Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ เมษายน 2537








 
นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2537
"ซื้อบ้าน…เรื่องที่ต้องวัดใจกับผู้ประกอบการ"             
 


   
search resources

บ้านฉัตรเพชร
รังสรรค์ ต่อสุวรรณ
พงศกร ญาณเบญจวงศ์
Real Estate




ภาพลักษณ์ของโครงการที่อยู่อาศัยทุกวันนี้กำลังตกต่ำอย่างหนัก ด้วยวิถีการปฏิบัติของผู้ประกอบการเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัวที่มีผลกระทบไปยังโครงการ การทำโครงการที่มีเจตนาที่จะฉ้อโกง หรือหลีกเลี่ยงการจัดสรรไม่ทำตามสัญญาที่ระบุไว้ และอื่นๆ อีกมากมายตามข่าวคราวที่เกิดขึ้นตามหน้าหนังสือพิมพ์ เคราะห์กรรมจึงตกอยู่กับผู้ซื้อบ้านนับหมื่น นับแสนคน และนับวันจะมากขึ้นทุกที ในขณะที่ข้อกำหนดกฎหมายยังช่วยอะไรไม่ได้

เมื่อก่อนหากมีคำถามว่า "หากคุณจะซื้อบ้านสักหลัง สิ่งที่ทำให้คุณตัดสินใจที่จะซื้อคืออะไร ?"

คำตอบที่ได้ก็จะต่างกันมากมาย เช่น การคมนาคมสะดวก ต้องเป็นโครงการที่ใกล้บ้านใกล้ที่ทำงาน ราคาไม่แพงเกินไปนัก แบบบ้านสวยงาม หรือมีสิ่งอำนวยความสะดวกเพียบพร้อม ฯลฯ

แต่ถ้าเป็นวันนี้ คำตอบแรกที่อยู่ในใจของผู้ซื้อบ้านทั้งหลาย น่าจะเป็นเรื่องเจ้าของโครงการนั้นๆ น่าเชื่อถือได้แค่ไหนมากกว่า เพราะทุกคำตอบข้างบนอาจจะเป็นไปไม่ได้เลย หากผู้ประกอบการมีประวัติส่วนตัวและการทำงานไม่น่าเชื่อถือ อย่างเช่นหลายๆ โครงการที่ตกเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์

"การซื้อที่อยู่อาศัยในทุกวันนี้เป็นเรื่องที่ต้องเสี่ยง" วิชา จิวาลัย นกยกสมาคมการค้าอาคารชุดกล่าวยืนยันกับผู้จัดการ ดังนั้นการซื้อต้องมีความพิถีพิถันมากขึ้น ผู้ซื้อต้องรวบรวมข้อมูลของโครงการที่จะซื้อให้ได้มากที่สุด เพื่อให้มีความเสี่ยงน้อยที่สุด ประวัติของผู้ประกอบการจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจ แต่ลูกค้าหลายคนก็ไม่วายที่จะพลาดจนได้ เมื่อเรื่องที่เกินกว่าที่จะคาดเดาเกิดขึ้น

บางทีชีวิตส่วนตัว-ชะตากรรมของเจ้าของโครงการที่ไม่มีส่วนเกี่ยวพันใดๆ กับตัวธุรกิจเลยแม้แต่น้อย ก็มีความสำคัญต่ออนาคตของโครงการไม่น้อย โดยเฉพาะในรายที่บริหารงานแบบทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับตัวผู้เป็นเจ้าของคนเดียว ตามแบบฉบับของกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของไทย

รังสรรค์ ต่อสุวรรณ และพงศกร ญาณเบญจวงศ์ สองผู้ยิ่งใหญ่ในวงการที่ดิน เป็นตัวอย่างที่คลาสสิคที่สุดวันนี้

ถ้าจะดูเบื้องหลังของผู้ประกอบการรังสรรค์คือสถาปนิกที่มีชื่อเสียง เป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติในขณะที่พงศกรเอง ก็เป็นผู้ที่มีโครงการทางด้านจัดสรรมาหลายโครงการ

รังสรรค์เหมือนกับพงศกร ในมุมมองที่ว่า ทั้ง 2 คนนี้ไม่ได้มีเจตนาที่หลอกลวงผู้บริโภค ในแง่ของการตระบัดสัตย์คำมั่นสัญญาที่ให้กับลูกค้า แต่ทั้งสองคนนี้มีปัญหาส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวพันนั่น คือข้อหาเกี่ยวกับการฆ่าคนตาย รังสรรค์นั้นโดนหนักหน่อย ถูกข้อหาจ้างวานฆ่าประธานศาลฎีกา ประมาณ ซันซื่อ ส่วนคนหลังเป็นผู้ต้องหาร่วมกันฆ่านายอำนาจ แจ้งกิจ สถาปนิกหนุ่ม ใน "แอคโค่ คาราโอเกะ" โรงแรมมณเฑียรและขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดี

นอกจากสำนักงานสถาปนิกรังสรรค์ สถาปัตย์แล้วรังสรรค์ยังเป็นนักพัฒนาที่ดินรายใหญ่มีโครงการด้านตึกสูงมากมายหลายโครงการ โดยเฉพาะคอนโดมีเนียมในเมืองตากอากาศชายทะเล ต่อมาเมื่อหมดยุคคอนโดฯ ราคาแพงของเศรษฐี รังสรรค์หันมาทำคอนโดฯ ราคาปานกลางในกรุงเทพฯ คือโครงการบ้านฉัตรเพชรที่บางพลัดและย่านรัชดาภิเษกในนามของบริษัทบ้านฉัตรเพชร

บริษัทฉัตรเพชรนี้เองที่ถูกกำหนดให้เป็นบริษัทแม่ซื้อหุ้นในบริษัทต่างๆ ที่เป็นของรังสรรค์เพื่อจัดระเบียบทรัพย์สินเตรียมเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ คราวนั้นรังสรรค์ได้ดึงเอานักธุรกิจชื่อดังเช่นวานิช ไชยวรรณ และเดช นำศิริกุล เข้ามาเป็นกรรมการด้วย พร้อมๆ กับการเปิดขายบ้านฉัตรเพชร บางพลัด ซึ่งเปิดขายได้เพียงไม่กี่เดือน รังสรรค์ก็โดนข้อหาใหญ่

หลังจากเกิดเหตุร้ายคราวนั้น พนักงานของบริษัทบ้านฉัตรเพชรได้เพียรพยายามชี้แจงกับลูกค้าที่ซื้อไปแล้วว่า เรื่องของคดีเป็นเรื่องของบุคคลเพียงคนเดียวเท่านั้นไม่เกี่ยวกับบริษัท แต่ก็ไม่วายที่จะประสบปัญหาจากลูกค้าบางคนด้วยการไม่ยอมชำระค่าผ่อนเงินดาวน์ต่อ นอกจากบ้านฉัตรเพชรซึ่งเป็นโครงการล่าสุดที่เปิดตัวแล้ว รังสรรค์ก็ยังมีโครงการขนาดใหญ่อีกหลายโครงการที่อยู่ในระหว่างการขาย และการก่อสร้างเช่น โครงการสีลมพรีเชียสเป็นออฟฟิศสำนักงานสูง 63 ชั้น โครงการสาธรยูนีคออฟฟิศ สูง 49 ชั้นบนถนนสาธร โครงการฉัตรเพชรทาวเวอร์คอนโดมีเนียมสูง 55 ชั้นบนถนนรัชดาภิเษก โครงการโกลเด้นบีช การ์เด้นคอนโดมีเนียม สูง 39 ชั้นที่จังหวัดระยอง

ทั้ง 4 โครงการนี้เริ่มงานขายและก่อสร้างเมื่อประมาณปี 2533-2534 ซึ่งเป็นช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวพร้อมๆ ตลาดตึกสูงเริ่มอิ่มตัว แน่นอนว่าโครงการเหล่านั้นจะต้องประสบปัญหาทางด้านการขายพอสมควร

ผู้ที่ซื้อโครงการฯ ต่างๆ เหล่านี้ไปแล้ว แน่นอนว่าจะต้องมีความหวั่นไหวกับอนาคตของโครงการ เมื่อหัวเรือใหญ่ที่เป็นผู้ชี้ทุกสิ่งทุกอย่างต้องประสบกับเคราะห์กรรมเช่นนี้

รังสรรค์อาจจะโชคดีอยู่บ้างที่มีพวงเพ็ญ วิบูลย์สวัสดิ์ น้องสาวซึ่งเป็นสถาปนิก และผู้ที่คลุกคลีมาในวงการอสังหาริมทรัพย์มาโดยตลอดด้วยการทำงานให้กับปัญญา ควรตระกูล เจ้าของโครงการหมู่บ้านปัญญา และสนามกอล์ฟชื่อดังมาเป็นตัวหลักในการทำงานต่อไป

พวงเพ็ญเป็นผู้ที่มีความสามารถในด้านการตลาด และยังมีทีมงานที่ช่วยในเรื่องด้านการก่อสร้างทำให้ ณ วันนี้ โครงการบ้านฉัตรเพชรบางพลัด ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดตัวล่าสุด ในเฟส. ที่ 1. เป็นคอนโดสูง 5 ชั้น และ 9 ชั้น ประมาณ 10 หลัง และในปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาได้มีการวางแผนไว้ว่า จะมีการเปิดขายเฟส. ต่อไป

พวงเพ็ญสามารถฝ่าพงหนามของโครงการบ้านฉัตรเพชรไปได้ก็จริง แต่ที่ทุกคนกำลังจะจับตามองต่อไปก็คือ เธอกำลังจะจัดการอย่างไรต่อไปกับโครงการอื่นๆ ที่ยังค้างคาโดยเฉพาะ "รังสรรค์ สีลมพรีเชียส ทาวเวอร์" ศูนย์อัญมณีมูลค่า 12,000 ล้านบาทบนถนนสีลมที่รังสรรค์ภาคภูมิใจนักหนา

ยอดขายโครงการนี้เป็นที่รู้กันในวงการว่าไม่ดีเท่าที่ควร เพราะปัจจุบันศูนย์อัญมณีเกิดขึ้นมากมายในขณะที่พื้นที่ขายอาคารสำนักงานก็ยังอยู่ในช่วงล้นตลาด แต่ขณะเดียวกันต้องใช้เงินในการก่อสร้างมหาศาล โครงการที่บางพลัด หรือรัชดาภิเษก คงไม่มีกำรี้กำไรพอมาจุนเจือ แน่นอนรวมทั้งสถาบันการเงินต่างๆ ที่จะปล่อยกู้ก็คงจะคิดหนัก

การบริหารการเงิน เป็นสิ่งที่กำลังท้าทายความสามารถของทีมงานของรังสรรค์อย่างที่สุด

"คุณพวงเพ็ญ เป็นผู้หญิงที่เก่ง แต่ภาระหนี้สินของโครงการใหญ่ๆ ที่กำลังค้างคาอยู่ ทำให้แกหนักพอสมควร กรรมการอื่นๆ ของบ้านฉัตรเพชรคงต้องลงมาระดมสมองช่วยเต็มที่" แหล่งข่าวในวงการก่อสร้างรายหนึ่งให้ความเห็น

สำหรับพงศกรเอง ได้เริ่มเข้ามาทำโครงการหมู่บ้านจัดสรรตั้งแต่ปี 2524 ในนามของบริษัทปลาทองการัต เจ้าของโครงการพงศกรวิลล่า ในซอยลาดพร้าว 91 ชื่อเสียงเขาเริ่มเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็วเมื่อมาทำ "แฟลตปลาทองรังสิต" โครงการผู้มีรายได้น้อย เพียงยูนิตละ 3 แสนกว่าบาท จำนวนเกือบ 2 หมื่นยูนิต และสามารถขายได้อย่างรวดเร็ว

แฟลตปลาทองขายดีเพราะเป็นโครงการที่จับตลาดล่าง ราคาถูก ผ่อนดาวน์น้อย และกระชากใจผู้ซื้อด้วยการจ้างกลุ่มตลกชื่อดัง ชูศรี และล้อต๊อกมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ ประกอบกับเพลง "วันที่ 9 เดือน 9" อันเร้าใจ รวมทั้งโครงการ "รัชดา มินิออฟฟิศ" ซึ่งดัดแปลงข้อดีของตึกแถวและออฟฟิศสำนักงานมาเป็นออฟฟิศสำนักงานขนาดเล็ก ขายยกตึกก็ขายหมดภายในเวลาเพียงไม่กี่เดือน

แน่นอน ณ วันนั้น พงศกรคือนักพัฒนาที่ดินมืออาชีพที่มองเกมการตลาดได้อย่างแหลมคม ทำให้นักพัฒนาที่ดินมืออาชีพรายเก่าๆ ต้องมองด้วยความอิจฉา

เขายังคงเปิดโครงการอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการปลาทองสแปนิชที่พัทยา โครงการสนามกอล์ฟและบ้านจัดสรรที่สุวินทวงศ์ และโครงการรักษ์สักทอง พงศกรเริ่มเจ็บตัวเมื่อโครงการหลังๆ ยอดขายเริ่มแผ่วเบาลง ประกอบกับปัญหาของความล่าช้าในการโอนแฟลตปลาทอง ทำให้เขามีหนี้ท่วมตัวจนเมื่อปีที่แล้วต้องประกาศขายทรัยพย์สินบางส่วน รวมทั้งโครงการที่สุวินทวงศ์ให้กับกลุ่มยูนิเวสท์แลนด์เพื่อพยุงฐานะทางการเงินของบริษัทเอาไว้

ในขณะที่ธุรกิจของเขาโดนมรสุมรุมเร้า บุคลิกอีกมุมหนึ่งของเขาได้กระฉ่อนไปในวงการคือนักเที่ยวนักรักตัวยง เขามีผู้หญิงไม่ซ้ำหน้า ใช้ชีวิตยามราตรีเฉกเช่นเพลย์บอย

บรรดาผู้ประกอบการด้วยกัน และสถาบันการเงินเริ่มไม่ให้ความเชื่อถือ นักพัฒนาที่ดินรายหนึ่งที่มีสำนักงานใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาย่านคลองสานถึงกับกล่าวว่า "เขาไม่ใช่มืออาชีพ แต่เข้ามาอาศัยช่วงจังหวะที่ดินบูม แต่ได้โชคช่วยและเขากับผมคนละระดับกัน"

บางรายก็มองว่าเขาฉลาด บุคลิกของเขาต่อผู้ประกอบการด้วยกันและสื่อมวลชน เขาจะมีท่าทีที่มีความเป็นกันเองแบบเพื่อน

โครงการที่กำลังขายของพงศกรในตอนนี้มี 3 โครงการใหญ่คือ "ปลาทองสแปนิช" ที่พัทยา โครงการสวนสัก "รักษ์สักทอง" ที่อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี และโครงการปลาทองรังสิตบางส่วนที่ยังขายไม่หมด แล้วเพิ่งเอามาขายใหม่อีกรอบก่อนพงศกรเข้าคุกไม่กี่วัน คราวนี้ทีมงานเบื้องหลังซึ่งไม่ค่อยปรากฏชื่อเสียงเรียงนามต่อสื่อมวลชนคงต้องทำงานกันหนัก เพราะนอกจากต้องเร่งยอดขายแล้ว การบริหารทางด้านการเงินเพื่อไม่ให้งานก่อสร้างต้องสะดุด สร้างผลกรรมให้ตกกับผู้ซื้ออีกระลอกนั้น จะต้องได้รับการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นการยากที่จะรับประกัน

แต่สำหรับเหตุการณ์ความเดือดร้อนของลูกบ้านจนต้องก่อม็อบขึ้นในหมู่บ้านระดับบน อย่างหมู่บ้านชิชา ของบริษัทชิชาคัมปานี เมื่อประมาณกลางปีที่ผ่านมา และทุกวันนี้ยังมีการดึงเกมกันยืดเยื้อไม่ยอมจบง่ายๆ

ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นต่างกัน เพราะไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของเจ้าของโครงการมากระทบกับบริษัท แต่กำลังมองกันว่าผู้ประกอบการมีเจตนาซื่อตรงหรือไม่

เหตุการณ์คราวนั้นเกิดจากการที่กลุ่มลูกบ้านซึ่งใช้ชื่อ "ชมรมเพื่อนบ้านชิชา" โดยมีเพา ศรีพงศ์เพา เป็นประธานชมรมได้เข้าร้องเรียนกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อให้ตรวจสอบการโฆษณาของหมู่บ้านชิชาคันทรี่คลับที่เคยได้ลงโฆษณาไว้ว่า ภายในโครงการจะดำเนินการก่อสร้างสปอร์ตคอมเพล็กซ์ส่วนที่ 2 บนเนื้อที่ 5 ไร่ ในมูลค่าสูงถึง 200 ล้านบาท สปอร์ตคอมเพล็กซ ์ที่เพียบพร้อมสมบูรณ์ไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ นั้นคือ กลยุทธ์การขายอย่างหนึ่งที่ดึงดูดใจผู้ซื้ออย่างได้ผล

จวบจนเวลาล่วงเลยผ่านไปประมาณ 2 ปี สปอร์ตคอมเพล็กซ์ที่โฆษณาไว้ก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างแต่ชาวบ้านกลับได้ข่าวว่า ทางหมู่บ้านจะเอาพื้นที่ดังกล่าวสร้างเป็นคอนโดมีเนียม 35 ชั้นบนที่ดินบริเวณนั้นแทน โดยมีเรื่องยื่นขออนุญาตปลูกสร้างอาคารจากกรมที่ดินเป็นหลักฐาน การรวมตัวกันของลูกบ้านเพื่อเรียกร้องสิทธิจึงเกิดขึ้น

เรื่องราวในหมู่บ้านชิชาก็ยังไม่จบ โสรส พรทวีทัศน์ ประธานกรรมการบริษัทชิชารับปาก แต่ยังไม่ลงมือทำ แม้ว่าผลของคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณาจะพิจารณาแล้วตัดสินว่า ทางหมู่บ้านชิชามีเจตนา ใช้ข้อความโฆษณาที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคโดยมีเจตนาก่อให้ลูกค้าเกิดความเข้าใจผิด แต่ในเมื่อบทกำหนดโทษที่ทำได้ก็คือ ให้มีการเปรียบเทียบปรับบริษัทชิชาเพียงไม่เกิน 3 หมื่นบาทเท่านั้นมันเล็กน้อยมากสำหรับเจ้าของโครงการใหญ่ๆ อย่างนี้ แต่โสรสไม่ยอมจ่ายเงินก้อนนี้ เพราะถ้าจ่ายก็เท่ากับว่าเขาผิด

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2537 ที่ผ่านมาทางพนักงานอัยการ ศาลแขวงธนบุรีจึงได้นัดกรรมการบริษัทชิชา เพื่อพิจารณาไต่สวนมูลฟ้องเรื่องไม่ยอมเสียค่าปรับอีกครั้งหนึ่ง

แต่สคบ. ก็ไม่มีอำนาจที่จะบังคับให้ทางโครงการสร้างสปอร์ตคอมเพล็กซ์ราคา 200 กว่าล้านบาทนั้นได้แน่นอน

ชมรมเพื่อนบ้านชิชาจึงหาวิธีใหม่คือ ยื่นเรื่องเข้ามาทางสคบ. ใหม่ให้เป็นโจทก์ฟ้องเจ้าของโครงการแทนทางลูกบ้านให้ทางบริษัทชิชาสร้างสปอร์ตคลับตามที่โฆษณาไว้ ซึ่งขณะนี้ทางสคบ. กำลังเตรียมจัดการตามที่ทางชมรมฯ ยื่นเรื่องเข้ามา

ในขณะที่เรื่องราวอยู่ในระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย โสรสก็ได้ออกมายืนยันว่าการสร้างคอนโดมีเนียมนั้นไม่เกิดขึ้นแน่นอนและตกลงจะเร่งทำสปอร์ตคลับให้บางส่วน

อย่างไรก็ตาม ณ เวลานี้ภาพพจน์และข่าวคราวที่ออกไปในทางเสียหายนั้นเป็นบทเรียนอันแสนแพงของผู้บริหารกลุ่มนี้ ตราบใดที่การแก้ปัญหาในหมู่บ้านชิชายังไม่จบ การไปสร้างโครงการใหม่ต้องมีผลกระทบเรื่องการตลาดอย่างแน่นอน โอกาสที่ใช้สโลแกนในทำนองที่ว่า โครงการใหม่คือ "หนึ่งในโครงการหมู่บ้านชิชา" เพื่อหวังผลทางด้านการขายย่อมเป็นไปไม่ได้เสียแล้ว

กรณีที่เกิดขึ้นกับหมู่บ้านชิชา กล่าวได้ว่าเป็นการเดิมเกมตามช่องโหว่ของกฎหมายที่เปิดช่องว่างไว้ คือเปิดโอกาสให้มีการโฆษณาขายโครงการได้เกินจริงเพื่อจูงใจลูกค้าโดยมีโทษปรับเพียงเล็กน้อย และถ้าหากจะดำเนินคดีเพื่อบังคับให้ทำตามที่ระบุไว้ก็จะต้องใช้เวลานาน

ที่จริงเหตุการณ์ของพวกม็อบเศรษฐีทำนองเดียวกันนี้ เคยเกิดขึ้นกับหมู่บ้านคนรวยชื่อดังอย่าง "ชวนชื่นพาร์ควิว" ของชวน ตั้งมติธรรม แห่งบริษัทมั่นคงเคหะการ จนเป็นข่าวเกรียวกราวตามหน้าหนังสือพิมพ์มาแล้วเมื่อประมาณกลางปี 2534 เมื่อลูกบ้านจำนวนหนึ่งได้ตบเท้าขอเข้าพบเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทย เพื่อร้องเรียนขอความเป็นธรรม

สาระสำคัญของเรื่องก็คือ ทางบริษัทมั่นคงไม่มีบริการสาธารณะตามที่ได้กล่าวอ้างไว้ รวมทั้งข้อบกพร่องของระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ที่สร้างไม่ได้มาตรฐาน

การชุมนุมของลูกบ้านในโครงการบริษัทมั่นคงเคหะการเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง แต่เปลี่ยนเวลาและสถานที่ คราวนี้ลูกบ้านจากหมู่บ้านดังกล่าวและหมู่บ้านอื่นๆ ของชวน ได้รวมตัวไปประท้วงที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติต์ ในงาน "สู่ฝันอันยิ่งใหญ่" ซึ่งเป็นงานที่ทางมั่นคงฯ ได้จัดขึ้นเพื่อขายโครงการต่างๆ ของบริษัทพร้อมๆ กันเมื่อประมาณกลางปี 2535 ที่ผ่านมา

2 เหตุการณ์ใช้เวลาไม่ถึง 2 ชม. แต่สร้างความเจ็บปวดให้กับชวนในเวลาต่อมาอย่างมหาศาล เวลาผ่านมาเกือบ 3 ปี ขณะนี้ชวนยังแก้ปัญหาเรื่องนี้ไม่จบหลังจากเกิดเรื่อง เขาเรียกกรรมการบริษัทมาประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนที่สุดหลายต่อหลายครั้ง รวมทั้งได้ตั้งคณะทำงานเกี่ยวกับการแก้ภาพพจน์ของบริษัทขึ้นมา มีการตระเวนชี้แจงกับหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ รวมทั้งจัดสัมมนาร่วมกับองค์กรต่างๆ เพื่อสร้างภาพพจน์ใหม่ที่น่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นกับบริษัท

"มั่นคงต้อใช้เวลาอีกระยะเวลาหนึ่งที่จะทำให้ภาพพจน์ขององค์กรดีขึ้น คุณชวนเองก็อยู่ในแวดวงนี้มานาน การตั้งใจโกงคงไม่ใช่แต่เกิดจากการบริหารงานผิดพลาดและล่าช้ามากกว่า" แหล่งข่าวในวงการก่อสร้างคนหนึ่งให้ความเห็น

ในขณะที่ทีมงานส่วนหนึ่งเดินหน้าเรื่องสร้างภาพพจน์ใหม่ให้ประจักษ์ต่อสายตาคนภายนอก ภายในองค์กรเองกลับยังวุ่นวาย เสียงเรียกร้องให้ชวนลงจากตำแหน่งประธานกรรมการบริหารเพื่อการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพก็เกิดขึ้นเรื่อยๆ หนึ่งในผู้เรียกร้องนี้ก็คือ ประศาสน์ ตั้งมติธรรม น้องชายร่วมสายโลหิตของชวนเอง ในขณะที่ประศาสน์เองก็เป็นคนหนุ่มไฟแรง ต้องการแก้ไขการบริหารงานในบริษัทอย่างรวดเร็ว แต่ชวนเองกลับเป็นคนจีนรุ่นเก่าที่ไม่ยอมปล่อยวางอำนาจในมือลงง่ายๆ

เมื่อการบริหารภายในองค์กรยังมีปัญหา โอกาสที่ลูกค้าต้องเสี่ยงกับการซื้อโครงการยังต้องมีต่อไป

นอกจากโครงการของบรรดานักพัฒนาที่ดินมืออาชีพที่มีชื่อเสียงมานาน แต่กลับสร้างปัญหาให้กับลูกค้าแล้ว โครงการระดับราคาปานกลางและราคาต่ำอีกหลายโครงการ ก็สร้างเหตุการณ์ให้ผู้ซื้อต้องเดือดร้อนเช่นกัน

หมู่บ้าน "ปิ่นเจริญ" ของสุเทพ ปิ่นเจริญ เป็นโครงการหนึ่งซึ่งชาวบ้านย่านดอนเมือง และลาดพร้าวรู้จักกันดี เพราะสุเทพทำธุรกิจที่อยู่อาศัยมานานหลายปี ปัญหาร้ายแรงในหมู่บ้านไม่เคยปรากฏจวบจนกระทั่งเขามาทำโครงการหมู่บ้านปิ่นเจริญที่อำเภอลาดหลุมแก้ว ปทุมธานี

คราวนี้สุเทพทำโครงการใหญ่ ซึ่งประกอบไปด้วยอาคารพาณิชย์ 2 ชั้น 328 ยูนิต ตลาด 180 ยูนิต บ้านเดี่ยวอีกประมาณ 6,000 ยูนิต และยังวาดแผนจะสร้างคอนโดมิเนียมอีก 20 ทาวเวอร์ รวม 1,580 ยูนิต โครงการนี้เปิดขายเมื่อต้นเดือนมกราคม 2535 และจากความเชื่อมั่นในตัวเจ้าของหมู่บ้าน ประกอบกับราคาบ้านที่ไม่สูงเกินไปนัก ทำให้สามารถสร้างยอดขายได้เป็นจำนวนมาก

ความเริ่มมาแดงขึ้นเมื่อเปิดขายโครงการมาได้ปีกว่า ผู้ซื้อผ่อนดาวน์หมด แต่ลูกค้าไม่สามารถทำการโอนได้ สาเหตุเพราะสุเทพทำโครงการนี้โดยไม่ได้ขออนุญาตจัดสรรที่ดิน ดังนั้นไม่ว่าโครงการบ้านเดี่ยวที่ปลูกในพื้นที่ 25 ตร.วา ในขณะที่ตามกฎหมายจัดสรรได้กำหนดไว้ว่าอย่างต่ำต้องอยู่ในเนื้อที่ 50 ตร.วา หรือระบบสาธารณูปโภคอื่นๆ ก็ไม่ได้เป็นไปตามกฎหมายจัดสรรทั้งสิ้น

มันเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิด ขณะนี้เรื่องต่างๆ ยังไม่จบ ชาวบ้านที่โชคร้ายเหล่านั้นต้องนอนก่ายหน้าผาก รอให้กฎหมายเป็นผู้จัดการต่อไป

หมู่บ้าน "รังสิยา" ธุรกิจของตระกูลจิตต์จารึก ที่มีประเสริฐ จิตต์จารึกประธานกรรมการบริษัทรังสิยากรุ๊ปคนปัจจุบัน เป็นอีกโครงการหนึ่งที่มีข่าวการร้องเรียนจากลูกบ้านบ่อยครั้งตามหน้าหนังสือพิมพ์ บริษัทนี้เริ่มต้นจากธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และค้าวัสดุก่อสร้างเมื่อปี 2500 และมาเริ่มงานธุรกิจรับสร้างบ้าน และการประมูลสร้างอาคารต่างๆ ของรัฐบาลเมื่อปี 2509 พอปี 2520 ก็เริ่มพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยด้วยตนเอง

ในปี 2532 จึงได้มีการตั้งบริษัทใหม่คือรังสิยาขึ้นมา และหลังจากนั้นทุกโครงการที่เกิดขึ้นจะมีคำว่ารังสิยานำหน้าโครงการทุกแห่งที่ดำเนินการ

ปัจจุบันรังสิยาได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นบริษัทรังสิยาอินเตอร์ เนชั่นแนลกรุ๊ป จำกัด โดยทำการรวมบริษัทพัฒนาที่ดินในเครือทั้งหมด 7 บริษัทมาปรับโครงสร้างใหม่รวมเป็นบริษัทเดียวกันด้วยทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท เรียกชำระแล้ว 300 ล้านบาท มีตระกูลจิตต์จารึกถือหุ้นเกือบ 100%

จุดเป้าหมายที่สำคัญของกลุ่มรังสิยา และเป็นเจตนารมณ์ที่แน่วแน่มานานก็คือการเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์

รังสิยาจะไปถึงความฝันนั้นได้ หรือไม่เป็นเรื่องที่น่าคิด ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารังสิยา เป็นบริษัทหนึ่งที่มีเรื่องร้องเรียนเข้ามายังกรมที่ดินบ่อยครั้งเช่นเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2535 ในที่ประชุมของคณะกรรมการการจัดสรรที่ดิน กรมที่ดินได้พิจารณาเรื่องโครงการบ้านรังสิยา (อุดมสุข) ตามที่มีผู้ร้องเรียนเข้ามา พบว่ามีความผิดจริงในประเด็นที่ว่าเป็นการจัดสรรที่ดินโดยไม่ได้รับอนุญาต

ก่อนหน้านี้รังสิยาก็เคยปรากฏเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ในเรื่องระบบสาธารณะไม่ได้มาตรฐานจนเกิดปัญหากับผู้อยู่อาศัย

และล่าสุดมีเหตุการณ์ของลูกค้าบริษัทรังสิยาร้องเรียน ถูกบริษัทยึดบ้านหลังจากผ่อนดาวน์ไปแล้วซึ่งทางบริษัทก็ได้ชี้แจงว่า ได้ให้เวลาลูกค้าในการโอนบ้านมาระยะหนึ่งแล้วเมื่อลูกค้าไม่สามารถมาโอนได้ก็จำเป็นต้องยึด

เหตุการณ์หลายๆ อย่างที่รวมๆ กัน ทำให้ในวงการที่อยู่อาศัยวิเคราะห์กันว่า รังสิยายังเป็นบริษัทที่มีปัญหาเรื่องการบริหารและการเงิน การฝ่าด่านคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์เข้าไปเป็นบริษัทในตลาดเป็นเรี่องค่อนข้างลำบาก

ปัญหาของบริษัทรังสิยาเกิดขึ้นตรงจุดนี้ หากแผนการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ยังไม่ประสบความสำเร็จ บริษัทจำเป็นจะต้องวางแผนทางด้านการเงินใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการเงินจนกระทบในเรื่องการก่อสร้างไม่เช่นนั้นก็จะสร้างความเดือดร้อนให้ลูกค้าอีกเป็นแน่

ตลอดเวลาที่ผ่านมาเมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาในโครงการที่อยู่อาศัย หน่วยงานที่ชาวบ้านรวมตัวกันไปร้องเรียนมากที่สุดคือ กรมที่ดิน และสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)

แต่ 2 หน่วยงานนี้มีบทบาทและอำนาจหน้าที่น้อยมาก

"ถ้าโครงการใดไม่ทำตามกฎหมาย จัดสรรระบบสาธารณูปโภคไม่ได้มาตรฐาน กรมที่ดินสามารถระงับการออกใบอนุญาตจัดสรรได้ แต่อำนาจที่จะบังคับให้เขาแก้ไขเปลี่ยนแปลงก็เป็นเรื่องที่ต้องฟ้องร้องกันอีกที ปัญหาส่วนใหญ่ที่เข้ามาจะเกิดจากผู้ประกอบการไม่ทำตามที่โฆษณาไว้ ซึ่งในเรื่องนั้นกรมที่ดินไม่มีอำนาจก้าวก่ายไปถึง" เจ้าหน้าที่จากกองควบคุมธุรกิจที่ดิน กรมที่ดินอธิบายให้ผู้จัดการฟัง

สำหรับตัวเลขเรื่องที่ร้องเรียนเข้ามาผ่านทางกรมที่ดินนั้น เจ้าหน้าที่ยืนยันว่าปีหนึ่งๆ มีไม่ต่ำว่า 120 ราย

ส่วนหน่วยงานที่มีบทบาทโดยตรงสำหรับการร้องทุกข์ในกรณีที่ผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้หรือมีการโฆษณาเป็นเท็จก็คือ สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ตัวเลขจากสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคเปิดเผยว่า เรื่องร้องเรียนของประชาชนที่อาศัยในหมู่บ้านจัดสรร และคอนโดมิเนียมในปี 2536 มี 293 ราย แยกเป็นเรื่องของบ้านจัดสรร 220 ราย คอนโด 73 ราย สำหรับปัญหาหลักๆ ของโครงการหมู่บ้านจัดสรรที่ร้องเรียนเข้ามา จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการไม่จัดสรรสาธารณูปโภคต่างๆ ตามกฎหมายจัดสรร และการทำโครงการโดยไม่ได้ขออนุญาตจัดสรรที่ดิน

ส่วนปัญหาของคอนโดส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการทำสิ่งสาธารณูปโภคส่วนกลางไม่ครบถ้วนตามสัญญาที่ให้ไว้ การก่อสร้างล่าช้าหรือพื้นที่ห้องชุดไม่ครบตามที่ระบุไว้ตามสัญญา

แต่อำนาจของสคบ. นั้นมีน้อยมากอย่างเช่นการจัดการเกี่ยวกับกรณีของชิชาที่เมื่อสอบสวนแล้วตัดสินว่าชิชาใช้ข้อความที่ไม่เป็นธรรมกับลูกค้าจริง ก็ได้แต่สั่งปรับ เรื่องฟ้องร้องต่อศาลเพื่อบังคับให้ทำนั้นต้องดำเนินการอีกขั้นตอนหนึ่ง

ถึงแม้ปัจจุบันทางสคบ. ได้ทำร่างสัญญาจะซื้อจะขายมาตรฐานขึ้นมา ให้ผู้ประกอบการและลูกค้าได้ศึกษาไว้เป็นแบบอย่างในการซื้อขายที่อยู่อาศัยแต่ร่างสัญญานั้นก็ไม่มีผลบังคับได้ตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามขณะนี้ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคปี 2522 ให้มีการคุ้มครองเรื่องสัญญาจะซื้อจะขายให้บังคับใช้ และได้ผ่านครม. เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้เรื่องอยู่ที่คณะกรรมการกฤษฎีกา

"ผู้ใหญ่ในสคบ. ก็ต้องการให้กฎหมายตัวนี้คลอดออกมาเร็วๆ ไม่เช่นนั้นแล้วชาวบ้านก็จะต้องโดนเอาเปรียบต่อไป หน่วยงานสคบ. เองก็ช่วยอะไรไม่ได้ เป็นหน่วยงานเสือกระดาษที่มีดาบแต่ไม่มีอำนาจในการฟันต่อไปเหมือนกัน" แหล่งข่าวในสคบ. คนหนึ่งกล่าวกับผู้จัดการ

หลักประกันอีกอย่างหนึ่งที่ มานพ พงศฑัต นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยืนยันว่าจะช่วยได้ก็คือ ต้องมีระบบของ "แอสโครว์" เข้ามาใช้ซึ่งผู้ประกอบการในต่างประเทศได้ทำกันมานาน

"แอสโครว์" คือวิธีการที่ผู้ประกอบการจะต้องเอาเงินดาวน์ของลูกค้าที่มาจองซื้อโครงการ ไปฝากไว้ที่สถาบันการเงิน และไม่มีสิทธิที่จะเอาเงินก้อนนั้นมาใช้จนกว่าการก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จพร้อมที่จะให้ลูกค้าโอน

"แน่นอนว่าด้วยวิธีการดังกล่าว ผู้ประกอบการจะต้องเสียผลประโยชน์บ้าง เพราะต้นทุนอาจจะสูงขึ้น ในเมื่อเงินก้อนหนึ่งต้องเอาไปวางทิ้งไว้ที่ธนาคาร แต่ก็เป็นหลักประกันสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ซื้อได้เหมือนกัน ตราบใดที่เขายังไม่ได้เข้าไปอยู่ในโครงการที่ซื้อไว้ เงินดาวน์ก็ไม่ได้หายไปไหน"

วิธีการนี้แน่นอนว่า อย่างน้อยทำให้ลูกค้าสามารถได้เงินดาวน์คืน เมื่อผู้ประกอบการมีปัญหาไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้

"ถ้าเรียกร้องให้รัฐฯ หามาตรการตั้งกำแพงลดความเสี่ยงให้เหลือศูนย์ หรือน้อยที่สุดโดยวิธีการของแอสโควร์ ก็ต้องหาสถาบันการเงินที่เป็นกลางและเชื่อถือได้ ถ้าอยู่กับภาคเอกชนเราจะไว้ใจได้แค่ไหนจึงจะมั่นใจได้ว่าเงินจะไม่สูญหายไป แต่ต้นทุนการผลิตนั้นแน่นอนว่าต้องสูงขึ้นแน่นอน"

อย่างไรก็ตามขณะที่สัญญาจะซื้อจะขายยังไม่มีผลบังคับ แอสโครว์ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้าในขณะเดียวกันความต้องการที่อยู่อาศัยของประชาชนกลับมีเพิ่มขึ้นทุกวัน คงไม่มีใครมานั่งรอข้อกำหนดต่างๆ นี้ได้ การเสี่ยงซื้อโครงการที่อยู่อาศัยจึงเป็นเรื่องที่ต้องวัดดวงกับผู้ประกอบการกันต่อไป

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us