ในรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ 5 รายแรก ชื่อของ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ติดอันดับแรก
ถือหุ้นถึง 57.22% และดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการของแกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์
(GRAMMY) อย่างต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่ปี 2526 ที่แกรมมี่ก่อตั้งมา ขณะที่เต๋อหรือ
เรวัติ พุทธินันทน์ ที่รักษาตัวอยู่อเมริกาเป็นประธานกรรมการ
หลังจากแกรมมี่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ นักการตลาดอย่างไพบูลย์ ขยายงานตั้งแต่ลูกหลานทำธุรกิจที่แตกตัวออกไปไกลกว่าธุรกิจบันเทิงและสันทนาการกลายเป็น
5 ธุรกิจใหญ่ ๆ หนึ่ง-ด้านมีเดีย ตั้งแต่วิทยุ 12 สถานี โทรทัศน์ เคเบิ้ลทีวี
ไอบีซีที่เตรียมขยายทำ SATTLELITE TV ซึ่งได้รับอนุมัติตั้งแต่สมัยแสงชัย
สุนทรวัฒน์ โครงการนี้ไพบูลย์ฝันไปไกลถึงต่างประเทศ
อำนาจทางธุรกิจที่แท้จริงที่ไพบูลย์ตระหนักดี คือ "เครือข่าย"
ยิ่งมีเครือข่ายมาก ยิ่งทรงพลังทางธุรกิจ ดังนั้น การที่แกรมมี่มีพันธมิตรธุรกิจอย่างช่อง
7 สี และไอบีซีเป็นหุ้นส่วนนั้น ไพบูลย์ถือว่าเป็น "หุ้นส่วนที่สมบูรณ์ที่สุด"
แบบเก้าอี้สามขาที่ยากจะล้ม
"เวลามีโครงการอะไรหรือใครไปเจอะเจออะไรก็จะมาชวนหุ้นส่วนอีกสองคนไปร่วมด้วย
เราถือเป็น FIRST PRIORITY ที่ต้องถามหุ้นส่วนกันก่อนเสมอ ส่วนการตัดสินใจแล้วแต่ว่าเขาหรือเราจะไปร่วมหรือไม่
ไม่มีการห้ามกัน" สายสัมพันธ์อันแนบแน่นทางธุรกิจที่ไพบูลย์เล่าให้ฟังนี้จึงสะท้อนการผนึกผลประโยชน์ร่วมกันอย่างแยบยล
สอง - ธุรกิจดนตรีและภาพยนตร์ ผลิตเพลงและขายในนามบริษัทจัดจำหน่าย "เอ็มจีเอ"
ส่วนของละคร คอนเสิร์ต หนังโฆษณาและหนังที่กำลังสร้าง คือ จักรยานสีแดง ซึ่งผลิตในนามบริษัทลูก
"แกรมมี่ภาพยนตร์" ที่เพิ่งเกิดกลางปีที่แล้ว มีทุนจดทะเบียน 30
ล้านบาท
สาม - ธุรกิจช่องทางจัดจำหน่าย DISTRIBUTION BUSINESS ที่ไพบูลย์ทอฝันว่า
แกรมมี่จะเป็นยักษ์ใหญ่ด้านจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ธุรกิจบันเทิงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ทั้งรูปแบบค้าส่งและค้าปลีก ลักษณะเป็นเมกกะสโตร์ขายและให้เช่าวิดีโอและเทปเพลง
โดยขณะนี้แกรมมี่มีบริษัทจัดจำหน่ายที่เป็นบริษัทลูก ๆ เช่น บริษัทเอ็มจีเอ
และบริษัทแกรมมี่ เอ็ดดูเคชั่น บริษัทแกรมมี่เน็ตเวิร์ค
"ผมกะการลงทุนไว้อย่างบริษัทต้นอ้อ - แกรมมี่ประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งกะว่าพอมีพอใช้
หรืออย่างร้านศึกษาภัณฑ์ก็ 100 ล้าน เราตั้งหลักไว้ว่า 100 กู้ 100 อย่างบริษัทแกรมมี่เน็ตเวิร์คก็ใช้หลัก
100 กู้ 100 แต่ละอันเราลงทุน 100 หมด เราคิดง่าย ๆ ขีดความสามารถในการหาทุนขณะนี้ไม่ค่อยมีปัญหา"
แหล่งระดมทุนที่ไพบูลย์ตุนไว้ใช้อย่างระวังก็คือ ตลาดหลักทรัพย์ที่หุ้นของแกรมมี่ยังมีราคาที่สร้างมูลค่าได้อีกมาก
ธุรกิจที่สี่ของแกรมมี่ - ธุรกิจด้านการการศึกษาที่ไพบูลย์กำลังทำร้านศึกษาภัณฑ์ให้เป็นเซเว่น-อีเลฟเว่นประเภทธุรกิจบันเทิงในครอบครัว
โดยใช้บริษัทต้นอ้อ-แกรมมี่เป็นผู้ผลิตเครื่องเขียน ตำราแบบเรียน และโสตทัศนูปกรณ์ในห้องแล็บ
และให้บริษัทแกรมมี่ เอ็ดดูเคชั่นเป็นบริษัททำการจัดจำหน่ายตำรา วิดีโอเทป
หนังสือ ยางลบดินสอ ชุดนักเรียน ลูกเสือ อนุกาชาด โดยแกรมมี่ลงทุนทั้งหมด
ศึกษาภัณฑ์เอาไป 10% ของกำไรที่หักค่าใช้จ่ายการต่อรองนี้หลงจู๊ไพบูลย์ผู้มากประสบการณ์ตั้งแต่อยู่พรีเมียร์ที่ทำสัญญากับองค์การอาหารสำเร็จรูป
(อ.ส.ร.) ย่อมบินเหนือเมฆอยู่แล้ว
เพราะธุรกิจนี้ แกรมมี่สามารถผูกขาดสัมปทานร้านศึกษาภัณฑ์เจาะตลาดค้าปลีกที่ใหญ่มาก
ที่สามารถส่งผ่านรายการทีวี ซีดีรอม วิดีโอเทป ในลักษณะ EDUTAINMENT ครบวงจร
ตรงนี้เป็นตลาดใหญ่มากที่นักการตลาดอย่างไพบูลย์ย่อมไม่พลาดโอกาส
"ผมไม่อยากตั้งความหวังไว้สูงเกินไป ผมคิดว่า 5 ปี ผมจะมีสักประมาณ
500 ร้านค้า ตอนนี้เราเซ็นสัญญากับคุรุสภาเรียบร้อยแล้ว มีคนสมัครมาเป็นแฟรนไชส์ซี่ไม่ต่ำกว่า
1,000 รายแล้ว ซึ่งผมก็บอกเขาไปว่า ขอเราพัฒนาระบบของเราให้แข็งแรงก่อน เราถึงจะขายแฟรนไชส์"
กว่าจะพร้อม ไพบูลย์ต้องเลือกซื้อโนว์ฮาวการบริหารตลาดก่อนจะรุกชิงพื้นที่
ความเข็ดหลาบของไพบูลย์ในกรณีที่แกรมมี่ดึงผู้ถือหุ้นสองราย คือ บริษัท
ซี.ซี. แห่งญี่ปุ่นและกลุ่มเพรสิเดนท์พาร์ค ร่วมกันทำร้านค้าปลีก โดยแกรมมี่ต้องจ่ายค่ารอยัลตี้สำหรับค่าชื่อและให้ร่วมถือหุ้น
"เราต้องแบกเขาเดินตลอด ถ้าหากวันหนึ่งเขาเล่นบทหมาป่ากับลูกแกะ เขาไม่ให้เรา
เราก็ไม่รู้จะทำอย่างไรเพราะใช้ชื่อเขา ผมก็ไม่มีแรงต่อสู้เพราะแก่แล้ว ดังนั้นผมเลยเปลี่ยนมาซื้อโนว์ฮาวดีกว่า
เท่าไหร่ว่ามา ผมจ่ายเลย ถ้าเขาพัฒนาซอฟต์แวร์อีก ผมก็ยินดีซื้อ" นี้คือนโยบายใหม่ของแกรมมี่ที่ยอมลงทุนเพื่ออนาคตทั้ง
ๆ ที่ไพบูลย์นั้นเป็นจอมอนุรักษนิยมมาก ๆ
สุดท้ายธุรกิจที่ห้า คือ นำธุรกิจของแกรมมี่ออกไปต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดประเทศจีน
ฮ่องกง และไต้หวัน ซึ่งเมื่อสามปีที่แล้ว เพลงของแกรมมี่ที่บริษัทโพลีแกรมเป็นตัวแทนลิขสิทธิ์แปลงเป็นเพลงจีนประสบความสำเร็จ
แต่…งานนี้แกรมมี่ในทศวรรษนี้จึงแตกไลน์ออกไปมากเพราะความฝันเฟื่องของผู้ชายคนนี้
จนยากที่กำหนดได้ว่า ความชำนาญเฉพาะด้านของแกรมม ี่บนถนนสายบันเทิงนี้ได้แปรรูปไปสู่เครือข่ายการจัดจำหน่ายที่ขายทุกอย่างที่ขวางหน้าหรือไม่
?