Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2549








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2549
“อมตะ อาร์ต” เยือนถิ่นอีสาน             
โดย สุภัทธา สุขชู
 


   
www resources

โฮมเพจ มูลนิธิอมตะ

   
search resources

Art
มูลนิธิอมตะ




"วัฒนธรรมเป็นหัวใจสำคัญของความเป็นมนุษยชาติ แต่ทุกวันนี้ วัฒนธรรมของเรากลับห่างหายไปจากวิถีชีวิตแบบใหม่ เราห่างเหินที่จะกลับมามองตัวเองผ่านทางวัฒนธรรม ทั้งที่วัฒนธรรมคือสิ่งสร้างความเข้มแข็งและยึดเหนี่ยวสังคมไม่ให้ถูกกลืน" แนวคิดข้างต้นกลายเป็นจุดเริ่มต้นของรางวัล "อมตะ อาร์ต อวอร์ด" เมื่อ 2 ปีก่อน

ปัญญา วิจิธนสาร คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในฐานะกรรมการผู้ตัดสินรางวัลฯ กล่าวว่า "เราพยายามส่งเสริมให้ศิลปินในทุกภูมิภาคได้เข้าร่วมสร้างสรรค์ศิลปะในเวทีของอมตะ เพราะนั่นคือวิถีที่ศิลปินจะได้ถ่ายทอดองค์ความรู้และภูมิปัญญาทางศิลปวัฒนธรรมโดยผ่านผลงานศิลปะ"

อมตะ อาร์ต อวอร์ด เป็นเวทีประกวดศิลปกรรมที่มุ่งหมายจะเปิดโอกาสให้ศิลปินทั้งรุ่นเก่าและมือใหม่มาสร้างผลงานจิตรกรรมหรือประติมากรรมตามความคิดของตนได้อย่างเสรี และหลังประกาศผลก็จะจัดแสดงผลงานตามสถานที่ต่างๆ เปิดโอกาสให้ประชาชนคนเดินดิน ได้เข้าถึงและสัมผัสศิลปะ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และยกระดับคุณค่าทางจิตใจผู้ชม

สำหรับการสัญจรสู่เมืองขอนแก่น จังหวัดที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงแห่งภาคอีสานเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นอกจากเพื่อ "โรดโชว์" ผลงานหลายสิบชิ้นจากกว่า 500 ชิ้น ที่ส่งเข้าประกวดในโครงการฯ ครั้งที่ 2 เพื่อเผยแพร่แก่เยาวชนชาวอีสาน ยังพ่วงงานเปิดตัวโครงการประกวดฯ ครั้งที่ 3 ไปด้วย ภายใต้ธีมที่สอดคล้องกับภูมิศาสตร์ที่จัดงาน นั่นคือ "อมตศิลป์สุวรรณภูมิสองฝั่งโขง"

เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องภูมิปัญญาและรากเหง้าของศิลปวัฒนธรรมบนดินแดนสุวรรณภูมิอย่างถึงแก่น มูลนิธิอมตะจึงจัดทริปพาสื่อมวลชนตระเวนชมขุมคลังแห่งอารยธรรมที่อยู่ในเมืองขอนแก่นบางแห่ง

"โฮงมูนมัง เมืองขอนแก่น" ห้องรวบรวมความเป็นมาและเรื่องราวเมืองขอนแก่นจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งแสดงศิลปะที่แทรกอยู่ในข้าวของเครื่องใช้ วิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรม อันสะท้อนภูมิปัญญาพื้นถิ่นที่เป็นความภาคภูมิใจของแม่เฒ่าวัย 70 ที่มาให้ข้อมูลด้วยสำเนียงเสียงอีสาน

หุ่นขี้ผึ้งพระสงฆ์บนอาสน์ใต้พญานาคไม้ตัวเขื่องที่ใช้เป็นรางสำหรับสรงน้ำพระในพิธีฮดทรง ต้นแบบรางสรงน้ำใช้ในประเพณีสงกรานต์ของชาวขอนแก่น โมเดลจำลองพิธีทำขวัญข้าวหรือแรกนาขวัญเป็นแนวคิดแปลงทดลองปลูกพืชของคนยุคนี้ หรือพิธีผูกเสี่ยว อุบายในการสานรักสามัคคีของชาวอีสาน...หลากประเพณีและพิธีกรรม ที่โฮงมูนมัง ล้วนสะท้อนรากเหง้าความคิดที่เป็นกุศโลบายที่ควรค่าแก่การสืบสาน

จากนั้นแวะไปชมพระมหาธาตุแก่นนคร วัดหนองแวง เจดีย์ 9 ชั้น ลวดลายหยาบแข็ง ไม่วิจิตรอ่อนช้อยเหมือนวัดภาคกลาง ส่วนความประณีตที่บอกถึงความตั้งใจของช่างไม่ด้อยกว่ากัน ไกด์ชาวเมืองเรียกอย่างเป็นทางการว่า "ศิลปะลาวประยุกต์" เพราะออกแบบโดยช่างชาวลาวผสมความเป็นท้องถิ่น แต่ชาวขอนแก่นพื้นเมืองเรียกขานรูปทรงนี้ว่า "(ชาว) อิสานตากแห" วิถีชีวิตที่ชนชาติริมฝั่งโขงคุ้นเคยเป็นอย่างดี

ต่อด้วยการย้อนเวลากลับไปหลายพันปีที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติขอนแก่น แหล่งรวบรวมโบราณวัตถุ และเรื่องราวเกี่ยวกับโบราณสถานในภูมิภาคนี้ ร่องรอยอดีตและวิวัฒนาการทางภูมิปัญญาของโคตรเหง้าบรรพบุรุษลุ่มน้ำโขงที่มีมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เป็นเครื่องยืนยันว่าดินแดนสุวรรณภูมิแห่งนี้เป็นแอ่งอารยธรรมยุคเก่าของโลก ร่วมสมัยกับเมโสโปเตเมียและอียิปต์โบราณเลยทีเดียว

น่าเสียดายที่ศิลปวัตถุที่มีคุณค่าเหล่านี้กลับถูกทิ้งร้างไร้ผู้สนใจเยี่ยมชม อันเนื่องมาจากความไร้ซึ่งศิลปะในการนำเสนอเรื่องราวให้สมกับความยิ่งใหญ่เชิงประวัติศาสตร์ของโบราณวัตถุแต่ละชิ้น

ตบท้ายด้วยโปรแกรมเบิ่ง "ฮูบแต้ม" แห่ง "สิมอิสาน" หรือการชมจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์อีสานพื้นบ้าน ซึ่งจิตรกรแต่งแต้มส่วนใหญ่เป็นช่างชาวบ้านที่มีความรู้เชิงจิตรกรรมน้อย แต่ความศรัทธาต่อศาสนาสูง เส้นสายลายภาพแม้มีเพียง 2 มิติดูผิดส่วนบูดเบี้ยวคล้ายเด็กวาด แต่ก็มีความงามที่เข้าใจง่าย ใสซื่อ และจริงใจ อันเป็นลักษณะเด่นของศิลปะพื้นบ้านที่มีพื้นฐานจากวิถีชีวิตและอุปนิสัยใจคอของชาวอีสานโดยแท้

สำหรับฮูบแต้มที่โบสถ์วัดไชยศรี อายุร่วม 100 ปี เป็นภาพที่เขียนด้วยสีฝุ่น ซึ่งสรรหาและสรรค์สร้างจากธรรมชาติด้วยกระบวนทัศน์แบบพื้นบ้าน ผนังด้านในเขียนเรื่องราวชาดก ภาพเทพและภาพสัตว์ต่างๆ ด้านนอกเป็นภาพนรก 8 ขุม นิทานพื้นบ้าน เรื่องสังข์สินไชย หรือ "สินไซ" มรดกวรรณกรรมแห่งลุ่มน้ำโขง พร้อมอักขระภาษาโบราณของชุมชนแถบนี้

เช่นนี้ สิมอิสานจึงไม่ได้มีคุณค่าเพียงแค่สิ่งก่อสร้างเพื่อบูชาศาสนา แต่เป็นศูนย์รวมเอกลักษณ์และวิถีของท้องถิ่น ส่วนฮูบแต้มก็ไม่ใช่เพียงรูปตกแต่งเพื่อความสวยงาม แต่เป็นวิธีสืบทอด คำสอน ความเชื่อ ภูมิปัญญาทางศิลปะและวัฒนธรรมของชุมชนไปพร้อมกัน

อิ่มเอมกับอารยธรรมอีสานเพียงครึ่งวัน สื่อมวลชนได้รับเชิญเข้าร่วมงานเปิดโครงการอมตะ อาร์ต อวอร์ด ครั้งที่ 3 โดย ชูศักดิ์ วิษณุคำรณ ในฐานะที่ปรึกษามูลนิธิอมตะ เริ่มต้นกล่าวถึงความพิเศษของการประกวดในปีนี้

"ครั้งนี้เราแหกกฎตั้งหัวข้อขึ้นมา ทั้งที่แต่เดิมเราตั้งใจจะไม่ให้มีหัวข้อในการประกวด แต่ปีนี้เป็นปีแห่งความดีงามที่คนไทยทั้งประเทศมีความภาคภูมิใจต่อพระเจ้าอยู่หัว เราจึงอยากร่วมเทิดพระเกียรติพระองค์"

"ภูมิพลัง ภูมิสังคม" เป็นโจทย์หินที่กว้างและท้าทายให้ศิลปินต้องตีความอย่างละเอียดอ่อน โดยชูศักดิ์ให้แนวทางเสริมว่าผลงานควรถ่ายทอดจิตวิญญาณของคนไทย ที่ทุกคนล้วนสัมผัสและรับรู้ถึงพระมหากรุณาธิคุณด้านต่างๆ ของในหลวง อันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวให้สังคมไทยเข้มแข็งจนทุกวันนี้

โดยปริยาย โครงการประกวดฯ ครั้งที่ 3 และผลงานที่เข้าประกวดครั้งนี้ย่อมกลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การเฉลิมฉลองครองสิริราชราชสมบัติครบ 60 ปีของในหลวง "บิ๊ก อีเว้นต์" ที่องค์กรและหน่วยงานต่างๆ ยากจะพลาด

ในอนาคต ผลงานที่ผ่านการคัดเลือกจากเวทีอมตะฯ ทุกชิ้นจะถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์หอศิลปะแห่งภาคพื้นสุวรรณภูมิ หรือ Amata Castle ซึ่งมูลนิธิอมตะกำลังก่อสร้างขึ้นบนเนื้อที่ 20,000 ตารางเมตร ในเขตนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ที่ชลบุรี โดยเจตจำนงของวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานมูลนิธิฯ เพื่อรวบรวมศิลปะที่แสดงถึงวัฒนธรรมทั้งในแผ่นดินไทย และขยายขอบเขตครอบคลุมถึงดินแดนสุวรรณภูมิทั้งหมด

ทั้งหมดนี้สื่อให้เห็นถึงหน้าที่และคุณค่าของงานศิลปะตามอุดมคติของมูลนิธิอมตะ ที่ศิลปะไม่ใช่แค่เรื่องของความสวยงาม แต่ยังเป็นสมบัติคู่แผ่นดิน เป็นจารึกประวัติศาสตร์ที่ทำให้มนุษยชาติได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน จากรุ่นก่อนสู่รุ่นหลังสมคำกล่าว "ชีวิตสั้น ศิลปะยาว"

สุดท้าย ปัญญา วิจิธนสาร ให้เคล็ด (ไม่) ลับในการสร้างศิลปะที่เป็นอมตะ (eternal life) และหนทางสู่ "ทำเนียบศิลปิน (มูลนิธิ) อมตะ" ไว้ดังนี้

"นอกจากความคิดส่วนตน ศิลปินควรหยิบยกรากเหง้าหรือภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเองมาถ่ายทอดสู่ระดับสากลผ่านความเป็นศิลปะร่วมสมัยให้ได้"

ทั้งนี้ระยะเวลาเปิดรับผลงานเข้าประกวด ตั้งแต่ 15-21 พ.ย.2549 กำหนดการตัดสิน 25-26 พ.ย.2549 และประกาศผลการตัดสินในวันที่ 30 เดือนและปีเดียวกัน ส่วนกำหนดการจัดแสดงผลงานจะเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือน ก.พ.-เม.ย.2550 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ ถนนเจ้าฟ้า และสัญจรสู่ภูมิภาคต่างๆ ต่อไป   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us