สิ่งที่ขาดไม่ได้เลย สำหรับบริการออดิโอเท็กซ์ คือเลขหมาย 4 หลัก เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำของลูกค้า
หากใครได้เลขหมาย 7 หลักมาให้บริการ คงต้องเสียเปรียบคู่แข่งแน่
เมื่อเปรียบเทียบแล้ว ก็เหมือนกับธุรกิจวิทยุติดตามตัวที่เคยต้องแย่งชิงหมายเลข
3 หลัก และ 4 หลักกันมาแล้วในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา
องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ที่ต้องรับผิดชอบเรื่องโทรศัพท์พื้นฐาน
จึงเป็นเป้าหมายสำคัญของเรื่องนี้ เพราะการอนุมัติเลขหมายโทรศัพท์ต้องขอจาก
ทศท. แห่งนี้เท่านั้น
การพิจารณาอนุมัติเลขหมายของ ทศท. แม้จะมีหลักเกณฑ์กำหนดอยู่ก็ตาม แต่ในเชิงปฏิบัติแล้วกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น
กรณีของ เลขหมาย 3 หลัก ที่ใช้ในการให้บริการวิทยุติดตามตัว เป็นตัวอย่างที่ดี
เพราะแม้ผู้ขอจะเป็นเอกชนที่รับสัมปทานจากหน่วยงานรัฐเหมือนกัน แต่เนื่องจากต้นสังกัดที่อนุมัติสัมปทานให้แตกต่างกัน
ดังนั้นเลขหมายที่ได้รับจึงไม่เท่าเทียมกันไปด้วย
เมื่อคราวที่บริษัทแปซิฟิก เทเลซิส ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นแอร์ทัช ผู้รับสัมปทานวิทยุติดตามตัว
แพ็คลิ้งค์ ของค่ายการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) และเป็นผู้รับสัมปทานเพจเจอร์
รายแรกของไทย ได้เคยยื่นขอเลขหมาย 3 หลัก มาเป็นเวลามากกว่า 4-5 ปี แต่ก็ไม่ได้รับอนุมัติจาก
ทศท. ในขณะที่โฟนลิ้งค์ ซึ่งมาทีหลัง เป็นผู้รับสัมปทานจาก ทศท. กลับได้เลขหมาย
3 หลัก 151 และ 152 ไปให้บริการทันทีที่เปิดให้บริการ เพราะเหตุผลง่าย ๆ
โฟนลิ้งค์ เป็นสัมปทานของ ทศท.
ทุกวันนี้ แม้ว่าแพ็คลิ้งค์จะได้รับเลขหมายใหม่แล้วแต่ก็ได้แค่เลขหมาย
4 หลักเท่านั้น คือ 1144 และ 1143 เพราะ ทศท.ให้เหตุผลว่า เลขหมาย 3 หลักหมดแล้ว
ต้องเก็บไว้ใช้ในเชิงสาธารณประโยชน์ รวทั้งอีซี่คอล ผู้รับสัมปทานเพจเจอร์จากค่ายของกสท.
ก็ได้เลขหมาย 4 หลักไปคือ 1500 และ 1501 ไปเช่นกัน
ที่น่าแปลกใจยิ่งไปกว่านั้น คือ ในวันที่กลุ่มยูคอมได้รับสัมปทาน วิทยุติดตามตัวเป็นรายที่
3 ขององค์การโทรศัพท์แต่เป็นรายที่ 5 ของตลาดเมื่อปีที่แล้ว กลุ่มยูคอม ซึ่งมาทีหลังแพ็คลิ้งค์และอีซีคอลหลายปีมาแล้ว
กลับได้เลขหมาย 3 หลักไปใช้ง่าย ๆ โดยไม่ต้องดิ้นรนให้เหนื่อยแรง
สำหรับเลขหมาย 4 หลัก ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 1,000 เลขหมาย ทศท. ตั้งใจไว้ว่า
จะเก็บไว้ให้หน่วยงานราชการต่าง ๆ ไว้ใช้ประโยชน์ในการให้บริการข้อมูลแก่ประชาชนเป็นหลัก
กระทั่งเมื่อปีที่แล้ว พันเอกวินัย สมพงษ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
ในยุครัฐบาลชวน หลีกภัยได้อนุมัติ ให้นำเลขหมาย 4 หลัก ไปใช้ในการให้บริการในเชิงพาณิชย์
โดยอ้างว่า เพื่อให้ทศท. มีรายได้เพิ่มเติมจากการให้เช่าคู่สาย
อัตราค่าเช่าใช้วงจรคู่สายในเชิงพาณิชย์จะต้องเสียแพงกว่าการใช้ในเชิงสาธารณะ
เพราะเป็นการนำไปใช้ประโยชน์ให้เกิดรายได้ โดยต้องเสียในอัตรา 1,750 บาท
: 1 คู่สาย หากใช้ 60 วงจร ต้องเสียเงินค่าเช่าประมาณ 1 แสนกว่าบาท และยังไม่รวม
ค่าเชื่อมโยงวงจร ค่ามัดจำ รวมแล้วอีกหลายแสนบาท
ในเวลานี้ นอกจากสยามโฟนไลน์ ในเครือสหศีนิมาและซิตี้ไลน์ ของอิทธิวัฒน์
เพียรเลิศแล้ว ดูเหมือนว่ายังไม่มีเอกชนรายใด ได้เลขหมาย 4 หลักไปใช้ในเชิงพาณิชย์เพราะเลขหมายส่วนใหญ่
ทศท.ได้อนุมัติให้กับหน่วยงานราชการ เช่น กระทรวงมหาดไทย สำนักทะเบียนราษฎร์
กรมตำรวจ กระทรวงพาณิชย์ ไว้ใช้ในการให้บริการข้อมูลแก่ประชาชนไปแล้ว รวมทั้งธนาคารพาณิชย์
หรือ บริษัทการบินไทย
แหล่งข่าวใน ทศท. กล่าวว่า เลขหมาย 4 หลักในเวลานี้เหลืออยู่น้อยมาก เพราะอนุมัติให้กับหน่วยงานราชการไปแล้วและหลักเกณฑ์ในการพิจารณา
จะอนุมัติให้ใช้ในเชิงสาธารณประโยชน์ก่อนในเชิงพาณิชย์
ส่วนการพิจารณาอนุมัติในเชิงพาณิชย์ ก็จะต้องขึ้นอยู่กับใครมีความจำเป็นมากกว่ากัน
เป็นที่คาดหมายกันว่า หลังความนิยมบริการออดิโอเท็กซ์เกิดขึ้น ศึกแย่งชิงเลขหมาย
4 หลักภาคสอง คงจะต้องเกิดขึ้นมาอีกแน่นอน เพราะในเวลานี้มีเอกชนหลายรายที่จ่อคิวรออยู่ก่อนแล้ว
ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสามารถ กลุ่มยูคอม และทีเอ ที่กำลังจะเข้าสู่ธุรกิจนี้อีกหลายราย
คงต้องรอดูว่า ทศท. จะใช้อะไรเป็นเกณฑ์ในการอนุมัติ
แต่ไม่แน่ใจว่า ทศท. อาจจะลดความสนใจลง เพราะสัญญาโทรศัพท์ 2.6 ล้านเลขหมายฉบับใหม่
ได้แก้ไขให้ทีเอสามารถกำหนดและแจกจ่ายเลขหมายได้ ซึ่งสัญญาฉบับแรกนั้นทีเอทำไม่ได้
คงไม่ต้องพูดเลยว่า ทีเอจะเนื้อหอมเพียงไร โดยเฉพาะบริการออดิโอเท็กซ์ กำลังเป็นที่นิยมของเหล่านักลงทุนทั้งหลาย
คงต้องรอดูเหมือนกันว่า ทีเอจะใช้กฎเกณฑ์เดียวกับที่ ทศท. เคยทำไว้จนกลายเป็นประวัติศาสตร์หรือไม่
!