กรณีการสิ้นสุดสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มสามารถและบริษัทเทลสตาร์ ที่มีมายาวนานกว่า
7 ปี ด้วยการที่กลุ่มสามารถซื้อหุ้นจำนวน 1,400,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 160
บาท ( มูลค่าตราไว้หุ้นละ 100 บาท ) เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 224 บาท หรือคิดเป็นสัดส่วน
40% จากบริษัทเทลสตาร์ ที่ถืออยู่ในสามารถเทลคอมกลับคืนมาทั้งหมด ส่งผลให้บริษัทสามารถคอร์ปอเรชั่น
จำกัด ถือหุ้นในบริษัทสามารถเทลคอมรวมเป็น 85% ของทุนจดทะเบียน 350 ล้านบาท
โดยผู้บริหารกลุ่มสามารถออกมาให้เหตุผลว่า ต้องการความคล่องตัวในการดำเนินงาน
เพราะการที่เทลสตาร์เป็นรัฐวิสาหกิจ จึงต้องใช้ขั้นตอนในการตัดสินใจมาก ไม่สอดคล้องกับการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้น
ในขณะเดียวกับเทลสตาร์มีนโยบายไม่สนใจจะลงทุนในไทยอีกต่อไป ทำให้ข้อตกลงการซื้อขายหุ้นเป็นไปได้โดยง่าย
แต่ที่น่าสังเกตว่า การแยกทางเดินของทั้งสองบริษัท เกิดขึ้นในห้วงเวลาที่บริษัทเทลคอม
เพิ่งได้รับสัมทานวีเซทใหม่ จากรมไปรษณีย์โทรเลขไปหมาด ๆ ซึ่งทำให้บริการได้ทั้งภาพ
ข้อมูลและเสียง มีอายุสัมปทาน 22 ปี แทนสัมปทานเดิมที่ให้บริการได้แต่ข้อมูล
และมีอายุสัมปทานเพียง 15 ปีเท่านั้น
โดยเฉพาะผลผระโยชน์ตอบแทนที่แตกต่างไปจากสัมปทานวีแซทของการสื่อสารแห่งประเทสไทย
(กสท) ลิบลับ โดยกลุ่มสามารถจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้กรมไปรษณีย์ในช่วง
9-10 ปีแรก จ่าย 10% แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท ปีที่ 11-20 จ่าย 20%
แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท และปีที่ 21-22 จ่าย 30%แต่ต้องไม่ต่ำกว่า
60 ล้านบาท ในขณะที่สัมปทานวีแซทของกสท. กำหนดไว้ว่าเอกชนจะต้องจ่ายเป็นเงินประกันรายได้ขั้นต่ำตลอดอายุสัมปทาน
22 ปี ไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท
ในวันที่ 9 มิถุนายน ที่ผ่านมา สามารถเทลคอมได้งานงานเลี้ยงลูกค้าเป็นครั้งแรก
ในรอบ 5 ปี และถือโอกาสเปิดตัวบริการรูปแบบใหม่ ๆ ที่จะมีขึ้นจากศักยภาพของสัมปทานที่เพิ่มขึ้น
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เหตุใดสามารถเทลคอม และเทลสตาร์ จึงต้องหันหลังให้กันทั้ง
ๆ ที่ร่วมบุกเบิกกันมาถึง 7 ปี และเทลสตาร์เองต้องยกเลิกการลงทุนในไทยทั้ง
ๆ ที่มีโอกาสแสวงหารายได้เพิ่มขึ้นเช่นนี้
ธวัชชัย วิไลลักษณ์ รองประธานบริหาร บริษัทสามารถคอร์ปอเรชั่นเปิดเผยถึงสาเหตุของการแยกทางในครั้งนี้ว่า
ไม่ได้เพราะความขัดแย้ง เนื่องจากยังมีธุรกิจร่วมทำกันอยู่คือ บริการอิเล้กทรอนิกส์
ฟันด์ ทรานสเฟอร์ เป็นบริการประเภทหนึ่งของธนาคาร ซึ่งเทลสตาร์จะเป็นผู้สนับสนุนในเรื่องของเทคโนโลยี
แต่ที่ต้องซื้อหุ้นคืนเพื่อต้องการความคล่องตัวในการบริหาร เพราะต่อไปวีแซทจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการขยายธุรกิจของกลุ่ม
ทั้งในเรื่องของธุรกิจบรอดคาสติ้ง บริการวิทยุติดตามตัว บริการประชุมทางไกล
เป็นต้น
ทว่า ลึก ๆ แล้ว การขอสัมปทานใหม่ครั้งนี้ สามารถเทลคอมต้องการระดมทุนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
อันเป็นเป้าหมายการแสวงหารายได้ของทุนสื่อสารทุกวันนี้ ซึ่งจะต้องมีการกระจายหุ้นให้กับประชาชน
จะทำให้สัดส่วนการถือครองหุ้นของเทลสตาร์ลดลง สวนทางกับนโยบายของเทลสตาร์
ที่ยังคงต้องการเป็นผู้ถือหุ้นหลักอยู่ เทลสตาร์จึงขอถอนตัว
ในทางกลับกัน มีกระแสข่าวว่า กลุ่มสามารถเตรียมตัวหาพันธมิตรรายใหม่มาร่วมวงแล้ว
ซึ่งเป็นไปได้สูงที่กลุ่มยูคอม จะเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหม่ เพราะมีธุรกิจร่วมกันอยู่แล้ว
สำหรับเทลสตาร์ หรือชื่อเดิมคือโอทีซี เป็นรัฐวิสาหกิจของประเทศออสเตรเลีย
ทำหน้าที่ให้บริการด้านสื่อสารดทรคมนาคมประเภทต่าง ๆ ตั้งแต่บริการเครือข่ายสื่อสารเฉพาะกลุ่ม
( Private network) ซึ่งจะให้บริการตั้งแต่ติดต่อสื่อสารข้อมูลหรือเสียงความเร็วต่ำ
บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ บริการเทเลกซ์และแฟกซ์ บริการเสริมประเภทต่าง
ๆ เช่น อีดีไอ ตลอดจนบริการออกแบบและติดตั้งระบบเครือข่ายสื่อสารประเภทต่าง
ๆ
นอกจากการมีฐานที่มั่นในออสเตรเลียแล้ว เป้าหมายอีกอย่างหนึ่งของเทลสตาร์
คือการขยายการลงทุนทางด้านโทรคมนาคมในประเทศต่าง ๆ ทั้งในเรื่องของการลงทุนในเครือข่ายระหว่างประเทศ
อาทิ การเป็นผู้ถือหุ้นหลักในโครงการดาวเทียมอินเทลเซท และระบบเคเบิลในแก้วใต้น้ำ
รวมทั้งการรวมทุนในบริการต่าง ๆ
ไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมาย โดยเทลสตาร์ได้ตั้งสำนักงานสาขาขึ้นในไทยเมสื่อหลายปีมาแล้ว
เพื่อหาลู่ทางการลงทุนในไทย และเทลสตาร์ได้มาพบกับกลุ่มสามารถ ซึ่งได้รับสัมปทานวีแซทมาจากรมไปรษณีย์โทรเลขมาหมาด
ๆ เป็นรายแรก ของไทย และกำลังต้องการหาพันธมิตรจากต่างชาติมาสนับสนุนในเรื่องของความรู้เทคโนโลยี
ในเวลานั้น เจริญรัฐ วิไลลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร พี่ชายของธวัชชัย
ซึ่งร่ำเรียนทางด้านวิศวกรรมที่ออสเตรเลียจบกลับมา คุ้นเคยกับชื่อเสียงของเทลสตาร์มาเป็นอย่างดี
ไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำธุรกิจร่วมกัน โดยกลุ่มสามารถได้ชักชวนฉัตรชัย บุนนาค
ซึ่งในเวลานั้นเป็นผู้บริหารของกลุ่มเซ็นทรัล มานั่งเป็นกรรมการผู้จัดการของสามารถเทลคอมในปีถัดมา
แม้ว่าจะมีคู่แข่งเกิดขึ้นมาในตลาดอีก 3 ราย คือคอมพิวเนท อคิวเมนท์ แะลไทยสกายคอม
และบริการวีแซท ยังคงนิยมใช้อยู่ในวงจำกัดไม่กี่กลุ่ม แต่สามารถเทลคอมยังเป้นรายใหญ่ที่ครอบครองส่วนแบ่งตลาดของธุรกิจวีแซทมาโดยตลอด
สถาบันการเงินต่าง ๆ ทั้งะนาคารและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ล้วนแล้วแต่เป็นลูกค้าของสามารถเทลคอมแทบทั้งสิ้น
จนกระทั่งฉัตรชัย บุนนาค พร้อมทั้งทีมงานบางสาวนของสามารถ เทลคอม ได้ยื่นใบลาออกไปร่วมงานกับบริษัทสยามทีวี
แอทนด์ แมเนจแม้นท์ ของสำนักงานทรัพย์สินฯ ซึ่งกำลังขยับเข้าสู่ธุรกิจด้านสื่อ
และโทรคมนาคมอย่างเต็มที
เป็นที่รู้กันดีว่า ฉัตรชัยมีส่วนอย่างมากในการบุกเบิกธุรกิจวีแซทของสามารถเทลคอม
โดยฉัตรชัยจะต้องทำหน้าที่ผู้บริหาร ที่เป็นตัวกลางระหว่างตรระกูลกลุ่ม และเทลสตาร์
ทำให้ฉัตรชัยมีความสนิทชิดเชื้อกับเทลสตาร์ค่อนข้างมาก
การขายหุ้นสามารถเทลคอมทิ้ง จึงถูกพุ่งเป้าไปในเรื่องที่เทลสตาร์ต้องการจะหันร่วมธุรกิจกับสยามแซทเทิลไลท์
เน็ทเวิร์ค จำกัด หรือชื่อเดิม ไทยสกายคอม เจ้าของสัมปทานวีแซทที่ตกมาอยู่ในมือสยามทีวีแอนด์
คอมมิวนิเคชั่น ซึ่งปัจจุบันมีอดีตเจ้าหน้าที่ของสยามเทลคอม นั่งบริหารงานอยุ่หลายคน
รวมทั้งอดีตผู้บริหารระดับสูงของเทลสตาร์ เพราะคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว โดยสยามแซทฯ
ได้มีการปรับปรุงทั้งการบริหาร และบริการ ด้วยราคาค่าบริการตัดลงมาให้ถูกว่าคู่แข่ง
ทำให้ลูกค้าในเครือเองและภายนอกหันมาใช้บริการเพิ่มขึ้นหลายราย
แหล่งข่าวในบริษัทยอมรับว่า เทลสตาร์ มาเจรจาด้วยจริง และหากจะร่วมมือกันจริงก็คงไม่ใช่ในเร็ววันนี้
คงต้องรอเวลาอีกระยะหนึ่ง เพราะมารยาททางธุรกิจ ในเวลาเดียวกัน สยามแซทฯ
ได้ไปเจรจาที่จะร่วมมือกับยักษ์โทรคมนาคมในสหรัฐอเมริกาไว้ก่อนหน้าแล้ว
ในอีกทางหนึ่ง การขายหุ้นของเทลสตาร์ เนื่องจากการแปรรูปจากรัฐวิสาหกิจเป็นเอกชน
ทำให้เทลสตาร์ได้ปรับเเปลี่ยนนโยบายใหม่ โดยยกเลิกนโยบายการร่วมทุนกับเอกชนท้องถิ่นภายนอก
หันไปมุ่งเน้นในเรื่องของการขายโนว์ฮาว หรือเทคโนโลยีแทน
แต่จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ในวันนี้เทลสตาร์ได้ปิดฉากการลงทุนร่วมกับกลุ่มสามารถที่มีมายาวนานถึง
7 ปี ลงแล้ว แต่สำหรับธุรกิจวีแซทนั้นคงจะต้องรอดูกันต่อไปว่า เทลสตาร์จะหันหลังให้เช่นเดียวกันหรือไม่