Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2549








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2549
ดิ เอราวัณ เต็มไปด้วยบทเรียน             
โดย สุภัทธา สุขชู
 

   
related stories

from Family to be Professional
จากรุ่นที่ 2 สู่รุ่นที่ 3
น้ำตาลมิตรผล บังเอิญจนได้เรื่อง
อยากรวย เลิกหวย ปลูกอ้อย...ดีกว่า
บ้านปู ดอกผลที่ใหญ่เกินคาด

   
www resources

โฮมเพจ บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

   
search resources

วิฑูรย์ ว่องกุศลกิจ
Real Estate
Hotels & Lodgings
อัมรินทร์ พลาซ่า, บมจ.
ดิ เอราวัณ กรุ๊ป, บมจ.




ธุรกิจโรงแรมกลายเป็นอีก 1 ขาหลักธุรกิจในปัจจุบันของตระกูล "ว่องกุศลกิจ" ทั้งๆ ที่ในช่วงเริ่มต้นไม่มีใครในตระกูลที่รู้เรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เลยก็ตาม

กลุ่มเอราวัณเป็น 1 ใน 2 ธุรกิจอนาคตไกลที่แตกตัวออกมาจากธุรกิจดั้งเดิมของครอบครัว บนความคิดเพื่อกระจายความเสี่ยงออกจากธุรกิจน้ำตาล แต่วันนี้กลายเป็นบริษัทมหาชนที่มีมูลค่าสินทรัพย์รวมสูงกว่า 9 พันล้านบาท ณ วันที่ 31 มีนาคม 2549 โดดเด่นอยู่ในหมวดโรงแรมและบริการท่องเที่ยว

"ธุรกิจน้ำตาลมีทั้งความเสี่ยงและความผันผวน เราก็เลยคิดกันอยู่แล้วว่าน่าจะกระจายไปธุรกิจอื่นบ้าง โดยไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นธุรกิจอะไร ถ้าเห็นว่ามีโอกาสก็พร้อม"

วิฑูรย์ ว่องกุศลกิจ ลูกคนที่ 5 ในบรรดาพี่น้องทั้ง 8 คน ปัจจุบันรับบทเป็นผู้ดูแลธุรกิจ ของกลุ่มเอราวัณแทนพี่น้องในตำแหน่งกรรมการ เล่าสาเหตุที่มาของอาณาจักรแห่งใหม่

"อัมรินทร์" ยุคบุกเบิก

แม้ไม่เคยคิดกระโดดเข้ามาในวงการอสังหาริมทรัพย์ แต่โอกาสก็วิ่งชนอิสระ ว่องกุศลกิจ น้องชายคนที่ 7 อย่างจัง เมื่อนายหน้าที่รู้จักกันพาอิสระไปคุยกับกลุ่มศรีวิกรม์ เจ้าของที่ดินผืนงามย่านราชประสงค์ (อาคารอัมรินทร์ พลาซ่า ปัจจุบัน) ซึ่งกำลังหาคนเช่าที่ดินผืนนี้ในระยะยาว 30 ปี เมื่อทั้งคู่คุยกันถูกคอ ที่ดินแปลงนี้จึงอยู่ในมือของเขา

เพราะเป็นธุรกิจที่ไม่มีความชำนาญและต้องอาศัยทุนหนา หลังจากประชุมโต๊ะกลมระหว่างพี่น้องว่องกุศลกิจแล้ว ก็ได้มติว่าต้องหาพาร์ตเนอร์มาร่วมทุนและช่วยแบ่งเบาความเสี่ยง

"การทำธุรกิจที่นอกเหนือออกไปจากความถนัด เราก็ต้องหาคนมาร่วมทุนเพื่อกระจายความเสี่ยง แทนที่จะทำคนเดียวเราก็จะมีคนลงทุนร่วมและช่วยกันคิด" วิฑูรย์กล่าว

ตระกูลวัธนเวคิน นักธุรกิจน้ำตาลจากฟากฝั่งตะวันออกเป็นพันธมิตรที่ได้รับเลือกเพราะทั้งสองตระกูลเห็นหน้าค่าตากันเป็นประจำในสมาคมผลิตผลน้ำตาลจนเป็นที่คุ้นเคยกันมานานพอสมควร

แม้จะเป็นช่วงวิกฤติการเงิน แต่เพราะเชื่อมั่นในศักยภาพทำเงินของทำเลที่ได้มา ทั้ง 2 ตระกูลก็ยังยืนยันจัดตั้งบริษัทร่วมกันในชื่อ "อัมรินทร์ พลาซ่า" โดยเจตนารมณ์เริ่มแรกเพื่อประกอบธุรกิจพัฒนาอาคารสำนักงานและศูนย์การค้าให้เช่า

ในปี 2528 อาคารสำนักงานและศูนย์การค้า "อัมรินทร์ พลาซ่า" เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ ในฐานะโปรเจ็กต์แรกในพอร์ตธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ด้วยมีแม่เหล็กกำลังแรงที่คอยดึงดูดลูกค้าเข้าศูนย์ฯ ได้เป็นอย่างดี ทั้ง "โซโก้" ห้างสรรพสินค้าชื่อดังจากญี่ปุ่นที่ไม่เคยตั้งสาขานอกประเทศ แต่ตกลงปลงใจกับโครงการนี้ และ "แมคโดนัลด์" เองก็จงใจเปิดสาขาแรกในตึกนี้ ถือเป็นการเปิดตัวบริษัทแมคไทยไปพร้อมกัน

แค่เพียงโครงการแรก ตระกูลว่องกุศลกิจก็ถูกจับตาในกลุ่มผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และชื่อ "อัมรินทร์" ก็เป็นที่รับรู้ทั่วกันว่าเป็นอาณาจักรของว่องกุศลกิจตั้งแต่นั้น ทั้งนี้เพราะกลุ่มวัธนเวคินยินยอมให้อิสระเป็นผู้ออกหน้าในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่

จุดเปลี่ยนของอัมรินทร์ พลาซ่า เริ่มต้นขึ้นเมื่อโรงแรมเอราวัณซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงการคลัง ที่ตั้งขึ้นตั้งแต่สมัยรัฐบาลจอมพล ป.ที่หวังจะปั้นให้เป็นโรงแรมชั้นหนึ่งเพื่อรับแขกบ้านแขกเมือง แต่กลับต้องแบกภาระขาดทุนมาทุกปีเพราะแขกน้อย รัฐบาลยุคต่อๆ มาจึงเปิดให้เอกชนมาประมูลไปทำ

เพราะรู้ซึ้งอานุภาพของทำเลที่ดี อิสระจึงไม่ยอมพลาดโอกาสที่จะขยายอาณาจักรของว่องกุศลกิจบนแยกราชประสงค์นี้ให้ยิ่งใหญ่และครบถ้วน

"หลังประมูลได้มา เราก็มานั่งล้อมวงปรึกษากันอีก คิดยากเหมือนกัน เพราะลงทุนตั้งเป็นพันล้าน และเราก็ไม่เคยมีโรงแรม แต่ก็เชื่อกันว่าการท่องเที่ยวของเมืองไทยน่าจะโตต่อไป ธุรกิจโรงแรมน่าจะทำดี" วิฑูรย์เล่า

เพื่อวางรากฐานอย่างหนักแน่นสำหรับต่อยอดธุรกิจโรงแรมในวันหน้า ที่ประชุมลงมติให้โรงแรมแรกในพอร์ตต้องเป็นระดับห้าดาว จึงเป็นที่มาของการเซ็นสัญญากับเชน "ไฮแอท" พร้อมกับชื่อ "แกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ" แต่ไม่ทันที่จะลงฐานรากของโรงแรมเสร็จ อัมรินทร์ พลาซ่า ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกครั้ง

เข้าสู่ยุคเปลี่ยนถ่าย

ขณะที่อัมรินทร์ พลาซ่า กำลังไปได้สวย ทว่า "มิตรผล" กลับประสบกับปัญหารุมเร้า จนความเบื่อหน่ายสะสมของวิฑูรย์ต่อวงการน้ำตาลสูงทะลุขีดความอดทน อันเป็นเหตุให้เขาถอนตัวจากเก้าอี้กรรมการผู้จัดการใหญ่ในกลุ่มมิตรผล เพื่อโยกย้ายอาณาจักรกับอิสระ คนหนุ่มไฟแรงที่อยากเข้าไปพัฒนาธุรกิจน้ำตาลต่อจากพี่ๆ

"เราให้เงินชาวไร่ไปลงทุน พอเขาเสียหายไม่มีผลผลิต เราก็เสียหายด้วย แต่พอได้ผลผลิต เขากลับไปขายโรงงานอื่น หรือบางปีตลาดไม่ดี ราคาน้ำตาลก็ไม่ดี ธุรกิจก็แย่ ยิ่งพอมีปัญหาเรื่องระบบแบ่งปันผลประโยชน์บ่อยครั้งและต้องเจรจากันหลายฝ่าย ผมอยู่กับปัญหาเหล่านี้มา 20 ปี ก็รู้สึกเบื่อวงการนี้แล้ว" วิฑูรย์ระบาย

ย้อนกลับไปในปี 2511 วิฑูรย์ บัณฑิตหมาดๆ จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นบัณฑิตคนแรกของตระกูล เข้าทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ห้องแล็บน้ำตาลในห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงงานน้ำตาลมิตรผล (ขณะนั้น) เพื่อเรียนรู้งานจากพี่ๆ คือกมลและสุนทรที่เป็นเรี่ยวแรงสำคัญที่ส่งเสริมให้น้องๆ ได้เรียนขั้นสูง

เรียนรู้งานร่วม 10 ปี วิฑูรย์ได้รับความเชื่อมั่นจนได้เลื่อนชั้นเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของกลุ่มมิตรผล และเป็นเรี่ยวแรงสำคัญต่อจากพี่ๆ ในการขยายโรงงาน โดยเฉพาะโรงงานน้ำตาลรวมเกษตรกรอุตสาหกรรมซึ่งเป็นโรงงานน้ำตาลที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในขณะนั้น

"หลังจากที่ผมและอิสระตกลงแลกกัน พวกเราก็ปรึกษากับพี่ๆ พวกเขาบอกว่า ถ้าแน่ใจและพอใจกันทั้งคู่จะสับเปลี่ยนกันก็ไม่ว่าอะไร" วิฑูรย์เล่าถึงจุดเปลี่ยนในชีวิตการทำงาน

งานแรกในอาณาจักรแห่งใหม่ของวิฑูรย์ก็คือ การนำอัมรินทร์ พลาซ่า ไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเตรียมเพิ่มทุนสำหรับก่อสร้างโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ และดูแลโปรเจ็กต์พันล้านนี้ให้เสร็จทันในปี 2534 เพื่อต้อนรับการประชุม World Bank ที่กรุงเทพฯ

เพราะมีการเพิ่มทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อขยายกิจการ เช่น การหาที่ดิน การพัฒนาโครงการ ฯลฯ จากทุนจดทะเบียนก้อนแรก 1 ล้านบาท 12 ปีถัดมา อัมรินทร์ฯ มีทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นกว่า 1 พันล้านบาท พร้อมกับความพร้อมในการแปรสภาพเป็น "บริษัท อัมรินทร์ พลาซ่า จำกัด (มหาชน)"

พอร์ตทางด้านโรงแรมขยายตัวอีกครั้ง เมื่อมีคนรู้จักเสนอที่ดินจำนวน 10 ไร่บนถนนสุขุมวิท ซอย 2 ให้เช่า ซึ่งต่อมาในปี 2540 ทำเลตรงนี้ก็ถูกพัฒนาจนเป็นอาคารเพลินจิต เซ็นเตอร์ และโรงแรมเจ.ดับบลิว.แมริออท อันเป็นขุมทรัพย์แห่งที่สองของอัมรินทร์ พลาซ่า

อีกครั้งที่อัมรินทร์ พลาซ่า ยืนยันจะใช้เชนโรงแรมเข้ามาบริหารเพื่อใช้ประโยชน์จากประสบการณ์และความเป็นมืออาชีพของระบบบริหารของต่างประเทศ อีกทั้งยังได้เครือข่ายลูกค้าของเชนที่มีอยู่มากมายทั่วโลกมาเป็นแขกของโรงแรม และยังได้เรียนรู้ know-how จากมืออาชีพเหล่านี้ด้วย

สำหรับเหตุผลที่โรงแรมแห่งใหม่นี้เป็นคนละเชนกับโรงแรมแห่งแรก วิฑูรย์อธิบายถึงความคิดแยบยลของกลุ่มว่องกุศลกิจว่า "ตามหัวเมืองไม่ควรมีโรงแรมเชนเดียวกันจะได้ไม่ต้องแข่งกันเอง และยังจะได้เครือข่ายลูกค้าของทั้งสองเชนมาเป็นฐานลูกค้าเรา"

ยุคแห่งการเรียนรู้หลังวิกฤติ

วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ทำให้หลายบริษัทล่มสลาย โดยเฉพาะในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากเป็นโครงการที่ใช้เเงินมากซึ่งส่วนใหญ่กู้ยืมจากต่างประเทศ แต่สำหรับพี่น้องว่องกุศลกิจ นี่คือช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้

"โชคดีที่เราได้แบรนด์ดีทั้ง 2 โรงแรม เราจึงสามารถขายเป็นดอลลาร์ได้ทันที ซึ่งในกรุงเทพฯ มีอยู่ไม่กี่โรงแรมที่ทำได้ นอกจากจะไม่ต้องขาดทุน พอเราเสนอราคาเป็นดอลลาร์ปุ๊บ จากค่าห้อง 3-5 พันบาท เราเสนอราคา 120-200 เหรียญ เท่าเดิมก็ได้กำไรแล้ว ถ้าเราไม่ได้เสนอราคาเป็นดอลลาร์ ก็คงไม่ก้าวหน้ามาถึงขนาดนี้"

วิฑูรย์อธิบายถึงความโชคดีบนความโชคร้ายที่กิจการโรงแรมทั้ง 2 แห่งไม่ต้องขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งบทเรียนครั้งนี้ทำให้ยิ่งเชื่อมั่นว่า การใช้เชนระดับโลกเข้ามาบริหารโรงแรม ในเครือเป็นแนวทางที่ถูกแล้ว

ขณะที่ปัญหาเงินกู้ต่างประเทศที่ทำให้ธุรกิจหลายรายบาดเจ็บสาหัส หรือล้มตายไปอัมรินทร์ พลาซ่า ก็แก้ไขด้วยการขายหุ้นบุริมสิทธิในสัดส่วน 37% ให้กับ WREP Thailand Holdings กองทุนอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มทุนจากสหรัฐอเมริกาและสิงคโปร์ (ปัจจุบันผู้ถือหุ้น เดิมซื้อหุ้นส่วนนี้คืนหมดแล้ว)

สำหรับ Key Success ที่ทำให้อัมรินทร์ พลาซ่า ผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้มาได้โดยบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยต่างจากธุรกิจครอบครัวอื่น นั่นคือ การตัดสินใจเด็ดขาดที่จะขายทิ้งทรัพย์สินที่สร้างรายได้ไม่สูงในยามที่ยังพอมีทางเลือก และสินทรัพย์ยังคงมีมูลค่า

ก่อนเกิดวิกฤติ อัมรินทร์ พลาซ่า เหมือน "เสืออ้วน" มีโครงการหลายหลากในมือ ทั้งอาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า โรงแรม คอนโดมิเนียม บ้านพักอาศัย และที่ดินเปล่า

แต่พอถึงช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ อัมรินทร์ พลาซ่า ก็ปรับตัวด้วยการขายทิ้งบางโครงการออกไป เช่น อาคารแกรนด์ อัมรินทร์ บนถนน เพชรบุรี (ปัจจุบันคือตึกธนภูมิ) เพราะทำเลไม่ดีจึงขายพื้นที่เช่าได้ไม่ดี คอนโดมิเนียมพหลโยธินเพลส ในซอยพหลโยธิน 14 ก็ถูกตีราคาชำระหนี้ในช่วงนี้ เป็นต้น

ขณะเดียวกันพอร์ตของกงสีเองก็ถูกลดขนาดลง ทั้งบริษัทเงินทุนยูไนเต็ดที่ถูกปิดตัว และหลักทรัพย์ยูไนเต็ดและบริษัทประกันภัยที่ถูกขายให้บริษัทต่างชาติ

ท้ายสุด อีกบทเรียนที่พวกเขาได้เรียนรู้ร่วมกันก็คือ แนวคิด "Focus"

"ถ้าเน้น diversify มากไปมันก็พาให้เกิดปัญหา กลายเป็นทิ้งจุดแข็งและเข้าไปสู่จุดอ่อน ดังนั้นเราคงต้องยึดหลัก focus เอาไว้ด้วย เพื่อที่เราจะได้ไม่สะเปะสะปะ" ชนินท์ ว่องกุศลกิจ น้องชายคนเล็กที่ปัจจุบันดูแลกิจการบ้านปู และเคยดูแลธุรกิจการเงินของครอบครัว "ว่องกุศลกิจ" กล่าว

ส่วนวิฑูรย์เองก็เห็นคล้ายกัน "เราพบแล้วว่า core business ของเราคือ ถ่านหิน น้ำตาล และโรงแรม เราก็คงจะพยายามรักษาตรงนี้เอาไว้ คงยังไม่ขยายไปธุรกิจอื่น"

มุ่งสู่จุดแข็ง...สู่ยุคเติบโต

"เราจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาธุรกิจโรงแรม" วิฑูรย์บอกถึงจุดโฟกัสใหม่ของกลุ่ม หลังจากที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ย้ายหุ้นอัมรินทร์ พลาซ่า ไปอยู่ในหมวดธุรกิจโรงแรมและบริการ ท่องเที่ยว เนื่องจากรายได้หลักกว่า 70% มาจากธุรกิจโรงแรม ในปี 2547

"พอเราตั้งใจจะมุ่งเน้นธุรกิจโรงแรม ก็คิดกันว่า เมื่อ flagship ในพอร์ตทางด้านโรงแรม ของเราคือ โรงแรมเอราวัณฯ เราก็เลยใช้ชื่อนี้ แล้วก็เปลี่ยนชื่อบริษัทย่อยให้ขึ้นต้นด้วยเอราวัณ ทั้งหมด คนจะได้เข้าใจจุดยืนใหม่ของพวกเรา" วิฑูรย์เล่าที่มาของการเปลี่ยนชื่อและสัญลักษณ์ กลางปี 2548

จากแบบ 56-1 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2548 เขียนเอาไว้ว่า "บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการลงทุนพัฒนาและดำเนินธุรกิจโรงแรม ที่เหมาะกับทำเลและที่ตั้งและกลุ่มเป้าหมาย เป็นธุรกิจหลัก"

สำหรับอาคารอัมรินทร์ พลาซ่า และเพลินจิต เซ็นเตอร์ ที่ยังไปได้ดี รวมทั้ง "เอราวัณ แบงค็อก" ห้างพรีเมียมที่เปิดตัวเมื่อปี 2548 จะยังคงรักษาไว้ ส่วนโครงการใหม่นอกจากโรงแรม จะถูกพับไป เช่น ที่ดินแถวปากเกร็ดที่ซื้อไว้เพื่อสร้างอาคารถูกขายไปเมื่อต้นปี 2549 และอพาร์ตเมนต์ย่านราชดำริก็จะเปลี่ยนเป็นโรงแรมสี่ดาว "คอร์ทยาร์ด โดย แมริออท" แล้วเสร็จในปี 2550

สิ้นปี 2548 พอร์ตของเอราวัณ ยังมี "เรเนซองส์ เกาะสมุย รีสอร์ท แอนด์ สปา" รีสอร์ท ห้าดาวจากเชนแมริออท เพิ่มเข้ามาอีก 1 แห่ง โดยโรงแรมแห่งล่าสุดนี้ถือเป็นแห่งแรกของกลุ่มที่อยู่นอกกรุงเทพฯ และจับกลุ่มเป้าหมายใหม่คือนักท่องเที่ยวเป็นหลัก

"บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2551 เราจะเป็นหลักทรัพย์ที่สะท้อนภาพธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวในประเทศไทย" กษมา บุณยคุปต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร "ดิ เอราวัณ กรุ๊ป" กล่าวในวันแถลงแผนเปิดโรงแรมให้ครบ 12 แห่งในปี 2551

ทั้งนี้เพื่อกระจายความเสี่ยง เอราวัณฯ ใช้กลยุทธ์กระจายการลงทุนในฐานลูกค้าให้มีความหลากหลาย ณ ปัจจุบันที่ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวระดับบน เพื่อขยาย เข้าสู่ตลาดระดับกลาง เอราวัณฯ ดึงแบรนด์ "Ibis" ของกลุ่มแอคคอร์มาบริหารโรงแรมราคาประหยัดที่กำลังจะเปิด 6 แห่งในปี 2551

"เรามองว่า จีน อินเดีย เศรษฐกิจเขาดีมาก เริ่มเที่ยวมากขึ้น ดังนั้น นักท่องเที่ยวระดับกลางน่าจะโตมาก ขณะที่โรงแรมราคาประหยัดในเมืองไทยก็ยังมีน้อย" วิฑูรย์บอกสาเหตุ แห่งการรุกอีกตลาด

Ibis เป็นแบรนด์โรงแรมราคาประหยัดที่คนรู้จักมากที่สุดในโลก มีกว่า 720 แห่งทั่วโลก และขยายตัวอย่างสูงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะจีน เกาหลี อินเดีย ส่วนประเทศไทย ก็มีเข้ามาแล้วถึง 2 แห่ง บนถนนราชปรารภ และในซอยรามคำแหง 15

การกระจายความเสี่ยงด้านภูมิศาสตร์ โรงแรมใหม่ทั้ง 9 แห่งของเอราวัณฯ จะครอบคลุม ทั้ง 6 แหล่งท่องเที่ยวหลัก ได้แก่ กรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต เกาะสมุย เชียงใหม่ และกระบี่

จาก 900 กว่าห้องในปัจจุบัน จำนวนห้องในพอร์ตของเอราวัณจะพุ่งสูงกว่า 3,000 ห้อง ภายในปี 2551 และถ้าทุกอย่างเป็นตามแผนไม่เกิน 4-5 ปี เราคงได้เห็นเอราวัณกลายเป็น Regional Player เฉกเช่นเดียวกับอีก 2 กลุ่มธุรกิจหลักของตระกูลว่องกุศลกิจ สมดังที่วิฑูรย์ วาดหวังเอาไว้   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us