เปิดตัวกันแล้วสำหรับอธิบดีกรมการประกันภัยคนใหม่ พิพรรธน์ อินทรศัพท์ พร้อมด้วยนโยบายชิ้นแรกเน้นแก้ภาพพจน์ธุรกิจประกันภัย
และเร่งรัดการจ่ายค่าสินไหมทดแทน 'โดยขอเวลาไม่เกิน 3 เดือน แนวทางแก้ไขปัญหาต่าง
ๆ จะออกมาอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม'
แต่น่าแปลกใจที่ไม่มีการกล่าวถึงการตั้งอนุญาตโตตุลาการเลย ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้
เมื่อวันที่ 30 ก.ย. กรมการประกันภัยได้เชิญข้าราชการกรมการประกันภัย จากสำนักงานประกันภัยจังหวัดทุกจังหวัด
สำนักงานคุ้มครองผู้เอาประกันภัย รวมทั้งตัวแทนจากสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยกว่า
200 ชีวิต เข้าร่วมฟังสัมมนา 'แนวทางการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการของกรมการประกันภัย'
ครั้งที่ 2
โดยการสัมมนาครั้งนั้น นับว่าเป็นการก้าวไปอีกขั้นตอนหนึ่งของการจัดตั้งอนุญาโตตุลาการ
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ทางกรมฯ ได้จัดสัมมนาไปครั้งหนึ่งแล้วเมื่อต้นเดือน
ก.ค. ในครั้งนั้นมีผู้เข้าร่วมประมาณ 130 คน เป็นข้าราชการของกรมการประกันภัยผู้ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในกระบวนการนี้
ครั้งที่ 1 เป็นการบรรยายให้ความรู้ในเรื่องแนวปฏิบัติการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาตโตตุลาการระบบสากล
บรรยายโดยวิชัย อริยะนันทกะ รองเลขาธิการส่งเสริมงานตุลาการ กระทรวงยุติธรรม
ผู้ซึ่งร่วมปลุกปั้นร่างข้อบังคับอนุญาโตตุลาการของกรมการประกันภัยมาตั้งแต่ต้น
อีกส่วนหนึ่งเป็น การบรรยายแนวทางการปฏิบัติของสมาคมประกันวินาศภัย โดยอานนท์
วังวสุ จากสมาคมประกันวินาศภัย เพื่อให้เห็นตัวอย่างที่เคยทำมาแล้วว่า ประสบความสำเร็จเพียงใด
ส่วนในครั้งที่ 2 นี้เป็นการระดมความคิดเห็นจากหลาย ๆ ฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
เพื่อให้ข้อบังคับออกมาใช้ได้อย่างดี น่าเสียดายอยู่ประการหนึ่ง คือ การพิจารณาร่างข้อบังคับครั้งนี้ได้ส่งให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาพิจารณาในช่วงก่อนเข้าร่วมสัมมนาเพียงเล็กน้อย
แม้กระนั้นก็ตามยังมีหลายจุดในร่างข้อบังคับที่ถูกท้วงติงจากผู้เข้าร่วมสัมมนา
ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจเป็นเรื่องของคณะกรรมการที่มีอำนาจในการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการ
มีข้อท้วงติงจากหัวหน้าสำนักงานประกันภัยจังหวัดชุมพรว่า ในร่างข้อบังคับนั้น
ตัวแทนทั้งหมด 9 คนมีตัวแทนจากภาครัฐเพียง 3 คน คือ ตัวแทนจากกรมการประกันภัย
2 คน และนายทะเบียน 1 คน
ส่วนที่เหลือเป็นตัวแทนจากสมาคมประกันวินาศภัย 2 คน ตัวแทนจากสมาคมประกันชีวิตไทย
2 คน และตัวแทนจากสมาคมนายหน้าประกันภัยอีก 2 คน ซึ่งในส่วนนี้จะเห็นว่าเป็นตัวแทนจากภาคเอกชนถึง
6 คน เพราะแม้ตัวแทนนายหน้า จะเสมือนหนึ่งเป็นคนกลางระหว่าง ผู้เอาประกันกับบริษัท
แต่ที่ผ่านมาในอดีตจะพบว่า นายหน้าจะมีความสัมพันธ์กับบริษัทมากกว่า เนื่องจากต้องส่งงานให้กับบริษัทเป็นประจำ
ทั้งนี้ ข้อเสนอเพื่อให้กองนิติการนำไปพิจารณา คือ การเพิ่มในส่วนคนนอกที่จะเข้าไป
เพื่อให้ภาพของคณะกรรมการเป็นกลางมากขึ้น โดยอาจจะเป็นเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคหรือสำนักงานอัยการ
เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีผู้เสนอว่า อาจจะเป็นแพทย์หรือนักกฎหมาย รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญทางด้านรถยนต์ในกรณีอุบัติเหตุเกี่ยวกับรถและผู้เชี่ยวชาญด้านอัคคีภัยกรณีเพลิงไหม้
ระบุเพิ่มเติมในส่วนคณะกรรมการด้วย
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การเสนอเรื่องเพื่อให้อนุญาโตตุลาการพิจารณานั้น
ความเห็นผู้เข้าสัมมนาจากสำนักงานประกันภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานี เสนอให้เป็นสิทธิของผู้เอาประกันเท่านั้น
ในการเลือกเสนอเรื่องต่ออนุญาโตตุลาการหรือฟ้องศาล
เพราะมิฉะนั้น อาจจะเป็นลู่ทางให้บริษัทประกันใช้สิทธิในการยื่นเรื่องต่ออนุญาโตตุลาการแทนการประนอมความตั้งแต่ต้น
"ที่ผ่านมา เมื่อเกิดความเสียหายลูกค้าก็จะไปเรียกร้องจากบริษัท ซึ่งขึ้นกับวินิจฉัยของบริษัทว่าจะจ่ายหรือไม่จ่าย
บริษัทได้เปรียบอยู่แล้วถ้าไม่จ่าย และเมื่ออนุญาโตตุลาการเกิดขึ้น ก็จะเป็นสิ่งที่ง่ายยิ่งขึ้นต่อบริษัทในการปฏิเสธแล้วเสนอเรื่องต่ออนุญาโตตุลาการที่คอยชี้ขาดอยู่แล้ว
กระบวนการนี้จึงอาจจะเป็นเครื่องมือของบริษัทในการไม่จ่ายเงินประกันในชั้นแรกก็ได้"
ผู้เสนอแนวคิด กล่าว
โดยเขาได้กล่าวเสริมว่า "ถ้าไม่เขียนเรื่องการนำเสนออย่างชัดเจนว่าเป็นสิทธิของผู้เอาประกันเท่านั้น
จะทำให้บริษัทหาเหตุไม่ให้ความสำคัญกับการประนอมความได้ ในอดีตที่ผ่านมา
บริษัทมักอ้างว่ามีหลักฐานแต่นำมาแสดงไม่ได้เพราะไปขโมยเขามา หรือกรณีรถชน
บริษัทอ้างว่ามีพยานแต่ไม่กล้านำมาแสดงเพราะกลัวจะถูกคุกคามขอไปแสดงในชั้นศาลเท่านั้น
ถ้าบริษัทอ้างเช่นนี้แล้วขอให้ไปชี้แจงกับอนุญา โตตุลาการแทนเกรงว่ากระบวนการอนุญาโตตุลาการอาจจะกลายเป็นเครื่องมือของบริษัทประกันได้"
ส่วนประเด็นที่พูดกันมาก คือ เรื่องค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมในชั้นอนุญาโตตุลาการ
ซึ่งผู้เข้าร่วมสัมมนาจาก สนง.ประกันภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานีรายเดิมได้เสนอความเห็นว่า
"ไม่ควรมีค่าใช้จ่ายเหมือนกับกระบวนการของศาล น่าจะมาจากเงินงบประมาณหรือเงินค่าสินไหมจากบริษัท
ซึ่งบริษัทจะต้องมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้อยู่ในงบของบริษัทอยู่แล้ว ค่าใช้จ่ายส่วนนี้บริษัทจึงควรเป็นผู้จ่าย"
โดยผู้เสนอแนวคิดได้ให้เหตุผลว่า "ค่าใช้จ่ายในระบบอื่นนั้น ผู้ร้องเรียนต่างฝ่ายต่างเสียผลประโยชน์
แต่ในกรณีผู้เอาประกันนั้นเป็นผู้เสียหาย เขาไม่ได้เรียกร้องผลประโยชน์ เขาเรียกร้องการบรรเทา
อย่าว่าแต่เงินที่เอามาให้อนุญาโตตุลาการเลย เงินที่จะกินในแต่ละวันยังไม่มี"
ในเรื่องค่าใช้จ่ายนี้ ผู้มีประสบการณ์ในชั้นอนุญาโตตุลาการของสมาคมประกันวินาศภัยอย่างอานนท์
วังวสุ ได้ให้ข้อมูลของสมาคมไว้ว่า "ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บนั้นบอกได้ว่าเก็บอย่างไรก็ไม่พอกับค่าใช้จ่ายจริง
ที่เรียกเก็บมายังไม่ถึง 10% ของงบที่ใช้" เพราะ 98% ของเรื่องที่เข้ามาในอนุญาโตตุลาการของสมาคมประกันวินาศภัยเป็นเรื่องเกี่ยวกับรถยนต์ที่มีทุนทรัพย์ไม่สูง
และกว่า 85% ทั้งหมด และที่ผ่านมา สมาคมใช้งบปีละ 2.5 ล้านบาท โดยเป็นเงินที่ได้รับบริจาคจากกองนิติการก็รับว่าจะได้นำข้อเสนอไปร่วมพิจารณาด้วย
แม้จะมีข้อท้วงติงในร่างข้อบังคับอยู่หลายเรื่อง แต่ก็ถือว่าขั้นตอนการตั้งอนุญาโตตุลาการของกรมการประกันภัยดำเนินไปในทิศทางที่ถูกและใกล้ความจริงเข้าไปทุกทีแล้ว
และคาดว่าในต้นปี '40 ผู้เอาประกันจะได้มีที่พึ่งเพิ่มขึ้น เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ไม่ต้องไปเสียเวลาในชั้นศาลให้ยุ่งยากเหมือนที่เป็นอยู่อย่างในปัจจุบัน
นับว่าเป็นเจตนารมณ์ที่ดีของทั้งกรมการประกันภัย ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่โดยตรงในการรับใช้ประชาชน
และบริษัทประกันภัยโดยผ่านทางสมาคมทั้งสองที่ต้องการให้เกิดขั้นตอน ของการประนอมความขึ้นก่อนที่ต้องลงเอยกันที่ชั้นศาล
เนื่องจากที่ผ่านมา บริษัทประกันค่อนข้างจะกริ่งเกรงต่อข้อหาประวิงเวลาที่เจ้าพนักงานจะใช้เป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาคดี
เนื่องจากข้อหาดักงล่าวมีบทลงโทษค่อนข้างรุนแรงถึงขั้นอาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตได้
น่าดีใจที่การสัมมนาในครั้งที่ 2 นี้ คณะทำงานของกองนิติการก็ได้กล่าวว่า
จะนำความคิดเห็นต่าง ๆ ที่มีผู้เสนอมาร่วมพิจารณาเพื่อปรับปรุงร่างข้อบังคับก่อนที่จะออกมาบังคับจริง
และคงต้องพึ่งอธิบดีกรมการประกันภัยคนใหม่ด้วยว่า จะช่วยผลักดันกระบวนการอนุญาโตตุลาการนี้ให้เป็นผลสำเร็จช้าเร็วเพียงใด