ในช่วงปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อหลายทาง และมาตรการหนึ่งในการลดการใช้จ่ายภาคเอกชนลงก็คือ
การปรับกฎเกณฑ์เกี่ยวกับผู้ถือบัตรเครดิตจากผู้ที่มีรายได้ขั้นต่ำ 120,000
บาทต่อปี เป็น 240,000 บาทต่อปี ซึ่งมาตรการดังกล่าวส่งผลชัดเจนในไตรมาส
1 ปีนี้ จำนวนบัตรเครดิตในไทยมีการหดตัวลงกว่า 6,000 ใบ และเริ่มฟื้นตัวขึ้นในไตรมาส
2
อย่างไรก็ดี ริชาร์ด เค. ชาง ผู้จัดการวีซ่า อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำประเทศไทย
สิงคโปร์ และอินโดจีน กล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า "ธนาคารสมาชิก 15 แห่งในไทย
ได้ร่วมกันออกบัตรให้กับวีซ่าเพิ่มขึ้นประมาณ 4.1% ในไตรมาสแรก และในไตรมาส
2 ก็สามารถขยายตัวได้อีก 4%" เป็นผลให้มีผู้ถือบัตรวีซ่าทั้งหมดในไทย
ณ สิ้นไตรมาส 2 ถึง 830,000 ใบ โดยเป็นบัตรวีซ่าโกล์ดประมาณ 249,000 ใบ
สมบูรณ์ ครบธีรวงศ์ ผู้บริหารฝ่ายธนาคารสมาชิกของวีซ่าประจำประเทศไทย กล่าวเสริมว่า
บัตรวีซ่าขยายตัวได้ดีมากในประเทศไทย หากเปรียบเทียบเฉพาะบัตรเครดิตต่างประเทศแล้ว
วีซ่ามีส่วนแบ่งตลาดในไทยกว่า 80% เนื่องจากวีซ่าเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ปี
2522 หรือ 17 ปีมาแล้ว หากรวมทั้งภูมิภาคเอเชีย-แปวิฟิกแล้ว วีซ่ามียอดส่วนแบ่งตลาดสูงสุดอยู่นั่นเอง
โดยมีส่วนแบ่งในประเทศญี่ปุ่น 63% สิงคโปร์ 68% มาเลเซีย 53%
ทั้งนี้ ชางตั้งเป้าว่า ภายในสิ้นปีนี้ จะมียอดบัตรวีซ่าทั้งหมดที่ออกในประเทศไทยไม่น้อยกว่า
1 ล้านใบ โดยเป็นบัตรวีซ่าโกล์ดประมาณ 35% หรือ 350,000 ใบ ดังนั้นในอีกไม่กี่เดือนที่เหลือนี้
จึงจำเป็นต้องเร่งขยายตลาดบัตรวีซ่าโกล์ดเพิ่มขึ้น โดยการออกเคมเปญโฆษณาบัตรวีซ่าโกล์ดถึง
4 แบบเพื่อโฆษณาในสื่อสิ่งพิมพ์ พร้อมกับสโลแกนที่ว่า "วีซ่าโกล์ด ผู้ครอบครองบัตรทอง
ผู้กำหนดกฎเกณฑ์"
ชาง มองว่า เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงที่ขยายตัวได้ดีในอัตรากว่า 8% ทำให้ฐานกลุ่มชนชั้นกลางขยายตัวมากขึ้น
ซึ่งคนกลุ่มนี้มีรายได้ในระดับปานกลางและสูง ทั้งยังมีการติดต่อธุรกิจข้ามชาติ
มีการเดินทางไปต่างประเทศมาก ซึ่งบุคคลเหล่านี้ คือ กลุ่มเป้าหมายหลักของวีซ่าโกล์ด
นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งจะมาจากฐานลูกค้าที่ถือบัตรวีซ่าคลาสสิกมานาน และมีคุณสมบัติเพียงพอที่จะมาถือบัตรวีซ่าโกล์ดได้
โดยผู้ถือบัตรดังกล่าว จะได้รับมอบสิทธิประโยชน์มากมาย เช่น สามารถเบิกเงินสดล่วงหน้าจากสำนักงานสาขาของธนาคารสมาชิกกว่า
305,600 แห่งและจากเครื่องเอทีเอ็มกว่า 289,000 เครื่องทั่วโลก บริการออกบัตรทดแทนกรณีฉุกเฉิน
บริการชำระเงินทดแทนกรณีฉุกเฉิน และบริการให้ความช่วยเหลือในระหว่างการเดินทาง
เช่น บริษัทให้คำแนะนำด้านการรักษาพยาบาล หรือกรณีกระเป๋าสูญหาย เป็นต้น
และหากธนาคารสมาชิกจะมีบริการเสริมให้แก่ลูกค้าของตนก็สามารถเพิ่มเติมเข้าไปเป็นกรณีพิเศษได้อีก
พร้อมกันนี้ วีซ่ายังเตรียมออกอีก 3 ผลิตภัณฑ์ใหม่ในประเทศไทยอีกในต้นปีที่จะถึง
คือ บัตรวีซ่า ทราเวิล มันนี่ (Visa Travel Money) การค้าอิเลคทรอนิกส์ (Electronic
Commerce) และบัตรธุรกิจ (Commercial Card)
"บัตรวีซ่า ทราเวิล มันนี่ หรือบัตรเพื่อการเดินทางนี้ จะเป็นเสมือนบัตร
ATM โดยที่ไม่ต้องเปิดบัญชีกับธนาคาร เพียงแต่ในขั้นตอนที่ไปขอบัตรนี้ เราก็จ่ายเงินล่วงหน้าให้ที่ธนาคาร
แล้วก็จะสามารถนำบัตรนี้ไปถอนเงินจากตู้ ATM ในเครือข่ายวีซ่า และที่มีเครื่องหมายพลัสได้ทั่วโลก
ซึ่งมีอยู่ประมาณ 3 แสนเครื่อง" ชาง อธิบาย
บัตรดังกล่าวดีกว่าการใช้เช็คเงินสดในแง่ที่ว่า การถือเช็คเงินสด จำเป็นต้องไปฝาก
ถอน โอน ย้าย ซึ่งยุ่งยาก ขณะที่บัตรนี้สามารถเบิกเงินสดจากตู้ ATM ได้เลย
สะดวกรวดเร็ว และปลอดภัยกว่าหากมีการสูญหายเนื่องจากมีระบบป้องกันแบบเลขรหัสประจำตัว
(PIN) และใช้เทคโนโลยีแถบแม่เหล็ก !
บัตรวีซ่า ทราเวิล มันนี่ เพิ่งเปิดตัวในไต้หวันเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ชางวางแผนจะเปิดตัวในไทยเป็นประเทศที่ 2 โดยจะเริ่มในต้นปีหน้า
ในส่วนของการค้าอิเลกทรอนิกส์นั้น เป็นผลิตภัณฑ์ที่ร่วมมือกันระหว่างธนาคารกับองค์กรที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
เนื่องจากต้องมีมาตรการควบคุมป้องกัน และรับรองร่วมกันบนบัตรเครดิต และการใช้จ่ายบัตรเครดิตบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
ทั้งนี้ วีซ่าได้มีการร่วมมือกับมาสเตอร์การ์ด ไมโครซอฟท์ เน็ทสเคป และผู้ให้บริการอื่น
ๆ ในการพัฒนาระบบมาตรฐานความปลอดภัยขึ้นมาใหม่ในชื่อว่า ระบบเอสอีที (Secure
Electronic Transaction)
ขณะนี้ วีซ่ากำลังศึกษาและปรับเปลี่ยนข้อกฎหมายเกี่ยวกับภาระภาษีระหว่างประเทศ
คาดว่า จะเรียบร้อยและสามารถให้บริการแก่ธนาคารสมาชิกในประเทศไทยได้ภายในปีหน้า
ปัจจุบันวีซ่าได้มีการให้บริการเหล่านี้แก่ธนาคารสมาชิกในญี่ปุ่น ไต้หวัน
และสิงคโปร์แล้ว
สำหรับบัตรธุรกิจ วีซ่าจะให้บริการใน 3 ประเภท คือ บัตรวีซ่า เพอร์เชสซิ่ง
(Visa Purchase Card) ซึ่งสามารถลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการจัดซื้ออุปกรณ์สำนักงานที่มีมูลค่าไม่สูงมาก
บัตรวีซ่า คอร์ปอเรท (Visa Corporate Card) เพื่อช่วยบริหารค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางและการรับรองแขกให้กับบริษัท
และบัตรวีซ่า บิสซิเนส (Visa Business Card) ซึ่งเหมาะสำหรับองค์กรขนาดเล็ก
และบุคคลที่อยู่ในสายอาชีพต่าง ๆ เช่น แพทย์ ทนายความ เป็นต้น
ปัจจุบัน บัตรวีซ่าที่ให้บริการแก่ธนาคารสมาชิกในไทยมีอยู่ 3 ประเภท คือ
วีซ่าคลาสสิก วีซ่าโกล์ด และอินเตอร์ลิงค์ หรือบริการเบิกเงินสดล่วงหน้าผ่านเครือข่าย
ATM ที่มีเครื่องหมายพลัสโดยธนาคารสมาชิกของวีซ่าในประเทศไทยมีทั้งสิ้น 15
แห่ง เป็นธนาคารต่างประเทศ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารฮ่องกง, ธนาคารสแตนดาร์ด,
ธนาคารแห่งอเมริกา และซิตี้แบงก์ และธนาคารไทย 11 แห่ง ยกเว้นธนาคารแหลมทอง,
เอเชีย, ธนาคารไทยทนุ และนครธน