นายธนาชัย ธีรพัฒนวงศ์ นายกสมาคมนิตยสารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์ตลาดนิตยสารในเมืองไทยในช่วงครึ่งปีหลังนี้ แนวโน้มจะดีหรือไม่ดีนั้นขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจที่มีผลอย่างมากต่อเม็ดเงินโฆษณาที่จะเพิ่มขึ้นหรือหดหายไป เพราะรายได้หลักของการทำนิตยสารส่วนใหญ่จะมาจากค่าโฆษณา
จากเดิมที่ปัจจุบันประเทศไทยมีหัวนิตยสารรวมทั้งสิ้น 1,390 ฉบับ และที่มีความเคลื่อนไหวหรือแอคทีฟ ประมาณ 500-600 ฉบับเท่านั้น คาดว่าครึ่งปีหลังจะมีการปิดตัวลงกว่ามาก 100 ฉบับ เพราะสถานการณ์การแข่งขันที่รุนแรง และเม็ดเงินโฆษณารวมที่หดหายไปมาก
เนื่องจากสื่อสิ่งพิมพ์กำลังเจอปัญหาหนักในเรื่องของต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคากระดาษที่เพิ่มขึ้นกว่า 30% ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิต รวมถึงลูกค้าที่ลงโฆษณานั้น กำลังระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น เริ่มมองหาทางเลือกใหม่ เป็นสื่ออื่นที่มีราคาถูกลง ซึ่งตรงนี้จะเป็นผลเสียต่อสื่อนิตยสารอย่างมาก แต่สื่อสิ่งพิมพ์เองกลับไม่สามารถปรับราคาสินค้าขึ้นได้ เพราะกำลังซื้อของผู้บริโภคก็อยู่ในภาวะต้องประหยัดเช่นเดียวกัน ดังนั้นผู้ทำธุรกิจเกี่ยวกับสื่อสิ่งพิมพ์เองจึงต้องหันไปประหยัดค่าใช้จ่ายภายในองค์กรทดแทน
นายธนาชัย กล่าวว่า ส่วนนิตยสารหัวใหม่ที่กำลังเตรียมออกช่วงครึ่งปีหลังจากนี้ มองว่าจะมีน้อยมาก เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรกของปีที่ผ่านมา และใครก็ตามที่คิดจะทำจะต้องมีความพร้อมและมีฝีมือจริงๆ รวมไปถึงต้องมีทุนที่มากพอสมควร เพราะธุรกิจดังกล่าวจะประสบความสำเร็จได้ต้องใช้เวลานาน อีกทั้งหัวนอกที่กำลังจะเข้ามานั้น ก็จะมีการชะลอการลงทุนมากขึ้น เนื่องจากต้องดูสถานการณ์ไปก่อน
ทั้งนี้ การออกนิตยสารใหม่นั้นควรจะมีการวางโพซิชันนิ่งที่แตกต่างจากตลาดที่มีอยู่ เป็นนิชมาร์เก็ตมากขึ้น เช่น นิตยสารสำหรับผู้ชาย เน้นจับตลาดนิชกลุ่มใหม่ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันในตลาดที่มีอยู่เดิม จากสัดส่วนนิตยสารในตลาดส่วนใหญ่กว่า 70-80% จะเป็นนิตยสารสำหรับผู้หญิง ในกลุ่มบิวตี้และแฟชั่น
อย่างไรก็ตาม มูลค่าตลาดโฆษณาโดยรวมที่มีมากกว่า 80,000 ล้านบาท แบ่งเป็น สื่อโทรทัศน์ 60% สื่อหนังสือพิมพ์ 17-18% และนิตยสาร 5-6% ในขณะที่ปีที่ผ่านมาสื่อนิตยสารเติบโตไม่เกิน 5% เท่านั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า งบโฆษณาโดยรวมในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2549 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้วพบว่า มีมูลค่ารวม 43,877 ล้านบาท เติบโตเพียง 5% จากเดิมที่มี 41,533 ล้านบาท แบ่งเป็น สื่อทีวีมูลค่า 26,403 ล้านบาท เติบโต 7% จากเดิมมี 24,547 ล้านบาท สื่อวิทยุมูลค่า 3,217 ล้านบาท เติบโต 7% จากเดิมที่มี 2,996 ล้านบาท สื่อหนังสือพิมพ์ มูลค่า 7,757 ล้านบาท ติดลบ 0.69% จากเดิมที่มี 7,811 ล้านบาท สื่อนิตยสาร มูลค่า 2,908 ล้านบาท เติบโต 1% จากเดิมที่มี 2,873 ล้านบาท
สื่อโรงหนังมูลค่า 679 ล้านบาท เติบโต 11% จากเดิมที่มี 607 ล้านบาท สื่อเอาท์ดอร์ มูลค่า 2,337 ล้านบาท เติบโต 3% จากเดิมที่มี 2,259 ล้านบาท สื่อเคลื่อนที่มูลค่า 458 ล้านบาท เติบโต 20% จากเดิมที่มี 379 ล้านบาท สื่ออินสโตร์ มูลค่า 118 ล้านบาท เติบโต 93% จากเดิมที่มี 61 ล้านบาท สังเกตได้ว่าสื่อนิตยสารนั้น มีการเติบโตพียงแค่ 1% เท่านั้น
|