|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ สิงหาคม 2549
|
|
การร่วมทุนกับ Nordana บริษัทเดินเรือรายใหญ่ของเดนมาร์กถือเป็นโอกาสสำคัญที่จุฑานาวีจะขยายงานชนิดก้าวกระโดดได้ภายในเวลาอันสั้น
เหมือนจะเป็นความบังเอิญที่บริษัท จุฑานาวี กำหนดวันเซ็นสัญญาตั้งบริษัท ร่วมทุนกับ Nordana Project & Chartering บริษัทเดินเรือสัญชาติเดนมาร์กเอาไว้ ในช่วงใกล้ครบอายุ 30 ปีของบริษัทพอดี และที่พิเศษก็คือ การร่วมทุนครั้งนี้จะเรียกว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญที่สุดนับตั้งแต่บริษัทเดินเรือสัญชาติไทยแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเลยก็ว่าได้
"โอกาสในครั้งนี้ถือว่าเป็น lifetime opportunity ของบริษัท เพราะก่อนหน้านี้เราเองก็ไม่เคยคิดว่าจะได้ร่วมทุนกับ Nordana" ชเนศร์ เพ็ญชาติ กรรมการผู้จัดการ จุฑานาวี กล่าว
ที่ชเนศร์กล่าวเช่นนี้ก็เพราะเขาตระหนักดีว่าขนาดของจุฑานาวีนั้นเทียบไม่ได้เลยกับ Nordana ที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2500 เป็นบริษัทเดินเรือในเครือข่ายของ Dannebrog ซึ่งเป็นบริษัทเดินเรือแห่งแรกของเดนมาร์ก และเริ่มธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2426 ปัจจุบัน Nordana มีกองเรือจำนวนกว่า 70 ลำ ขณะที่จุฑานาวีในขณะนี้ มีเรืออยู่ 7 ลำ
จุฑานาวีก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2519 ด้วยทุนจดทะเบียน 40 ล้านบาท การดำเนินธุรกิจในระยะแรกประสบปัญหาขาดทุน จนในปี 2525 พลเรือตรีชาโณ เพ็ญชาติ ได้ซื้อหุ้นต่อจากกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมและเข้าบริหารงานนับจากนั้นเป็นต้นมา ปัจจุบันพลเรือตรีชาโณยังรั้งตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท ขณะที่บทบาทการบริหารงานในปัจจุบันเป็นของชเนศร์ บุตรชายซึ่งมาร่วมงานที่จุฑานาวีตั้งแต่ปี 2527 หลังสำเร็จการศึกษาปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจจาก Babson College สหรัฐอเมริกา
บริษัทเดินเรือทั้ง 2 แห่งติดต่อสัมพันธ์กันครั้งแรกเมื่อ 18 ปีที่แล้ว เริ่มต้นจากจุฑานาวีติดต่อซื้อเรือ Christianborg จาก Nordana ในราคา 3 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งการซื้อขายครั้งนี้สร้างความประทับใจให้กับชเนศร์อย่างมาก
"เชื่อไหมว่า เราจ่ายค่าเรือไปและรับมอบเรือเรียบร้อย จนกระทั่งเรือวิ่งมาถึงกรุงเทพฯ แล้วอยู่ดีๆ มีอะไหล่ส่งตามมาให้ ปรากฏว่าเจ้าของเรือเขาสั่งอะไหล่ชุดนี้เอาไว้ก่อนที่จะขาย พอได้มาเขาก็ส่งมาให้เรา โดยที่เราไม่ได้รู้ล่วงหน้ามาก่อน เงินค่าอะไหล่ก็ไม่ต้องจ่าย เราก็ประทับใจในความมีน้ำใจของเขา"
ความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง 2 กิจการเริ่มใกล้ชิดขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เมื่อ Nordana มาเช่าเรือจากจุฑานาวี เริ่มจาก 1 ลำ และเพิ่มขึ้นทุกปี จนกระทั่งปัจจุบัน Nordana เป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของจุฑานาวี ด้วยการเช่าเรือ 3 ลำจากจำนวนทั้งหมด 7 ลำ คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของรายได้ รวมในปีที่ผ่านมาของจุฑานาวี
นอกจากนี้ Nordana ยังเข้าซื้อหุ้นของจุฑานาวีในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อศึกษาข้อมูลและงบการเงิน ตัวเลขที่ Nordana ให้ความสนใจมากที่สุดก็คือ ต้นทุนดำเนินงาน เมื่อพอใจกับข้อมูลที่ได้มาแล้ว Nordana จึงยื่นข้อเสนอจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในช่วงต้นปีนี้
บริษัทร่วมทุนดังกล่าวจะถือหุ้นโดยจุฑานาวีและ Nordana ในสัดส่วน 51% และ 49% ตามลำดับ โดยมีเป้าหมายที่จะซื้อเรืออเนกประสงค์ขนาดระวางประมาณ 10,000 เดทเวทตัน จำนวน 10 ลำภายในระยะเวลา 3 ปี เพื่อใช้ใน การขนส่งสินค้าทั่วไป เช่น เหล็กและเครื่องจักร
"เราตกลงกันตั้งแต่วันแรกว่า ใครทำอะไรได้ competitive กว่าก็ทำอันนั้น เราบริหารเรือได้ถูกกว่าเราก็ทำส่วนเขาหาเงินกู้ได้ถูกกว่า เขาก็จะเป็นคนหาเอง" ชเนศร์กล่าว
ด้วยเหตุนี้จุฑานาวีจะทำหน้าที่เป็นผู้บริหารเรือ ครอบคลุมตั้งแต่การจัดหาคนประจำเรือ ดูแลซ่อมบำรุงและการจัดการประกันภัย ขณะที่ Nordana จะเป็นผู้จัดหาแหล่งเงินกู้และรับเป็นผู้เช่าเรือดังกล่าวทั้งหมดเป็นเวลา 8-10 ปี การได้แหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำมีความสำคัญต่อบริษัทร่วมทุนแห่งนี้ไม่น้อย เนื่องจากเงินที่ใช้ในการซื้อเรือแต่ละลำจะมาจากเงินทุนเพียง 30% ส่วนอีก 70% จะมาจากเงินกู้
จุฑานาวีและ Nordana ต่างก็มีจุดเด่นที่ช่วยเสริมการดำเนินงานให้กับอีกฝ่ายหนึ่งได้เป็นอย่างดี โดยจุฑานาวีมีจุดเด่นด้านต้นทุนต่ำ จากการใช้บุคลากรชาวไทย ขณะที่ Nordana มีเครือข่ายที่มีอยู่ทั่วโลก รวมทั้งมีชื่อเสียงจากการ ดำเนินงานมาเป็นเวลายาวนาน ทำให้สามารถหาลูกค้าได้ง่าย การตั้งบริษัทร่วมทุนครั้งนี้จึงเป็น win-win ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย เพราะ Nordana ได้ขยายกองเรือที่มีต้นทุนต่ำ ณะที่จุฑานาวีก็ขยายกองเรือเพิ่มขึ้น โดยที่มีความเสี่ยงต่ำและมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเป็นผู้บริหารเรืออีกด้วย โดยอัตราค่าจ้างในการบริหารเรือจะอยู่ที่ประมาณ 250 เหรียญสหรัฐต่อวันต่อลำ
"ผมคำนวณคร่าวๆ ว่าถ้าบริษัทร่วมทุนเราสามารถทำกำไรได้เหมือนที่จุฑานาวีทำอยู่ คือกำไรปีละไม่ต่ำกว่า 25% และจุฑานาวียังจะได้ค่าจ้างจากการบริหารเรืออีก เพราะฉะนั้นการลงทุนครั้งนี้เราน่าจะได้ผลตอบแทนปีละ 30% ขึ้นไป ซึ่งก็น่าพอใจ"
ชเนศร์ยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่าการร่วมทุนครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญที่จะช่วยให้จุฑานาวีสามารถขยายกองเรือได้มากขึ้นและเร็วขึ้น เพราะจุฑานาวีใช้เวลาถึง 30 ปี มีเรือเพียง 7 ลำ แต่ตามแผนงานของบริษัทร่วมทุนที่กำหนดเอาไว้จะมีเรือได้ถึง 10 ลำ ภายในเวลาเพียง 3 ปีเท่านั้น ขณะเดียวกันยังช่วยย้ำความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับ Nordana ให้มั่นคงยิ่งขึ้น ซึ่งน่าจะมีส่วนช่วยต่อการทำธุรกิจระหว่างทั้ง 2 รายด้วย
"เรือ 3 ลำของเราที่เขาเช่าอยู่ ถ้าหมดสัญญาแล้วแทนที่เขาจะไปเช่าคนอื่น เขาก็คงให้โอกาสเราก่อน แต่เราก็ต้อง competitive ด้วย"
นอกจากการตั้งบริษัทร่วมทุนกับ Nordana แล้ว ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จุฑานาวียังได้ล้างขาดทุนสะสมที่มีอยู่จนหมดด้วยการลดทุนจดทะเบียนจำนวน 86 ล้านบาท โดยลดมูลค่าหุ้นจากเดิมหุ้นละ 4 บาท เหลือ 3 บาท ทำให้ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 258 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นจำนวน 86 ล้านหุ้น
การลดทุนจดทะเบียนดังกล่าวทำให้ปีนี้เป็นปีแรกในรอบ 9 ปีของจุฑานาวี ที่ไม่มียอดขาดทุนสะสมเหลืออยู่ หากผลการดำเนินงานมีกำไรก็จะสามารถจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงมีภาระหนี้อยู่อีกกว่าหนึ่งพันล้านบาท
สำหรับแนวโน้มธุรกิจเดินเรือในขณะนี้ ชเนศร์มองว่า ถึงแม้ค่าระวางจะลดลงจากจุดสูงสุดในช่วงปี 2548 ที่ผ่านมา แต่ก็อยู่ในระดับที่บริษัทสามารถทำกำไรได้และเมื่อดูจากดัชนี BDI (Baltic Dry Index) ซึ่งเป็นดัชนีค่าระวางเรือสินค้าแห้ง พบว่าตั้งแต่ต้นปีดัชนีทรงตัวและกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยในช่วงไตรมาส 2
นอกจากนี้ ชเนศร์เชื่อว่าในเวลาอีกไม่นานนับจากนี้ซัปพลายเรือจะหายไปจากตลาดจำนวนมาก เนื่องจาก 43% ของเรืออเนกประสงค์ทั่วโลกในปัจจุบันมีอายุการใช้งานเกิน 25 ปี ซึ่งครบกำหนดที่ต้องซ่อมใหญ่หรือขายเป็นเศษเหล็ก ขณะที่จำนวนเรือต่อใหม่จะเข้ามาทดแทนได้ไม่มากนัก จะส่งผลให้เรือที่เหลืออยู่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นและค่าระวางจะปรับสูงขึ้นด้วย
"ทุกวันนี้เรืออายุเกิน 25 ปียังเอามาวิ่งอยู่ เพราะ 2-3 ปีนี้ตลาดเรือดีมาก แต่เมื่อไหร่ที่ถึงกำหนดเข้าอู่ เจ้าของก็ต้องขายทิ้ง เพราะค่าซ่อม ค่าประกันแพงมาก"
การดำเนินงานของจุฑานาวีในระยะนี้ยังคงเน้นรายได้จากการให้เช่าเรือ (Time Charter) เป็นหลัก โดยเรือที่มีอยู่ 7 ลำ บริษัทนำมาให้เช่าถึง 6 ลำ เนื่อง จากการให้บริการในลักษณะดังกล่าวไม่ต้องรับภาระค่าน้ำมัน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายของผู้เช่าเรือ ส่วนอีก 1 ลำ นำมาวิ่งให้บริการในเส้นทางญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งเชื่อว่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นจากสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ขณะที่เศรษฐกิจเกาหลีใต้ก็ยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
กลยุทธ์ดังกล่าวนี้เองที่ช่วยให้ผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1 ปีนี้ของจุฑานาวีเพิ่มสูงขึ้นจากงวดเดียวกันของปีที่แล้วกว่า 33% โดยไตรมาสแรกปีนี้มีกำไรสุทธิ 63 ล้านบาท คิดเป็นกำไรหุ้นละ 0.75 บาท ขณะที่งวดปีที่แล้วมีกำไรสุทธิ 32 ล้านบาท หรือหุ้นละ 0.38 บาท แต่หากคิดเฉพาะกำไรจากการดำเนินงานเพียงอย่างเดียว กำไรไตรมาสแรกของปีนี้จะลดเหลือ 44 ล้านบาท เทียบกับ 33 ล้านบาทของปีที่แล้ว ส่วนกำไรของปีนี้ชเนศร์คาดว่าน่าจะทำได้ไม่ต่ำกว่า 160 ล้านบาท
|
|
|
|
|