ออมสินตอกหน้ารัฐบาล" ทักษิณ ชินวัตร " ชี้ชัดนโยบายรากหญ้าไม่อุ้มคนจน ช็อก!!ทิ้งภาระปล่อยสินเชื่อรายย่อยบ้านเอื้ออาทรแบบยกล็อต 5.9 แสนยูนิตให้ธอส.รับเต็มๆ ด้านธอส.หน้ามืดควานหาเงินปล่อยกู้สิ้นสุดโครงการถึง 2.28 แสนล้านบาท จับตาผู้รับเหมารายย่อย 20 รายเริ่มประสบปัญหา อาจชี้ช่องเปิดทางผู้รับเหมารายใหญ่คว้าปลามัน
วานนี้(17ก.ค. 49) นางชวนพิศ ฉายเหมือนวงศ์ ผู้ว่าการ การเคหะแห่งชาติ (กคช.)และ นายขรรค์ ประจวบเหมาะกรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.)ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงการให้สินเชื่อแก่ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในโครงการบ้านเอื้ออาทร โดยมี นายวัฒนา เมืองสุข รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม) เป็นประธานในพิธี
นางชวนพิศ ฉายเหมือนวงศ์ ผู้ว่ากคช. เปิดเผยภายหลังการลงนามร่วมกับทางผู้บริหารของธอส.ว่า เพื่อสนับสนุนสินเชื่อให้แก่ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในโครงการบ้านเอื้ออาทร โดยธอส.จะรับปล่อยสินเชื่อรายย่อยให้แก่ลูกค้าเอื้ออาทรของกคช.ทั้งหมด 5.9 แสนยูนิตจากจำนวนยูนิตที่กคช.ก่อสร้างทั้งสิ้น 6 แสนยูนิต ซึ่งจากเดิมการปล่อยกู้ดังกล่าวธอส.และธนาคารออมสินจะร่วมกันปล่อยกู้
แต่เนื่องจากขั้นตอนการปล่อยกู้ของออมสินมีความล่าช้า ประกอบกับออมสินไม่มีความชำนาญในเรื่องการปล่อยกู้ลูกค้าจำนวนมากๆ ทำให้ธนาคารออมสินไม่ยอมปล่อยกู้เพิ่มหลังจากที่รับปล่อยกู้ไปแล้ว 10,000 ยูนิต แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่คืบหน้า แม้ว่ากคช.จะมีการทยอยส่งมอบบ้านเอื้ออาทรให้ลูกค้าไปแล้ว 40,000 ยูนิต ทำให้ธอส.ต้องรับปล่อยกู้ 30,000 ยูนิต และคาดว่าในปีงบประมาณ 2550 จะส่งมอบบ้านให้กับลูกค้าได้ 60,000-80,000 หน่วย
"ตามแผนที่วางไว้เบื้องต้น บัญชีลูกหนี้ดังกล่าวธอส.จะนำมาแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ หรือ ซิเคียวริไทเซชั่น ด้วยการนำไปขายให้กับบรรษัทตลาดรองสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) ซึ่งคงมีการกำหนดเงื่อนไขหรือรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง" นางชวนพิศกล่าว
นอกจากนี้ ธอส.ยังรับปล่อยสินเชื่อสำหรับกคช.เพื่อรับซื้อบ้านเอื้ออาทรคืนจากธอส. ด้วย หากลูกค้าเกิดปัญหาการขาดผ่อนชำระเกิน 3 งวด โดยปัจจุบันกคช.รับซื้อคืนแล้วจำนวน 151 ราย วงเงินกู้รายละ 390,000 บาท หรือประมาณ 59 ล้านบาท และรับซื้อคืนจากออมสินอีก 80 รายหรือประมาณ 32 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในการลงนามดังกล่าว กคช. มีหน้าที่ดำเนินการตามข้อตกลง อาทิ ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้กู้ตามหลักเกณฑ์ของการกคช. และแจ้งให้ธอส.รับทราบเป็นหนังสือ เพื่อดำเนินการให้สินเชื่อต่อไป รวมทั้งค้ำประกันหนี้ของผู้กู้ตลอดจนรับซื้อคืนลูกหนี้ที่มีปัญหาตามหลักเกณฑ์เงื่อนไข เช่น ลูกค้าค้างชำระค่างวดติดต่อกัน 3 เดือน เป็นต้น
แหล่งข่าวรายหนึ่ง กล่าวยอมรับว่า ในช่วงที่ผ่านมา การที่รัฐบาลพยายามผลักดันให้ออมสินเข้ามาดูแลโครงการบ้านเอื้ออาทร ส่วนหนึ่งต้องการดึงเงินธนาคารออมสิน เข้ามาสนับสนุนโครงการของรัฐบาลที่ได้ประกาศหาเสียงไว้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากสภาพคล่องของธนาคารมีจำนวนมาก
" หากย้อนประวัติศาสตร์ไปดู ธนาคารออมสินถูกจัดตั้งขึ้นไม่ได้มุ่งเชิงพาณิชย์เต็มที่ และด้วยองค์กรที่ยังต้องมีการปรับเปลี่ยนอีกมาก ขณะที่นโยบายของรัฐบาลที่ประเคนมา ไม่ว่าการดูแลกองทุนหมู่บ้าน การปล่อยกู้บ้านเอื้ออาทร ล้วนแล้วแต่เริ่มส่งปัญหาให้แก่ธนาคาร โดยเฉพาะการเข้มงวดลูกค้าที่จะมากู้ซื้อบ้านเอื้ออาทร การอนุมัติที่ล่าช้า ขณะที่ขาดการเผยแพร่ข้อมูลให้แก่คนซื้อบ้านเอื้ออาทรอย่างชัดเจน จนส่งผลให้ประชาชนต้องผิดหวังไปจำนวนมาก และซ้ำร้ายการผลักภาระทั้งหมดให้แก่ธอส.เปรียบเสมือนการเปลี่ยนแนวที่จะส่งเสริมให้ผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่ของตนเอง ต้องก้าวไปสู่ระบบของธุรกิจเชิงพาณิชย์มากขึ้น ถามว่า ธอส.จะกัดฟันคิดดอกเบี้ยแบบพิเศษไปได้นานแค่ไหน สุดท้ายแล้วก็ต้องวกไปสู่วงจรอุบาทว์เหมือนเดิม"แหล่งข่าวกล่าว
**ร่วมถกปัญหาผู้รับเหมา
ส่วนนายสรวุฒิ ตังกาพล รองผู้ว่าการ กคช. กล่าวว่า กรณีที่โครงการบ้านเอื้ออาทรที่มีปัญหาด้านการก่อสร้างที่ล่าช้านั้น มีประมาณ 10 % จำนวนหน่วยทั้งหมด ซึ่งกคช.จะหามาตรการในการเข้าไปช่วยเหลือผู้รับเหมา เช่น ร่วมเจรจากับแบงก์ ยืดระยะเวลาในการก่อสร้างให้กับผู้รับเหมารวมทั้งสิ้นประมาณ 20 ราย และส่วนใหญ่เป็นผู้รับเหมารายย่อย นอกจากนี้ยังมีปัญหาในด้านการเงินของผู้รับเหมาอีกด้วย โดยกคช.จะได้นำแนวทางการช่วยประคับประคองผู้รับเหมาให้สามารถสร้างโครงการจนแล้วเสร็จ ไปร่วมหารือกับนายวัฒนา เมืองสุขในวันนี้ (18 ส.ค.49)
นอกจากนี้กคช.ได้มีการยกเลิกสัญญาการก่อสร้างเอื้ออาทรกับผู้รับเหมาไป 1 ราย จำนวน 1,000 ยูนิต คือ บริษัทธนสิทธิ์ ที่รับเหมาสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทรที่จังหวัดเชียงใหม่ และบริษัทถิรสิทธิ์ ซึ่งรับเหมาบ้านเอื้ออาทร จ.ชลบุรี โดยทั้ง 2 บริษัทนั้นเป็นเจ้าของเดียวกัน ซึ่งกคช. อยู่ระหว่างหาผู้รับเหมารายใหม่เข้ามาดำเนินการต่อ ในปัจจุบันมียูนิตที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างประมาณ 200,000 ยูนิตและมีการส่งมอบไปแล้วประมาณ 40,000 ยูนิต
สำหรับปัญหาการเบิกจ่ายวงเงินงบประมาณในการก่อสร้างบ้านเอื้ออาทรในปี งบประมาณ 2550 กคช.คาดว่าจะใช้เงินอุดหนุนจากภาครัฐบาลเพิ่มจากปีงบประมาณ 2549 กว่า3,223 ล้านบาท หรือประมาณ 13,000 ล้านบาท ซึ่งคงต้องรอรัฐบาลใหม่อนุมัติวงเงินดังกล่าว เนื่องจากวงเงินที่จะใช้นั้นมากกว่าปี 2549 ที่ได้ 9,775 ล้านบาท
นายขรรค์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาธอส.ให้สินเชื่อกู้ซื้อบ้านแก่ลูกค้าบ้านเอื้ออาทร ในระยะ 1 และ 2 แล้ว 8,000 ล้านบาทและ 4,000 กว่าล้านบาท(ตามลำดับ) ขณะที่ ระยะ3 ที่มีการลงนามกันในครั้งนี้ไปจนถึงการสิ้นสุดโครงการรวมมูลค่า 2.28 แสนล้านบาทนั้น ธอส.พร้อมปล่อยกู้ภายภายใต้กรอบให้สินเชื่อที่คณะกรรมการของธนาคารกำหนด
สำหรับคุณสมบัติของผู้กู้ต้องเป็นผู้ได้สิทธิในโครงการบ้านเอื้ออาทร มีระยะเวลาชำระเงินกู้ไม่เกิน 30 ปี นับแต่วันทำสัญญากู้เงิน ซึ่งเมื่อรวมอายุผู้กู้กับระยะเวลาชำระเงินกู้ต้องไม่เกิน 65 ปี โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยปีที่ 1 คงที่ ร้อยละ 5.5 ต่อปี ปีที่ 2 อัตราดอกเบี้ยคงที่ ร้อยละ 6 ต่อปี ปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ย คงที่ ร้อยละ 6.5 ต่อปี และปีต่อๆ ไป อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MLR) - 0.5 ต่อปี ซึ่งอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว จะใช้สำหรับผู้กู้ที่ยื่นคำขอกู้ภายในวันที่ 30 กันยายน 2549 นี้เท่านั้น
ส่วนอัตราการผ่อนชำระรายเดือนได้ปรับขึ้นจาก 1,500-1,600 บาทต่อเดือน เป็น 1,800 บาทต่อเดือน และยังยืนราคาดังกล่าวไปจนถึงสิ้นปี ส่วนปี2550คาดว่าจะปรับขึ้นอีกเล็กน้อย และธอส.ยังได้ให้ลูกค้าที่จองได้เปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคาร 500 บาทต่อเดือนจบครบ 18 เดือนหรือตามระยะเวลาการก่อสร้างแต่ละโครงการ ทั้งนี้เพื่อป้องกันความเสี่ยงการส่งค่างวดในอนาคต ซึ่งดำเนินการมา 5-6 เดือนแล้ว
|