Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2549








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2549
กว่าจะเชิด “หนุมาน”             
โดย สุภัทธา สุขชู
 


   
www resources

โฮมเพจ โจหลุยส์ เธียเตอร์

   
search resources

โจหลุยส์ เธียเตอร์
Theatre




ก่อนที่ไฟสปอตไลต์จะฉายลงบนเวที... หลังม่านเวที หนุ่มสาวกว่า 30 คน อายุเฉลี่ยเพียง 22 ปี กำลังวุ่นวายอยู่กับการช่วยกันแต่งองค์ทรงเครื่อง ประสมเสียงเจี๊ยวจ๊าว หยอกล้อ และอาการลิงโลด ตามประสาวัยคะนอง ก่อนจะเข้าสู่ความสงบด้วยการนั่งทำสมาธิ เป็นเครื่องเตือนว่าเวลาแสดงใกล้เข้ามาแล้ว

ม่านสีดำถูกเปิดออก ภาพแรกเป็นการบอกเล่าถึงความมานะอุตสาหะฝึกฝนกว่าจะได้เป็นคนเชิดหุ่น

ไมตรี ปรางค์รัตนศิลา เด็กหนุ่มวัย 24 ปี จบการแสดงโขนจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ด้วยพื้นฐานโขนลิงกว่า 12 ปี แต่ก็ยังต้องมาเรียนเชิดหุ่นที่ "โจหลุยส์" อีกปีเศษกว่าจะได้เชิดหุ่นหนุมาน

"ช่วงแรกๆ ฝึกหนักมากจนท้อเหมือนกันที่ทำไม่ได้สักที" ไมตรีเล่าย้อนกลับไปในวันแรกๆ ที่ทำให้เขารู้ว่าพื้นฐานโขนกว่า 12 ปี ไม่ได้รับรองว่าเขาจะเชิดหุ่นได้ ถ้าเขายังไม่เข้าใจหุ่นดีพอ

"ใช่! คนเชิดหุ่นต้องเข้าใจหุ่น..." ไมตรีย้ำ

"ผมต้องเข้าไปคลุกคลีกับหุ่น ต้องฝึกต้องจับทุกวัน จนรู้ว่าหุ่นมีกลไกอะไรบ้าง เล่นกับหุ่นมากจนหลังๆ เริ่มเห็นหุ่นเป็นเพื่อน บางครั้งไม่มีอะไรทำก็ไปนั่งคุยกับหุ่น" ไมตรีเล่าไปหัวเราะไป

เขาสารภาพว่า ตอนแรกๆ ไม่ได้รู้สึกชอบหุ่นเท่าไร แต่พอได้คลุกคลี ได้สัมผัสมากขึ้น จนความผูกพันเริ่มกลายเป็นความรัก ทุกวันนี้เขาหลงเสน่ห์หุ่นหนุมานมากจนเริ่มเชื่อว่าตัวเองเป็นหนุมานเหมือนกัน

อันที่จริงด้วยบุคลิกแก่นซน หลุกหลิก อยู่ไม่สุขเหมือนลิงของไมตรี บวกกับพื้นฐานโขนลิงนี่เองที่ทำให้ได้เขาถูกเลือกให้เชิดเป็นหนุมาน

นอกจากต้องเข้าใจหุ่น คนเชิดในทีมเดียวกันก็ต้องเข้าใจซึ่งกันและกัน เพื่อทั้ง 3 คน จะสามารถประสานใจและถ่ายทอดออกมาให้เป็นหุ่นตัวเดียวกันได้อย่างกลมกลืนสอดคล้อง ดังนิยามการเชิดหุ่น "3 ประสานรวมจิตใจเป็นหนึ่งเดียว มือชักเส้นด้าย หัวใจถ่ายทอดชีวิตให้กับหุ่น"

"3 ประสานฯ" จึงเป็นทั้งเสน่ห์และความยากของการเชิดหุ่นละครเล็กในเวลาเดียวกัน

เมื่อหุ่นเงยหน้า คนเชิดทั้งสามคนก็ต้องเงย เมื่อยกขาหุ่นตั้งฉาก คนเชิดทั้งหมดก็ต้องตั้งฉาก ฯลฯ

ในการเชิดหุ่น ตำแหน่งของทั้ง 3 คนจะมีความสำคัญเท่ากัน และบ่อยครั้งที่ 3 คน ต้องสลับตำแหน่งกันระหว่างการแสดง ดังนั้นทุกคนจึงต้องแทนที่กันได้หมด

คนเชิดทางซ้ายเรียกว่า "ตัวกลาง" คอยจับแกนและแขนซ้าย ควบคุมหัวหุ่นซึ่งมีกลไกภายใน และคุมจังหวะทั้งหมดของหุ่น คนกลางเป็นคนเชิดเท้า คอยบังคับทรงของหุ่นให้ตรง และสร้างความพลิ้วไหวให้กับหุ่น รวมทั้งคอยช่วยคนเชิดตัวกลางยามเมื่อยให้เขาพักแขนบนไหล่ คนเชิดทางขวาจะเชิดมือขวาอย่างเดียวซึ่งอาจดูเหมือนง่าย แต่ก็ต้องแม่นท่ามากกว่าและใช้ไหวพริบมาก เช่นต้องดูว่าแถวเพื่อนเป็นอย่างไร จะวนทางไหน บางทีก็ต้องเชิดไปก่อนคนอื่น ฯลฯ

สำหรับเทคนิคในการทำให้นักเชิด 3 คนรวมจิตวิญญาณไว้ที่หุ่น 1 ตัว แล้วช่วยกันถ่ายทอดพลังทำให้หุ่นโลดแล่นร่ายรำได้เหมือนมีชีวิตนั้น ต้องอาศัยการฝึกซ้อมอย่างหนักร่วมกัน การคลุกคลีอยู่ร่วมกัน ซึ่งนักแสดงโจหลุยส์จะไม่มีฟรีแลนซ์ ทุกคนต้องเข้าซ้อมทุกวัน เริ่มตั้งแต่บ่ายโมง จนหกโมงเย็นจึงเริ่มเตรียมตัวแสดง และหากมีการเปลี่ยนเรื่องก็ต้องซ้อมแบบล่วงเวลา (O.T.)

หนุมานถือเป็นหุ่นที่เชิดยากที่สุด เพราะข้างในแกนจะมีกลไกหลายปุ่ม พยักหน้าซ้ายขวาได้ เอียงได้ ทำอะไรได้มากกว่าหุ่นตัวอื่น บวกกับสัญชาตญาณลิงที่อยู่ไม่สุข ซึ่งเป็นเสน่ห์ที่ทำให้หนุมานมีโอกาสได้ออกมาเล่นกับผู้ชมหลังจบการแสดง และกลายเป็นขวัญใจผู้ชมได้อย่างไม่ยากเย็น

ในการกำหนดบุคลิกของหนุมาน นักเชิดทั้ง 3 คนจะต้องตกลงและจินตนาการร่วมกันว่าอยากให้หนุมานทางความคิดของทีมเป็นลิงแบบไหน บุคลิกอย่างไร ซนมากน้อยแค่ไหน ฯลฯ

สำหรับทีมของไมตรี พวกเขาตกลงกันว่า หนุมานของเขาต้องซนเอาการ เจ้าชู้พอประมาณ กรุ้มกริ่ม กะล่อน และชอบแกล้ง เป็นต้น

หลังจบการแสดง หุ่นหนุมานเริ่มแล่นออกมาทำอาการเจ้าชู้ใส่ผู้ชมสาว ขอเข้าไปกอดบ้าง หอมบ้าง พอให้ได้เขิน ส่วนผู้ชมชายก็ถูกแกล้ง เขกศีรษะบ้าง ทำให้งงบ้าง ล้อเลียนบ้าง เป็นที่ขบขันไปทั้งโรงละคร บ่อยครั้งที่นักดนตรีหมั่นไส้แกล้งทำเสียงดังรบกวน ด้วยไหวพริบของคนเชิดรับมุกได้ทัน ผู้ชมก็ได้หัวเราะกันท้องแข็ง

"มุกตลกบางทีก็มาเตี๊ยมกันก่อน บางทีก็เล่นสด แต่ถ้าซ้อมด้วยกันบ่อยๆ อยู่ด้วยกันมานาน บางทีแค่มองตาก็รู้ใจ แค่ตัวกลางนำไป อีก 2 คนก็ตามอารมณ์ไปทัน" ไมตรีอธิบาย

จบการแสดงคืนนั้น พ่อหนุมานจอมเจ้าชู้ทั้งหุ่นและคนเชิดเลยได้ทิปติดไม้ติดมือไปไม่น้อย   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us