|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ สิงหาคม 2549
|
|
หากคุณนึกถึงโรงหนัง ภาพในจินตนาการของคุณจะเห็นอะไรบ้าง นอกเหนือจากพรมสีแดง เก้าอี้สีสันสดใส เคาน์เตอร์ขายข้าวโพดคั่ว เพลงสรรเสริญพระบารมี หรือแถวยาวเหยียดหน้าช่องขายตัวทุกเย็นวันศุกร์และวันหยุดสุดสัปดาห์
เคยมีคนต่างชาติเปรยๆ ให้ได้ยินว่า อิจฉาคนไทยยิ่งนัก ที่มีโอกาสได้ดูหนังในโรงหนังที่ทันสมัย เก้าอี้ก็กว้างแถมยังนุ่ม ราคาก็ไม่แพงมากนัก ที่สำคัญสุดคือ หนังฟอร์มยักษ์บางเรื่องก็เข้าฉายให้คนไทยได้ดูก่อนประเทศใหญ่อื่นๆ เสียด้วยซ้ำ
คนไทยคงจะเป็นที่น่าอิจฉาจนตาร้อนมากขึ้นเป็นเท่าตัว เมื่อผู้ที่เป็นเจ้าของโรงหนังชั้นนำหลายแห่ง ได้หยิบยื่นเอาเทคโนโลยีทันสมัยมาอำนวยความสะดวกในการรับชมหนังถึงในบ้าน แม้ไม่มีเวลาไปจองตั๋วหนังที่เคาน์เตอร์ขายตั๋ว ขอให้มีแค่โทรศัพท์บ้าน โทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ วันนี้คนเหล่านั้นก็สามารถจองรอบ ขอที่นั่งที่ดีที่สุด ปรินต์ตั๋วหนังเองกับมือ และเมื่อถึงเวลาก็ไปนั่งอยู่หน้าจอยักษ์ เพื่อรับชมความบันเทิงได้ทันที โดยไม่ต้องเสียเวลาต่อคิวหรือไปรับตั๋วหนึ่งชั่วโมงก่อนหนังเข้าฉาย
แม้การจองตั๋วผ่านระบบตอบรับอัตโนมัติ อินเทอร์เน็ต หรือโทรศัพท์มือถือ และสั่งพิมพ์ตั๋วหนังผ่านปรินเตอร์ด้วยตนเองที่บ้าน แบบ Do it your self หรือ DIY จะไม่ใช่เรื่องใหม่แกะกล่องที่เปิดตัวในโรงหนังดังต่างๆ ของเมืองไทย
แต่หลายปีดีดักที่เปิดตัวให้บริการมา จนแล้วจนรอด การซื้อหรือจองตั๋วผ่านระบบอินเทอร์เน็ตก็ไม่ได้เป็นที่นิยมสำหรับคนไทยที่รักการดูหนังในโรงมากนัก การได้หยิบได้จับตั๋ว ได้จ่ายเงินกับมือตนเองแบบเห็นๆ เป็นทางเลือกที่คนไทยชอบกันมากกว่าการซื้อตั๋วออนไลน์หรือซื้อตั๋วทางโทรศัพท์โดยใช้บัตรเครดิตจ่ายเงิน ซึ่งบางคนก็รู้สึกไม่ปลอดภัยขึ้นมาในทันทีกับเงินในบัตรของตน
นั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่จนถึงวันนี้ภาพคนที่ยืนต่อแถวยาวเป็นหางว่าวบริเวณหน้าเคาน์เตอร์ขายตั๋วในวันหยุดสุดสัปดาห์หรือวันพฤหัสบดีที่หนังเรื่องใหม่มักเข้าฉายยังมีให้เห็นกันอยู่จนถึงทุกวันนี้
"เมื่อก่อนการซื้อและขายของผ่านเว็บไซต์หรืออินเทอร์เน็ต มักมีปัญหาสำคัญที่สุดอยู่ที่การจ่ายเงิน เพราะคนส่วนใหญ่พอถึงขั้นตอนการจ่ายเงินก็มักจะหยุดการซื้อตั๋วทุกครั้งไป อาจจะเพราะรู้สึกไม่ปลอดภัยในการจ่ายเงินด้วยช่องทางแบบเดียว นั่นก็คือ บัตรเครดิต" กฤษณัน งามผาติพงษ์ CEO บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป บอกสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่เป็นอุปสรรคให้การบริการจองหรือซื้อตั๋วออนไลน์ยังไม่แพร่หลายในเมืองไทยมากนัก
ด้วยความที่เป็นลูกหม้อเก่าจากโนเกีย และคลุกคลีอยู่กับวงการสื่อสารและดูแลโปรเจ็กต์บริการเสริมสุดไฮเทคของเอไอเอส มานานหลายปี วันนี้กฤษณันเลยหยิบเอามุมมองความทันสมัยดังกล่าวมาต่อยอดใช้ร่วมกับธุรกิจโรงหนัง เก้าอี้บทบาทใหม่ของเขาในวันนี้ได้เป็นอย่างดี
"วันหนึ่งผมไปเจอเพื่อน และถามเพื่อนที่มักใช้ชีวิตออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ เพื่อนซึ่งมักซื้อของผ่านเว็บไซต์กันเป็นประจำทั้งอีเบย์ หรืออะเมซอนดอทคอม ผมถามเขาว่า เขาแก้ปัญหาเรื่องการจ่ายเงินผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้อย่างไร สิ่งที่ผมได้กลับมาก็คือคำตอบที่ว่า เพื่อนผมบางคนใช้วิธีไปทำบัตรเครดิตอีกใบหนึ่งสำรองเอาไว้ และจำกัดจำนวนวงเงินของบัตรสำรองใบนี้แค่หมื่นเดียว โดยเลือกใช้บัตรนี้ในการสั่งซื้อของออนไลน์ทุกครั้ง แทนบัตรที่ใช้เป็นประจำ เพราะฉะนั้นหากเกิดปัญหาขึ้นมา วงเงินก็เสียหายในจำนวนเท่านั้น ไม่กระทบวงเงินที่มากกว่านั้นแต่อย่างใด" กฤษณันบอก
นี่เองกระมังทำให้กฤษณันเริ่มผุดความคิดที่จะพัฒนาบัตรอะไรสักอย่างหนึ่ง ที่จะช่วยให้ลูกค้าของเขาสามารถใช้เพื่อสั่งซื้อหรือสั่งจ่ายค่าตั๋วหนังผ่านระบบออนไลน์ และ IVR ได้ นอกเหนือจากแค่บัตรเครดิตที่บางคนกลัวจะโดนดักเอาหมายเลขบัตรไปใช้อย่างมิชอบ ที่สำคัญคนที่ต้องการจะซื้อตั๋วหนังบางคนก็อาจจะไม่มีบัตรเครดิตทำให้อดสั่งซื้อตั๋วออนไลน์ได้ด้วย
วันที่กฤษณันตัดสินใจก้าวล่วงเข้ามาร่วมงานกับเครือเมเจอร์ ในฐานะซีอีโอคนใหม่เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา วันนั้นโรงหนังแห่งนี้กำลังเจรจาธุรกิจร่วมกับ Capital OK ผู้ให้บริการบัตรเงินสด OK Cash เพื่อให้บริการบัตร Cash Card อยู่พอดี เขาเลยขอเปลี่ยนให้บัตรตัวนี้เป็นบัตรเงินสดแบบเติมเงินจำกัดจำนวน หรือบัตรเงินสดแบบ Prepaid เพื่อใช้กับการจ่ายค่าตั๋วหนังผ่านอินเทอร์เน็ตได้
ปัจจุบันบัตร Cash Card แบบเติมเงินหรือ Prepaid ตั้งชื่อใหม่ว่า บัตร Major M-Cash และเพิ่งเปิดให้บริการจ่ายเงินด้วยบัตรนี้กับการสั่งซื้อตั๋วออนไลน์และ IVR เป็นหนแรกเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยเปิดให้คนใช้ซื้อตั๋วหนังฟอร์มยักษ์เรื่อง Superman Return เป็นเรื่องแรก
ถือเป็นครั้งแรกของเครือเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ที่เปิดให้บริการจองตั๋วหนังผ่านออนไลน์ หลังจากเปิดให้บริการจองตั๋วผ่านโทรศัพท์ และขายหน้าโรงหนังเพียงสองอย่าง มาหลายปี
คนชอบดูหนังสามารถเลือกซื้อบัตร Major M-Cash หลากหลายราคาตั้งแต่ 500, 800, 1,000, 1,500 และ 2,000 บาท ได้ที่โรงหนังในเครือทั้งหมด ในขณะเดียวก็สามารถ ใช้บัตรเดียวกันนี้ซื้อตั๋วที่หน้าเคาน์เตอร์ Box Office ใช้ซื้อข้าวโพดคั่ว จ่ายค่าโยนโบว์ลิ่งและร้องเพลงที่คาราโอเกะในเครือเมเจอร์ฯ ทั้งหมด เพียงแต่ยื่นบัตรให้พนักงานทำการรูดกับเครื่องเหมือนกับบัตรเครดิต และเซ็นใบเสร็จรับเงินขนาดเล็กเพื่อเป็นการยืนยันการจ่ายเงินทุกครั้งเท่านั้น มูลค่าของบัตรเงินสดจะลดลงตามจำนวนการใช้ในแต่ละครั้ง
"แม้เฉลี่ยแล้ว คนไทยทั่วประเทศจะดูหนังเพียง 2 เรื่องต่อปี แต่หากดูบางจุดที่มีโรงหนังมากๆ อาทิ ในกรุงเทพฯ หรือปริมณฑล คนในเมืองเหล่านี้ดูหนังในโรงถึง 1 ครั้งต่อเดือนต่อคน ถือเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลยทีเดียว ยิ่งทางเลือกคนไทยในยามว่างเมื่อคิดจะออกไปนอกบ้านนั้น มีไม่กี่ทางนัก ส่วนใหญ่ก็มักเลือกไปทานข้าว ชอปปิ้งหรือดูหนัง หากเราสามารถวางแผนให้คนสามารถ book ตัวเองให้มาดูหนังได้ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เรียกว่าขโมยเวลาของเขาในช่วงเวลานั้นได้ ก็ถือว่าเราประสบความสำเร็จ" กฤษณันทิ้งท้ายกับโปรเจ็กต์ยักษ์แห่งปีของเขาและเมเจอร์ในปีนี้ นอกเหนือจากการขยายสาขาไปต่างจังหวัดมากขึ้น
คนขายได้เงิน คนซื้อได้ใช้อย่างสะดวกสบาย คงเป็นคำนิยามที่ดีสำหรับบัตรแบบใหม่ที่เติมเงินใส่เข้าไปก็ใช้ทั้งซื้อตั๋วหนังออนไลน์ และจ่ายค่าข้าวโพดคั่วใบนี้ได้ดีทีเดียว
|
|
|
|
|