|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ สิงหาคม 2549
|
|
การประกาศขาย Vodafone K.K. (Vodafone Japan) กล่าวได้ว่าเป็น Deal of the Year ที่กำหนดทิศทางของเกมการตลาดโทรศัพท์มือถือภายใต้กฎเกณฑ์ใหม่ที่กำลังจะเริ่มขึ้นปลายปีนี้ ในขณะเดียวกันก็ถือเป็น Historical Deal สำหรับบริษัท telecommunication รายใหญ่ที่สุดในโลกสัญชาติอังกฤษอย่าง Vodafone PLC ที่จำต้องเฉือนเค้กก้อนใหญ่ก้อนเดียวที่มีในเอเชียทิ้งไปอย่างเสียมิได้
นับถึงต้นปี 2006 Vodafone ประสบความสำเร็จในการขยาย mobile telecommunication service ครอบคลุม 26 ประเทศ (รวมทั้งญี่ปุ่น) ซึ่งกระจายอยู่ในทุกทวีปทั่วโลกเป็นเครือข่ายราวกับอาณานิคมยุคดิจิตอล การยกพลขึ้นบกเข้าซื้อ J-Phone เมื่อปี 2001 ผลักดันภาวะการแข่งขันระหว่างบริษัทผู้ให้บริการโทรคมนาคมท้องถิ่นได้แก่ Docomo, AU, Tuka ที่มีอยู่แล้วนั้น ทวีความรุนแรงและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยมี Vodafone เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา
ผลกระทบโดยตรงอันดับแรกคงไม่พ้นกลุ่มลูกค้าเดิมของ J-Phone ทั้งนี้ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าโทรศัพท์มือถือเป็นประหนึ่งไอคอนสื่อถึงรสนิยมส่วนตัวที่ละเอียดอ่อนเกินกว่าการเป็นเพียงอุปกรณ์สื่อสารไร้สายธรรมดา ดังนั้นภาพลักษณ์ของผู้เลือกที่จะใช้ Vodafone ต่อไปจึงถูกเปลี่ยนจากโทรศัพท์ของญี่ปุ่น (J-Phone) เป็นโทรศัพท์มือถือที่อบอวลไปด้วยกลิ่นอายของไกจิน1) ซึ่งกระทบต่อความรู้สึกลึกๆ ของผู้คนในประเทศนี้ไม่มากก็น้อย
แต่นั่นยังอาจไม่ระคายเคืองลูกค้าเท่ากับการเปลี่ยนบางส่วนของท้าย email address ให้เข้ากับระบบใหม่ของ Vodafone กลายเป็นความไม่สะดวกที่น่ารำคาญจนเป็นเหตุให้ Vodafone สูญลูกค้าไป 10% ตั้งแต่เริ่มต้น ช่วงปีแรกของ Vodafone K.K. หมดไปกับการผสานสองเทคโนโลยีในสองวัฒนธรรมองค์กรที่แตกต่างซึ่งสื่อให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างแจ่มชัดจากโลโกของบริษัทที่ครึ่งบนยังคง J-Phone ไว้และครึ่งล่างเป็น Vodafone ในระหว่างนั้นกลยุทธ์การตลาด sha-mail2) ซึ่งเป็นจุดขายดั้งเดิมของ J-Phone ยังคงใช้ได้ดีจวบจนกระทั่งมีนาคม 2003 แต่น่าเสียดายเพราะนั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่รายงานยอดผู้ใช้ Vodafone มากกว่า AU
อาจเป็นเรื่องบังเอิญที่จุดวกกลับของ Vodafone ส่อแววชัดเจนขึ้นหลังจากการเปลี่ยนโลโกเป็น Vodafone 100% สอดรับกับนโยบายจากบริษัทแม่ที่มุ่งมั่นวางเครือข่าย 3G เชื่อมโยงญี่ปุ่นเข้ากับยุโรป
ในความเป็นจริงการสร้างสถานีเครือข่าย 3G ขึ้นมาใหม่นั้นนอกจากจะอืดอาดกว่าคู่แข่งที่มีชั่วโมงบินสูงอย่าง Docomo และ AU ที่ใช้เทคโนโลยี W-CDMA แล้วประสิทธิภาพของสัญญาณในช่วงแรกยังมีข้อจำกัดอยู่มาก เพียงแค่วันไหนที่มีเมฆครึ้มสัญญาณก็ไม่สามารถทะลุผ่านจุดทึบของตึกหรือในสถานีรถไฟใต้ดินลงไปได้
ความไม่ทันการณ์นี้ทำให้ลูกค้า Vodafone จำต้องใช้เทคโนโลยี 2G แทนที่จะเป็น 3G ซึ่งล่าช้ากว่าที่เคยประกาศไว้ถึงหนึ่งปีเปิดช่องโหว่สูญเสียลูกค้าและพลาด annual target sale ซึ่งทางบริษัทแม่ได้แต่เฝ้ามองอย่างช่วยไม่ได้ ในปีเดียวกันนั้น AU ประสบผลสำเร็จมียอดสมาชิกใหม่พุ่งขึ้นมานำเป็นอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น ถึงแม้ว่าที่สุดแล้วงบ 1.3 พันล้านปอนด์ ที่บริษัทแม่ทุ่มลงมาจะช่วยเนรมิตเครือข่าย 3G ได้สำเร็จในเวลาต่อมาก็ตามแต่ข้อเท็จจริงอีกประการเมื่อเทียบโมเดลของเครื่องที่มีฟังก์ชันแบบเดียวกันจากผู้ผลิตญี่ปุ่นรายเดียวกันแล้วเครื่องโทรศัพท์ที่ใช้กับ 3G มักจะมีขนาดที่เทอะทะกว่าเครื่องที่ใช้กับเทคโนโลยี W-CDMA ซึ่งได้รับการพัฒนาให้ใช้กับอุปกรณ์สื่อสารขนาดจิ๋วภายในตัวเครื่องได้เป็นอย่างดี
แทนที่จะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุเทคโนโลยี Vodafone กลับไปนำเข้าเครื่อง Nokia, Motorola ที่ไม่ได้ตอบสนองความต้องการลูกค้าแล้วยังมีดีไซน์ไม่เข้าเทรนด์และที่ดูเหมือนจะไม่เข้าตากรรมการที่สุดก็คือเครื่องจาก Samsung
สิ่งที่ลูกค้าญี่ปุ่นเลือกนั้นมิได้เกิดจากความเป็นชาตินิยมเป็นสำคัญ หากแต่บริษัทผู้ให้บริการและผู้ผลิตเครื่องโทรศัพท์มือถือของญี่ปุ่นเข้าใจถึงปรัชญาและสามารถสนองตอบความต้องการการบริโภคสินค้าและบริการด้วยนวัตกรรมล้ำสมัยที่มีให้เลือกต่างหาก ยกตัวอย่างเช่น Docomo ที่ยังครองส่วนแบ่งตลาดประมาณครึ่งหนึ่งได้เนื่องจากความเป็นผู้นำในการสร้างนวัตกรรมของ i-Mode ที่ได้เปรียบจากการเจาะตลาดก่อนใครทั้งที่มีค่าบริการในระดับแพงแต่สามารถสร้างความพอใจและ brand loyalty ให้กับลูกค้าได้ ในส่วนของ AU เริ่มเจาะตลาดของกลุ่มนักเรียนและโยงไปถึงการลดค่าบริการแบบทั้งครอบครัว นอกจากนี้ยังเสริมด้วยจุดขาย MP3 ภายใต้แบรนด์ Lismo (WIN) โดนใจวัยรุ่นที่มีกำลังซื้อสูง
ในขณะที่จุดแข็งของ Vodafone อยู่ที่การนำเครื่องไปใช้ได้ในต่างประเทศ ถึงแม้จะสะดวกแต่มีราคาค่าบริการสูง ซึ่งลูกค้าที่เดินทางไปต่างประเทศบ่อยๆ มีสัดส่วนไม่มากเมื่อเทียบกับตลาดโดยรวม ซ้ำร้ายกว่านั้น Vodafone ยังหลงทางใช้ prepaid mobile เป็นกลยุทธ์เพิ่มลูกค้าใหม่ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คืออัตราการเกิดอาชญากรรมเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะกรณีที่ก่อเหตุโดยชาวต่างชาติซึ่งสามารถซื้อหา prepaid mobile ของ Vodafone ได้ง่ายตามร้านสะดวกซื้อกลายเป็นภาพลบที่ถูกรัฐบาลญี่ปุ่นจับตามองเป็นพิเศษ
นับวันบาดแผลก็ยิ่งเปิดกว้างขึ้นเรื่อยๆ แม้กระทั่งไม้ตายสุดท้ายคือการลงมาเล่นนโยบายลดราคาที่มีออกมาอย่างต่อเนื่องแต่ยิ่งออกแคมเปญมากเท่าไรก็ยิ่งทำให้จำนวนลูกค้าลดลงมากเท่านั้น
ห้าปีที่ล้มเหลวและสูญเสียโอกาสจากการดำเนินนโยบายผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนในที่สุด Softbank บริษัท local internet รายใหญ่เข้ามาควบซื้อกิจการต่อในราคา 15.4 พันล้านดอลลาร์ซึ่งจะได้ลูกค้า 15 ล้านคน และ save cost ในการสร้างระบบพื้นฐานโทรศัพท์มือถือ โดยเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "Softbank Mobile Co.Ltd." ในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้
ภายใต้ข้อตกลง joint venture ในการใช้ know-how จากทั้งสองบริษัทที่มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมใหม่และ customer-centric service ซึ่ง Softbank มีความเชี่ยวชาญ operate Yahoo! Mobile อยู่แล้วผนวกกับช่องทางความสัมพันธ์จาก Vodafone ในการขยายตัวไปสู่ตลาดต่างประเทศในอนาคตได้กระแสตอบรับจากตลาดดีขึ้นทันทีหลังจาก Softbank ประเดิมเปิดตัวเครื่องรุ่น SH905 ที่นำเอานวัตกรรมล่าสุดของจอโทรทัศน์คุณภาพเดียวกับ Aquos (Sharp) พร้อมด้วยลูกเล่นครบมือที่เชื่อมั่นว่า Softbank จะไม่อยู่รั้งในอันดับที่ 3 อีกต่อไปในเกมภายใต้กฎใหม่ที่ผู้บริโภคสามารถเปลี่ยนแบรนด์โทรศัพท์ได้อย่างอิสระตามความพอใจโดยใช้เบอร์เดิม
หมายเหตุ
1) ไกจินแปลตรงตัวได้ว่า "คนนอก" ซึ่งในที่นี้หมายถึงคนต่างชาติ
2) การถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิตอลจากโทรศัพท์มือถือแล้วส่งเป็น email
|
|
|
|
|