Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2549








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2549
การเมืองว่าด้วยน้ำมันและก๊าซของรัสเซีย             
 


   
search resources

Oil and gas
Rosneft




รัสเซียกำลังใช้ทรัพยากรพลังงานที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือของตน เป็นเครื่องมือฟื้นคืนอำนาจในการเมืองระหว่างประเทศที่ได้สูญเสียไปเมื่อสหภาพโซเวียตล่ม

Sergey Bogdanchikov ผู้บริหาร Rosneft รัฐวิสาหกิจน้ำมันยักษ์ใหญ่ของรัสเซีย พยายามจะบอกต่อนักลงทุนว่า Rosneft เป็นบริษัทที่ทันสมัยและเชื่อถือได้ มีการบริหารจัดการที่ยอดเยี่ยมและมีศักยภาพในการทำกำไรอย่างล้นเหลือ เพื่อหวังจะชักชวนนักลงทุนให้มาลงทุนในหุ้นของ Rosneft ซึ่งกำลังจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นมอสโกและลอนดอนในปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดย Rosneft หวังจะระดมทุนให้ได้ 11,700 ล้านดอลลาร์ อันจะทำให้มูลค่าของ Rosneft เพิ่มขึ้นเป็น 8 หมื่นล้านดอลลาร์ทันที

Bogdanchikov พยายามชี้ต่อไปว่า Rosneft มีแหล่งน้ำมันสำรองอย่างมหาศาล และมีต้นทุนต่ำเมื่อเทียบกับมาตรฐานระหว่างประเทศ นอกจากนี้การที่ Rosneft จะยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งมีรัฐบาลรัสเซียถือหุ้นใหญ่ต่อไป แม้หลังจากการขายหุ้นเพิ่มทุนครั้งแรกในตลาดหลักทรัพย์ ก็เป็นหลักประกันว่า Rosneft จะยังคงได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นพิเศษในรัสเซียต่อไปอีก

ผู้บริหาร Rosneft ยืนยันว่า บริษัทเล่นตามกฎของตะวันตก และมีนายธนาคารชาวยุโรปผู้คร่ำหวอดคนหนึ่งนั่งอยู่ในคณะกรรมการบริหาร รวมทั้งใช้มาตรฐานบัญชีของสหรัฐฯ ส่วนเป้าหมายของ Rosneft ที่ Bogdanchikov ให้สัญญาต่อนักลงทุนคือ "จะสร้างมาตรฐานใหม่ให้แก่บรรษัทภิบาลในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซของรัสเซีย"

ไม่รู้ว่า Mikhail Khodorkovsky อดีตมหาเศรษฐีรัสเซียเจ้าของบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ Yukos ซึ่งตอนนี้ต้องถูกขังคุกอยู่ในไซบีเรีย จะรู้สึกอย่างไรต่อถ้อยคำของผู้บริหาร Rosneft ซึ่งผงาดขึ้นเป็นรัฐวิสาหกิจน้ำมันยักษ์ใหญ่ของรัสเซีย บนซากปรักหักพังของ Yukos ซึ่งถูกรัฐบาลรัสเซียทำลายย่อยยับในปี 2004 ด้วยการตั้งข้อหา ฉ้อโกงต่อผู้บริหาร และเก็บภาษีย้อน หลังจำนวนมหาศาลที่มากเสียยิ่งกว่ารายได้ของบริษัท

บริษัทผลิตน้ำมันซึ่งเป็นทรัพย์สินสำคัญของ Yukos ต้องถูกรัฐบาลยึดและนำออกขายทอดตลาด และบริษัทการเงินที่ซื้อไปนั้น ต่อมา ปรากฏว่าเป็นเพียงบริษัทที่ตั้งขึ้นบังหน้า และได้ขายทรัพย์สินของ Yukos ที่ซื้อมานั้นต่อให้แก่ Rosneft ทำให้ทรัพย์สินทั้งหมดที่ทางการ รัสเซียยึดมาจาก Yukos ขณะนี้ได้กลายไปเป็นของ Rosneft โดยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 70 ของทรัพย์สินด้านการผลิตน้ำมันและแหล่งสำรองน้ำมันทั้งหมดของ Rosneft

แม้แต่ในหนังสือชี้ชวนนักลงทุนสำหรับการเสนอขายหุ้นครั้งแรกต่อสาธารณชน (IPO) ของ Rosneft ยังบันทึกรายการทรัพย์สินมูลค่ามากกว่า 47,000 ล้านดอลลาร์ ที่ยังคงมีคดีต่อสู้ทางกฎหมายคาราคาซังอยู่กับ Yukos

นักวิเคราะห์จาก F&C Asset Management ของอังกฤษชี้ว่า ระบบกฎหมายของรัสเซียไม่ใช่ระบบที่เชื่อถือได้ ซึ่งมีผลกระทบต่อความปลอดภัยของการลงทุนในรัสเซีย และเตือนให้นักลงทุน "ก้าวย่างอย่างระมัดระวัง" ก่อนที่จะซื้อหุ้นของ Rosneft

ช่องว่างระหว่างคำพูดที่สวยหรูกับการกระทำที่สร้างปัญหาของรัสเซีย คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความไม่แน่ใจทั้งในยุโรป สหรัฐฯ และเอเชีย เกี่ยวกับนโยบายพลังงานของรัสเซีย ในขณะที่โลกกำลังวิตกเพิ่มขึ้นกับเสถียรภาพของพลังงานในอนาคต

รัสเซียสูญเสียอิทธิพลอย่างมากในเวทีโลกเมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายเมื่อ 15 ปีก่อน แต่หลังจากสามารถพลิกฟื้นการผลิตที่ตกต่ำได้สำเร็จในช่วงต้นทศวรรษ 1990 รัสเซียก็ได้กลับมาผงาดอีกครั้งในฐานะมหาอำนาจด้านพลังงาน

ปีที่แล้ว รัสเซียกลายเป็นชาติผู้ผลิต น้ำมันรายใหญ่อันดับสองของโลกรองจากซาอุดีอาระเบีย และเป็นผู้นำอันดับหนึ่งของโลกในการมีแหล่งสำรองก๊าซที่พิสูจน์แล้ว โดยมีแหล่งสำรองก๊าซมากกว่าอิหร่านที่รั้งอันดับสองถึงเกือบสองเท่า

ยุโรปต้องพึ่งพลังงานจากรัสเซียมานาน ขณะที่ความต้องการด้านพลังงานก็ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และหลังจากเหตุวินาศกรรมช็อกโลก "9/11" ทำให้สหรัฐฯ ก็เริ่มมองหาแหล่งพลังงานอื่นๆ ที่นอกเหนือจากตะวันออกกลาง และขณะนี้จีนยังลงมาร่วมเล่นเกมแย่งน้ำมันและก๊าซจากรัสเซียด้วย

แต่การหวังจะพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย มีราคาทางการเมืองที่จะต้องจ่าย ประธานาธิบดี Vladimir Putin ของรัสเซีย ไม่เคยปกปิดเป้าหมายสูงสุดของเขา ดังที่เขาได้กล่าวต่อคณะที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของเขาเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วว่า รัสเซีย "จะต้องตั้งเป้าที่จะเป็นผู้นำโลกในด้านพลังงาน"

สำหรับรัสเซีย ความมั่นคงด้านพลังงานมีความหมายเท่ากับความมั่นคงแห่งชาติของรัสเซีย และไม่รีรอที่จะใช้น้ำมันและก๊าซเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของตน ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดที่เพิ่งเกิดขึ้นคือ เมื่อ Gazprom รัฐวิสาหกิจก๊าซยักษ์ใหญ่ของรัสเซีย ได้ตัดการส่งก๊าซไปยูเครนเป็นเวลาหลายวันเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

โดยรัสเซียอ้างว่า เป็นเพราะความขัดแย้งเรื่องการขอขึ้นราคาก๊าซกับยูเครน แต่ยูเครนกับอีกหลายชาติกลับเห็นว่า นี่คือการใช้ก๊าซเป็นเครื่องมือทางการเมืองแบบดิบๆ ในการลงโทษยูเครน ที่บังอาจเอาใจออกห่างรัสเซียไปเข้ากับตะวันตก อย่างเช่นการเข้าเป็นสมาชิกองค์การ NATO

รัฐบาลรัสเซียยังพูดจาแข็งกร้าวกับชาติยุโรป โดยขู่ว่าจะหันไปขายพลังงานให้จีนและสหรัฐฯ แทน ถ้าหากยุโรปไม่ยอมทำตามความต้องการของรัสเซีย โดยเปิดตลาดยุโรปให้รัสเซียเข้าถึงมากกว่านี้ ซึ่งรวมถึงการเข้าซื้อธุรกิจโรงกลั่นและจัดจำหน่ายน้ำมัน

เมื่อเร็วๆ นี้รัฐบาลรัสเซียได้ห้าม William Browder นักลงทุนตะวันตกชั้นนำในรัสเซีย เดินทางกลับเข้ารัสเซีย Browder เป็นนักวิจารณ์ตัวยงเกี่ยวบรรษัทภิบาลของรัฐวิสาหกิจรัสเซีย ก่อนหน้านี้ Browder ก็ถูกปฏิเสธการออกวีซ่ามาแล้วในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วโดยไม่มีการชี้แจงเหตุผล

เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่รัสเซียปฏิเสธที่จะเข้าร่วมประชุมที่กรุง Tbilisi ของจอร์เจีย ซึ่งจัดโดย International Energy Agency (IEA) เพื่อหารือกันเรื่องการกระจาย ความหลากหลายของแหล่งพลังงาน แถมยังกดดันให้ผู้แทนจากชาติยุโรปตะวันตกที่เข้าร่วมประชุม ห้ามพูดอะไรในที่ประชุมที่กระทบกระเทือนถึงรัสเซีย โดยไม่สนใจคำเตือนก่อนหน้านั้นจากสหรัฐฯ

โดยในเดือนพฤษภาคม รองประธานาธิบดี Dick Cheney แห่งสหรัฐฯ ได้เตือนรัสเซียในการกล่าวสุนทรพจน์ที่กรุง Vilnius ของลิทัวเนียว่า อย่าใช้ทรัพยากรพลังงานของรัสเซียมาเป็นเครื่องมือ "ข่มขู่และแบล็กเมล์" ซึ่งได้สร้างความไม่พอใจไปทั่วรัสเซีย

นักวิเคราะห์จาก Heritage Foundation ในสหรัฐฯ กล่าวว่า รัสเซียเคยมีโอกาสที่ดีมากในช่วงปี 2001-2002 ที่จะกลายเป็นผู้ส่งออกพลังงานสำคัญรายใหม่ให้แก่สหรัฐฯ แต่รัสเซีย ก็พลาดโอกาสนั้น ด้วยการไม่ยอมปฏิบัติอย่างผู้ที่เจริญแล้ว

สหภาพยุโรป (EU) นั้นต้องพึ่งพาพลังงานทั้งก๊าซและน้ำมันจากรัสเซียถึงหนึ่งในสี่ของพลังงานทั้งหมดที่ยุโรปใช้และเมื่อ Gazprom ตัดการส่งก๊าซให้ยูเครนเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา หลายชาติสมาชิก EU ก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย

ความหวาดระแวงคลางแคลงใจของยุโรปที่มีต่อรัสเซียเพิ่มขึ้นอีก เมื่อรัฐบาลรัสเซียตอกย้ำในอำนาจของตนที่มีอยู่เหนือทรัพยากรพลังงาน เห็นได้ชัดในกรณีของ Rosneft นั่นเอง

รัฐวิสาหกิจแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 1993 โดยเป็น holding company ที่ไม่มีความสำคัญอะไร คอยดูแลบ่อน้ำมันเล็กๆ ไม่กี่แห่ง แต่เมื่อได้ครอบครองทรัพย์สินที่เคยเป็นของ Yukos ซึ่ง Rosneft ซื้อมาจากบริษัทที่ไม่มีใครรู้จัก ซึ่งมีที่อยู่เป็นร้านกาแฟแห่งหนึ่งในเมือง Tver รัฐวิสาหกิจแห่งนี้ก็ได้กลายเป็นบริษัทน้ำมันที่ใหญ่เป็นอันดับสามของรัสเซีย ที่ผลิตน้ำมันวันละ 1.5 ล้านบาร์เรล โดยมี Bogdanchikov ผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมน้ำมันเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ และมีประธานคณะกรรมการบริหารคือ Igor Sechin ที่เป็นถึงรองปลัดทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซีย

ส่วน Gazprom เป็นรัฐวิสาหกิจที่ควบคุมเกือบร้อยละ 90 ของการผลิตก๊าซทั้งหมดของรัสเซีย และมีความสัมพันธ์กับรัฐบาลรัสเซียไม่ผิดกับ Rosneft โดยประธานบอร์ดคือ Dmitri Medvedev รองนายกรัฐมนตรีคนที่หนึ่งของรัสเซีย ซึ่งเชื่อกันว่าจะเป็นทายาททางการเมืองของ Putin ในอนาคต

หลังจากเผชิญหน้ากับยูเครนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ขณะนี้ Gazprom กำลังพยายามจะเข้าซื้อบริษัทจัดจำหน่ายและทำตลาดก๊าซในประเทศอื่นๆ และเพิ่งจะซื้อ Pennine Natural Gas ของอังกฤษไปหมาดๆ

ภาคธุรกิจที่รัฐบาลรัสเซียกำลังเล็งที่จะเข้าควบคุมต่อไป อาจเป็นธุรกิจท่อส่งก๊าซและน้ำมัน โดยขณะนี้เอกสารของรัฐบาลรัสเซียชี้ว่า กำลังมีความพยายามในรัฐบาลรัสเซียที่จะจัดตั้งรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ เพื่อผูกขาดธุรกิจท่อส่งน้ำมันและก๊าซ โดยจะจัดตั้งขึ้นจากฐานรัฐวิสาหกิจท่อส่งน้ำมันและก๊าซที่มีอยู่เดิมของรัสเซียนั่นคือ Transneft

ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Viktor Khristenko รัฐมนตรีพลังงานและอุตสาหกรรมของรัสเซียได้เสนอรายงานต่อ Putin แนะนำให้ Transneft ซื้อหุ้นของรัสเซียที่มีอยู่ใน Caspian Pepeline Consortium (CPC) บริษัทซึ่งมีรัฐบาลของคาซัคสถาน และโอมานถือหุ้นอยู่บางส่วน ซึ่งดำเนินธุรกิจท่อส่งน้ำมันความยาว 1,500 กิโลเมตร จากตะวันตกของคาซัคสถานไปจนถึงท่าเรือ Novorossiysk ในทะเลดำของรัสเซีย และ Putin ก็อนุมัติ

แผนการถ่ายโอนความเป็นเจ้าของดังกล่าวอาจทำให้ผู้ถือหุ้นอื่นๆ ใน CPC ไม่พอใจ เนื่องจากเห็นว่า Transneft เป็นคู่แข่ง

แต่การใช้พลังงานเป็นเครื่องมือทางการเมืองไม่ใช่มีแต่ข้อดีเสมอไป รัสเซียต้องเสียเงินอุดหนุนการส่งออกน้ำมันโดยทางรถไฟจากบ่อน้ำมัน Vankor ของ Rosneft ไปยังจีน ทั้งๆ ที่สามารถจะขายน้ำมันนั้นให้แก่ยุโรปได้โดยที่ไม่ต้องเสียเงินอุดหนุน เนื่องจากค่าขนส่งไปยังจีนที่สูงมาก

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ด้านพลังงานระหว่างยุโรปกับรัสเซียมีความซับซ้อนและพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันอยู่มาก

ในเดือนมีนาคม รายงานของคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ซึ่งเปรียบเหมือนฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรป เรียกร้อง ให้ชาติสมาชิก EU กำหนดนโยบายพลังงานร่วมกันในการประสานความสัมพันธ์ด้านพลังงานกับรัสเซียและ OPEC แต่ชาติสมาชิกหลายชาติกลับรีบคัดค้าน โดยต้องการจะกำหนดนโยบายพลังงานของตนเอง

เยอรมนีซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่สุดของรัสเซียในยุโรปตะวันตก ดูเหมือนจะเต็มใจที่จะพึ่งพาทรัพยากรพลังงานของรัสเซียมากขึ้นโดยไม่วิตกอะไร Gerhard Schroder อดีตนายกรัฐมนตรีเยอรมนี ขณะนี้กินตำแหน่งหัวหน้าคณะกรรมการบริหารกิจการร่วมทุนระหว่าง Gazprom กับบริษัทเยอรมัน 2 แห่ง ซึ่งกำลังสร้างท่อส่งก๊าซใต้ทะเลที่เชื่อมระหว่างรัสเซียกับเยอรมนี

นักวิเคราะห์จาก German Institute for International and Security Affairs ในเยอรมนีชี้ว่า เยอรมนีจะพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียเพิ่มขึ้น เนื่องจากเชื่อว่า รัสเซียเป็นแหล่งพลังงานทางเลือกที่ดีที่สุดจากตะวันออกกลาง เพราะหากเกิดอะไรขึ้นในซาอุดีอาระเบีย เยอรมนี ไม่มีอิทธิพลพอที่จะทำอะไรได้ แต่รัสเซียให้ความร่วมมือกับเยอรมนีมาด้วยดี และยุโรปมีอิทธิพลต่อรัสเซียมากพอสมควร

หลายชาติในยุโรปได้ลงนามซื้อก๊าซกับรัสเซียไปจนถึงปี 2015 และความต้องการพลังงานในยุโรปก็คาดว่า จะยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่รัสเซียก็ต้องการเงินทุนจากยุโรป เพื่อนำไปใช้ลงทุนเพิ่มการผลิตน้ำมันและก๊าซต่อไป IEA คาดว่ารัสเซียต้องการการลงทุนมากกว่า 300,000 ล้านดอลลาร์ ในการผลิตก๊าซนับตั้งแต่วันนี้จนถึงปี 2030

ส่วนบริษัทน้ำมัน BP ของอังกฤษก็ได้ลงทุนไปแล้ว 8 พันล้านดอลลาร์ ในกิจการร่วมทุนในรัสเซีย และผู้บริหาร BP ชี้ว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รัสเซียได้กลายเป็นหนึ่งในผู้ป้อนพลังงานที่มั่นคงให้แก่ยุโรปและส่วนอื่นๆ ของโลก

แม้แต่ Browder นักธุรกิจยุโรปในรัสเซียที่ถูกรัฐบาลรัสเซียห้ามกลับเข้าไปในรัสเซียนั้น ก็ยังไม่คิดที่จะทิ้งรัสเซีย และเขาเห็นว่า Gazprom เป็นหนึ่งในบริษัทที่เป็นผลงานของเขา ที่ถูกเขาดำเนินการกดดันจนต้องยอมปรับปรุงมาตรฐานการบริหารธุรกิจ

แต่ประเทศที่สั่งขังคุกและปฏิเสธการออกวีซ่าให้แก่นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดถึง 2 คนอย่างรัสเซีย ก็ยังอาจถูกมองว่าไร้ความน่าเชื่อถือ ไม่ว่าคำสัญญาที่ Rosneft หรือ Putin ให้ไว้จะสวยหรูเพียงใด

เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปลและเรียบเรียง
จากไทม์ 10 กรกฎาคม 2549   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us