"นายแพทย์นที รักษ์พลเมือง ผู้ที่มีอายุพ้นวัยเกษียณมาแล้ว 9 ปี แต่ยังมีหน้าที่สำคัญๆ
มีภารกิจปฏิบัติอย่างต่อเนื่องมากมาย ในฐานะนายกสมาคมผู้ปกครอง และครูโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
โรงเรียนเทพศิรินทร์ และโรงเรียนสตรีวิทย์ ที่ลูก ๆ ทั้งสามคนเคยเรียน เฉพาะโรงเตรียมอุดมศึกษาได้รับตำแหน่งนายกมาตั้งแต่
พ.ศ. 2517 สมัยลูกชายยังศึกษาอยู่จนจบปริญญาเอกแล้วในทุกวันนี้
นอกจากนี้ ยังมีตำแหน่งเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีหน้าที่สำคัญ
ๆ เกี่ยวกับนโยบายหลัก ๆ และเรื่องอื่น ๆ อีกมาก เป็นแพทย์ประจำที่ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิติคส์
และกายภาพบำบัดโรงพยาบาลศิริราช ที่ยังคงมาปฏิบัติงานเป็นประจำทุกวันตั้งแต่
8 โมงเช้า
นายแพทย์นที กล่าวถึงการประชุมกับสมาคมฯ ในช่วงที่ผ่านมาว่า สมาคมผู้ปกครองฯ
ที่จะมีการประชุมเดือนละ 1 ครั้ง นั้น ยังไม่มีการพูดคุยถึงการสอบเข้ามหาวิทยาลัยระบบใหม่เลย
และก็ไม่ทราบรายละเอียด ที่ผ่านมาจะเน้นเรื่อง การหาทุนทรัพย์และแนวคิดต่าง
ๆ ให้กับครูเพื่อให้ไปสู่นักเรียนอีกทอดหนึ่ง
การนำคะแนนเฉลี่ยสะสมของเด็กในแต่ละโรงเรียนไม่เท่ากัน ถ้านำนักเรียนโรงเรียนอื่นมาเข้าเตรียม
จากที่เคยได้เกรดเฉลี่ยถึง 4 ก็คงจะไม่ได้ ถ้าเป็นสมัยก่อนหรือตอนนี้ที่เป็นระบบสอบรวมพร้อมกันหมด
เป็นเรื่องที่ยุติธรรมที่สุด แต่ก็ไม่ใช่ระบบที่ดี
"การสอบระบบใหม่อาจจะดีขึ้นกว่าระบบเดิมแม้จะดูค่อนข้างซับซ้อนในการหามาตรฐาน
แต่จะต้องให้มีมาตรฐานในการวัดและเชื่อถือได้"
ที่น่าเป็นห่วงคือ โรงเรียนทุกโรงเรียนมีมาตรฐานต่าง ๆ กัน โรงเรียนที่ผลคะแนนออกมา
ตราไว้ว่าคะแนนมาตรฐานต่ำก็คงจะรู้สึกอย่างไรอยู่ จากเดิมที่มีความรู้สึกที่ไม่เป็นทางการอยู่แล้ว
เจอแบบนี้คงยิ่งแย่ลงไปใหญ่
นพ. นทีให้ความเห็นด้วยว่า ส่วนของการพัฒนามาตรฐานโรงเรียน จึงควรเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องทำให้โรงเรียนดีขึ้นเสียก่อน
เหมือนอย่างที่ทำมาบ้างแล้ว ในการส่งครูโรงเรียนเตรียมอุดม และโรงเรียนมีชื่อต่าง
ๆ ไปช่วยวางระบบในโรงเรียนพี่น้อง ก็ช่วยได้ดี หรือจะให้มีการใช้ข้อสอบจากโรงเรียนแม่ในการทดสอบการเรียนการสอบ
ก็เห็นผลจากผลการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของเด็กในโรงเรียนเหล่านั้นที่ดีขึ้นเรื่อย
ๆ
แต่ค่านิยมที่ฝังลึกในโรงเรียนมีชื่อคงเปลี่ยนไม่ได้ เหมือนที่เป็นอยู่กับโรงเรียนพี่น้องถึงเป็นที่ยอมรับมากขึ้น
แต่ถ้าเป็นไปได้คนก็ยังเลือกเรียนที่โรงเรียนแม่มากกว่า นายแพทย์นทีเองก็เชื่อเช่นนั้น
อย่างการเอาโรงเรียนไปสร้างสาขา ถ้าทำให้ดีเท่ากับโรงเรียนแม่ก็นับว่าโชคดีเต็มที่แล้ว
ส่วนข้อเสียของระบบเดิม ซึ่งเป็นการสอบข้อเขียนอย่างเดียว ไม่ได้วัดความถนัดและความสนใจที่แท้จริงของเด็ก
ควรจะเพิ่มเติมในส่วนของการวัดความถนัด เพื่อให้ตรงกับสาขามากขึ้น เหมือนสอบคัดเลือกแพทย์ศิริราชที่ทางมหาวิทยาลัยจัดการทดสอบจะไม่ได้สอบเฉพาะข้อเขียนเหมือนส่วนกลาง
จะเริ่มให้เด็กที่สนใจอยากเรียนเข้ามาดูงานตั้งแต่ชั้นมัธยม ดูว่าสนใจแค่ไหน
เรียกว่าใช้เวลานานกว่าจะรับเข้ามา โดยเฉพาะขั้นตอนการสัมภาษณ์ที่จะต้องให้รู้ถึงความคิดของเด็กทั้งเหมาะกับการแพทย์
อาทิ จริยธรรม ความอดทน รับผิดชอบ เมตตา อย่างกรณีที่เรียนเพราะพ่อแม่ให้เรียนนั้นแย่ที่สุด
แต่ข้อควรระวังก็คือความยุติธรรมในการให้คะแนน
การวัดผลระหว่างที่ทางมหาวิทยาลัยรับเองกับที่สอบเข้ามาจากส่วนกลาง จนบัดนี้ยังไม่มีการวัดผลว่าส่วนไหนได้ผลกว่ากัน
ต้องรออีก 2 ปีจึงจะทราบว่าการเรียนเป็นอย่างไร ผลจากที่สำเร็จไปเป็นหมอแล้วเป็นอย่างไร
ตรงตามลักษณะที่ต้องการไหม โดยจะวัดจากเด็กที่เข้ามารุ่นแรกเมื่อ 3 ปีที่แล้ว
ท้ายสุด ตามความเห็นนายแพทย์นที ก็เชื่อว่า แม้วิธีสอบเข้ามหาวิทยาลัยระบบใหม่ที่พยายามปรับปรุงขึ้นยังไม่ดีที่สุด
แต่ก็ช่วยลดการแข่งขันลง เพราะทั้งปัจจุบัน หรือในอดีตที่ผ่านมา การสอบเข้ามหาวิทยาลัยของไทยก็ไม่ต่างกันเลย
แม้จำนวนคนสอบเพิ่มขึ้น จำนวนที่รับก็เพิ่มขึ้น แต่อัตราส่วนของผู้สอบผ่านและไม่ผ่านก็คงอยู่ในอัตรา
1:10 หรือบวกลบเล็กน้อยเท่านั้นเอง