* วงการรับเหมาระบุชัด รัฐบาลถังแตก!
* หลัง 2 เม.ย.เป็นต้นมา หน่วยงานรัฐใช้เล่ห์เหลี่ยมตรวจรับงานช้า เพื่อชะลอการจ่ายเงินงวดงาน ส่วนค่า "K"กว่า 2 ปีที่รัฐหยุดการจ่ายเพราะขาดเงิน
* ขณะที่ธุรกิจรับเหมาอลหม่าน ขาดความไว้เนื้อเชื่อใจ ผู้รับเหมารายกลาง และเล็ก รับงานตั้งแต่ 100 ล้านบาทลงมา ถูกซัพพลายเออร์ อิฐ หิน เหล็ก ปูน ทราย และคอนกรีต ยื่นคำขาด ต้องจ่าย "เงินสด"จึงจะมีสินค้าให้
* ส่วนยักษ์ใหญ่ "บ่นอุบ"ทุกอย่างไร้สัจจะ รอรัฐบาลใหม่ อนุมัติโครงการเมกะโปรเจกต์ หนักใจต้องเตรียม"กระสุน"จ่ายการเมืองใช้เลือกตั้ง!
มีข่าวลือออกมาเป็นระลอก ๆ ถึงสถานทางการเงินและการคลังในยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และต่อเนื่องมาจนรักษาการในปัจจุบันว่า "รัฐบาลถังแตก" ดูจะเป็นเรื่องที่บรรดานักธุรกิจแวดวงต่าง ๆที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการประมูลงานของภาครัฐจะให้ความสนใจและกลายเป็นเรื่องที่กลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ต้องมาประชุมวิเคราะห์เพื่อหาทางออกก่อนที่ธุรกิจของพวกเขาจะเจ๊งหรือต้องปิดตัวเอง
โรคกลัว "เบี้ยว" ป่วนธุรกิจรับเหมา
โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ขณะนี้กำลังตกอยู่ในสภาวะที่หวาดระแวงกันสุด ๆ บรรดาซัพพลายเออร์วัสดุก่อสร้าง ก็เกรงว่า ผู้รับเหมาทั้งที่รับงานภาครัฐและภาคเอกชนจะเบี้ยวเงินค่าของ ส่วนผู้รับเหมาก็เกรงเจ้าของงานจะเบี้ยวจ่ายค่างาน ส่วนแบงก์ผู้ค้ำประกันหวั่นรัฐไม่มีเงินจ่าย
" ไม่มีใครเชื่อใจใครแล้ว เราคนขายของ มีบทเรียนเมื่อปี 40 ทุกวันนี้บางรายยังตามฟ้องร้องเก็บเงินค่าของกันไม่ได้ เวลานี้เรารู้ว่ารัฐบาลไม่มีเงิน ผู้รับเหมาภาครัฐก็เบิกเงินไม่ได้ ส่วนพวกรับงานภาคเอกชนไม่ต้องพูดถึงมีโอกาสเสี่ยงสูงถึงขั้นปิดกิจการแน่ " แหล่งข่าวจากวงการซัพพลายเออร์ปูนคอนกรีต ระบุ
อย่างไรก็ดีผู้รับเหมาโครงการภาครัฐทั้งงานทางและงานอาคาร กล่าวว่า หลังวันที่ 2 เมษายน ปี 49 เป็นต้นมา บรรดาผู้รับเหมาภาครัฐกำลังประสบปัญหามากเนื่องจากมีการดึงหรือชะลอการรับงวดงานของหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ เพราะหากมีการตรวจรับงานแล้วที่ผ่านมาจะสามารถส่งใบฎีกาเบิกจ่ายเงินได้รวดเร็วซึ่งอาจใช้เวลา 7-14 วันก็สามารถเบิกจ่ายได้
"ตอนนี้หน่วยงานรัฐดึงงานไม่ตรวจรับงาน บางรายตรวจรับงานแล้วส่งใบฎีกาไปยังสำนักงบประมาณแล้วเวลาล่วงเลยมา 1-2 เดือน ยังไม่มีเงินจ่ายให้กับพวกเรา ตอนนี้ชัดเจนแล้วว่า รัฐบาลถังแตกจริง ๆ ทุกอย่างช้าไปหมด"
อย่างไรก็ดีแม้รัฐบาลจะจ่ายค่างวดงานช้า แต่ผู้รับเหมาภาครัฐก็ยังมีกำลังใจเนื่องจากผู้รับเหมาภาครัฐมีข้อสัญญาที่รัฐจะต้องจ่ายค่า K (Escalation Factor) ซึ่งเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่รัฐจะช่วยลดความเสี่ยงของผู้รับเหมา กรณีที่ได้รับความเดือดร้อนจากวัสดุก่อสร้างมีราคาสูงขึ้นโดยได้รับการชดเชยในส่วนของผลต่างราคาวัสดุก่อสร้าง ณ วันที่ประกวดราคาได้ เทียบกับวันส่งมอบงานในแต่ละงวด
"ค่างวดงานช้า พวกเราก็นึกว่าจะได้เงินค่าK มาหมุนในธุรกิจบ้างเพราะวัสดุก่อสร้างตอนนี้ราคาขยับสูงขึ้นไปตามราคาน้ำมัน แต่รัฐมาบอกว่าไม่มีงบประมาณจะจ่ายในส่วนนี้"
แหล่งข่าวจากวงการรับเหมา ระบุว่า ผู้รับเหมาที่รับงานอาคารได้ยื่นขอค่า K จนถึงเวลานี้ลุล่วงมาเกือบ 2 ปี ยังไม่มีใครได้รับเงินค่า K ตามที่มีการเซ็นสัญญาไว้แต่ประการใด ส่วนผู้รับเหมางานทาง ที่สามารถเบิกค่าKได้แล้วก็เรียกว่านับรายได้ เพราะมีน้อยมาก
สำหรับวงเงินค่า K ที่ยังไม่ได้รับคาดว่าประมาณ 800-900 ล้านบาท ตามสัญญาค่างานที่มีการเซ็นกับหน่วยงานราชการไว้ ส่วนตัวเลขจากการร้องเรียนไปยังสมาคมฯที่ยังไม่ได้รับค่า Kประมาณ 400 กว่าล้านบาทใน 40 สัญญางานก่อสร้าง
"ค่า K ก็ยังไม่ได้รับ บางรายยังถูกหน่ายราชการเจ้าของงาน เรียกมาเจรจาขอลดค่า K ทั้ง ๆที่ต้นทุนค่าวัสดุก่อสร้างขึ้นไป 20-30 % และมีแนวโน้มขยับราคาสูงขึ้นไปอีก ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตราคาน้ำมันที่มีการปรับสูงขึ้น เพราะน้ำมันคือต้นทุนหลักในการดำเนินธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ทั้งในเรื่องการขนส่งและการผลิตที่รัฐบาลก็ปฏิเสธไม่ได้"
เสนอ 4 มาตรการวอนรัฐช่วยด่วน
ลิซ่า งามตระกูลพานิช กรรมการและเหรัญญิกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย กล่าวว่า สมาคมฯได้รับทราบความเดือนร้อนของสมาชิกฯในเรื่องการประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างทั้งส่วนงานภาครัฐและภาคเอกชน โดยงานภาครัฐนั้นทางสมาคมฯได้ยื่นหนังสือไปถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ผ่านทาง น.พ.พรหมมินทร์ เลิศสุริยเดช รักษาการเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ที่ผ่านมา ซึ่งก็รับทราบปัญหาและจะนำเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการและหามาตรการแก้ไขต่อไป
ขณะเดียวกันรักษาการเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้แนะนำให้ทางสมาคมฯทำหนังสือเสนอไปยังกระทรวงคมนาคม สำนักงบประมาณและกรมบัญชีกลางด้วย เพื่อให้หน่วยงานรับทราบปัญหาและหามาตรการบรรเทาความเดือนร้อนให้ด้วย
โดยสมาคมฯได้ทำหนังสือไปยังทั้ง 3 หน่วยงานเมื่อประมาณกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับทราบแนวทางแก้ปัญหาแต่อย่างไร
สำหรับปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นและต้องการให้รัฐบาลแก้ไข ประกอบด้วย
1.น้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการก่อสร้างและขนส่งปรับราคาสูงขึ้นเป็นระยะตลอดมา จากเดือนมีนาคม 2548 ถึงเดือนมีนาคม 2549 ราคาสูงขึ้นเกือบ 70%และราคา ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2579 ราคาลิตรละ 27.24 บาท แต่ราคาปัจจุบัน( 19 กค.) ราคาดีเซลขยับไปอยู่ที่ 27.94 บาท ซึ่งไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่าจะขึ้นต่อไปอีกเท่าใด
2.ค่าวัสดุก่อสร้าง หิน ทราย ปูน เหล็ก ปรับตัวสูงขึ้น สินค้าบางชนิดขอเพิ่มราคาในรูปแบบของค่าขนส่ง การซื้อขาย ผู้ค้าไม่ให้เครดิต ต้องชำระเป็นเงินสด ทำให้การซื้อขายยุ่งยากมากขึ้น
3.แรงงานฝีมือขาดแคลน และเรียกร้องให้มีการปรับอัตราค่าจ้างเพิ่มขึ้น
4.การส่งมอบงานและการตรวจการจ้างล่าช้าไม่เป็นไปตามระเบียบพัสดุ และเมื่อผ่านกระบวนการแล้ว การเบิกจ่ายเงินต้องรอเป็นระยะเวลานาน บางสัญญา บางรายรอกว่า 2 เดือน
5.สัญญางานที่มีค่า K แม้จะช่วยเหลือผู้รับเหมาก่อสร้างในการปรับราคาได้บ้างส่วน แต่ก็ไม่เพียงพอกับการปรับราคาของวัสดุก่อสร้าง และสูตรค่า K ไม่ครอบคลุมถึงวัสดุก่อสร้างบางรายการ เช่นอุปกรณ์ไฟฟ้า สายไฟ เป็นต้น ซึ่งมีส่วนประกอบของทองแดงที่มีการปรับราคาไป 300%
6.การขอเบิกจ่ายค่า K ไม่สามารถเบิกได้ โดยอ้างว่าไม่มีงบประมาณ หรือบางสัญญาเบิกจ่ายได้ แต่ก็ล่าช้ามาก
7.หลักประกันสัญญาชำรุดบกพร่องของงานจ้างระยะเวลา 2 ปีนั้น ขอให้รัฐยืนตามมติเดิมของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2545 ในหลักการ โดยให้คืนหลักประกันให้แก่ผู้รับจ้าง เมื่อระยะเวลาการประกันครบ 1 ปี ส่วนระยะเวลาที่เหลืออีก 1 ปี ยังเป็นหน้าที่ความรับผิดขอบของผู้รับจ้างตามสัญญา โดยไม่ต้องมีหลักประกัน
ด้วยวิกฤตดังกล่าวสมาคมฯ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ประกอบด้วย
1.ขยายเวลาการก่อสร้างออกไปอีก 180 วัน สำหรับงานก่อสร้างที่ลงนามในสัญญาก่อนเดือนพฤษภาคม 2549 ยังมีนิติสัมพันธ์และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เพื่อเป็นการผ่อนคลายระยะเวลาในการจัดหา จัดซื้อ จัดจ้างวัสดุและขยายระยะเวลาความต้องการใช้วัสดุให้ช้าลง
2.ขอเพิ่มน้ำหนักการบรรทุก สำหรับรถบรรทุกชนิด 10 ล้อ จาก 25 ตันเป็น 30 ตัน เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงที่น้ำมันราคายังปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
3.ขอให้เร่งรัดการเบิกจ่ายเงินค่างวดงานและการเบิกเงินชดเชยค่า K ภายใน 15 วัน
4.สัญญาที่มีการเสนอราคาไว้ก่อนเดือนมีนาคม 2549 ที่ยังไม่ได้มีการลงนามในสัญญาและสัญญาที่มีการลงนามแล้วแต่ไม่สามารถปฏิบัติงานได้โดยมิใช่ความผิดของผู้รับจ้าง ขอให้ผู้ประกอบการมีสิทธิในการไม่เซ็นสัญญา หรือยกเลิกสัญญาได้โดยไม่ถือเป็นผู้ละทิ้งงาน และให้คืนหลักประกันสัญญา
บอยคอยไม่ประมูลงานรัฐ
ผู้รับเหมาจากกรมทางหลวง ระบุว่า สมาชิกสมาคมฯได้มีการหารือกันถึงปัญหาความเดือดร้อนและมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นหากรัฐบาลไม่รีบเข้ามาแก้ไข เนื่องจากผู้รับเหมาที่มีขนาดกลางและเล็กที่รับงานตั้งแต่ 100 ล้านบาทลงมานั้น จะประสบปัญหามากกว่าผู้รับเหมารายใหญ่ ๆ เนื่องจากขาดเงินทุนหมุนเวียนเพราะเบิกจากงวดงานไม่ได้และไม่สามารถเบิกค่า K ได้ด้วย
ขณะที่การสั่งซื้อวัสดุในปัจจุบัน ซัพพลายเออร์บางราย ก็ย่อมให้เครดิต แต่ส่วนใหญ่ต้องการให้จ่ายเงินสดเพราะไม่ต้องการเสี่ยงต่อการเก็บเงินไม่ได้
"พวกเราเดือนร้อน หากรัฐไม่ช่วยแก้ไข เราก็เสนอความเห็นกันว่า จะบอยคอยไม่เข้าประมูลงานรัฐบาลกัน ซึ่งคนในที่ประชุมก็แสดงความเห็นด้วย แต่เมื่อเขียนออกมาเป็นจดหมายถึงรัฐบาลก็ตัดข้อความเห็นตรงนี้ออกไปหมด ซึ่งทางผู้บริหารสมาคมฯคงเห็นว่าจะดีกว่าเราไปบีบคั้นรัฐบาล"
แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า ทางสมาคมฯได้ทำตามที่รักษาการเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แนะนำแล้ว และหาไม่มีมาตรการใด ๆออกมาเพื่อช่วยธุรกิจรับเหมา ทางสมาคมฯจะมีการประชุมเพื่อหารือและกำหนดมาตรการว่าจะดำเนินการหรือเคลื่อนไหวต่อปัญหานี้อย่างไรต่อไป
เช็คประวัติผู้รับเหมากลัวเบี้ยว
ขณะเดียวกันแหล่งข่าว จากผู้ผลิตปูนคอนกรีตซึ่งเป็นหนึ่งในท็อปไฟว์ในตลาดนี้ กล่าวว่าตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา บริษัทเล็งเห็นปัญหาจากภาวะราคาน้ำมัน ภาวะดอกเบี้ย และเงินเฟ้อที่จะเข้ามากระทบวงการก่อสร้างโดยเฉพาะข่าวที่บรรดาผู้รับเหมาภาครัฐเมื่อส่งมอบงานไม่สามารถเบิกจ่ายค่างวดงานได้นั้น ซึ่งแสดงให้เห็นแล้วว่าฐานะการเงินของรัฐบาลกำลังวิกฤต เมื่อเป็นเช่นนี้บริษัทก็ไม่ต้องการที่จะตกอยู่ในภาวะความเสี่ยงจึงจำเป็นต้องเช็คประวัติลูกค้าที่เข้ามาซื้อปูนคอนกรีตทั้งหมด
ดังนั้น บริษัทจึงมีนโยบายออกไปชัดเจนทั้งกับผู้รับเหมาที่รับงานภาครัฐและงานของภาคเอกชนว่า ลูกค้ารายเล็ก และรายกลางบางบริษัทจะต้องซื้อเป็นเงินสดทั้งหมด ส่วนรายกลางบางบริษัทและรายใหญ่นั้นที่มีประวัติที่ดี เดิมบริษัทจะใช้เป็นแค่บุคคลค้ำประกัน จากนี้ไปต้องใช้แบงก์กะรันตี หรือใช้ตั๋วอาวัลแทน
"บริษัทเราจะช่วยลูกค้าในเรื่องค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายกับแบงก์ ส่วนใหญ่ก็ประมาณ 2 % ซึ่งทำแบบนี้บริษัทเราก็ไม่เสี่ยง ไม่ว่าผู้รับเหมาจะเบิกเงินได้หรือไม่ แต่บริษัทเราก็ได้เงินค่าคอนกรีต เพราะหากไม่ทำเช่นนี้บริษัทเราก็ต้องเสียหาย"
นอกจากนี้ผู้ผลิตปูนคอนกรีต บอกด้วยว่า ซัพพลายเออร์ที่ขายปูนซีเมนต์ถุงและเหล็กก็มีมาตรการของตัวเอง หากไปส่งแล้วไม่สามารถเก็บเงินสดได้ เขาจะใช้วิธีขนปูนถุงและเหล็กกลับทันที ส่วนปูนคอนกรีตนั้นไม่สามารถทำอย่างปูนถุงได้ เนื่องจากเป็นปูนผสมเสร็จที่สามารถไปเทใช้ในหน้างานทันที และด้วยระยะเวลาที่จำกัด หากไม่มีการเทใช้งาน ปูนก็จะแข็งซึ่งทำความเสียหายให้กับผู้ผลิตอย่างมาก ดังนั้นบริษัทจึงต้องเก็บเงินสดก่อนที่จะนำปูนคอนกรีตไปส่งยังหน้างาน
ส่วนราคาปูนคอนกรีตนั้นได้มีการปรับราคาเมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาอีก 100 บาทต่อคิว เดิมในเขตเมืองประมาณ 1,500 บาทต่อคิว ปรับขั้นเป็น 1,600 บาทต่อคิว ส่วนในรัศมีเกิน 350 กิโลเมตร จะประมาณคิวละ 1,660 บาท
ขณะที่ราคาเหล็กนั้นมีการปรับตัวสูงขึ้น เช่นเหล็ก 16 มิลลิเมตร เมื่อปลายปีที่แล้วขาย กิโลกรัมละ 16.30 บาท ขณะที่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ราคา 17.50 บาท แต่ปัจจุบันราคา 21 บาท
แหล่งข่าว กล่าวว่า ผู้รับเหมาที่มีการเซ็นสัญญาไปแล้ว จึงมีภาวะความเสี่ยงสูงและโอกาสขาดทุนในงานก็สูงไปด้วย เพราะค่าK ที่รัฐจ่ายให้นั้นไม่สามารถครอบคลุมค่าผันผวนของวัสดุที่มีการปรับราคา เพราะบางงานมีเงื่อนไขให้เพียง 4% ของค่าผันผวนที่เกิดขึ้นหากเกินนั้น ก็เป็นเรื่องที่ผู้รับเหมาจะแบกรับไปเอง
"คอยดูผู้รับเหมากรมทางหลวง จะใช้วิธีการทิ้งงาน และยอมให้บริษัทถูกแบล็กลิสต์ในการรับงานที่นี่ แต่พวกเขาไม่กลัวเพราะแต่ละรายมีบริษัทเครือข่ายไว้รองรับแล้ว ปิดบริษัทนี้ก็ใช้บริษัทอื่นยื่นประมูลงานได้ เมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจดีกว่านี้ เพราะฝืนทำไปบริษัทก็มีแต่ขาดทุน"
บิ๊กรับเหมาเซ็งรัฐบาล
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การที่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ไม่สามารถเดินหน้าโครงการเมกะโปรเจกต์ได้ เหตุผลสำคัญมาจากรัฐไม่มีเงินในกระเป๋าจึงทำให้นโยบายในการลงทุนต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่ได้ข้อยุติให้เหลือเพียง 3 เส้นทาง คือเส้นทางสายสีน้ำเงิน (วงแหวนรอบในและช่วงทางพระ-บางแค) สายสีม่วง (บางใหญ่-ราษฎร์บูรณะ) และสายสีแดง (รังสิต -มหาชัย)
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 3 สาย ก่อนหน้านี้ซึ่งเป็นช่วงรัฐบาล รักษาการณ์ได้มีการประกาศเชิญชวนผู้รับเหมาให้เข้ามารับงาน และมีการออกแบบสอบถามที่เกี่ยวข้องกับระบบขนส่งมวลชนทั้ง 3 สาย ปรากฏว่าผู้รับเหมาที่ได้รับเชิญมานั้น ไม่ได้สนใจในเนื้อหาที่มีในแบบสอบถาม แต่มีการตั้งประเด็นคำถามที่พวกเขายังคล่องใจอยู่ว่า รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรกันแน่ต่อระบบเมกะโปรเจกซึ่งหมายความว่าจะดำเนินการด้วยงบประมาณหรือใช้ระบบเทริน์คีย์
"ผู้รับเหมาอยากได้เทริน์คีย์มากกว่า เพราะเขาไม่อยากไปยุ่งกับการเบิกจ่ายเงินงวดจากรัฐบาล เพราะผู้รับเหมารู้ดีว่าฐานะการเงินของรัฐช่วงนี้เป็นอย่างไร จึงอยากเบิกจ่ายผ่านแบงก์โดยแบงก์เป็นผู้ปล่อยกู้เงินลงทุน และให้รัฐค้ำประกัน เมื่อครบกำหนดส่งมอบงานหรืออายุสัญญา รัฐบาลก็จ่ายคืนให้แบงก์จะทำให้โครงการนี้เกิดเป็นรูปเป็นร่างได้เร็วขึ้น"
สำหรับแนวทางการลงทุนจัดทำโครงการด้วยระบบเทริน์คีย์นี้ จะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในยุคที่รัฐบาลขาดแคลนงบประมาณ แต่ต้องการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคให้กับประเทศ เพราะจะทำให้รัฐบาลได้ยืดเวลาในการบริหารเงินไปอีกหลายปี ซึ่งในสัญญานั้นรัฐบาลสามารถระบุระยะเวลาจ่ายคืนภายใน 6-10 ปีในเงื่อนไขการประมูลงานได้
"ถึงตอนนั้นรัฐอาจออกพันธบัตรเพื่อได้เงินจ่ายคืนแบงก์ก็ได้ ส่วนผู้รับเหมาเองก็ไม่เสี่ยงในการเบิกเงิน ผู้ที่เสี่ยงก็คือแบงก์ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องตัดสินใจให้ชัดเจนว่าจะทำวิธีการนี้หรือไม่ ซึ่งทางกลุ่มผู้รับเหมาได้คุยกับสถาบันการเงินหลายแห่งเขาบอกว่า แม้จะมีสัญญารับงาน แต่ต้องให้รัฐบาลค้ำประกันก่อนจึงจะปล่อยกู้ให้มาลงทุน เพราะถ้ารัฐไม่ค้ำแบงก์ก็ไม่ปล่อยแน่ เพราะไม่มั่นใจว่าผู้รับเหมาจะเบิกเงินค่างวดจากรัฐบาลได้ตามระยะเวลาที่กำหนด"
อย่างไรก็ดีทั้ง 3 เส้นทางมีการประมาณการคร่าว ๆ ไว้เมื่อ 2เดือนที่แล้วจะใช้งบลงทุน1.3 แสนล้านบาท แต่ถ้าเกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจ น้ำมันขยับสูงขึ้นกว่าปัจจุบัน วัสดุขึ้นราคา ค่าเวนคืนที่ดินสูงขึ้น งบประมาณที่ตั้งไว้ก็คงต้องมีการเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นตามไปด้วย
แหล่งข่าว ระบุว่าเส้นทางทั้ง 3 สายนั้นกลุ่มต่างชาติที่ให้ความสนใจเป็นอันดับหนึ่งคือญี่ปุ่น ซึ่งมีอิตาเลียนไทยและชิโนทัย เป็นพันธมิตร ขณะที่เยอรมันก็สนใจ โดยเฉพาะบริษัทซีเมนต์แต่ราคาสูงกว่าญี่ปุ่นมาก ส่วนจีนไม่ค่อยให้ความสนใจในเรื่องการลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้า แต่ต้องการเพียงเสนอขายเทคโนโลยีหรือตัวรถเนื่องจากจีนมีโรงงานประกอบรถฯอยู่แล้ว
"ถ้าขายตัวรถได้ จะมีค่าบำรุงรักษาตามมา เรียกว่ากินยาว ส่วนที่เขาไม่สนใจเรื่องการก่อสร้าง เพราะจีนไม่ถนัดเรื่องสังคมบ้านเราที่จะต้องมีการวิ่งเต้นเส้นสายและมีผลประโยชน์กันแบบไม่รู้จบ "
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม ย้ำด้วยว่า ผู้รับเหมารายใหญ่ของไทยมาบ่นให้ฟังเสมอว่า มีผู้ใหญ่ในรัฐบาลเรียกมาเจรจาเพื่อให้มีการเซ็นสัญญาจองงานกันไว้ก่อน เพราะโครงการทั้ง 3 สายเกิดขึ้นแน่ในรัฐบาลใหม่ แต่ผู้รับเหมาบอกว่ายังไม่ต้องการเนื่องจากอยากให้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและมีอำนาจหน้าที่ชัดเจน ก่อนจึงจะเซ็นสัญญาเพราะหากเซ็นไปตอนนี้ เมื่อมีรัฐบาลใหม่เข้ามา หากไม่ใช่กลุ่มเดิม พวกเขาก็จะลำบากที่สุด ต้องแบบภาระทั้งกลุ่มเก่า กลุ่มใหม่ ซึ่งมีจำนวนที่มากเกินไป
"จะมีเซ็นสัญญาไว้ก่อนหรือไม่ก็ตาม แต่พวกเขาก็ต้องดูแลในช่วงเลือกตั้งอยู่แล้ว ซึ่งก็ไม่ใช่จำนวนน้อย แต่หากเซ็นไว้ก่อน เรียกว่าต้องโดน 3 เด้งแน่ เด้งแรกดูแลเลือกตั้ง เด้ง 2 เมื่อเซ็นสัญญากันไว้ก่อน เด้ง 3 เมื่อรัฐบาลใหม่เข้ามา"
ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดที่ผู้รับเหมาเห็นว่า เหมาะสมและไม่ทำให้พวกเขาต้องเสียหากมากก็คือดูแลเพียง 2 เด้งกล่าวคือในเรื่องการเลือกตั้งและเมื่อมีตัวจริงเข้ามาบริหารประเทศและมีโครงการนี้เกิดขึ้นจริง
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 3 เส้นทางนั้น ปัจจุบันรัฐบาลได้มอบหมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม.เป็นผู้ไปดำเนินการและหาข้อสรุปโดยมีภาคเอกชนที่สนใจลงทุนเข้าไปร่วมหาแนวทางที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ที่สุดเพื่อให้โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นได้
************
2 สัญญาณร้ายชี้ชัดๆ รัฐบาล “ถังแตก!”
“มือเศรษฐกิจ ปชป.ชี้ 2 สัญญาณร้าย รัฐบาล “ถังแตก!” เงินคงคลังเหลือน้อย-เบิกจ่ายล่าช้า จี้รัฐบาลอย่าดันทุรัง หวังพึ่งเงินอนาคต เพราะภาวะเศรษฐกิจตกต่ำลง ส่งผลให้แนวโน้มเก็บภาษีต่ำ แนะประเมินงานสำนักบริหารหนี้สาธารณะที่เตือนจนกรมบัญชีกลางไม่กล้ากู้เงินมาใช้หนี้เพียงพอ ส่งผลให้หนี้ยิ่งท่วม ขณะที่การขึ้นเงินเดือน-ให้โบนัสข้าราชการหวังแต่คะแนนเสียงไม่ดูความเหมาะสม
ดูเหมือนจะสร้างความสับสนมากกว่าจะทำให้กระจ่าง ว่าจริงๆแล้วฐานะการเงินการคลังของประเทศขณะนี้อยู่ในขั้นทรงตัว หรือเข้าขั้นวิกฤตหนักกันแน่ เพราะตั้งแต่ปลายปี 2548 จนถึงวันนี้ แม้ว่ามติครม.เมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลจะอาจหาญประกาศให้เงินโบนัสข้าราชการสูงถึง 7,000 ล้านบาท และบุญศักดิ์ เจียมปรีชา อธิบดีกรมบัญชีกลาง ก็ยืนยันว่าเงินคงคลังสำรองยังมีมากกว่าวันละ 100,000 ล้านบาท
ล่าสุดสด ๆร้อน ๆ กรมบัญชีกลางเพิ่งจะออกมาประกาศออกระเบียบกลางภายใน 3 สัปดาห์ เรื่องการเบิกจ่ายเงินของกองทุนต่าง ๆ 60 กองทุนทั้งสังกัดและไม่สังกัดกระทรวงการคลัง โดยเน้นให้เบิกจ่ายตามจริง และส่วนเงินที่เหลือเก็บไว้ในบัญชีของกรมบัญชีกลางไม่ให้กองทุนนำไปบริหารเองเหมือนเดิม
ส่วนด้านกระทรวงการคลัง ก็มีการเร่งรัดการเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากต้องการดึงเงินกว่า 4 แสนล้านบาทของรัฐวิสาหกิจมาเป็นเงินลงทุน เนื่องจากปัญหาความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณปี 2550 ทำให้เม็ดเงินขาดหายไปจากระบบ ขณะที่ก่อนหน้านี้ไม่ถึง 2 เดือนกรมบัญชีกลางเพิ่งสั่งให้ชะลอการเบิกจ่ายงบประมาณที่ไม่จำเป็นชั่วคราว 2 เดือนระหว่างเมษายน-พฤษภาคม เพราะเงินคงคลังเหลือน้อยแค่หลักหมื่น
เมื่อดูจากสภาพความเป็นจริงดังนี้แล้ว จึงอาจจะเชื่อได้ยากว่ารัฐบาลไม่ได้อยู่ในภาวะ “ถังแตก” !
เงินคงคลังติดลบ-หวังรายได้ภาษีช่วย
กรณ์ จาติกวณิช ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า วิธีสังเกตว่าฐานะทางการเงินของรัฐบาลย่ำแย่แค่ไหน หรืออยู่ในสภาพ “ถังแตก” หรือไม่ ให้ดูจากสัญญาณใหญ่ ๆ 2 ตัวด้วยกัน คือเงินคงคลัง และการจ่ายเงินล่าช้าของรัฐบาล
เงินคงคลังของรัฐบาลนี้มีการติดลบมาโดยตลอด จนถึงขณะนี้ รัฐบาลก็มีการขออนุมัติคณะรัฐมนตรีเพิ่มตั๋วเงินคงคลังแล้วสูงถึง 25,000 ล้านบาท เต็มเพดานที่รัฐบาลสามารถกู้ได้
“พูดง่าย ๆ ก็คือรัฐบาลมีหนี้สิน เมื่อเป็นหนี้ต้องใช้หนี้ด้วยเงินสด แต่เงินสดก็มีไม่พอ ก็ต้องกู้เงินมาเพื่อใช้หนี้ แล้วก็รอความหวังว่ารายรับของรัฐบาลที่จะเก็บได้จากการเก็บเงินภาษีทั้งหลายจะเข้ามาช่วย”
อย่างไรก็ดี แม้ว่าตัวเลขโดยรวมของการจัดเก็บภาษี 8 เดือนแรกของปีนี้จะยังออกมาในตัวเลขรวมที่ยังสูงกว่าประมาณการ แต่ในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 2549 ที่รัฐบาลเก็บภาษีได้ต่ำกว่าประมาณการ โดยจัดเก็บรายได้สุทธิ 236,043 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณสูงถึง 3,105 ล้านบาท
โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลของกรมสรรพากรต่ำกว่าเป้าหมาย 5,930 ล้านบาท เพราะการยื่นชำระภาษีของธุรกิจกลุ่มสื่อสารโทรคมนาคม และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคต่ำกว่าปีก่อน ขณะที่ภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรสามารถเก็บรายได้ 202,083 ล้านบาทสูงกว่าประมาณการ 2,193 ล้านบาท จากภาษีเงินได้ปิโตรเลียมและภาษีมูลค่าเพิ่ม
ด้านกรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการ 2,523 ล้านบาท จากภาษีน้ำมัน,ภาษียาสูบและสุรา,และภาษีรถยนต์ ขณะที่กรมศุลกากรจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการเช่นเดียวกัน โดยจัดเก็บรายได้แค่ 1,649 ล้านบาท จากผลกระทบด้านการปรับโครงสร้างภาษีศุลกากรและการนำเข้าที่ชะลอตัวลง สำหรับวิสาหกิจก็มีการนำส่งรายได้ต่ำกว่าประมาณการ 2,898 ล้านบาท หรือ 41.2%
“เชื่อว่าอัตราการจัดเก็บภาษีมีแนวโน้มลดลงอีก เพราะขณะนี้เศรษฐกิจชะลอตัวมาก รายได้ที่เข้ามาก็อาจจะไม่พอกับรายจ่ายที่รัฐบาลได้ใช้เงินล่วงหน้าไปแล้ว”
โดยเฉพาะนำไปใช้ในงบกลางที่มีสัดส่วนมากเมื่อเทียบกับงบประมาณโดยรวม คือมีถึง 30% โดยรัฐบาลตั้งใจว่าเพื่อการเบิกจ่ายคล่องมือ แต่ปรากฏว่างบส่วนนี้มีการใช้ไปอย่างรวดเร็ว และไม่โปร่งใส ไม่มีรายละเอียดโครงการ
“ที่ผ่านมาช่วงไตรมาส 1-2 ของปีงบประมาณมีการเร่งใช้งบส่วนนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ใช้จนหมด ไม่เหลือกระสุนเพื่อไว้ผลักดันเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง ขณะนี้เข้าไตรมาสที่ 4 ของปีงบประมาณ ก็ไม่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทุ่มไปสุดตัว ผลตอบแทนของการใช้งบประมาณที่ไม่โปร่งใส ก็ไม่ปรากฏ เพราะไม่เคยผ่านสภาฯ”
จ่ายเงินล่าช้า-ไม่มีเงินสดในมือ
สัญญาณอันตรายอันที่ 2 ที่ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลถังแตก คือการจ่ายเงินล่าช้าของรัฐบาล ตรงนี้สังเกตจากเงินที่ไม่ได้เป็นเงินเดือนข้าราชการโดยตรง ซึ่งที่ผ่านมามีการจ่ายเงินล่าช้าในหลาย ๆ ประเภทตลอด ซึ่งแสดงให้เห็นเลยว่ารัฐบาลไม่มีเงินสดในมือ
ไม่ว่าจะเป็นการที่กรมบัญชีกลางประกาศยืดเวลาเบิกจ่ายงบประมาณให้หน่วยราชการและเอกชน จากให้ได้ภายใน 1-3 วัน เป็น 3-7 วัน,มีการขอครม.ยืดออกตั่วเงินคลังกู้เงินจากธนาคารออมสินจำนวน 5 พันล้านบาทออกไปอีก 2 เดือน เพราะไม่มีเงินใช้คืน,ครม.ไม่อนุมัติให้กระทรวงศึกษาธิการเบิกงบกลางในส่วนของงบฯสำหรับเตรียมรับการเปลี่ยนแปลงในจำนวน 3,000 ล้านบาท เพื่อเป็นงบประมาณของกองทุนเงินให้กู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.),การดึงเงินรัฐวิสาหกิจมาโปะงบลงทุนจากการที่ ครม.วันที่ 29 มี.ค.49 ที่มีมติเลื่อนปฏิทินงบประมาณออกไป 1 เดือน จาก 1 ต.ค.49 เป็น 1 พ.ย.49 ทำให้งบลงทุนเบิกจ่ายไม่ออก ฯลฯ
อย่างไรก็ดี ที่เห็นว่าเป็นปัญหาอีกประการหนึ่งคือกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังต้องมีบรรทัดฐานในการวัดผลงานด้วย เพราะมีฝ่ายบริหารหนี้สาธารณะที่ยิ่งช่วยสร้างปัญหา เพราะส่วนนี้จะเป็นส่วนที่ทำหน้าที่บอกว่าภาระดอกเบี้ยของรัฐบาลตอนนี้เป็นอย่างไร มีค่าใช้จ่ายอย่างไร ยิ่งทำให้กรมบัญชีกลางลดภาระดอกเบี้ยลง และในการกู้ก็จะมีการกู้น้อยที่สุด เงินก็ขาดเพราะกู้มาไม่เพียงพอ หนี้ก็เพิ่มขึ้นอยู่ดี เพราะเงินสดขาด
เพิ่มเงินเดือนขรก.แค่หาเสียง
ที่สำคัญในการประกาศขึ้นเงินเดือนและโบนัสข้าราชการประจำครั้งล่าสุด จริง ๆ แล้วถ้าจำเป็นต้องเพิ่มเงินก็ต้องเพิ่ม แต่ควรดูประสิทธิภาพว่าหน่วยราชการมีประสิทธิผลในการทำงานอย่างไร และการขึ้นเงินเดือนหรือให้โบนัสดังกล่าวยังจะทำให้งบลงทุนที่น้อยอยู่แล้ว คือมีแค่ 25% ของเงินงบประมาณ ยิ่งลดลงไปอีก
อย่างไรก็ตามการเพิ่มเงินเดือนและโบนัสข้าราชการครั้งนี้ที่รัฐบาลประกาศว่าจะเร่งรัดจ่ายให้เป็นจำนวนเงินสูงถึง 7,000 ล้านบาท แม้ว่าการประเมินผลงานของปี 2548 จะยังไม่เสร็จสิ้นแสดงให้เห็นชัดว่ารัฐบาลทำไปเพื่อหวังได้คะแนนเสียงในการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ได้ดูความเหมาะสมที่แท้จริง และไม่ได้ดูความจำเป็น
รายงานข่าวแจ้งว่า การประกาศให้เงินโบนัสข้าราชการครั้งนี้ มีลักษณะกระจุกตัวอยู่แต่ระดับข้าราชการระดับสูง ได้แก่ ผู้บริหารระดับสูงคือ ปลัดกระทรวง เป็นหัวหน้าส่วนราชการ จะได้รับเงินโบนัสคนละประมาณ 500,000 บาท,รองปลัดกระทรวง และอธิบดี จะได้รับคนละ 300,000 บาท,ส่วนหัวหน้าหน่วยงานในภูมิภาค จะได้โบนัสตั้งแต่ 40,000-100,000 บาท,ระดับผู้อำนวยการกองได้รับระดับหลักหมื่นบาท หรือ 1-2 เดือนของเงินเดือนที่ได้รับ,ส่วนข้าราชการระดับล่าง ได้รับเงินโบนัสกันคนไม่กี่พันบาท
แนวทางการดำเนินงานของรัฐบาลครั้งนี้ยิ่งทำให้เห็นเด่นชัดว่ารัฐบาลต้องการเพียงแค่คะแนนเสียงเท่านั้นโดยไม่สนว่าจะยิ่งทำให้ปัญหาเงินคงคลังที่มีน้อยยิ่งน้อยลงไปอีกในปีหน้า!
************
ต้นทุนสร้างบ้านพุ่งขึ้น 15%"จัดสรร-รับสร้างบ้าน"ยอดขายลดวูบ
ธุรกิจรับสร้างบ้าน- บ้านจัดสรร เจอวิกฤตทั้งภายในและนอกประเทศรุมเร้า ขณะที่ ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้อ นายกฯธุรกิจรับสร้างบ้าน ระบุยอดรับสร้างบ้านหายไปกว่า 15% ส่วนบ้านจัดสรรราคา 5 ล้านขึ้นยอดซื้อลดลง 5% ขณะที่ราคารับสร้างบ้านและบ้านจัดสรร เฉลี่ยเพิ่มขึ้น8-15%ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เร่งปรับตัวรับวิกฤต!
ภาวะเศรษฐกิจที่คาบลูกคาบดอก อันเนื่องมาจากปัจจัยภายนอกทั้งราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นทุกวัน อัตราดอกเบี้ยทั้งภายในและนอกประเทศที่ขยับตัวเพิ่มอย่างต่อเนื่องทำให้ธุรกิจทั้งหลายพลอยได้รับผลกระทบโดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่เพิ่งจะฟื้นไข้หายป่วย กลับก้าวเข้าสูวงวนเดิมและอาจจะกลับเข้าสู่อาการเจ็บป่วยอีกครั้งหนึ่ง
ศักดิ์ดา โฆวิสุทธิ์ นายกสมาคมรับสร้างบ้าน สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน บอกกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์"ว่าในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์เริ่มมีการชะลอตัวลงไปมาก งานก่อสร้างได้ชะลอตัวด้วยปัจจัยลบหลายประการที่รุมเร้าอยู่ในขณะนี้ ซึ่งส่งผลให้ยอดขายของสมาชิกสมาคม 31 ราย ในครึ่งปีแรก พลาดเป้ายอดขายรวมแล้วประมาณ 15% หรือมียอดขายจำนวน 3,700 ล้านบาท จากเป้ายอดขายทั้งปีที่ตั้งไว้ 8,500 ล้านบาท ปัจจุบันยังขาดอีก 4,800 ล้านบาท
เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการปรับขึ้นราคาวัสดุก่อสร้าง ซึ่งเป็นต้นทุนหลักในการสร้างบ้าน ประกอบการการขึ้นราคาน้ำมันทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคในตลาดลดลง ส่งผลให้ยอดขายตลาดรวมรับสร้างบ้านในช่วงครึ่งปีแรกไม่กระเตื้องมากนัก
"ในตลอดทั้งปีนี้ทางสมาคมรับสร้างบ้านจะกระตุ้นยอดขายให้ถึงเป้าโดยการเตรียมจัดงาน "แสดงสินค้ารับสร้างบ้านครั้งที่2"ในระหว่างวันที่ 4-7 สิงหาคมนี้โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อต้องการสร้างการรับรู้ในแบรนด์ของบริษัทรับสร้างบ้านให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากที่สุด และเป็นการกระตุ้นยอดขายบ้านของสมาชิก บริษัท รับสร้างบ้านด้วย"
นายกสมาคมรับสร้างบ้าน บอกต่อไปว่า ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อตลาดรับสร้างบ้านในช่วงที่ผ่านมาทำให้ผู้ประกอบการมีการปรับขึ้นราคาบ้านไปแล้ว 3-5% โดยเฉพาะการปรับขึ้นราคาวัดสุก่อสร้างในตลาดทำให้ กำไรจากการขายลดลงประมาณ 2-4% ในขณะที่ราคาวัสดุก่อสร้างขึ้นราคาแต่ผู้ประกอบการรับสร้างบ้านไม่สามารถปรับราคาบ้านขึ้นไปได้ เนื่องจาก กำลังซื้อและตลาดมีการชะลอตัวลงไป ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญในการบริหารต้นทุนให้ดีที่สุด ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการยังมีกำไรอยู่ในระดับที่เหมาะสม คือประมาณ 12% ต่อการสร้างบ้าน1 หลัง ถือว่าเป็นระดับมาตรฐานแต่การที่จะพยายามรักษาราคาไว้เท่าเดิมนั้น จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการต้นทุนที่ดี หากไม่มีการบริหารต้นทุนที่ดีแล้วก็จะส่งผลให้ขาดทุนได้
"ตอนนี้สมาชิกสมาคมของเราแบ่งความเห็นออกเป็นสองฝ่ายคือฝ่ายแรกเริ่มปรับราคาค่าสร้างบ้านขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจกับอีกฝ่ายหนึ่งพยายามที่จะคงต้นทุนเดิมแต่หันไปลดค่าใช้จ่ายทางด้านอื่นแทนซึ่งฝ่ายหลังนี้คิดว่าภาวะเศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่สภาพคล่องตามปกติได้หากราคาน้ำมันและปัจจัยเสี่ยงอื่นๆทรงตัว"
ศักดิ์ดา บอกอีกว่าสมาคมรับสร้างบ้านนั้นไม่เหมือนผู้ลงทุนด้านบ้านจัดสรรเพราะถึงจะเจอวิกฤตอย่างไรเราก็ยังสามารถดำเนินธุรกิจไปได้ตามปกติเพราะบ้านคือปัจจัยสี่จะมีคนที่เขาต้องการสร้างบ้านอยู่ตลอดเวลาและคนที่มีติดต่อบริษัทรับสร้างบ้านนั้นส่วนมากจะมีที่ดินเป็นของตัวเองและคนที่มีที่ดินอยู่ในมือนั้นย่อมเป็นกลุ่มที่มีกำลังเงินพอที่จะจ่ายเงินสดซึ่งจะแตกต่างจากบ้านจัดสรรที่คนส่วนใหญ่จะต้องพึ่งพาแบงก์เป็นหลัก
"แม้จะเจอวิกฤตร้ายแรงอีกสมาคมรับสร้างบ้านจะได้รับผลกระทบไม่เกิน 30%แน่นอนเพราะสมาชิกส่วนใหญ่ได้มีการปรับเปลี่ยนองค์กร เตรียมรับวิกฤตอย่างเต็มที่อยู่แล้ว"
สมเชาว์ ตันฑเทอดธรรม นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่าตลาดบ้านในปีนี้ น่าจะได้รับผลกระทบพอสมควรอันเนื่องมาจากปัจจัยทั้งภายนอกนั่นคือราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นส่วนปัจจัยภายในโดยเฉพาะเรื่องดอกเบี้ยนั้นในครึ่งปีหลังน่าจะอยู่ในภาวะทรงตัว ซึ่งโดยภาพรวมแล้วธุรกิจอสังหาริมทรัพย์น่าจะมีภาพรวมปรับตัวลงเล็กน้อยในบ้านที่มีราคาสูง ส่วนภาพรวมบ้านที่มีราคาปานกลางน่าจะยังสามารถขยายตัวได้ประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์ เพราะประชาชนยังมีความต้องการซื้อบ้าน โดยเฉพาะในส่วนของธุรกิจประเภทคอนโดมิเนียมในครึ่งปีแรกยังคงขยายตัวได้ เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากภาวะราคาน้ำมันแพง ทำให้คนหันมาซื้อที่อยู่ประเภทคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้า และมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมที่มีราคาไม่เกินตารางเมตรละ 60,000 บาท
"ปัจจัยการเมืองก็มีส่วนที่ทำให้ยอดผู้บริโภคลดลงเพราะเกิดความไม่มั่นใจในสถานการณ์ทางด้านการเมืองแต่คงเป็นเพียงช่วงระยะสั้นๆเท่านั้น"
สมเชาว์ระบุว่า ราคาบ้านในปีนี้จะปรับขึ้นอีก 5 ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ตามต้นทุนและอัตราเงินเฟ้อแต่ก็น้อยกว่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจริง โดยบ้านในระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทยังเป็นที่ต้องการของประชาชนและมีโอกาสขยายตัวได้ต่อไปได้อีกในระยะหนึ่งซึ่งหากไม่มีภาวะอะไรที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงคาดว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยรวมน่าจะฟันฝ่าปัญหาครั้งนี้ได้
ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต กรรมการและผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัทพฤกษาเรียลเอสเตท จำกัด(มหาชน)เปิดเผยว่าระดับราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ทำให้กระทบต่อความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภคโดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางของสหรัฐฯที่ยังไม่แน่นอนมาเป็นปัจจัยบวกกับราคาน้ำมันทำให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อลงอย่างเห็นได้ชัดโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้
บริษัทพฤกษาเราเล็งเห็นผลกระทบนั้นจึงได้มีการปรับเปลี่ยนแผนงานมาตั้งแต่ปลายปี 2548 โดยแต่เดิมนั้นเน้นการสร้างบ้านในราคาสูงและมีการส่งมอบหรือโอนกรรมสิทธิ์ในระหว่าง 10 เดือนขึ้นไปทำให้เกิดภาวะการเสี่ยงต่อการเปลี่ยนใจของผู้บริโภคเพราะเราไม่รู้ว่าในช่วงนั้นภาวะดอกเบี้ยจะปรับขึ้นไปอีกเท่าไหร่ อย่างไร เราจึงปรับเปลี่ยนการส่งมอบบ้านให้เราขึ้นโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 4 เดือนครึ่งเพื่อลดความเสี่ยงซึ่งก็ทำให้เรามั่นใจว่าลูกค้าจะไม่เปลี่ยนใจแน่นอนในระยะนี้
นอกจากนี้ปัจจัยต่างๆได้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของบริษัทซึ่งต้องรับภาระเพิ่มขึ้นอีก 5 % แต่ถือว่าพอจะสามารถประคับประคองธุรกิจให้ผ่านไปได้ แต่หากเกิดภาวะการที่เปลี่ยนแปลงหรือต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมากกว่านี้เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อบริษัทอย่างแน่นอนดังนั้นในครึ่งปีหลังนี้ทางบริษัทจึงหันมาสร้างบ้านเดี่ยวที่มีขนาดและราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทรวมทั้งสร้างทาวเฮ้าส์ในราคาใกล้เคียงกันเพื่อกระตุ้นยอดขายโดยรวของบริษัทเราด้วย
"เราเชื่อว่าผลกระทบที่มีอยู่ในขณะนี้อาจจะส่งผลต่อยอดขายของเราดังนั้นเมื่อช่วงต้นปีเราได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาจากภายนอกเข้ามาปรับเปลี่ยนรูปแบบขององค์กรเพื่อให้เราสามารถรับกับสถานการณ์ต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและเราเชื่อว่าเราจะผ่านปัญหานี้ไปได้ด้วยดี"ประเสริฐกล่าวในที่สุด
***********
กรมบัญชีกลางยันจ่ายค่างวดครบ
อธิบดีกรมบัญชีกลาง เสียงแข็งไม่มีปัญหาการเงินในส่วนที่รับผิดชอบจากงบประมาณ ท้าผู้รับเหมาโครงการบ้านเอื้ออาทรรายใดไม่ได้เงินให้แจ้งตรงถึงกรมบัญชีกลาง ยอมรับที่ผ่านมามีเบิกจ่ายล้าช้าจริงช่วงถังแตก ปัจจุบันจ่ายเงินให้ผู้รับเหมาได้เกือบ 100% ส่วนโครงการที่ขึ้นไม่ได้หากเงินกู้ไม่ผ่านต้องเคลียร์กับการเคหะฯ
บุญศักดิ์ เจียมปรีชา อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวถึงกรณีที่ผู้รับเหมาบ้านเอื้ออาทรโอดครวญว่าไม่ได้รับเงินค่างวดในการรับเหมาก่อสร้างบ้านเอื้ออาทร ทำให้โครงการในหลายพื้นที่ไม่สามารถขึ้นได้ตามกำหนดเวลา ทำให้งานล่าช้าและไม่อาจสร้างเสร็จได้ทันกำหนดนั้น ในความเป็นจริงแล้ว กรมบัญชีกลางได้โอนเงินดังกล่าวให้ทางผู้รับเหมาที่ยื่นเรื่องขอเบิกจ่ายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยในส่วนโครงการบ้านเอื้ออาทร มีการตั้งงบประมาณไว้ประมาณ 6 แสนล้านบาท ซึ่งปัจจุบันโอนจ่ายไปให้หมดแล้ว 94% ดังนั้นอีก 6% ที่เหลือไม่น่าจะเป็นสาระสำคัญที่ทำให้โครงการบ้านเอื้ออาทรไม่สามารถขึ้นได้
"ยืนยันว่าตอนนี้เราไม่มีปัญหาเรื่องการเงิน สถานะเงินคงคลังตอนนี้แข็งแกร่งที่บอกว่ามีการเบิกจ่ายล่าช้าในตอนนี้ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะในส่วนของกรมบัญชีกลางโอนเงินให้ผู้รับเหมาเกือบ 100% ของงบเบิกจ่ายแล้ว"
อย่างไรก็ตามปัญหาเรื่องการเบิกจ่ายล่าช้านั้นได้เกิดขึ้นจริง แต่เป็นเมื่อ 3 เดือนก่อน คือ พฤษภาคมเป็นช่วงที่มีข่าวคลังถังแตก ซึ่งบุญศักดิ์ บอกว่า ช่วงนั้นทำให้การเบิกจ่ายล้าช้าจริง แต่ใช่รัฐเบี้ยวเงินไม่จ่าย เพียงแต่จ่ายช้าไปบ้างจากปกติถ้ายื่นเรื่องเข้ามาแล้วจะโอนเงินได้ภายใน 3 วัน แต่พอมีปัญหาเรื่องเงินคงคลังในช่วงดังกล่าวทำให้จาก 3 วันเป็น 2 อาทิตย์ แต่ปัญหาตรงนี้ก็จบเพราะตอนนี้เงินคงคลังไม่มีปัญหา
ดังนั้น ข่าวที่ออกมาว่าผู้รับเหมาโครงการบ้านเอื้ออาทรยังไม่ได้รับเงินค่างวดนั้นไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะเมื่อผู้รับเหมายื่นเรื่องเข้ามาทางกรมบัญชีกลางก็จะโอนเงินไปยังบัญชีผู้รับเหมาโครงการโดยตรง ตามขั้นตอนและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ โดยผ่านตัวกลาง และจากจุดนี้เองที่ทำให้ บุญศักดิ์ เอ่ยว่า ถ้าผู้รับเหมามีปัญหาน่าจะคุยกับทางกรมบัญชีกลางมากกว่า เพื่อหาข้อบกพร่องที่แม้จริงว่าทำไมถึงยังไม่ได้เงิน ไม่ใช่อ้อมผ่านคนอื่นซึ่งตรงนี้ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้ผู้ประกอบการ
"อยากให้ผู้ประกอบการที่บอกว่าไม่ได้รับเงินค่างวดกล้าออกมาบอกกับทางกรมบัญชีกลางหรือผม เพราะเราอยากจะแก้ปัญหาให้ โดยยอมรับว่าทุกอย่างไม่ได้สมบูรณ์แบบ 100% แต่การที่ผู้ประกอบการไม่ออกมาพูดกับตนก็ทำให้ไม่สามารถบอกได้ว่าปัญหาที่ผิดพลาดนั้นอยู่ตรงไหน"
อธิบดีกรมบัญชีกลางบอกอีกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจอยู่ที่กระบวนการคีย์ตัวเลข ข้อมูล หรือใส่รหัสผิด เนื่องจากการโอนเงินนั้นทำผ่านระบบออนไลน์ แต่ในส่วนลึกมองว่าไม่น่าใช่ปัญหาตรงนี้ จึงเหมือนเรื่องคาใจมากกว่าว่าผิดพลาดตรงไหนรวมถึงประเด็นที่ว่าช่วง 3 เดือนก่อนเงินโอนเข้าไปให้ผู้รับเหมาล่าช้านั้นอาจส่งผลต่อการขึ้นโครงการ ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นปัญหาจริงหรือไม่ก็ต้องสอบถามจากทางผู้ประกอบการ
สำหรับขั้นตอนการเบิกจ่ายหลังจากที่ผู้รับเหมาทำโครงการผ่านและทำเรื่องขอเบิกเงินเข้ามาทางกรมบัญชีกลางนั้น งวดแรกจะให้ 15%วงเงินโครงการ เพื่อให้ผู้รับเหมาได้มีเงินหมุนเวียนในเบื้องต้นก่อน ซึ่งหลังจากนั้นถ้าสร้างเสร็จตามที่เงื่อนไขระบุก็ทำเรื่องเบิกจ่ายได้ ส่วนเบิกจ่ายเมื่อเสร็จโครงการ หรือเบิกจ่ายเป็นงวด ๆ ก็อยู่ที่ผู้รับเหมาทำสัญญาแบบไหน
เงินที่ใช้ในโครงการบ้านเอื้ออาทรมีเงิน 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นเงินงบประมาณ และอีกส่วนเป็นเงินกู้ โดยในส่วนเงินกู้นั้นอยู่นอกเหนือความรับผิดชอบของกรมบัญชีกลาง แต่ในส่วนของงบประมาณที่รับผิดชอบมีการโอนเงินให้เกือบหมดแล้ว ดังนั้นถ้าจะพิจารณาว่าเหตุใดผู้รับเหมายังขึ้นโครงการไม่ได้นั้นอาจติดในส่วนของเงินกู้ก็เป็นได้ ซึ่งในส่วนนี้เป็นความรับผิดชอบของทางการเคหะแห่งชาติ
บุญศักดิ์ กล่าวอย่างมั่นใจว่าโครงการที่ขึ้นช้านั้นไม่ได้มาจากกรมบัญชีกลางไม่มีเงินจ่าย เพราะทุกวันนี้เงินคงคลังไม่มีปัญหาแล้ว ดังนั้นปัญหาไม่น่าจะเกิดขึ้นจากกรมบัญชีกลาง
ด้านแหล่งข่าวระดับสูงกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ปัญหาที่โครงการบ้านเอื้ออาทรบางแห่งไม่สามารถขึ้นได้ตามกำหนดนั้น มาจาก 2 ประเด็น คือในช่วงเดือนพฤษภาคมที่มีปัญหาเรื่องเงินคงคลังทำให้การเบิกจ่ายล่าช้า แต่ตอนนี้ไม่มีปัญหาแล้ว โดยปัจจุบันมีเงินคงคลังกว่าแสนล้านบาท ดังนั้นที่บอกว่ารัฐไม่มีเงิน หรือไม่จ่ายค่างวดนั้นเป็นไปไม่ได้เพราะตอนนี้คลังมีสภาพคล่องแล้ว
"เมื่อประเด็นแรกหมดไป ก็ประเด็นที่ 2 คือ อยู่ที่ตัวผู้ประกอบการเอง การที่ไม่สามารถขึ้นโครงการได้ตามกำหนดนั้น ต้องดูด้วยว่าเป็นเพราะผู้ประกอบการขาดศักยภาพหรือไม่ เนื่องจากเพราะผู้ประกอบการรับงานไว้มากจนขาดแรงงงานหรือทรัพยากรที่จะไปลงทุนในโครงการบ้านเอื้ออาทร ดังนั้นในเรื่องนี้ต้องพิจารณาใน 2 ประเด็น"
ดังนั้น ควรพิจารณา 2 ด้านคือส่วนของกรมบัญชีกลางซึ่งที่ทราบคือกรมบัญชีกลางบอกว่าเคลียร์เงินให้เกือบ100%แล้ว บวกกับปัญหาเรื่องเงินคงคลังจบไปก็ไม่น่ามีปัญหา ส่วนอีกด้านก็ไปดูผู้รับเหมาว่ามีปัญหาอะไร ถ้ารับงานอื่นมากจนขาดศักยภาพในการสร้างบ้านเอื้ออาทร ก็เป็นหน้าที่ของผู้รับเหมาที่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำนั่นคือสร้างบ้านให้เสร็จตามที่กำหนด
|