|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ สิงหาคม 2549
|
|
Time is money... เวลาเป็นเงินเป็นทองของบ้านเรา ถือเป็นคำนิยามของชาวแคนาดา ที่หลายคนต่างกล่าวขวัญถึง โดยเฉพาะช่วงของเศรษฐกิจเฟื่องฟูของแอลเบอร์ตาตอนนี้ หากแต่การเติบโตของจังหวัดนี้อาจไม่เกิดผลสำเร็จได้ ถ้ารัฐบาลแอลเบอร์ตาไม่มีการเตรียมแผนการรับมืออย่างมีประสิทธิภาพ
นักธุรกิจและนักลงทุนทางด้านพลังงาน และด้านสาธารณูปโภคของแอลเบอร์ตาได้มีการหารือและถกเถียงกันในประเด็นของการขาดแคลนแรงงานในอนาคต ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของจังหวัดนี้อย่างแน่นอนในอนาคต
ตลาดแรงงานที่สำคัญของแอลเบอร์ตา ตอนนี้อยู่ที่กลุ่มอุตสาหกรรมด้านพลังงานที่มีนักธุรกิจสนใจเข้ามาลงทุนในการพัฒนาโครงการด้านพลังงานสูงถึง 125 พันล้านเหรียญในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยคณะกรรมการการพัฒนาพลังงานเห็นว่า ถ้ามีปัญหาทางด้านแรงงานเข้ามาเกี่ยวข้องแล้วจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนของแอลเบอร์ตา ลดลงเหลือเพียง 94 พันล้านเหรียญ
ในรายงานจากการหารือของฝ่ายนักลงทุนระบุว่าก่อนที่รัฐบาลแอลเบอร์ตาจะวางแผนอนาคตในการพัฒนาสิ่งใด สิ่งสำคัญคือการเตรียมบุคลากร หรือคนในวัยทำงานที่มีคุณภาพ เพื่อให้สอดคล้องดีมานด์และซัปพลาย
Tiff Macklem จาก Bank of Canada Deputy Governor ระบุว่า ความเติบโตของตลาดแรงงานทางด้านอุตสาหกรรมพลังงาน ส่งผลทำให้เศรษฐกิจแคนาดามีอัตราสูงขึ้นถึง 3.1% โดยธนาคารกลางแคนาดาระบุว่า บริษัทต่างๆ ได้ใช้บริการจ่ายค่าจ้างแรงงานผ่านธนาคารสูงเพิ่มขึ้น 378,700 ตำแหน่งในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา
ขณะที่สถิติแคนาดาระบุว่าอัตราการขาดแคลนแรงงานอยู่ที่ 6.1% และหน่วยงานทางด้านการพัฒนาแรงงาน เช่น Alberta Human Resources and Employment ระบุว่ามีตลาดแรงงานเพียง 86,000 คน ซึ่งถือว่าตัวเลขต่ำกว่าที่นักลงทุนระบุถึง 69% นั่นคือ พวกเขายังต้องการแรงงานถึง 145,000 คนใน 10 ปีข้างหน้า
หากเศรษฐกิจแอลเบอร์ตายังเฟื่องฟูอย่างต่อเนื่องแล้ว แอลเบอร์ตาจะตกอยู่ในภาวะการขาดแคลนวัยทำงานสูงถึง 73.7% ในปี 2010 และยังคงมีปัญหาดังกล่าวต่อไปอีกในปี 2025 ถ้าไม่มีการแก้ไขปัญหา โดยจะส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานจำนวน 332,000 คน หรือ 70.4% ที่นักลงทุนยังต้องการแรงงานในอนาคต
อีกประเด็นหนึ่งที่กล่าวถึง คือมูลค่าโครงการต่างๆ ที่วางแผนไว้จะมีผลกระทบตามไปด้วย เพราะผลสืบเนื่องจากแผนงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานตามโครงการต่างๆ วัสดุอุปกรณ์ ค่าจ้างแรงงาน ดอกเบี้ยที่คาดว่าจะสูงขึ้นตามตัวเลข ดัชนีของค่าครองชีพ ทั้งนี้อัตราแลกเปลี่ยน เงินตราอยู่ที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 1.1125 ดอลลาร์แคนาดา
ไม่เพียงแต่ผลกระทบต่อตลาดแรงงานเท่านั้น แม้แต่ค่าจ้างแรงงานที่มีระดับสูงขึ้น โดยสถิติแคนาดาระบุว่า ค่าจ้างแรงงานทั่วไปสูงขึ้น 3.8% ขณะนี้แอลเบอร์ตามีค่าจ้างแรงงานสูงขึ้นถึง 7.3% ซึ่งสูงกว่าอัตราค่าจ้างแรงงานของประเทศถึงสองเท่านั่นคือ ค่าจ้างแรงงานพนักงานทั่วไปอยู่ที่ 10-12 เหรียญต่อชั่วโมง ตอนนี้ค่าจ้างสูงขึ้น 15-17 เหรียญ และยังหาแรงงานทำได้ยากนัก
นักธุรกิจและนักลงทุนของแอลเบอร์ตา เสนอให้รัฐบาลเร่งเข้ามาแก้ไขปัญหาโดยด่วน โดยพวกเขาเสนอทางออกว่า รัฐบาลแอลเบอร์ตาควรมีแผนการพัฒนาตลาดแรงงานอย่างครบวงจร และน่าจะมองหาตลาดแรงงานต่างชาติ หรือ Immigrants หรือการนำผู้สูงวัย และกลุ่มคนพื้นเมือง (aboriginals) ที่มีความรู้ความชำนาญและทักษะในการทำงานเข้ามาทำการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้แผนการนำแรงงานต่างชาติดังกล่าวจะต้องมีการวางแผนการตลาด และแผนการฝึกอบรมอย่างเป็นระบบในกลุ่มประเทศที่เข้ามาอาศัยอยู่ในแคนาดาเป็นจำนวนมาก และรัฐบาลแอลเบอร์ตาควรสนับสนุนการออกใบอนุญาตการจ้างงานแบบชั่วคราว และผ่อนผันการบังคับใช้การออกใบอนุญาตแผนการประกันสุขภาพของแอลเบอร์ตา
แคนาดามีกฎหมายและระเบียบข้อบังคับในการว่าจ้างแรงงานต่างชาติที่มีรายละเอียดจำนวนมาก ที่นักธุรกิจต่างเห็นว่าสมควรมีการผ่อนผันในช่วงนี้ เช่น การเสนอการจ้างงานต้องได้รับการอนุมัติ และมีการลงโฆษณาในสื่อของเมืองนั้นๆ ว่าไม่มีชาวแคนาดาสมัครงานในตำแหน่งดังกล่าว
รวมถึงอุปสรรคด้านขั้นตอนการดำเนินทางราชการที่ต้องผ่านการพิจารณาความเห็นชอบหลายระดับ ตั้งแต่ระดับหน่วยงานท้องถิ่น ไม่ว่าทางด้านหน่วยงานพัฒนาคุณภาพแรงงาน (Human Resources and Employment) ไปถึงการพิจารณาตัดสินใจของระดับรัฐบาลกลาง Human Resources and Skills Development Canada (HRSDC) และ Citizenship and Immigration Canada (CIC) การส่งผ่านความเห็นชอบไปยังประเทศของลูกจ้างที่อาศัยอยู่ การผ่านขั้นตอนการตรวจสุขภาพ และการบังคับใช้แผนประกันสุขภาพที่ใช้เวลาทั้งหมดนานนับปี
แม้จะมีการผ่องถ่ายตลาดแรงงานจากจังหวัดอื่นๆ ของประเทศ เช่นที่ออนทาริโอและควิเบกที่มีการเลิกจ้างแรงงานทางด้านอุตสาหกรรมการบริการ ทำให้แรงงานกว่า 31,600 ตำแหน่งเบนเข็มมาที่แอลเบอร์ตา ซึ่งเป็นอีกหนทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาช่วงนี้
Pe-tro Canada เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีแผนโครงการลงทุนในแอลเบอร์ตา ระบุว่า เวลานี้เป็นช่วงการขาดแรงงานทางด้านวิศวกร นักวิจัย และนักสำรวจพื้นที่ทางด้านพลังงานอย่างสูง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะสรรหาแรงงานที่มีคุณภาพในกลุ่มดังกล่าว เพราะหลายบริษัทก็พยายามอย่างเต็มที่เช่นเดียวกัน
หน่วยงานการพัฒนาแรงงานของแอลเบอร์ตาได้ขานรับกับประเด็นเรียกร้องของกลุ่มนักธุรกิจดังกล่าว โดยเห็นว่าการนำแรงงานต่างชาติเข้ามาแก้ไขปัญหาตามความต้องการของนักลงทุนนั้น ถือเป็นเรื่องที่จะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบทั้งจากฝ่ายทางการ นายจ้าง และสังคมภายนอก เพราะสิ่งสำคัญเราต้องมีการพัฒนาฝึกอบรมแรงงานอย่างมีคุณภาพทั้งทางด้านทักษะและความชำนาญที่สอดคล้องกับแรงงานประเภทต่างๆ ด้วย
นักเศรษฐศาสตร์และนักวิชาการชาวแคนาดาหลายฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่า ความเจริญอย่างไม่หยุดยั้งของแอลเบอร์ตาคราวนี้ส่งผลกระทบต่อส่วนรวมในจังหวัดต่างๆ ของประเทศไปด้วย หากเกิดปัญหาเงินเฟ้อขึ้นแล้วจะเป็นหนทางที่ทำให้ธนาคาร ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามมา
ชาวแคนาดาโดยรวมไม่ได้ชื่นชมกับเศรษฐกิจที่เฟื่องฟูของชาวแอลเบอร์ตาคราวนี้นัก เพราะหลายฝ่ายเริ่มวิตกกับปัญหาที่กำลังตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกเหนือจากการต้องใช้จ่ายเครื่องอุปโภคบริโภคที่มีราคาสูงขึ้นแล้ว ยังอาจเกิดปัญหาการแข่งขันการจ้างงานที่อาจไม่ได้คุณภาพแรงงานตามต้องการ ปัญหาทางด้านสังคมที่ก่อให้เกิดการใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย ขาดการออม หรือแม้กระทั่งเวลาของครอบครัวที่พ่อแม่ต่างออกไปทำงาน เพื่อหาเงินมาซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกโดยไม่จำเป็น
ความเจริญถือเป็นสิ่งที่น่ายินดี ไม่ว่าจะเป็นด้านใดก็ตาม หากความเจริญนั้นเป็นไปอย่างมีคุณภาพ มีความสมดุล มีแผนการรองรับในการแก้ไขเมื่อเกิดอุปสรรค เพราะการเติบโตเป็นธรรมชาติที่มีจุดอิ่มตัว และถ้าแก้ไขไม่ทันการณ์ หรือตรงเป้าหมายแล้วจะส่งผลกระทบได้ในอนาคต
น้ำขึ้นให้รีบตักของชาวแอลเบอร์ตาคราวนี้ สมควรพิจารณาดูตัวอย่างเหตุการณ์เศรษฐกิจฟองสบู่ในบ้านเรา
|
|
|
|
|