Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2538








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2538
"อะไหล่รถแพง ! มหกรรมมัดมือชก"             
โดย สันทิฎฐ์ สมานฉันท์
 

 
Charts & Figures

เปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในการนำรถยนต์เข้าตรวจเช็คระยะ 30,000 กิโลเมตร ในศูนย์บริการของบริษัท กับอู่ซ่อมรถยนต์ทั่วไป


   
www resources

โฮมเพจ กรมการค้าภายใน

   
search resources

กรมการค้าภายใน
Vehicle
Auto-parts




อะไหล่แพง..กลายเป็นสภาวะจำยอมของคนใช้รถเข้าศูนย์บริการไปแล้ว ขณะที่อยากจะใช้อะไหล่ถูกก็ต้องไปบริการอู่ซ่อมข้างถนน พร้อมกับความหวั่นวิตกที่ว่าอู่เหล่านี้ใช้ "อะไหล่ปลอม" ทำไมอะไหล่รถต้องแพง อะไหล่ปลอม ทำถึงได้ชื่อว่าปลอม ทั้งที่คุณภาพอาจจะไม่แตกต่างกัน ศูนย์บริการฟันกำไรมหาศาลจากค่าอะไหล่จริงหรือ อู่ซ่อมทั่วไปจะยกมาตรฐานขึ้นมาแข่งขันเพื่อทำให้อะไหล่รถถูกลงได้หรือไม่ ?

รัฐตามไม่ทัน บริษัทมัดมือชก

หลังจากตลาดรถยนต์เมืองไทยกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง นับจากปี 2535 การแข่งขัน เพื่อดึงลูกค้าจึงรุนแรงขึ้น การประกาศลดราคาจำหน่ายรถยนต์ หรือเงื่อนไขต่าง ๆ ถูกงัดออกมาใช้ ซึ่งก็ล้วนได้ผลดังคาด จนทำให้เข้าใจกันว่า ณ วันนี้ ตลาดรถยนต์เมืองไทยกลายเป็นของผู้ซื้อ ด้วยอำนาจต่อรองที่มีอยู่มากมายจากการแข่งขันที่รุนแรง

สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นนั้น ยิ่งทำให้คนภาครัฐมั่นใจอย่างเต็มที่ว่า การปล่อยให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีเป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้ว เพราะตลาดเป็นตัวบีบไม่ให้ผู้ค้าเอาเปรียบผู้บริโภค

แต่พ่อค้าก็ยังเป็นพ่อค้าอยู่วันยังค่ำ ยากที่คนภาครัฐจะตามได้ทัน !

ทุกวันนี้อาจกล่าวได้ว่า สงครามหน้าฉากไม่มีใครกล้าที่จะล่วงล้ำ เพื่อจำหน่ายรถยนต์ในราคาที่แพง ถึงแม้ว่าราคาที่จำหน่ายกันอยู่จะไม่ใช่ราคาถูกก็ตาม แต่ก็ยังไม่สูงลิบลิ่วเช่นอดีต

เมื่อหนทางที่จะทำกำไรอย่างมหาศาลจากการจำหน่ายรถยนต์ เป็นเรื่องที่ยากลำบากขึ้น จึงต้องหาหนทางอื่น

งานศูนย์บริการเป็นทางออกหนึ่งที่จะสามารถทำกำไรได้ ในลักษณะมัดมือชกเสียด้วย

เพราะโดยทั่วไปรถยนต์ในช่วง 50,000 กิโลเมตรแรก หรือช่วง 2 ปีแรก เกือบทั้งร้อย จะต้องนำเข้าตรวจเช็กในศูนย์บริการของบริษัทหรือดีลเลอร์ ยี่ห้อนั้น ๆ เพื่อการรับประกันที่จะไม่มีปัญหาภายหลังตามเงื่อนไขรับประกัน 50,000 กิโลเมตรหรือ 2 ปีแรก

ลองนับกันอย่างคร่าว ๆ ถ้ารถยนต์คันหนึ่งตรวจเช็กตามระยะปกติ ซึ่งก็คือการนำรถยนต์เข้าตรวจเช็ก เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง และอุปกรณ์ ชิ้นส่วนหลักตามอายุการใช้งาน จะได้ว่า ต้องตรวจเช็คตามระยะ 1,000 กิโลเมตรแรก, 5000 กิโลเมตร, 10,000 กิโลเมตร,15,000 กิโลเมตร,20,000 กิโลเมตร, 25,000 กิโลเมตร, 30,000 กิโลเมตร, 35,000 กิโลเมตร, 40,000 กิโลเมตร, 45,000 กิโลเมตร, 50,000 กิโลเมตร รวมเป็น 11 ครั้งในรอบ 2 ปี คำนวณค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยครั้งละ 2,000 บาท เท่ากับว่าเราเสียค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 22,000 บาท

ยังไม่นับรวมถึงผู้ใช้รถยนต์ที่ถนอมมากกว่าปกติคือการตรวจเช็ก และเปลี่ยนถ่านน้ำมันเครื่องทุกระยะ 3,000 กิโลเมตร และรวมถึงอะไหล่ที่จะต้องเปลี่ยนในช่วง 2 ปีแรกนอกเหนือจากการตรวจเช็กตามระยะปกติแล้ว หรือผู้ที่นิยมนำรถยนต์เข้าศูนย์บริการ แม้จะผ่านระยะรับประกันหรือ 50,000 กิโลเมตรไปแล้วก็ตาม ซึ่งจะเห็นว่าค่าใช้จ่ายที่จะต้องเสียให้กับศูนย์บริการนั้นมากมายทีเดียว มากมายถึงขนาดที่ว่า บริษัทรถยนต์ยอมลดกำไรในงานขายเพื่อนำรายได้ส่วนศูนย์บริการมาสมทบ ก็น่าจะดำเนินธุรกิจไปได้อย่างไม่ลำบาก

การดำเนินนโยบายด้านศูนย์บริการเช่นนี้ อาจกล่าวได้หลายค่ายรถยนต์กำลังกระทำอยู่ ในลักษณะที่ผู้ซื้อ และผู้ใช้รถยนต์ไม่อาจจะไหวตัวทัน หรือถ้ารับรู้ ก็เปล่าประโยชน์ เพราะไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร

ถึงวันนี้แนวนโยบายด้านศูนย์บริการของบริษัทรถยนต์ต่าง ๆ ได้ผิดเพี้ยนไปเสียแล้ว !

สำหรับหน่วยงานภาครัฐที่อาจกล่าวได้ว่ามีอำนาจควบคุม และขอบข่ายบทบาทครอบคลุมมาถึงธุรกิจศูนย์บริการ เพื่อไม่ให้เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคนั้น ก็คือกระทรวงพาณิชย์ผ่านทางกรมการค้าภายใน

กรมการค้าภายใน "ทำไม่ไหว"

แต่จากการสอบถามของ "ผู้จัดการ" ไปยังกรมการค้าภายใน กลับได้คำตอบที่ผู้ใช้รถยนต์ได้ยินแล้วสะท้อนใจเป็นอย่างยิ่ง

"ทำไม่ไหว" คำตอบของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมการค้าภายในที่ดูแลสินค้าซึ่งเข้าข่ายอยู่ในส่วนนี้

เจ้าหน้าที่คนเดิมกล่าวถึงการดูแลกิจการศูนย์บริการเพื่อไม่ให้เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคเกินไปนั้นว่า เป็นเรื่องของคณะกรรมการกลางกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน โดยคณะกรรมการดังกล่าวจะกำหนดแนวทางว่าสินค้าส่วนใดที่กรมการค้าภายในจะต้องเข้าไปดูแล และที่ผ่านมายังไม่เคยมีการเสนอให้กรมฯ เข้าไปดูแลในส่วนกิจการศูนย์บริการหรือสินค้าอะไหล่รถยนต์

ทั้งนี้น่าจะมาจากสาเหตุที่ว่า สินค้าอะไหล่รถยนต์และงานศูนย์บริการ ทางภาครัฐยังมองว่าเป็นสินค้าที่ยังไม่เข้าข่ายจำเป็นต่อชีวิตประจำวัน หรืออีกนัยหนึ่งถ้ามองอย่างย้อนยุคก็คือ รถยนต์ยังเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยอยู่

"สินค้าอะไหล่รถยนต์ไม่มีการควบคุมราคามาตั้งแต่เริ่มแรกแล้ว เพราะอะไหล่รถยนต์มีมากรายการเกินไป จึงไม่สามารถทำได้เนื่องจากอะไหล่มีมากจริง ๆ ที่สำคัญยังมีสินค้าที่จำเป็น ที่ทางกรมจะต้องตรวจสอบอีกมาก ลำพังสินค้าจำเป็นที่มีอยู่ก็ทำไม่ไหวอยู่แล้ว เจ้าหน้าที่ของเราไม่เพียงพอถ้าจะให้เข้าไปตรวจสอบสินค้าอะไหล่รถยนต์ด้วย" เจ้าหน้าที่ของกรมการค้าภายใน กล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้น

ทุกวันนี้แม้ทางกรมการค้าภายในจะยังไม่เข้าไปตรวจสอบกิจการค้าอะไหล่ และศูนย์บริการ แต่ก็ยังรับเรื่องร้องเรียน โดยการตั้งศูนย์ร้องเรียน เพื่อที่ผู้บริโภคยื่นเรื่องในคราวที่ถูกเอาเปรียบเกินไป

แต่นับจากเริ่มตั้งศูนย์ร้องเรียนมาหลายปี มีการร้องเรียนผ่านศูนย์แห่งนี้ ในกรณีอะไหล่แพงหรือศูนย์บริการคิดค่าบริการแพงเกินไปเพียงไม่กี่ครั้ง และแต่ละครั้งก็ไม่ชัดเจนนักโดยเฉพาะระยะ 2-3 ปีมานี้ การร้องเรียนจากกรณีดังกล่าวแทบไม่มีให้เห็นเลย

"อย่างกรณีที่มีการร้องเรียนกันมานั้น ทางกรมก็เข้าไปตรวจสอบทางผู้ค้าก็ปรับปรุง ซึ่งจะเป็นลักษณะการตักเตือนและขอความร่วมมือกัน เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายเป็นบทลงโทษอย่างชัดเจน" เจ้าหน้าที่กรมการค้าภายในกล่าว

สำหรับอนาคต การที่กรมการค้าภายในจะเข้ามาดูแลในส่วนของราคาอะไหล่และงานศูนย์บริการรถยนต์ ยิ่งเป็นเรื่องยากลำบากมากขึ้น เพราะนโยบายหลักออกมาแล้วว่า จะปล่อยให้เป็นเรื่องของการค้าเสรีมากขึ้น

ทางด้านบริษัทค้ารถยนต์ ต่างปฏิเสธเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่ได้หวังกำไรกับงานศูนย์บริการและอะไหล่

"ยังยึดนโยบาย ทำศูนย์บริการเพื่อเกื้อหนุนลูกค้า ไม่ได้หวังกำไรมุ่งเน้นให้ราคาสมเหตุสมผล แต่ที่ว่ามันแพงขึ้นคงเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ" แหล่งข่าวจากบริษัทผู้ค้ารถยนต์รายใหญ่ของไทยกล่าว

เช่นเดียวกับอีกหลาย ๆ บริษัท ที่ต่างไม่ยอมรับความจริงที่ว่าค่าอะไหล่รถยนต์ และค่าแรงในศูนย์บริการ ณ ขณะนี้ได้แพงลิบลิ่ว

ทำไมอะไหล่ต้องแพง ?

ในกรณีค่าใช้จ่ายของรถยนต์ที่เข้าศูนย์บริการสูงมากนั้น มีการอธิบายว่าเหตุที่งานบริการที่ศูนย์บริการมีค่าใช้จ่ายสูงกว่านั้นมาจาก 3 สาเหตุหลัก คือ 1. ค่าแรง 2. ค่าอะไหล่ และ 3. สุดท้าย วิธีของงานซ่อมบำรุงที่แตกต่างกัน

ประการแรก ค่าแรงที่แพงสูงนั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจกันดีเพราะศูนย์บริการเป็นรูปแบบที่มีค่าใช้จ่ายจากการจัดการเยอะมาก นับแต่ค่าที่ดิน ที่จอดรถ อาคารพื้นที่ต้อนรับ การอำนวยความสะดวกต่าง ๆ

ประการที่สอง ค่าอะไหล่ที่ว่าแพงกว่านั้น ทั้ง ๆ ที่โดยข้อเท็จจริงแล้วทางศูนย์บริการน่าที่จะจำหน่ายอะไหล่ได้ในราคาที่ถูกกว่าด้วยซ้ำ

ในปัจจุบันอะไหล่แท้นั้น ทางบริษัทรถยนต์ต่าง ๆ จะว่าจ้างโรงงานผู้ผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ทำการผลิต โดยส่งมายังโรงงานประกอบรถยนต์ส่วนหนึ่งอีกส่วนหนึ่งบริษัทรถยนต์จะรับไว้เพื่อจำหน่ายไปเป็นอะไหล่อีกทอดหนึ่ง

"มีสองช่องทางในการจำหน่ายอะไหล่รถยนต์โดยบริษัทรถยนต์ คือจำหน่ายไปยังดีลเลอร์ เพื่อทำการสต๊อกไว้บริการลูกค้า และจำหน่ายไปยังตัวกลางผู้จำหน่ายอะไหล่ ซึ่งอยู่แถวบรรทัดทอง โดยตัวกลางนี้จะทำการกระจายสินค้าไปยังร้านค้าอะไหล่รายย่อยอีกทอดหนึ่ง" ผู้บริหารของบริษัทรถยนต์รายหนึ่งกล่าว

ทั้งนี้รูปของการกระจายอะไหล่จากสองช่องทางนั้นจะแตกต่างกันอยู่บ้างในเรื่องการกำหนดราคา

การจำหน่ายไปยังดีลเลอร์นั้นบริษัทรถยนต์จะจำหน่ายด้วยการตั้งราคาจำหน่ายปลีกไว้มาตรฐาน ซึ่งดีลเลอร์จะต้องจำหน่ายแก่ลูกค้าตามนั้น ส่วนต่างที่ทำให้ดีลเลอร์ได้กำไรนั้น ก็คือการลดเปอร์เซ็นต์จากราคาขายปลีกนั้น ซึ่งบางที่อาจได้รับส่วนลดสูงถึง 40% แต่บางทีอาจไม่ถึงแล้วแต่กรณีไป ตรงนี้มีรายละเอียดมากมายว่าจะพิจารณาให้ดีลเลอร์รายใดเท่าไร

ในด้านของตัวกลางก็เช่นกันจะมีราคาขายปลีกตั้งไว้เท่ากับที่ดีลเลอร์ได้รับแต่จะเป็นการขายให้ตัวกลางในราคาขายส่ง ซึ่งส่วนต่างราคาส่งกับปลีกจะอยู่ที่ 30-40% ส่วนกรณีศูนย์บริการที่เป็นสาขาก็จะใช้วิธีส่งสินค้าไปสต๊อกไว้ แต่ราคาจำหน่ายปลีกจะเท่ากับที่ดีลเลอร์จำหน่าย ซึ่งตรงนี้ศูนย์บริการที่เป็นสาขาน่าจะมีกำไรต่อหน่วยมากกว่าเมื่อเทียบกับดีลเลอร์ เพราะถือเป็นผู้รับช่วงรายแรกมาจากโรงงานผลิตชิ้นส่วน

ที่ผ่านมาทุกยี่ห้อจะมีวิธีจำหน่ายสินค้าเป็นสองทางเช่นนี้ไม่แตกต่างกันมากนัก คือส่วนหนึ่งเข้าศูนย์บริการอีกส่วนหนึ่งเข้าไปยังตลาดร้านค้าปลีก

"แต่ยังมีบริษัทรถยนต์ยี่ห้อหนึ่ง ที่ไม่ยอมกระจายสินค้าเข้าสู่ตลาดร้านค้าปลีกตรงนี้ ทำให้บริษัทได้เงินเป็นกอบเป็นกำจากงานนี้เพราะลูกค้าไม่มีทางเลือก ต้องพึ่งพาศูนย์บริการเป็นหลักใหญ่ เพราะลูกค้าหาอะไหล่ไม่ได้ แต่ตรงนี้ทำให้พวกเขากระจายตลาดออกไปยากลำบากเช่นกัน เพราะอะไหล่หายากขณะที่ค่ายอื่นผู้ใช้สามารถเลือกหาอะไหล่ได้ง่ายกว่า" ผู้บริหารของบริษัทรถยนต์รายใหญ่ของเมืองไทยและของโลกกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

ซื้ออะไหล่จากร้านค้าปลีกถูกกว่าซื้อที่ศูนย์บริการ

ขั้นตอนการเดินทางของอะไหล่รถยนต์จากบริษัทผู้ผลิตโดยตรง ซึ่งป้อนไปยังบริษัทรถยนต์ จากบริษัทรถยนต์ส่งต่อมายังศูนย์บริการ ก่อนถึงมือผู้ใช้ ขณะที่อีกฟากหนึ่งจากบริษัทรถยนต์มายังตัวกลางจำหน่าย จากตัวกลางมายังร้านค้าปลีกหรืออู่บริการทั่วไป ก่อนถึงมือผู้ใช้ จะเห็นว่าการเดินทางไปยังศูนย์บริการของอะไหล่รถยนต์นั้นสั้นกว่าการเดินทางไปยังร้านค้าปลีก แต่เหตุใดราคาจำหน่ายอะไหล่จากศูนย์บริการจึงแพงกว่า

อันที่จริงถ้าตามราคาขายปลีกที่ตั้งไว้จะเท่ากัน แต่การซื้ออะไหล่หรือทุกอย่างจากศูนย์บริการจะถูกคิดราคาเต็มหรือลดเปอร์เซ็นต์เต็มที่ก็แค่ 10% แต่ต้องบวกภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7% ขณะที่การซื้ออะไหล่จากร้านค้าปลีกทั่วไปจะได้รับการลดราคา 20% บวกภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ตรงนี้จะเห็นชัดเจนว่าการซื้อจากร้านค้าปลีกถูกกว่าราว 10%

และที่กล่าวถึงนั้น เป็นการกล่าวถึงเฉพาะอะไหล่แท้ต่ออะไหล่แท้ด้วยกัน ยังไม่รวมถึงอะไหล่เทียมหรือเลียนแบบ ที่ซึ่งภาพพจน์ของการโฆษณาชวนเชื่อของบริษัทรถยนต์สร้างไว้ ดูน่ากลัวยิ่ง

"แท้ เทียม เลียนแบบ" คุณภาพไม่ต่าง ต่างกันที่ราคา

แต่จากข้อมูลที่ "ผู้จัดการ" ได้สืบค้นพบว่า คำว่าอะไหล่แท้ อะไหล่เทียม หรืออะไหล่เลียนแบบ ดูจะไม่มีความหมายอะไรเลย เพราะทั้งหมดแทบไม่มีความแตกต่างในด้านคุณภาพ จะมีที่ต่างชัดเจนก็คือราคาเท่านั้น

"แผ่นคลัชของแท้ที่ตีตรายี่ห้อรถจะราคาตั้งแต่หนึ่งพันหน้าร้อยบาทถึงหนึ่งพันแปดร้อยบาท แต่ถ้าเป็นของแท้เช่นกันแต่ไม่มีการตีตรา จะด้วยวิธีใดก็ตามไม่ว่าจะเป็นของไม่ผ่านคิวซีโรงงานประกอบรถยนต์หรือหลบเลี่ยงออกมา จะมีราคาราวหนึ่งพันสามร้อยบาทถึงหนึ่งพันสี่ร้อยบาท และถ้าเป็นของเทียมที่ทำเลียนแบบราคาจะอยู่ที่สามร้อยบาทถึงสี่ร้อยบาทเท่านั้น ซึ่งเรื่องคุณภาพหรือความปลอดภัยไม่มีปัญหา ไม่แตกต่างกัน จะต่างก็ตรงที่อายุการใช้งานเท่านั้น แต่ก็ไม่เสมอไปบางอย่างสินค้าที่ทำเลียนแบบขึ้นมาอาจจะมีอายุการใช้งานยาวนานกว่าก็ได้" เจ้าของอู่ซ่อมรถยนต์ทั่วไป ซึ่งคร่ำหวอดกับการเรื่องอะไหล่รถยนต์ เพราะต้องผ่านมือทุกวันได้กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

เจ้าของกิจการอู่ขนาดกลางอีกรายหนึ่งได้ยืนยันถึงความไม่แตกต่างระหว่างอะไหล่แท้และไม่แท้เพิ่มเติม

"อย่างกรณีแผ่นคลัช ถ้าจำไม่ผิด ยี่ห้อแอสโก้ ได้ผลิตส่งให้กับบริษัทรถยนต์สองสามราย จากนั้นบริษัทรถยนต์ตีตราของตนเองทั้งใช้ในโรงงานประกอบรถยนต์และจำหน่ายสู่ตลาดอะไหล่ ซึ่งการจำหน่ายสู่ตลาดอะไหล่นั้นตั้งราคาไว้ที่หนึ่งพันห้าร้อยบาทต่อหน่วย ขณะที่แอสโก้เองผลิตและตีตราแอสโก้จำหน่ายในตลาดอะไหล่ราคาจะอยู่ที่เก้าร้อยถึงหนึ่งพันบาทเท่านั้น"


อะไหล่มีชื่อก็ยังถือว่า "ไม่แท้" ?

หรืออย่างกรณีผ้าเบรกยี่ห้อที่โรงงานประกอบรถยนต์และบริษัทรถยนต์ถือว่าเป็นของแท้จะมีราคามากกว่า 2,000 บาททุกรุ่น ส่วนผ้าเบรกเฟอโรโด ซึ่ง ณ วันนี้บริษัทรถยนต์จะถือรวมเป็นของไม่แท้เพราะไม่ได้ส่งโรงงานประกอบหรือบริษัทรถยนต์รับรอง จะมีราคา 1,500-1,700 บาท แล้วแต่จะเป็นรุ่นใด ซึ่งผ้าเบรกเฟอโรโดนั้นอู่ทั่วไปนิยมใช้มากกว่าผ้าเบรกที่บริษัทรถยนต์ต่าง ๆ ตีตราว่าเป็นของแท้เสียอีกและไม่ใช่ว่าเพราะราคาถูกกว่า แต่เป็นเพราะมั่นใจในเรื่องคุณภาพและอายุการใช้งานที่ดีกว่า

สำหรับผ้าเบรกเฟอโรโดนั้นจัดจำหน่ายโดยบริษัท บุญผ่อง จำกัด และเมื่อไม่นานมานี้ผู้บริหารของบริษัทได้ประกาศแผนการลงทุนอย่างชัดเจนว่าจะขยายการผลิตที่มีอยู่ 1 แสนชุดต่อปีเป็น 3 แสนชุดต่อปี และเพิ่มเป็น 5 แสนชุดภายใน 3 ปี ด้วยเงินลงทุนเพิ่มเป็น 5 แสนชุดภายใน 3 ปี ด้วยเงินลงทุนเพิ่มอีก 80 ล้านบาทและเป็นการลงทุนขยายงานโดยอาศัยเทคโนโลยีของบริษัทแม่จากประเทศอังกฤษ

ประการสำคัญในปี 2539 บริษัทมีแผนที่จะเสนอสินค้าเข้าสู่ตลาดโออีเอ็ม (โรงงานประกอบรถยนต์) ซึ่งจะทำให้ผ้าเบรกเฟอโรโด ขยับจากสินค้าเทียมหรือไม่แท้ในการกล่าวรวมของบริษัทรถยนต์มาเป็นสินค้าหรืออะไหล่แท้ของตลาดอีกยี่ห้อหนึ่ง

ผ้าเบรกเฟอโรโด ปัจจุบันจำหน่ายเฉพาะตลาดทดแทนหรือตลาดอะไหล่เท่านั้นโดยเจาะตลาดไปยังร้านจำหน่ายและอู่บริการโดยตรง ซึ่งตรงนี้ทำให้ผ้าเบรกเฟอโรโด สร้างส่วนแบ่งตลาดได้มากพอสมควร ด้วยยอดขาย 70 ล้านบาทในปีที่ผ่านมาและปีนี้คาดว่ายอดจำหน่ายจะมีราว 85 ล้านบาท

เส้นทางของผ้าเบรกเฟอโรโด นับเป็นตัวอย่างชัดเจนว่าชิ้นส่วนหรืออะไหล่ที่บริษัทรถยนต์ขนานนามว่า อะไหล่เทียมไม่มีความแตกต่างในเรื่องคุณภาพของสินค้าและยังมีอะไหล่เทียมในลักษณะนี้อีกมาก

ออกข่าวอะไหล่ปลอม เพื่อตีอู่ซ่อม

มีการออกข่าวทั้งจากบริษัทรถยนต์โดยตรง และในนามของชมรมอะไหล่แท้ซึ่งเป็นกลุ่มที่เกิดจากการรวมตัวของบริษัทผู้ผลิต และค้ารถยนต์ในประเทศไทย แน่นอนว่าข่าวที่ออกมาก็เพื่อโจมตีธุรกิจอะไหล่เทียมและอะไหล่ปลอม

การปล่อยข่าวมีความแยบยลอยู่มากเพราะมิได้โจมตีการดำเนินธุรกิจหรือผู้ผลิตแม้แต่น้อย แต่กลับกล่าวถึงความเลวร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา จากการใช้อะไหล่ที่ไม่ใช่ของแท้ สร้างภาพความหวาดกลัวให้เกิด

การโจมตีอะไหล่ที่ไม่แท้ในเรื่องคุณภาพนั้น นอกจากสร้างความไม่มั่นใจให้กับผู้ใช้รถแล้ว ยังได้ภาพที่ว่าของแท้จำเป็นต้องมีราคาแพงกว่าเพราะว่าคุณภาพดีกว่า มั่นใจได้

ประการสำคัญ มีการระบุว่าที่ศูนย์บริการจะมีแต่ของแท้เท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าอะไหล่ไม่แท้จะพบได้ที่อู่ซ่อมทั่วไป ทั้งยังชี้ชัดว่าอู่ซ่อมทั่วไปมักใส่ของปลอมให้ลูกค้าโดยไม่บอกกล่าว ตรงนี้ทำให้ผู้ใช้ไม่มั่นใจอู่ซ่อมทั่วไป หรืออาจติดเป็นภาพลบจนไม่กล้านำรถยนต์เข้าอู่ซ่อมทั่วไปอย่างเด็ดขาดเลยก็มี

จนที่สุดเมื่อไม่มีใครกล้าใช้บริการอู่ซ่อมทั่วไป หรืออย่างน้อยผู้ใช้รถยนต์รายใหม่ ๆ ที่ไม่เคยสัมผัสกับอู่ซ่อมทั่วไปเลยก็จะไม่กล้าเข้าไปใช้บริการ ตรงนี้บริษัทรถยนต์ก็จะเป็นผู้กำหนดชะตากรรมได้อย่างเด็ดขาดจากงานศูนย์บริการ

ราคาบวกหลายชั้น

"ผมมีญาติทำธุรกิจปั๊มชิ้นส่วนพลาสติกส่งให้กับโรงงานประกอบรถยนต์ซึ่งเขาเล่าให้ฟังว่า ยกตัวอย่างชิ้นส่วนอันหนึ่งที่ใช้กับรถยนต์นั่ง ราคาที่เขาขายส่งให้กับโรงงานประกอบหรือบริษัทรถยนต์นั้นจะอยู่ที่หนึ่งพันบาทต่อชิ้น แต่ชิ้นส่วนอันนั้นพอมาจำหน่ายเป็นอะไหล่รถยนต์กลับมีราคาจำหน่ายสูงถึงสามพันบาทต่อชิ้น ตรงนี้ไม่ทราบว่าราคามันพุ่งขึ้นไปสูงขนาดนั้นได้อย่างไร" เจ้าของอู่ซ่อมรถยนต์ที่ถือว่าอยู่ในขั้นรับรถยนต์ได้ราว 10 คันต่อวันกล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในธุรกิจค้าอะไหล่รถยนต์

"หรืออย่างลูกปืนมีการตั้งราคาบวกไว้สูงมาก สูงกว่าต้นทุนเป็นเท่าตัวทีเดียว นี่เท่าที่ทราบ ซึ่งอะไหล่รถยนต์นั้นยังมีอีกมากที่เราไม่ทราบว่าต้นทุนจริง ๆ ของเขาเป็นเท่าไร และไม่มีใครเข้าไปพิสูจน์หรือตรวจสอบว่าการตั้งราคานั้นยุติธรรมหรือไม่ และถ้ายิ่งมองถึงการตั้งบนฐานของคุณภาพด้วยแล้ว สินค้าอะไหล่แท้จะเป็นเรื่องของการค้ากำไรอย่างมหาศาลทีเดียว"

เหตุผลที่ทำให้อะไหล่แพง โดยเฉพาะอะไหล่แท้นั้น น่าจะมาจากมูลเหตุแห่งการค้ากำไรของบริษัทรถยนต์ที่คิดราคาเต็ม หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการชาร์จราคา และจากการผ่านตัวกลางหลายทอดก็ว่าได้

เหตุผลสุดท้ายที่ทำให้ค่าใช้จ่ายในการนำรถยนต์เข้าศูนย์บริการสูงมากนั้น ทางศูนย์บริการจะเน้นการเปลี่ยนชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ ทั้งชุดมากกว่าการซ่อมบำรุงหรือเปลี่ยนเพียงบางชิ้น

"ศูนย์บริการเอะอะอะไร ก็เปลี่ยนใหม่ทั้งชุดโดยอ้างถึงอายุการใช้งานของรถยนต์เป็นหลัก ดึงความกลัวซึ่งเป็นสัญชาตญาณของคนออกมา ที่สุดผู้ใช้รถก็คิดว่าศูนย์บริการทำดีกว่า ซึ่งที่จริงไม่ใช่อย่างนั้นเพราะบางครั้งระบบมีปัญหาแต่เปลี่ยนแค่บางชิ้นส่วนก็สามารถทำงานต่อไปได้ ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนทั้งชุดเสมอไป" เจ้าของอู่บริการแห่งหนึ่งกล่าว

ผู้ใช้รถไม่มีทางออก ?

ถ้าหากไม่อยากไปใช้อะไหล่ราคาแพงในศูนย์บริการ ผู้ใช้รถก็มีสองทางเลือก

หนึ่ง - ไปใช้บริการของอู่ซ่อมทั่วไป

สอง - ใช้อะไหล่เก่าจากเชียงกง

แต่คำถามคือ อู่ซ่อมทั่วไปจะเป็นความหวังของผู้ใช้รถได้จริงๆ หรือ ?

ประการแรก - ราคาถูกกว่า

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อู่ซ่อมรถราคาถูก (ซึ่งรวมทั้งอะไหล่-ค่าแรง และอื่น ๆ) เพราะอู่ซ่อมรถส่วนใหญ่ไม่ต้องลงทุนสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ ไม่ต้องลงทุนสร้างลานจอดรถเพราะบางทีใช้ฟุตบาธหน้าร้าน

ประการที่สอง-ค่าแรงถูก เพราะใช้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของเจ้าของอู่เป็นหลัก ขณะที่ลูกมือใช้แรงงานราคาถูกและเรียนรู้ประสบการณ์จากการทำงาน

แต่ถึงกระนั้นอู่ทั่วไปก็ต้องเผชิญกับปัญหาเทคโนโลยีของรถยนต์ที่ก้าวไปเร็วมากถ้างานที่เทคนิคมาก ๆ ก็ไม่สามารถทำได้และการเรียนรู้หรือพัฒนาฝีมือช่างในส่วนนี้ก็เป็นเรื่องที่มีขีดจำกัด บางอย่างจึงต้องเข้าศูนย์บริการเพียงอย่างเดียว อู่ซ่อมทั่วไปทำไม่ได้

ประการที่สาม - การบริการ อู่ซ่อมทั่วไปไม่ต้องคิดถึงการลงทุนด้านบริการสร้างภาพจน์สวยหรู แต่เน้นความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นหลัก

ประการที่สี่ - อะไหล่ มีทางเลือกมากมายทั้งคุณภาพ ราคา ปลอม-ไม่ปลอม เลียนแบบหรือไม่เลียนแบบ

"งานบริการของเราก็ต้องมีการรับประกันเช่นกัน ที่นี่รับประกันการซ่อมบำรุงและชิ้นส่วนหรืออะไหล่ที่เปลี่ยนให้ในระยะหนึ่งหมื่นกิโลเมตร ดังนั้นอะไหล่ที่เราเปลี่ยนให้ลูกค้า เราจึงต้องเลือกที่ดีที่สุดทั้งด้านคุณภาพและราคา ส่วนกรณีอะไหล่เทียมนั้น เราจะบอกลูกค้า ถึงข้อดีข้อเสีย ให้ลูกค้าตัดสินใจเอง ซึ่งส่วนใหญ่ถ้ารถยนต์เก่าก็มักนิยมอะไหล่เทียมเป็นหลักเพราะราคาถูกกว่ามาก" เจ้าของอู่ขนาดกลางรายหนึ่งกล่าว ซึ่งอย่างน้อยอีกสามรายก็กล่าวในลักษณะเดียวกันนี้

อู่ซ่อมทั่วไปนั้นจึงเหมาะกับผู้ใช้รถที่รู้แหล่ง รู้จักอู่ที่มีคุณภาพและซื่อสัตย์และซ่อมกันเป็นขาประจำกันเลย

อย่างไรก็ตามนั่นก็ไม่ใช่ทางออกที่เป็นไปได้ตลอดไป โดยเฉพาะผู้ใช้รถทั่วไปที่ไม่รู้จักที่ทางของอู่ที่มีคุณภาพ

"ผมถามหน่อย มีคนจะมาซ่อมรถให้คุณ คนหนึ่งแต่งตัวมอมแมม บอกว่าจะซ่อมให้ คิดถูก ๆ กับอีกคนหนึ่งแต่งตัวสวย พูดจาดี อธิบายอะไรเป็นหลักเป็นเกณฑ์ แต่บอกว่าต้องซ่อมแพงเพราะคุณภาพอะไหล่แพง แต่มียี่ห้อรถรับประกันคุณจะเลือกใคร คนที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลยซึ่งก็คือผู้ใช้รถส่วนใหญ่นั่นแหละก็ต้องเลือกอย่างหลัง" ผู้เชี่ยวชาญในวงการรถยนต์รายหนึ่งให้ความเห็น

สิ่งที่น่าจะเป็นทางออกคือ เมื่อศูนย์บริการมีจุดอ่อนในเรื่องอะไหล่แพงอู่ทั่วไปก็ต้องใช้ช่องโหว่ตรงนี้กับคุณภาพในการซ่อมเป็นจุดขาย ขณะเดียวกันก็ถึงเวลาที่อู่ซ่อมทั่วไปจะต้องยกมาตรฐานของอู่ให้ทัดเทียมกับศูนย์บริการ

อย่างน้อยอู่ทั่วไปก็ต้องยกระดับมาตรฐานของตนเองขึ้นมาทั้งสถานที่บริการและรวมไปถึงภาพพจน์ เพื่อให้เกิดการแข่งขันและทางเลือกที่ "ไว้ใจได้" ของบรรดาผู้ใช้รถ แต่นั่นหมายถึงการลงทุนที่บรรดาอู่ซ่อมรถอาจจะลังเลใจ

นั่นหมายความว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน ผู้ใช้รถก็แทบจะไม่มีทางเลือก

ร้องหารัฐ รัฐบอกทำไม่ไหว

หันมองบริษัทรถยนต์ กลับพบรอยยิ้มที่มีแต่คมมีดซุกซ่อนไว้ในสไตล์พ่อค้า

แล้วชะตากรรมคนใช้รถจะเป็นอย่างไรต่อไป

ไม่อยากจะคิด !

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us