Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2549








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2549
จุดเปลี่ยน "ธุรกิจครอบครัว"             
โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
 

   
related stories

4 ทศวรรษธุรกิจครอบครัว การบุกเบิก การสืบทอด และการเปลี่ยนแปลง
หมายเหตุ "ธุรกิจครอบครัว"

   
search resources

Commercial and business




ต้องยอมรับว่าโครงสร้างของธุรกิจไทย มีจุดเริ่มต้นและรากฐานที่ฝังลึกอยู่กับความเป็น "ธุรกิจครอบครัว" ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ หรือเล็ก จะเป็นภาคการเกษตร ภาคบริการ อย่างสถาบันการเงิน หรือภาคอุตสาหกรรม ตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบ ไปจนถึงโรงงานประกอบ

แต่ธุรกิจครอบครัว ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของสังคมธุรกิจไทยก็มีวัฏจักร

"สงครามโลกครั้งที่สองทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง โลกทุนนิยมภายใต้การชี้นิ้วสั่งการของสหรัฐอเมริกาฮึกเหิมลำพองขึ้นอย่างมาก อิทธิพลของสหรัฐอเมริการุกรานเข้าครอบงำการเมือง และเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ อย่างบ้าคลั่ง

และด้วยการอนุเคราะห์เกื้อกูลอย่างดีจากอเมริกาที่มีต่องานรัฐประหาร ปี 2490 ของจอมพล ป.พิบูลสงคราม กับกลุ่มจอมพลผิน ชุณหะวัณ ได้ทำให้ระบบทุนนิยมในประเทศไทย ขยายตัวออกไปอีกก้าวหนึ่ง รูปแบบการผลิตสมัยใหม่ มิใช่เป็นเพียงหน่ออยู่ในครรภ์สังคมศักดินาเหมือนอย่างเก่าอีกต่อไป

พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน ปี 2497 ถึงจะไม่มีผลทางการปฏิบัติมากนัก ระดับการพัฒนาและการขยายตัวภาคอุตสาหกรรม อาจจะเป็นไปอย่างเชื่องช้า ขนาดของอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ที่เป็นของเอกชนยังเป็นอุตสาหกรรมขนาดย่อม รัฐยังต้องเป็นตัวนำร่องในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ กระนั้นยังนับได้ว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้มีส่วนปลุกเร้าความเป็น "นายทุนใหม่" ขึ้นมาในสังคมไทย

จอมพล ป.พิบูลสงคราม กับนโยบายชาตินิยม "ประเทศไทยเพื่อคนไทยเท่านั้น" ทำให้ขุมอำนาจเศรษฐกิจที่ก่อนหน้าปี 2497 เคยอยู่ในกำมือคนต่างชาติต้องถูกย่อยสลายลงเป็นอันมาก อุตสาหกรรมที่สำคัญๆ อย่างการส่งออกข้าว โรงสีข้าว ธนาคารพาณิชย์ กิจการเดินเรือ ประกันภัยถูกรัฐบาลเข้าแทรกแซงด้วยกลวิธีต่างๆ ผลจากการกระทำนี้ทำให้กลุ่มทุนใหม่ที่สามารถเดินตามก้นรัฐบาลได้เป็นดิบเป็นดีร่ำรวยขึ้นมาอย่างมากมาย

กลุ่มพ่อค้าคนจีนที่มีบทบาทสูงมากในช่วงนั้น ต้องมีการปรับตัวกันจ้าละหวั่น เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจครอบครัวพวกเขาต้องยินยอมหวานอมขมกลืนอยู่ใต้อำนาจราชศักดิ์ของกลุ่มอำนาจทางการเมือง ในขณะเดียวกันก็รู้จักฉกฉวยหยิบยืมบารมีของคนเหล่านั้น มาแผ่ขยายปริมณฑลธุรกิจได้อย่างแยบยลเช่นกัน

ในที่สุดเลยกลายเป็นว่านโยบายกีดกันคนจีนให้พ้นไปจากวงจรธุรกิจ กลับแปรรูปเป็นนโยบาย "คุ้มครองธุรกิจคนจีน" ให้โตวันโตคืนอย่างหน้าชื่นตาบาน กลุ่มทุนธนาคารซึ่งเป็นกลุ่มผูกขาดเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันล้วนเติบโตขึ้นมาในยุคนี้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกรุงเทพของตระกูลโสภณพนิช ธนาคารกสิกรไทยของตระกูลล่ำซำ สหธนาคารของตระกูลชลวิจารณ์"

(จากเรื่อง "4 ทศวรรษธุรกิจครอบครัว การบุกเบิก การสืบทอด และการเปลี่ยนแปลง" นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2531)

นิตยสารผู้จัดการฉบับดังกล่าวได้นำเสนอรายงานพิเศษเรื่อง "ธุรกิจครอบครัว" เป็นเรื่องจากปก เนื่องในวาระครบรอบ 5 ปี และกำลังก้าวขึ้นสู่ปีที่ 6

รายงานพิเศษชิ้นนี้กล่าวถึงการเกิดขึ้นและขยายตัวของธุรกิจของตระกูลต่างๆ ในประเทศไทย ครอบคลุมตั้งแต่ธุรกิจการค้า การบริการ การเงิน การธนาคาร อุตสาหกรรม และการเกษตร

"ธุรกิจครอบครัวที่บานสะพรั่งอย่างมากในยุคสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม นอกจากกิจการธนาคารพาณิชย์แล้วนั้นก็ยังมีอุตสาหกรรมน้ำตาลอีกตัวหนึ่ง มิเพียงแค่บริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลแห่งประเทศไทย (อนท.) ที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาผูกขาดในปี 2495 ส่วนภาคเอกชนเองในปี 2496 กลุ่มอัษฎาธรกับกลุ่มชินธรรมมิตรก็ก่อร่าง สร้างตัวขึ้นมากุมกลไกตลาดน้ำตาลในปี 2496

กลุ่มไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรมของตระกูลอัษฎาธร ที่มีสุรีย์ อัษฎาธร หรือ "เถ้าแก่หลิ่น" เป็นแม่ทัพนั้นตั้งโรงงานน้ำตาลทรายศรีราชา ซึ่งเป็นโรงงานเอกชนแห่งแรกในปี 2496 โรงงานแห่งนี้จะผลิตน้ำตาลทรายแดงขายส่งให้กับยี่ปั๊วต่างๆ ซึ่งปริมาณความต้องการน้ำตาลในขณะนั้นสูงมาก จึงทำให้กลุ่มไทยรุ่งเรืองสามารถหยั่งรากลึกในสนามธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว

กลุ่มชินธรรมมิตรหรือกลุ่มกว้างสุ้นหลี ครอบครัวนี้ก็ทำธุรกิจมาช้านาน เดิมทีเป็นเพียงยี่ปั๊วที่รับซื้อน้ำตาลจากกลุ่มไทยรุ่งเรืองมาขายต่อให้กับพ่อค้าเล็กๆ แต่ด้วยสายตายาวไกลของผู้นำตระกูลอย่างชวน ชินธรรมมิตร ที่มองเห็นความเป็น "เสือนอนกิน" ได้จากอุตสาหกรรมน้ำตาลจึงได้ตัดสินใจสร้างโรงงานขึ้นมาแข่งกับเถ้าแก่หลิ่นของไทยรุ่งเรือง

ทั้งไทยรุ่งเรืองและชินธรรมมิตรมาเติบใหญ่สุดขีดอีกครั้งก็ในยุคที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก้าวขึ้นมาเถลิงอำนาจ โดยที่เถ้าแก่หลิ่น หรือสุรีย์ อัษฎาธร เดินสายการเมืองด้วยการผ่านโอสถ โกสิน และบรรเจิด ชลวิจารณ์ ซึ่งเป็นคนสนิทของจอมพลสฤษดิ์

ความสัมพันธ์ของธุรกิจครอบครัวกับกลุ่มอำนาจทางการเมือง-การทหาร นับจากช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมาจึงไม่อาจ แยกขาดจากกันได้!?"

(เนื้อความอีกตอนหนึ่งของเรื่องเดียวกัน)

จากจุดเริ่มต้นในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ขยายตัวเติบใหญ่หลังเหตุการณ์ "ตุลาวิปโยค" 14 ตุลาคม 2516

"ช่วงปลายปี 2516 ถึง 2517 ระบบเศรษฐกิจสังคมไทยตกอยู่ ในห้วงการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนใน ประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก่อผลสะท้อนอย่างมาก มายต่อระบบการเมืองและสังคมไทย กลุ่มข้าราชการประจำที่ถืออาวุธได้สูญเสียสถานภาพในอำนาจการปกครองที่เคยรุ่งเรืองมาอย่างยาวนานลงระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันกับที่กลุ่มเอกชนภายนอกระบบราชการ เช่นพ่อค้า นักธุรกิจ เริ่มเข้ามามีบทบาทในการมีส่วนร่วมทางการเมืองและกำหนดค่านิยม ตลอดจนทิศทางทางสังคมมากขึ้น

การปรับเปลี่ยนดุลอำนาจทางสังคมที่ว่านี้ แม้แต่ในยุคสมัยปัจจุบันก็ยังคงทำหน้าที่ลงหลักปักฐานอยู่อย่างแน่นหนา

ด้านเศรษฐกิจกลุ่มโลกอาหรับได้รวมตัวกันประกาศขึ้นราคาน้ำมันดิบอย่างห้าวหาญ ระบบเศรษฐกิจทั่วโลกปั่นป่วนกันไปหมด

แม้แต่เศรษฐกิจไทย ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นเริ่มต้นของการไปสู่เศรษฐกิจอุตสาหกรรมเกษตร ก็หลีกหนีไม่พ้น!

ภาวะราคาเฟ้อมากกว่า 10% การเติบโตทางการผลิตในสาขาอุตสาหกรรมอยู่ในภาวะชะงักงัน และบางแห่งชะลอตัวลงมีสภาพที่ระบาดไปทั่ว เพราะอำนาจซื้อของคนในประเทศเสื่อมทรุดลง

ผู้ประกอบการธุรกิจปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของบริษัทกันสุดตัว ด้วยสาเหตุเพราะ

หนึ่ง-แกนขับเคลื่อนธุรกิจอยู่ที่คนในครอบครัว ที่มีภาระต้องรับผิดชอบในชะตากรรมของลูกหลาน เหตุนี้ความอยู่รอดของธุรกิจจึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับความอยู่รอดของลูกหลานในครอบครัวด้วย

สอง-ธุรกิจไทยในเวลานั้นอยู่ในยุคของการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศเสียมากกว่าการส่งออก เมื่ออำนาจซื้อของคนในประเทศถูกแรงกดดันจากภาวะราคาเฟ้อสูง จึงต้องปรับตัวธุรกิจให้อยู่รอดท่ามกลางสถานการณ์ตลาดที่วิกฤติ

หนทางการปรับตัวให้อยู่รอดในยุคนี้ ธุรกิจไทยมุ่งไปที่การปรับตัวด้านการบริหารองค์การและบริหารทุนกันยกใหญ่!"

การปรับตัวที่ว่า ถูกขยายความตามมาในอีกตอนหนึ่ง

"การเกิดวิกฤติน้ำมันแพงปี 2517 และการเปลี่ยนแปลงสังคมจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เรียกร้องให้กลุ่มธุรกิจครอบครัวของคนจีนโพ้นทะเลจำต้องปรับกลยุทธ์หันมาพึ่งตนเองด้านการผลิตอย่างจริงจัง และมองตลาดออกไปภายนอกประเทศ

การปรับปรุงโครงสร้างการบริหารภายในองค์กรให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ที่ปรับเปลี่ยนไป เริ่มปรากฏของชนรุ่นลูกรุ่นที่ II ในการเข้ามาแบกรับภารกิจในการบริหารธุรกิจของครอบครัวทดแทนชนรุ่นบุกเบิก ปรากฏชัดเจนขึ้นในหลายกลุ่มธุรกิจดังตัวอย่างกรณีกลุ่มบริษัทสหพัฒน์...

จากการศึกษา มีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่านายห้างเทียม เริ่มปล่อยมือการบริหารวันต่อวันเพื่อผ่องถ่ายไปให้ลูก โดยในช่วงก่อนวิกฤติน้ำมันเพียงปีเดียว มีการตั้งบริษัทสหพัฒนฯ อินเวสต์ เม้นท์ โฮลดิ้ง ขึ้นมาในช่วงประมาณปี 2515 ซึ่งเป็นสัญญาณที่บ่งชัดว่านายห้างเทียมกำลังจะเปลี่ยนมือการบริหารแบบวันแมนโชว์ เพื่อผ่องถ่ายไปให้ลูกๆ ขณะที่ตัวเองขยับขึ้นเป็นประธานกรรมการกลุ่ม คอยเป็นสัญลักษณ์ด้านขวัญและกำลังใจแก่ชนรุ่นลูกและลูกน้องอีกหลายพันคน"

และ...

"ระบบธุรกิจครอบครัวไทยมักแยกไม่ออกความเป็นเจ้าของทุนกับอำนาจการบริหาร เนื่องจากการกระจุกตัวของทุนในการสร้างหลักปักฐานธุรกิจในชนรุ่นบุกเบิกจะอยู่ในกลุ่มญาติพี่น้องและคนในครอบครัวเป็นส่วนใหญ่

ในชนรุ่นบุกเบิก (GENERATION I) ความเป็นเจ้าของทุนแทบจะไม่กระจายสู่คนภายนอกเลย ซึ่งลักษณะเช่นนั้นเป็นวิวัฒนาการตามธรรมชาติของการเริ่มต้นทางธุรกิจทุกครอบครัวทั่วโลก

การปรับเปลี่ยนในประเด็นนี้จะเริ่มขึ้นในชนรุ่น II ที่คนภายนอกเริ่มเข้ามามีบทบาทร่วมทุนมากขึ้น แต่ก็ยังมีสัดส่วนไม่มากนัก เหตุเพราะหนึ่ง-ตลาดทุน (หลักทรัพย์) เริ่มปรากฏขึ้นและเริ่มเป็นช่องทางให้ชนรุ่น II ที่บริหารธุรกิจอยู่รู้จักใช้เป็นฐานในการระดมเงินทุนในการลงหลักปักฐานธุรกิจมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้คนภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมในความเป็นเจ้าของธุรกิจมากขึ้น

ในประเด็นนี้จะเห็นได้ชัดจากตัวอย่างธุรกิจครอบครัวของ "ศรีเฟื่องฟุ้ง" ที่ทำธุรกิจผลิตกระจกในนามบริษัทกระจกไทย-อาซาฮี ได้นำหุ้นของบริษัทบางส่วนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือในกรณีธุรกิจของกลุ่มสหพัฒน์ที่นำบริษัทในเครือหลายบริษัทเข้าตลาดฯ เช่น บ.นิวซิตี้ บ.อินเตอร์เนชั่นแนล คอส เมติกส์ บ.สหพัฒน์ บ.สหพัฒนพิบูล บ.สหพัฒนา อินเตอร์ โฮลดิ้ง บริษัทอินเตอร์ฟาร์อีสวิศวการ บ.บางกอกรับเบอร์ และบริษัทไทย เพรซิเดนท์ฟูดส์ เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตาม การกระจายหุ้นสู่คนภายนอกของธุรกิจครอบครัวโดยอาศัยกลไกตลาดหลักทรัพย์ก็ยังมีสัดส่วนไม่มากนัก ส่วนใหญ่ยังจำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มญาติพี่น้องเหมือนที่ชนรุ่นบุกเบิกกระทำมาก่อน ดังดูได้จากตัวอย่างกลุ่มโอสถานุเคราะห์ จิราธิวัฒน์ เลี่ยวไพรัตน์ พรประภา ภิรมย์ภักดี เป็นต้น

อีกประการหนึ่งธุรกิจที่ชนรุ่นบุกเบิกได้สร้างหลักปักฐานเริ่มขยายตัวในบางกรณีที่ครอบครัวมีสมาชิกไม่มาก ขนาดครอบครัวเล็ก ชนรุ่น II ที่รับภาระธุรกิจต่อต้องกระจายหุ้นบางส่วน แก่คนภายนอกด้านหนึ่งเพื่อกระจายความเสี่ยงและอีกด้านหนึ่งเพื่อใช้เป็น INCENTIVE แก่คนภายนอกที่มีฝีมือได้เข้ามาบริหารงานอย่างเต็มเวลา ในแง่นี้มีตัวอย่างในธุรกิจกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ และสหยูเนี่ยน

จุดการปรับตัวในการกระจายทุนสู่คนภายนอกมากขึ้นของชนรุ่น II ของระบบธุรกิจครอบครัวไทยนี้ นับว่าเป็นความใจกว้าง เหตุผลสำคัญส่วนหนึ่งน่าจะมาจากความรู้สึกนึกคิดในการบริหารธุรกิจแบบตะวันตกที่ไปเล่าเรียนมาจากต่างประเทศ และชนรุ่น II อยู่ในยุคสมัยของสังคมเปิดมากกว่าชนรุ่น I"

การปรับตัวเพื่อขยายตลาดส่งออกไปยังต่างประเทศ โอกาสการระดมทุนที่กว้างขวางขึ้นจากตลาดทุน ตลอดจนการเข้ามามีส่วนบริหารของคนรุ่นใหม่ที่จบการศึกษาจากต่างประเทศ และการเปิดให้มืออาชีพเข้ามามีบทบาทในกิจการของครอบครัวมากขึ้น ด้านหนึ่งก็เป็นผลดีที่ทำให้กิจการหลายกิจการสามารถขยายตัวออกไปได้อย่างกว้างขวาง ในอีกเกือบ 2 ทศวรรษถัดมา

แต่ในอีกทางหนึ่ง วิศวกรรมทางการเงินใหม่ๆ ที่ถูกพัฒนา และนำเข้ามาใช้จากโลกตะวันตก ทำให้หลายครอบครัวหลงระเริงกับเงินทุนที่ได้มาในราคาถูก มีการขยายกิจการออกไปอย่างไร้ทิศทาง โดยอาศัยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากต่างประเทศเป็นหลัก

ส่งผลให้หลังจากเกิดวิกฤติการเงินครั้งใหญ่จากการลอยตัวค่าเงินบาทในปี 2540 ธุรกิจครอบครัว ที่เคยเป็นรากฐานสำคัญในโครงสร้างของธุรกิจไทยมาถึงกว่าครึ่งศตวรรษ แทบจะล่มสลายลงไปโดยสิ้นเชิง จากตัวเลขหนี้สินที่เพิ่มสูงถึงถึง 1 เท่าตัว ภายในวันเดียว!!!

หลายครอบครัวสูญเสียธุรกิจที่สร้างมาจากรุ่นแรก ซึ่งอาจจะเป็นรุ่นพ่อ หรือรุ่นพี่ บางครอบครัวซึ่งเคยมีรากฐานธุรกิจขนาดใหญ่ หลงเหลืออยู่เพียงกิจการเล็กๆ ขณะที่อีกหลายครอบครัว เมื่อเข้ามาสู่รุ่นที่ 2 หรือ 3 ซึ่งเป็นรุ่นลูกรุ่นหลาน คนรุ่นใหม่เหล่านี้ต้องกลายไปเป็น "ลูกจ้าง" ในฐานะนักบริหารมืออาชีพ หรือไม่ก็ไปเป็นข้าราชการ หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ

หลายคนกระโดดเข้าสู่สนามการเมือง

และหลายคนเลยทีเดียวที่ถูกสภาพแวดล้อมบีบให้ต้องเข้าสู่วงการบันเทิง โดยอาศัย "นามสกุล" ที่เคย "ขลัง" ในอดีต เป็นแม่เหล็กดึงดูดเด็กรุ่นใหม่ที่ไม่รู้ที่มาที่ไป ได้ติดตามผลงาน

ธุรกิจครอบครัวที่สามารถผ่านพ้นวิกฤติการณ์ครั้งนั้นและยังคงอยู่เป็นปึกแผ่นได้จนถึงทุกวันนี้ เหลืออยู่เพียงไม่กี่ตระกูลเท่านั้น

เรื่องราวของตระกูล "จิราธิวัฒน์" ที่นำเสนอในนิตยสารผู้จัดการฉบับก่อนหน้า และเรื่องของตระกูล "ว่องกุศลกิจ" ที่นำมาเสนอในฉบับนี้จึงเป็นตัวอย่างของ 2 ครอบครัวที่ควรต้องศึกษา

รายละเอียดอ่านได้ใน www.gotomanager.com   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us