|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
เดี๋ยวนี้ สินค้าอะไร ๆ ก็จับกระแสรักสุขภาพกันทั้งนั้น จะด้วยว่าผู้คนมีรายได้มากขึ้น (มีเงินเหลือซื้อของทีดีต่อสุขภาพได้มากขึ้น) ฉลาดเลือกขึ้น หรือให้ความสำคัญกับสุขภาพที่ดีมากขึ้น ก็แล้วสุดแท้แต่เหตุผลของแต่ละคนบรรดาสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งหลาย - เช่น น้ำปลา, น้ำมันพืช, เกลือ, ข้าวสาร ฯลฯ - ที่ไม่รู้จะสรรสร้างความแตกต่างให้เกิดตรงไหนดี เริ่มจับประเด็น "เพื่อสุขภาพ" นี่ล่ะ เป็นตัวสร้างความแตกต่าง
ล่าสุด น้ำมันพืชทิพได้สร้างแบรนด์ย่อย (Sub Brand) ที่ชื่อว่า "ทิพ ไวส์" (Tip Wise) ขึ้นมา ทิพมองว่าน้ำมันนั้นมีหลายประเภท
แต่ละประเภท ก็เหมาะกับการปรุงอาหารแต่ละวิธี แตกต่างกันไป จึงนำเสนอน้ำมันพืช "ทิพไวส์" 5 ชนิด
"น้ำมันเมล็ดฝ้าย" สำหรับทอด
"น้ำมันข้าวโพด" และ "น้ำมันดอกทานตะวัน" สำหรับการทำอาหารประเภทผัด
"น้ำมันถั่วเหลืองผ่านกรรมวิธี" ที่เหมาะสำหรับการทำน้ำสลัดและการผัด
และ "น้ำมันถั่วเหลืองผสมน้ำมันปาล์ม" ที่มีอัตราส่วนกรดไขมันที่สมดุลเหมาะทั้งการทำอาหารประเภททอดหรือผัด
โดยผลิตภัณฑ์ทั้งหมด บริษัทได้ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการทำวิจัย น้ำมันพืชทิพไวส์ กำหนดกลยุทธ์และแนวทางการทำตลาดโดยมุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าระดับพรีเมี่ยมเป็นหลัก โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่ "ใส่ใจสุขภาพ"
ซึ่งจากการคาดการณ์พบว่า กลุ่มผู้บริโภคกลุ่มนี้มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราการเติบโตไม่น้อยกว่า 10% ต่อปี
ม.ร.ว.สุภาณี ดิศกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท น้ำมันพืชทิพ จำกัด ชี้ว่า เป็นครั้งแรกที่บริษัทมีการ Segmentation สินค้า และ ถือเป็นครั้งแรกของวงการน้ำมันพืชที่ใช้กลยุทธ์นี้อีกด้วย
"เราต้องการสื่อให้ผู้บริโภครับรู้ว่าน้ำมันพืชขวดเดียวไม่สามารถใช้ปรุงอาหารได้ทุกประเภท" เธอกล่าว
"เรายังตั้งเป้าว่า ในอนาคตแต่ละบ้านมีการใช้น้ำมัน 2 ขวดไว้สำหรับ ผัด และ ทอด"
เธอยอมรับว่าทุกวันนี้มีผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งที่มีพฤติกรรมเช่นนี้อยู่แล้ว คือ ใช้น้ำมันแต่ละชนิดสำหรับการปรุงอาหารที่แตกต่างกัน แต่ก็เพื่อให้เกิด "ความอร่อย" เท่านั้น ในขณะที่ทิพจะมุ่งไปยังประเด็น "สุขภาพ"
"น้ำมันที่เหมาะสำหรับทอด จะสามารถทนความร้อนได้สูงเป็นเวลานาน ซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดสารอนุมูลอิสระซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งและทำให้เซลล์เสื่อมสภาพหรือแก่ก่อนวัย"
ทั้งนี้บริษัทฯได้ทุ่มงบการตลาด 60-70 ล้านบาท ในการสร้างความรู้และความเข้าใจสำหรับพฤติกรรมการใช้น้ำมันพืช โดยในช่วงแนะนำน้ำมันพืชทิพไวส์ จะใช้ภายใต้คอนเซปต์ "ทิพไวส์ กินอย่างคนที่รู้ อยู่อย่างคนฉลาดใช้ชีวิต"
ซึ่งงบการตลาดจะเน้นการทำบีโลว์เดอะไลน์เป็นหลัก เพื่อให้การสื่อสารเข้าถึงตัวผู้บริโภคโดยตรง โดยได้เตรียมจัดกิจกรรมการตลาด ณ จุดขาย เดินสายโรดโชว์ และจัดโปรโมชั่น ส่วนภาพยนตร์โฆษณาประชาสัมพันธ์จะออกอากาศภายใน 2 เดือนนี้
นอกจากนั้น ทิพยังมีจุดเด่นที่รูปแบบผลิตภัณฑ์ซึ่งมีความโดดเด่นและทันสมัย ได้รับ รางวัลบรอนซ์ อวอร์ด สาขาการสื่อสารการตลาด ด้านการออกแบบกราฟฟิกประเภทบรรจุภัณฑ์ จากการประกวดรางวัล Adman Awards 2006 อีกด้วย
ทิพกำลังเคลื่อนทัพจากตลาดแมสไปสู่ตลาดเฉพาะ ที่มีการแข่งขันต่ำกว่าและกำไรสูงกว่า
ทิพนั้นพยายามหาตลาดที่ทำกำไรได้มากกว่า เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามราคาที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงในตลาดแมส ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการน้ำมันพืชได้จำหน่ายสินค้าในราคาถูกกว่าราคาควบคุมถึง 10 บาท
นอกจากนี้ในตลาดยังมีสินค้า "เฮาส์แบรนด์" ที่เข้ามาเป็นคู่แข่งขันรายหลัก โดยชูกลยุทธ์ด้านราคาที่ถูกกว่า ยกตัวอย่าง น้ำมันถั่วเหลืองเฮาส์แบรนด์จำหน่าย 30 บาทต่อขวด แต่สินค้าแบรนด์ทั่วไป 34-35 บาท โดยกลยุทธ์ราคาส่งผลให้น้ำมันพืชเฮาส์แบรนด์มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของทิพนั้น กำลังบอกอะไรกับเรา?
ทิพกำลังมุ่งหน้าสู่ Blue Ocean ใช่หรือไม่?
จะทำได้รึเปล่า?
บทวิเคราะห์
ทิพคือน้ำมันพืชที่อยู่ในฐานะผู้นำตลาดมาอย่างยาว
ในยุคที่ผู้คนเริ่มเปลี่ยนจากน้ำมันหมูมาใช้น้ำมันพืชในการทำอาหาร ทิพเป็นน้ำมันพืชแบรนด์แรกๆที่ลงมาทำตลาดจนกระทั่งกลายเป็นผู้นำตลาดในที่สุด
ปัจจุบันคนหันมาบริโภคน้ำมันพืชกันทั่วบ้านทั่วเมือง เพราะกลัวคลอเรสเตอรอลจากน้ำมันหมู ทั้งๆที่อยากกินน้ำมันหมูมากกว่าเพราะอร่อยกว่า
การที่ผู้คนหันมาบริโภคน้ำมันพืชกันมากนั้นทำให้ผู้ประกอบการมากหน้าหลายตาแห่กันเข้ามาในตลาดอย่างมากมาย ต่างฝ่ายต่างผลิตน้ำมันพืชอออกมาวางจำหน่ายโดยที่ความแตกต่างอยู่ที่วัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิตเท่านั้น แต่โดยรวมไม่มีความแตกต่างมากนัก
ส่งผลให้น้ำมันพืชกลายเป็น Commodity โดยเฉพาะรายที่แบรนด์ไม่แข็งก็ต้องสู้กันที่ราคาเป็นหลัก
คู่แข่งขันที่น่ากลัวก็คือ House Brand ที่มาจากจากเจ้าโมเดอร์นเทรดที่ทุกห้างต่างผลิตออกมาขายแข่งกับแบรนด์ดัง โดยที่ตั้งราคาขายถูกกว่าหลายบาท
ในยุคที่เศรษฐกิจการเมืองจะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้นั้น House Brand ของบางห้างขายดีที่มาก เพราะไม่มีความแตกต่างระหว่างสินค้ามีแบรนด์และ House Brand
การแข่งขันจึงค่อนข้างลำบากมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งแบรนด์ที่ไม่ดัง สุดท้ายก็ต้องลดราคามาสู้ ขณะที่แบรนด์ผู้นำนั้นก็ต้องฉีกหนีตลาด Red Ocean ที่การแข่งขันดุเดือดเลือดพล่าน มาร์จิ้นน้อย
ในฐานะผู้นำ การที่น้ำมันพืชทิพฉีกออกมา Tip Wise นั้นถือเป็นการออกมาในจังหวะที่เวลาที่เหมาะเจาะโดยเฉพาะอย่างยิ่งใช้ชื่อ Wise เพราะผู้ซื้อคือแม่บ้าน และแม่บ้านที่ซื้อนั้นคือแม่บ้านสมองไวที่ชาญฉลาด
Tip Wise เป็นการเข้าสู่เซ็กเม้นท์สุขภาพ
ฟิลิป คอตเลอร์ ให้สัมภาษณ์ไว้ใน "คิดใหม่เพื่ออนาคต" ไว้ว่า"ผมคาดการณ์ว่าการทำการตลาดสำหรับผู้บริโภคจะต้องเริ่มต้นโฟกัสมาที่ความต้องการกลุ่มผู้สูงวัย (Older generation) อย่างน้อยที่สุดก็ในประเทศที่พัฒนาแล้ว
โลกในยุคปัจจุบันเป็นยุคของผู้สูงวัย พลังของประชากรที่ครอบงำสังคมโลกของต้นศตวรรษที่ 21 จะเป็นผู้บริโภคที่มีอายุ 55 ปีหรือมากกว่านั้น เราจะเห็นการเคลื่อนย้ายจุดโฟกัสทางการตลาดในแต่ละทศวรรษตั้งแต่หลังยุคสงครามโลก
...จากวัยทารกไปสู่วัยรุ่น
...จากวัยรุ่นสู่วัยหนุ่มสาว
...จากวัยหนุ่มสาวสู่วัยกลางคนตอนต้น
...และปัจจุบันก็สู่วัยกลางคนตอนปลาย
ขณะที่กลุ่ม "เบบี้บูมเมอร์" เริ่มย่างเข้าสู่วัยห้าสิบและหกสิบ จุดโฟกัสจะเคลื่อนย้ายไปสู่สินค้าสุขภาพ ต้องการบ้านพักในวัยเกษียณและการพักผ่อนที่ไม่ใช้พละกำลังมากมายนัก
ทุกวันนี้เราคิดว่าการดูแลสุขภาพนั้นเป็นเรื่องจำเป็นในยามที่เจ็บไข้ได้ป่วยเท่านั้น
ทว่าในอนาคตกลุ่มผู้สูงอายุนั้นต้องการมีสุขภาพดีตลอดไป ดังนั้นลูกค้ากลุ่มนี้จะต้องตรวจสุขภาพเป็นประจำสม่ำเสมอมากกว่าช่วงอายุก่อนๆ เช่นเดียวกับการนำรถไปตรวจเครื่องยนต์ประจำปี และเหล่าบุคลากรทางการแพทย์จะให้คำแนะนำด้านการออกกำลังกาย โภชนาการ และการจัดการความเครียด
เราสังเกตเห็นความต้องการที่เพิ่มขึ้นของอาหารเบาๆ เครื่องดื่มที่มีแคลลอรี่น้อย อุปกรณ์ออกกำลังกายภายในบ้าน วิตามิน เครื่องสำอางบำรุงผิวหรือผลิตภัณฑ์ใดๆ ก็ตามที่ทำให้ลูกค้ากลุ่มนั้นรู้สึกมีอายุน้อยกว่า และมีสุขภาพที่ดีกว่าวัยที่แท้จริง
ผู้บริโภคที่สูงวัยมีเงินมากพอ และพร้อมที่จะจ่ายเพื่อของฟุ่มเฟือย เช่น การศัลยกรรมความงาม ครูฝึกออกกำลังกายส่วนตัว การท่องเที่ยวแบบแปลกๆ และโปรแกรมการเรียนเพิ่มเติม"
โครงสร้างประชากรของไทยก็ไม่ได้แตกต่างจากสหรัฐอเมริกามากนัก นั่นคือผู้สูงวัยจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันกำลังซื้อก็เพิ่มขึ้นด้วย
ดังนั้นเซ็กเม้นท์แม่บ้านผู้ใส่ใจสุขภาพนั้นจึงเป็นเซ็กเม้นท์ที่น่าสนใจ เพราะเป็นการฉีกตลาดไปที่กลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง อีกทั้งเมื่อแม่ทำอาหาร ลูกกินน้ำมันพืชเมื่ออร่อยก็ต้องถามว่าใช้น้ำมันพืชอะไร ในอนาคตเมื่อเขาหรือเธอแยกไปมีครอบครัว ก็ต้องใช้ Tip Wise
ข้อได้เปรียบของทิพก็คือเป็นแบรนด์ไทยแบรนด์แรกที่จับตลาดนี้เต็มรูปแบบเป็นรายแรก และมีการทำIMC ครบวงวจร
Positioning น้ำมันพืชเพื่อสุขภาพก็จะติดตัว Tip Wise ตลอดไป
เช่นเดียวกับที่ Safety ติดตัว Volvo นั่นเอง
|
|
|
|
|