หลังจากหลั่งน้ำตาพ่ายแพ้ประมูลวิทยุที่กรมประชาสัมพันธ์ วันนี้อิทธิวัฒน์
เพียรเลิศ นำกองทัพดีเจ. มีเดียพลัสขับเคลื่อนกงล้อประวัติศาสตร์วิทยุสู่ยุคอุตสาหกรรมใหม่
โดยใช้อำนาจทุนติดอาวุธเทคโนโลยีสื่อสารอันอันทรงประสิทธิภาพ และสร้างพันธมิตรธุรกิจเพื่อสร้างเครือข่ายยิ่งใหญ่และสลับซับซ้อนยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา
!!
อิทธิวัฒน์ เพียรเลิศ วงการดีเจเรียกเขาว่า "I.B" ผู้ทำให้ธุรกิจวิทยุเปลี่ยนแปลงไป
!
เปลี่ยนจากมือสมัครเล่นให้เป็นมืออาชีพ และทำกันเป็นล่ำเป็นสันในรูปบริษัท
"มีเดียพลัส" ซึ่งเป็นผู้นำด้านเครือข่ายวิทยุถึง 54 สถานี ที่ปั่นเงินรายได้นับร้อยล้านบาท
มีดีเจ. ในสังกัดร่วมร้อยคน บริหารรายการกันแบบอุตสาหกรรมศิลป์ ที่ใช้ระบบวางฟอร์แมทรายการวิทยุรูปแบบโครงสร้างเดียวกันโดยเน้นภาพพจน์กิจการโดยรวม
มากกว่าสร้างบทบาทดาราโดดเด่นให้กับดีเจ. บางคนอย่างที่เคยสร้างมา เช่น วาสนา
วิระชาติพลี วิโรจน์ ควันธรรม วินิจ เลิศรัตนชัย หรือหัทยา เกษสังข์
อิทธิวัฒน์จัดเพลงมา 27 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2514 ซึ่งสถานีวิทยุขณะนั้นเริงร่าจากการายกเลิกนโยบายห้ามโฆษณายุคจอมพลถนอม
กิตติขจร หลังจากโดนกฎเหล็กสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามถึงจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
ห้ามโฆษณาพร่ำเพรื่อในละครและเพลง
สมัยนั้นอิทธิวัฒน์ยังเป็นเด็กมัธยมเซนต์คาเบรียลที่กำลังก้าวเข้ามาในเส้นทางดีเจ.
ด้วยการช่วยเปิดพลงให้กับหลุยส์ ธุระวาณิชย์ที่สถานีวิทยุพิทักษ์สันติราษฎร์
4 หลังจากจบวิศวะไฟฟ้าเกียรตินิยมเหรียญทองจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น อิทธิวัฒน์เริ่มหวนจัดรายการเพลงอีกครั้งหนึ่งในนามส่วนตัว
โดยมีกรีนสปอตเป็นสปอนเซอร์ สมัยนั้นเขาทำงานกับเอสโซ่อยู่หกปี จึงลาออกมารับราชการในกรมตำรวจจนถึงทุกวันนี้
"ตามธรรมดา ผมจะไม่แต่งเครื่องแบบให้ใครเห็นเท่าไหร่ ผมมียศเป็นพันตำรวจโท
สังกัดอยู่ที่สำนักงานตำรวจนครบาล กองสารนิเทศ เป็นรองผู้กำกับการทำงานอยู่กับการผลิตสื่อประชาสัมพันธ์คล้ายๆ
กับงานที่ทำ" เป็นครั้งแรกที่อิทธิวัฒน์เปิดเผยอาชีพแท้จริงของเขาต่อรายการ
"แจงสี่เบี้ย" ซึ่งออกอากาศทางโทรทัศน์ช่อง 3 ไปเมื่อปลายปีที่แล้ว
นอกจากนี้รายการแจงสี่เบี้ยยังเปิดมุมส่วนตัวของอิทธิวัฒน์ที่บ้าน "วัฒนากร"
สุขุมวิทยซึ่งเคยใช้เป็นสำนักงานมีเดียพลัสก่อนที่จะย้ายคนมีเดียพลัสทั้งหมดไปอยู่ในตึกมอนทาเร่ย์
ในห้องนอนซึ่งเป็นมุมทำงานที่อิทธิวัฒน์ชื่นชอบที่จะนั่งคิดวางแผนและติดต่องานใหญ่น้อย
แล้วเหม่อมองออกไปเห็นสระน้ำสีฟ้าใส บนโต๊ะทำงานจะมีนาฬิกาดิจิตอลที่บอกเวลาทั่วโลก
นี่คืองานติดต่อคอนเสิร์ตต่างประเทศที่เวลาของเรากับเขาไม่ตรงกัน
"อย่างบนเตียงนี้ก็ถือว่าเป็นการทำงานด้วยเพราะขณะนอนเราก็สามารถทำงานได้ด้วย
โทรศัพท์ทางไกลมา เราก็กระโดดมารับได้ทันที" แทบจะแยกแยะไม่ออกระหว่างชีวิตส่วนตัวกับการทำงาน
นอกจากนี้ในห้องนอนยังมีเก้าอี้ตัดผมสีทองอร่าม ที่มีพนักเอนและเบาะหลังนวดหลังได้
อิทธิวัฒน์นิยมที่จะตามช่างตัวผมประจำตัวให้มาทำให้ที่บ้านหลังนี้เพราะประหยัดเวลา
ในปี 2517 มีการเข้มงวดเรื่องการจ่ายภาษีของนักจัดรายการ นโยบายนี้มีผลกระทบทำให้นักจัดรายการวิทยุต้องไปจดทะเบียนในรูปบริษัทเพื่อจะได้หักค่าใช้จ่ายได้เมื่อถูกสรรพากรเรียกเก็บภาษี
ด้วยเหตุนี้ชื่อรายการว่า "ไนท์สปอตอภิรมย์ สโมสรตอนกลางคืน" จึงเกิดขึ้นในปี
2515 โดยอิทธิวัฒน์ได้รับแรงบันดาลใจจากผับชื่อ "ไนท์สปอต" ขณะขับรถผ่านโรมแรมรามาดา
รายการไนท์สปอตเป็นที่นิยมของบรรดาคอเพลงสากล ที่ได้ชื่นชมกับเพลงทันสมัยที่ติดอันดับมาจากอังกฤษอันเป็นต้นแหล่งที่อิทธิวัฒน์เห็นว่า
น่าจะเอาแผ่นมาเปิดให้คนไทยได้ฟังทันโลกดนตรีด้วยลีลาการจัดเพลงที่แปลกไปเช่นพูดคร่อมเพลง
"พี่เริ่มจัดรายการวิทยุมาตั้งแต่เรียนอยู่ปี 4 สถาปัตย์ เพราะได้ฟังรายการไนท์สปอตของคุณอิทธิวัฒน์
ก็เลยเกิดประทับใจในลีลา และเพลงที่เขาเสนอมันใหม่มาก พี่ก็เลยชอบมากๆ ทำให้มีไอเดียจัดรายการวิทยุตั้งแต่ตอนนั้น"
วาสนา วีระชาติพลี ดีเจ. มือเก่าผู้โปรดปรานเพลงร็อคและร่วมบุกเบิกไนท์สปอตจนประสบความสำเร็จตั้งแต่ปี
2518 เล่าให้ฟังในหนังสือ "ผู้หญิงเก่ง"
ไนท์สปอตในยุคอิทธิวัฒน์ ถือเป็น "ยุคสร้างคน" " คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ให้กับวงการดีเจ.
มหาศาลเช่นวิโรจน์ ควันธรรม ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ วินิจ เลิศรัตนชัย จิราพรรณ
ลิ่มไทย ม.ร.ว. รุจยาภา อาภากร ซึ่งปัจจุบันเป็นรองกรรมการผู้จัดการมีเดียพลัส
และผู้อำนวยการฝ่ายการผลิตรายการและคอนเสิร์ตศิลปินต่างประเทศ
"ผมคิดว่าบุคคลเหล่านี้ ผมได้สัมผัสด้วยตัวเอง เมื่อเจอกันครั้งแรก
ผมจะบอกคนเหล่านี้ได้เลยว่าเขาเหมาะสม ถึงแม้เขาจะมีเสียงอย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้ถือเอาเป็นประเด็น
ผมจะสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้น และจะให้คอนเซปท์ไป ผมจะแปลกกว่าคนอื่น ผมจะไม่จ้ำจี้จ้ำไชให้ทุกคนเหมือนกันหมด
ทุกคนจะสร้างบุคลิกของตัวเอง โดยผมจะให้โอกาสและความมั่นใจ" อิทธิวัฒน์เล่าให้รายการ
"แจงสี่เบี้ย" ฟัง
สิบปีแห่งความหลังที่ไนท์สปอต มีทั้งรสหวานและขมขื่น น้ำผึ้งขมเมื่อปี
2529 อิทธิวัฒน์ต้องแตกคอกับขวัญชัย กิตติศรีไสว ผู้ถือหุ้นใหญ่อีกคนของไนท์สปอตสาเหตุเพราะ
"ไปกันคนละทาง สร้างดาวกันคนละดวง"
"ผมออกจากไนท์สปอต เพราะนโยบายไม่ตรงกัน ทางผมคิดว่าจะถูกต้องกว่า
ไนท์สปอตควรจะยุ่งกับเรื่องเพลงเท่านั้น คอนเสิร์ตควรจะเป็นกิจกรรมที่คงไว้
แต่กรรมการคนอื่นไม่ต้องการ อยากทำละคนเพชฌฆาตความเครียดและเริ่มทำเทปเพลงไทย
แต่ผมเห็นว่าแนวนั้นไม่ใช่สิ่งที่ผมถนัด ผมเชื่อว่าไนท์สปอตมันโตมาได้ เพราะคอนเสิร์ตต่างประเทศ
ผมเลยแยกออกมาพิสูจน์ความเชื่อของผม" อิทธิวัฒน์ให้สัมภาษณ์ "ผู้จัดการรายเดือน"
เมื่อปี 2533
ด้วยความเชื่อมั่น และศรัทธาของเหล่าดีเจ. ไนท์สปอตที่ลาออกมาร่วมสร้างกิจการใหม่ในนาม
"บริษัทมีเดียพลัส บรอดคาสติ้ง" ในปี 2529 ที่มีคอนเซปท์รายการ
"สไมล์เรดิโอ" ในคลื่นวิทยุเอฟเอ็ม 88 95.5 และ 105 เม็กกะเฮิรตซ์
และบุกจัดคอนเสิร์ตมากกว่า 30 ครั้งในรอบสองปีแรก โดยอาศัยสายสัมพันธ์ในฐานที่ร่วมลงทุนกับซีบีเอสเร็คคอร์ด
ผลิตและจำหน่ายเทปเพลงสากล ซึ่งอิทธิวัฒน์ได้รับความช่วยเหลือด้านบริหารการจัดการผิดกับสมัยที่ไนท์สปอตทำกับดับบลิวอีเอ
ในฐานะดีลเลอร์
ต่อมาในปลายปี 2534 จุดพลิกผันชะตากรรมธุรกิจของอิทธิวัฒน์ได้เกิดขึ้น
เมื่อนโยบายของรัฐมนตรี มีชัย วีระไวทยะ (ชื่อที่คนวิทยุทุกคนตราไว้ในดวงจิต)
เปิดให้มีการประมูลคลื่นสถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ 5 สถานี ได้แก่ 88 93.5
95.5 97.0 และ 105.0 เม็กกะเฮิรตซ์ ซึ่งผู้ชนะได้แก่ ค่ายแกรมมี่กับยูแอนด์ไอค่ายช่องสามคนละสองคลื่น
ที่เหลือเป็นของสตูดิโอ 107 ของจันทรา ชัยนาม
ปรากฏการณ์ทางธุรกิจนี้ได้สะท้อนว่า "งานแพ้เงิน" แม้ว่าผลงานในอดีตสี่ปีเต็มของมีเดียพลัสได้สร้างชื่อตรงนี้ให้กับกรมประชาสัมพันธ์
แต่มันก็ไม่เข้าตากรรมการจึงทำให้มีเดียพลัสพ่ายแพ้ไปในที่สุด
ด้วยเลือดและน้ำตา นี่คือจุดจบของการเริ่มต้นใหม่ของมีเดียพลัส และเป็นการเริ่มต้นศักราชใหม่ของธุรกิจอุตสาหกรรมวิทยุที่วัดกันแบบ
"ใครใหญ่ใครอยู่" จากนโยบายที่กระตุ้นให้สื่อวิทยุมีต้นทุนค่าโฆษณาที่แพงขึ้น
!
เจ้าพ่อดีเจ. อย่างอิทธิวัฒน์ เพียรเลิศ ถือได้ว่าเป็นหนึ่งใน "บิ๊กโฟร์"
ของราชาคลื่นเสียงในปัจจุบันเมื่อพิจารณาจากเม็ดเงินสองพันล้านที่ได้มาจากโฆษณาแบบสปอตเดี่ยว
(LOOSE-SPOT) ซึ่งเป็นรูปแบบหลักของสถานีวิทยุขณะนี้
"บิ๊กโฟร์" สี่รายนี้ ได้แก่ มีเดียพลัสในเครือวัฏจักรกรุ๊ป
แปซิฟิกคอมมิวนิเคชั่น กลุ่มเอ-ไทม์มีเดียในสังกัดแกรมมี่ และเครือเดอะเนชั่น
ทั้งสี่รายนี้ยึดกุมส่วนแบ่งตลาดถึง 60% ของงบโฆษณาทั้งหมดที่ลงสปอตในคลื่นวิทยุเอฟเอ็ม
35 สถานีที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ (ดูตารางประกอบ)
มีเดียพลัส หนึ่งในสี่ผู้ยิ่งใหญ่สามารถครอบครองสัดส่วนการตลาดไม่ต่ำกว่า
17% ของเค้กชิ้นใหญ่นี้ โดยเน้นความเป็น "สถานีเพลง" เพื่อความบันเทิงตามคอนเซปท์รายการ
"สไมล์เรดิโอ" ที่มีทั้งหมดห้าคลื่นในกรุงเทพฯ ได้แก่
สไมล์ เรดิโอ I (98.0) สไมล์ เรดิโอ II (94.5) สไมล์ เรดิโอ III (99.5)
สไมล์ เรดิโอ IV (107.5) และสไมล์ เรดิโอ V (102.5)
นอกจากนี้มีเดียพลัสยังมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ จากการจัดคอนเสิร์ตศิลปินต่างประเทศ
ซึ่งอิทธิวัฒน์ริเริ่มตั้งแต่สมัยทำบริษัทไนท์สปอต โดยเริ่มจากวง STYLISTIC
จัดที่โรงแรมดุสิตธานีก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ไม่กี่วัน การจัดกิจกรรมคอนเสิร์ตเป็น
VALUE ADDED อิทธิวัฒน์คิดว่าเป็นตัวบวกให้กับรายการวิทยุ และเป็นธุรกิจที่อิทธิวัฒน์ไม่เคยทิ้ง
ปัจจุบันอิทธิวัฒน์มีรถลีมูซีน "เดมเลอร์" สีดำขนาดใหญ่ประจำไว้คอยรับส่งนักร้องชาวต่างประเทศได้เป็นสิบคน
"รายการวิทยุจะพิสูจน์ได้ว่ามีคนฟังมากน้อยแค่ไหนนั้น ก็ต้องดูคอนเสิร์ตที่เราจัดว่ามีคนสนใจมากหรือเปล่า
? ผมถือว่าเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งของสถานี" อิทธิวัฒน์กล่าว
จุดแข็งของมีเดียพลัสได้สร้างระบบสมาชิกสไมล์เรดิโอและจับมือกับธนาคารกรุงไทยออก
"เอทีเอ็ม สไมล์ การ์ด" ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านบันเทิง ส่วนใหญ่สมาชิกจะเป็นวัยรุ่นที่ต้องการความสนุกสนานร่วมกับดีเจ.
และความทันสมัยอยู่เสมอ ชอบมีกิจกรรมและเล่นเกมส์ ขณะที่สไมล์เรดิโอ II 94.5
เม็กกะเฮิรตซ์จับผู้ใหญ่ด้วยเพลงสากลยุค 1960-1970
การแข่งขันเชิงการตลาดที่มีแนวโน้มเข้มข้นระหว่างมีเดียพลัสกับเอ-ไทม์มีเดีย
เป็นสงครามชิงพื้นที่กลางอากาศ ชนิดตาต่อตา ฟันต่อฟันในเซกเมนต์ของสถานีเพลง
สงครามราคาค่าโฆษณาที่ถูกกระตุ้นให้สูงขึ้น จากนโยบายเปิดประมูลยุคมีชัย
วีระไวทยะปี 2534 ได้กลายเป็นต้นทุนที่ทำให้ผู้เช่าเวลาต้องจ่ายแพงมากขึ้น
ในปีนี้ค่าโฆษณาเพิ่มอีก 15-20% มีเดียพลัสขายเหมาคลื่นสไมล์เรดิโอ เน็ทเวิร์ค
III 99.5 เม็กกะเฮิรตซ์ ในราคาสปอตละ 2,000 บาท ขณะที่คลื่น 98.0 (สไมล์เรดิโอ
I ) และ 107 (สไมล์เรดิโอ IV) ยังอยู่ในราคาแค่ 1,100 บาท ส่วนที่เหลือสองคลื่นคือสไมล์
II และสไมล์ V สปอตละ 900 บาท
ขณะที่ค่ายเอ-ไทม์มีเดีย ในสังกัดแกรมมี่ ขายคลื่นเรดิโอโหวต 93.5 ในราคาที่ปรับจาก
1,500 บาท เป็น 1,850 บาท และกรีนเวฟ 104.5 กับฮดตเวฟ 91.5 ปรับจาก 900 เป็น
1,250 บาท (ดูตารางประกอบ)
ท่ามกลางสมรภูมิสงครามของสถานีเพลงที่สู้รบกันดุเดือด แนวรบใหม่ด้าน "สถานีข่าว
24 ชั่วโมง" ก็เกิดขึ้นชัดเจนในระยะ 2-3 ปีนี้ โดยมีสองค่ายยักษ์ใหญ่แข่งขันกัน
ระหว่างแปซิฟิกคอมมิวนิเคชั่น กับเครือเดอะเนชั่น ซึ่งต่างกำเนิดมาจากจุดยืนที่ต่างกัน
วิทยุเนชั่นเกิดจากความบังเอิญที่สุทธิชัย หยุ่น รายงานข่าวสงครามอ่าวเปอร์เซีย
ขณะที่แปซิฟิกฯ เกิดจากสายสัมพันธ์ลึกล้ำกับนายทหารระดับสูง โดยเฉพาะกรณี
จส. 100 สถานีวิทยุเพื่อข่าวสารการจราจรและศูนย์ข่าวแปซิฟิก ที่ปีย์ มาลากุล
เคยยอมรับกับสื่อมวลชนว่า การทำจส. 100 เป็นภาระกิจที่ได้รับมอบหมายมาจากพลเอกสุจินดา
คราประยูร อดีตนายกรัฐมนตรีสมัยเป็นผบ.ทบ.
"วิทยุเนชั่นไม่เป็นธุรกิจที่เราตั้งเป้าว่าต้องทำกำไร เราทำวิทยุด้วยหลักการของหนังสือพิมพ์
จุดยื่นของเราคือจุดยืนของเนชั่น ซึ่งพิสูจน์ตัวเองมาแล้วเมื่อพฤษภาทมิฬ
เราอยู่ที่คลื่น 97.5 ไม่เคยประกาศให้ใครรวมตัวกัน" สุทธิชัย หยุ่น
ให้สัมภาษณ์ "ผู้จัดการรายวัน"
ตลอดปี 2535-36 วิวัฒนาการ "ข่าวด่วน" ที่กลายเป็นธุรกิจของมืออาชีพ
ได้ปลุกเร้ากระแสการพัฒนา "ข่าว" ที่รุนแรงต่อเนื่องในยุคคนตื่นตัวด้านข่าวสารและข้อมูล
และกระตุ้นให้สถานีเพลงทุกแห่งในกรุงเทพมหานครหันมาพิจารณาความสำคัญของการรายงานความเคลื่อนไหวประจำวัน
ซึ่งกลายเป็น "อาหารสมอง" ประจำวันที่ทุกสถานีเอฟเอ็ม. ในกรุงเทพฯ
ขาดมิได้
เริ่มต้นที่วิทยุเนชั่น ของสุทธิชัย หยุ่น เริ่มรายงานสายตรงจากห้องข่าวสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศเกิดขึ้นท่ามกลางสงครามอ่าวเปอร์เซีย
เริ่มจากการผลิตข่าวฟรีให้คลื่น 92.5 ของสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย โดยวางเป้าเป็นสถานีข่าวเต็มรูปแบบแต่ยังทำไม่ได้ต้องออกเพลงคั่นบางช่วง
เพราะเนชั่นเป็นเพียงผู้ผลิตข่าว มิใช่ผู้ประมูลสถานี และยังป้อนข่าวต้นชั่วโมงให้
คลื่นเอฟเอ็ม. 90.5 เม็กกะเฮิรตซ์ของกรมพลังงานทหารซึ่งมีเครือข่าย 15 จังหวัด
ในปี 2534 ศูนย์ข่าวแปซิฟิกได้บุกยึดพื้นที่โดยสยายปีกคลุมเครือข่ายรายงานข่าวสารของสถานีวิทยุในสังกัดกองทัพบกทั้งระบบเอเอ็มและเอฟเอ็มไว้ได้ทั้งหมด
132 สถานีในจังหวัดสำคัญๆ 32 แห่ง โดยมีคำสั่งให้ยกเลิกการเสนอข่าวของเอกชนที่เช่าเวลาทุกต้นชั่วโมง
โดย "ฝ่ายข่าว" ของกองทัพบกจะเป็นผู้เสนอข่าวเอง ใช้สถานีวิทยุกองพลที่
1 รักษาพระองค์เป็นแม่ข่าย
เบื้องหลังคำสั่งเกื้อกูลนี้ ศูนย์ข่าวแปซิฟิกคือผู้ผลิตข่าว และทุกๆ หนึ่งนาทีในต้นชั่วโมงที่จะออกข่าว
5 นาที จะเปิดสปอตโฆษณา นี่คือประโยชน์ที่แปซิฟิกได้รับ นอกเหนือจากอิทธิพลยิ่งใหญ่ในฐานะสื่อวิทยุที่ผูกขาดสถานีกองทัพบกได้ถึง
132 สถานีที่อาจก่อผลกระทบในเชิงการเมือง เศรษฐกิจและสังคมในวิกฤตการณ์อนาคต
ส่วน อสมท. เริ่มปรับคลื่นสำนักข่าวไทย 100.5 เม็กกะเฮิรตซ์ ด้วยการเพิ่มรายงานข่าวสดนอกสถานีและลงทุนด้านเครื่องมือสื่อสารรวมทั้งแลกเปลี่ยนข่าวกับสถานีข่าว
5 ประเทศ
สถานีข่าวสามแห่งที่มีบทบาทสำคัญ คือ จส. 100 เม็กกะเฮิรตซ์ 96.0 เม็กกะเฮิรตซ์
และ 97.0 เม็กกะเฮิรตซ์ ในแต่ละวันมีรูปแบบหลักรายข่าว ไม่ว่าจะเป็นข่าวจราจรของจส.
100 ข่าวสังคม ข่าวเศรษฐกิจ ข่าวการเมือง รวมทั้งการวิจารณ์วิเคราะห์รวมถึงการอภิปรายแบบที่เจิมศักดิ์
ปิ่นทองทำได้สำเร็จก็ตาม
จากการสำรวจของบริษัทเรดิโอ แอนด์ รีเสิร์ช ซึ่งเป็นบริษัทรับจ้างทำวิจัยด้านนี้
พบว่าสัดส่วนรายงานข่าวของสถานีวิทยุเอฟเอ็ม. ในกรุงเทพฯ จำนวน 14 แห่งใช้เวลาไปกับข่าวถึง
14.12% ของเวลาทั้งหมดที่ออกอากาศแต่ละวัน ขณะที่ปี 2535 เพียงแค่ 4.74%
เท่านั้น
ระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน 2536 งบโฆษณาที่เทให้กับสถานีข่าวยอดนิยม
จส. 100 ที่สามารถดึงผู้ฟังให้มีส่วนร่วมโดยใช้คลื่นข่าวสารโทรศัพท์เคลื่อนที่มากที่สุด
รับทรัพย์ไปเนื้อๆ 51.88 ล้านบาท หรือตกสปอตละ 1,500 บาท แต่ปัจจุบันได้ปรับค่าโฆษณาขึ้นเป็น
2,300 บาทแล้ว
รองลงมาคือสถานีข่าวเครือเดอะเนชั่น 97.0 เม็กกะเฮิรตซ์ ได้ค่าโฆษณาสปอตละ
1,500 บาท รวมเป็นเงินโฆษณาประมาณ 39.73 ล้านบาท ส่วนคลื่น 96.0 ค่าสปอตโฆษณาถูกกว่าแค่สปอตละ
1,000 บาท คิดเป็นมูลค่า 21.83 ล้านบาท
นั่นย่อมหมายถึง "ข่าว" ได้ยึดตำแหน่งที่สองรองจากเพลงขึ้นมาแล้ว
ขณะที่อันดับสามคือโฆษณาต่างๆ
อิทธิวัฒน์ก็มองเห็นปรากฏการณ์นี้ แต่เขาไม่ถนัดการจัดการลงทุนทำสถานีข่าว
วิธีที่ดีที่สุดคือ "หาเพื่อน" อย่างสำนักข่าวไอเอ็นเอ็น ซึ่งมีสหศินีมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
ลึกลงไปกว่านั้นสหศินีมาอยู่ในเครือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
ปี 2536 นับว่าเป็นปีแห่งการลงทุนของค่ายใหญ่ด้านการขยายเครือข่ายครอบคลุมพื้นที่ต่างจังหวัดมากที่สุด
บริษัทเอ-ไทม์ มีเดียสังกัดค่ายแกรมมี่ฯ ลงทุน 50 ล้านบาท ตั้ง "เรดิโอโหวต
แซทเทลไลท์" ชิงธงนำกับมีเดียพลัสใน 7 จังหวัด ขณะที่ "กลุ่มแพ็คโฟร์"
ที่เกิดจากการรวมตัวของบริษัทนิธิทัศน์โปรโมชั่น บริษัทอาร์เอส ซาวด์ บริษัท
ดีเดย์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์และเอส พี ศุภมิต รุกเงียบจัดรายการท้องถิ่น
ส่วนมีเดียพลัสทำ "สไมล์เรดิโอ เน็ทเวิร์ค" ผลิตรายการผ่านดาวเทียม
หวังเจาะกลุ่มวัยรุ่นนักศึกษา แต่ไม่ประสบความสำเร็จในสองปีที่ผ่านมา โดยติดขัดปัญหหาการผลิตรายการและลูกค้าโฆษณาในพื้นที่ส่วนภูมิภาคที่ไม่มีผู้ชำนาญ
ทำให้ต้องยุบสไมล์เรดิโอ เน็ทเวิร์คที่มี 3 เครือข่ายให้เหลือเพียงแม่ข่ายสถานีเดียวคือ
99.5 เม็กกะเฮิรตซ์ ครอบคลุมพื้นที่ 12 จังหวัด (ดูตารางประกอบ)
ผลของความล้มเหลวในการนี้ ทำให้ผู้บริหารบริษัทโน้ตโปรโมชั่น ซึ่งมีรายการ
"อัลบั้มโน้ต" ทางเอฟเอ็ม. 102.5 เม็กกะเฮิรตซ์ ประสบภาวะขาดทุน
16 ล้าน จากการร่วมโครงการเน็ทเวิร์คกับมีเดียพลัสคนละครึ่งในนาม "บริษัทมีเดีย-โน้ต"
โดยนำรายการของบริษัทโน้ตโปรโมชั่นในต่างจังหวัดทั้งหมดเข้าเน็ทเวิร์คเป็นสไมล์
เรดิโอ 3 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จนต้องขายกิจการให้มีเดียพลัสทั้งหมด
"การทำตลาดให้กับสถานีต่างจังหวัดที่มีเดียพลัสเป็นเจ้าของสัมปทานนั้นไม่เป็นไปตามคาดไว้
ยอมรับว่าเรายังไม่มีประสบการณ์ในตลาดนี้ดีพอ จึงต้องให้บริษัทที่เขามีความชำนาญมากกว่าเข้ามาสาน"
วินดา ทักษิณาภินันท์ กรรมการผู้จัดการมีเดียพลัสกล่าวยอมรับปัญหา
ต้นปีนี้เอง อิทธิวัฒน์ได้ประกาศจับมือเสี่ยติ่ง "กิตติภัทร์ รุ่นธนเกียรติ"
เจ้าของบริษัทไอที อินเอตร์เอเจนซี่ ผู้เป็นเจ้าพ่อภูธรที่ครอบครองสัญญาเช่าช่วงเวลาคลื่นวิทยุในต่างจังหวัดที่ใหญ่ที่สุด
70 สถานีโดยมีฐานที่มั่นอยู่สุรินทร์ เงินทุนก้อนแรกสั่งสมมาจากธุรกิจโบรกเกอร์
รับทำโฆษณาให้กับวิทยุท้องถิ่น
"จริงๆ แล้วที่เราร่วมมือกันเพราะทุกวันนี้การแข่งขันด้านสื่อมันสูง
นโยบายของเราคือ เอาความชำนาญงานบวกกับประสบการณ์ในอดีต ผมเชื่อมั่นว่าเราจะทำได้ดี
เรามีความพร้อม และมีสื่อ แต่เราจะเลือกนักจัดรายการทั้งส่วนภูมิภาค และกรุงเทพฯ
นี่คือนิมิตหมายครั้งแรกของเมืองไทย" เสี่ยติ่งแถลง
เสี่ยติ่งมีพี่ชายชื่อ "บุณยสิทธิ์" หรือ "เสี่ยหลอ"
ซึ่งเคยช่วยอิทธิวัฒน์หาสถานีเอฟเอ็ม. 98.0 เม็กกะเฮิรตซ์ลงในวันรุ่งขึ้น
หลังจากแพ้ประมูลที่กรมประชาสัมพันธ์ กล่าวกันว่างานนี้ อิทธิวัฒน์ยอมจ่ายค่าเช่าสูงถึง
8 เท่าหรือชั่วโมงละ 36,000 บาท แถมยังพัฒนาระบบเครือข่ายผ่านดาวเทียมให้ด้วย
ในระยะสองปีที่ผ่าน อิทธิวัฒน์ใช้ยุทธวิธีสร้างพันธมิตรธุรกิจ ที่สร้างความแข็งแกร่งด้านทุน
และพลังเทคโนโลยีให้กับการเป็นเจ้าพ่อวิทยุในอนาคต
เพื่อนร่วมเส้นทางคนสำคัญบนถนนสายนี้สองคนที่อิทธิวัฒน์รักมากๆ คือ คีรี
กาญจนพาสน์ กับนิกร พรสาธิต
คนแรก คีรี เจ้าของบริษัทธนายง ยักษ์ใหญ่วงการเรียลเอสเตทที่มีกิจการสำคัญๆ
ด้านสื่อสารมวลชน เช่นบริษัทสยามบรอดคาสติ้งทำเคเบิลทีวี "ไทยสกายทีวี"
และบิรษัทไทยสกายคอม
ผู้รับสัมปทานให้บริการสื่อสารข้อมูลภาพและเสียงผ่านสถานีดาวเทียมขนาดเล็กหรือ
"วีแซท"
ไทยสกายทีวีมีอาการน่าเป็นห่วง เงินลงทุนจมไปมหาศาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรเคยกล่าวไว้
ว่า "คนที่จะเข้ามาทำเคเบิ้ลทีวีได้นั้น จะต้องเป็นคนที่ใจถึงพอที่กล้าเผาเงินอย่างต่ำกว่า
200 ล้านบาทไปต่อหน้าต่อตา" และคีรีก็เป็นนายทุนใจถึงเสียด้วย แต่เงินถึง-ใจถึงไม่พอ
อย่างไทยสกายทีวีจำเป็นต้องใช้ "คนมือถึง" ด้วย คีรีฉลาดที่เปลี่ยนหุ้นขยะของไทยสกายทีวีที่ตนเองสูญเงินลงทุนกว่า
200 ล้านให้กลายเป็นเงินก้อนมหาศาลนับร้อยๆ ล้านได้ ด้วยการขายให้วัฏจักรไป
สัมพันธภาพส่วนตัวระหว่างเสี่ยใหญ่อย่างคีรีกับเสี่ยเล็กอย่างอิทธิวัฒน์เป็นไปอย่างดีมากๆ
เพราะทั้งสองมีอุปนิสัยและความชอบหาความสุขคล้ายๆ กัน เช่น กีฬาเล่นเรือยอร์ช
อิทธิวัฒน์มีเรือเร็วอยู่สี่ลำ เริ่มจากเรือขนาด 19 ฟุตหนึ่งลำ แล้วเริ่มใหญ่ขึ้นเป็น
26 ฟุตต่อไปก็ 30 ฟุตและขนาดใหญ่สุดขณะนี้ 35 ฟุต ที่เพียบพร้อมด้วยสิ่งอำนายความสะดวกสบาย
เช่น ห้องนอน ห้องครัวและอุปกรณ์ที่สั่งตรงจากอเมริกา
"หลายๆ คนจะถามผมอย่างประหลาดใจว่าแน่ใจแล้วหรือ ? อยู่วิทยุก็คนละอย่างกับโทรทัศน์
ซึ่งผมพูดอย่างใจจริง ผมเริ่มเคเบิลทีวีมานานแล้ว ผมเริ่มที่ไอบีซีเคเบิลทีวีกับดร.
ทักษิณ ชินวัตร เพราะเราทำงานที่เดียวกันคือนั่งหันหลังชนกัน ผมเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของท่านรองผู้กำกับดร.
ทักษิณ" อิทธิวัฒน์เล่าให้ "แจงสี่เบี้ย" ฟัง
ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้สำหรับอิทธิวัฒน์เพียงขอโอกาสให้เกิดเท่านั้น
เมื่อคีรี กาญจนพาสน์เปิดทางให้มีเดียพลัสปรับปรุง อิทธิวัฒน์ก็นำมีเดียพลัสเข้าไปบุกเบิกรายการเพลง
"สไมล์ทีวี" ทันที โดยมีสาลินี ปันยารชุน ดีเจ. สาวจอมเปรี้ยวเป็นผู้ดูแล
"ผมเห็นว่า ไทยสกายทีวีหรือเคเบิลทีวีที่ผมเกี่ยวข้อง ผมจะมุ่งรายการของผมไปที่เพลง
เพราะผมก็ดูว่า MTV เคเบิลทีวีของต่างประเทศ ก็คือรายการวิทยุที่ออกมาในรูปของโทรทัศน์
หน้าที่ของผมคือการพัฒนาวิทยุ" นี่คือจุดยืนที่อิทธิวัฒน์ประกาศเส้นทางเดินบนถนนคนบันเทิง
พันธมิตรคนที่สองคือ นิกร พรสาธิต เจ้าของวัฏจักรกรุ๊ป กิจการสิ่งพิมพ์ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย
และกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน "มีเดียพลัส" การลงทุนเพื่ออนาคตของอาณาจักรวัฏจักรวันนี้ถ้าหากบริหารทรัพยากรทุนและบุคลากรได้สำเร็จ
วัฏจักรกรุ๊ปจะกลายเป็นยักษ์ที่มี "สื่อครบวงจร" ทั้งหมดอยู่ในมือ
ไม่ว่าจะเป็นสิ่งพิมพ์ วิทยุและเคเบิลทีวี
บนพื้นฐาน "ต่างฝ่ายต่างใช้กัน" ทำให้ทั้งสามต่างสุมหัวกันคิดเพิ่มศักยภาพให้กับธุรกิจบริษัทแม่ที่ตนมีอยู่
แต่งานนี้อิทธิวัฒน์และคีรีน่าจะเป็นผู้ได้กำไรมากที่สุด เพราะคีรีได้ชี้ช่องทางใหม่ของแหล่งเงินทุน
ผลจากการสวอปหุ้นแลกเปลี่ยนไปมาระหว่างกันปลายปี 2535 พันธมิตรไตรภาคี
คือในบริษัทสยามบรอดคาสติ้ง (เอสบีซี) คีรีถือหุ้น 60% วัฏจัร 20% มีเดียพลัส
10% ที่เหลือเป็นของอสมท. 70% และอื่นๆ อีก 35% ของทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท
ส่วนหุ้นในมีเดียพลัสอิทธิวัฒน์ลดสัดส่วนเหลือ 51% ที่เหลือวัฏจักรกรุ๊ปกับเอสบีซีถือคนละ
24.5% ของทุนจดทะเบียน 100 ล้าน
คีรีสามารถแปลงมูลค่าหุ้นขยะอย่างไทยสกายให้กลายเป็นหุ้นที่มีมูลค่าสูงเกินคาด
ซึ่งเป็นความรู้ใหม่ในแวดวงตลาดเงินตลาดทุนที่อิทธิวัฒน์ไม่เคยเข้าไปลึกมากเช่นนี้มาก่อน
ผลจากการกระทำ "รวมกันเรารวย" ทำให้ราคาหุ้นวัฏจักรทะยานสูงลิ่วจาก
170 บาท ขึ้นเป็น 498 บาท ณ วันที่ 29 ธันวาคม 2536
หากคำนวณจากราคาที่อิทธิวัฒน์ซื้อไว้เมื่อปี 2535 หุ้นละ 170 บาท และได้ขายไปจำนวน
1,109,650 หุ้น ๆ ละ 350 บาท อิทธิวัฒน์จะมีกำไรจากการขายหุ้นครั้งนี้ถึง
199 ล้านบาท ไม่นับรวมก่อนหน้านี้ที่ทยอยขายไปบ้างแล้ว ตัวเลขผลตอบแทนจากการขายหุ้นวัฏจักรเกือบ
450 ล้านบาท
นับว่าเป็นการลงทุนที่คุ้ม…คุ้มจริงๆ !!
วันนี้อิทธิวัฒน์ดูเหมือนว่าได้ขายทิ้งหุ้นบริษัทมีเดียพลัสทั้งหมด เหมือนขายภาพพจน์สินค้าชั้นดีที่มีอนาคตให้กับวัฏจักรกรุ๊ปเหลือไว้แต่ตำแหน่งประธานบริษัทมีเดียพลัส
ทำทำงานวางแผนอยู่เบื้องหลังเงียบๆ
"แต่ก่อนมีเดียพลัสมียอดขายโฆษณาเดือนละ 10 ล้านบาท แต่เมื่อวัฏจักรเข้าไปบริหารก็เพิ่มขึ้นเป็น
30 ล้าน ส่วนไทยสกายทีวีก็มียอดสมาชิกเพิ่มจากที่เคยลดลงมาตลอด" ประพันธ์
บุณยเกียรติ กรรมการผู้จัดการบริษัทวัฏจักร เล่าให้ฟัง
การเทคโอเวอร์มีเดียพลัสนี้จะคุ้มหรือไม่ ? ยังเป็นที่ต้องจับตาเพราะมีเดียพลัสนั้นมีแต่ภาพพจน์ที่ขายได้
ขณะที่สัญญาเช่าเวลาสถานีวิทยุต่างๆ ยังไม่แน่นอนมีลักษณะเป็นปีต่อปี ต้องอาศัยสายสัมพันธ์ส่วนตัวของอิทธิวัฒน์อยู่มาก
ส่วนไทยสกายทีวีก็ยังมีปัญหาขยายจำนวนสมาชิกได้ช้าเกินไป แถมคู่แข่งยังส่งคลื่นรบกวนและสมาชิกไอบีซีสามารถรับคลื่นไทยสกายได้ฟรีๆ
อิทธิวัฒน์ทำงานด้วยสมองและหัวใจที่ไม่เคยหยุดใฝ่หาสิ่งใหม่ๆ เก็บเกี่ยวความคิดสร้างสรรค์จากสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจ
แล้วสร้างโอกาสใหม่ที่จะลงทุนเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้วยความได้เปรียบ ที่เกิดจากพันธมิตรธุรกิจ
และการพัฒนาประสิทธิภาพนำเสนอด้วยเครื่องมืออุปกรณ์การสื่อสารทันสมัย ภายใต้เงื่อนไขของพฤติกรรมผู้บริโภคสื่อดาวเทียมและระบบใยแก้วนำแสง
ที่มีกำลังซื้อสูงและมีเวลาจำกัดในการเลือกรับข่าวสารความบันเทิงที่เจาะประเภทรายการตามใจชอบ
เงินทุนที่ได้จากการขายหุ้นกว่า 388 ล้าน สานฝันของอิทธิวัฒน์ที่รุกก้าวผันตัวเองไปลงทุนทางด้านฮาร์ดแวร์
และการบริหารเทคโนโลยีโทรคมนาคมสมัยใหม่ ซึ่งจะเป็นหัวใจสำคัญในยุคการตลาดนี้ที่จะทำให้อิทธิวัฒน์กลายเป็น
"ผู้ยิ่งใหญ่หมายเลขหนึ่ง" ในคลื่นเศรษฐกิจยุคที่สาม
อิทธิวัฒน์สร้างโอกาสธุรกิจตัวเองขึ้นจากพื้นฐานที่เรียนจบคณะวิศวกรรมศาสตร์
สาขาไฟฟ้าจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นเมื่อสองปีก่อน อิทธิวัฒน์ขยายฐานผู้ฟังไปสู่เครือข่ายต่างจังหวัดในนาม
"สไมล์เรดิโอ เน็ทเวิร์ค" ของมีเดียพลัส เขาก็เรียนรู้การนำระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมที่เช่าใช้บริการจากบริษัทสามารถเทเลคอม
ผสมผสานกับโอกาสที่ได้ร่วมงานกับกลุ่มธนายงทำเคเบิลทีวีปีกว่าๆ ก็ทำให้วิสัยทัศน์ของอิทธิวัฒน์กว้างไกลมากๆ
"วงการบันเทิงมันจะย่อโลกให้แคบลง เมื่อแคบลง เราก็จะตีความไม่ออกเลยว่า
อันไหนคือสิ่งพิมพ์ อันไหนคือสื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ เพราะว่าในสื่อเหล่านี้มันจะปะปนกันอยู่
แต่สื่อเหล่านี้ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องเอื้อซึ่งกันและกัน มันจะเกิดสิ่งหนึ่งขึ้นมาคือเราได้ฟังด้วยหู
ได้ดูด้วยตา แล้วเราได้อ่านซ้ำกันอีก มันจะต้องเป็นสื่อก้อนเดียว" เจ้าของความคิดย่อโลกไว้ในมือของอิทธิวัฒน์เริ่มแล้ว
การเตรียมพร้อมติดอาวุธไฮเทค เริ่มต้นเมื่อกุมภาพันธ์ 2537 นี้เอง อิทธิวัฒน์ได้ซื้อหุ้น
37% ในบริษัท "ไทยสกายคอม" ของคีรี กาญจนพาสน์ ซึ่งเดิมถือไว้
88% ในนามธนายง ส่วนที่เหลืออีก 10% เป็นของบริษัทล็อกซ์เล่ย์และอีก 2% เป็นของบริษัทโฟร์เจโฮลดิ้งของคีรี
ความสำคัญของไทยสกายคอมที่อิทธิวัฒน์เห็น อยู่ที่เงื่อนไขของการเป็นผู้รับสัมปทานอายุ
15 ปีให้การบริการสื่อสารข้อมูล ภาพและเสียงผ่านสถานีดาวเทียมขนาดเล็กหรือ
"วีแซท" มีข้อได้เปรียบตรงที่ให้บริการสัญญานภาพได้ ขณะที่คู่แข่งที่เปิดดำเนินการก่อน
เช่นสามารถเทเลคอม คอมพิวเน็ทและอคิวเมนท์ไม่มี
ดังนั้นปัจจุบันอิทธิวัฒน์รับบริหารเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทไทยสกายคอม
แทนแอนดี้ ฮวง อดีตลูกหม้อวาเคไทยหรือธนายงซึ่งหลุดพ้นตำแหน่งไป เพราะทำงานไม่สำเร็จจนทำให้บริาทต้องถูกการสื่อสารแห่งประเทศไทยปรับไปล้านกว่าบาท
เพราะไม่สามารถเปิดให้บริการได้ทันตามกำหนด
อิทธิวัฒน์ปรับทิศทางไทสกายคอมให้หันเหเข้ามาในเส้นทางที่เขาถนัด จากบริการที่มีอยู่เดิมคือ
บริการสกายดาต้า (ข้อมูล) และบริการสกายลิงค์ (ข้อมูลและเสียง) เขาวางแผนเพิ่มบริการ
"ภาพ" ในชื่อ "สกายบรอดคาสต์"
สกายบรอดคาสต์มีลักษณะการให้บริการสื่อสารทางเดียวผ่านดาวเทียม (SCPC :
SINGLE CHANNEL PER CARRIER) แบบไพร์มเวท เน็ทเวิร์คหรือเครือข่ายเฉพาะที่ไม่ต้องใช้ช่องสัญญาณร่วมกับผู้อื่นได้โดยลูกค้าที่เป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์หรือเคเบิลทีวีในต่างจังหวัด
ติดตั้งจานดาวเทียมรับสัญญานจากสถานีแม่ข่าย (HUB) ที่ถนนรัตนาธิเบศร์ นนทบุรี
แล้วตัวเองก็สามารถกระจายไปยังผู้ชมทางบ้านต่างๆ ได้
ตรงนี้เองที่เป็นจุดดีของสกายบรอดคาสต์ อิทธิวัฒน์รู้แก่ใจว่า เป็นการลงทุนที่มีประสิทธิภาพที่สุด
เพราะ หนึ่ง-ลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนลง สามารถแก้ไขปัญหาเดิมที่ต้องสร้างสำนักงานสาขาที่เป็น
HUB ย่อยๆ ในต่างจังหวัดได้
สอง-สกายบรอดคาสต์จะแก้ปัญหาการตลาดได้ตรงจุดเพราะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายชัดเจนในลักษณะการบริหารแบบ
LOCALIZATION ที่มีลักษณะผลิตรายการแยกจังหวัดและขายโฆษณาเป็นจังหวัดๆ ได้
แทนที่จะยิงรายการที่ผลิตจากกรุงเทพฯ โดยไม่สอดคล้องกับความต้องการของคนในท้องถิ่นนั้นๆ
สาม-โอกาสในการเลือกสื่อโฆษณาถึงกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง เอเยนซี่โฆษณาสามารถเลือกซื้อเวลาตามช่วงเวลาและรายจังหวัดได้ตามต้องการ
การตัดสินใจซื้อหุ้นไทยสกายคอมนี้ เกิดขึ้นหลังจากนโยบายเปิดเสรีเคเบิลทีว
ีของกรมประชาสัมพันธ์ ที่ประกาศให้มีผลตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2537 นี่เอง
อิทธิวัฒน์เล็งเห็นศักยภาพเติบโตของไทยสกายคอมทันที เพราะจากนโยบายนี้ประสานกับกิจการระบบดาวเทียมและระบบใยแก้วนำแสง
จะส่งผลให้เกิดเจ้าของธุรกิจเคเบิลทีวีอีกหลายรายและกลุ่มโรงแรมที่เป็นตลาดหลักของสกายบอร์ดคาสต์นี้
อุตสาหกรรมวิทยุถึงเวลาต้องปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ โดยต้องต่อสู้กันที่คุณภาพรายการ
การตลาดและเทคโนโลยี เส้นทางเดินไปสู่ดวงดาวของอิทธิวัฒน์ เพียรเลิศ จึงต้องเตรียมพร้อมติดอาวุธเทคโนโลยีให้แข็งแกร่งเพื่อรุกคู่แข่งอย่างคาดไม่ถึง
!!