|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
- "HR" เคทีซีการ์ด มีทีเด็ดที่ทีม "ER" มีจุดเด่นสร้างสรรค์ไม่เหมือนใคร
- เมื่อก่อนมีหัวหน้าที่ยิ้มรับเมื่อถูกเรียกว่า "Fun Manager"
- แต่ตอนนี้ชักเหนื่อยใจเพราะมีแต่คนสงสัยว่าทำอะไรหรือ?
- ก็ขอบอกว่าในหัวมีแต่ความคิดจะสนุกยังไงให้ถึงเป้าหมาย "ทำงานได้ผล คนมีความสุข"
ภาพที่ปรากฏสู่สายตาคนนอกด้วยการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับองค์กร "เคทีซีการ์ด" บัตรเครดิตของคนหัวคิดทันสมัย ไม่ใช่แค่เพียงเปลือกนอก อย่าง สถานที่ หรือคำโฆษณา เท่านั้น แต่ "เนื้อใน" ซึ่งหมายถึงคนหรือบุคลากร ยังถูกสร้างให้เป็นไปในวิถีทางเดียวกันอย่างเข้มข้นภายใต้วัฒนธรรมองค์กรที่สนุกสนาน
เบื้องหลังการปฏิวัติให้การทำงานเป็นไปอย่างมีความสุข มาจากงาน HR (Human Resource) นี่เอง
และเบื้องหลังความสำเร็จของงาน HR แนวใหม่ ก็มาจากทีม ER (Employee Relations Team) นั่นเอง ซึ่งรวมพลคนร่าเริง พร้อมกับความคิดสร้างสรรค์แปลกๆ ใหม่ๆ ที่มาจากความสามารถพิเศษเฉพาะตัว
แค่ชื่อตำแหน่งหัวหน้าทีมก็กินขาด "Fun Manager" สร้างความฮือฮากันไปในช่วงโหมโรง ใครได้รู้เป็นต้องขมวดคิ้ว มาตอนนี้เปลี่ยนใหม่กลับไปใช้แบบเบสิก "Employee Relations Manager" นัยว่าเพราะผู้หญิงไม่กล้าเข้าใกล้ 2 หนุ่มอารมณ์ดี (อิ...อิ...) แต่เหตุผลจริงๆ ก็แค่เพิ่มชื่อที่เป็นทางการหรือชื่อจริงขึ้นมาเท่านั้น ส่วนชื่อเดิมก็ให้เป็นชื่อเล่น
ทีมนี้มีแต่คนรัก
"มานะ บุญคุณ" รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Executive Vice President- Resources Management) บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เล่าด้วยท่าทีสบายๆ ให้ "Smart Job" ฟังว่า งาน HR ของเคทีซีการ์ดแต่เดิมก็เหมือนกับ HR ทั่วไป ซึ่งตามปกติของโครงสร้างงานมี 3 ส่วน คือ 1.งานสรรหา 2.งานพัฒนา และ3.งานรักษาให้พนักงานดีๆ อยู่กับองค์กรนานๆ
แต่สิ่งที่เคทีซีการ์ดเพิ่มเข้ามา คือ ส่วนที่4.ความสนุกสนาน เพราะมองว่าถ้าให้เลือกทุกคนอยากทำงานอย่างมีความสุข
เพราะฉะนั้น "นโยบายของงาน HR" ที่นี่ จึงชัดเจนว่า "หน้าที่ไม่แตกต่างจาก HR อื่น แต่มุมมองคือต้องพยายามสนับสนุนให้ทรัพยากรมนุษย์ขององค์กรทำงานให้สำเร็จ ทำงานให้สนุก ไม่เครียด มันค่อนข้างฉีกแนวกว่าคนอื่น เพราะเอชอาร์สมัยโบราณทำตัวเหมือนผู้คุ้มกฎ เป็นยักษ์ที่คอยลงโทษ จับผิด ทำให้พนักงานไม่กล้ามาคุยหรือปรึกษาปัญหา"
"บุคลิกคน HR" โดยเฉพาะทีม "ER" ที่นี่ซึ่งแปลกแหวกแนว จึงเป็นคนสนุกสนาน ใจกว้างพร้อมฟังความคิดเห็น และพร้อมจะเปลี่ยนแปลงเร็ว ตามลักษณะของธุรกิจการเงินที่ต้องปรับตัวเร็ว
"ความท้าทายของ HR" ที่นี่ จึงมุ่งมั่นอยู่ที่ "ทำอย่างไรให้ทรัพยากรมนุษย์ขององค์กรมีคุณค่า มีความสามารถเพิ่มขึ้น และเหนือกว่านั้น คือ ทำอย่างไรให้ทำงานอย่างมีความสุข อยากอยู่กันนานๆ ตื่นเช้ามาแล้วอยากมาทำงาน"
ปฏิบัติการหลอมรวม
ความสุขที่สรรค์สร้างมีมากมายหลากหลาย ทั้งที่เป็นเรื่องปกติทำได้ทุกวัน เช่น ไม่ต้องผูกเนคไทให้อึดอัด แค่แต่งให้เหมาะสมหรือจะแบบทันสมัยสร้างสีสันให้ชีวิตก็ทำได้แบบชิลๆ สร้างมุมพักผ่อนในออฟฟิศ ด้วยเก้าอี้นวดผ่อนคลายความเมื่อยล้า โต๊ะพูลที่เล่นกันได้ทีละหลายๆ คน ห้องประชุมที่นอนเอกเขนกได้อย่างสบายๆ
นอกจากจะ สารพัดจะเอาใจ ความสนุกยังไม่มีการบอกขอบเขตว่าทำได้แค่ไหน เพราะกฎเกณฑ์ก็อาจจะทำให้คนอยากแหกกฎและอึดอัด แต่ "สังคมลงโทษ" กลายเป็นเครื่องมือที่วัดได้อย่างดีและควบคุมให้ความสนุนสนานเกินเลย
อย่างเช่น ใครแต่งโป๊โชว์เกินหรือประหลาดเกินทน ทีม ER ยืนยันว่า ทดลองด้วยตัวเองมาแล้ว ปรากฎว่า เกิดความวุ่นวายกับชีวิตจนต้องทบทวนตัวเอง หันมาปรับระดับแค่พอดีๆ ใครเล่นเสียงดังตอนคนอื่นจริงจังต้องการความสงบ มีหวังโดนดีให้ได้สลดหรืออับอายขายหน้า
กิจกรรมที่คิดค้นขึ้นมาเป็นครั้งเป็นคราวก็อัดแน่น ไม่ปล่อยให้เบื่อซึม เช่น จับผู้บริหารมาเดินแฟชั่นโชว์ให้ได้ขำๆ เขินๆ มีดอกกุหลาบกับช็อคโกแลตให้เซอร์ไพร้ซ์ในวันวาเลนไทน์ไม่มีเปลี่ยวเหงา จัดทัวร์สนุกๆ ให้ไปเฮฮาเปิดหูเปิดตา เหมาโรงหนังเกือบทุกวันศุกร์ให้ได้อินเทรนด์กับหนังใหม่
ระบบตอกบัตรหรือเซ็นชื่อไม่ใช่เรื่องจำเป็น ไม่มีการเช็คเวลาทำงาน แต่ทุกคนต้องรู้เอง มีวินัยรับผิดชอบหน้าที่ การเชิญชวนให้ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเป็นออฟฟิศแบบไร้กระดาษ ลดความรกรุงรังและเพิ่มความทันสมัย ก็ได้ผลมากขึ้นเรื่อยๆ
ปีนี้ ความเด่นชัดของ "Smart Office" นอกจากการออกแบบสถานที่ทำงานอย่างมีสีสันทันสมัยและเหมาะกับการใช้งาน เรื่องที่น่าสนใจที่สุด คือ การไม่มีโต๊ะประจำตัว ใครพอใจนั่งที่ไหนก็เข้าไปจองที่ จัดเอาไว้ 70% ของจำนวนกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นส่วนงานที่ไม่ต้องนั่งประจำที่ตลอดทั้งวัน เช่น ฝ่ายการตลาด และฝ่ายการขาย
วิธีใหม่ของการทำงาน ทำให้ได้เพื่อนใหม่จากหน่วยงานอื่น ได้เปิดโลกทัศน์รู้จักเข้าใจงานของเพื่อน ช่วยลดอุปสรรคขวางกั้นการทำงานแบบเดิมๆ ไม่มีอาณาจักรของฉันของเธอ ซึ่งทำให้เกิดเป็นปัญหาที่เกิดจากคนไม่ใช่ปัญหาจากเนื้องานที่แท้จริง
"เมื่อก่อนเกิดปัญหารู้แค่เชิงลึกอย่างเดียว แต่คนสมัยใหม่น่าจะต้องรู้เชิงกว้างด้วย มีมุมมองกว้าง เช่น คนที่ทำด้านจัดซื้ออาจจะรู้ว่าการตลาดหรือฝ่ายกฎหมายทำอะไร ทำไมต้องทำอย่างนี้ การประสานงานกันก็เกิดขึ้น ไม่ต่างคนต่างทำ หรือการเป็นทีมเวิร์คจะเกิดได้รวดเร็ว รวมทั้ง การเปลี่ยนตำแหน่งงาน ก็ทำได้ง่ายกว่าเดิม" มานะ อธิบายประโยชน์ของการทะลายกำแพง และการหลอมคน 900 กว่าคนในองค์กรให้เป็นเนื้อเดียวกัน
"ดุสิต รัชตเศรษฐนันท์" Vice President-Human Resources เสริมว่า "job describtion" แบบอดีตที่เคยทำตามๆ กันมา ระบุขอบข่ายงานตามหน้าที่รับผิดชอบของแต่ละคนที่ต้องเสียเวาลาเขียนกันนานและละเอียดยืดยาว กลายเป็นเกราะปิดกั้นการเรียนรู้ใหม่ๆ
แต่ที่นี่ปฏิวัติให้เหลือแค่ "scope of work" 3-4 บรรทัด บอกแค่ว่าตำแหน่งหน้าที่งานนี้เขาทำอะไรกันบ้าง เช่น ER หน้าที่ คือ ทำอย่างไรให้บุคลากรของที่นี่ "ทำงานได้ผล คนมีความสุข" ไม่ต้องใส่รายละเอียดมากมาย และตัดทอนขั้นตอนที่ยาวๆ ออกไป
ทุกอย่างที่ทำล้วนแต่ทำให้ "คน" ใกล้ชิดกัน และมีความสุขในการทำงาน
บทสรุปบนความบันเทิง
"พอเราขับเคลื่อนจากภายใน ลุคที่ออกมา คนจากภายนอกก็เห็นด้วยว่าเรามีคนทำงานที่กระตือรือร้นและเป็นคนทันสมัย คนในก็รักเรา อัตราการหมุนเวียนเข้าออกก็น้อยมาก" มานะ ย้ำถึงผลการปรับโครงสร้างงาน HR
พร้อมกับบอกทิศทางที่กำลังก้าวไปว่า เพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กรไปสู่เป้าหมาย 5 อย่าง คือ 1. modern มีความทันสมัย 2.dynamic สามารถปรับตัวให้ทันกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป 3.professional เป็นมืออาชีพ 4.simple เรียบง่ายทั้งวิธีการทำงานและสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ในการทำงาน และ5. fun มีความสนุกสนานในการทำงาน
ผลสำเร็จที่เกิดขึ้น นอกจากจะมาจาก HR ที่กลายพันธุ์ในแง่มุมมองความคิด ยังมีทีม ER ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือจะสำคัญ แต่มีพื้นฐานความถนัดที่แตกต่างกันมารวมกัน อย่าง ออร์แกไนเซอร์ นักการตลาด นักดนตรี และนักกีฬา ที่ทำให้การทำงานเป็นได้มุมมองที่แตกต่างกัน สามารถสร้างสรรค์กิจกรรมที่เหมาะและแปลกใหม่
ส่วนคนที่จบทางด้านนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ สำหรับงาน HR ก็ยังมีความสำคัญในแง่ความแม่นยำเรื่องกฎระเบียบ เช่น การจ่ายค่าตอบแทน
"มานะ" เองก็เช่นกัน โดยพื้นฐานไม่ได้มาจากงาน HR โดยตรง แต่ประสบการณ์ในการบริหารองค์กรก็ทำให้เขาสร้างทีม HR และ ER พันธุ์ใหม่ที่กลายพันธุ์ จากเผ่าพันธุ์เดิม... มาเป็นพันธุ์สนุกสนาน
เขาสรุปถึงสิ่งที่ได้จากงานนี้ว่า ยากแต่ก็ท้าทาย รู้สึกภูมิใจ และมีความสุข เพราะเป็นงานที่ทำให้คนอื่นมีชีวิตที่มีความสุข มีสมดุลในชีวิตระหว่างชีวิตทำงาน กับชีวิตด้านอื่น คือ ชีวิตส่วนตัว ชีวิตครอบครัว
การต่อเชื่อมไปสู่คนมากมาย เท่ากับว่างานนี้มีส่วนในการสร้าง "คน" ส่วนหนึ่งที่ดีให้กับสังคม
แก๊ง "ER" ฝากบอก
ของฝากจาก 6 ชีวิตในทีม ER (Employee Relations Team) มาบอกถึงงานของเขา เริ่มจาก 2 หัวหน้าแก๊ง และตามด้วย 4 นักล่าความสนุก
กบ-พลกฤต ผดุงเดชสิริ Manager-Employee Relations หรือ Fun Manager พูดถึงงานนี้ว่า ตั้งแต่ได้รับมอบหมายครั้งแรกว่า ทำอะไรก็ได้ให้พนักงานมีความสุข ให้สนุก เราก็คิดว่ามันใช่ตัวเราเพราะเราเป็นคนสนุกสนานอยู่แล้ว และเขาก็เปิดโอกาสให้เราได้ทำเต็มที่
แต่ที่ท้าทายคือ การเปลี่ยนจากงานเดิมสื่อสารการตลาด เป็นสื่อสารองค์กร มาดูแลพนักงาน ทำอย่างไรให้เขาเข้าใจกันและกัน พอทำได้และมีงานใหม่ๆ เข้ามา เราก็ยิ่งอยากจะทำให้มันสำเร็จ
เอ-สุขศิริ ว่องชาญกิจ Manager-Employee Relations หรือ Fun Manager อีกคน บอกว่าสิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้ คือ วันนี้ถ้าคุณตื่นขึ้นมาตอนเช้าแล้วรู้สึกไม่มีความสุข ลองมาบอกเรา เราจะช่วยให้คุณมีความสุขและสนุกกับการทำงานได้
ตอง-ศันสนีย์ เชื้อชูชาติ อยากบอกถึงความรู้สึกที่เข้ามาทำงานนี้ว่า จากที่เคยเป็นเลขาฯ มาก่อน แต่พอรู้ว่าต้องมาทำงานนี้ตอนแรกงงมากว่าอีอาร์คืออะไร ไม่แน่ใจว่าเราจะทำได้และทำได้ดีหรือเปล่า แต่พอมาทำแล้วก็รู้สึกชอบเพราะเป็นตัวตนของเราจริงๆ มันเป็นงานแปลก ทำให้ยิ่งต้องพัฒนาตัวเอง และต้องคิดอะไรใหม่ๆ ทุกวัน
มด-พัชรางสุ์ ไชยเชิงชน อยากบอกว่าวิธีที่เราเข้าถึงพนักงาน เราใช้การที่เราเอาตัวเราเข้าไปแทน สำหรับคนที่สนใจจะทำงานอย่างนี้ต้องมองโลกกว้างและแง่บวก
ดัส- ฑิฆัมพร สิริทัศน์ เมื่อก่อนเป็นโปรกอล์ฟ ใส่เสื้อโปโล กางเกงสแล็กทุกวัน ต้องทำตัวขรึมเกินอายุ แต่พอมาทำงานแผนกอีอาร์ของเคทีซี ได้เป็นเด็กตามอายุอย่างตั้งใจ อยู่ที่นี่ได้มากทั้งประสบการณ์ทำงานใหม่ๆ เช่น การจัดงานอีเว้นต์ต่างๆ ที่ไม่เคยทำ ก็มีพี่แนะนำ ไม่เคยคิดว่าจะได้งานนี้มาก่อน แค่อยากเปลี่ยนจากงานฟรีแลนซ์ที่เป็นอาชีพอิสระ มาเป็นงานในองค์กร ซึ่งดีตรงที่องค์กรนี้ไม่มีกรอบชัดเจน ให้ใช้ความอิสระและความคิด
โต้-ศานติ สุศันสนีย์ อีอาร์สไตล์ผม สำหรับคนอื่นอาจจะต้องรีบมาเข้างานให้ทัน 8 โมง แต่ผมเข้างาน 10 โมงก็ได้ เพราะดูที่เนื้องานเป็นหลัก แต่ถ้าวันไหนมีงานอีเว้นต์ผมต้องไปให้ทัน แต่วันปกติผมก็มาสาย นี่คือตัวผม ซึ่งเพื่อนๆ อาจจะอิจฉา
และอีกอย่างคืออีอาร์ของเคทีซีสนุกตรงที่มีอิสระทางความคิด ไม่ว่าจะดีหรือแย่ ก็จะมีการรับฟัง และพิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จะทำอีกครั้ง เสนองานโปรเจ็คใหญ่ๆ ก็ได้ไม่มีการปิดกั้น ที่นี่ไม่มีคำว่านาย-บ่าว ไม่ต้องคลานต่ำแต่แค่เดินตรงเข้าไปหา เพราะเราพูดคุยกันได้ตลอด แต่ไม่ถึงกับเอามือไปแตะหัวพี่เขา...(อิ...อิ...)
|
|
 |
|
|