ดินแดนสองฝั่งโขงถูกเชื่อมต่อกันแล้ว ด้วยสะพานมิตรภาพที่หนองคาย สะพานแห่งนี้ก่อให้เกิดความคาดหวังจากผู้คนหลายฝ่ายว่า
จะสร้างโอกาสในทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นและเป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพ เป็นจุดเริ่มต้นการพัฒนาของภูมิภาคอินโดจีน
ความคาดหวังนี้จะเป็นจริงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับนโยบายและท่าทีของรัฐบาลที่มีต่อกระแสทุนที่หลั่งไหลเข้ามาจากอีกฟากหนึ่งของสะพานนี้
สะพานข้ามแม่น้ำโขง ระหว่างลาวและไทย ที่ท่าเสด็จ จังหวัดหนองคาย เปิดใช้อย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อวันที่
8 เมษายน 2537 "สะพาน" ซึ่งมีจุดประสงค์ใช้สอย เพื่อความสะดวกในการคมนาคมขนส่งระหว่างประชาชนสองฝั่งโขงเป็นหลัก
ได้ก่อให้เกิดทั้ง "ผลกระทบ" และ "โอกาส" ของธุรกิจที่คาบเกี่ยวระหว่างชายแดน
ผลกระทบทางตรงที่เกิดขึ้นและเห็นได้เร็ว เกิดขึ้นกับธุรกิจการขนส่งทั้งสินค้าและผู้โดยสารข้ามแม่น้ำโขง
เช่น เรือข้ามฟาก และแพขนานยนต์ อีกด้านหนึ่ง ผลกระทบทางอ้อมหรือจะเรียกว่าเป็น
"โอกาส" ก็ได้คือ ธุรกิจพัฒนาที่ดินและการเก็งกำไร รวมทั้งกิจการโรงแรมและการท่องเที่ยว
แต่ผลกระทบที่จะมีกับธุรกิจขนส่งสินค้าและผู้โดยสารนั้น ไม่ได้ส่งผลอย่างรุนแรงต่อกิจการขนส่งทั้งหมด
มีเฉพาะการขนส่งผู้โดยสารเท่านั้น ที่ต้องเปลี่ยนทำเลทำมาหากินใหม่ ส่วนการขนส่งสินค้าโดยแพขนานยนต์
แทบจะเรียกได้ว่า ไม่ค่อยจะสะดุ้งสะเทือนต่อสะพานเชื่อมฝั่งโขงเส้นแรกนี้เลย
ถ้าไม่นับธุรกิจเรือโดยสาร ท่าเดื่อ-ท่านาแล้งที่มีประมาณ 20 กว่าลำ ซึ่งต้องกระจัดกระจายไปหาทางขนส่งเส้นทางใหม่แล้ว
"ที.แอล.เอ็นเตอร์ไพรส์" บริษัทสัญชาติลาว แต่เป็นของนักลงทุนไทย
ที่มีแพขนส่งรถบรรทุกสินค้าผ่านแดนขนาดใหญ่ 2 ลำ พารถบรรทุกสินค้าข้ามฝั่งวันละกว่า
200 คัน เป็นบริษัทที่ถูกคาดหมายว่าจะต้องเลิกกิจการ หรืออาจต้องเปลี่ยนเส้นทางขนส่ง
เหมือนที่ ศิริชัย โควบุตร กรรมการผู้จัดการ ที.แอล. เคยพูดไว้กับ "ผู้จัดการ"
เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วว่า เมื่อสะพานสร้างเสร็จแพของ ที.แอล. อย่างน้อย
1 ลำต้องถูกย้ายไปในที่ใดที่หนึ่งในแม่น้ำโขง อาจจะเป็นเชียงของ-บ่อแก้ว
การย้ายแพขนานยนต์ข้ามแม่น้ำโขงของที.แอล. พิจารณาได้สองทาง ทางหนึ่งเป็นเพราะหมดภารกิจเนื่องจากใช้สะพานแทน
อีกทางหนึ่งเพราะเชียงของ-บ่อแก้วมีความจำเป็นต้องใช้มากขึ้น
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรนั่นเป็นส่วนเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับส่วนทั้งหมดของที.แอล.เอ็นเตอร์ไพรส
์ เพราะห่างจากสะพานมิตรภาพไทยลาวไปเพียงไม่ถึง 1 กิโลเมตร เรือขุดของลาว
2 ลำ กำลังเดินเครื่องขุดสันดอนอยู่กลางลำน้ำโขงในเส้นทางแพขนานยนต์ ขนส่งสินค้าของที.แอล.
จากหนองคายไปถึงท่านาแล้งของลาวของบริษัท ที.แอล.เอ็นเตอร์ไพรส์ เพื่อให้แพขนานยนต์ใช้เวลาข้ามแม่น้ำโขงน้อยลงจาก
30 นาทีเหลือเพียง 15 นาที
สะพานก็เสร็จแล้ว ทำไมลาวต้องลงทุนสนับสนุนการขนส่งสินค้าด้วยแพขนานยนต์กันอีก
??
ศิริชัยเปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่า "รถบรรทุกของที.แอล.
วันละ 40 คันจะไม่ใช้สะพานข้ามโขงแต่จะข้ามด้วยแพขนานยนต์ของบริษัท และอาจจะมีรถบรรทุกของบริษัทอื่นเลือกใช้แพขนานยนต์ด้วย"
มีความหมายมากมายสำหรับคำพูดประโยคนี้ของผู้ที่เรียกได้ว่าอยู่ "วงใน"
กับฝ่ายลาวอย่าง "ศิริชัย"
เมื่อทุกฝ่ายคาดการณ์เอาไว้ว่าสะพานจะเป็นสิ่งที่นำมา ซึ่งความรุดหน้าทางเศรษฐกิจของภูมิภาคในด้านความคล่องตัวในการขนสินค้าเป็นเรื่องหลัก
แต่สำหรับที.แอล. กลับมองว่า ในธุรกิจด้านการขนส่งสินค้าจะไม่มีความแตกต่างระหว่างการมีสะพานข้ามโขงกับการไม่มีสะพานข้าม
เนื่องจากหัวใจของธุรกิจขนส่งสินค้าอยู่ที่ "โกดัง"
เมื่อแรกเริ่มโกดังสินค้าท่านาแล้งเป็นของรัฐบาลลาว ซึ่งที.แอล. ได้เข้าประมูลกิจการแพขนานยนต์และโกดังสินค้าในปี
2534 โดยเสนอผลประโยชน์ให้แก่รัฐบาลลาวถึงปีละ 10 ล้านบาทในสัญญาเช่าในนามบริษัท
ที.แอล.เอ็นเตอร์ไพรส์ (1991) จำกัด (ลาว) และได้ลงทุนมากกว่า 10 ล้านบาทในการจัดระบบและการขยายโกดังสินค้า
โกดังสินค้าของที.แอล. รองรับสินค้าจากบริษัทขนส่งสินค้าผ่านแดนไทย-ลาวทุกบริษัทที่ข้ามจากจังหวัดหนองคายมาถึงท่านาแล้ง
ซึ่งอยู่ห่างจากเวียงจันทน์ 30 กิโลเมตร หลังจากมติคณะรัฐมนตรีชุดอานันท์
1 ที่ตัดสินใจอนุญาตและรับรองบริษัทที.แอล.เอ็นเตอร์ไพรส์ ให้เข้ามาประกอบการขนส่งสินค้าผ่านแดนไทย-ลาว
ซึ่งก่อนหน้านั้นมีเพียง ร.ส.พ. บริษัทเดียว
เดิมทีเดียวโกดังสินค้าของที.แอล. มีพื้นที่ 30 ไร่ โดยรับสินค้ามากกว่า
2 พันตันต่อวัน มีพนักงาน 150 คน ต้นปี 2537 ที.แอล. ได้เซ็นสัญญากับรัฐบาลลาวขยายโกดังสินค้า
ซึ่งของพื้นที่จากรัฐบาลลาวในบริเวณติดกันเพิ่มอีก 15 ไร่ เนื่องจากคาดว่าสินค้าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น
40% เป็นเกือบ 3,000 ตันต่อวัน
สิ่งที่เป็นหลักประกันให้กับที.แอล. ว่า หากลงทุนขยายโกดังสินค้าแล้วจะไม่มีปัญหาเรื่องไม่มีของที่จะมาเข้าโกดังพอคือ
ข้อตกลงระหว่างที.แอล. กับรัฐบาลลาวที่มีว่าโกดังสินค้าจะตั้งอยู่ที่ท่านาแล้งไปอย่างน้อยถึงปี
2548 โดยมีฐานความเชื่อมั่นมาจากการคำนวณของยูเอ็นดีพี (UNDP) หน่วยงานจากสหประชาชาติว่าโกดังขนาด
45 ไร่ จะรองรับสินค้าได้ถึงปีดังกล่าว
ไม่เพียงแต่คำยืนยันจากรัฐบาลลาวในเรื่องที่ตั้งโกดังสินค้าเท่านั้นที่ทำให้ที.แอล.
มั่นใจ ทั้งด่านศุลกากรลาวที่จะทำการตรวจและพิธีการทางภาษีสินค้าที่ข้ามมาทั้งหมด
ก็ยืนยันอีกเช่นกันว่าจะคงดำเนินการอยู่ข้างโกดังสินค้าเหมือนเดิม
บุนถม ลอมะนี หัวหน้าด่านภาษีท่านาแล้งให้สัมภาษณ์ว่า ในเดือนมกราคมที่ผ่านมาด่านภาษีเก็บภาษีได้มากขึ้น
20% ทางด่านภาษีจึงขยายเวลาให้มีการเปิดด่านทุกวัน เพื่อรองรับการเปิดสะพานทั้งจะมีการตรวจสินค้าอย่างเข้มงวดขึ้น
โดยเฉพาะสินค้าที่ไม่ได้รับอนุญาต และสินค้าที่ลาวผลิตได้
แม้ว่าลาวจะมีแผนการสร้างถนนเลี่ยงเมืองเพื่อขนส่งสินค้าเข้าสู่เวียงจันทน์โดยตรงโดยไม่ผ่านทำนาแล้ง
แต่ปัญหาคือ ไม่มีด่านศุลกากรตรวจสินค้าที่ผ่านสะพานข้ามโขงแต่อย่างใด เพราะด่านที่รัฐบาลลาวสร้างที่เชิงสะพานเป็นเพียงด่านตรวจคนเข้าเมืองเท่านั้น
เป็นผลให้รถสินค้าทุกคัน ต้องย้อนกลับมาท่านาแล้งเพื่อตรวจสินค้าและเสียภาษีศุลกากรที่มีโกดังสินค้าของที.แอล.
รอรับอยู่
"ยิ่งประเทศลาวด้วยแล้ว รถบรรทุกของทุกคันต้องถูกตรวจอย่างละเอียด
ไม่ใช่ว่าจะขนอะไรมาก็ได้ ถ้าจะให้รถบรรทุกสินค้าจากไทยข้ามสะพานแล้วตรงเข้าใจกลางเมืองเวียงจันทน์ได้เลย
รัฐบาลลาวไม่มีทางอนุญาตแน่นอน เพราะเวียงจันทน์คือเมืองหลวง สินค้าทุกประเทศที่เข้ามาจะต้องไม่ขัดต่อกฎหมายลาว"
ศิริชัยกล่าว
ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง จุดมุ่งหมายของการสร้างสะพานข้ามโขงระหว่างลาวและไทย
ที่จะให้ความสะดวกในการขนส่งสินค้าเพื่อแลกเปลี่ยน และกระจายในภูมิภาคอินโดจีน
อย่างน้อยในระยะ 10 ปีนับจากนี้ไม่แน่นักว่าจะจริง
เป็นเรื่องจริงที่ว่าการข้ามแม่น้ำใช้เวลาน้อยลงสินค้าจำนวนมากซึ่งแต่เดิมใช้เวลาข้ามแม่น้ำโขงประมาณ
30 นาทีต่อ 1 เที่ยวแพขนานยนต์ เมื่อใช้สะพานอาจจะข้ามได้เร็วขึ้นจริง แต่ขีดจำกัดของการขนถ่ายสินค้าเมื่อลงสินค้าที่โกดัง
น่าจะเสียเวลามากขึ้นเสียด้วยซ้ำ เมื่อโกดังสินค้ามีพนักงานเท่าเดิมแต่ปริมาณสินค้ามากขึ้น
ดังนั้นเมื่อสินค้าข้ามได้เร็วแต่ทางด่านศุลกากรลาวที่มีเจ้าหน้าที่ประมาณ
30 คนจะต้องทำงานเร็วขึ้น ซึ่งความเป็นไปไม่ได้ก็คือ เจ้าหน้าที่ของลาวมีไม่เพียงพอขนาดที่จะรองรับกับธุรกิจที่ขยายตัวในประเทศที่มีประชากรไม่ถึง
5 ล้านคน
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ด่านตรวจคนเข้าเมืองท่าเดื่อขยายเวลาทำงาน และเมื่อเดือนมีนาคมด่านศุลกากรท่านาแล้งขยายเวลาตรวจสินค้าเช่นกัน
การตัดสินใจขยายเวลาของด่านทั้ง 2 เป็นไปตามคำสั่งของกระทรวงภายในของลาว
การปรับเปลี่ยนดังกล่าว แหล่งข่าวจากกระทรวงต่างประเทศไทยได้ให้ความเห็นว่า
"เป็นการแสดงให้ฝ่ายไทยมั่นใจว่า หน่วยงานราชการลาวมีความพร้อมรับการขยายตัวของธุรกิจเมื่อเปิดใช้สะพานเท่านั้น
แต่ในความเป็นจริงระบบราชการลาวเป็นระบบราชการหยุดนิ่ง และปรับตัวตามกระแสธุรกิจน้อยมาก
สิ่งที่เจ้าหน้าที่ลาวได้รับจากสายธารทุนที่หลั่งไหลเข้ามาในลาว ไม่ว่าจะเป็นค่าผ่านแดนนักท่องเที่ยว
หรือการเก็บภาษีสินค้า คือรายได้ที่เพิ่มขึ้นไม่เกิน 30% ของเงินเดือนราชการลาว
โดยเฉลี่ยคือ 30,000 กีบ หรือ 1,000 บาท เท่านั้น"
การทำธุรกิจในลาวของที.แอล. ไม่ใช่มีพื้นฐานบน "ความคาดหมาย"
เพียงอย่างเดียว แต่ใช้ความสัมพันธ์ที่เป็นจริง และไม่ตื่นตระหนกกับสิ่งที่เป็นเพียงความคาดหมายซึ่งก็คือ
การเปิดใช้สะพานแห่งนี้มาสร้างหลักประกันให้กับธุรกิจ แม้ว่าผลกระทบที่ตรงที่สุดคือแพขนานยนต์จะหมดบทบาทลง
แต่โกดังสินค้ากลับมีบทบาทมากขึ้น
จากโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัทที.แอล.เอ็นเตอร์ไพรส์ คือ บริษัทร่วมทุนไทย-ลาว
ฝ่ายไทยถือหุ้น 51% และฝ่ายลาว 49% หุ้นฝ่ายลาวคือบริษัท สันติภาพ อินเตอร์เทรด
ซึ่งมีโรงงานผลิตสังกะสี และเป็นตัวแทนจำหน่ายรถมอเตอร์ไซด์แต่แม้จะเป็นบริษัทลาวคนที่เป็นกรรมการผู้จัดการกลับเป็นตัวศิริชัยนั่นแหละ
"ธุรกิจขนส่งสินค้าผ่านแดนเป็นเพียง 20% ของธุรกิจทั้งหมดของผมในลาวเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับรัฐบาลลาวเท่านั้น
ซึ่งแพขนานยนต์ที่ท่านาแล้ง รัฐบาลลาวให้อยู่เพื่อเป็นเครื่องมือสำรองให้การขนส่งสินค้าไม่ให้ชะงักเมื่อการใช้สะพานเกิดปัญหาขึ้น
โดยขอให้อยู่ 1 ลำสำหรับการขนเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถข้ามสะพานได้
เมื่อไม่นานมานี้กระทรวงภายในของลาวก็ขอมากับผมให้หาผู้ร่วมทุนตั้งบริษัทรักษาความปลอดภัยในลาว
เนื่องจากนักลงทุนในลาวโครงการใหญ่ๆ ต้องการเจ้าหน้าที่ลาวให้ความสะดวก"
กรรมการผู้จัดการที.แอล. กล่าว
ศิริชัยเปิดเผยถึงความสัมพันธ์ในด้านลึกกับรัฐบาลลาวที่แนบแน่นโดยเฉพาะกับกระทรวงภายในของลาวถึงขั้นที่มีการขอมาจากลาวบ่อยครั้ง
การลงทุนในลักษณะนี้เรียกได้ว่าไม่สุ่มเสี่ยงตราบเท่าที่สายอำนาจในลาวยังไม่เปลี่ยนแปลง
การคงอยู่ของที.แอล. เอ็นเตอร์ไพรส์ เป็นสิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดของผลกระทบที่มากับสะพานข้ามแม่น้ำโขง
สะพานไม่ได้ทำให้ที.แอล. ล้มหายตายจากไปจากวงจรธุรกิจในลาว แต่มีการปรับตัวตามสภาพความเป็นจริงของเหตุการณ์
แต่มีเหตุการณ์อีกหลายอย่างเกี่ยวพันกับธุรกิจอื่นๆ ที่ดูเหมือนไม่ได้ผลดีผลเสียอะไรกับสะพานข้ามแม่น้ำโขงโดยตรง
ทว่าสะพานก็สร้างแรงกระทบให้อย่างไม่น่าเชื่อ
โครงการพัฒนาที่ดินเป็นหนึ่งในจำนวนนั้น นักธุรกิจไทยเคยได้ประโยชน์เมื่อมีการพัฒนาเส้นทางคมนาคมไทย
ดังเช่นการเก็งกำไรที่ดิน เมื่อถนนตัดผ่านในรูปของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
คาดเดาว่าการทำธุรกิจที่ดินในเวียงจันทน์หลังการเปิดใช้สะพานมิตรภาพแล้วจะได้ผลกำไรงดงาม
ซึ่งดูเหมือนว่า ความคาดหมายดังกล่าวจะเป็นไปได้สูง
บาเลียน คำดาลานิกอน ประธานโครงการวังสันติสุข ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาที่ดินในพื้นที่เชิงสะพานมิตรภาพในฝั่งลาวที่มีกลุ่ม
"โพธิสุธน" เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ เปิดเผย "ผู้จัดการ"
ว่า ทันทีที่มีข่าวว่าจะมีการสร้างสะพานแห่งนี้ กลุ่มนักธุรกิจไทยพยายามที่จะติดต่อขอซื้อที่ดิน
จนออกมาในรูปของโครงการพัฒนาที่ดินอย่างเดียวกับที่ทำให้ราคาที่ดินแถบถนนสายท่าเดือ-เวียงจันทน์ขยับตัวสูงขึ้นมาก
ไม่เพียงแต่ "โพธิสุธน" เท่านั้น กลุ่ม "เหมราช" ของสวัสดิ์
หอรุ่งเรือง ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่เข้ามาในรูปแบบเดียวกันในพื้นที่ติดกันและอยู่ใกล้สะพานมากกว่าเสียด้วยซ้ำ
และพื้นที่บริเวณเชิงสะพานมิตรภาพ ถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่าใจกลางกรุงเวียงจันทน์
โดยที่ทั้งสองโครงการต้องการใช้พื้นที่ประมาณโครงการละ 12,500 ไร่
โครงการของวังสันติสุขประกอบด้วย สนามกอล์ฟ รีสอร์ท พื้นที่จัดแสดงสินค้าถาวร
และโครงงานอุตสาหกรรม โดยอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดการสร้างเขตเศรษฐกิจ เพื่อการส่งออกที่อาศัยการโอนย้ายเทคโนโลยีทางการผลิตจากฝั่งไทย
มีเป้าหมายเพื่อส่งออกสินค้าขึ้นเหนือตามเส้นทางหมายเลข 13 ต่อด้วยหมายเลข
10 เพื่อขึ้นสู่จีนและเวียดนาม ซึ่งใช้โครงการพัฒนาสาธารณูปโภคของรัฐบาลลาวเป็นตัวรองรับ
ตามแผนการก่อสร้างสาธารณูปโภคของรัฐบาลลาว คือโรงจ่ายกระแสไฟฟ้า และสถานีน้ำประปาจะสร้างขึ้นบริเวณท่านาแล้งซึ่งจะต้องผ่านโครงการของเหมราชก่อน
ที่สำคัญการลงทุนของต่างประเทศในด้านโรงงานอุตสาหกรรม เป็นที่แน่นอนว่าจะต้องเลือกพื้นที่ที่มีสาธารณูปโภคพร้อมและง่ายต่อการขนส่ง
เนื่องจากทำเลที่ตั้งอยู่ใกล้กับสะพานมิตรภาพมากกว่า ภายใต้เงื่อนไขที่ไม่แตกต่างกันมานักระหว่างผู้เช่าช่วงกับเจ้าของโครงการ
คืออัตราค่าเช่าซึ่งรัฐบาลลาวมีนโยบายสร้างให้มีมาตรฐานเดียวกันทุกโครงการ
ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม สิ่งนี้ก่อให้เกิดผลทางอ้อมที่ส่งให้ราคาที่ดินในแขวงเวียงจันทน์ขึ้นสูงกว่า
50% จากการเข้าไปของโครงการใหญ่ๆ ทั้ง 2 โครงการนี้ปรากฏให้เห็นเมื่อปลายปี
2536 และนักธุรกิจไทยในกลุ่มอีสานหลายกลุ่มได้เข้าไปหวังจะกว้านซื้อที่ดินแม้ว่าจะไม่มมีตัวโครงการในมือ
เลื่อน สมบูนขัน รองประธานคณะกรรมการแผนการและความร่วมมือได้แสดงความวิตกกังวลต่อผลกระทบของโครงการต่างๆ
ที่เข้ามาในลักษณะของการพัฒนาที่ดิน โดยกล่าวว่ามีปัญหาที่เกิดจากโครงการดังกล่าวนี้มาก
ทั้งทางสังคมซึ่งคือการอพยพประชาชน และราคาที่ดินที่สูงขึ้นจากการซื้อขายโดยการโอนสิทธิ์ที่คนลาวเป็นผู้ขอโอน
เนื่องจากกฎหมายที่ดินของลาวไม่อนุญาตให้คนต่างชาติซื้อที่ดินได้
ความวิตกนี้ทำให้มีแนวโน้มว่า คณะกรรมการการลงทุนลาวจะอนุมัติโครงการในลักษณะนี้ยากขึ้นเมื่อรัฐบาลลาวไม่สามารถควบคุมราคาที่ดินได้
ซึ่งในขณะนี้สูงขึ้นถึงไร่ละ 70,000 บาทถึง 1 ล้านบาทในตลอดเส้นทางสายท่าเดื่อ-เวียงจันทน์
และแนวโน้มในปี 2537 นี้รัฐบาลลาวอาจจะมีนโยบายลดการซื้อขายที่ดินในเขตทั่วประเทศ
แต่ก็ยังไม่มีรูปธรรมให้เห็น
หากหันมามองที่ราคาที่ดินฝั่งไทยแล้วจะพบว่า ที่ดินแถบหนองคายขยับตัวสูงขึ้น
ก่อนที่ที่ดินฝั่งลาวจะมีราคาเหมือนในปัจจุบัน ที่ดินเชิงสะพานในจังหวัดหนองคายถูกคาดหมายล่วงหน้าไว้แล้วว่าจะมีราคาสูง
ซึ่งได้มีการจับจองและสร้างเป็นอาคารพาณิชย์ โรงแรม บ้านจัดสรรและศูนย์การค้า
พร้อมกับพื้นที่ขายสินค้าได้ถูกจองไว้หมดตั้งแต่ต้นปี 2537 นอกจากธุรกิจพัฒนาที่ดินแล้ว
โรงแรมเป็นหนึ่งในธุรกิจที่คาดหวังและเก็งกำไรกับปริมาณนักท่องเที่ยวที่จะมาพร้อมกับการเปิดใช้สะพานมิตรภาพ
ทั้งโรงแรมในเวียงจันทน์และโรงแรมในหนองคาย
โรงแรมที่ใหญ่ที่สุดในหนองคาย คือโรงแรมแกรนด์และโรงแรมแม่น้ำโขงฮอลิเดย์
อินน์ ส่วนฝั่งลาวในกรุงเวียงจันทน์คือ โรงแรมเบลเวเดียของสิงคโปร์ ห้องพักของโรงแรมเหล่านี้และโรงแรมอื่นๆ
ทั้งในเวียงจันทน์และหนองคายได้รับการจับจองจนเต็มก่อนหน้าที่จะถึงกำหนดเปิดสะพานล่วงหน้า
1 เดือน
เอนดรู กง กรรมการผู้จัดการบริษัท กรูทรี่อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นบริษัทสิงคโปร์ที่เข้ามาบริหารโรงแรมเบลเวเดีย
กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า นักท่องเที่ยวจะเดินทางมาพักที่เวียงจันทน์มากกว่าหนองคาย
เนื่องจากการข้ามแดนโดยไม่ต้องใบผ่านแดนสามารถที่จะค้างคืนได้ และสำหรับการขอวีซ่าก็สะดวกมากกว่าที่จะข้ามมาและกลับไปในวันเดียว
และรัฐบาลลาวเองก็มีแนวโน้มว่า จะผ่อนคลายกฎระเบียบในการผ่านแดนให้มีความสะดวกมากขึ้น
เห็นได้จากการขยายเวลาเปิดด่านท่าเดื่อตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา
สำหรับโรงแรมแกรนด์ (หนองคาย) ได้คาดหมายทางธุรกิจไว้เช่นกันว่า นักท่องเที่ยวที่ข้ามไปเวียงจันทน์ได้สะดวกขึ้นโดยรถยนต์ข้ามสะพาน
เป็นไปได้สูงว่าจะกลับมาพักที่หนองคายเพราะใช้เวลาไม่นานในการไปและกลับ ซึ่งถ้าไปกลับในวันเดียวจะเสียค่าใช้จ่ายต่ำกว่า
และในปัจจุบันผู้ที่เดินทางเข้าลาว 80% ยังคงใช้ใบผ่านแดนซึ่งต้องไปกลับในวันเดียว
การคาดการณ์ที่แตกต่างกันของธุรกิจทั้ง 2 ฝั่งมีสาเหตุมาจากความไม่ชัดเจนของจัดระบบการผ่านแดนเข้าออกระหว่างไทยกับลาว
ที่เคยมีปัญหามาโดยตลอด เฉพาะปี 2536 มีการปิดด่านตรวจคนเข้าเมืองท่าเดื่อเพื่อให้ยึดตามข้อตกลงเดิมในสมัยรัฐบาลพลเอก
เกรียงศักดิ์ กับรัฐบาลลาวที่มี ท่านไกสอน เป็นประธานประเทศ ว่าด้วยระเบียบการอนุญาตให้ผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ห่างจากแต่ละประเทศไม่เกิน
25 กิโลเมตรผ่านเข้าออกได้ ทำให้แทบจะไม่มีคนข้ามไป-มากว่า 3 วัน
ทั้งที่ความคาดหวังของนักธุรกิจเริ่มวิ่งไปข้างหน้าแล้ว เมื่อสะพานเปิดสะพานอย่างเป็นทางการ
แต่ความชัดเจนตามความคาดหวังต่างมีน้อยมาก ผลที่จะเกิดขึ้นจากการคาดการณ์จะส่งผลได้ทั้งทางลบและทางบวก
ผลทางบวกอย่างดีที่สุดก็คือ การเตรียมพร้อมการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศอินโดจีนซึ่งใช้ประเทศลาวเป็นทางผ่านในระยะยาว
สำหรับผลทางลบที่จะเกิดขึ้นมาก เป็นการสร้างความต้องการซื้อขายในระดับที่เกินกว่าเป็นจริงให้เกิดขึ้นในลาว
และความตื่นตัวทั้งหมดก็จะหยุดนิ่ง เมื่ออยู่ในระยะเวลาที่ไม่เกิดซื้อขายจริงดังที่คาดการณ์มาถึง
เหมือนที่เคยเกิดขึ้นทางภาคตะวันออกของไทยสมัยรัฐบาลชาติชาย
แต่ถึงอย่างคนทั่วไปต่างก็คาดหวังสูงเสมออย่างเช่น ผู้บริจาคอย่าง "ออสเตรเลีย"
จากคำแถลงของ โรเบิร์ต เพาว์ที่ว่า "ความฝันที่จะเชื่อมประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวกับประเทศไทยที่มีมานานหลายปีก็จะเป็นความจริง
ด้วยการเริ่มเปิดการคมนาคมข้ามแม่น้ำโขงโดยสะพานแห่งแรก มากไปกว่าโครงสร้างสะพานที่เป็นคอนกรีตและโครงเหล็ก
สะพานข้ามโขงแห่งนี้ยังเป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพ ความหวัง และอนาคตแห่งการพัฒนา
เพื่อประเทศไทย ลาว และภูมิภาคอินโดจีน"
ไม่แตกต่างกันนักกับถ้อยแถลงทั้งจากรัฐบาลไทยและรัฐบาลลาว ที่เห็นสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งนี้เป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจที่ดีอย่างยิ่งยวด
การคาดการณ์ทั้งหมดนี้ ที่สะพานมิตรภาพจะมีความเป็นไปได้มากที่สุดคือ การเป็นสื่อกลางในสัมพันธไมตรีลาวกับไทยที่เริ่มมีการหารือกันบ่อยครั้งขึ้น
แม้ว่าข้อตกลงอย่างเป็นทางการในด้านเทคนิคการดำเนินการสะพานมิตรภาพไทย-ลาวยังไม่สมบูรณ์
แต่การเจรจาที่ได้ข้อสรุปในบางประเด็นทำให้เห็นสัมพันธภาพที่มีขึ้น
สำหรับสะพาน ในฐานะเครื่องมือทางเศรษฐกิจมีความเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ในเวลานี้เท่าๆ
กันกล่าวคือ ความสะดวกในการขนส่งที่จะมีขึ้นจากสะพานนั้น ล้วนสัมพันธ์กับระบบการจัดการภายในประเทศลาวอย่างแน่นแฟ้น
อย่างเช่น ระเบียบการห้ามรถเข้าเวียงจันทน์เมื่อข้ามจากสะพานมาแล้ว การขนถ่ายสินค้าได้เพียงจุดเดียว
การออกใบผ่านแดนที่ให้เพียง 3 วัน และการเปลี่ยนแปลงของลาวที่มักจะเกิดขึ้นโดยกระทันหันทั้งหมดนี้
อาจทำให้สะพานมิตรภาพไทย-ลาวไม่น่าจะมีศักยภาพทางเศรษฐกิจเท่าที่คนพูดกัน
สะพานมิตรภาพไทย-ลาวเป็นความจำเป็นทางเศรษฐกิจของลาวด้วยความคิดเบื้องต้นในทางภูมิศาสตร์ที่ลาวเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล
จึงต้องใช้ดินแดนของประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเป็นเส้นทางขนส่ง และประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความพร้อมของเส้นทางมากกว่ากัมพูชาและเวียดนาม
แต่เมื่อมีสะพานเกิดขึ้นจริง นักลงทุนไทยเริ่มคาดหวังในสิ่งที่มากกว่าการเชื่อมต่อเส้นทางขนส่งไทย-ลาว
ผลที่ออกมาจึงเป็นความขัดแย้ง และความคาดหวังที่ยังรอการพิสูจน์
ความคาดหวังทั้งหมดนี้อาจจะเลื่อนลอยหรือสำเร็จได้ล้วนขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลลาวยุค
"เศรษฐกิจในจินตนาการใหม่" ที่ใจหนึ่งอยากจะเปิดประเทศรับการหลั่งไหลของทุน
แต่อีกใจหนึ่งต้องการคุมสภาพและปริมาณของทุนที่เข้ามาให้ได้ เรื่องที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายจึงมีสิทธิ์เกิดขึ้นได้เสมอ