|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
นักบริหารเงินเชื่อระยะ 1 เดือนข้างหน้า ค่าเงินบาททรงตัวถึงแข็งค่าระดับ 37.80-38.20 บาทต่อดอลลาร์ เงินหยวนและเศรษฐกิจจีนเป็นแรงสนับสนุน ระบุยังไม่มีเงินทุนไหลออก เพราะส่วนต่างดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐห่างแค่ 0.25% เชื่อแบงก์ชาติพร้อมขยับตามเฟดตลอดเวลา เผยปัจจัยเสี่ยงเริ่มแผ่ว ทั้งการเมืองในประเทศ สงครามตะวันออกกลางและเกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธ ลุ้นสัปดาห์นี้ถ้าไม่มีความรุนแรงแนวโน้มบาทแข็งค่าต่อเนื่อง
นายตรรก บุนนาค ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการปรับตัวของค่าเงินบาทในช่วง 1 เดือนข้างหน้าว่า ค่าเงินบาทน่าจะอยู่ในภาวะที่แข็งค่ามากกว่าการอ่อนค่า เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวโน้มหยุดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้ระดับดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 5.00% และ 5.25% ตามลำดับ ประกอบกับปัจจัยจากค่าเงินหยวนของประเทศจีนที่มีแรงกดดันจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีมาก
โดยหากอัตราดอกเบี้ยของประเทศจีนปรับตัวสูงขึ้นก็จะทำให้ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นตามไปด้วย และด้วยนโยบายของประเทศจีนก็จะเป็นตัวทำให้ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นตาม ขณะที่ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยในขณะนี้ไม่ได้เป็นปัจจัยต่อการไหลเข้าไหลออกของเงินทุนเพราะส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท.กับเฟดอยู่ที่ระดับ 0.25%
“แนวโน้มเศรษฐกิจจีนค่อนข้างดี ส่งผลให้ค่าเงินในภูมิภาคเอเชียแข็งขึ้นตามไปด้วย ซึ่งปัจจัยจากประเทศจีน และการปรับอัตราดอกเบี้ยของเฟดคือ 2 ปัจจัยหลักต่อการปรับค่าเงิน ขณะที่ปัจจัยทางการเมืองหากมีการส่งสัญญาณให้เห็นว่ามีความไม่สมานฉันท์เกิดขึ้น ก็จะนำไปสู่การอ่อนค่าของค่าเงินบาทได้”
สำหรับกรณีการไหลเข้าของเงินทุนในช่วงที่ผ่านมายังมีไหลเข้ามาบ้างเนื่องจากธนาคารพาณิชย์เกือบทุกแห่งได้ประกาศผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 2 ออกมาแล้วแม้จะเป็นตัวเลขผลการดำเนินงานที่ไม่หวือหวามากนัก แต่เมื่อนักลงทุนเห็นก็สามารถคาดเดาได้บ้างว่าผลการดำเนินงานน่าจะเป็นไปในทิศทางใดต่อ ขณะที่ในส่วนของภาคธุรกิจสถาบันการเงินก็มีนักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาลงทุนบ้าง
ส่วนเงินทุนไหลออกนั้นหลังจากที่คาดเดาว่าธปท.และธนาคารกลางสหรัฐจะหยุดการขึ้นอัตราดอกเบี้ยมองว่าเงินไหลออกไม่น่าจะมีไหลออกไปมากเนื่องจากส่วนต่างอยู่ระหว่าง 0.25% ซึ่งเป็นอัตราที่ไม่สูงมาก ซึ่งหากธนาคารกลางสหรัฐมีนโยบายปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งก็จะทำให้ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับ 0.50% ก็ไม่น่าจะมีผลกระทบเช่นกัน
“ส่วนต่าง 0.25% เราก็เคยเจอมาแล้ว หรือ 0.50% ก็เคยเจอมาแล้วเช่นกัน ซึ่งหากส่วนต่างอยู่ในระหว่าง 0.50% เชื่อว่าไม่มีผลกระทบต่อการไหลออกของเงินทุน” นายตรรกกล่าว
ชี้ค่าเงิน 37.80-38.20 บาทต่อดอลลาร์
นักค้าเงินจากธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ค่าเงินบาทน่าจะปรับตัวอยู่ที่ระดับ 37.80-38.20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 1 เดือนข้างหน้านี้ การจะปรับลดลงหรือเพิ่มขึ้นไปกว่านี้หรือไม่นั้นคงต้องจับตาดูจากปัจจัยทั้งในประเทศและนอกประเทศควบคู่ไปด้วย ทั้งปัจจัยทางการเมืองในประเทศไทยที่ต้องรอติดตามการเลือกตั้งหรือจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้เร็วแค่ไหน ขณะที่ตลาดต้องจับตาดูทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ หลังจากที่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นว่าแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อเริ่มชะลอลง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยอาจจะไม่ปรับขึ้นอีก ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้น
“ก็คงต้องดูปัจจัยการเมืองบ้านเราด้วย ถ้ายังไม่ดีเงินที่จะไหลเข้ามาลงทุนหากจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าเงินที่จะไหลเข้ามาลงทุนก็อาจจะน้อยลง ขณะที่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนก็อาจจะลดน้อยลงเช่นกัน”
สำหรับเงินลงทุนที่ไหลเข้ามาในระหว่างนี้ยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนเนื่องจากยังไม่ได้รับรายงานจากธปท. แต่ในภาพรวมเงินทุนไหลเข้าเริ่มมีกลับเข้ามาบ้าง แต่เท่าที่สังเกตจากตลาดหุ้นก็มีไม่มากนัก เนื่องจากชาวต่างชาติมีการขายหุ้นออกมาบ้าง
อย่างไรก็ตามในส่วนของค่าเงินบาทในช่วงนี้เท่าที่มองยังไม่มีเสถียรภาพมากนัก เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นยังส่งผลกระทบต่อความมีเสถียรภาพของค่าเงินบาทอยู่ ทั้งปัจจัยจากสงครามของประเทศอิสราเอล และประเทศเลบานอล ซึ่งหากปัจจัยดังกล่าวนี้ยุติหรือคลี่คลายลงได้เร็วค่าเงินบาทก็น่าจะมีความนิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ยังไม่มีปัจจัยกระทบต่อการไหลออกของเงินทุนในระยะ 30 วันข้างหน้า อย่างไรก็ตามเชื่อว่า หากในการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐครั้งต่อไป มีการประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจะต้องมีการปรับตามอีกครั้งหนึ่ง ส่วนต่างในระดับที่เป็นอยู่จึงไม่น่าจะส่งผลให้เงินทุนไหลออกไป นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมาการซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้าของหลายๆ บริษัทยังคงมีการทำค่อนข้างพอสมควร เนื่องจากในช่วงต้นปีนี้ค่าเงินบาทยังมีความผันผวนอยู่ ซึ่งในช่วงที่ค่าเงินบาทอ่อนบริษัทที่ดำเนินธุรกิจส่งออกก็เริ่มมาให้ความสำคัญ ขณะที่เมื่อค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจนำเข้าก็จะมาให้ความสนใจในการซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า
“ในแง่นโยบายของบริษัท มีการซื้อประกันความเสี่ยงจากค่าเงินบาท เนื่องจากเขารู้ว่าต้นทุนเขาจะอยู่ที่เท่าไหร่เขาก็จะทำฟอร์เวิร์ดเลย และจะได้ไม่ต้องมากังวลเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่บางบริษัทอาจจะทำไว้ป้องกันความเสี่ยงสักครึ่งหนึ่ง”
ขณะที่นักค้าเงินจากธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งกล่าวว่า สัปดาห์นี้ต้องลุ้น เพราะมีผลต่อทิศทางค่าเงินบาท แต่ก็เชื่อว่าค่าเงินบาทจะยังสามารถคงอยู่ในระดับปกตินี้ต่อไปได้ หากไม่มีเหตุการณ์การประทุที่รุนแรงเกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้โอกาสที่ค่าเงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นก็เป็นไปได้เพราะค่าเงินดอลลาร์เองก็มีแนวโน้มที่แข็งค่าขึ้นต่อ
"ช่วงที่ผ่านมามีเงินทุนไหลเขาออกล็อตใหญ่มาแล้ว ซึ่งในระหว่างนี้หากไม่มีข่าวหรือเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นค่าเงินบาทก็น่าจะรักษาระดับนี้ แต่หากมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นอาทิเหตุการณ์ของประเทศเกาหลีใต้ก็อาจจะส่งผลกระทบที่ทำให้ค่าเงินบาทอาจจะอ่อนค่าลงได้ ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทยไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการอ่อนค่าของค่าเงินบาท"
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ในสัปดาห์นี้ ค่าเงินบาทยังมีโอกาสแข็งค่าได้ โดยคาดว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบประมาณ 37.70-38.25 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ ตลาดคงจะติดตามข่าวเกี่ยวกับค่าเงินหยวนต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนหน้า รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญหลายตัว อาทิ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสำนัก Conference Board เดือนกรกฎาคม ยอดขายบ้านใหม่และบ้านมือสองเดือนมิถุนายน ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนมิถุนายน ตลอดจนจีดีพีไตรมาส 2/2549 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของมหาวิทยาลัยมิชิแกนเดือนกรกฎาคม
ด้านธนาคารพาณิชย์คงจะมีการทยอยเตรียมสภาพคล่องเพื่อรองรับการเบิกถอนเงินสดของลูกค้าในช่วงสิ้นเดือน ทั้งนี้ คาดว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอาจจะทรงตัวต่อเนื่องหรือขยับขึ้นได้เล็กน้อย โดยอัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์ประเภทข้ามคืนน่าจะปรับตัวอยู่ในช่วงประมาณ 4.95-4.97%
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าการที่ปัจจัยทางการเมืองภายในประเทศเริ่มมีสัญญาณคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น น่าจะยังคงเป็นปัจจัยบวกต่อทิศทางตลาดหุ้นในสัปดาห์นี้ ขณะที่ปัจจัยภายนอกประเทศ เช่น ทิศทางของตลาดหุ้นต่างประเทศ และสถานการณ์ในตะวันออกกลาง ซึ่งจะส่งผลต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกจะยังคงเป็นปัจจัยที่นักลงทุนให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในระยะสั้นคาดว่าดัชนีคงจะได้รับผลกระทบจากการซื้อขายเพื่อเก็งกำไรการรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียบในไตรมาส 2/2549 โดยเฉพาะจากกลุ่มพลังงาน ซึ่งยังคงทยอยรายงานออกมา ทางด้านบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทยคาดว่า ดัชนีจะมีแนวรับที่ 677 และ 680 ส่วนแนวต้านคาดว่าจะอยู่ที่ 695-700 และ 722 ตามลำดับ
|
|
|
|
|