ถึงแม้แนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยในปีนี้จะไม่สดใสนัก แต่อาปิโก ไฮเทคยังมั่นใจและขยายการลงทุนต่อเนื่อง
"This year is the year of actions." เย็บ ซู ชวน ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) กล่าวประโยคดังกล่าวเอาไว้ตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้ เหมือนไม่สะทกสะท้านกับปัจจัยลบที่กระหน่ำเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันขึ้นราคา ดอกเบี้ยขาขึ้น ไปจนถึงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
อาปิโก ไฮเทค เป็นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ให้กับค่ายรถยนต์ทั้งจากฝั่งญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และยุโรป อาทิ นิสสัน อีซูซุ โตโยต้า ฟอร์ด และวอลโว่ โดยโรงงานตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค จ.พระนครศรีอยุธยา
สิ่งที่สะท้อนถึง actions ที่เย็บ ซู ชวนกล่าวถึงชัดเจนที่สุดก็คือ การประกาศโครงการร่วมทุนทีเดียว 3 รายการเมื่อวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา
โครงการแรก อาปิโกจะตั้งบริษัท อาปิโก มิตซุยเกะ ด้วยการร่วมทุนกับมิตซุยเกะ คอร์ปอเรชั่น จากญี่ปุ่น ซึ่งอาปิโกจะถือหุ้นในสัดส่วน 51% จากทุนจดทะเบียน 33 ล้านบาท บริษัทร่วมทุนแห่งนี้จะทำการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่ต้องใช้เทคโนโลยีสูงส่งให้กับนิสสัน โดย ใช้โนว์ฮาวจากมิตซุยเกะ ซึ่งเป็นคู่ค้าที่ผลิตชิ้นส่วนส่งให้กับนิสสันมากว่า 60 ปี
บริษัทแห่งนี้ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญของอาปิโกที่จะเพิ่มยอดขายจากนิสสันได้มากขึ้น โดยแผนงานที่นิสสันได้ประกาศออกมาก่อนหน้านี้ระบุว่า ในปี 2551 นิสสันจะออกรถยนต์ ในประเทศไทยจำนวน 10 รุ่น และจะเพิ่มยอดการผลิตเป็น 200,000 คันต่อปี เพื่อขายในประเทศ 120,000 คันและส่งออก 80,000 คัน ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยให้สัดส่วนรายได้จากนิสสันเพิ่มขึ้นเป็น 25% ภายใน 5 ปีข้างหน้า โดยขณะนี้นิสสันได้ซื้อชิ้นส่วนรถยนต์จากอาปิโก กว่า 100 ชิ้น และจะเริ่มทำการผลิตตั้งแต่ปลายปีนี้เป็นต้นไป
สำหรับโครงการที่สอง อาปิโกร่วมกับแจ็คสปีด คอร์ปอเรชั่น จากสิงคโปร์ ตั้งบริษัท อาปิโก แจ็คสปีด ในสัดส่วนถือหุ้น 60% และ 40% ตามลำดับ บริษัทแห่งนี้จะทำการผลิตอุปกรณ์เสริมและตกแต่งสำหรับรถกระบะ โดยใช้โนว์ฮาวจากแจ็คสปีด ซึ่งเป็นผู้นำตลาดด้านนี้ในประเทศสิงคโปร์
สาเหตุที่อาปิโกสนใจในธุรกิจนี้เนื่องจากมีมาร์จิ้นสูงกว่าธุรกิจรับจ้างผลิตชิ้นส่วน (OEM) ที่ทำอยู่ โดยมีมาร์จิ้นขั้นต่ำ 30% ขึ้นไปและในปีแรกอาปิโก แจ็คสปีดจะมียอดขาย ถึง 200 ล้านบาท เนื่องจากขณะนี้มีออร์เดอร์อยู่แล้ว
อีกหนึ่งโครงการที่อาปิโกประกาศออกมาก็คือ การตั้งบริษัท คัตซึย่า อินเตอร์เนชั่น แนล ไพรเวท โดยถือหุ้นร่วมกับคัตซึย่า ประเทศไทย ซึ่งเป็นบริษัทที่อาปิโกถือหุ้นสัดส่วน 51% คัตซึย่าทำธุรกิจผลิตชิ้นส่วนภายในห้องโดยสารรถยนต์ในประเทศไทยและอินเดีย ซึ่งจากการทำข้อตกลงร่วมกับ Motherson ที่เป็นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนที่มีการเติบโตสูงในอินเดีย ทำให้อาปิโกสามารถเข้าไปทำตลาดในประเทศอินเดียได้เป็นครั้งแรกอีกด้วย
ถึงแม้จะขยายการลงทุนเพิ่มขนาดนี้ แต่เย็บ ซู ชวน ยังไม่วายทิ้งท้ายว่าในปีนี้ อาปิโกอาจจะมีดีลใหม่ๆ ออกมาอีกให้สมกับเป็นปีแห่ง actions เพื่อหวังดันยอดขายให้โต เป็น 3 เท่าภายในปี 2553 ซึ่งเขาเชื่อว่าน่าจะเป็นไปได้ เพราะในระหว่างปี 2544-2548 ยอดขายของอาปิโกโดดเพิ่มขึ้นจากไม่ถึง 1,000 ล้านบาทจนมาแตะ 8,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นกว่า 8 เท่าเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานงวดไตรมาสแรกที่ประกาศออกมาก่อนหน้านี้ก็สร้างความประหลาดใจให้กับผู้ถือหุ้นไม่น้อย เพราะถึงแม้ยอดขายจะเพิ่มขึ้นจาก 1,870 ล้านบาท มาเป็น 1,926 ล้านบาท แต่กำไรสุทธิกลับลดฮวบจาก 205 ล้านบาท เหลือเพียง 114 ล้านบาท เท่านั้น ทำเอานักลงทุน ตกใจพากันขายหุ้นจนราคาร่วงลงกว่า 50% แถมยังทำราคาต่ำสุดในรอบ 3 ปีและต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีอีกด้วย
อาปิโกแจงสาเหตุของกำไรที่ร่วงลงครั้งนี้ว่าเป็นผลมาจากการให้ส่วนลดของการขายชิ้นส่วนช่วงล่างรถกระบะให้กับอีซูซุ คิดเป็นเงินประมาณ 108 ล้านบาท และเชื่อว่าผลดำเนินงานในไตรมาสที่เหลือของปีนี้จะดีขึ้น
แต่คณะกรรมการของอาปิโกก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องราคาหุ้นที่ทรุดตัวลง เพราะการประชุมคณะกรรมการในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาได้มีมติอนุมัติโครงการซื้อหุ้นคืนจำนวน 28.236 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 10% ของหุ้นทั้งหมด โดยเตรียมเงินเพื่อการนี้เอาไว้ถึง 847 ล้านบาท ให้เหตุผลว่าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารเงินและช่วยให้ผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นสูงขึ้นด้วย
ความพยายามของอาปิโกทั้งในเรื่องขยายการลงทุนและโครงการซื้อหุ้นคืนได้รับการตอบรับในทางที่ดีจากนักวิเคราะห์หลายโบรกเกอร์ อาทิ บล.โกลเบล็ก บล.กิมเอ็ง และ บล.นครหลวงไทยที่ระบุว่าถึงแม้โครงการร่วมทุนที่ประกาศออกมาจะยังไม่เห็นผลในปีนี้แต่ถือว่าระดับราคาหุ้นอาปิโกในปัจจุบันมีความเสี่ยงต่ำสามารถซื้อเพื่อลงทุนได้
|