|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินการประชุมกนง.ในวันที่ 17 ก.ค.นี้มีความเป็นไปได้สูงที่จะคงดอกเบี้ยอาร์พี 14 วันไว้ที่ 5.00% แต่ก็ยังมีโอกาสจะต้องหยิบนโยบายดอกเบี้ยมาใช้อีกหากเจอวิกฤติจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นรอบใหม่หลังเกิดเหตุการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง แนะจับตาแถลงการณ์หลังประชุมกนง.เพื่อดูจุดยืน/สัญญาณจากธปท.อย่างใกล้ชิด
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ของธนาคารแห่งประเทศไทยในวันที่ 19 กรกฏาคมที่จะถึงนี้ ว่า ธปท.มีความโน้มเอียงที่จะให้คงอัตราดอกเบี้ยตลาดวื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วันไว้ที่ระดับ 5%ตามเดิม หลังจากธปท.ประเมินว่าหากไม่มีเหตุการณ์ที่นอกเหนือไปจากความคาดหมาย โดยเฉพาะการเร่งตัวอย่างต่อเนื่องของอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเมื่อพิจารณาข้อมูลอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ปรับตัวลงมาแล้วในเดือนมิถุนายน และมีแนวโน้มว่าจะขยับลงต่ออีกในเดือนกรกฎาคม ประกอบกับ เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังคงขยายตัวได้ดีแม้จะต้องเผชิญกับปัจจัยลบนานับประการ อัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วันที่ 5.00% น่าจะเป็นระดับที่เหมาะสมต่อการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอันจะเอื้อต่อการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม ธปท.ก็คงจะรอดูสถานการณ์ความคืบหน้าของเหตุการณ์ในตะวันออกกลางต่อไปอีกระยะหนึ่งก่อน ภายหลังเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮิชบอลลาห์ในเลบานอนเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งยังคงมีความไม่แน่นอนสูงว่าเหตุการณ์จะบานปลายหรือลุกลามไปถึงประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคดังกล่าวโดยเฉพาะอิหร่านที่กำลังอยู่ระหว่างการต่อรองกรณีโครงการอาวุธนิวเคลียร์กับสหรัฐฯ ด้วยหรือไม่ และจะลงเอยได้เมื่อใด ทำให้คาดว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกจึงอาจมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนไหวในลักษณะผันผวนต่อไป ซึ่งก็คงจะมีผลกระทบตามมาที่ราคาสินค้าทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ขณะที่ตลาดก็คงจะจับตาแถลงการณ์ที่อาจจะแสดงถึงจุดยืนหรือสัญญาณใหม่จากธปท.เกี่ยวกับประเด็นหลักๆ 2 ประการ ได้แก่ กรณีหากราคาน้ำมันยังคงยืนระดับสูงต่อเนื่องจนส่งผลกระทบต่อประมาณการอัตราเงินเฟ้อ โดยทำให้อัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งหลังของปี 2549 ไม่ลดต่ำลงมากอย่างที่ธปท.เคยคาดไว้แล้ว ธปท.จะเห็นว่าภาวะเงินเฟ้อดังกล่าวยังคงเป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจหรือไม่ และกรณีธปท.จะยังคงดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยโดยให้น้ำหนักกับการรักษาเสถียรภาพทางด้านเงินเฟ้อเป็นหลักดังเช่นที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่เศรษฐกิจกำลังประสบกับภาวะชะลอตัวลง
ทั้งนี้ จุดยืนของธปท.เกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ คาดว่าจะมีนัยสำคัญสำหรับตลาดในการคาดการณ์ถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทยในระยะข้างหน้าอย่างแน่นอน
สำหรับปัจจัยแวดล้อมประกอบการคาดการณ์การคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมของธปท.ในการประชุมวันที่ 19 กรกฎาคม นั้นมาจาก ความคาดหมายว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยได้ผ่านระดับสูงสุด (peak) มาแล้ว หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปได้ขยับลดลงจาก 6.2% ในเดือนพฤษภาคม มาที่ 5.9% ในเดือนมิถุนายน ทำให้คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี 2549 โดยภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยทั้งปีไม่เกิน 70 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจมีค่าเฉลี่ยที่ 4.0% ในช่วงครึ่งหลังของปี 2549 เทียบกับค่าเฉลี่ยที่ 5.9% ในช่วงครึ่งปีแรก อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจยังมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่องในปี 2550 มามีค่าเฉลี่ยที่ประมาณ 2.8-3.3% อันเป็นผลจากการขยายตัวของราคาน้ำมันในปี 2550 ที่คาดว่าจะมีอัตราที่ลดน้อยถอยลงเมื่อเทียบกับปี 2549
กระนั้นก็ดี ธปท.คงจะมีการติดตามสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศซึ่งจะมีผลต่อราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด โดยหากราคาน้ำมันตลาดโลกยืนอยู่ที่ระดับสูงต่อเนื่องจนมีผลกระทบตามมาที่ราคาน้ำมันในประเทศและการเพิ่มขึ้นรอบสองของราคาสินค้าทั่วไป ตลอดจนประมาณการอัตราเงินเฟ้อของธปท.แล้ว ก็มีความเป็นไปได้ที่ธปท.อาจจะกลับมาทบทวนปรับใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยเข้มงวดได้อีกครั้งในระยะข้างหน้าเช่นกัน
รวมถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2549 ต่อเนื่องถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2550 จากการลงทุนที่ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด และบรรยากาศกิจกรรมทางเศรษฐกิจซึ่งยังคงถูกปกคลุมด้วยปัจจัยลบนานับประการ และแนวโน้มการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงของเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ทำให้เศรษฐกิจไทยอาจจะขยายตัวในอัตราที่ถดถอยลงมาที่ประมาณ 3.0-3.5% ในช่วงครึ่งหลังของปี 2549 และ 3.0-4.0% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2550 เทียบกับที่คาดว่าจะขยายตัว 5.0-5.5% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2549
นอกจากนี้ เชื่อว่าผลกระทบที่น่าจะมีจำกัดหากธนาคารกลางสหรัฐฯปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก แม้ค่าผลต่างอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯและไทยที่อาจจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากการที่ธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางญี่ปุ่นเพิ่งจะเริ่มวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และความคาดหวังว่าจีนจะมีการปรับเพิ่มความยืดหยุ่นของระบบอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อสกัดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ ตลอดจนปัญหาโครงสร้างพื้นฐานจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมากของสหรัฐฯ น่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนให้สกุลเงินในภูมิภาคมีแนวโน้มปรับแข็งค่าขึ้น และทำให้มีความเป็นไปได้น้อยลงที่เงินทุนสุทธิจะเคลื่อนย้ายออกนอกประเทศอย่างฉับพลัน
|
|
|
|
|