“คุณหญิงชฎา” ผู้หญิงคนแรกที่คว้ารางวัล Best CEO of The Year ในการประกาศรางวัล SETAWARDS ขณะที่บล.ภัทร กวาด 3 รางวัล ยูนิค ไมนิ่ง รับรางวัล เอ็มเอไอที่สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้น
นายสันติ วิริยะรังสฤษฏ์ บรรณาธิการ วารสารการเงินธนาคาร เปิดเผยว่า รางวัล SETAWARDS 2006 แบ่งเป็นรางวัลสำหรับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 6 ประเภท รวม 23 รางวัล รางวัลสำหรับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) 3 ประเภท รวม 3 รางวัล รางวัลสำหรับตลาดตราสารหนี้ 2 ประเภท รวม 2 รางวัล รางวัลสำหรับบริษัทหลักทรัพย์ 2 ประเภท รวม 6 รางวัล รางวัลสำหรับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน 1 ประเภท รวม 4 รางวัล และรางวัลสำหรับ CEO 1 รางวัล รวมทั้งสิ้น 39 รางวัล
ทั้งนี้รางวัลที่ได้ Best CEO of The Year รางวัล ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับ CEO ที่มีวิสัยทัศน์ของผู้นำ มีการกำหนดเป้าหมายและกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจน มีความยอดเยี่ยมด้านการบริหารกิจการและเป็นที่ยอมรับว่านำพาองค์กรสู่ความสำเร็จ ตลอดจนให้ความสำคัญต่อสังคม จำนวน 1 รางวัล ได้แก่คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)หรือ SCB ถือเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รางวัลนี้ ซึ่งผู้บริหารที่ได้รับรางวัลนี้ในปีก่อนได้แก่นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปตท. จำกัด (มหาชน)
สำหรับรางวัลอื่นๆ ประกอบด้วย Best Performance Awards รางวัลสำหรับบริษัทจดทะเบียนที่มีฐานะการเงินและผลการดำเนินงานดีเด่นในปี 2548 สำหรับ 8 กลุ่มอุตสาหกรรม โดยพิจารณารวมถึงการปฏิบัติตามข้อกำหนดเรื่องการเปิดเผยข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ และสภาพคล่องของหลักทรัพย์ จำนวน 8 รางวัล ดังนี้ กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ได้แก่ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ บริษัท สยามสตีลอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) กลุ่มวัตถุดิบและสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่บริษัท ไทยสแตนเลย์การไฟฟ้า จำกัด (มหาชน)
กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ได้แก่ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กลุ่มทรัพยากร ได้แก่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กลุ่มบริการ ได้แก่ บริษัท พรีเชียส ชิพปิ้ง จำกัด (มหาชน) กลุ่มเทคโนโลยี ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) กลุ่มธุรกิจการเงิน ได้แก่ธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
รางวัล Best Liquidity Improvement Awards สำหรับบริษัทจดทะเบียนที่ใช้เครื่องมือในตลาดทุนเพื่อการบริหารสภาพคล่องการซื้อขายหลักทรัพย์ให้เพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นในปี 2548 เปรียบเทียบกับปี 2547 จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ บริษัท แคล-คอมพ์ อิเล็กโทรนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
รางวัล Best Investor Relations Awards สำหรับบริษัทจดทะเบียนที่มีการดำเนินกิจกรรมนักลงทุนสัมพันธ์ (Investor Relations) ที่มีประสิทธิภาพ โดยพิจารณาจากความพึงพอใจของผู้ใช้ข้อมูลในด้านคุณภาพของข้อมูล ความหลากหลาย และประสิทธิภาพของช่องทางการสื่อสาร ตลอดจนนโยบายที่เอื้อต่อผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นและนักลงทุน จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
ส่วนรางวัล Best Newly Listed Company Awards สำหรับบริษัทที่จดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2548 โดยพิจารณาจากความสำเร็จในการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนประกอบกับฐานะการเงิน และผลการดำเนินงาน ทั้งนี้จะมีการมอบรางวัลให้กับบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินของบริษัทที่ได้รับรางวัลด้วย รวม 2 รางวัล ได้แก่ บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน)
รางวัล Best Brokerage Service Awards ได้แก่บริษัทหลักทรัพย์ที่มีความสามารถในการดำเนินกิจการด้านการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และมีคุณภาพบริการที่ดี โดยพิจารณาจากความพึงพอใจของผู้ใช้บริการด้านการให้คำแนะนำการลงทุนที่เหมาะสม ความมีประสิทธิภาพในด้านการซื้อหลักทรัพย์ ตลอดจนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาและให้ความรู้แก่ผู้ลงทุนจำนวน 2 รางวัล ได้แก่ สำหรับนักลงทุนสถาบัน (Institutional) คือ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) สำหรับนักลงทุนรายบุคคล (Retails) คือ บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย พลัส จำกัด (มหาชน)
Best Research House Awards รางวัลสำหรับบริษัทหลักทรัพย์ที่มีผลงานการวิเคราะห์หลักทรัพย์ที่มีคุณภาพและครอบคลุมหลักทรัพย์ที่หลากหลาย โดยพิจารณาจากความพึงพอใจของผู้ใช้ข้อมูลในด้านการให้ข้อมูลด้านปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและหลักทรัพย์ที่เพียงพอ และทันต่อเหตุการณ์ ช่องทางการเผยแพร่ข้อมูล ตลอดจนการให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจลงทุน จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ สำหรับนักลงทุนสถาบัน (Institutional) คือ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) สำหรับนักลงทุนรายบุคคล (Retails) คือ บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย พลัส จำกัด (มหาชน)
ส่วนรางวัล Best Asset Management Awards สำหรับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนที่มีผลตอบแทนโดยรวม (Composite Return) เมื่อเทียบกับความเสี่ยง ในปี 2548 สูงสุด สำหรับการบริหารกองทุนเปิดตราสารแห่งทุน ตราสารแห่งหนี้ และกองทุนเปิดผสมแบบยืดหยุ่น และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนที่สามารถระดมเงินทุนจากผู้ถือหน่วยลงทุนได้มากที่สุดในปี 2548จำนวน 4 รางวัล ดังนี้ กองทุนเปิดตราสารแห่งทุน (Open-ended Equity Fund) ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อเบอร์ดีน จำกัด กองทุนเปิดตราสารแห่งหนี้ (Open-ended Fixed Income Fund) ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด กองทุนเปิดผสมแบบยืดหยุ่น (Open-ended Flexible Fund) ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อเบอร์ดีน จำกัด ระดมเงินทุนจากผู้ถือหน่วยลงทุนได้มากที่สุด (Net Cash Flow) ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด
Best Corporate Governance Report Awards รางวัลสำหรับบริษัทจดทะเบียนที่โดดเด่นในด้านการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี 15 ข้อที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนด โดยพิจารณาจากแบบ 56-1 รายงานประจำปี หนังสือนัดประชุม และรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นจำนวน 8 รางวัล ได้แก่ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบิน กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท ทางด่วนกรุงเทพฯ จำกัด (มหาชน) บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) บริษัท เอ็น ซี เฮ้าส์ซิ่ง จำกัด (มหาชน) บริษัท พรีเชียส ชิพปิ้ง จำกัด (มหาชน) ธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน)
ด้านรางวัล Best Corporate Social Responsibilities (CSR) Awards สำหรับบริษัทจดทะเบียนที่มีความโดดเด่นในการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคม จำนวน 4 รางวัล ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)
สำหรับในส่วนของตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอหรือ mai นั้น มีรางวัล mai Growth STAR สำหรับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง ในปี 2548 เปรียบเทียบกับปี 2547 โดยพิจารณารวมถึงการปฏิบัติตามข้อกำหนดเรื่องการเปิดเผยข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) และสภาพคล่องของหลักทรัพย์ จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ บริษัท อินเตอร์ลิงค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)
mai Best Return STAR รางวัลสำหรับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ(mai) ที่สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นในปี 2548 โดยพิจารณารวมถึงการปฏิบัติตามข้อกำหนดเรื่องการเปิดเผยข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) และสภาพคล่องของหลักทรัพย์ จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ บริษัท ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส จำกัด (มหาชน)
mai Newly Listed STAR รางวัลสำหรับบริษัทที่จดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอไอ (mai) ในปี 2548 โดยพิจารณาจากความสำเร็จในการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนประกอบกับฐานะการเงิน และผลการดำเนินงาน ทั้งนี้จะมีการมอบรางวัลให้กับบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินของบริษัทที่ได้รับรางวัลด้วย รวม 2 รางวัล ได้แก่ บริษัท ซีพีอาร์ โกมุ อินดัสเตรียล จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน)
BEX Highest Trading of the Year รางวัลสำหรับตราสารหนี้จดทะเบียนในตลาดตราสารหนี้ ที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุน โดยมีมูลค่าการซื้อขายผ่านตลาดตราสารหนี้สูงสุดและต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอในรอบปี 2548 จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
รางวัล BEX Most Active Brokerage House of the Year รางวัลสำหรับบริษัทหลักทรัพย์ซึ่งทำธุรกรรมการซื้อขายตราสารหนี้ผ่านตลาดตราสารหนี้สูงสุดและต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอในรอบปี 2548 จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน)
นอกจากนี้ยังมีรางวัล Distinction in Maintaining Excellent CorporateGovernance Report ซึ่งเป็นรางวัลที่ยกย่องและเชิดชูบริษัทที่สามารถรักษามาตรฐานด้านการรายงานการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นปีที่สองติดต่อกันจำนวน 16 บริษัท ได้แก่ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส, บมจ.อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย),บมจ.บ้านปู, บมจ.บางจากปิโตรเลียม, บมจ.ผลิตไฟฟ้า, บมจ.ธนาคารกสิกรไทย, บมจ.ปตท., บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม, บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง, บมจ.ชินแซทเทลไลท์, บมจ.ปูซิเมนต์ไทย, บมจ.เงินทุน สินอุตสาหกรรม, บมจ.สหวิริยาสตีลอินดัสตรี, บมจ.ไทยรับประกันภัยต่อ, บมจ.ทิปโก้ฟูดส์ (ประเทศไทย) และบมจ.ธนาคารทิสโก้
|