ถิรไทย เตรียมปรับเป้ารายได้ปีนี้จากเดิมที่ตั้งไว้ 1,300-1,400 ล้านบาท เนื่องจากออร์เดอร์งานเพิ่ม เผยครึ่งปีหลังจะรับรู้ประมาณ 1 พันล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 2 คาดมีรายได้ 400 ล้านบาท พร้อมพลิกจากขาดทุนไตรมาสแรกเป็นมีกำไร เตรียมลุยงานในศรีลังกาและอินเดียเพิ่มช่องทางการจำหน่าย แจงค่าเงินไม่ส่งผลเเพราะทำเฮจจิ้งลดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน
นายสัมพันธ์ วงษ์ปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ถิรไทย จำกัด(มหาชน)(TRT) เปิดเผยว่าบริษัทจะมีการปรับเป้ารายได้เพิ่มจากเป้าเดิมที่ตั้งไว้ 1,300-1,400 พันล้านบาท โดยบริษัทมีสัญญาจากการซื้อหม้อแปลงการไฟฟ้าระบบจำหน่ายของการไฟฟ้านครหลวง 280 เครื่อง มูลค่า 125.30 ล้านบาท ในการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าจำหน่าย นอกจากนี้ TRT ยังจะเข้าไปรับงานในเวียดนามมูลค่า 108 ล้านบาท ซึ่งการรับรู้จากงานนี้จะรับรู้ทั้งหมดในปีนี้ รวมทั้งยังมีออร์เดอร์สั่งซื้อหม้อแปลงไฟฟ้าจากเวียดนามเพิ่มอีก
พร้อมทั้งมีการสั่งซื้อหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังของ กฟน. ซึ่งการรับงานดังกล่าว จะทยอยรับรู้รายได้ทั้งหมดในปีนี้ โดย TRT รับรู้รายได้จากงานที่มีในมือ (BACK LOG) ในช่วงครึ่งปีหลังประมาณ 1 พันล้านบาท หลังจากที่รับรู้ไปแล้ว 600 ล้านบาท ของงานในมือที่มีอยู่ 1,600 ล้านบาท
"ขณะนี้อยู่ในระหว่างการเตรียมประชุมคณะกรรมการบริษัท ซึ่งจะมีขึ้นต้นเดือนสิงหาคมนี้ว่าจะเป้าหมายจะเพิ่มเป็นเท่าใด และสาเหตุที่ปรับเป้ารายได้เ นื่องจากบริษัทจะมีการรับใหม่เพิ่มขึ้นมา จากการไฟฟ้านคร (กฟน.) ในเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งมีมูลค่า 700-800 ล้านบาท และจะสามารถสรุปผลได้ภายในสองเดือนนี้ หลังจากที่ได้รับงานดังกล่าวมาแล้ว " นายสัมพันธ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้ที่ผ่านมาต้นทุนวัตถุดิบคือทองแดงและเหล็กตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันจะเพิ่มขึ้น 60% แต่บริษัทไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากบริษัทได้ปรับราคาขายเพิ่มตามราคาต้นทุนที่เพิ่มขึ้นผลักภาระให้ลูกค้า
นายสัมพันธ์กล่าวเพิ่มว่า บริษัทคาดว่าจะมีรายได้ในไตรมาส 2 ประมาณ 400 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าไตรมาสแรกที่มีรายได้ประมาณ 300 ล้านบาท อันเป็นผลจากการรับออร์เดอร์หม้อแปลงไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น และบริษัทเชื่อว่าไตรมาส 2 บริษัทจะสามารถพลิกจากไตรมาสแรกที่ขาดทุนเป็นมีกำไรในไตรมาสสองนี้ได้ 0.97 ล้านบาท
นายสัมพันธ์ยังคาดว่าหลังจากนี้ บริษัทมุ่งที่จะเข้าไปเจาะตลาดในอินเดียกับศรีลังกาเพิ่ม โดยการส่งหม้อแปลงไปยังอินเดียและศรีลังกา จากปัจจุบันที่ส่งออกเวียดนามเป็นหลัก อีกทั้งบริษัทยังอยู่ระหว่างเตรียมการผลิตหม้อแปลงขนาดใหญ่ (STEPUP TRANSSFORMAER) ในปี 50 ซึ่งจะทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 300 เมกะโวลต์แอมแปร์ (MVA) จากปัจจุบันที่หม้อแปลงไฟฟ้าผลิตได้ 200 MVA ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทสามารถผลิตสินค้าที่หลากหลายมากขึ้นรวมทั้งการขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ
โดยเฉพาะประเทศอินเดียที่กำลังเตรียมปรับปรุงระบบไฟฟ้าของตัวเอง เพื่อรองรับอัตราการเติบโตของจีดีพี ส่งผลให้มีความต้องการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งขณะนี้ยังบอกตัวเลขไม่ได้เพราะต้องขึ้นอยู่กับออร์เดอร์ที่สั่งเข้ามา
ปัจจุบัน อินเดียมีประชาชนที่มีฐานะในระดับกลางและบนเพิ่มขึ้น ทำให้มีความต้องการเพิ่มขึ้น และคาดว่านโยบายของอินเดียที่จะใช้ระบบสาธารณูปโภคภายนอกประเทศเพิ่มขึ้น และเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจากก่อหน้าที่ใช้ของภายในประเทศเท่านั้น จะส่งผลให้สัดส่วนรายได้จากต่างประเทศของบริษัทเปลี่ยนจาก 30% เป็น 35-40 % จากการเข้าไปลุยตลาดอินเดีย ในขณะที่รายได้จากในประเทศจะลดลงเหลือประมาณ 60 % การรับรู้รายได้อยู่ที่การสั่งซื้อสินค้าของลูกจค้าเข้ามา
โดย TRT ยืนยันว่าบริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนเพราะบริษัทได้มีการเฮดจิ้ง เพื่อลดรวามเสี่ยงจากค่าเงินที่ผันผวนระหว่างสินค้าส่งออกและนำเข้า ขณะที่ความต้องการในการใช้ไฟฟ้าปัจจุบันเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในประเทศไทยซึ่งมีความต้องการใช้ไฟฟ้าจำนวนมากถึง 1,400-1,500 เมกะวัตต์ ก็จะส่งผลดีต่อบริษัทในการผลิตไปด้วย
บริษัทเตรียมแผนในการประมูลงานเพิ่มเพื่อรองรับออเดอร์ในปีหน้า โดยเฉพาะโครงการของการไฟฟ้านครหลวงในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ปี 50 มูลค่าประมาณ 1,400 ล้านบาท ขณะที่เรื่องผลกระทบการเมือง ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว และในระยะสั้น คาดว่ากลุ่มปิโตรเคมีและส่งออกจะไม่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ บริษัทจึงจะเจาะตลาดดังกล่าวเพิ่ม
|