|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ สิงหาคม 2549
|
|
กลับมาเมืองไทยซัมเมอร์นี้วางแผนไว้แล้วว่าจะขับรถลงไปเที่ยวใต้ให้ไกลถึงภูเก็ต เพราะได้ยินมานานว่า ท้องทะเลฝั่งอันดามันของบ้านเรานั้นสวยมาก ว่าไปแล้วจะเรียกว่าเที่ยวซะทีเดียวก็ไม่ได้ เพราะต้องมาช่วยสามีทำงานด้วย โดยรับหน้าที่เป็นสารถีและตากล้อง มีจุดมุ่งหมายหลักที่พื้นที่ประสบภัยสึนามิบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาหลัก อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ใช้เวลาทั้งสิ้น 12 คืน 13 วัน
วันแรก เริ่มต้นเดินทางจากกรุงเทพฯ มุ่งตรงสู่ อ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร เพื่อหยุดพักเป็นเวลา 1 คืน ที่เลือกหยุดที่บริเวณปากน้ำทุ่งตะโก เพราะจะได้เหยียดแข้งเหยียดขาบ้างหลังจากใช้เวลากว่า 5 ชั่วโมงบนถนนและยิ่งกว่านั้นทราบมาว่าที่นั่นมีรีสอร์ตเปิดใหม่และยังอยู่ในช่วง Soft Opening และ Low Season ราคาจึงยังพอสู้ไหว
รีสอร์ตนี้มีชื่อว่า "Tusita" หรือ "ดุสิตา" ตามชื่อของชั้นสวรรค์ ตั้งอยู่บริเวณปากน้ำทุ่งตะโก ซึ่งหาไม่ยากมีป้ายบอกไปตลอดทาง มีห้องทั้งหมด 4 แบบคือ ห้อง The Tusita Residence 1 หลัง ห้อง Wimantip 1 ห้อง ห้อง Wiman 5 ห้อง และห้อง Nimman 10 ห้อง การเรียกชื่อแต่ละห้องช่วยให้นึกถึงสวรรค์วิมาน หรือพาราไดซ์ ตามบรรยากาศของสถานที่และการตกแต่งภายในที่สะท้อนการใช้ชีวิตแนวภารตะที่หรูหรา ร้อนแรง แต่ไม่ถึงกับจัดจ้านมากเกินไป เพื่อต้องการให้ผู้ที่มาพักมีความรู้สึกว่าเหมือนเป็นราชาที่อยู่ในสรวงสวรรค์ ห่างไกลจากความชุลมุนวุ่นวายของโลกภายนอก และแต่ละห้องจะมีระเบียงเอาต์ดอร์ให้นั่งนอนเล่นยามอาทิตย์สนธยา เพื่อสำเหนียกเสียงธรรมชาติที่ห่างหายมานาน นอกจากนี้สระว่ายน้ำของที่นี่ใช้ระบบน้ำเกลือ ซึ่งถือเป็นระบบธรรมชาติที่ไม่เจือสารเคมีที่ทำลายสิ่งแวดล้อม
สำหรับ The Tusita Residence นั้นเหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ประมาณ 6 คน เพราะเป็นเรือนไม้ 1 หลังที่มี 2 ห้องนอน ห้องน้ำในตัว 1 ห้อง และห้องน้ำแบบ open-air ที่มีอ่างอาบน้ำและห้องอบไอน้ำ อีก 1 ห้อง มีห้องใต้หลังคาที่สามารถปรับเป็นที่นอนและที่นั่งเล่นได้ มีห้องโถงสำหรับนั่งพักผ่อน ดูทีวี หรืออ่านหนังสือ และบริเวณครัวเล็กๆ รวมทั้งระเบียงส่วนตัว ห้อง Wimantip มี 1 ห้องนอนที่ประกอบด้วยมุมพักผ่อน ห้องน้ำ open-air ที่มีอ่างอาบน้ำ Jacuzzi และห้องอบไอน้ำสมุนไพร ส่วนด้านหน้า ก่อนเข้าห้องก็มีศาลาส่วนตัวที่สามารถใช้เป็นสถานที่ปาร์ตี้ส่วนตัวได้อย่างราชา
แม้ว่ารีสอร์ตนี้จะไม่ติดทะเล แต่ก็ไม่ไกล สามารถเดิน ขี่จักรยาน หรือขับรถไปริมหาด ในเวลาไม่กี่นาที และในอนาคตอันใกล้ ดุสิตาจะเปิดให้บริการในส่วนของ Pool Villa อีกจำนวน 8 หลัง และ Beach Club ที่อยู่ติดริมทะเลมีหาดทรายส่วนตัวอีกจำนวน 9 ห้อง (ข้อมูลเพิ่มเติมที่ www. tusitaresort.com)
หลังจากพักตั้งหลัก 1 คืน เพื่อลุยต่อในวันรุ่งขึ้นไปยังชายทะเลปากวีป ตำบล คึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ซึ่งอยู่ในอาณาเขตบริเวณวนอุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ อันเป็นที่ตั้งของเดอะ สโรจิน "The Sarojin" ของ Andrew & Kate Kemp สองสามีภรรยาชาวอังกฤษ ผู้หลงรักเมืองไทยและปักหลักอยู่ที่ภูเก็ตเป็นการถาวร
เดอะ สโรจิน เป็นหนึ่งในเหยื่อทะเลพิโรธ คลื่นยักษ์สึนามิ เมื่อปลายปี 2547 แรกเริ่มเดอะ สโรจิน วางแผนเปิดให้บริการในวันที่ 10 มกราคม 2548 แต่ต้องเลื่อนออกไปนานถึง 9 เดือน แม้คลื่นยักษ์จะไม่ได้คร่าชีวิตผู้คนในรีสอร์ตแห่งนี้เหมือนแห่งอื่นๆ ในบริเวณเขาหลัก เนื่องจากยังไม่ได้เปิดดำเนินการ และเป็นวันอาทิตย์ที่ไม่มีพนักงานมาทำงาน แต่พลังคลื่นได้สร้างความเสียหายให้แก่อาคารบริเวณชั้นล่างทั้งหมด ทำให้ต้องปรับปรุงใหม่ เสียทั้งเวลาและทรัพย์สิน แต่ทั้ง 2 สามีภรรยาก็ไม่ย่อท้อ พวกเขายังนึกถึงพนักงานอีกหลายสิบชีวิตที่เข้ามาร่วมงาน คนเหล่านั้นยังต้องการงานเพื่อเลี้ยงชีพต่อไป ในวันเปิดตัวเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมปีที่แล้ว จากจำนวนพนักงานกว่าสิบชีวิต เพิ่มเป็นร้อยชีวิต เนื่องจากเดอะ สโรจิน ถือเป็นที่พักแห่งแรกๆ ที่เปิดให้ดำเนินการหลังภัยในครั้งนั้น จึงมีพนักงานจากที่พักอื่นที่ยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้มาขอสมัครเข้าทำงาน ซึ่งพวกเขาก็ได้รับการต้อนรับเสมือนหนึ่งในครอบครัวเดียวกัน นอกจากนี้ชื่อหน้าห้องพักทุกห้อง ยังใช้ชื่อของพนักงานทุกคนที่อยู่ฟันฝ่าอุปสรรคร่วมกันมา ถือเป็นอนุสรณ์แห่งความไม่ท้อแท้ ไม่สิ้นหวัง และร่วมแรงร่วมใจกัน
เดอะ สโรจิน เป็นการผสมผสานงานศิลปะแบบเอเชียกับความเป็นอยู่อย่างตะวันตกที่หรูหราสะดวกสบาย แวดล้อมด้วยพืชท้องถิ่นนานาพันธุ์ให้ความรู้สึกร่มรื่น และใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น โดยมีห้องพักทั้งหมด 56 ห้อง แบ่งเป็นห้อง Garden Residence 28 ห้อง ห้อง Pool Residence 14 ห้อง และห้อง The Sarojin Suite 14 ห้อง ซึ่งจะอยู่บริเวณชั้นบนของอาคาร แต่ละห้องจะมีศาลาส่วนตัวให้ใช้เป็นที่พักผ่อน นวดตัว เล่นโยคะ หรือเป็นที่รับประทานอาหาร
ใช้เวลาพักอยู่ที่นี่เป็นเวลา 6 คืนจากโปรโมชั่นแพ็กเกจที่ซื้อกี่คืนก็จะได้แถมจำนวนคืนที่เท่ากันฟรี เหมือนอยู่ 6 คืนแต่จ่าย 3 คืน ห้องที่พักคือห้อง Garden Residence บริเวณชั้นล่าง โดยส่วนตัวแล้วต้องบอกว่าชอบการออกแบบและตกแต่งห้องมาก เป็นสไตล์ที่เรียบหรูแฝงไปด้วยเสน่ห์ของความเป็นเอเชีย
สำหรับร้านอาหาร ติดใจรสชาติ การนำเสนอ และการให้บริการที่ครัวไทย The Edge ที่อยู่ริมทะเลมากเป็นพิเศษ พ่อครัวเป็นคนไทยรุ่นใหม่ที่มีประสบการณ์ระดับนานาชาติ และมีความสร้างสรรค์เป็นตัวของตัวเอง อาหารแต่ละจานมีการผลิตและตกแต่งอย่างพิถีพิถัน แสดงถึงความตั้งใจ และใส่ใจในการปรุง ยิ่งกว่านั้น พนักงานแต่ละคนให้การบริการระดับห้าดาว และแต่ละคนมีเรื่องราวจากประสบการณ์สึนามิมาถ่ายทอดไม่ซ้ำกัน ทำให้ดินเนอร์ที่นี่ในแต่ละค่ำคืนมีความหมายมากกว่าที่ไหนๆ (ข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.sarojin.com)
จากเวลาที่พักอยู่ที่เดอะ สโรจินต้องขับรถขึ้นลงเขาทุกวัน เป็นเวลา 6 วันเต็ม ไล่เลาะตามรอยสึนามิไปเรื่อยๆ เริ่มตั้งแต่วัดย่านยาว บ้านน้ำเค็ม บางสัก บางม่วง แหลมปะการัง หาดคึกคัก หาดบางเนียง หาดเขาหลัก เรื่อยไปจนถึงภูเก็ต เป็นการเดินทางที่ค่อนข้างเครียดและหดหู่ จากภาพและเรื่องราวที่รับรู้ในความเป็นไปของพื้นที่บริเวณนี้ก่อนและหลังสึนามิ ขับผ่านร้านอาหารบนหน้าผาบริเวณเขาหลักที่เคยแวะทานเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ตอนนี้เหลือแต่กรอบกระจกที่ว่างเปล่า "Life Must Go On" ได้แต่หวังว่า คงมีใครหลายๆ คน ทั้งภาครัฐและเอกชนกลับมาช่วยกันฟื้นฟูและพัฒนาเขาหลักในเชิงอนุรักษ์ในเร็ววันนี้ ก่อนที่เม็ดเงินที่ได้รับมาจากการบริจาคจะสูญสลายหายไป เอ! หรือว่าสายไปเสียแล้ว!
ได้เวลาอำลาเขาหลัก ขับรถมุ่งตรงมาที่ทุ่งตะโกอีกครั้ง เพื่อจะผ่อนคลาย หรือ "unwind" ก่อนกลับเข้ามาผจญภัยในกรุงเทพฯ ต่อไป ตอนแรกว่าจะไม่หยุดที่หัวหิน แต่ไหนๆ ก็ต้องผ่านเข้ามากรุงเทพฯ อยู่แล้ว ก็ขอเลี้ยวเข้าหัวหินสักหน่อย เที่ยวนี้แวะพักที่ "วรบุระ รีสอร์ท แอนด์ สปา" (Wora Bura Resort & Spa) รีสอร์ตริมชายทะเลเขาตะเกียบแห่งใหม่ในหัวหินที่เปิดให้บริการมาได้เกือบปีแล้ว
ก้าวแรกสู่โถงรับรอง แว่วเสียงเพลงลาวดวงเดือน ฝีมือการบรรเลงขิมสดของนักเรียนที่มีให้ฟังตลอดทุกวัน ระหว่างรอเช็กอิน สายตาสำรวจไปรอบๆ บรรยากาศเหมือนตกอยู่ในยุคแม่พลอย ตัวละครเอกจากเรื่อง "สี่แผ่นดิน" บทประพันธ์เอกของท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช รู้สึกเคลิ้มไปกับภาพที่เห็นคือ รอยยิ้มของพนักงานต้อนรับสาวสวยห่มสไบสีหวาน เข้าชุดกับโจงกระเบนแบบยุคสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อให้สมกับธีมหลักของรีสอร์ตแห่งนี้ที่ว่า "คันฉ่องบริการแบบไทย ยุคสมัย ร.ศ.126"
"วรบุระ รีสอร์ท แอนด์ สปา" สร้างบนที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ความเป็นมานั้นมีอยู่ว่า ฤกษ์ชัย วรนิทัศน์ หัวหอกของบริษัทรับเหมาก่อสร้าง "วรนิทัศน์" ที่เก่าแก่มานานกว่า 20 ปี ได้รับข้อมูลการเปิดประมูลเพื่อพัฒนาที่ดินชายทะเลหัวหินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเกือบ 5 ปีก่อน จากธุรกิจก่อสร้างที่มั่นคงอยู่ตัวแล้ว ฤกษ์ชัยจึงหันมาลงทุนทางด้านธุรกิจโรงแรมดูบ้าง เขาตัดสินใจเข้ายื่นประมูลเพื่อพัฒนาที่ดินผืนนี้ โดยมีคู่แข่งที่น่ากลัวคือแสนสิริ
การบ้านของฤกษ์ชัยในตอนนั้นคือจะเสนออะไรที่เข้าตากรรมการ ให้ชนะใจกรรมการ เมื่อเขาค้นคว้าหาข้อมูล เขาคิดว่าอะไรที่เกี่ยวข้องกับรัชกาลที่ 5 น่าจะเป็นจุดเด่นที่ทำให้กรรมการสนใจได้ เนื่องจากชื่อของมหาวิทยาลัยก็บอกแล้วว่าคือท่าน ยิ่งกว่านั้นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังอยู่บนที่ดินพระราชทาน จึงได้เสนอธีมของรีสอร์ตแห่งนี้ให้เป็นแบบสถาปัตยกรรมในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่เป็นการผสมผสานระหว่างพระที่นั่งวิมานเมฆ พระที่นั่งมฤคทายวัน และพระราชวังบ้านปืน ซึ่งเขาคิดว่าน่าจะเป็นส่วนที่ทำให้ชนะคู่แข่งในการประมูลเพื่อพัฒนาที่ดินผืนนี้
สำหรับการตกแต่งภายในจะมีสถาปัตยกรรมและจิตรกรรมศิลปะไทยหลายยุคสมัย และห้องพักจำนวน 77 ห้อง แบ่งเป็นห้อง Superior 48 ห้อง ห้อง Deluxe 24 ห้อง ห้อง Suite 2 ห้อง ห้อง Garden Villa 2 ห้อง และ Beach Front Villa อีก 1 ห้อง โดยแต่ละห้องจัดให้เป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของจังหวัดในประเทศไทย 76 จังหวัด โดยใช้ชื่อตามจังหวัดต่างๆ และอีก 1 ห้องใช้ชื่อว่า "หัวหิน" นอกจากนี้ภายในแต่ละห้องจะมีผลิตภัณฑ์โอทอปแต่ละจังหวัดมาตกแต่งไว้ในห้องพักอีกด้วย
พักอยู่ที่นี่ 3 คืน อยากหยุดเวลาไว้ไม่อยากกลับสู่กรุงเทพฯ เมืองแห่งความวุ่นวาย ได้แต่ฝันว่า สักวันหนึ่งจะกลับมาเริ่มต้นการเดินทางแบบนี้อีกครั้ง
|
|
|
|
|