|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ สิงหาคม 2549
|
|
ศิลปะการต่อสู้ด้วยมือเปล่า ที่เป็นสัญลักษณ์และเป็นประหนึ่งกีฬาประจำชาติของญี่ปุ่น กำลังเผชิญกับทางแพร่ง ระหว่างการขยายความนิยมและส่งเสริมให้ Sumo มีสถานะเป็นกีฬาระดับนานาชาติ กับกระแสวิพากษ์และความกังวลใจว่า นักมวยปล้ำจากต่างแดน กำลังทำลายศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิที่สูงส่งของ Sumo อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
แม้ว่าจุดเริ่มต้นของ Sumo จะไม่แตกต่างจากศิลปะการต่อสู้อีกหลากหลายชนิด ที่เกิดขึ้นจากพื้นฐานของการเป็นเครื่องมือในการฝึกฝนและคัดสรรชายฉกรรจ์ เข้ามาเป็นกำลังรบ รวมถึงการเป็นกลไกในการประลองฝีมือเพื่อโอกาสในอนาคต ซึ่งอาจสืบย้อนประวัติไปได้ไกลนับเป็นร้อยหรือพันปี โดยความเป็นไปของ Sumo เฉพาะที่ได้รับการบันทึกไว้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร หลักฐานว่าด้วย Sumo ก็ปรากฏให้เห็นตั้งแต่เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 8 ภายใต้ชื่อ Sumai ที่ย่อมมีรายละเอียดการต่อสู้แข่งขันแตกต่างไปจากรูปแบบของ Sumo ในปัจจุบันอย่างไม่อาจเลี่ยง
กระนั้นก็ดี อาจกล่าวได้ว่ารูปแบบของการแข่งขัน Sumo ที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน เกิดขึ้นอย่างจริงจังในยุค Edo (1603-1867) หรือหลังจากที่ Tokugawa Ieyasu ขึ้นเถลิงอำนาจ ในฐานะที่เป็นกีฬาเพื่อการสันทนาการสำหรับทั้ง Shogun และประชาชนทั่วไปได้รับชม
นักมวยปล้ำ Sumo ในสมัยดังกล่าว จึงประกอบไปด้วยเหล่า Samurai และ Ronin ที่นอกจากจะร่วมประลองกำลังเพื่อแสดงออกซึ่งความแข็งแกร่งและความเป็นเลิศในชั้นเชิงการต่อสู้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างเกียรติภูมิให้กับผู้เข้าร่วมแข่งขันแล้ว ในด้านหนึ่งกิจกรรมดังกล่าวยังเป็นแหล่งรายได้พิเศษในยุคที่ขุนนางศักดินา (feudal lord) ถูกจำกัดบทบาทอีกด้วย
ความสูงส่งของ Sumo มิได้เกิดขึ้นจากผลของการวางดาบและเข้าสู่สังเวียนการต่อสู้ด้วยมือเปล่าของเหล่า Samurai และ Ronin ที่ถือเป็นกลุ่มชนชั้นพิเศษเท่านั้น หากแต่ท่ามกลางการต่อสู้ด้วยพละกำลังเพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะ Sumo ได้ถูกทำให้กลายเป็นอื่นและแตกต่างจากการต่อสู้ชนิดอื่น เมื่อรูปแบบพิธีการหลากหลายประการของ Sumo ได้ผนวกผสานเข้ากับแบบแผนพิธีกรรมของ Shinto (Shinto ritual) ซึ่งเน้นที่ความบริสุทธิ์ สะอาดและเป็นประหนึ่งเบ้าหล่อในทางวัฒนธรรมประเพณีของสังคมญี่ปุ่นเลยทีเดียว
ท่วงทำนองและการเคลื่อนไหวของนัก Sumo ในปัจจุบันยังคงแนวคิดดังกล่าวไว้อย่างมั่นคง โดยก่อนการแข่งขันแต่ละครั้ง นัก Sumo คู่แข่งขันจะโปรยเกลือขึ้นสู่อากาศเหนือสังเวียนการประลอง พร้อมกับการกระทืบเท้าเพื่อขับไล่วิญญาณชั่วร้าย รวมถึงการจิบดื่มน้ำฝน เพื่อชำระล้างจิตใจ และร่างกายก่อนการแข่งขัน ซึ่งพิธีกรรมดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากแนวความคิด Shinto โดยแท้
นอกจากนี้ชื่อของนัก Sumo รวมถึงตำแหน่งและระดับชั้นต่างๆ ที่นัก Sumo แต่ละรายดำรงสถานะอยู่ล้วนมีที่มาที่ไปเกี่ยวข้องและยึดโยง อยู่กับแนวความคิด Shinto อย่างลึกซึ้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งตำแหน่ง Yokozuna (The Grand Champion) ที่มีนัยหมายถึง การสวมเชือกแถบกว้าง (yoko : wide, tsuna : rope) ซึ่งนัก Sumo ที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าวจะต้องสวมเชือกขนาดใหญ่ไว้รอบเอว ในพิธีก้าวขึ้นสู่สังเวียน (ring entering ceremony) ก่อนการแข่งขันระดับ Makuuchi ของนัก Sumo ระดับ สูงจะเริ่มขึ้น
สัญลักษณ์เชือกขนาดใหญ่รอบเอวของ Yokozuna ที่มีน้ำหนักมากถึง 20 กิโลกรัมนี้ สอดรับกับเชือกฟางขนาดใหญ่ (shimenawa) ที่แขวนประดับอยู่ที่ประตู (torii) ทางเข้าของวัดหรือแม้กระทั่ง ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเป็นการขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายตามแนวคิดของ Shinto ด้วย
ขณะเดียวกันลำดับชั้นของ Sumo ได้สะท้อนลักษณะของ hierarchy and hegemony ที่สอดประสานกับบริบททางสังคมญี่ปุ่นอย่างเด่นชัด โดยนัก Sumo ฝึกหัดจะต้องเริ่มไต่อันดับตั้งแต่ Jonokuchi ซึ่งเป็นอันดับต่ำสุด ก่อนที่จะขยับฐานะไปสู่ Jonidan ไล่เรียงไปสู่ Sandanme และ Makushita ก่อนที่จะก้าวขึ้นสู่ระดับ Juryo และ Makuuchi ซึ่งเป็นการแข่งขันในลำดับชั้นสูงสุดของ Sumo
บทบาทและหน้าที่ของนัก Sumo แต่ละลำดับชั้น มิได้มีเพียงการฝึกฝนร่างกาย และเทคนิคการปล้ำเพื่อก้าวขึ้นสู่ลำดับที่สูงขึ้นเท่านั้น หากนัก Sumo ฝึกหัดยังต้องทำหน้าที่ประหนึ่งอุปัฐฏากที่ต้องอำนวยความสะดวกให้กับนัก Sumo ในลำดับชั้นที่สูงกว่าด้วย
การเลื่อนลำดับของนัก Sumo จาก Jonokuchi ไปสู่ Makuuchi มิได้เกิดขึ้นจากช่วงต่างของน้ำหนักร่างกาย หากเกิดขึ้นจากผลของความสามารถบนสังเวียน โดยมีทรงผมที่ประดับบนศีรษะของนัก Sumo เหล่านี้ เป็นเครื่องหมายบ่งบอกสถานะและความแตกต่างของระดับชั้น
เพราะหากเป็นนัก Sumo ฝึกหัดจะมีเพียงมวยผม (topknot) ขนาดเล็ก โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ไว้ทรงผม แต่เมื่อก้าวขึ้นเป็นนัก Sumo ในระดับ Makuuchi จะจัดแต่งทรงผมอย่างประณีตให้มีลักษณะใกล้เคียงกับใบของต้น Ginkgo (tree-of-heaven, maidenhair tree) ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ที่สูงส่ง สง่างามและคงทน
อย่างไรก็ดี การจัดลำดับนัก Sumo มิได้สิ้นสุดลงเพียงเท่านี้ หากในความเป็นจริง นัก Sumo ในชั้น Makuuchi ยังจำแนกเป็น Maegashira, Komusubi, Sekiwake, Ozeki และ Yokozuna ซึ่งจะได้รับเงินเดือนจำแนกตามระดับชั้นตั้งแต่ 1.3 ล้านเยนต่อเดือนในชั้น Maegashira ไปจนถึง 2.35 ล้านเยนในชั้น Ozeki และมากถึง 2.82 ล้านเยนต่อเดือน เมื่อก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง Yokozuna
ภายใต้การบริหารและควบคุมการแข่งขัน Sumo ที่ดำเนินการโดย Japan Sumo Association (Nihon Sumo Kyokai) การแข่งขัน Sumo ของญี่ปุ่นในแต่ละปีจะประกอบด้วย Grand Sumo Tournament หลักหรือที่เรียกว่า honbasho เพียง 6 รายการ โดยจัดการแข่งขันขึ้นในกรุงโตเกียว 3 ครั้ง (เดือนมกราคม เดือนพฤษภาคมและ เดือนกันยายน) และอีกสามครั้งในหัวเมืองใหญ่ทั้งที่ Osaka (เดือนมีนาคม) Nagoya (เดือนกรกฎาคม) และที่ Fukuoka (เดือนพฤศจิกายน) โดยแต่ละครั้งจะแข่งขันติดต่อกันนาน 15 วัน โดยผู้ที่ได้รับชัยชนะมากครั้งที่สุดจะได้ครองความชนะเลิศในการแข่งขันแต่ละครั้งไปครอบครอง
รูปแบบการแข่งขันในลักษณะดังกล่าวดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่เมื่อปี 1927 โดยการแข่งขัน Sumo ในช่วงแรกเป็นกรณีที่มีลักษณะปิดอยู่เฉพาะนัก Sumo ชาวญี่ปุ่น กระทั่งในช่วงทศวรรษที่ 1960 นักมวยปล้ำจากต่างประเทศเริ่มเข้ามามีบทบาทในการแข่งขัน Sumo ของญี่ปุ่นมากขึ้นเป็นลำดับ
ก่อนที่ Takamiyama Daigoro (ชื่อเดิม Jesse James Waluni Kuhaulua : 16 June, 1944) นักมวยปล้ำจากฮาวาย สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็น Maegashira อันดับ 4 จะกลายเป็นนักมวยปล้ำ Sumo ชาวต่างชาติคนแรกที่สามารถครองความชนะเลิศในการแข่งขัน Sumo เมื่อเดือนกรกฎาคม 1972 ด้วยสถิติชนะ 13-2 และเป็นปฐมบทให้นักมวยปล้ำจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากฮาวาย เดินทางเข้าร่วมในสังเวียน Sumo ของญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่องในเวลาต่อมา
รอยทางของ Takamiyama เริ่มปรากฏให้เห็นอีกครั้งเมื่อ Konishiki Yasokichi (Saleva'a Fuauli Atisano'e : Dec 31, 1963) นักมวยปล้ำ Samoan ที่เกิดและเติบโตในฮาวาย สหรัฐอเมริกา นำพาชีวิตในวัย 19 ปีเข้าสู่โลกของ Sumo ในประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 1982 และด้วยระยะเวลาเพียง 2 ปี Konishiki สามารถสร้างชื่อด้วยการเข้าสู่สังเวียน Makuuchi ซึ่งเป็นการแข่งขัน Sumo ระดับสูงสุดของญี่ปุ่น ก่อนที่อีก 3 ปี ต่อมา Konishiki ก็สามารถไต่อันดับจนสามารถครองตำแหน่ง Ozeki ซึ่งถือเป็นการเติบโตที่รวดเร็วอย่างมาก
ความโดดเด่นของ Konishiki ที่เกิดจากน้ำหนักตัวที่มากถึง 270 กิโลกรัม ทำให้เขากลายเป็นนัก Sumo ที่มีน้ำหนักมากที่สุดคนหนึ่งของวงการ Sumo แต่นั่นอาจไม่สำคัญเท่ากับการที่เขาเป็นนัก Sumo ชาวต่างชาติรายแรกที่สามารถไต่อันดับจนสามารถครองตำแหน่ง Ozeki พร้อมกับครองความชนะเลิศในการแข่งขัน Sumo ปิดฤดูกาลเมื่อเดือนพฤศจิกายน 1989 ด้วย สถิติชนะ 14-1 ซึ่งทำให้เขาอยู่ในข่ายที่จะได้รับการพิจารณาเลื่อนระดับจาก Ozeki (Champion) ไปสู่สถานะ Yokozuna (Grand Champion) อีกด้วย
แม้ว่า Konishiki สามารถเก็บชัยชนะในการแข่งขันเดือนพฤศจิกายน 1991 และเดือนมีนาคม 1992 อีกแต่คณะกรรมการของ Japan Sumo Association กลับมีท่าทีนิ่งเฉย จนเป็นเหตุให้ Konishiki ไม่พอใจและออกมาวิพากษ์วิจารณ์สมาคม Sumo ของญี่ปุ่นว่าเลือกปฏิบัติ (discrimination) และมีลักษณะกีดกันทางเชื้อชาติ ก่อนที่ Konishiki จะแถลงขอโทษผู้บริหารสมาคมและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยถึงที่สุดแล้ว Konishiki ก็ไม่ได้รับการเลื่อนชั้นเป็น Yokozuna แต่อย่างใด
กระนั้นก็ดี การเติบโตขึ้นของนักมวยปล้ำจากฮาวายในสังเวียน Sumo ของญี่ปุ่น ก็ไม่ได้จางหายหรือหยุดชะงัก ในทางตรงข้ามกรณีดังกล่าวกลับงอกเงยจนนำไปสู่ห้วงเวลาที่ได้รับการระบุถึงในฐานะที่เป็น Hawaii invasion of the 1990s เมื่อนักมวยปล้ำจากฮาวายสามารถครองตำแหน่งระดับนำในการแข่งขัน Sumo ได้อย่างต่อเนื่อง โดยมี Akebono Taro (Chad George Rowan : May 8, 1969) กลายเป็นแม่เหล็กที่ดึงดูดความสนใจในหมู่ผู้ชม
Akebono กลายเป็นนักมวยปล้ำจากต่างประเทศรายแรกที่ได้รับการสถาปนาเป็น Yokozuna ในปี 1993 ซึ่งเป็นช่วงที่ Takanohana Koji และ Wakanohana Masaru สองพี่น้องที่เติบโตขึ้นมาท่ามกลางครอบครัวที่สืบสานตำนานของ Sumo มาอย่างยาวนานเป็นตัวแทนของนัก Sumo ชาวญี่ปุ่น ในการต่อสู้กับนัก Sumo จากต่างชาตินี้
เรื่องราวของ Akebono กลายเป็นตำนานที่น่าสนใจ เมื่อปรากฏว่าภายหลังจากการประกาศยุติบทบาทการเป็น Sumo บนสังเวียนอันศักดิ์สิทธิ์และทรงเกียรติสำหรับชาวญี่ปุ่นแล้ว Akebono ได้ก้าวขึ้นสู่สังเวียนของการต่อสู้อีกครั้งในฐานะนักมวย K-1 ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า Akebono กำลังนำพาตำแหน่ง Yokozuna หรือ The Grand Champion ของ Sumo ไปสู่ความเสื่อม
ด้วยเหตุที่ K-1 เน้นการใช้ร่างกายและวิธีการต่างๆ เพื่อได้มาซึ่งชัยชนะโดยคำนึงถึงแบบแผนน้อยกว่าการต่อสู้วิธีอื่นๆ ทำให้กีฬาประเภทนี้ได้รับการดูแคลนว่าเป็นเพียงการต่อสู้ที่ป่าเถื่อนของนักสู้ชั้นต่ำ ยังไม่นับรวมผลการแข่งขันที่ Akebono ต้องประสบกับความพ่ายแพ้อย่างต่อเนื่อง จนได้รับสมญานามใหม่ว่า Makebono โดยเหตุที่ make (อ่านว่า มา-เกะ) แปลว่าแพ้ หรือแม้กระทั่งการเรียกขานเขาว่า Akebozo ที่เปรียบเทียบเขาเป็นเพียงตัวตลก (Bozo the Clown) ในคณะละครสัตว์เท่านั้น
ความเป็นไปของ Akebono ก้าวล่วงไปไกลกว่าที่ผู้คนในแวดวงผู้เกี่ยวข้องในกีฬา Sumo จะรับไหวเมื่อปรากฏว่ามูลเหตุของการเข้าร่วม K-1 ของ Akebono เป็นผลมาจากการที่ร้านอาหาร ZUNA ซึ่งดำเนินงานโดยภรรยาของ Akebono และมีที่มาจากคำว่า Yokozuna ซึ่งเป็นตำแหน่งอันทรงเกียรติ ประสบกับภาวะขาดทุน ก่อนที่คณะกรรมการของ K-1 จะหยิบยื่นข้อเสนอให้ Akebono ก้าวเข้าสู่สังเวียนอีกครั้ง เพื่อแลกเปลี่ยนกับค่าตอบแทนเพื่อนำไปชดใช้หนี้สินของร้าน ZUNA แห่งนี้
ทางเลือกในกีฬาที่มีความเป็นสากลชนิดอื่น ที่ทยอยเข้าสู่การรับรู้ของสังคมญี่ปุ่นและได้รับความนิยมมากขึ้นเป็นลำดับ ไม่ว่าจะเป็นเบสบอล ฟุตบอล หรือแม้กระทั่ง K-1 ที่มีฐานะเป็นการต่อสู้ด้วยมือเปล่าเช่นกัน แต่มีรูปแบบพิธีกรรมน้อยกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้ ประกอบกับสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปสู่กระแสบริโภคนิยม ที่เน้นความสะดวก ง่าย และห่างไกลจากความประณีต ส่งผลให้ความนิยมในกีฬา Sumo เริ่มเสื่อมถอยลงอย่างช้าๆ แต่ต่อเนื่อง และทำให้จำนวนผู้เข้าชมการแข่งขันในสนามลดลงอย่างมาก ขณะที่การถ่ายทอดการแข่งขัน Sumo ผ่านทางสถานีโทรทัศน์ NHK ก็เผชิญกับ rating ตกต่ำ จนเป็นเหตุให้มีการเรียกร้องเพื่อทบทวนและยุติการถ่ายทอด ดังกล่าวในอนาคต
นอกจากนี้ คณะกรรมการจัดการแข่งขัน Sumo ต้องอาศัยการสนับสนุนจากบริษัทธุรกิจต่างๆ ทั้งในรูปของสินค้าสมนาคุณให้กับผู้ซื้อบัตรเข้าชม หรือการขอความร่วมมือให้ซื้อบัตรเข้าชมในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้การแข่งขัน Sumo มีรายได้มากพอสำหรับการจัดสรรเป็นเงินเดือนให้กับ Sumo แต่ละระดับต่อไป
ขณะที่การดิ้นรนข้างสังเวียนเพื่อรักษาและขยายฐานผู้ชมให้อยู่ในระดับที่สามารถหล่อเลี้ยงกลไกทั้งระบบกำลังบีบอัดเขม็งเกลียวขึ้นเป็นลำดับ การต่อสู้ช่วงชิงชัยชนะบนสังเวียนยังดำเนินต่อไป โดยนับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ขุมพลังใหม่ใน Sumo ได้เปลี่ยนผ่านไปสู่นักมวยปล้ำจาก Mongolia พร้อมๆ กับนักมวยปล้ำจากประเทศยุโรปตะวันออกทั้ง Estonia Bulgaria Russia Georgia ที่ต่างสามารถไต่ลำดับขึ้น มาเป็น Sumo ระดับนำและกลายเป็นดาวเด่นของการแข่งขันอย่างรวดเร็ว
นักมวยปล้ำจากต่างแดนเหล่านี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงที่สืบเนื่องจากความพยายามเผยแพร่กีฬา Sumo ให้แพร่หลายในฐานะกีฬาสมัครเล่น (Amateur sport) ของ International Sumo Federation ที่พยายามผลักดันให้ Sumo เป็นกีฬาที่ได้รับ การรับรองในการแข่งขัน Olympic พร้อมกับการจัดแข่งขัน Sumo ชิงชนะเลิศระดับนานาชาติ ด้วยการแบ่งรุ่นการแข่งขันตามน้ำหนักของผู้เข้าร่วมแข่งขัน และตัดทอนพิธีกรรมที่ปรากฏในการแข่งขัน Sumo อาชีพในญี่ปุ่นออกทั้งหมด
การแข่งขัน Sumo สมัครเล่นภายใต้ ชื่อ World Sumo Championship เริ่มจัดการแข่งขันครั้งแรกเมื่อปี 1992 โดยมีญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพและต่อเนื่องมาจนถึงครั้งที่ 7 (1998) ก่อนที่การแข่งขัน ครั้งที่ 8 (1999) จะย้ายไปจัดที่เมือง Riesa ประเทศเยอรมนี ครั้งที่ 9 (2000) ที่เมือง Sao Paolo ประเทศบราซิล และครั้งที่ 11 (2002) ที่เมือง Krakow ประเทศโปแลนด์ ซึ่งการเพาะพันธุ์ Sumo ให้งอกเงยขึ้นในดินแดนใหม่ๆ นี้ได้ผลิดอกออกผลอย่างรวดเร็วเกินคาด
การสร้างเสริมกีฬา Sumo ในระดับสมัครเล่นเกิดขึ้นจากข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้สนใจเริ่มต้นฝึกหัด Sumo ตั้งแต่ระดับ Jonokuchi ลดน้อยลงอย่างมาก ขณะที่นัก Sumo สมัคร เล่นทั้งชาวญี่ปุ่นและต่างชาติต่างอาศัยกลไกที่ได้รับการผลักดันขึ้นใหม่นี้เป็นเส้นทางลัดในการผันตัวเข้ามาเป็นนัก Sumo อาชีพของญี่ปุ่นในเวลาต่อมา โดยได้รับสถานะให้อยู่ในชั้น Makushita Tsukedashi ซึ่งง่ายต่อการไต่เต้าไปสู่ชั้น Juryo และ Makuuchi ในอนาคต
แม้ว่านักมวยปล้ำชาวต่างชาติบนสังเวียน Sumo จะสร้างให้เกิดสีสันและความน่าตื่นตาตื่นใจให้กับการแข่งขัน Sumo อย่างต่อเนื่อง แต่ขณะเดียวกันนักมวยปล้ำ ชาวต่างชาติเหล่านี้ก็ได้รับการเพ่งเล็งเป็นพิเศษถึงประพฤติกรรมทั้งในและนอกสังเวียน เมื่อปรากฏว่า นัก Sumo ต่างชาติ ได้ก่อเหตุวิวาทกันเองในห้องแต่งตัว หรือการมีปากเสียง และทำร้ายผู้สื่อข่าวและช่างภาพหลังพ่ายแพ้ในการแข่งขัน
ยังไม่นับรวมถึงกรณีที่ Asashoryu Akinori นัก Sumo ชาวมองโกเลีย ซึ่งได้รับการเลื่อนชั้นให้ดำรงตำแหน่ง Yokozuna ตั้งแต่เมื่อเดือนมีนาคม 2003 จนถึงปัจจุบัน กระทำการหลู่เกียรตินัก Sumo ด้วยการดึงมวยผมของคู่แข่งขันเมื่อเดือนกรกฎาคม 2003 ก่อนที่ Asashoryu จะถูกปรับแพ้ (hansoku-make : disqualification) ด้วยเหตุของการกระทำที่ไม่เหมาะสมกับตำแหน่งอันสูงส่ง และการปรากฏภาพถ่ายของ Asashoryu ในชุดสากลแทนที่จะเป็นเครื่องแต่งกายในแบบญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นการไม่ให้เกียรติสถานะการเป็น Sumo โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ดำรงตำแหน่ง Yokozuna อย่างรุนแรง
กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางคำถามที่ว่า นัก Sumo ต่างชาติที่ต้องการก้าวเดินบนเส้นทางของนัก Sumo อาชีพ จำเป็นต้องมีความเข้าใจต่อแบบแผนวัฒนธรรมประเพณีของญี่ปุ่นหรือไม่ และในระดับใด พร้อมกับข้อกังวลใจที่ว่า Sumo ซึ่งผลิดอกเบ่งบานขึ้นในภูมิภาคอื่น กำลังกลายพันธุ์ไปเป็นเพียงกีฬามวยปล้ำอีกรูปแบบหนึ่งที่หลุดลอยไปไกลจากต้นร่างและจิตสำนึกแบบเดิมหรือไม่
การต่อสู้ของ Sumo ในระยะเวลาต่อจากนี้จึงเป็นการสัประยุทธ์ระหว่างการคงทัศนะตามแบบแผนขนบและประเพณีอันสูงส่งของญี่ปุ่น กับการก้าวเดินไปสู่โลกกว้าง ซึ่งอาจเป็นเพียง Globalization Agony ที่เคลื่อนผ่านตามกาลเวลาที่เปลี่ยนแปรไปนี้
|
|
|
|
|