ผู้พัฒนาระบบงานอื่นๆ เข้าทดสอบระบบงาน
นางเกศรากล่าวต่อว่า ตลาดอนุพันธ์จะจัดงานวันตลาดนัดผู้ลงทุนไทยในวันที่ 5-6 สิงหาคมนี้ คาดว่าจะมีนักลงทุนเข้ามาร่วมงานไม่ต่ำกว่า 4-5 พันคน แต่จะมีนักลงทุนเปิดบัญชีซื้อขายอนุพันธ์กับโบรกเกอร์เท่าใดนั้นยังไม่สามารถประเมินได้ แต่เชื่อว่าจะทำให้ปริมาณการซื้อขายมากขึ้น ซึ่งปริมาณซื้อขายเดือนมิถุนายนและกรกฏาคมได้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเท่าตัว ขณะนี้ปริมาณซื้อขายเฉลี่ย 865 สัญญาต่อวัน
“คาดว่าการจัดงานตลาดนัดผู้ลงทุนในครั้งนี้จะมีผู้เข้าร่วมงานไม่ต่ำกว่า ครั้งแรกที่มีการจัดในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 4-5 พันราย แต่มีการเปิดบัญชีไม่มากนัก เนื่องจากในช่วงดังกล่าวตลาดอนุพันธ์ยังไม่ได้เปิดซื้อขายทำให้นักลงทุนยังรอความชัดเจน แต่การจัดครั้งนี้ก็คาดว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน” นางเกศรากล่าว
|