Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2538








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2538
"โฆษกแบงก์ชาติคนใหม่ นามสกุล "เหตระกูล"             
 


   
search resources

ธนาคารแห่งประเทศไทย
เกลียวทอง เหตระกูล




ภายในห้องทำงานของโฆษกแบงก์ชาติคนใหม่ ที่หอมกรุ่นด้วยกระเช้าดอกไม้หลายหลากสี ความสวยเรียบ ๆ ของ ดร. เกลียวทอง เหตระกูลหรือที่คนแบงก์ชาติเรียก "พี่เกี๊ยว" เป็นอีกภาพพจน์ที่ดูงามตา

ดร. เกลียวทองเป็นนักเรียนทุนรุ่นเดียวกับ ดร. ชัยวัฒน์ พิบูลย์สวัสดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการอาวุโส ความเป็นอาวุโสที่ต่อท้ายตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักผู้ว่าการของ ดร. เกลียวทองเช่นกัน ได้บ่งบอกความเป็นลูกหม้อเก่า ดร. เกลียวทองทำงานกับฝ่ายวิชาการของแบงก์ชาติมานาน ตั้งแต่ครั้งหัวหน้าคนแรกเป็น ดร.โอฬาร ไชยประวัติ นอกจากนี้เคยทำงานร่วมกับผู้ว่าการแบงก์ชาติคนปัจจุบัน วิจิตร สุพินิจ ขณะที่ตนเองเป็นหัวหน้าหน่วยการเงินระหว่างประเทศ และก้าวขึ้นเป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการในปี 2533

ต่อมา ดร. เกลียวทองได้เป็นกรรมการบริหารสำรองที่ไอเอ็มเอฟอยู่สองปีระหว่างปี 2535-2537 ก่อนกลับมาแบงก์ชาติเพื่อรับตำแหน่งเป็นผู้จัดการฝ่ายจัดการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินอยู่ 10 เดือน จึงได้รับมอบหมายงานโฆษกแบงก์ชาติหรือผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักผู้ว่าการแทน นพมาศ มโนลีหกุล ซึ่งต้องย้ายไปเป็นผู้อำนวยการสาขาภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่

ถึงแม้ว่าโฆษกแบงก์ชาติคนใหม่นี้จะได้สมรสกับคุณหมอปรีดี เหตระกูลซึ่งมีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกันกับเจ้าของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ โดยเปลี่ยนนามสกุลเดิม "บัวเพ็ชร์" เป็น "เหตระกูล" แต่เธอยืนยันอย่างหนักแน่นว่า

"ที่ได้รับเลือกมาเป็นผู้อำนวยการสำนักผู้ว่าการนี้ ไม่ใช่เพราะความเป็นเหตระกูล นามสกุลก็คือนามสกุล ส่วนตัวเองก็คืนตัวเอง โดยปกติจะเป็นคนทำงาน เพื่องาน ซึ่งท่านผู้ว่าก็ให้หลักไว้ 3 ประการคือ หนึ่ง-ต้องรู้เศรษฐศาสตร์ สอง-ต้องรู้ด้านต่างประเทศ และสาม-ต้องทำงานร่วมมือกับคนอื่นได้ ท่านพูดทำนองนี้ ก็คิดว่าพอจะสู้ได้ก็ลองดู"

ด้วยบุคลิกกุลสตรีเรียบร้อยที่ได้รับอบรมจากโรงเรียนผู้ดีเก่าอย่างวัฒนา เคยผ่านรั้วจามจุรีในฐานะน้องใหม่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ เพียง 8 เดือน ระหว่างนั้นก็สอบเป็นนักเรียนทุนแบงก์ชาติได้เรียนปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์ที่ MC. GILL UNIVERSITY จนกระทั่งจบปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโอไฮโอ หลังจากจบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยคอร์แนล

ดร. เกลียวทองในฐานะผู้อำนวยการสำนักอาวุโสต้องทำงานที่ติดต่อกับสาธารณชนมาก ไม่ว่าจะเป็นแขกต่างประเทศที่มีสัมพันธภาพร่วมกัน หรือการติดต่อโต้ตอบจดหมายของผู้ว่าการ และเป็นโฆษกแบงก์ชาติจัดแถลงข่าว

"ตำแหน่งนี้ถือว่าเป็นตัวแทนของธนาคารออกไปสู่คนข้างนอก สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง เวลาจะทำอะไรหรือพูดอะไรต้องใช้ความเห็นของสถาบันมากกว่าความเห็นของตัวเอง แต่บางครั้งความเห็นของคนเราอาจจะต่างกับสถาบันได้บ้างบางจุด แต่ว่าต้องให้เข้าใจวัตถุประสงค์ของสถาบัน" โฆษกแบงก์ชาติคนใหม่เล่าให้ฟัง

ช่างเป็นงานที่ผิดกับงานเก่าที่จากมา ที่เคยทำงานอยู่เบื้องหลังเงียบ ๆ ในฐานะผู้จัดการฝ่ายจัดการกองทุนเพื่อการฟื้นฟู และพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่มีทีมงานต้องสะสางปัญหาโครงการทรัสต์ 4 เมษา ซึ่งเป็นงานละเอียดจุกจิกในการดูแลทรัพย์สินที่หลากหลาย ประเภทเป็นปู่โสมเฝ้าที่ดินที่รอการขายเคลียร์หนี้สินก็มีผู้จัดการกองทุนฯ คนปัจจุบันคือสว่างจิต จัยวัฒน์

"ล่าสุดกองทุนฯ เพิ่งขายบริษัทเงินทุนทรัพย์ทวีทรัสต์ไปในราคา 168 บาทต่อหุ้น และบริษัทแสงเอ็นเตอร์ไพรส์คือผู้ที่ประมูลได้ไป อันนี้เป็นบริษัทที่โยงกับเดลินิวส์ แต่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้อง เราก็ตอบคำถามเหมือนคนอื่น ๆ ยิ่งนามสกุลเดียวกัน ยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษ พอมีอะไรต้องเรียนเจ้านายอยู่เสมอ" ดร. เกลียวทองเล่าให้ฟังถึงความบริสุทธิ์ใจท่ามกลางผลประโยชน์ที่ขัดแย้ง

อย่างไรก็ตาม ดร. เกลียวทองก็ได้ทำงานชิ้นสุดท้ายในโครงการทรัสต์ 4 เมษาคือ บริษัทเงินทุนเอราวัณทรัสต์ ที่ดำเนินมาถึงขั้นเปิดประมูลอีกรอบ หลังจากที่เปิดประมูลแยกขายที่ดินสองแปลง 122 ไร่ไปแล้ว ก็ทำให้ฐานะของบริษัทมีความน่าสนใจเชิงธุรกิจดึงดูดใจนักลงทุนใหม่ 7 ราย โดยบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล โปรดักส์เสนอราคาซื้อสูงสุด 389 บาทต่อหุ้น รองลงมาคือบริษัทดาราเหนือเสนอที่ราคา 295 บาทต่อหุ้นและวัฎจักรเสนอ 256 บาท

ทั้งนี้บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล โปรดักส์ และบริษัทดาราเหนือ ต่างก็มีเจ้าของคนเดียวกันชื่อ ประภาส อดิสยเทพกุล

"เท่าที่เราตกลงในหลักการ เราจะดูทั้งราคาและแผนการฟื้นฟู เขาจะต้องทำแผนผูกพันเหมือนเป็นคำมั่นว่าจะทำแบบนี้ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราต้องดู คราวนี้มีผู้ประมูลเอราวัณทรัสต์น้อยกว่าเพราะจำนวนหุ้นมากกว่าทรัพย์ทวีทรัสต์ถึง 4 เท่า ทำให้ต้องใช้เม็ดเงินประมูลมากกว่า ส่วนฐานะของเอราวัณทรัสต์หลังจากขายที่ดินไปแล้วเกือบไม่ขาดทุนแต่ต้องเสียภาษีเงินได้อีก ก็จะทำให้มูลค่ากิจการติดลบเล็กน้อย" อดีตผู้จัดการกองทุนฯ เล่าให้ฟัง

ภารกิจที่เสร็จสิ้นในกองทุนฟื้นฟูฯ ก้าวสู่จุดเริ่มต้นงานผู้อำนวยการสำนักงานอาวุโสคนใหม่ นับว่าเป็นงานใหม่ที่ท้าทายที่ไม่ธรรมดา แต่ด้วยความศรัทธาในพระเจ้าตามแบบฉบับคริสเตียนที่ปฏิบัติบูชาด้วยใจตามพระคัมภีร์ ดร. เกลียวทองกล่าวด้วยน้ำเสียงปิติและเชื่อมั่นว่า

"ขอบคุณพระเจ้าที่ดูแลและให้แนวทางกับพี่ พี่รู้สึกว่าตั้งแต่เด็กจนถึงเดี๋ยวนี้ได้รับพระพรจากพระองค์มาก ๆ พี่จะทำทุกอย่างเต็มความรับผิดชอบที่ดีที่สุดทั้งงานและครอบครัว พี่จะเป็นคนรักลูก สามีและแม่มาก แต่จะหวัง A กับทุกอย่างไม่ได้ แต่ก็พยายามทำให้ชีวิตนี้สมดุล และนั่นคือความสุข"

แต่ความสุขหรือทุกข์ในชีวิตส่วนตัวของ ดร. เกลียวทองคนนี้ ใครอย่าเข้าไปคะยั้นคะยอให้เล่าเรื่องราวยาวเป็นสิบหน้าเชียวเพราะคำตอบที่จะได้รับคือ "พี่ทนไม่ได้ เพราะเป็นคนไม่ชอบดังขอเป็นคนสบาย ๆ เงียบ ๆ ไม่อยากเป็นใครที่พิเศษ อยู่อย่างเอนจอยกับคนอื่นได้ เรียกว่าไปไหนขอไปด้วยคนดีกว่า"

ไม่ว่าส่วนตัวจะเป็นเช่นไร แต่เรื่องที่น่าจับตาคือว่า บทบาทโฆษกแบงก์ชาติคนใหม่จะรับมือกับสถานการณ์ที่ส่อเค้ามรสุมเศรษฐกิจในปีหน้าได้อย่างไร ขณะที่โฆษกรุ่นพี่อย่างนพมาศ มโนลีหกุลได้ผ่านบทพิสูจน์มาแล้วในวิกฤตข่าวลือลดค่าเงินบาท !!

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us