Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2549








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2549
เสน่ห์ความเก่าบนราชดำเนิน             
โดย สุภัทธา สุขชู
 


   
www resources

Old Bangkok Inn Homepage

   
search resources

Hotels & Lodgings
Old Bangkok Inn
นันทิยา ตุลยานนท์




บนถนนสายประวัติศาสตร์ชื่อ "ราชดำเนิน" เข้าสู่ถนนพระสุเมรุ ใกล้หอศิลป์ฯ ของธนาคารกรุงเทพ ห้องแถวคู่สีเหลืองพาสเทล (pastel) คล้ายสีพระตำหนัก ขับประตูไม้สีเข้มบานเก่าจากพม่าให้เด่น ด้านในเต็มไปด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้สักทองอายุหลายสิบปีและของโบราณหลายชิ้น มองผิวเผินนึกว่าร้านขายของเก่าหรือแกลเลอรี่ของโบราณ

หลังประตูบานเขื่อง หญิงวัย 61 ปี ที่ยังดูสาวและแข็งแรงกว่าอายุกำลังขะมักเขม้น ให้ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวแก่หนุ่มสาวชาวต่างชาติ แล้วก็รีบออกไปเรียกแท็กซี่ ครั้นกำชับเส้นทางกับคนขับเสร็จสรรพจึงส่งแขกขึ้นรถด้วยรอยยิ้ม โบกมือพร้อมกับกล่าว "Enjoy Bangkok!"

นันทิยา ตุลยานนท์ เจ้าของโรงแรม Old Bangkok Inn แห่งนี้ เธอมักจะมาดูแลสารทุกข์สุกดิบของแขกด้วยตัวเองในทุกเช้า และกลับไปพักผ่อนอยู่บ้านในช่วงบ่ายตามประสาคนวัยหลังเกษียณ

"ยิ่งอายุมากยิ่งต้องหาอะไรทำ ไม่เช่นนั้นร่างกายจะเสื่อม สมองจะคิดอะไรไม่ถูก จิตใจก็จะย่ำแย่ และยิ่งถ้าไม่ได้ออกจากบ้าน เราก็ยิ่งปล่อยตัว ร่างกายก็ยิ่งโทรมไปใหญ่" นันทิยาเตรียมตัวเกษียณจากงานธนาคารตั้งแต่ 2 ปีก่อน และเริ่มมองหากิจการเล็กๆ ที่ให้ทั้งความสุขและมีรายได้พอเลี้ยงตัว

ความชอบให้บริการ บวกกับประสบการณ์แสนอบอุ่นและเป็นกันเองที่เคยได้รับจากท่านเคานท์เจ้าของโรงแรมบูติกหรูใน Normandy เมืองท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในประเทศฝรั่งเศส จุดประกายให้เธอคิดถึงกิจการโรงแรมเล็กๆ

ที่ดินราว 1 ไร่ ติดถนนพระสุเมรุบนเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งรายล้อมด้วยสิ่งที่เป็นประวัติศาสตร์ เช่น โลหะปราสาทวัดราชนัดดา ภูเขาทอง ชุมชนเก่าบางลำพู อนุสาวรีย์ ประชาธิปไตย ฯลฯ เป็นที่ดินซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานตอบแทนคุณความดีของพระองค์เจ้ายุคันธร และตกทอดมาสู่หม่อมเจ้าอุทัย ยุคันธร ซึ่งสืบเชื้อสายต่อมาเป็นต้นตระกูลตุลยานนท์ของสามี ตกทอดมาแล้ว 6 รุ่นเป็นเวลากว่า 100 ปี

ทำเลที่ตั้งตรงนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจของชื่อ Old Bangkok Inn

ก่อนนี้ที่ดินตรงนี้ถูกเช่าเปิดบาร์และร้านก๋วยเตี๋ยว แต่เพราะเชื่อว่า คุณค่าของทำเลตรงนี้น่าจะมากกว่านั้น เธอจึงพัฒนาเป็นโรงแรมระดับหรู ทั้งที่ละแวกนี้ชุกชุมด้วยเกสต์เฮาส์ราคาต่ำจำนวนมากอยู่ก่อนแล้ว

นันทิยาเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ไม้สักเก่าแก่และของสะสมโบราณมาเพิ่มรสนิยมที่หรูหราให้กับโรงแรม และเสริมมนต์ขลังในความเก่าแก่ของที่ตั้งได้อย่างดี

"เราเดินทางไปเสาะหาเฟอร์นิเจอร์เก่าจากกองของโละจากเชียงใหม่ อยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี แม่สอด หลายชิ้นก็ข้ามฟากมาจากพม่า อันไหนพอใช้ได้ก็เอากลับมาขัดใหม่ เลยได้ของราคาไม่แพงแถมเป็นของเก่าแท้ พอโรงแรมเสร็จก็นำของเหล่านี้มาจับคู่จัดวาง"

บันไดไม้สักรุ่นคุณย่าที่หลงเหลือหลังรื้อโครงสร้างตึกเก่าทิ้ง ถูกวางสวยสง่าอยู่หลังเคาน์เตอร์ไม้สักสีเข้มกลางล็อบบี้ เข้ากันได้ดีเฟอร์นิเจอร์ไม้เก่าชิ้นอื่นในโรงแรม

"เฟอร์นิเจอร์เก่าของโบราณแต่ละชิ้นก็สวยงามในตัวของมันอยู่แล้ว แต่พอนำมารวมกันก็ยิ่งดูสวยเข้าไปอีก ดูเหมือนเล่นต่อจิ๊กซอว์" นันทิยาบรรยายตามสไตล์นักสะสม

ภายในห้องพัก ประตูหน้าต่างไม้สักทองของเก่าก็เข้าได้ดีกับโต๊ะไม้สักข้างเตียง บานกั้นไม้สักที่นำใส่กระจกใหม่กับชุดโต๊ะไม้วางอ่างล้างหน้าในห้องน้ำก็เสริมเสน่ห์ซึ่งกัน ส่วนพื้นไม้เนื้อแข็งปูทั่วทั้งห้อง ไม่เว้นห้องอาบน้ำเพิ่มความอบอุ่นหรูหราให้กับห้อง และกลมกลืนเหลือเกินกับโคมไฟเก่าจากพม่า หีบไม้ใส่ผ้าโบราณ และของสะสมรุ่นคุณย่าอื่นๆ ที่ตกแต่งอยู่ในห้อง

นอกจากมนต์ขลังของเฟอร์นิเจอร์เก่า อีกเสน่ห์ของห้องพักที่นี่ ยังอยู่ที่ "กิมมิค" อันเกิดจากชื่อห้องที่เป็นธีมพันธุ์ไม้ ได้แก่ห้องตะไคร้ ห้องมะลิ ห้องกล้วยไม้ และห้องข้าว ซึ่งแต่ละธีมจะมีเพียง 2 ห้อง

แรกก้าวไปในห้องตะไคร้ กลิ่นหอมบางของตะไคร้ก็ลอยมาเตะจมูก ย่างต่อไปกลางห้อง คอมพิวเตอร์จอแอลซีดี พร้อมระบบ Wi-Fi และเครื่องเล่นดีวีดีถูกจัดวางอย่างลงตัว จึงดูไม่แปลกปลอมท่ามกลางตู้ตั่งเตียงที่เป็นไม้สักทองและของโบราณในห้องแต่อย่างใด เพิ่มความหรูด้วยผ้าปูเตียง และปลอกหมอนเย็บด้วยผ้าไหมสีน้ำตาลเข้มตัดกับผ้ามุ้งสีขาวที่พันเก็บไว้อย่างดีทิ้งชายระย้าเล็กน้อย ดูสบายจนน่าทิ้งตัวลงนอน

ภายในห้องตะไคร้มีสวนหย่อมส่วนตัว ที่จะออกไปนั่งใต้ร่มไม้ฟังเสียงน้ำตกเล็กๆ หรือจะเอนตัวมองต้นม่านบาหลีสีชมพูอมม่วงทิ้งตัวลงมาจากหลังคา ท่ามกลางความเขียวขจีของหย่อมไม้น้อยใหญ่สไตล์ Tropical garden ผ่านประตูกระจก ก็ช่วยสร้างความรู้สึกเย็นชุ่มฉ่ำหัวใจได้เหมือนกัน

ห้องมะลิบนชั้นสองโทนสีขาวบริสุทธิ์ดูคล้ายกลีบดอกมะลิ ส่วนกลิ่นมะลิที่คละคลุ้งทั่วห้องก็มาจากพุ่มดอกมะลิและพวงมาลัยที่นันทิยาจัดวางรอต้อนรับลูกค้าไว้แล้ว มุมคอมพิวเตอร์วางแยกส่วนอยู่ชั้นล่าง บันไดไม้ด้านหลังทอดตัวสู่ชั้นลอย (loft level) ที่มีเตียงนอนสีเข้มรอยู่พร้อมมุมนั่งเล่นโทนสีขาวใกล้กัน ที่ผนังเพนต์ลายช่อดอกมะลิและประดับด้วยโคมไฟลายแปลกตา

ห้องกล้วยไม้เป็นห้องสูท 2 ชั้นคล้ายห้องมะลิ ต่างกันที่รายละเอียดเล็กน้อยตามสีของกล้วยไม้ ขณะที่ห้องข้าวก็คล้ายห้องตะไคร้ เพียงแต่เป็นเตียงเดี่ยว 2 เตียงและไม่มีสวนในห้อง

กลิ่นถูกใช้เป็น "กิมมิค" น่ารักๆ แต่โดดเด่นในห้องพักที่นี่ เพราะนอกจากกลิ่นหอมจางๆ ของดอกไม้ที่วางในห้อง นันทิยาประดิดประดอยวางโถแชมพูและสบู่เหลวที่มีกลิ่นตามชื่อห้อง เช่น ห้องมะลิ แชมพูและสบู่เหลวก็เป็นกลิ่นมะลิ ห้องกล้วยไม้ก็เป็นกลิ่นดอกกล้วยไม้ ห้องข้าว และห้องตะไคร้ ก็เป็นกลิ่นข้าวสุกและตะไคร้หอม ตามลำดับ

สิ่งที่โรงแรมแห่งนี้ถูกบอกต่อบ่อยที่สุดในห้องแชตของหมู่นักท่องเที่ยว "hipster" ที่มองหาโรงแรมทางเลือก แทบทุกรายล้วนเข้ามาพูดถึงความประทับใจ ในความอบอุ่นของเจ้าของบ้านเช่นนันทิยาและจิรายุ ลูกชายของเธอ หรือแขกฝรั่งเรียกขานในชื่อ "โจอี้" ที่มักปลีกตัวจากงานการเมืองมาพาแขกไปหาร้านอาหารอร่อยๆ หรือนำทัวร์รอบเกาะรัตนโกสินทร์ด้วยตัวเอง

ไม่เพียงคำแนะนำเรื่องเส้นทางและแหล่งท่องเที่ยวที่ไม่ควรพลาด รวมถึงข้อมูลกรุงเทพฯ ในมุมที่หาอ่านไม่ได้จากไกด์บุ๊กของนักเที่ยวชาวต่างชาติทุกครั้ง นันทิยายังจะคอยดูแลถามไถ่สารทุกข์สุกดิบแขกทุกคนราวคนในครอบครัวจนมีคนบรรยายไว้ว่า "มาอย่างแขก อยู่เหมือนญาติ กลับเหมือนเพื่อน"

ทุกคืนแขกจะได้รับของขวัญ (nightly present) ของไทยๆ ไม่ซ้ำวางทิ้งไว้บนเตียง พร้อมโน้ตที่บอกว่า "มีอะไรให้ช่วยโปรดอย่าเกรงใจ" แสดงความยินดี ดูแลและต้อนรับอย่างจริงใจ และทุกมื้อเช้าเธอก็จะจัดเตรียมผลไม้สดใหม่ตามฤดูกาลหลากชนิด เคียงคู่ขนมครกและโจ๊กร้อนๆ ให้เลือกทานจนเต็มอิ่ม

ความเห็นในเว็บแนะนำที่พักหลายแห่งกลายเป็นสื่อโฆษณาที่ได้ผลดี ซึ่งนันทิยาไม่เคยควักสตางค์จ่าย หลังอ่านคอมเมนต์ นักท่องเที่ยวหลายคน คู่ฮันนีมูนหลายคู่ถึงกับยกเลิกโรงแรม 5 ดาวอย่าง Four Seasons และ Oriental เพื่อทดลองมาพักที่นี่

ระดับราคาราว 3,500-5,000 บาทต่อคืน ทำให้นันทิยาเคยถูกปรามาสว่า "คงไปไม่รอด" กลับเป็นเกณฑ์ชั้นดีที่ช่วยคัดลูกค้าคนที่ชอบพักที่นี่มักจะเป็นคนที่รื่นรมย์กับสุนทรีย์ในรายละเอียดของชีวิต รักความสงบและบรรยากาศท้องถิ่น แขกของเราส่วนมากเป็นนักเขียน ศิลปิน ครีเอทีฟ ดีไซเนอร์ ฯลฯ และเกือบ 100% เป็นชาวยุโรปและอเมริกัน"

จากเว็บ สิ่งเดียวที่ Old Bangkok Inn ถูกตำหนิบ่อย เห็นจะเป็นเรื่องห้องพักเต็มในช่วงฤดูท่องเที่ยว และมีแขกหลายคนต้องพลาดธีมห้องที่ชอบเป็นพิเศษ เพราะอัตราการจองที่สูงกว่า 70% แม้ไม่ใช่หน้าท่องเที่ยว

ครบรอบ 1 ปี นันทิยาฉลองด้วยการเพิ่มห้องสูทอีก 2 ห้อง ในธีมดอกบัวและกุหลาบ ซึ่งถูกจองแล้วทั้งที่เพิ่งลงมือสร้าง โดยเหตุที่ขยายเพราะพื้นที่เดิมเป็นผับบาร์ส่งเสียงดัง พอเจ้าของเก่าจะย้ายไปที่อื่น เธอจึงไม่ลังเลรีบเช่าพื้นที่เอง เพื่อความสงบสุขที่แขกของเธอจะได้รับ

ถึงจะก้าวขึ้นลงบันไดได้อย่างช้าๆ แต่ทุกวันนันทิยาก็ยังคงเดินสำรวจทั่วโรงแรม ทดสอบกลิ่นในขวดแชมพูและสบู่เหลวของทุกห้องว่ายังคงส่งกลิ่นหอม ตรวจเช็กความเรียบร้อยเสร็จสรรพ จึงกลับมาประจำอยู่หลังเคาน์เตอร์ไม้ รอต้อนรับทักทาย ให้ความช่วยเหลือแก่แขกของเธออย่างตั้งใจ... จนแดดบ่ายคล้อยไล่เข้ามาเป็นการเตือนว่าถึงเวลาพักผ่อนแล้ว ก่อนจะกลับมาสู้ใหม่ในเช้าวันรุ่งขึ้น   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us