Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ เมษายน 2537








 
นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2537
"เลนโซ่ยุคอาตี๋อินเตอร์ ปรับตัวรุกสู่ธุรกิจโทรคมนาคม"             
 


   
search resources

เลนโซ่
เจษฎา วีระพร
Investment




การเติบโตของกลุ่มเลนโซ่ทั้งแนวดิ่ง และแนวนอนเช่นนี้ทำให้เขาต้องเปลี่ยนวิถีการดำเนินงานบริหารของตนเองใหม่จากพี่ๆ น้องๆ มาเป็นมือโปร จากการเก็บตัวเงียบมาเป็นเปิดเผย จากไชนีสสไตล์มาเป็นสไตล์อินเตอร์

"บริษัทจะใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการขยายสู่ธุรกิจใหม่ รวม 4 โครงการใหญ่ในปีนี้ คือ เคมีอุตสาหกรรม ธุรกิจยานยนต์ ธุรกิจผลิตวัสดุปูพื้น และโทรคมนาคม" เจษฎา วีระพร หนุ่มวัย 40 เศษๆ ดำรงสถานะเป็นถึงประธานกลุ่มบริษัทเลนโซ่ จำกัด ซึ่งปีๆ หนึ่งมีรายได้ร่วมหมื่นล้านบาทกล่าวกับ "ผู้จัดการ" เมื่อประมาณต้นปีที่ผ่านมา

การลงทุนดังกล่าวจะเริ่มต้นจากการเพิ่มกำลังการผลิตแทงค์เก็บสารเหลวทุกชนิด ภายใต้การดำเนินงานของบริษัทยูนิแทงค์ จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจในเครือของบริษัท การเพิ่มกำลังการผลิตนี้เป็นระยะที่ 3 ซึ่งเจษฎาคาดการณ์ไว้ว่า ธุรกิจเคมีจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องในปีนี้ หากต้องการขายเคมีทั่วไปเหล่านี้ให้ได้มากๆ ก็จำเป็นอยู่เองที่จะต้องสร้างแทงค์เพื่อเก็บสำรองเพิ่มขึ้น ดังนั้นแผนเพิ่มกำลังการผลิตนี้จึงเป็นการเตรียมการณ์เพื่อรองรับสถานการณ์ของตลาดไว้ล่วงหน้า

นอกจากนี้เขายังเตรียมการณ์เลยไปถึงการขยายไปสู่ธุรกิจน้ำมัน ซึ่งเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่เจษฎาวางแผนที่จะเริ่มต้นภายในกลางปีนี้ด้วยเช่นกัน สาเหตุที่กลุ่มเลนโซ่จะมุ่งเข้าสู่ธุรกิจน้ำมัน น่าจะเป็นเพราะว่า ธุรกิจน้ำมันถือเป็นธุรกิจเสริมของธุรกิจเคมีซึ่งเป็นธุรกิจดั้งเดิมของเขาอยู่แล้วเพราะสารเคมีบางตัวที่เลนโซ่จำหน่ายอยู่ สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบในการกลั่นน้ำมันได้ ขณะเดียวกันก็มีแทงค์เก็บน้ำมันรองรับเช่นกัน ประกอบกับรัฐบาลประกาศให้เปิดโรงกลั่นเสรีเกิดขึ้นในเมืองไทย ความหวังที่เข้าสู่ธุรกิจต่อเนื่องของเขาจึงเกิดขึ้น

"มันเป็นการนำเอาความพร้อมของธุรกิจเดิมที่มีอยู่แล้วมาสานต่อให้เกิดผลเพิ่ม นั่นก็คือการนำการผลิตแทงค์บรรจุสารเหลว และท่าเรือมาใช้ประโยชน์ในการขยายธุรกิจใหม่" เจษฎาตอบคำถามในประเด็นที่ว่าทำไมเขาจึงคิดเข้าสู่ธุรกิจน้ำมัน

ความหวังในการที่จะเข้าไปทำธุรกิจน้ำมันของกลุ่มเลนโซ่มีอยู่สูงมาก อันเนื่องมาจากความพร้อมที่มีอยู่สูงไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางด้านวัตถุดิบ ด้านแทงค์เก็บน้ำมัน ปัจจัยทางด้านตลาด และนโยบายของรัฐซึ่งเป็นปัจจัยส่งหนุนช่วยอีกแรงหนึ่ง

ว่ากันว่า ณ วันนี้เจษฎาวางแผนการดำเนินธุรกิจน้ำมันเอาไว้เรียบร้อยแล้วคือ ในช่วงแรกจะสั่งซื้อน้ำมันมาจากต่างประเทศเพื่อบรรจุเก็บไว้ในแทงค์ และจัดส่งไปยังสถานีบริการน้ำมันอีกครั้งหนึ่งซึ่งมูลค่าการขายส่งจะตกอยู่ที่ราวๆ 10 ล้านลิตร ซึ่งน้ำมัน 10 ล้านลิตรนี้ กลุ่มเลนโซ่กำหนดกลุ่มลูกค้าที่เป็นเป้าหมายใหญ่ไว้ประมาณ 3-4 รายเท่านั้น อาทิ กลุ่มของวัฒนา อัศวเหม ซึ่งดำเนินงานภายใต้การค้าปลีกน้ำมันชื่อ "คิวเอท" และกลุ่มมงคล สิมะโรจน์ ซึ่งค้าปลีกน้ำมันชื่อ "SUSCO" เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อเลนโซ่เข้าสู่ขบวนการผลิตได้ จึงเป็นเรื่องที่แน่นอนว่าการขยายตัวเข้าสู่การค้าปลีกน้ำมันย่อมไม่ทีทางหลีกเลี่ยงได้ เพราะนั่นจะหมายถึง เป็นการทำธุรกิจที่ครบวงจร ซึ่งเจษฎากล่าวว่า การค้าปลีกน้ำมันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ เขาจะต้องซื้อไลเซนส์น้ำมันชื่อดังจากต่างประเทศเข้ามาให้ได้ก่อน เมื่อขั้นตอนนี้เป็นที่เรียบร้อยจึงจะเริ่มต้นเปิดสถานีในกทม. แล้วจึงขยายสู่ตลาดต่างจังหวัดโดยการร่วมมือกับเจ้าของที่ดินซึ่งมีความประสงค์จะค้าปลีกน้ำมันร่วมกับกลุ่มเลนโซ่ในจังหวัดนั้นๆ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่าการศึกษาโครงการ

ตลาดน้ำมันในปัจจุบันมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 50,000-60,000 ล้านบาท มีผู้ค้าน้ำมันในขณะนี้ร่วม 10 ราย มีโรงกลั่นเกิดขึ้น 4 โรง เจ้าของค่ายโรงกลั่นใหญ่ๆ ล้วนมุ่งหน้าเข้าสู่การค้าปลีกน้ำมันด้วยกันทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นบางจาก หรือไทยออยล์ก็ตาม หากเลนโซ่กรุ๊ปเข้าสู่ธุรกิจนี้ได้สำเร็จ ตลาดน้ำมันที่นับวันจะมีมูลค่าเพิ่มสูงถึง 100,000 ล้านบาทได้ในอนาคตก็นับว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามหาศาลของกลุ่มเลนโซ่เลยทีเดียว

นั่นคือการมองการณ์ไกลของกลุ่มเลนโซ่

นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรงงานประกอบรถมอเตอร์ไซค์ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการขยายกำลังการผลิตโซนีล ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทวัสดุปูพื้น รวมทั้งธุรกิจโทรคมนาคม

ธุรกิจที่เจษฎากล่าวถึงเหล่านี้ ล้วนเป็นการขยายตัวของกลุ่มเลนโซ่ทั้งในแนวดิ่ง (DOWN STREAM) และแนวนอน (UP STREAM) ให้กลายเป็นธุรกิจใหญ่ที่ครบวงจร และสามารถทำให้รายได้ของเลนโซ่กรุ๊ปจากบริษัทในเครือทั้งหมดที่ทำรายได้ในปัจจุบัน 8,000 ล้านบาทขยับเกินกว่า 10,000 ล้านบาทได้ในอนาคตอันใกล้นี้

"ไม่ว่าจะเป็นการขยายเข้าสู่ธุรกิจใดก็ตามเราจะคำนึงถึงความพร้อมขององค์กรก่อนว่า เรามีความพร้อมอยู่หรือไม่ และโดยส่วนใหญ่การตัดสินใจก้าวเข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆ นั้น ต้องมีปัจจัยหลักมากจากธุรกิจดั้งเดิมเป็นหลัก เช่น โรงงานประกอบรถมอเตอร์ไซค์ แม้จะเป็นธุรกิจใหม่แต่ก็สามารถทำได้ เพราะมีโรงงานประกอบเสื้อสูบซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเครื่องยนต์รถมอเตอร์ไซด์อยู่ก่อนแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งขบวนการผลิตก็ใช้เทคโนโลยีของเอนไกซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน"

ขณะเดียวกันการเข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้น จะว่าไปแล้วย่อมมีความพร้อมมากกว่าโครงการอื่นใด ทั้งนี้ เพราะกลุ่มเลนโซ่ ได้เริ่มสะสมที่ดินมาเป็นเวลาร่วม 20 ปี ณ วันนี้เขาสามารถจะนำที่ดินในกรรมสิทธิออกมาพัฒนาสร้างโครงการหามูลค่าเพิ่มต่อได้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นบนถนนสายบางนา-ตราดหรือบนถนนสายศรีนครินทร์

อย่างไรก็ตามหากสังเกตวิธีการขยายธุรกิจของกลุ่มเลนโซ่แล้วจะเห็นว่า โครงการที่เป็นเป้าหมายในการขยายทั้งหมดนี้ ล้วนใช้วิธีการขยายกิจการเลียนแบบการเกิดธุรกิจต้นกำเนิดของตนเอง

นั่นคือ เลนโซ่เริ่มต้นตั้งเป้าหมายขยายธุรกิจเข้าสู่การค้าน้ำมัน โดยการเริ่มจากมีแนวความคิดการเป็นตัวแทนนำเข้า และจำหน่ายน้ำมันในประเทศก่อน แล้วค่อยๆ แปลงสภาพตัวแทนนำเข้าน้ำมันมาเป็นการสร้างโรงกลั่นและค้าปลีกน้ำมันในที่สุด โรงงานประกอบรถมอเตอร์ไซด์ก็ใช้ฐานเดิมที่มีอยู่เป็นหลักในการเข้าสู่ธุรกิจใหม่ หรือการพัฒนาที่ดินก็นำความพร้อมโดยการมีแลนด์แบงค์เป็นของตนเองอยู่แล้ว ทั้งหมดนี้ล้วนเหมือนเช่นธุรกิจแรกเริ่มของกลุ่มเลนโซ่นั่นคือการเป็นตัวแทนการขายยางรถยนต์ ล้อแม็ก แล้วเริ่มขยับขยายเข้าสู่การสร้างโรงงานเพิ่มสถานะเป็นผู้ผลิตในภายหลัง

ย้อนภาพไปในอดีตเมื่อ 22 ปีก่อน ตระกูลนี้เริ่มต้นทำธุรกิจจากการเป็นดีลเลอร์ขายอะไหล่รถยนต์ ล้อแม็กและยางซึ่งเป็นกิจการของ "บี้ แซ่ลี้" ผู้เป็นพ่อ กิจการนี้ทำในนามของ หจก. LEE&SON ตั้งอยู่บนถนนพระราม 4

เมื่อลูกๆ จบการศึกษามาจากต่างประเทศ และต่างคนต่างกลับเมืองไทยเพื่อมาช่วยทำธุรกิจของพ่อ หรือบ้างก็ไปเป็นลูกจ้างของบริษัทอื่นเพื่อเรียนรู้ความแตกต่างและหาประสบการณ์ ผู้นำตระกูลจึงได้ตัดสินใจขยายธุรกิจดั้งเดิมเพื่อให้ลูกๆ แต่ละคนได้มีที่ทำมาหากิน ไม่ต้องแย่งกันบริหารในหจก. LEE&SON ซึ่งเป็นกงสีของตระกูลเพียงธุรกิจเดียวเท่านั้น ขณะเดียวกันความปรารถนาของผู้เป็นพ่อก็คือ ไม่ต้องการให้ลูกไปเป็นลูกจ้างใคร

ด้วยเหตุผลนี้ทำให้พิเชษฐ์พี่ชายคนโต และเจษฎาน้องคนรอง จึงได้ขอเงินพ่อออกมาตั้งบริษัทใหม่ แยกออกมาเป็นอิสระจากธุรกิจของพ่อ เมื่อปี 2520 เงินก้อนแรกที่พ่อให้มา 2 คนพี่น้องได้นำมาซื้อตึกแถว 3 ชั้น ตั้งอยู่ที่ปากซอยสุขุมวิท 65 เป็นที่ทำการของบริษัทใหม่

พิเชษฐ์ทำธุรกิจขายยาง และล้อแม็กเหมือนพ่อ ในขณะที่เจษฎากลับไปค้าเคมี โดยอาศัยตึกเดียวกันกับพี่ชายพร้อมกับตั้งชื่อบริษัทใหม่ของเขาทั้ง 2 คนว่า "เลนโซ่" ซึ่งชื่อของเลนโซ่นี้เล่ากันว่าได้ใช้รากฐานที่มาจาก หจก. LEE&SON โดยการนำตัว N ของคำว่า SON มาต่อท้ายคำว่า LEE กลายเป็นชื่อบริษัท LEEN SO ใช้อยู่มาจนถึงทุกวันนี้

แม้พิเชษฐ์และเจษฎาจะแยกตัวออกมาแล้ว โดยมีน้องๆ อีก 3-4 คนช่วยงานอยู่ด้วยคือ มานะ ประสบ มุกดาและนพพร อย่างไรก็ตามบริษัทใหม่ของพิเชษฐ์ ก็ยังคงดำเนินกิจการเช่นเดียวกับพ่อคือเป็นดีลเลอร์ขายอุปกรณ์รถยนต์ อาทิ ยาง ล้อแม็ก จนกระทั่งเลนโซ่ก็ได้กลายมาเป็นผู้นำเข้าจากต่างประเทศแต่ผู้เดียวในประเทศไทย

ประสบการณ์จากการเป็นผู้นำเข้าและเป็นตัวแทนการขายยาง RIKKEN และล้อแม็กเอนไกมานานปี ทำให้พิเชษฐ์มีแนวความคิดที่จะพัฒนาธุรกิจของตนเองให้ขยายออกไปโดยเริ่มจากธุรกิจเดิมของตนเองเป็นหลัก

ลำดับขั้นตอนในความคิดของพิเชษฐ์ในตอนนั้นคือขั้นแรกเขามีความต้องการที่จะยกฐานะจากการเป็นตัวแทนขาย ให้กลายเป็นบริษัทใหญ่ที่มีสิทธิมากกว่าเพียงแค่การเป็นตัวแทนขายและจำหน่ายในประเทศเท่านั้น

ขั้นตอนที่สองคือการทำบริษัทให้ครบวงจรเป็นเป้าหมายสำคัญ และในเมื่อเขาขายเอนไกของญี่ปุ่นอยู่แล้ว พิเชษฐ์จึงได้ชักชวนเอนไกญี่ปุ่นเข้ามาร่วมทุนกันเพื่อเปิดบริษัทใหม่ในเมืองไทย หากการเจรจาร่วมทุนเป็นผลสำเร็จ เลนโซ่ซึ่งเป็นตัวแทนขายล้อแม็กเอนไกก็จะได้ยกสถานะเป็นบริษัทสาขาไปในทันที และสามารถพัฒนาไปจนกระทั่งถึงขั้นสร้างโรงงานผลิตล้อแม็กในประเทศได้

ว่ากันว่าการเจรจาต่อรองกับเอนไกเพื่อดึงให้เข้ามาร่วมทุนเปิดบริษัทสาขา และสร้างโรงงานผลิตล้อแม็กในเมืองไทยที่สำเร็จลุล่วงและก่อร่างสร้างฐานเอาเมื่อปี 2530 เป็นต้นมาได้นั้น ก็เพราะพิเชษฐ์ให้เหตุผลที่จูงใจเอนไกญี่ปุ่นอยู่ 2 ประการซึ่งเป็นเหตุผลที่นับว่าได้สร้างความพอใจให้กับเอนไกญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก คือ การสร้างโรงงานในเมืองไทยจะเป็นการลดต้นทุนให้ต่ำลงแทนที่จะนำเข้า ซึ่งการนำเข้าล้อแม็กเอนไกจะต้องเสียภาษีที่สูงทำให้ราคาขายต้องสูงตามไปด้วย ประกอบกับปริมาณการเติบโตของยอดขายรถยนต์ในเมืองไทย ในอนาคตจะกลายเป็นหนทางที่ทำให้การสร้างโรงงานผลิตในประเทศถึงจุดคุ้มทุนได้อย่างรวดเร็ว

บริษัทเอนไกไทยจึงก่อตัวขึ้นในปีต่อมา โดยมียักษ์ใหญ่ด้านล้อแม็กคือ บริษัท เอนบิชิ อลูมินั่ม วีลส์ ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า และเทคโนโลยีการผลิตล้อแม็ก "เอนไก" เป็นผู้ถือหุ้นสำคัญและได้จัดส่งกรรมการผู้จัดการชาวญี่ปุ่น "ทาดาชิ โอโมริ" เข้ามาวางรากฐานการบริหารโรงงานเอนไกไทย ส่วนตระกูลวีระพรก็มี 3 คนพี่น้องช่วยกันดูแลคือ พิเชษฐ์เป็นประธานกรรมการ ส่วนประสบ และนพพรดูแลด้านการตลาด

การเข้าร่วมทุนกับเอนไกญี่ปุ่นในครั้งนั้นทำให้เลนโซ่ได้ทำหน้าที่บริหารเครือข่ายการตลาดที่กว้างขึ้น ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนคือ

ส่วนแรกคือส่วน OEM หรือโรงงานประกอบรถยนต์ที่ล้อมแม็กเอนไกสามารถสร้างการยอมรับของตลาดได้ จนกระทั่งเอนไกได้เข้าไปในส่วนของโรงงานประกอบรถยนต์ของค่ายญี่ปุ่นได้ทุกยี่ห้อ ไม่ว่าจะเป็น โตโยต้า นิสสัน ฮอนด้า หรือมิตซูบิชิ

ส่วนที่สองคือ AFTER MARKET ซึ่งเป็นตลาดการขายเอนไกให้กับผู้ใช้รถทั่วไป โดยใช้ช่องทางกระจายสินค้าล้อแม็กผ่านไปยังเอเยนต์ไม่ต่างๆ ต่ำกว่า 400 แห่งไปยังลูกค้าทั่วประเทศ

ส่วนสุดท้ายคือ ตลาดส่งออกซึ่งมีประเทศญี่ปุ่นเป็นตลาดเป้าหมายส่งออกที่สำคัญ (อ่านรายละเอียดเรื่องการตลาดล้อแม็กเอนไกได้จากผู้จัดการรายเดือนฉบับที่ 113 ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2536)

การตัดสินใจในครั้งนั้นของพิเชษฐ์ จึงนับได้ว่าเป็นการเริ่มต้นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของตระกูลวีระพรเลยทีเดียวก็ว่าได้

ส่วนเจษฎาซึ่งหันไปดำเนินกิจการค้าด้านเคมีอย่างจริงจัง หลังจากที่สั่งสมประสบการณ์มาจากการไปเป็นพนักงานขายของยูนิคาไบน์เมื่อจบการศึกษามาใหม่ๆ ทำให้เขาได้เรียนรู้งานด้านเคมีมาอย่างเต็มที่ เพราะบริษัทยูนิคาไบน์เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านค้าเคมีของเมืองไทยในขณะนั้น เจษฎาได้อาศัยชายคาเดียวกันกับพี่ชายที่ตึกแถว 3 ชั้นนั้นเปิดบริษัทเคมีเป็นตัวแทนขายเคมีทั่วไป เขาทำอย่างจริงจังจนกระทั่งธุรกิจเคมีเริ่มขยายตัวเติบโตได้ไม่แพ้กิจการของพี่ชาย

เมื่อธุรกิจของสองพี่น้องเริ่มเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ เจษฎาจึงมีแนวความคิดที่จะแยกตัวธุรกิจของพี่ชาย และตนเองออกจากกัน โดยแตกออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของ "เคมีภัณฑ์" และอีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของ "ล้อแม็ก" เจษฎาให้เหตุผลว่า "เพื่อความสะดวกในเชิงขยายธุรกิจที่ประสานต่อเนื่องกัน"

ในส่วนของการขายล้อแม็กจึงกลายเป็น "เอนไกไทย" เมื่อร่วมทุนกับเอนไกญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันเอนไกไทย ได้ขยายกิจการเข้าไปเป็นตัวแทนขายรถยนต์ฮอนด้าแล้ว โดยเปิดสาขาทั้งหมด 3 สาขา คือ บางนา-ตราด ศรีนครินทร์ และรามอินทราเป็นสาขาล่าสุด โดยมีพิเชษฐ์ ประสบ และนพพร พี่น้องในตระกูลวีระพรช่วยกันดูแลกิจการ

ในส่วนของการค้าเคมี ซึ่งมีเจษฎาและมานะพี่น้องในตระกูลช่วยกันบริหารนั้น ก็กลายเป็น "เลนโซ่เคมีคอล"

เลนโซ่ เคมีคอลโตวันโตคืนจากการขายเคมีให้กับโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศ การเติบโตอย่างรวดเร็วของเลนโซ่ เคมีคอลในช่วงนั้นเป็นเพราะช่วงโอกาสเหมาะ ความต้องการภายในประเทศมีสูง ประกอบกับมีบริษัทขายสินค้าประเภทนี้อยู่น้อยราย การแข่งขันจึงไม่สูงมากนัก ทั้งนี้เพราะการขายเคมีต้องอาศัยประสบการณ์ ความชำนาญอย่างสูงและรู้ล่วงหน้าถึงความต้องการของตลาดในอนาคตว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทางใด

เมื่อขั้นแรกของการเป็นธุรกิจเทรดดิ้งประสบความสำเร็จ จึงได้มีการแตกหน่อออกไปมากมายหลายสาขา แต่ละสาขาแต่ละแผนก ล้วนมีรากฐานของการเกิดมาจากพื้นฐานเดียวกันทั้งสิ้น นั่นคือการยืนพื้นในแนวความคิดที่จำนำพาองค์กรให้ขยายออกไปทั้งในแนวดิ่งและแนวนอนโดยใช้รากเดิม

การขยายธุรกิจออกไปของเจษฎาที่ยึดรูปแบบเดียวกันกับพี่ชายก็คือ การเริ่มต้นจากการเป็นเพียงเทรดดิ้งของเลนโซ่ เคมีคอลเพียงอย่างเดียวในขั้นต้นและขยายไปสู่ธุรกิจเสริมหรือธุรกิจที่สนับสนุนกันได้นั่นคือการมีท่าเรือเป็นของตนเอง เพราะการขนส่งสารเคมีจำเป็นต้องใช้ท่าเรือ นอกจากนี้คลังสินค้าเพื่อเก็บสารเคมีก็เป็นส่วนจำเป็นอย่างยิ่ง จึงแตกหน่อแตกกอใหม่เป็นยูนิแทงค์ โดยร่วมทุนกับอิโตชู (ITOSHU) จากประเทศญี่ปุ่น ดำเนินกิจการให้เช่าแทงค์น้ำมันตั้งอยู่ที่ ต. ท้ายบ้าน จังหวัดสมุทรปราการในปัจจุบันนี้

บริษัทในเครือของเลนโซ่ในส่วนภายใต้การบริหารงานของเจษฎา ยังได้ขยายตัวออกไปอีกในเรื่องของการสร้างโรงงานผลิตพลาสติก ทำพรมพีวีซี ทำหนังเทียมเฟอร์นิเจอร์ ผลิตพลาสติกสี ปกพลาสติก ดำเนินงานภายใต้ชื่อบริษัทเลนโซ่ ไวนิล (ชื่อเดิมคือ บริษัทโซนิล) โรงงานตั้งอยู่ที่ฉะเชิงเทรา บนเนื้อที่ 75 ไร่

และจากเครือข่ายเหล่านี้ก็ยังได้มีการแตกแขนงออกไปทำโรงงานผลิต WALLPAPER ภายใต้ชื่อบริษัท เลนโซ่ วอลเท็กซ์ จำกัด (ชื่อเดิมคือบริษัทวอลเท็กซ์) โรงงานตั้งอยู่ที่ปากน้ำ จ. สมุทรปราการ ขายวัสดุเก็บเสียงและกันความร้อน

ทั้งไวนิล และวอลเท็กซ์ ซื้อโนว์ฮาวจากยุโรป มาเป็นเทคนิคในการผลิต

"ในส่วนของเลนโซ่ ไวนิล และเลนโซ่ วอลเท็กซ์นั้น เกิดขึ้นมาได้จากการเข้าไปร่วมหุ้นกับเจ้าของดั้งเดิมที่ทำธุรกิจนี้อยู่ แต่ปัจจุบันเลนโซ่ถือหุ้นในไวนิลและวอลเท็กซ์ 100% แล้ว" สุชาติ วัฒกานนท์ กรรมการผู้จัดการเล่าให้ฟังถึงความเป็นมาของการแตกสาขาบริษัทใหม่ทั้ง 2 นี้

การเกิดโรงงานทั้ง 2 นี้แสดงให้เห็นว่า เลนโซ่จะไม่เริ่มต้นขยายธุรกิจใหม่ที่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์แต่จะเป็นการเริ่มนับจากหนึ่งไปแล้ว

"ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกิจน้ำมัน เคมี หรือพลาสติกก็ตาม ธุรกิจทั้งหมดล้วนมาจากสายงานเดียวกันกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งมีสารตัวเดียวกันกับปิโตรเลียม ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการผลิตน้ำมันหรือก๊าซ ทั้ง 2 สายนี้สามารถแยกสารออกมาจากตัวเดียวกันได้" เป็นทรรศนะของผู้ที่อยู่ในวงการเดียวกันกับเลนโซ่ ชี้ให้เห็นการขยายตัวของกลุ่มธุรกิจเลนโซ่ที่ย่อมหนีไม่พ้นในสายงานการผลิตดังกล่าวนี้ไปได้ และเป็นหนทางเดียวที่เลนโซ่น่าจะทำได้

นั่นย่อมหมายความว่าแนวความคิดในการขยายสายงานหรือธุรกิจใดก็ตาม ตระกูลวีระพรจะใช้รากฐานเดิมเป็นตัวตั้ง ตามด้วยส่วนเกี่ยวเนื่องเป็นตัวต่อ และผลผลิตในทิศทางเดียวกันเป็นตัวตาม เพราะเหตุนี้เองผลแห่งความสำเร็จของเขาแม้จะเป็นไปอย่างเงียบๆ แต่ก็ล้วนเป็นการหยิบชิ้นปลามันทั้งนั้น เพราะเครือข่ายทั้งหมดทำให้เลนโซ่กรุ๊ปมีรายได้ถึง 8,000 ล้านบาทต่อปี (ตัวเลขบรรลุตามเป้าหมายของปี 2536) จากจำนวนยอดรายได้นี้ กว่า 80% มาจากสายเคมีภัณฑ์ ที่เหลือได้มาจากสายโทรคมนาคมซึ่งเป็นธุรกิจใหม่

อย่างไรก็ตามแม้เลนโซ่กรุ๊ปจะประสบความสำเร็จเพียงใดก็ตาม แต่ก็มีน้อยคนนักที่รู้จักผู้นำของเลนโซ่ คนในวงการกล่าวว่า กลุ่มนี้ไม่ชอบเป็นข่าว ชอบทำธุรกิจแบบรุกเงียบ ซึ่งจะทำให้เป็นการก้าวไปสู่ความสำเร็จได้อย่างรวดเร็วและง่ายดายไม่ยุ่งยาก เพราะไม่ต้องตกเป็นเป้าสายตาของคู่แข่ง

"คุณเจษฎาเป็นคนที่ไม่ชอบทำให้เลนโซ่กรุ๊ปเป็นข่าวบ่อยครั้งนัก แม้กระทั่งตัวเขาเองก็ไม่ชอบเป็นข่าวเช่นกัน" พนักงานคนเก่าคนแก่ของเลนโซ่กรุ๊ปอธิบายให้ฟังถึงพฤติกรรมของนายใหญ่กลุ่มเลนโซ่ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวนี้ต่างเป็นที่เข้าใจกันดีของพนักงานในเครือว่า เจษฎายึดถือระบบเดียวกับพ่อของเขาคือ CHINESE STYLE คือไม่ชอบเปิดเผยตัว รวมทั้งการบริหารที่เขาไม่ทิ้งระบบครอบครัว ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่เมื่อทศวรรษก่อนมาแล้ว เดี๋ยวนี้ก็ยังคงเหลือระบบครอบครัวให้เห็นอยู่ แต่ตอนนี้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงด้านผู้บริหารบ้างแล้ว โดยการยอมรับผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาบริหารงานมากขึ้น ซึ่งเธียร ปฏิเวชวงศ์ ถือว่าเป็นมืออาชีพคนแรกของบริษัทในเครือกลุ่มเลนโซ่ที่ได้เข้ามาบริหารงานในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ในสายโทรคมนาคม

ส่วนนี้จึงเป็นส่วนที่เห็นได้อย่างชัดเจนต่อการเปลี่ยนแปลงระบบบริหารจากครอบครัวมาเป็นมืออาชีพ นอกจานี้ยังเป็นสายงานที่แปลกแยกออกจากรากฐานเดิมของตนเอง ซึ่งแม้จะผิดแผกจากนโยบายการขยายธุรกิจเพิ่มของเลนโซ่ แต่ก็ยังคงยึดถือปัจจัยเดิมเป็นหลักในการตัดสินใจที่จะเข้าไปลงทุนในธุรกิจใหม่นี้ นั่นคือความพร้อม ทั้งเรื่องบุคลากร ศักยภาพทางการตลาด และสายงานที่สามารถต่อเนื่องทางธุรกิจเพื่อขยายออกไปทั้งในแนวนอนและแนวดิ่งได้

สายงานโทรคมนาคมเริ่มต้นจากการขายวิทยุติดตามตัว อีซี่คอล เจ้าของสัมปทานคือ การสื่อสารแห่งประเทศไทย ทำในนามของ บริษัท อีซี่คอล (ประเทศไทย) จำกัด (ชื่อเดิมก่อนเปลี่ยนแปลงคือ แมทริกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด) ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นบริษัทเลนโซ่ เพจจิ้ง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงชื่อเสียงของบริษัทในครั้งหลังสุดนี้ กล่าวกันว่าเพื่อภาพพจน์และความสะดวกในการประชาสัมพันธ์ขององค์กรที่ง่ายขึ้น

การเริ่มต้นในการเป็นผู้ขายวิทยุติดตามตัวเมื่อ 3 ปีก่อน สืบเนื่องมาจากธุรกิจเดิมอีกเช่นกันคือ ก่อนหน้านี้เลนโซ่เปิดบริษัท ไลเน็ตต์ จำหน่ายโทรสาร และระบบโทรศัพท์สำนักงานมาก่อน ในขณะที่บริษัท เซลคอมม์ จำหน่ายระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่และตู้ชุมสาย เมื่อมีผู้เสนอโครงการขายวิทยุติดตามตัวนี้มาให้ ทางเลนโซ่เห็นว่าตัวเองขายสินค้าเครือข่ายเหล่านี้อยู่แล้ว จึงได้ตัดสินใจเข้าซื้อหุ้นจากคนไทยกลุ่มนั้นเพื่อร่วมกับแมทริกซ์ขายอีซี่คอลทันที

เจษฎากล่าวว่า "เราเริ่มธุรกิจโทรคมนาคมมานานแล้ว ด้วยการเป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์สำนักงานประเภทต่างๆ จนกระทั่งได้รับสัมปทานเพจเจอร์อีซี่คอลมาจนถึงสัมปทานโทรศัพท์สาธารณะซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายไปสู่ธุรกิจต่อเนื่อง"

นั่นคือการเปิดฉากแนวรบใหม่ของเลนโซ่ ว่ากันตามจริงแล้ว การเข้าไปสู่ธุรกิจนี้ได้ก็เพราะเจษฎามองเห็นว่า ธุรกิจโทรคมนาคมในอนาคตจะขยายไปได้อีกมาก จากการได้เป็นเจ้าของสัมปทานขายอีซี่คอลในวันนี้ จะทำให้เลนโซ่สามารถขยายไปยังจุดต่างๆ หรือเป็นตัวเชื่อมต่อไปยังธุรกิจอื่นๆ ในสายโทรคมนาคมได้อีกมากมาย อาทิ โฟนการ์ด สมาร์ตการ์ด ถึงขั้นตั้งโรงงานผลิตบัตรสมาร์ตการ์ด ซึ่งจะผลิตบัตรโทรศัพท์ และบัตรที่มีไมรโครชิพขนาดเล็กฝังอยู่ เพื่อบรรจุข้อมูลประเภทต่างๆ อาทิ ข้อมูลส่วนตัว โรงงานนี้จะเริ่มทำการผลิตได้ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2537 นี้

เจษฎาคาดว่าการสร้างโรงงานสมาร์ตการ์ดขึ้นนี้จะสามารถขยายธุรกิจต่อเนื่องจากธุรกิจที่มีอยู่เดิมให้ครบวงจรได้อีก โดยการสานต่อจากธุรกิจให้บริการโทรศัพท์สาธารณะระหว่างประเทศแบบใช้บัตรได้

การก้าวเดินในทางสายโทรคมนาคมไม่ได้หยุดอยู่เพียงเท่านี้ เธียร ปฏิเวชวงศ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทเลนโซ่กรุ๊ปกล่าวว่า เลนโซ่ได้เตรียมการณ์ถึงขั้นร่วมทุนกับอังกฤษ และฝรั่งเศส เพื่อทำโครงการโทรคมนาคมขนาดใหญ่ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 15,000 ล้านบาท มีระยะเวลาในการดำเนินงาน 5 ปี

ความก้าวหน้าในสายโทรคมนาคมยังมีหนทางให้สานต่อเนื่องไปได้อีกมาก แม้ที่ผ่านมาสายงานนี้จะไม่สามารถสร้างความโดดเด่นในเรื่องของรายได้ที่ไหลกลับเข้าองค์กรได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยนัก เหมือนสายเคมีและพลาสติกก็ตาม ซึ่งปีที่ผ่านมาสายโทรคมนาคมทำรายได้ให้เลนโซ่ไม่ถึง 1,000 ล้านบาท แต่ในสายตาของเจษฎาแล้วเขาคิดว่าอีกไม่นานเกินรอ สายงานนี้จะสามารถสร้างรายได้ไหลคืนกลับเลนโซ่กรุ๊ปกว่า 50% ของรายได้ทั้งหมดรวมกันเลยทีเดียว ทั้งนี้เพราะอนาคตของธุรกิจโทรคมนาคมที่นอกจากนับวันจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แล้วรายได้ยังหมุนเวียนกลับมาเป็นกอบเป็นกำและรวดเร็วกว่าสายอื่นๆ

เธียรเล่าว่า หากแผนทุกแผนที่ประธานกลุ่มเลนโซ่วางไว้เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งรวมไปถึงการนำพาบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้สำเร็จคาดว่าอย่างช้าภายในปี 38 นี้แล้ว หลังจากนั้นก็จะมีการแตกแขนงธุรกิจใหม่ซึ่งเป็นธุรกิจเสริมและต่อเนื่องเกิดขึ้นอีกแน่นอน อาทิ ไฟแนนซ์ และประกันภัย

อย่างไรก็ตามการกระจัดกระจายสายพันธุ์ การเติบโตที่เริ่มโดดเด่นมากขึ้นทุกวัน ไม่อาจทำให้เจษฎาที่ยึดถือระบบการบริหารแบบไชนีสสไตล์คือเก็บตัวเงียบได้อย่างเดิมอีกต่อไป เขาจำเป็นต้องเร่งปรับโครงสร้างใหม่ พร้อมการนำระบบบริหารสากลโดยจ้างมืออาชีพเข้ามาใช้ในส่วนต่างๆ ที่เกิดขึ้นและเปิดตัวให้ชื่อเสียงของบริษัทเป็นที่รู้จักมากกว่าเดิม ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะหวังผลในการเข้าตลาดฯ เพียงอย่างเดียว ทว่าเพื่อผลในอนาคตอันจะเกี่ยวเนื่องมาจากธุรกิจใหม่ๆ ที่กำลังคิดจะสร้างต่างหาก กลุ่มเลนโซ่นับจากนี้ต่อไปนับว่าเป็นกลุ่มที่น่าจับตามองการเกิด และเติบโตที่นับวันจะแตกสายพันธุ์ไปหลายสาขาในลักษณะแบบรุกเงียบอย่างเสือหวังตะครุบเหยื่อเลยทีเดียว

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us