"ไทยยิบซั่ม"เผยทุนฝรั่งเศส "เซนต์-โกเบน" เทกโอเวอร์ กลุ่มบริษัทบีพีบี ผู้ถือหุ้นหลัก 100% ในบริษัทไทยยิบซั่ม มูลค่า 3 แสนกว่าล้านบาท พร้อมส่งบุคลากรเข้าปรับองค์กรกลุ่มบีพีบีในยุโรปใหม่ เตรียมอาศัยช่องตลาดวัสดุก่อสร้างกลุ่มบีพีบี เจาะตลาดวัสดุก่อสร้างทั่วโลก คาดไตรมาส 1-2 ปี 50 ส่งผลิตภัณฑ์ฉนวนใยแก้วกันความร้อนขายพ่วงผ่านช่องทางตลาดแผนยิบซั่มในประเทศ แจงผลดำเนินการไทยยิบซั่มครึ่งปีแรก เติบโตตามเป้า 8% เชื่อปี 50 ตลาดโตไม่เกิน 5-6%
นายวิรัตน์ พนมชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยผลิตภัณฑ์ยิบซั่ม จำกัด เปิดเผยว่า ในช่วงเดือน ม.ค. 49 ที่ผ่านมา บริษัทเซนต์-โกเบน ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมก่อสร้าง และกระจกรถยนต์ และอาคารสูง จากประเทศฝรั่งเศส ได้เทกโอเวอร์ กลุ่มบริษัท บีพีบี จำกัด (มหาชน) แล้วทั้งหมด 100% สำหรับ บริษัท บีพีบี เป็นบริษัทที่ถือหุ้นในบริษัทไทยยิบซั่ม 100% โดยก่อนหน้านี้ กลุ่มบีพีบี ได้เข้ามาเทกโอเวอร์บริษัทไทยยิบซั่ม และเข้ามาบริหารไทยยิบซั่มอยู่ช่วงหนึ่ง และด้วยเหตุผลทางธุรกิจจึงตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมดให้กับเซนต์-โกเบน
ทั้งนี้ หลังจากที่ได้มีการเจรจาซื้อขายหุ้นกันมานานกว่า 6 เดือน และตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมดให้แก่บริษัทเซนต์-โกเบนต์ ในราคา 7ปอนด์ต่อหุ้น หรือประมาณ 560 บาทต่อหุ้น สำหรับกลุ่มบีพีบี เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งกลุ่มบริษัทเซนต์-โกเบน ได้เข้าไปซื้อหุ้นทั้งหมดจากกลุ่มผู้ซื้อหุ้นกลุ่มบีพีบีในประเทศอังกฤษ รวมมูลค่าทั้งสิ้น 300,000 กว่าล้านบาท และเข้ามาบริหารกลุ่มบีพีบีแทน โดยกลุ่มบีพีบีนั้นสาขาอยู่ใน 90 ประเทศทั่วโลก ซึ่งนับรวมประเทศไทยด้วย
สำหรับเหตุผลที่ กลุ่มบริษัทเซนต์-โกเบน เข้ามาเทกโอเวอร์กลุ่มบีพีบี ด้วยมูลค่าที่สูงกว่า 3 แสนล้านบาทนั้น เนื่องจากกลุ่มบีพีบีเป็นกลุ่มบริษัทที่มีช่องทางในการจำหน่ายสินค้าอยู่ในไลน์วัสดุก่อสร้างอยู่ใน 90 ประเทศทั่วโลก ซึ่งตรงกับช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์ก่อสร้างของกลุ่มบริษัทเซนต์-โกเบน คือผลิตภัณฑ์ฉนวนใยแก้วกันความร้อนที่มียอดจำหน่ายเป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มตลาดยุโรป ซึ่งจะทำให้กลุ่มบริษัทเซนต์-โกเบน สามารถขยายตลาดและช่องทางตลาดใหม่ๆ ใน 90 ประเทศทั่วโลกได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม การเข้ามาเทคโออเอร์กลุ่มบริษัทบีพีบี ที่ถือหุ้นในบริษัทไทยยิบซั่มนั้น จะไม่กระทบต่อการบริหารงานบริษัท ไทยยิบซั่ม โดยเซนต์-โกเบน ไม่ได้มีการส่งผู้บริหารจากบริษัทแม่เข้ามานั่งเก้าอี้ผู้บริหารไทยยิบซั่ม แต่ได้ส่งบุคลากรด้านการเงินเข้ามาดูแล ทำให้งานบริหารของไทยยิบซั่ม ยังมีระบบและนโยบายในการบริหารรูปแบบเดิม ซึ่งคาดว่าการที่ เซนต์-โกเบน ไม่มีการเข้ามาแทรกแทรงการบริหารบริษัทนั้น เนื่องจากเห็นว่ายอดขายและการดำเนินงานด้านการบริหารของบริษัทไทยยิบซั่มนั้นมีคุณภาพอยู่แล้ว
นอกจากนี้ การปรับองค์กรภายในของกลุ่มบีพีบีจะมีการปรับเฉพาะบริษัทที่อยู่ในกลุ่มประเทศแถบยุโรป ส่วนในกลุ่มประเทศเอเชียนั้น คาดว่าจะมีการอาศัยช่องทางตลาดในการขายพ่วงผลิตภัณฑ์ประเภทฉนวนใยแก้กันความร้อนร่วมกับผลิตภัณฑ์แผ่นยิบซั่ม ทั้งนี้ในส่วนของการนำเข้าสินค้าฉนวนใยแก้วกันความร้อนเข้ามาขายในประเทศไทย ซึ่งกลุ่มบริษัทเซนต์-โกเบน มีโรงงานผลิตอยู่ในประเทศจีนนั้น จะต้องรอดูสถานการณ์และตลาดภายในประเทศก่อน โดยในขณะนี้ ไทยยิบซั่มได้มีการศึกษาความต้องการและความเป็นไปได้ของตลาดเพื่อเตรียมความพร้อมไว้แล้ว โดยคาดว่าหากมีการนำเข้าฉนวนกันความร้อนดังกล่าวมาจำหน่าย ประเทศไทยจะสามารถดำเนินการได้ในไตรมาส 1-2 ของปี 50
ปัจจุบันผู้ประกอบการฉนวนกันความร้อนในประเทศไทยมีอยู่ 2 รายหลักๆ คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์ฉนวนกันความร้อนตราช้าง และกลุ่มผลิตภัณฑ์ไมโครไฟเบอร์ ซึ่งขนาดและการขยายตัวของตลาดในประเทศไทยสำหรับฉนวนกันความร้อนนี้นับว่าเป้นตลาดที่ใหญ่และมีอัตราการขยายตัวที่ดี ดังนั้นความเป็นไปได้ของการเข้ามาทำตลาดผ่านช่องทางการขายเดียวกับผลิตภัณฑ์แผ่นยิบซั่มนั้นจึงมีความเป็นไปได้มาก ซึ่งหากมีการเข้ามาทำตลาดในประเทศจริงก็จะทำให้ผู้ประกอบการในตลาดเดิมได้รับผลกระทบมากพอสมควร โดยกลุ่มตลาดที่จะเข้ามานั้นจะเป็นกลุ่มตลาดก่อสร้างบ้านและอาคารสูงเป็นหลัก
"สำหรับกลุ่มบริษัทเซนต์-โกเบน เป็นบริษัทข้ามชาติสัญชาติฝรั่งเศส ที่มีบริษัทในเครือ 5 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท เซนต์-โกเบนแอบราซีฟส์ (ประเทศไทย)จำกัด, บริษัท เซนต์-โกเบน วีโทรเท็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เซนต์-โกเบน ซีคริท (ประเทศไทย)จำกัด, บริษัท เซนต์-โกเบนเวเบอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทไทยยิบซั่ม จำกัด (มหาชน) โดยทั้ง5 บริษัทดังกล่าวเป็นกลุ่มผู้ผลิตสินค้า หินเจียรนัย กระดาษทราย หินเจียรนัยเพชร ใบตัดเพชร ผลิตภัณฑ์ใยแก้วเสริมแรง ผลิตภัณฑ์กระจกรถยนต์ ผลิตภัณฑ์กาวซีเมนต์ยาแนว มอร์ต้า ผลิตภัณฑ์ระบบผนังและเพดานยิบซั่ม" นายวิรัตน์กล่าว
นายวิรัตน์ กล่าวถึงแนวโน้มตลาดผลิตภัณฑ์แผ่นยิบซั่มว่า ในช่วงปี 47 อัตราการขยายตัวของตลาดแผ่นยิบซั่ม สูงถึง 20% แต่ในปี 48 ปรับตัวลงมาอยู่ที่ 10-12% ซึ่งก็ยังถือว่าดีอยู่แต่หลังจากเกิดปัจจัยลบ น้ำมัน ดอกเบี้ย และการเมือง ส่งผลให้ปี 49 นี้ คาดว่าตลาดจะเติบโตลดลงมาที่ 8-10% และคาดว่าหากเศรษฐกิจยังไม่ชัดเจนอย่างเช่นขณะนี้คาดว่าในปี 50 อัตราการขยายตัวของตลาดจะลดลงอยู่ที่ 5-6% ในขณะเดียวกันปัญหาของผู้ประกอบการคือต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้นขณะที่ยอดขายลดลง ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาต้นทุนในการผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้นประมาณ 30%
ทั้งนี้ที่ผ่านมาบริษัทยังไม่ได้มีการปรับราคาขายสินค้าขึ้น เนื่องจากคู่แข่งเพียงรายเดียว ซึ่งหากมีการปรับราคาขายขึ้นจะทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดได้ แต่บริษัทได้หันไปเน้นปรับลดต้นทุนวัตถุดิบและกระบวนการผลิตอย่างจริงจัง อาทิ ควบคุมการใช้พลังงานแก๊สให้มากขึ้น นำวัสดุกลับมารีไซเคิลใหม่ โดยเฉพาะเศษแร่ยิบซั่ม อย่างไรก็ตามหากต้องมีการปรับขึ้นราคาตามต้นทุนจริง คาดว่าจะปรับขึ้นประมาณ 20% ของราคาขายจึงจะครอบคลุมต้นทุนที่ปรับขึ้นไป
สำหรับผลดำเนินงานของไทยยิบซั่ม ในครึ่งปีแรกที่ผ่านมาบริษัทมีอัตราการเติบโตประมาณ 8% จากปี 48 ซึ่งถือว่าอยู่ในเป้าที่วางไว้ โดยในปีนี้บริษัทตั้งเป้าว่าจะมีอัตราการเติบโตของยอดขายที่ 8% หรือประมาณ 3,500 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นยอดขายในประเทศ 60-65% หรือประมาณ 2,000 ล้านบาท และยอดส่งออก 35-40% หรือประมาณ 1,000-1,500 ล้านบาท ส่วนแผนในครึ่งปีหลังนั้นบริษัทจะพยายามเพิ่มยอดขายในส่วนของสินค้าโครงสร้างเหล็ก และแผ่นฝ้ามากขึ้น เพื่อให้มียอดขายเติบโตอย่างต่อเนื่อง
|