เปิดสูตรเด็ดปั้นดินให้เป็นดาวของ “ป๋าดัน” ตัวจริงเสียงจริงวงการบันเทิงไทย
ทำไม ? น้องเดียว-โปงลางสะออน-ฟิลม์ รัฐภูมิ-แก๊งสามช่า ฯลฯ จึงเป็นที่รู้จักมากมาย แถมทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ
จับตาซูเปอร์สตาร์หน้าใหม่จะเกิดขึ้นมาประดับวงการอีกเพียบ เมื่อเวทีเปิดกว้างเน้นรับคนมากความสามารถ งานนี้คนไม่สวยไม่หล่อมีเฮ
ดูเหมือนว่าภาพของคนก้าวขึ้นเป็น “ดาวเด่น” หน้าใหม่วงการบันเทิงไทย เริ่มเปลี่ยนแนว จากเดิมที่มุ่งเน้นขายความสวย ความหล่อ ชาติตระกูลดี หันมาสู่คนที่มากด้วยความสามารถมากขึ้น เรื่องนี้ ดร.ธาตรี ใต้ฟ้าพูล อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารการตลาด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ทัศนะกับ “ผู้จัดการรายสัปดาห์” ว่า การปั้นคนในอดีตมักจะยืนอยู่บนพื้นฐานของการเลือกคนที่มีหน้าตาดี โดยมีความเชื่อว่าความสามารถฝึกฝนกันได้ไม่ว่าจะเป็นการฝึกฝนให้เป็นนักแสดง นักร้อง พิธีกร หรือผู้ประกาศข่าว แต่ปัจจุบันการแข่งขันสูง ผู้คนคุ้นเคยกับสื่อมากขึ้น อดีตคนส่วนใหญ่มักอายกล้อง อยากจะเป็นดาราหรือศิลปินก็ต้องไว้เชิง เล่นตัวสักระยะก่อนรับปาก แต่ปัจจุบันคนสนใจเข้าสู่วงการมากขึ้น โอกาสจึงน้อยลง แต่ละคนก็พยายามที่จะผลักดันตัวเอง นำเสนอตัวเองมากขึ้น ด้วยการฝึกฝนความสามารถเพื่อให้ตนเองโดดเด่นกว่าคนอื่นเพราะทุกวันนี้เทคโนโลยีก้าวไปไกล ธุรกิจเสริมสร้างความงามและบุคลิกภาพก็แพร่หลายมากขึ้น ทำให้คนสามารถพัฒนารูปร่างหน้าตาให้ดูดีได้ ดังนั้นสิ่งที่จะสร้างความแตกต่างได้ก็คือความสามารถ
“ดาราหญิงบางช่องเราแทบจะแยกไม่ออกว่าใครเป็นใครเพราะออกมาเหมือนพิมพ์เดียวกัน การใช้หน้าตาอย่างเดียวจึงไม่สามารถแบ่งแยกได้ ทุกวันนี้คนหน้าตาดีมีเยอะซึ่งเราก็เห็นได้ตามท้องถนนทั่วไป แต่ถ้าจะให้เด่นก็ต้องดูกันที่การแสดงออก ไหวพริบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นพัฒนาการของสังคมและสื่อที่ผลักดันให้คนแสวงหาความสามารถมากขึ้นซึ่งจะเห็นได้ว่ารูปแบบเกมโชว์และรายการตอบปัญหามีมากขึ้น” ดร.ธาตรี กล่าว
อย่างไรก็ดี หน้าตายังคงถือเป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่ต้องมีแต่ไม่ใช่ตัวสร้างความแตกต่างหรือโดดเด่น สำคัญต้องมีความสามารถในการโน้มน้าว หรือการเป็น Entertainer ถ้าสังเกตให้ดีเราจะเห็นได้ว่าในระยะหลังคนที่มีความสามารถหลายคนโด่งดังเร็วแต่ก็หายไปเร็วเพราะไม่สามารถสร้างความผูกพันกับคนดูได้ ซึ่งต่างจากอดีตที่มีดาราชั้นนำไม่มากนักทำให้มีระยะเวลาในการปรากฎตัวสู่สายตาคนดูได้นานจนเกิดความผูกพันธ์ ดาราสมัยก่อนอยู่ในใจคนดูนานนับสิบปี แต่ปัจจุบันดาราในดวงใจของแต่ละคนเปลี่ยนไปเกือบทุกปี
ในส่วนของการปั้นคนจากรายการเกมโชว์หรือเรียลิตี้โชว์นั้น อาจจะยังเป็นเรื่องกังขาสำหรับบางคนซึ่งอาจจะสงสัยว่าผู้เข้าแข่งขันมีความสามารถขนาดนั้นจริงหรือเปล่า คนที่ได้รับคัดเลือกมาจากคนทั่วไปจริงหรือ หรือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงฉากหนึ่งของการแสดงหรือเปล่า แต่อย่างไรก็ดีควงจะปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสความนิยมรายการเรียลิตี้โชว์นั้นเกิดจากธรรมชาติของมนุษย์มักจะสนใจ อยากรู้ อยากเห็นเรื่องราวของคนอื่น อะไรที่เป็นเรื่องส่วนตัวของคนอื่นก็อยากดู อยากเห็น
อย่างไรก็ตาม การจะปั้นคนที่มีความสามารถให้เป็นที่สนใจของคนทั่วไปได้นั้นจะต้องพิจารณาจากเสน่ห์ของคนคนนั้นด้วย เพราะลีลาท่าทางการพูดการแสดงออกดึงดูดความสนใจของคนดูได้ดีกว่าการมีเพียงแค่หน้าตาดี ตอบปัญหาเก่งเท่านั้น อย่างกรณีของน้องเดียวก็มีเสน่ห์อยู่ที่ความเป็นเด็ก ประกอบกับบุคลิกช่างจำนรรจาและความสามารถที่เกินตัวก็ยิ่งดึงดูดคนดูมากขึ้น เมื่อสามารถสร้างการยอมรับได้แล้วก็จะทำให้คนดูรู้สึกผูกพันซึ่งความผูกพันนี้เองที่ถือเป็นคีย์หลักของการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ
“ไม่มีสูตรสำเร็จของคำว่าเสน่ห์ เพราะแต่ละคนก็มีเสน่ห์แตกต่างกันไปในแบบฉบับของตัวเอง แต่พื้นฐานของเสน่ห์อาจเริ่มจากหน้าตา ความสามารถ การทำให้คนดูบันเทิงตามไปด้วย รวมถึงความเป็นธรรมชาติ ซึ่งความมีเสน่ห์จะทำให้คนดูรู้สึกผูกพันจนในที่สุดสามารถต่อยอดสร้างโอกาสทางการตลาดอื่นๆได้อีกมาก” ดร.ธาตรี กล่าว
อย่างไรก็ดีไม่ใช่ว่าคนมีเสน่ห์จะสามารถสร้างความผูกพันได้ทุกคน เพราะการสร้างความผูกพันจะต้องทำให้คนดูรู้สึกคุ้ยเคย เป็นเหมือนเพื่อน ญาติพี่น้อง คนรู้ใจ แต่ถ้าทำให้คนดูรู้สึกว่าอยู่กันคนละโลก คนละสังคมก็ยากที่จะสร้างความผูกพันได้ เบิร์ด ธงชัย แมคอินไตยถือเป็นศิลปินที่มีทั้งเสน่ห์และความผูกพันกับคนดูที่ชัดเจนซึ่งนั่นก็ทำให้เบิร์ดสามารถยืนหยัดอยู่ในวงการได้ยาวนาน
รายการเกมโชว์ก็เช่นกัน การทำให้มีแชมป์ยืนพื้นหลายสัปดาห์ส่งผลให้คนดูรู้สึกคุ้นเคย ผูกพัน อยากติดตามต่อ และเกิดอารมณ์ร่วมในการลุ้นว่าแชมป์จะอยู่หรือไป หลายรายการจึงพยายามหาคนที่มีเสน่ห์ เพื่อสร้างความผูกพันให้คนดูติดรายการไปนานๆ คนที่สร้างความผูกพันกับคนดูได้ถือเป็นตัวแทนของรายการและเป็นสินทรัพย์ของบริษัทที่สามารถต่อยอดไปสู่การทำสินค้าอื่นๆได้อีกมาก
นับแต่อดีตการปั้นคนบนเวทีความงามก็มีการสร้างความต่อเนื่องเพื่อให้นางงามเหล่านั้นเป็นที่ผูกพันของคนดูด้วยการพาไปออกรายการต่างๆทั้งสัมภาษณ์ เล่นเกมโชว์ ไปเล่นหนัง เล่นละคร หรือร้องเพลง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นการทำการตลาดบนพื้นฐานของความผูกพันกับคนดู
เวิร์คพอยท์เครื่องมือ”ดัน” ทุกรูปแบบ
โมเดลธุรกิจของเวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ ให้ความสำคัญกับการผลิตรายการโทรทัศน์ เน้นเกมโชว์ที่ปัจจุบันถือว่าเป็นเบอร์หนึ่งในประเทศไทย
ปัจจุบันเวิร์คพอยท์ มีรายการที่ผลิตให้กับช่องต่างๆ ราว 20 รายการ อาทิ รายการชิงร้อย ชิงล้านฯ, แฟนพันธุ์แท้, ระเบิดเถิดเทิง, ครัวตัวเอ้, สู้เพื่อแม่, ผู้หญิงรอบโลก, เวทีทอง, รายการหม่ำโชว์ (บ.บั้งไฟสตูดิโอ) เกมทศกัณฐ์, เกมทศกัณฐ์เด็ก, ชัยบดินทร์โชว์, คุณพระช่วย, ชิงช้าสวรรค์, โคกคูนตระกูลไข่ และล่าสุดอัจฉริยะข้ามคืน เป็นต้น
เป็นความเติบโตอย่างต่อเนื่องบนพื้นฐานความเชี่ยวชาญเฉพาะ (Core competency) ในรายการประเภทเกมโชว์
นอกจากนั้นเวิร์คพอยท์ยังแตกไลน์ไปยังธุรกิจสิ่งพิมพ์ ธุรกิจภาพยนตร์ และละคร รวมทั้งธุรกิจรับจัดออแกไนเซอร์ด้วย เพื่อให้ธุรกิจทั้งหมดสามารถเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน อาทิ การขยายธุรกิจไปยังสื่อสิ่งพิมพ์ ด้วยการเปิดบริษัท เวิร์คพอยท์ พับลิชชิ่ง จำกัด เมื่อปี 2546 เพื่อนำรายการของบริษัทที่ได้รับความนิยมเช่น เกมแก้จน มาทำเป็นหนังสือชื่อ แก้จน หรือหนังสือเฉพาะกิจ “เกมทศกัณฐ์” ชื่อเดียวกับรายการที่กำลังมาแรง เป็นต้น นอกจากนี้ก็ยังมีแผนจะรุกเข้าไปยังสื่อประเภทอื่นเพิ่มเติม ตามทิศทางการขยายตัวของธุรกิจสื่อโดยรวม
จากนั้นเวิร์คพอยท์จึงค่อยเริ่มแตกไลน์ธุรกิจออกไปยังรายการโทรทัศน์ประเภทอื่นๆ อย่างละคร และขยายธุรกิจไปในสื่ออื่นเช่นสิ่งพิมพ์ โดยการตั้งสำนักพิมพ์เวิร์คพอยท์ขึ้นมา ล่าสุด ยังได้ขยายธุรกิจสู่ภาพยนตร์เป็นครั้งแรก หรือแม้แต่การเข้าไปร่วมลงทุนกับค่ายสหมงคลฟิล์ม (ฝ่ายละ 50% จากงบลงทุน 43 ล้านบาท) ในการสร้างภาพยนตร์ "โหน่ง-เท่ง นักเลงภูเขาทอง" ซึ่งเป็นหนังแนวบู๊ตลกสไตล์แก๊ง 3 ช่าที่ออกอากาศในรายการชิงร้อยชิงล้าน ปัญญาเชื่อว่าการร่วมมือกับสหมงคลฟิล์มนั้นจะเป็นโมเดลธุรกิจที่ดีที่สุด เพราะนำจุดแข็งของแต่ละฝ่ายมารวมกัน เวิร์คพอยท์มีทีมงานสร้างและทีมประชาสัมพันธ์จากรายการโทรทัศน์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ส่วนสหมงคลฟิล์มมีศักยภาพทางธุรกิจภาพยนตร์ที่แข็ง และมีอิทธิพลต่อโรงหนังหรือสายหนัง
ขณะเดียวกันยังได้ร่วมลงทุนกับ เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา หรือหม่ำ จ๊กมก ตั้งบริษัท บั้งไฟ สตูดิโอ จำกัด ภายใต้ทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท สัดส่วนการถือหุ้นแบ่งเป็นเวิร์คพอยท์ 60%และหม่ำ40% เพื่อผลิตรายการโทรทัศน์และสื่อบันเทิงทุกรูปแบบ รายการแรกที่ทำ ได้แก่ รายการวาไรตี้หม่ำโชว์ที่เริ่มออกอากาศตั้งแต่เวลา 1 ต.ค.48 ทางช่อง 5 เวลา 20.15-21.15 น. รวมถึงการร่วมลงทุนกับกลุ่มผู้บริหารโต๊ะกลมโทรทัศน์ จำกัด เพื่อผลิตสื่อบันเทิงเต็มรูปแบบ
ส่งผลให้ปัจจุบันมีบริษัทในเครือทั้งหมด 6 บริษัท นั้นแบ่งเป็น 1.สายธุรกิจโทรทัศน์ เป็นรายได้หลัก คิดเป็นสัดส่วน 90% มี 3 บริษัท คือ บริษัท คำพอดี จำกัด ,บริษัท โต๊ะกลมโทรทัศน์ จำกัด และบริษัท บั้งไฟ สตูดิโอ จำกัด 2.สายสื่อสิ่งพิมพ์มีบริษัท เวิร์คพอยท์ พับลิชชิ่ง จำกัด และสายธุรกิจภาพยนตร์มีบริษัท หัวฟิล์ม ท้ายฟิล์ม จำกัด และบ้านอิทธิฤทธิ์ จำกัด
ทั้งนี้ ใน 6 บริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทใหม่ 3 บริษัทซึ่งรวมถึง บริษัท หัวฟิล์ม ท้ายฟิล์ม ซึ่งบริษัทได้ใช้ทุนจดทะเบียนเบื้องต้น 5 ล้านบาท เพื่อขยายช่องทางธุรกิจไปยังกลุ่มภาพยนตร์ เนื่องจากเห็นว่าการเข้ามาลงทุนธุรกิจด้านภาพยนตร์จะช่วยสร้างรายได้ให้บริษัทมากขึ้น โดยบริษัทมีจุดแข็งที่ทีมงานสร้างและทีมประชาสัมพันธ์จากรายการโทรทัศน์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน วัตถุประสงค์เพื่อสร้าง กำกับ เขียนบทและผลิตภาพยนตร์เป็นหลัก
จากทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าเวิร์คพอยท์มีเครื่องมือในการ “ดัน” และต่อยอดธุรกิจได้เต็มรูปแบบ ซึ่งสามารถ “ดัน” ใครต่อใครให้เกิดขึ้นได้ตามใจ
จากโหน่ง-เท่งถึงน้องเดียว
โหน่ง-เท่ง-หม่ำ ที่รู้จักกันในนาม “แก๊ง 3 ช่า” ถือเป็นตลกที่ได้รับความนิยมชมชอบจากประชาชนสูงยิ่งในเวลานี้ นิตยสารโพสิชั่นนิ่ง เดือนกรกฎาคม 2549 ถึงกับยกให้เป็น ไอดอลทางธุรกิจเอนเตอร์เทนเมนต์ที่มีอิทธิพลทำให้วงการตลกเมืองไทยหันเหมาสู่วงการจอตู้กันอย่างคึกคัก ภายใต้สูตรการสร้างของเวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเม้นท์
กระนั้นก็ตาม ถ้าสูตรดี แต่คนไม่เก่ง ก็ยากที่แก๊งสามช่าจะประสบความสำเร็จได้เช่นนี้
นิตยสารเล่มดังกล่าวยังอธิบายเพิ่มเติมว่า ความสามารถของแก๊งสามช่ากลุ่มนี้ต้องยอมรับอย่างจริงใจว่า เก่งและอัจฉริยะอย่างมาก ปัญญา นิรันดร์กุล บิ๊กบอสแห่งเวิร์คพอยท์ เคยบอกว่า คงไม่มีใครทำได้แบบหม่ำ เขาตลกแบบธรรมชาติ หัวไว มีความอัจฉริยะอยู่ในตัว ขณะที่เท่ง โหน่ง มีคาแรกเตอร์ที่น่ารัก เขารับลูกล่อลูกชนกันได้ดี เรียกว่า นี่เป็นทีมเวิร์คตลกที่ดีที่สุดในเมืองไทย หม่ำ คือตัวแทนของดาวตลกยุคใหม่ที่มีค่าตัวแพงที่สุด ว่ากันว่าหลังๆนี้หนังที่หม่ำรับเล่นแต่ละเรื่องค่าตัวเฉียดล้านบาท ปัจจุบันมีรายการหม่ำโชว์เป็นของตนเอง มีหุ้นในบริษัทเวิร์คพอยท์ และมีพ็อกเกตบุ๊กเล่าชีวิตของตนเอง
ขณะที่เท่ง โหน่ง ก็ดังไม่แพ้กัน นอกจากจะมีรายได้ประจำจากเวิร์คพอยท์แล้ว ทั้งคู่ยังมีพ็อกเกตบุ๊กของตนเองด้วยเช่นกัน แถมด้วยภาพยนตร์เข้ามาไม่ขาดสาย ล่าสุดโหน่ง เท่ง นักเลงภูเขาทอง ที่โกยรายได้ทะลุหลักร้อยล้านบาท จึงทำให้ทั้งคู่ได้รับมอบหมายให้รับหน้าที่เป็นผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องต่อไป
“นี่แหละที่เรียกว่า การใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด” เป็นคำกล่าวของเจ้าพ่อเกมโชว์เมืองไทย หรือจะเรียกว่าเจ้าพ่อนักปั้น หรือ เฮียดันตัวจริงเสียงจริงของเมืองไทยก็ว่าได้
ปัญญา ไม่ใช่เพียงมือปั้นรายการเกมโชว์ และวาไรตี้โชว์ จนเป็นที่นิยมของคนดูมากที่สุดเท่านั้น แต่ยังสามารถปั้น “คน” ให้เป็นที่นิยมได้ด้วย หากไม่นับโหน่ง-เท่ง-หม่ำ และส้มที่ดังสุดๆไปแล้วนั้น ยังมีนิรุตต์ โลหะรังสี แฟนพันธุ์แท้ประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา, เอก ฮิมสกุล แฟนพันธุ์แท้ฟุตบอลโลก ที่สร้างชื่อขึ้นมาจากเกมแฟนพันธุ์แท้จนเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ จนมีรายการ หรือหน่วยงานต่างๆมาว่าจ้างให้ไปเป็นพิธีกร เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ที่ว่าจ้างนิรุตต์ ไปเป็นพิธีกรในรายการที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมไทย
บางคนอาจจะเถียงว่าการมีชื่อเสียงของนิรุตต์ และเอก เป็นเพราะความสามารถอันโดดเด่นของเขาเอง หาใช่เกิดขึ้นจากการ “ปั้น” ของเวิร์คพอยท์ไม่
หนังสือพิมพ์ Bizweek เมื่อวันที่ 14-20 กรกฏาคม ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า ความชัดเจนเริ่มมีชัดเจนมากขึ้นเป็นลำดับกับบทบาทผู้บริหารศิลปินของบริษัทเวิร์คพอยท์ฯ หลัง 3 ช่า กล้าพันธุ์ดีรุ่นแรกๆ ที่ผ่านการบริหารจัดการศิลปินอย่างเป็นระบบ กลายเป็นที่มาของแหล่งทำเงิน และโมเดลต่อยอดรายได้ของธุรกิจขายไอเดียนับครั้งไม่ถ้วน
เอก ฟุตบอลโลก น้องเดียว แทนคุณ จิตต์อิสระ และอเล็กซานดร้า บุญช่วย ถูกหมายมั่นว่าจะเป็น asset มากมูลค่ายุคปัจจุบัน ...ภายใต้การดำเนินงานของฝ่ายพัฒนาธุรกิจ เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ มีกระแสนิยมผู้บริโภค และภาวการณ์แข่งขันของธุรกิจขายไอเดียเป็นมาตรวัด โดยโมเดลธุรกิจการบริหารจัดการศิลปินเของเวิร์คพอยท์ เริ่มต้นจากการดึงผู้ร่วมรายการที่แจ้งเกิดกับเวทีเกมโชว์ในสังกัด จากนั้นต่อยอดธุรกิจจากจุดเด่นของผู้ร่วมรายการ
“ค่าบริหารจัดการไม่ใช่ประเด็นที่ต้องการ แต่สิ่งที่ทำคือสร้างเนื้องานโดยมีนักแสดงคนนั้นเป็นองค์ประกอบ และเมื่อเนื้องานนั้นมีมูลค่าแล้ว หลังจากนั้นเราค่อยมาแบ่งผลประโยชน์กัน” ครรชิต ควะชาติ ซีเอฟโอ บมจ. เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ อธิบายกับหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว
ท่ามกลางผู้ใหญ่ที่ผ่านเวทีเกมโชว์ของเวิร์คพอยท์กำลังฉายแสงกันอยู่นั้น ณ เวลานี้ “น้องเดียว” กลับมีประกายแสงที่ออกมาจรัสจ้ายิ่งกว่า เรียกได้ว่า กระแสความดังและความน่ารักสดใสของเด็กในตอนนี้คงไม่มีใครเกินเด็กคนนี้ไปได้ เห็นได้จาก การที่ยาจุดกันยุงคายาริยอมทุ่มเงิน 1 ล้านบาทเพื่อเป็นค่าตัวในภาพยนตร์โฆษณาชุดใหม่ ซึ่งเชื่อว่าเป็นค่าตัวพรีเซนเตอร์เด็กที่แพงที่สุดเท่าที่เคยมีการว่าจ้างกันมา หรือไมโลก็เพิ่งคว้าตัวมาเล่นโฆษณาเช่นกัน
หากมองกรณีของ “น้องเดียว” เด็กชายพัทธดนย์ เกลี้ยงจันทร์ เจ้าหนูทศกัณฐ์ ที่จะได้ 200 หน้าอยู่รอมร่อแล้วนั้น อาจเรียกได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า ชื่อเสียง และการเป็นที่รู้จัก ตลอดจนการเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนทั่วบ้านทั่วเมืองนั้น นอกเหนือจากเสน่ห์ ความน่ารัก ไหวพริบ และความสามารถล้วนๆ ของน้องเดียวเองแล้ว ลุงปัญญาก็มีส่วนช่วยผลักดันอย่างเต็มแรงด้วยเช่นกัน
วันนี้ “เจ้าหนูมหัศจรรย์” วัยเพียง 5 ขวบคนนี้นอกจากจะมีสปอนเซอร์วิ่งเข้าหาจนหัวบันไดบ้านแทบไม่แห้งแล้ว ยังมีพ็อกเกตบุ๊กของตนเองที่ชื่อ “เดียว เจ้าหนูทศกัณฐ์ มหัศจรรย์จนลุงปัญญายกนิ้วให้” เพื่อบอกเรื่องราวตั้งแต่แรกเกิด จนกระทั่งปัจจุบันโด่งดังด้วยวัยเพียง 5 ขวบ ออกมาวางแผงแล้วหนึ่งเล่ม และมาตรวัดระดับความนิยมชมชอบถึงขนาดที่มีแฟนคลับเข้ามารายล้อมเมื่อครั้งงานเปิดตัวหนังสือที่งานเทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชนครั้งที่ 4 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติศูนย์สิริกิติ์จนแทบไม่มีที่ยืน ไม่แพ้ซูเปอร์สตาร์รุ่นใหญ่เลยทีเดียว
สำหรับการปั้น หรือสร้างน้องเดียวนั้น ปัญญา นิรันดร์กุล ได้กล่าวไว้ในหนังสือ เดียว เจ้าหนูทศกัณฐ์ มหัศจรรย์จนลุงปัญญายกนิ้วให้ ว่า ที่จริงการสร้างนั้นก็คือเราแค่เปิดโอกาสเท่านั้นนะ เราไม่ได้ไปทำอะไรหรอก เพราะฉะนั้นตอนมีใครถามถึงน้องเดียวเวลาที่ลุงปัญญาไปไหน ลุงปัญญาก็จะมีความสุข เพราะเรารู้ว่าเขาเก่งจริง
จนถึงบรรทัดนี้อาจมองได้ว่า โมเดลในการ “ปั้น” คนของค่ายนี้ไม่ได้มองที่ความสวยความงามหรือรูปร่างหน้าตา แต่ให้ความสำคัญกับ “ความสามารถ” มากกว่า
“ถูกต้องนะคร้าบบบบบบบ” บิ๊กบอสแห่งค่ยเวิร์คพอยท์ อาจจะตอบแบบนี้ก็ได้
ตีสิบ...ดันดารา ดันได้ดีด้วยเวทีเดียว
“ใครรู้จัก โปงลางสะออน ยกมือขึ้น”
“แล้วใครไม่รู้จัก โปงลางสะออน ยกมือขึ้น”
เชื่อเลยว่าจำนวนของผู้ที่ยกมือหลังสิ้นคำถามแรกมีมากกว่าแน่นอน
อาจ “ฟันธง” แบบหมอลักษณ์ได้เลยว่า การที่โปงลางสะออนเป็นที่รู้จักมากมายขนาดนี้ เป็นเพราะได้มาออกรายการ “ตีสิบ” ของวิทวัส สุนทรวิเนตร์
“ถือว่ามีกระแสตอบรับเข้ามามากมีทั้งบริษัทสหมงคลฟิล์มที่ติดต่อให้เราไปแสดงหนัง มีให้ไปออกเกมโชว์ ซึ่งโชคดีที่ทางตีสิบ เขาช่วยเราสกรีนงานว่าเราควรจะไปรายการไหน อย่างไรบ้าง ที่ติดต่อมาแล้วก็มีรายการตะลุยเรื่องเด็ด คอซองเกมส์ เรียกน้ำย่อย เจาะเซฟ ซึ่งผมต้องขอขอบคุณพี่ๆรายการตีสิบอย่างมาก ซึ่งถ้าไม่มีเขาก็ไม่มีเราทุกวันนี้” สมพงษ์ คุนาประถม หรืออี๊ด เคยให้สัมภาษณ์กับ “ผู้จัดการออนไลน์” เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา
และเมื่อปีที่ผ่านมาโปงลางสะออนก็เพิ่งเซ็นสัญญากับค่ายเพลงรักษ์ไท ในเครืออาร์สยาม ส่วนตัวหัวหน้าวงด้วยความเป็นที่รู้จักของผู้คนด้วยคาแรกเตอร์อันเป็นเอกลักษณ์ จึงถูกจับไปเล่นภาพยนตร์เรื่อง “เสือภูเขา” และ “รักจัง”
ไม่ใช่เพียงแค่โปงลางสะออนเท่านั้นที่เกิดขึ้นมาเพราะรายการตีสิบ แต่ “น้องไทเกอร์” ที่มาออกรายการเมื่อมีอายุเพียง 3 ปี 10 เดือน เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาก็สามารถแจ้งเกิดในวงการบันเทิงได้อีกคน เมื่อค่ายไทเกอร์ ซันฯ ขอทำทอล์กโชว์อัดใส่วีซีดี
สถานภาพความเป็น “เฮียดัน” ของวิทวัส อาจไม่ครบเครื่องเมื่อเทียบกับ อาร์เอส, เวิร์คพอยท์ หรือแม้แต่อะคาเดมี แฟนเทเชีย เพราะวิทวัสมีเพียงรายการตีสิบ เป็นเวทีให้แสดงออกเท่านั้น ไม่มีช่องทางอื่นๆที่จะสนับสุนน ต่อยอด หรือสร้างมูลค่าเพิ่ม “คน” ที่ตนเองสร้างขึ้นมาได้เลย
จนถึงวันนี้รายการตีสิบกำลังจะย่างเข้าสู่ปีที่ 10 ที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบรายการไปมากพอสมควร แม้กระทั่งช่วงดันดารา ที่เปิดโอกาสให้คนทางบ้านมาแสดงความสามารถ ที่ถือเป็นจุดขายของรายการก็ปรับไปมากเช่นเดียวกัน จากที่มี ดร.เสรี วงษ์มณฑา กับโน้ต เชิญยิ้ม เป็นกรรมการตัวหลัก แล้วจะมีนักร้องลูกทุ่ง หรือดาราอีกหนึ่งคนหมุนเวียนมาให้คะแนน กระทั่งในปัจจุบันมีกรรมการยืนพื้น 3 คนคือ จตุพล ชมภูนิช มณีนุช เสมรสุต และโน้ต เชิญยิ้ม
“ช่วงดันดารา เราพยายามผลักดันคนทุกคนตั้งแต่เด็กจนแก่ที่มีความสามารถในด้านต่างๆมาแสดงโชว์ในรายการ ซึ่งหลายๆคนก็มีถูกทาบทามให้เข้าไปทำงานในวงการหรืองานอื่นๆมากมาย ซึ่งต้องยอมรับว่านี่คือเจตนารมณ์ของเรา เราถึงตั้งช่วงนี้ว่า “ดันดารา” มาดันตัวให้เป็นดารา ส่วนที่หลายคนมองว่ารายการตีสิบ จะเป็นเวทีคอนเทสต์ ดันดารา แล้วหรือ จริงๆช่วง ดันดารา ก็เป็นองค์ประกอบหนึ่งของรายการเท่านั้นเอง ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าเป็นองค์ประกอบส่วนที่สำคัญของรายการก็ว่าได้ ซึ่งตอนนี้มันยังเป็นแบบนี้ แต่ในอนาคตอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงก็เป็นได้ เราเองก็ยังไม่รู้ “ วิทวัส อธิบาย
Positioning ช่วงดัน
เมื่อราวเดือนสิงหาคม 2545 วิทวัส สั่งปรับรายการตีสิบใหม่ พร้อมเปลี่ยนตัวพิธีกรใหม่หมด ดึง ปุ๊ย คืนสิทธิ์ สุวรรณวัฒน์ นั่งแทนที่เด๋อ ดอกสะเดา และพิง ลำพระเพลิง ทำให้ช่วงประจำที่ปุ๊ยกับพิงทำร่วมกันจำต้องยกเลิกไปโดยปริยาย พร้อมหาช่วงใหม่มาแทนนั่นก็คือ ช่วงดันดารา ที่มาพร้อมฉากใหม่เอี่ยม เปิดโอกาสให้ผู้ชมมีเวทีได้แสดงออกความสามารถที่หลากหลายทั้งการร้องเพลง ในแบบฉบับของตัวเอง หรือใครจะล้อเลียนตลก ใครพูดเก่งก็มาพูดได้ เรียกว่าใครมีพรสวรรค์อะไรรายการนี้เปิดโอกาสให้แสดงได้หมด
การแสดงช่วงแรกๆของ ดันดาราจะมีสั้นๆ ไม่เกิน 2 นาที ผู้ชนะจะได้รับรางวัล 1 หมื่นบาท และมีโอกาสเข้าสู่วงการบันเทิง แล้วแต่ว่าจะมีใครเห็นแววแล้วชวนไปทำงานต่อ
นิตยสารโพสิชั่นนิ่ง ได้สัมภาษณ์วิทวัสถึง ยุทธศาสตร์การวางตำแหน่งการตลาดรายการตีสิบไว้ว่า เป็นวาไรตี้ทอล์กโชว์ และมีความเป็นเรียลิตี้ ซึ่งหมายถึง รายการโทรทัศน์ที่เกิดขึ้นจริงๆ สดๆ ไม่มีการเขียนสคริปต์ มีเพียงแค่บอกคร่าวๆสั้นๆว่า จะต้องทำอะไรบ้างผสมอยู่ในช่วงสั้นๆ เช่น ช่วงดันดารา ซึ่งเป็นช่วงที่ได้รับความสนใจจากผู้ชมอย่างมาก ถือเป็น magnet ตัวหนึ่งสำหรับไข่แดงของเรา คือรายการสัมภาษณ์ ขณะที่ดันดาราเป็นเหมือนไข่ขาวที่อยู่รอบๆ ซึ่งเหมือนด้านหน้าในช่วงหัวค่ำที่คนดูเปิดโทรทัศน์กันมากและได้ดูก่อน จึงสัมผัสตรงนี้ได้มากกว่า พอถูกใจมันเลยกลายเป็นว่าคนดูเลยกรูแห่กันเข้ามาดู
จนถึงตอนนี้กระแสดันดาราได้รับความนิยมมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในต่างจังหวัด เห็นได้จากจดหมายที่เข้ามาในรายการจากทั่วประเทศที่มีเป็นจำนวนมาก เมื่อเป็นเช่นนี้ทางรายการจึงมีโครงการออกไปตามต่างจังหวัดทุกภาคในเมืองไทย โดยจะไปตามจังหวัดใหญ่ๆ เพื่อไปคัดเลือกคนที่จะมาออกรายการในช่วงนี้ จากปัจจุบันจะคัดเลือกจากจดหมาย และติดต่อกลับไปทางโทรศัพท์เพื่อทดสอบเบื้องต้น อย่างเช่น ฟังการร้องเพลง การฟังการทำเสียงต่างๆ เป็นการสกรีนก่อนเป็นอันดับแรก ถ้าไปได้ดีก็จะให้มาสกรีนอีกครั้งที่บริษัท แต่กรณีจะเกิดปัญหาตรงที่บางคนแม้จะมีความสามารถแต่ไม่สะดวกจะเดินทางมาร่วมรายการ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้ทางรายการต้องเดินทางไปหาผู้ร่วมรายการเอง
ส่วนไปหาแล้ว มาร่วมรายการแล้วจะเก่งจริง จนมีแมวมองชวนไปเป็นศิลปินต่อหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถและดวงของเจ้าตัวเท่านั้น เพราะหลังจากจบการแสดงแล้ว เสี่ยวีทีไม่เกี่ยว
อาร์เอส ครบเครื่องเรื่องดัน
หากจะกล่าวถึงเครื่องไม้ เครื่องมือในการผลักดันให้เด็กหนุ่ม-สาว หน้าตา หน่วยก้านดี ก้าวขึ้นเป็นซูเปอร์สตาร์ที่คลั่งไคล้ทั่วบ้านทั่วเมือง ปัจจัยสำคัญคือการใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างกระแส ไปจนถึงการโหมกระแส ยิ่งสามารถควบคุมสื่อได้มากช่องทางเท่าไหร่ โอกาสในการดันให้เกิดดารา ยิ่งมีมากเท่านั้น
ดังเช่นบทบาทในการผลักดันให้นักร้องเสียงดาด ๆ หน้าตาดีคนหนึ่งในสังกัด ดังเปรี้ยงปร้าง แทรกซึมผ่านสื่อทุกช่องทางได้ ก็เกิดจากโรดแมปในการบริหารสื่อของอาร์เอส ที่ “เฮียฮ้อ” สุรชัย เชษฐ์โชติศักดิ์ ซีอีโอ เจ้าของบริษัท ได้วางไว้
เฮียฮ้อ กล่าวกับ “ผู้จัดการรายสัปดาห์” ว่า เป็นเพราะโมเดลธุรกิจบันเทิงในเมืองไทยเอื้ออำนวยให้ บริษัทที่มีความเข็มแข็งจริง ๆ สามารถดำเนินธุรกิจบันเทิงได้อย่างครบวงจร อาร์เอส โปรโมชั่น ที่ดำเนินธุรกิจค่ายเพลงตั้งแต่เมื่อ 25 ปีก่อน เติบใหญ่เป็น อาร์เอส(มหาชน) ในวันนี้ ถือเป็นบริษัทที่ขยายแขนขาที่ครอบครองสื่อครบวงจรมากที่สุดบริษัทหนึ่งในประเทศไทย
นอกจากค่ายเพลง ธุรกิจหลัก ซึ่งเป็นด่านแรกในการคัดกรองนักร้อง ออกเป็นอัลบั้มเพลง อาร์เอส มีสื่อหลัก ๆ ที่เคยใช้เป็นเครื่องมือในการโปรโมทสร้างยอดขายเทป ปัจจุบันเมื่อยอมรับกันว่า ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ เทปผี ซีดีเถื่อน ทำลายช่องทางสร้างรายได้จากยอดขายอัลบั้มเพลงไปจำนวนมหาศาล สื่อต่าง ๆ ที่มีอยู่ในมือ ถูกปรับเปลี่ยนมาใช้ในภารกิจสนับสนุนการดันดาราตามบทบาทหน้าที่
สัมปทานสถานีวิทยุในนามสกายไฮ เน็ตเวิร์ค 4 สถานี ที่มีรูปแบบการจัดรายการต่าง ๆ กันไป ตั้งแต่ 88.5 FM Max เจาะกลุ่มวัยรุ่น อายุ 12-25 ปี 93 Cool FM เพลง Easy Listening สำหรับคนเริ่มทำงานอายุ 18-35 ปี Mix 90 FM เพลงไทยและสากล ของกลุ่มอายุ 20-35 ปี และ Latte 106 FM Delicious Music ของกลุ่มเป้าหมาย 25-44 ปี เป็นการกระจายกลุ่มเป้าหมายแผ่ออกเป็นแนวกว้าง สามารถผลักดันให้เพลงใด ๆ หรืออัลบั้มใด ที่ต้องการโปรโมท ฮิตติดชาร์ท สร้างกระแสความนิยมต่อตัวศิลปินได้ไม่ยาก
อาร์เอส ยังมีจุดแข็งในสื่อชั้นดีอย่างรายการโทรทัศน์ โดยปัจจุบันฟรีทีวี 5 ช่อง มีรายการบันเทิง ละคร เกมโชว์ วาไรตี้โชว์ มิวสิควิดีโอ กระจายอยู่ตลอด 7 วัน รวม 23 รายการ เป็นเวทีให้ศิลปินในสังกัดได้ปรากฏโฉมให้ผู้ชมได้เห็นหน้าเห็นตา เพิ่มความหลงไหลคลั่งไคล้จากบทบาทการแสดง แต่จะเห็นผลงานมากน้อยก็อยู่ที่ช่วงเวลาที่ต้องการโปรโมท
สื่อสิ่งพิมพ์เป็นความแข็งแกร่งอีกแขนงของอาร์เอส นิตยสารทั้ง 3 หัว Front Magazine , Fame Magazine และ Boss Magazine สามารถให้ข้อมูลในแนวลึก รายละเอียด ข่าวสารของศิลปิน แสดงมิติของศิลปินให้เป็นที่รู้จักของกลุ่มเป้าหมายชัดเจนขึ้น รวมไปถึง หนังสือพิมพ์บันเทิงหัวร้อนแห่งปี ดาราเดลี่ นำเสนอข่าว Gossip ข้อมูลอินเทรนในยุคสมัยนี้ ที่ทำหน้าที่การันตีให้กับกลุ่มเป้าหมายได้รู้ว่า ศิลปินที่ดังจริง ต้องมีข่าว Gossip ให้อ่านได้ทุกวัน
และหากจะยกตัวอย่างศิลปินที่ถูกอาร์เอส ดันขึ้นจนเป็นดาราดังคับวงการ เห็นจะต้องเป็น “ฟิล์ม” รัฐภูมิ โตคงทรัพย์ คนนี้เท่านั้น
“ ฟิล์ม” คือนักร้องวัยรุ่นที่ประสบความล้มเหลวกับผลงานชิ้นแรกในสังกัดแกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ เมื่อต้นสังสกัดเลือกที่สร้างให้เขาออกอัลบั้มเพื่อสกัดความโด่งดังของกระแส D2B สุดท้ายไม่ได้รับการยอมรับจากผู้ฟัง จนเมื่อได้มีโอกาสข้ามฝั่งมาอยู่กับอาร์เอส โปรโมชั่น เป็นโชคดีที่เป็นช่วงเวลาของกระแส Asian Pop วัฒนธรรมความบันเทิงทั้งจากญี่ปุ่น และเกาหลี หลั่งไหลเข้ามา “ฟิล์ม” จึงได้มีโอกาสแจ้งเกิดจากหน้าตาที่ละม้ายคล้ายดาราในโซนนั้น ปฏิบัติการดันดาราแบบง่าย ๆของอาร์เอสในช่วงนั้นคือ เปิดตัวด้วยบทบาทการเป็นพรีเซนเตอร์รถจักรยานยนต์ ที่ฝากพ่วงรัศมีรุ่นพี่อย่าง หนุ่ม ศรราม เต๋า สมชาย และอั้ม พัชราภา แต่กลายเป็นหนุ่มหน้าตี๋ ที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักคนนี้ ได้รับความสนใจมากที่สุด
จากนั้น พร้อม ๆ กับการออกอัลบั้มเพลงชุดแรก ระหว่างที่คลื่นวิทยุกำลังโปรโมทเพลง อาร์เอส ผลิตละครรักในแนวสาวไทยกับหนุ่มเกาหลี ที่แสดงโดยฟิล์ม รัฐภูมิ ออกฉายในช่วงเวลาเดียวกัน ให้กลุ่มเป้าหมายได้เห็นบทบาท ซึมซับเข้าไปอยู่ในใจอย่างเต็มที่ ส่งให้ชื่อฟิล์ม รัฐภูมิ ส่อแววซูเปอร์สตาร์
ผลที่ตามมาคือเจ้าของสินค้าหลากหลายประเภทวิ่งเข้ามาอาร์เอส เพื่อดึงฟิล์ม รัฐภูมิ มาเป็นพรีเซนเตอร์กันไม่ขาดสาย ตั้งแต่ รถจักรยานยนต์ โทรศัพท์มือถือ ลูกอม มันฝรั่ง นาฬิกา มาจนถึงโลชั่น กลายเป็นพรีเซนเตอร์ที่มีผลงานบนจอโทรทัศน์มากที่สุดคนหนึ่ง
ประสงค์ รุ่งสมัยทอง รองกรรมการผู้จัดการ ผู้ดูแลงานด้าน Asset Management กล่าวว่า กรณีของฟิล์ม คือบทบาทใหม่ของอาร์เอส ในการทำธุรกิจ ศิลปินของอาร์เอส จะไม่ใช่ผู้ที่สร้างรายได้จากการขายอัลบั้มเพลงแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป หากแต่จะเป็นสินทรัพย์ ที่สามารถขายลิขสิทธิ์ในตัวศิลปินคนนั้นได้ในหลากหลายรูปแบบ หลากหลายช่องทาง ตั้งแต่ การแสดงคอนเสิร์ต การแสดงละคร แสดงภาพยนตร์ และรายได้จากการเป็นพรีเซนเตอร์สินค้าแล้ว ในด้านการขาย Goodwill ที่จะใช้ความเป็นฟิล์ม รัฐภูมิ ไปสร้างมูลค่า เช่น การขายลิขสิทธิ์ภาพไปทำพิมพ์ลงบนเครื่องใช้ ที่นอน แก้วน้ำ เครื่องเขียน ตุ๊กตา ฯลฯ ออกจำหน่าย การนำภาพไปใช้ในการดาวนโหลดลงบนโทรศัพท์มือถือ ใช้เสียงพูดเป็นเสียงเรียกเข้า หรือเสียงรอรับสาย ล้วนเป็นรายได้ที่ทดแทนการสูญเสียทางการขายอัลบั้มได้เป็นอย่างดี และคุ้มค่ากับการผลักดัน
เฮียฮ้อ เล่าว่า วันนี้อาร์เอส ไม่ใช่ค่ายเพลงอีกต่อไป แต่จะขอเรียกตัวเองว่า Entertainment Content Provider ผู้นำเสนอเนื้อหาความบันเทิงที่สมบูรณ์แบบ โดยมีตัวศิลปินคอนเทนท์หลัก ที่จะทำหน้าที่ขยายต่อออกเป็น Entertainment Content สร้างเป็นรายได้ให้กับบริษัทฯ และวันนี้อาร์เอสมีศิลปินที่เซ็นสัญญาเตรียมจะผลักดันให้เป็นซูเปอร์สตาร์อีกมากพอควร ซึ่งทุกคนจะผ่านขั้นตอนการศึกษา พัฒนาสร้างศักยภาพ เมื่อศิลปินคนใดมีแนวโน้มที่จะสร้างให้เกิดได้ สื่อต่าง ๆ ที่ครบเครื่องของอาร์เอส จะช่วยกันผลักดันให้เกิดเป็นฟิล์มคนต่อ ๆ ไปได้อีกมากมาย
UBC AF แรงกด(ให้ต้อง)ดัน
ความสำเร็จของอะคาเดมี แฟนเทเชีย ใน 2 ปีที่ผ่านมา ดูจะเป็นความสำเร็จในแง่การทำธุรกิจ มากกว่าความสำเร็จของผู้เข้าแข่งขัน ความสำเร็จจากตัวเลขผู้ชมที่เพิ่มขึ้นทุกปี จำนวนโหวตที่เป็นรายได้จากการใช้โทรศัพท์มือถือ สูงนับ 10 ล้านโหวตในแต่ละปี การใช้บริการดาวน์โหลด แสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซด์ UBCTV สูงถึง 622 ล้านครั้ง ในปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นผลตอบแทนที่กลับเข้าสู่บริษัทในเครือข่ายทรูคอปอเรชั่นจำนวนมาก แต่ฟีดแบ็คที่ล้นหลาม ประเด็นการแข่งขันที่เป็นข่าว Talk of the Town บนหน้าหนังสือพิมพ์ หรือสื่อทีวี กลับไม่ได้ช่วยให้ผู้ชนะเลิศ และผู้เข้าแข่งขัน จะออกมาประสบความสำเร็จในวงการบันเทิงได้เลย
ยูบีซี เรียนรู้การบริหารงานให้กับผู้เข้าแข่งขัน ผ่านการแข่งขันในแต่ละปี โดยในอะคาเดมี แฟนเทเซีย ครั้งแรก 11 นักล่าฝัน ที่คัดเลือกบนกรอบกติกาที่ประยุกต์จากต้นแบบเม็กซิโก ให้เข้ากับคนไทย ผู้เข้าแข่งขันมีความสามารถด้านร้องเพลง แต่ขาดการวางแผนรองรับ สุดท้ายส่งต่อให้กับ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ รับนักล่าฝัน รุ่นแรกไปสร้างผลงานออกอัลบั้ม ท้ายที่สุด คือความล้มเหลวทั้งยูบีซี ที่ไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากผู้ชนะเลิศ และผู้เข้าแข่งขันได้ ส่วนทางแกรมมี่ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการออกอัลบั้มให้กับ AF ทั้ง 11 คนนี้ได้
เมื่อถึงอะคาเดมี่ แฟนเทเชีย ครั้งที่ 2 หลังจากได้ผู้ชนะเลิศเป็นที่เรียบร้อย ยูบีซี จึงได้เปิดบริษัทใหม่ในชื่อ ยูบีซี แฟนเทเชีย ขึ้นมาเพื่อดูแลผลประโยชน์รองรับให้กับ 12 นักล่าฝัน โดยไม่ต้องส่งให้ค่ายเพลงเหมือนปีก่อน ได้ กิตติกร เพ็ญโรจน์ ทำหน้าที่บริหาร ตั้งเป้าต่อยอดความสำเร็จของรายการ ให้กลายเป็นรายได้ในทุก ๆ ช่องทาง
การผลักดันของยูบีซี ในการแจ้งเกิดศิลปินเพลง เป็นงานชิ้นแรกที่ ยูบีซี แฟนเทเชีย ส่งออกมา นักล่าฝัน 12 คน ถูกจับกลุ่มออกอัลบั้มหลากหลายชุด แต่ดูเหมือนว่า แทบไม่มีเพลงใดติดหูคนฟัง อาจเป็นเพราะศักยภาพในการเจาะเข้าสู่รายการวิทยุที่ส่วนใหญ่ผูกขาดโดยค่ายเทปใหญ่ ยังไม่สามารถทำได้ จึงแทบไม่มีเพลงจากเอเอฟ 2 เปิดบนคลื่นวิทยุมากเท่าไหร่นัก เหลือเพียงการระดมเปิดตามช่วงเวลาว่างต่อรายการ ตามช่องต่าง ๆ ของยูบีซี ซึ่งหลายครั้งผู้ชมต้องกดเปลี่ยนช่อง เพราะคิดว่ากดผิดไปที่ช่อง Channel V ผลส่งไปถึงยอดขายบนแผงเทปไม่ได้สร้างรายได้กลับคืนให้กับ ยูบีซี แฟนเทเซีย เท่าไรนัก
เอเอฟ 2 ทั้ง 12 คน ยังมีผลงานประจำทางโทรทัศน์ทางช่อง 7 “เพื่อนรัก นักล่าฝัน” ละครซิทคอมบ่ายวันอาทิตย์ มีผู้ชมพอประมาณ แต่ผลงานที่น่าจะทำให้สาธารณชนรู้จักเหล่านักล่าฝันเหล่านี้ น่าจะเป็นงานโฆษณาที่กระจายในหลากหลายสินค้า ทั้งสาวพัดชา กับโฆษณาแชมพูแพนทีน สปอนเซอร์ประจำการแข่งขัน หนุ่มอ๊อฟ แชมป์เอเอฟ 2 กับโฆษณาท้าประลอง ของยาสีฟันใกล้ชิด และโฆษณารถจักรยานยนต์ฮอนด้า ของทั้ง 12 ผู้เข้าแข่งขัน
เมื่อดูรวม ๆ ประเมินได้ว่า ผลผลิตของการแข่งขันที่สรรหาผู้เข้าแข่งขันที่มีศักยภาพด้านการร้องเพลงเป็นหลักของการแข่งขันทั้ง 2 ครั้ง แม้จะสร้างความสำเร็จในด้านเนื้อหารายการที่เกิดการแข่งขันของผู้มีความสามารถ แต่ทางด้านการตลาด กลับไม่สามารถตอบโจทย์ที่จะประสบความสำเร็จในด้านยอดขายอัลบั้ม หรือการแสดงได้เลย จึงไม่น่าแปลกใจที่เสียงวิจารณ์ของผู้ชมอะคาเดมี แฟนเทเซีย หลังผ่านการแข่งขันไป 3 สัปดาห์ ไปในทิศทางเดียวกันว่า ผู้เข้าแข่งขันหน้าตาดีทุกคน แต่คุณภาพการร้องเพลง ต่ำกว่าการแข่งขันทุกครั้ง
เปอร์เซ็นต์การโหวตที่เกาะกลุ่ม ด้วยผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนมีจุดเด่นทางหน้าตาแตกต่างกันไป แม้คอมเมนท์เตเตอร์จะวิจารณ์การร้องของใครรุนแรง หรือชื่นชมใครมากเป็นพิเศษ ไม่ได้เป็นการชี้นำการตัดสินใจโหวตของผู้ชมได้เลย ทั้งหมดก็น่าจะเป็นแนวทางที่ยูบีซีวางหมากให้เป็น หากผู้ชนะเลิศคนสุดท้าย คือ หนุ่มหรือสาวที่มีบุคลิก หน้าตาดีที่สุด มิใช่คนที่ร้องเพลงดีที่สุด
ประสบการณ์ 2 ปีที่ผ่านมา สร้างแรงกดดันให้กับหลาย ๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการแข่งขันต้องปรับกลยุทธ์ในการกอบโกยรายได้ชดเชยกับเงินลงทุนปีละ 100 ล้านบาท แลกกับเสียงต่อว่ามากพอควร นโยบายในการจำกัดให้โทรศัพท์ในเครือข่ายทรูมูฟเท่านั้นที่สามารถโหวตเชียร์ได้ แม้ภาพภายนอกดูเหมือนแฟร์เกม ที่ผู้โหวตจะได้รับเงินคืนเป็นค่าโทร แต่จริง ๆ แล้ว คงไม่มีผู้ให้บริการมือถือรายได้จะนิ่งเฉยหากลูกค้าเปลี่ยนซิมของคู่แข่งมาแทนซิมของตน
ด้านนโยบายการคัดเลือกผู้เข้าแข่งขัน ก็เปลี่ยนเป็นการเลือกจากบุคลิกหน้าตา เพราะเมื่อเสร็จสิ้นการแข่งขัน ผู้เข้าแข่งขัน 13 คนนี้ คือ สินทรัพย์ของยูบีซีที่จะนำไปสร้างรายได้ 2 ปีที่ผ่านมา คงเป็นที่ยอมรับกันได้แล้วว่า ไม่ว่าจะมอบหมายให้ค่ายเทปยักษ์ใหญ่นำไปดำเนินการ หรือจะลงทุนเปิดบริษัททำงานเอง ก็ไม่สามารถสร้างแรงผลักดันให้ศิลปินเอเอฟ แจ้งเกิดในเวทีนี้ได้ หากเปลี่ยนเป็นผู้มีบุคลิกลักษณะ หน้าตา ที่เหมาะกับงานแสดง ทั้งละคร ภาพยนตร์ หรืองานโฆษณา ยูบีซีจะมีศักยภาพที่จะผลักดันให้เกิดเป็นรายได้กลับมามากกว่า คุ้มค่ากว่าการแข่งขันทุกครั้งแน่นอน
|