Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2549








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2549
อนาคตนาฏยศาลา             
โดย สุภัทธา สุขชู
 


   
www resources

โฮมเพจ โจหลุยส์ เธียเตอร์

   
search resources

โจหลุยส์ เธียเตอร์
พิสูตร ยังเขียวสด
Theatre
สุรินทร์ ยังเขียวสด




ครบรอบ 2 ปีที่เผชิญวิกฤติการเงินขนานใหญ่จนเกือบต้องปิดตัวลง คณะนาฏยศาลาหุ่นละครเล็ก หรือ "โจหลุยส์" ฉลองอย่างยิ่งใหญ่ด้วยรางวัลการแสดงวัฒนธรรมยอดเยี่ยมระดับโลก... แต่ทว่าอีกไม่ถึง 10 เดือนนับจากนี้ เมื่อสัญญาเช่าที่ดินที่สวนลุมไนท์บาร์ซาสิ้นสุดลง พวกเขายังไม่รู้ว่าจะอยู่ที่ไหนและอย่างไร

เสียงโห่ร้อง "ไทยแลนด์" แข่งกับเสียงปรบมือที่ดังกึกก้อง ธงชาติไทยและธงเหลืองตราสัญลักษณ์ ภปร. โบกสะบัดกลางโรงละครหุ่นที่กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก พร้อมกับคณะนักแสดงนาฏยศาลาฯ ร่วม 30 ชีวิตกู่ร้อง "เราทำได้" ประกาศถึงนาทีที่ยิ่งใหญ่ของหุ่นละครเล็กเอกลักษณ์ ศิลปวัฒนธรรมอีกชิ้นของไทยที่ยืนสง่างามอยู่บนเวทีหุ่นโลก เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

หุ่นโขนหนุมานย่อส่วนร่ายรำราวกับมีชีวิตอยู่บนเวที จิตวิญญาณที่ประสานกันเป็นหนึ่งของหนุ่มนักเชิด 3 คนถ่ายทอดผ่านเส้นด้าย และท่าทางอันอ่อนช้อยของทั้งคนและหุ่นที่กลมกลืน เมื่อคนร่ายหุ่นก็รำ คนเยื้องหุ่นก็ย่าง หรือบางทีหุ่นจ้องคนก็มองราวกับว่ามีอยู่ 4 ชีวิตที่กำลังโลดแล่นอย่างเป็นหนึ่ง

นี่คือเอกลักษณ์ของหุ่นละครเล็กของไทยที่หาไม่ได้ที่ไหนในโลก

รางวัล Best Traditional Performance ประจำปี 2549 จึงเป็นเสมือนสัญลักษณ์ที่ชาวโลกชื่นชม ยกย่อง และยอมรับในความมหัศจรรย์ของหุ่นละครเล็กไทย เหนือหุ่นประเภทอื่นของโลก

1 เดือนต่อมา โรงละครนาฏยศาลาฯ คลาคล่ำไปด้วยผู้คนทั้งไทยและเทศ ทั้งคนแก่ เด็ก และหนุ่มสาวที่มารอชมการแสดงชุด "กุรมาวตาร ตำนานพระราหู" ที่เพิ่งไปคว้ารางวัล ทำให้โรงละครที่เกือบไร้ลมหายใจเพราะจำนวนนักแสดงมากกว่าผู้ชม กลับมามีชีวิตชีวาด้วยผู้ชมกว่า 100 คนจาก 400 ที่นั่งทุกรอบ

สุรินทร์ ยังเขียวสด หนึ่งในทายาทที่เข้ามาอนุรักษ์หุ่นละครเล็ก ตามคำร้องขอของบิดา "สาคร ยังเขียวสด" ผู้ก่อตั้งคณะหุ่นละครเล็กโจหลุยส์ ยอมรับว่ารางวัลมีผลสร้างกระแสให้คนมาดูมากขึ้น แต่ก็ตระหนักดีว่ากระแสย่อมจะหายไปสักวัน ไม่ต่างจากเหตุการณ์วิกฤติการเงินในปี 2547 ที่สื่อทุกแขนงช่วยกันกระพือข่าวโรงละครโจหลุยส์ถูกตัดน้ำตัดไฟ

"วันนั้นพนักงานทุกคนยังมีกำลังใจดี เรามองตาของพวกเขาก็รู้ว่าเขาพร้อมจะสู้กับเรา แต่เมื่อใดก็ตามที่แสงจากเทียนเล่มสุดท้ายของเราดับลง นั่นก็คือโรงละครโจหลุยส์และสมบัติชาติชิ้นนี้คงต้องดับไปพร้อมกัน"

สุรินทร์เล่าถึงวิกฤติที่เป็นจุดเปลี่ยนของโรงละครโจหลุยส์ อันเนื่องมาจากค้างค่าเช่าที่เดือนละ 3 แสนบาท ให้กับบริษัทมาร์เก็ต เพลส ผู้ดำเนินกิจการสวนลุมไนท์บาร์ซา นานเกือบครึ่งปี จึงถูกตัดน้ำตัดไฟจนต้องใช้แสงเทียนให้แสงสว่าง

"ทุกอย่างเริ่มคลี่คลาย เคลียร์ได้ด้วยพระบารมีของสมเด็จพระพี่นางฯ ท่านเสด็จมาดูแล้วท่านก็ทรงชอบ แต่พอวันรุ่งขึ้นพวกเราโดนตัดไฟ ท่านจึงทรงมีจดหมายถึงรัฐบาล กระทรวงวัฒนธรรมก็เลยเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ย แต่หลังจากนั้นก็เงียบไป" สุรินทร์เล่าด้วยน้ำเสียงเครือ

ความชื่นชอบและพระเมตตาของสมเด็จพระพี่นางฯ ที่ทรงมีต่อคณะโจหลุยส์ ยังตามมาด้วยชื่อพระราชทาน "นาฏยศาลา หุ่นละครเล็ก" แต่กระนั้น นาฏยศาลาฯ ก็ยังคงต้องดิ้นรนด้วยตัวเองต่อไปตามประสาเอกชน แม้จะเป็นคณะหุ่นละครเล็กของไทย แห่งเดียวที่หลงเหลือให้อนุชนรุ่นหลัง

ดังนั้น เพื่อต่อยอดกระแสรางวัลหุ่นโลกไม่ให้เป็นเพียง "ไฟไหม้ฟาง" พิสูตร ยังเขียวสด พี่ของสุรินทร์ตั้งใจใช้ชื่อเสียงครั้งนี้เป็นบันไดพานาฏยศาลาฯ เข้าร่วมเวทีหุ่นโลกเรื่อยๆ เพื่อโปรโมตให้ทุกคนรู้จักนาฏยศาลาฯ และหุ่นละครเล็กของไทยมากขึ้น "เหมือนกับสปอตโฆษณา ยิ่งยิงบ่อยคนก็รู้จักเราชัดมากขึ้น"

กลวิธีการประชาสัมพันธ์เช่นนี้ นาฏยศาลาฯ อาจต้องลงทุนลงแรงอย่างสูง ซึ่งต่างอย่างสิ้นเชิงจากเส้นทางของ "หุ่นกระบอกน้ำของเวียดนาม"

"ทำไมพอเราไปเวียดนาม ทุกคนต้องไปดูหุ่นกระบอกน้ำเวียดนาม หรือทำไมพอพูดถึงหุ่นกระบอกน้ำ ทุกคนจะนึกถึงเวียดนาม เพราะรัฐบาลเขาสนับสนุนจริงจัง รัฐบาลจัดให้อยู่ในโปรแกรมทัวร์เวียดนาม รัฐบาลพาไปโรดโชว์ ฯลฯ วันนี้ทั่วโลกจึงรู้จักหุ่นกระบอกน้ำของเขา"

รางวัลครั้งนี้ก็เป็นเครื่องยืนยันอย่างดีว่าหุ่นละครเล็กของไทยมีดีไม่ด้อยกว่า "ขาดแต่การโปรโมต"

หุ่นละครเล็กเป็นมหรสพที่อายุเก่าแก่กว่า 100 ปี เป็นองค์ความรู้ทั้งศาสตร์และศิลป์ชั้นสูง ไม่ว่าจะเป็นหัตถศิลป์ในการสร้างหุ่นและประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย นาฏศิลป์และคีตศิลป์และวรรณศิลป์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องสืบสานจากคนรุ่นเก่า และต้องใช้ทั้งชีวิตของคนรุ่นใหม่ในการเรียนรู้และพัฒนา

แม้จะคลุกคลีกับหุ่นละครเล็กมาตั้งแต่เด็ก ทั้งสุรินทร์และพิสูตรต่างก็ยอมรับว่าทุกวันนี้พวกเขายังเข้าไม่ถึงภูมิปัญญาที่หลักแหลมของคนโบราณซึ่งซ่อนอยู่ในหุ่น โดยเชื่อว่าชั่วอายุของพวกเขาอาจไม่ได้เห็นหุ่นละครเล็กที่มีความสวยงามและกลไกสมบูรณ์แบบเหนือกว่าที่คนโบราณสร้างไว้เป็นแน่ "ก่อนจะพุ่งไปข้างหน้า เราต้องย้อนกลับไปหางานโบราณ เพราะนั่นคือสุดยอดของหุ่น"

จากความฝันที่อยากเห็นหุ่นขยับนิ้วได้ วันนี้พัฒนาการตัวหุ่นของสุรินทร์มาถึงขั้นยักคอ หักข้อ ชี้นิ้ว หรือหุ่นพระราหูก็แยกเป็น 2 ส่วน นำมาต่อแล้วเชิดได้ปกติ เหล่านี้ล้วนเพิ่มสีสันและชีวิตชีวาให้กับหุ่น

ขณะที่ในเนื้อเรื่องของกุรมาวตารฯ ก็ยังเป็นพัฒนาการอีกขั้นที่นำโขนคน โขนหุ่น หนังใหญ่ และดนตรีปี่พาทย์ มาประสานกันได้อย่างลงตัว ส่วนบท ร้องที่กระชับเข้าใจง่ายอันเกิดจากการประดิษฐ์ถ้อยคำ ก็ช่วยแก้ปัญหา "คนดูดูไม่เป็น" อันเป็นเหตุให้โขนเกือบสูญพันธุ์ได้เป็นอย่างดี

เรื่องนี้ยังบรรจุเทคนิคแสงสีเสียงตระการตา เพื่อตรึงผู้ชมให้อยู่กับการแสดงเบื้องหน้าได้ราวกับถูกมนต์สะกด ทั้งฉากกวนเกษียรสมุทรที่พญานาคยักษ์ 7 เศียร ยาว 10 เมตร ลำตัวสีทองพันรอบเขาพระสุเมรุ ถูกยื้อไปมาโดยโขนเทพและยักษ์ หรือฉากยักษ์ราหูถูกจักรผันของพระนารายณ์ตัดร่างกาย แยกเป็น 2 ส่วน ฯลฯ

สำหรับเอฟเฟ็กต์ที่ใช้นั้นก็มาจาก "กึ๋น" แบบไทย มากกว่าจะใช้เทคโนโลยีราคาแพงจากฝรั่ง เช่น เสียงลม เสียงพายุ เสียงน้ำ ก็ใช้คนเล่นกุ๊งกิ๊ง จักรตัดร่างพระราหู ก็ใช้เชือกผูกสองข้างแล้วใช้คนปล่อยจักร เขาพระสุเมรุที่เลื่อนได้ก็เป็นนักแสดงช่วยกันเข็น ดวงจันทร์ก็เป็นกระบอกไฟฉาย ฯลฯ

การแสดงทุกรอบจะมีต้นทุนเกือบ 3 หมื่นบาท ไม่ว่าจำนวนคนดูจะเป็น 1 หรือ 100 คน หุ่นทุกตัวจะถูกเชิดอย่างมีชีวิตชีวาด้วยสปิริตเต็มร้อยทุกๆ รอบ เป็นเหตุให้นาฏยศาลาฯ ต้องแบกรับกำไรขาดทุนสลับไปตามจำนวนคนดูแต่ละรอบ

แม้ทุกวันนี้คนดูเพิ่มขึ้น แต่พิสูตรก็ยอมรับว่ารายรับที่ได้แค่ทำให้บริษัทพออยู่ได้ บางส่วนก็ต้องนำไปเคลียร์ของเก่า ทำให้ไม่มีทุนสำหรับพัฒนาการแสดงชุดต่อไป ขณะที่ต้นทุนโปรดักชั่น ทั้งค่าบท ค่าทำหุ่น ค่าทำฉาก ค่าอัดเสียง ฯลฯ ต้องใช้เงินก้อนโตราว 4-5 ล้านบาท

"อย่างเรื่องกุรมาวตารฯ ผมและพี่น้องต้องควักเงินกันเองเกือบ 5 ล้านบาท ผมเคยไปขอสปอนเซอร์จากรัฐบาล เอกชน รัฐวิสาหกิจ แต่ก็ไม่มีใครสนับสนุน ทุกคนเอาแต่รอๆๆ" สุรินทร์เสียงอ่อยเพราะไม่รู้ว่าต้องรออะไรและต้องรอจนถึงเมื่อไหร่

นอกจากไทยประกันชีวิตที่สนับสนุนเงินปีละ 1.5 ล้านบาท พิสูตรบอกว่าสปอนเซอร์ถาวรของนาฏยศาลาฯ ก็เห็นจะมีแต่สื่อมวลชน

สุดท้ายเพื่อเพิ่มรายได้ นาฏยศาลาฯ จึงต้องปรับราคาบัตรเป็น 400 บาท สำหรับคนไทย และ 900 บาท สำหรับชาวต่างชาติ นอกจากนี้นักแสดงยังเดินสายกันออกไปรับงานนอกเพื่อหารายได้อีกทาง ส่วนสุรินทร์ก็ลดต้นทุนโปรดักชั่นด้วยการยืดระยะเวลาแสดงให้นานขึ้นจาก 6 เดือนเป็น 1 ปี แต่ยอมลงทุนพัฒนาเรื่องให้สมบูรณ์ที่สุด และพิสูตรเองก็พยายามเจรจากับเอเย่นต์นำทัวร์มาลงมากขึ้นเพื่อให้ขายการแสดงได้ทั้งปี

สำหรับฟากอุดมการณ์ นาฏยศาลาฯ เพิ่มรอบให้กับโรงเรียนที่จะพานักเรียนมาชม โดยคิดราคาเหมาจ่ายรอบละ 1.8 หมื่นบาท เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กรุ่นใหม่ได้สัมผัสกับหุ่นละครเล็กสมดังเจตนารมณ์ "พ่อสาคร" เท่าที่ผ่านมา มีนักเรียนเข้ามาชมเฉลี่ยสัปดาห์ละ 3 พันคน "เราไม่เอากำไรจากตรงนี้" พิสูตรยืนยัน

ขณะที่ภายนอกดูเหมือนทุกอย่างกำลังไปด้วยดี ทว่า นาฏยศาลาฯ ก็ต้องพบจุดหักเหอีกครั้ง เมื่อสัญญาเช่าที่สวนลุมไนท์บาร์ซากำลังจะสิ้นสุด ในอีกไม่ถึง 10 เดือน ส่วนโครงการโรงละครแห่งใหม่ที่ภูเก็ตซึ่งวางแผนเป็นดิบดีกลับต้องมลายหายไปพร้อมคลื่นสึนามิ ถึงวันที่สัมภาษณ์ พิสูตรและสุรินทร์ก็ยังสรุปไม่ได้ว่า นักแสดง 48 ชีวิต นักดนตรี 11 คน และหุ่นอีกร่วม 60 ตัว จะย้ายไปอยู่ที่ไหน

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา 2 ครั้ง การย้ายโรงละครของโจหลุยส์หมายถึงเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น และเป็นความภูมิใจที่ยิ่งใหญ่ของผู้เฒ่าวัย 85 ปี ที่พร่ำบอกกับทายาททุกคนตลอดเวลาว่า "ถ้าหุ่นไม่ได้อยู่บนเวที มันก็ต้องไปอยู่ในตู้ แต่หุ่นบนเวทีต่างกับหุ่นในตู้ตรงที่มันมีคนชุบชีวิตและจิตวิญญาณ"

"พ่อเป็นศิลปินจ๋า พ่อไม่รู้ระบบธุรกิจเพราะแต่ก่อนพ่อทำเป็นครอบครัว พ่อไม่เคยรู้ว่า การทำโรงละคร พี่พิสูตรต้องเหนื่อยหาโรงละคร หางบประมาณ ต้องกู้ยืมเขา พ่อรู้แต่ว่าอยากเห็นหุ่นละครเล็กอยู่คู่แผ่นดิน"

พิสูตรและสุรินทร์ต่างก็ฝันอยากเห็นอาณาจักรโจหลุยส์แห่งใหม่อยู่ติดริมแม่น้ำ เพื่อความสวยงาม ได้บรรยากาศเป็นไทย และเดินทางสะดวก ระบบโชว์และระบบความปลอดภัย ต้องเนี้ยบ สถานที่ต้องใหญ่พอที่จะมีสถาบันหุ่นไทยซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลหุ่นไทยและหุ่นโลกซึ่งเป็นความหวังสูงสุดของตระกูล "ยังเขียวสด"

เพราะรู้ว่าต้องใช้เงินเยอะ และเกินกำลังของครอบครัว พิสูตรจึงยอมเปิดประตูรับพาร์ตเนอร์คนไทยหรือคนต่างชาติที่มีรากเหง้าไทย ที่สำคัญคือมี "เลือดสีเดียวกัน" มาร่วมสานฝันและสืบทอดอุดมการณ์

"ถ้ามองว่าเมื่อไหร่จะคืนทุนก็จบเลย ถ้ามองว่าคืนทุนช้าแต่ได้มรดกแห่งสายน้ำเพิ่มอีกชิ้น อย่างนี้น่าจะใช่ ว่าที่พาร์ตเนอร์ของเราต้องรักวัฒนธรรมไทยอย่างรุนแรง..." พิสูตรหยุดกึกราวกับนึกได้ว่า ทั้งทำเลกับพาร์ตเนอร์ในฝันเช่นนี้คงหายาก

สำหรับอนาคตของนาฏยศาลาฯ และหุ่นละครเล็กของไทยจะอยู่ที่ไหน อีกไม่ถึง 10 เดือน คนไทยก็คงได้รู้ แต่สิ่งที่รู้ได้เลยผ่านทางความรู้สึกลึกๆ ตัวแทน "ยังเขียวสด" อย่างสุรินทร์ อาจจะพอบอกอะไรได้บ้าง

"ก็มีท้อนะ เคยนึกว่า คิดถูกหรือคิดผิด ทำไมต้องหาเหาใส่หัว ทำไมเราต้องมารับอาสาทำตรงนี้ แค่พ่อฝันอยากมีโรงละคร อยากให้คนรุ่นหลังได้เห็น แค่นี้เองหรือที่ทำให้เราต้องแบกภาระเอาไว้คนเดียว!?! สุดท้ายแล้ว อะไรจะเกิดก็คงต้องเกิดเพราะเราพยายามทำดีที่สุดแล้ว"   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us