Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2538








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2538
"เปิดประกันภัยเสรีในปีตะวันดับ เสี่ยงชีวิตหรือเสี่ยงวินาศภัย !?"             
โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข
 

 
Charts & Figures

โครงสร้างเบี้ยประกันชีวิตรับโดยตรง


   
search resources

Insurance




ยุคทองของธุรกิจประกันภัยเสรีเริ่มต้นแล้ว เมื่อกลุ่มทุนขนาดใหญ่อย่าง กลุ่มซีพี สหวิริยากรุ๊ป กลุ่มอัลฟาเทค กลุ่มโอสถสภา กลุ่มสหพัฒน์ ฯลฯ ต่างยาตราทัพเงินทุนและกำลังพลเข้าสู่สนามการค้ามูลค่าไม่ต่ำกว่าแสนล้าน ถึงเวลาแล้วหรือยังที่กระทรวงการคลังจะเป็นผู้ดูแลธุรกิจเหล่านี้แทนกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งขาดความต่อเนื่องและประสิทธิภาพในการกำกับดูแลยังเป็นที่น่าสงสัย

ชูชีพ หาญสวัสดิ์ เพิ่งก้าวเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในรัฐบาลบรรหาร 1 ไม่นานนัก ก็ประกาศยืดเวลาการขอใบอนุญาตตามนโยบายเปิดเสรีธุรกิจประกันภัยจากวันปิดรับ 7 กันยายน 2538 เลื่อนเป็นวันที่ 9 ตุลาคม โดยอ้างเหตุว่า 10 รายที่ขอน้อยเกินไป

ในที่สุดผลปรากฎว่ามีจำนวนผู้ขอทั้งสิ้น 87 ราย ซึ่งผู้มีอำนาจเซ็นอนุมัติอย่างชูชีพไม่รับประกันว่ากี่รายจะได้รับใบอนุญาตนับว่าเป็นการเปิดเสรีแบบหัวมงกุฎท้ายมังกรยิ่งนัก เพราะหากรัฐบาลจำกัดจำนวนใบอนุญาต ก็อาจมีการวิ่งเต้นหรือใช้เส้นสายให้ได้มาก็ได้

"การเปิดเสรีประกันโดยไม่มีการจำกัดจำนวนบริษัทนั้นจะเป็นเหตุให้ธุรกิจนี้ถึงกับต้องพังลงมาได้ ต้องคำนึงถึงปริมาณบริษัทประกันเดิม รวมทั้งที่จะอนุญาตใหม่ว่ามากเกินไปหรือไม่ และต้องพิจารณาเงื่อนไขประกอบอย่างรอบคอบ หากธุรกิจรายเดิมอยู่ไม่ได้ ก็ไม่เหมาะสม แต่ต้องวางหลักเกณฑ์ที่จะให้แข่งขันภายใน 5 ปีด้วย" รมว. พาณิชย์ชูชีพผู้คร่ำหวอดในวงการประกันภัยตั้งแต่ครั้งเป็นรมช. พาณิชย์สองสมัยแถลง

เป็นที่น่าสงสัยระยะเวลาที่เพิ่มขึ้น ใช่ หรือไม่ที่ผลประโยชน์ก็พลอยมากขึ้นด้วย เม็ดเงินสะพัดเข้ากรมการประกันภัยไม่ต่ำกว่า 5,205 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินมัดจำ 15% ของทุนจดทะเบียน ตามเงื่อนไขใหม่ ทุนจดทะเบียนของบริษัทประกันชีวิต 500 ล้านบาท ที่สูงกว่าบริษัทประกันวินาศภัยที่ 300 ล้าน

นอกจากนี้ต้นทุน "พิเศษ" ที่รายใหม่ต้องจ่ายใต้โต๊ะก็มีสูตรลับ "50 ต่อ 1%" สำหรับใบอนุญาตประกันชีวิต 1 ใบ หรือ 50 ล้านบาท ส่วนใบอนุญาตประกันวินาศภัยจะประเมินไว้ที่ "30 ต่อ 1%" หรือ 30 ล้านบาท

คุ้มหรือไม่คุ้มที่ต้องจ่าย? วัดจากปัจจุบันมูลค่าใบอนุญาตที่ซื้อขายกันตกประมาณ 300 ล้านบาท เช่นกรณีที่กลุ่มเอกธนกิจลงทุน 300 ล้านซื้อใบอนุญาตกิจการของ "พิทักษ์สินประกันภัย" ของกลุ่มโค้วยู่ฮะ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "เอกประกันภัย" ดำเนินธุรกิจรับประกันวินาศภัยของลูกค้ากลุ่มเอกธนกิจ และล่าสุดกลุ่มเอกธนกิจได้ยื่นขอใบอนุญาตประกันชีวิตในนาม "บริษัท เอกประกันชีวิต" ด้วย

แนวความคิดของสถาบันการเงินที่ต้องการทำธุรกิจครบวงจร ขณะเดียวกันเป็นการขยายกิจการ และบางอุตสาหกรรมคำนึงถึงการประหยัดต้นทุนจ่ายเบี้ยประกันแบบยิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว ทำให้เกิดภาวะบูมสนั่นหลังเปิดเสรีประกันภัยในยุคสุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนี้ มีผู้ยื่นขอทั้งหมด 87 รายซึ่งแยกเป็นผู้ยื่นขอทำธุรกิจประกันชีวิต 44 ราย และธุรกิจประกันวินาศภัยรายใหม่ 43 ราย

กลุ่มสถาบันการเงิน ซึ่งประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เช่นธนาคารนครหลวงไทยซึ่งร่วมกับกลุ่มสหพัฒน์ ซัมซุงและไอเอฟซีที่ยื่นขอตั้ง "บริษัท เอสเอสเอสไอประกันชีวิต" ธนาคารศรีนครเสนอในนาม "บริษัทศรีนครประกันชีวิต" ธนาคารนครธนเสนอตั้ง "บริษัทนครธนประกันชีวิต" กลุ่มเอกธนกิจเสนอในนาม "บริษัทเอกประกันชีวิต" บงล. นิธิภัทรในนาม "นิธิภัทรอีโก้ แอนด์ เจเนอรัล" แบงก์กรุงเทพฯพาณิชย์การร่วมกับนักธุรกิจชาวฮ่องกง โรเบิร์ต ก๊วก พรอนันต์กรุ๊ป และบงล.ไทยรุ่งเรืองทรัสต์และมหาธนกิจ ตั้ง "บริษัท เคอรี่ประกันภัย" ฯลฯ

กลุ่มอุตสาหกรรมการค้าและอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งส่วนใหญ่จะจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์และมักจะขอใบอนุญาตครบทั้งประกันชีวิตและประกันภัย เช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์ เครือสหวิริยา กลุ่มอัลฟาเทค กลุ่มตันติพิพัฒน์พงศ์ในนาม "บริษัทพรภัทรประกันภัย และพรภัทรประกันชีวิต" เป็นต้น

กลุ่มธุรกิจประกันภัยเจ้าเก่า ซึ่ง "ฟันหลอ" เนื่องจากมีใบอนุญาตประกันภัยเพียงใบเดียว เมื่อโอกาสเปิด ก็จึงขอเพิ่มธุรกิจประกันชีวิตให้ครบทุกช่องทางเช่น ประหยัด เลี่ยวไพรัตน์แห่งกลุ่มทีพีไอยื่นขอตั้งบริษัททีพีไอประกันชีวิต

กลุ่มธุรกิจการเมือง ซึ่งมีเจ้าของกิจการเป็นนักการเมือง เช่น กลุ่มชินวัตรซึ่ง พจมาน ชินวัตร ภริยาหัวหน้าพรรคพลังธรรมเป็นผู้ยื่นขอในนามบริษัทธนชาติประกันชีวิตและธนชาติประกันภัย กลุ่มโอสถสภา (เต็กเฮงหยู) ของสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ผู้สนับสนุนพรรคชาติพัฒนายื่นขอในนาม "บริษัทโอสถสภาประกันชีวิตและโอสถสภาประกันภัย" กลุ่มวัฒนา อัศวเหม สส. สมุทรปราการพรรคชาติไทย ยื่นขอทำธุรกิจประกันวินาศภัยชื่อ "บริษัทเอ็มพี ประกันภัย" เป็นต้น

รายแรกที่กล้าเปิดตัวเป็นทางการแม้ว่าจะยังไม่ได้รับอนุญาตก็ตามคือ "บริษัทสหวิริยาประกันชีวิต" และ "บริษัทสหวิริยาประกันภัย" มีงานแถลงข่าวที่โรงแรมรีเจ้นท์ นำโดยวิทย์ วิริยะประไพกิจ ซีอีโอหรือประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเครือสหวิริยา โดยปีกขวาประกอบด้วย ดร. มารวย ผดุงสิทธิ์ รองซีอีโอ และสอาด ธรารักษ์ ว่าที่กรรมการผู้จัดการสายธุรกิจประกันชีวิต ส่วนปีกซ้ายได้แก่ ดร. อัศวิน จินตกานนท์ และหาญ อร่ามวิทย์ กรรมการผู้จัดการสายธุรกิจประกันวินาศภัย

"เครือสหวิริยาได้ยื่นหนังสือขอจัดตั้ง และประกอบกิจการธุรกิจประกันชีวิต และประกันวินาศภัยต่อกระทรวงพาณิชย์โดยไม่มีการเข้าร่วมกับกลุ่มธุรกิจใด เนื่องจากเครือสหวิริยามีความพร้อมในตัวเองหลาย ๆ ด้าน ทั้งด้านเงินทุน เครือข่ายและบุคลากร" ซีอีโอของเครือสหวิริยาเล่าให้ฟัง

เครือสหวิริยานับว่า เป็นกรณีตัวอย่างที่สะท้อนชัดเจนถึงเบื้องหลังการขยายอาณาจักรสู่ธุรกิจประกันภัย ของกลุ่มทุนบรรษัทขนาดใหญ่ลักษณะ CONGLOMORATE ที่สั่งสมเงินทุนจากฐานธุรกิจดั้งเดิมด้านอุตสาหกรรมการผลิตและจำหน่ายเหล็ก และแผ่ขยายการลงทุนสายธุรกิจ 7 สายดังนี้

สายแรก-ธุรกิจเหล็กที่รวมการผลิตและการจำหน่ายเหล็ก เครือสหวิริยามีบริษัทไม่ต่ำกว่า 19 แห่ง อาทิเช่น บริษัทสหวิริยาสตีลโฮลดิ้ง สหวิริยาพาณิชย์ สหวิริยาเมทัลอินดัสทรีส์ สหวิริยาสตีลบาร์ สหวิริยาสตีลเหล็กเพลา บริษัทเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย บริษัทแผ่นเหล็กเคลือบไทยเพียงการรับประกันภัยนำเข้า-ส่งออกวัตถุดิบเหล็กและประกันโรงงานเหล็กที่พระประแดงและที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ก็มีมูลค่ามหาศาล

สายที่สอง-ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ดำเนินธุรกิจไม่ต่ำกว่า 10 แห่ง เช่นบริษัทสหวิริยาแลนด์ สหวิริยาเรียลเอสเตทเซลส์ บริษัทสหวิริยาซิตี้ บริษัทสหวิริยานิวเวย์วิริยะเอสเตท เวลโกรว์อินดัสทรีส์ บริษัทมิตซุย-สหวิริยาเรียลเอสเตท บริษัทมิตซุย-สหวิริยาคอนสตรัคชั่น บริษัทประภาวิทย์ บริษัทมหานครเอสเตท ซึ่งแต่ละโครงการต้องประกันอัคคีภัยตามข้อบังคับ

สายที่สาม-สายธุรกิจโทรคมนาคมและเทคโนโลยี เช่น บริษัทสหวิริยาโอเอ สหวิริยาอินฟอร์เทค คอมพิวเตอร์ สหวิริยาเทเลคอม สหวิริยาซิสเท็มส์ สหวิริยาแอดวานซ์โปรดักส์ สหวิริยาดาต้าซิสเต็มส์ สหวิริยาคอมมิวนิเคชั่น บริษัทเอปสันอิเล้คโทรนิคส์ บริษัทไทยซอฟท์

สายที่สี่-สายธุรกิจระหว่างประเทศเป็นบริษัทเทรดดิ้ง

สายที่ห้า-สายธุรกิจการเงิน เช่น บริษัทสหวิริยาเครดิตฟองซิเอร์ บงล.ซีแอลสหวิริยา บริษัทไฮเอชลิสซิ่ง และถ้าหากเครือสหวิริยาได้ใบอนุญาตประกันชีวิตและประกันวินาศภัย ก็จะทำให้สายธุรกิจการเงินครบวงจร

สายที่หก-สายธุรกิจขนส่งซึ่งทั้งการขนส่งทางบกและทางเรือที่บริการขนส่งทะเลและมหาสมุทร เช่นบริษัทท่าเรือประจวบ บริษัทสหวิริยาขนส่ง บริษัทสยามนานาขนส่ง ดร. มารวยได้ยืนยันว่าท่าเรือประจวบของสหวิริยาเป็นท่าเรือน้ำลึกที่สุดที่สามารถรับเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ที่มีระวางบรรทุกแสนตันได้

สายที่เจ็ด-สายธุรกิจพลังงาน (POWER & ENERGY) ที่เป็นอนาคตธุรกิจใหม่ที่เครือสหวิริยาร่วมกับอิตาลีเสนอขอตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าอิสระต่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแล้วรอผลปีหน้า

"ปีหนึ่งเราจ่ายเบี้ยประกันมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเหล็ก ธุรกิจที่ดิน ธุรกิจสายเทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์ธุรกิจการเงิน ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศล้วนแต่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการประกันชีวิต ประกันภัยทางรถยนต์ หรือประกันการขนส่งทางทะเล เช่น ในกลุ่มเหล็กของเราที่นำเข้าวัตถุดิบเหล็กปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 10 ล้านตันจึงต้องมีการประกันภัยขนส่งทางทะเลเช่นเดียวกับประกันการนำเข้าอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ การตั้งบริษัทประกันของเราเองจะช่วยลดการขาดดุลบริการที่ต้องเสียให้บริษัทต่างประเทศมากๆ" วิทย์ ประไพวิริยะกิจเล่าให้ฟัง

ในฐานะเฮดฮันเตอร์กิตติมศักดิ์ ดร. มารวย ผดุงสิทธิ์ ได้ทาบทาม สอาด ธรารักษ์เป็นกรรมการผู้จัดการสายธุรกิจประกันชีวิต สอาดเป็นลูกหม้อเก่า เอ.ไอ.เอ ที่ทำงานมา 28 ปี 8 เดือน เคยเป็นอดีตกรรมการผู้จัดการคนไทยคนแรกของบริษัท เอ.ไอ.เอ อยู่ 8 ปี(2523-31) หลังจากนั้นกรมการประกันภัยเชิญมาช่วยแก้ปัญหาในบริษัทอินเตอร์ไลฟ์ประกันชีวิต ล่าสุดมาอยู่ที่เครือสหวิริยา

จากนั้นสอาดก็ได้ทีมงานลูกน้องเก่าสามคนมาเป็นรองกรรมการผู้จัดการ คือ สุวัฒน์ ชูครุวงศ์อยู่สายบริหาร ธานี เขมะคงคานนท์ อยู่สายการเงินการลงทุนดูแลพอร์ตลงทุน และไพศรี ชุติวิริยะการย์ดูแลสายเทคนิคประกันภัย ทำงานด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยที่เป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจ

"ผมเกษียณอายุจากบริษัทอินเตอร์ไลฟ์มาอยู่ที่นี่ ไม่ใช่ใครมาแย่งหรือมาซื้อตัว คุณเชื่อหรือว่า จะไม่มีใครเปลี่ยนงานไปมา ยิ่งฝ่ายขายยิ่งเปลี่ยนทุกปี ออกจากไทยสมุทรไปไทยประกัน หรือออกจากเอ.ไอ.เอ.ไปอยู่ประกันชีวิตศรีอยุธยา ผมยอมรับว่า คนไม่พร้อม แต่ถ้าเรารอให้พร้อม เมื่อไหร่ล่ะครับ? ถ้าเราไม่เริ่มสร้างคนตอนนี้" สอาดเล่าให้ฟังอย่างตรงไปตรงมา

ขณะเดียวกัน ดร. มารวยและดร.อัศวิน ก็ได้ทาบทามหาญ อร่ามวิทย์ ก็เข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการสายประกันวินาศภัยของเครือสหวิริยา ประสบการณ์ 27 ปีที่หาญเริ่มจากโฮมอินชัวรันส์สู่เมืองไทยประกันชีวิตที่ ซึ่งเขาต้องประสบเหตุร้ายแรงจนเสียโฉมแต่ได้พิสูจน์ตัวเองอยู่หลายปีจนสำเร็จ ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ที่วชิระสินประกันภัยและบริษัทรัตนโกสินทร์ประกันภัยก่อนลาออกมาที่นี่

ทีมงานของหาญประกอบด้วยมือขวา คือสมชาย เปล่งสุริยการ เป็นผู้ช่วยฯ รับผิดชอบบริหารทั่วไป รับประกันภัยจัดการสินไหม สมชายทำงานกับประกันคุ้มภัย 14 ปีหลังจากจบปริญญาโทที่นิด้า สมชายเชี่ยวชาญการประกันภัยรถยนต์เป็นพิเศษ

ส่วนมือมาร์เกตติ้งคนสำคัญคือ ปราโมทย์ บุญสินสุขมารับผิดชอบตลาดในฐานะผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการที่เครือสหวิริยา ปราโมทย์เคยทำอยู่กรุงเทพประกันภัย 15 ปีก่อนจะย้ายสังกัดไปอยู่ประกันคุ้มภัยและอาคเนย์ประกันภัย

คนที่สามคือจิราพร ตากดำรงค์กุลมีอาวุโสงานน้อยที่สุดเพียง 3 ปี รับผิดชอบสารสนเทศ ช่วยสายงานสำนักกรรมการผู้จัดการ

ผลกระทบจากที่ลูกค้าขนาดใหญ่อย่าง เช่น เครือสหวิริยา จัดตั้งบริษัทประกันภัยเอง ได้สร้างปรากฏการณ์ธุรกิจใหม่เกิดขึ้นหลายประการในพอศอนี้

ปรากฏการณ์ที่เด่นชัดที่สุดคือในระยะ 5 ปีต่อไป ตลาดประกันชีวิตจะขยายจากเดิมที่มีคนทำประกันชีวิตเพียง 8% ของคนไทยทั้งหมด 60 ล้านคน ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดของบริษัทประกันภัยเดิมที่ถือลูกค้าเดิมจะลดลงเมื่อมีการแข่งขันด้านบริการและเบี้ยประกันภัย

เช่นกรณีของเครือสหวิริยา หรือเครือเจริญโภคภัณฑ์ กลุ่มอัลฟาเทค ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีสัดส่วนเบี้ยประกันสูงได้ออกไปตั้งบริษัทประกันภัย ผลกระทบย่อมเกิดกับบริษัทกรุงเทพประกันภัย ซึ่งเป็นผู้นำส่วนแบ่งตลาดนี้ ทำให้ส่วนแบ่งตลาดเดิมลดลง

"แผนห้าปีของบริษัทสหวิริยาประกันภัย ถ้าหากเราได้เปิดมกราคมปีหน้าเราตั้งเป้าไว้ว่าจากปีแรก 150 ล้าน เราประมาณว่าจะเติบโตไปถึง 800 ล้านในห้าปีข้างหน้า ซึ่งคาดว่าจะโตเฉลี่ยปีละ 15%" หาญ อร่ามวิทย์ กรรมการผู้จัดการสายธุรกิจประกันวินาศภัยของเครือสหวิริยาเล่าให้ฟัง

อย่างไรก็ตาม ลูกค้าทั้งสามรายเป็น ลูกค้าเก่าแก่ที่มีสายสัมพันธ์เชิงธุรกิจกับแบงก์กรุงเทพและบริษัทกรุงเทพประกันภัยมานาน ถึงแม้จะตั้งบริษัทประกันภัยเองก็ต้องกระจายความเสี่ยงโดยให้บริษัทกรุงเทพประกันภัยรับประกันภัยต่อ เป็นที่คาดหมายว่าตลาดประกันภัยจะขยายตัวมากขึ้นด้วยซ้ำ

ปัจจุบันผู้นำส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในตลาดประกันชีวิตไทยคือ เอ.ไอ.เอ. ที่ครองสัดส่วนถึง 50.4% มูลค่าตลาดรวมปีนี้คาดว่าจะเป็น 49,353 ล้านบาท โดยเฉลี่ยปีละ 20-29% ขณะที่ธุรกิจประกันวินาศภัยสิ้นปีนี้คาดว่ามูลค่ารวมจะประมาณ 53,318 ล้านบาท โตเฉลี่ยปีละ 20%

นอกจากนี้ การเพิ่มบริษัทประกันภัยใหม่ขึ้น เพิ่มดีกรีการแข่งขันด้วยคู่แข่งยักษ์ใหญ่รายใหม่ แบบปลาใหญ่กินปลาเล็กก็ย่อมเกิดขึ้นให้เห็นถึง บริษัทขนาดเล็ก หรือที่อ่อนแอกว่าต้องปรับตัวให้อยู่รอดหรือไม่ก็ยุบหรือเลิกกิจการไปเลยก็มีทำให้ลดจากจำนวนเดิมที่มีบริษัทประกันชีวิต 12 แห่งและบริษัทประกันวินาศภัย 67 แห่ง ซึ่งครึ่งหนึ่งเป็นบริษัทประกันภัยขนาดเล็กมีเบี้ยประกันภัยไม่ถึง 300 ล้านบาท และไม่มีประสิทธิภาพแข่งขันได้เต็มที่ กรณีบริษัทประกันชีวิตขนาดเล็กก็มีอัตราส่วนของกรมธรรม์ยกเลิกและขาดอายุสูง เช่น บริษัทสหประกันชีวิตที่ขาดทุนจนล้มละลาย

ด้วยเหตุนี้กรมการประกันภัยจึงควรเข้มงวดในการกำกับดูแลฐานะของบริษัทประกันภัยขนาดเล็ก และให้บริษัทดำรงเงินกองทุนจากเดิม 10% ของเบี้ยประกัน หรือไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท เพิ่มเป็น 40 ล้านบาทและทยอยเพิ่มจนครบ 100 ล้านในเวลา 5 ปี

ปรากฏการณ์สุดท้ายคือ ปัญหาขาดแคลนบุคลากร ที่ทาง สุขเทพ จันทร์ศรี ชวาลา นายกสมาคมประกันชีวิตไทย และศราวุธ ภาสุวณิชย์พงศ์ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทยยื่นจดหมายต่อนายกรัฐมนตรีบรรหาร ศิลปอาชา และรมว. พาณิชย์ ชูชีพ หาญสวัสดิ์ อ้างเหตุว่าควรจำกัดใบอนุญาตประกันชีวิตใหม่ 5 ใบและบริษัทประกันวินาศภัยใหม่ 3 ใบในระยะ 3 ปีแรก

แต่หัวใจสำคัญของบุคลากรในบริษัทใหม่คือ ปัญหาขาดแคลนผู้บริหารแผนกพิจารณารับประกัน แผนกสินไหมและนักคณิตศาสตร์ประกันภัย (ACTUARY) ซึ่งนับจำนวนได้เพราะเป็นศาสตร์ที่ยาก ต้องสามารถคิดอัตราดอกเบี้ยได้เหมือนสถาบันการเงิน ต้องคิดอัตรามรณะ หรือการเสียชีวิตในช่วงอายุที่ต่างกันได้ด้วย

ปัจจุบันการสร้างคนประกันภัยของไทยโดยผ่านศูนย์พัฒนาบุคลากรประกันภัยหรือ "ทีไอไอ" และมหาวิทยาลัยเอแบคปีหนึ่งผลิตได้ไม่เกิน 300 คน ขณะที่ธุรกิจประกันวินาศภัยและประกันชีวิตมีคนทำงานถึง 30,000 คน ซึ่งเป็นคนทำงานธุรกิจประกันวินาศภัยถึง 16,800 คน

ลองนึกภาพสิ้นปีที่พนักงานในวงการประกันภัยนับหมื่นได้รับโบนัสแล้ว ขณะเดียวกันก็มีทางเลือกงานใหม่เมื่อได้ทราบผลว่าใครได้รับใบอนุญาตธุรกิจประกันแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นก็จะเห็นข่าวเกี่ยวกับการซื้อตัว เปลี่ยนงานใหม่จะเกิดขึ้นบ่อยมาก ๆ ในทุกระดับชั้นตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูง ระดับกลางและระดับทั่วไปจะวิ่งวุ่นกัน

ยุคทองของคนประกันภัยมาถึงแล้วราคาค่าตัวได้ถูกปั่นขึ้นไปสูงเกินจริงเพราะดีมานด์มากแต่ซัพพลายน้อย ดาวรุ่งวงการประกันภัยจะแจ้งเกิดเร็ว โดยเฉพาะนักเรียนนอกที่ผ่านประสบการณ์มาบ้างแล้ว

บริษัทประกันภัยใหม่บางแห่งได้เตรียมคีย์แมนระดับบริหารไว้ก่อนแล้ว โดยเสนอผลตอบแทนแก่กรรมการผู้จัดการที่เคยผ่านประสบการณ์ บริหารธุรกิจประกันภัยขนาดใหญ่อย่างจุใจ โดยอยู่ในระดับ 200,000-300,000 บาท/เดือน นอกเหนือจากสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เช่น สิทธิการถือหุ้น ส่วนแบ่งจากผลกำไร โบนัสในรูปเงินและการพักผ่อนในต่างประเทศ รวมถึงรถประจำตำแหน่งโก้หรู

ท่ามกลางความไม่แน่นอนและความแน่นอนในปีนี้ บางบริษัทยักษ์ใหญ่รายใหม่ที่มีท่าว่าจะได้แจ้งเกิด ได้มีการทาบทามตัวผู้บริหารระดับสูงกันอย่างเงียบ ๆ แต่เป็นที่รู้กันในวงการประกันภัยว่าใครเป็นใคร

อาทิเช่น สุนทร บุญสาย ลาออกจากกรรมการผู้จัดการ บริษัทประกันศรีอยุธยา จาร์ดีน ไปเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทอัลฟาเทคประกันชีวิตเพื่อรับอาสาทอฝันของชาญ อัศวโชค ให้เป็นจริง

พันธ์เสน่ห์ พันธุพงษ์ อดีตผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวางแผนการตลาด บริษัทคอมเมอร์เชียลยูเนียนประกันภัย หรือซียูไปเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทใหม่ "อัลฟาอินเตอร์เนชั่นแนล อินชัวรันส์"

งานนี้พันธ์เสน่ห์ต้องคิด เพราะคอมเมอร์เชียลยูเนียมไม่เพียงต้องเสียลูกค้ารายใหญ่อย่างกลุ่มอัลฟาเทค ซึ่งปีหนึ่ง ๆ สัดส่วนเบี้ยประกันขนาดใหญ่ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท และในอนาคตหากว่ากลุ่มอัลฟาเทคได้ใบอนุญาต คาดว่าจะมีคนซียูกว่าครึ่งไปอยู่ที่ใหม่นี้

วรวุฒ ตั้งก่อสกุล อดีตกรรมการผู้จัดการบริษัทประกันคุ้มภัย ไปเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ประกันภัย ขณะที่ธัลดล บุนนาค เป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ประกันชีวิต

กรณีของซีพีนี้ ได้มีการเตรียมตัวสะสมกำลังคนขึ้นมานานมาแล้ว เนื่องจากมีบริษัทโบรกเกอร์ทำหน้าที่เป็นนายหน้าประกันให้กับกลุ่มบริษัทในเครือซีพีและพอสบโอกาสเปิดเสรีประกันภัย จึงได้พัฒนาฐานะบริษัทโบรกเกอร์นี้ขึ้นมาแต่พอจะหาคีย์แมนหมายเลขหนึ่ง ก็ได้ทาบทามมือบริหารที่เก่งจนคนในวงการลือ คือ เจ้าของบริษัท "ที่ปรึกษาวัฒนา" แต่ติดขัดที่วัฒนามีสัญญาต่อเนื่องกับทางซิตี้แบงก์จึงทำให้ไปอยู่กับซีพีไม่ได้ แม้ว่าจะมีข้อเสนอจุใจเพียงใดก็ตาม

ท่ามกลางบรรยากาศเปลี่ยนงานใหม่จนฝุ่นตลบ ความวิตกกังวลต่อมาตรฐานการกำกับดูแลของกรมการประกันภัยและรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์มีความโปร่งใสยุติธรรม คุณธรรมเพียงใด ภายใต้เงื่อนไขผลประโยชน์ ทางการเมืองส่วนตัวมาก่อนผลประโยชน์ส่วนรวม

ความพยายามที่จะให้สถาบันประกันชีวิตเข้าไปอยู่กับกระทรวงการคลังไม่เป็นผลสำเร็จ ยิ่งสมัยโกศล ไกรฤกษ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เคยประกาศว่า "จะไม่ยอมเสียแผ่นดินนี้ให้ใคร !" จึงเป็นเรื่องที่ไม่มีใครกล้าแตะนักเลงเมืองเก่าอย่างท่าน จนเว้นช่วงมาถึงรองนายกรัฐมนตรีบุญชู โรจนเสถียร แรงผลักดันเริ่มใกล้เป็นจริง แต่เมื่อบุญชูลาออกโครงการนี้ก็พับฐานไป เนื่องจากมีข้าราชการระดับสูงเสียประโยชน์มาก

ถึงเวลาแล้วที่จะทบทวนกันใหม่ว่า ธุรกิจประกันชีวิตและประกันวินาศภัยซึ่งเป็นสถาบันการเงินระยะยาวที่น่าจะไปอยู่กระทรวงการคลัง เพื่อความต่อเนื่องและประสิทธิภาพของระบบบริหารและจัดการอย่างอารยประเทศทั้งหลาย

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us