Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายสัปดาห์17 กรกฎาคม 2549
5 ธุรกิจแกร่งฝ่าด่านอรหันต์ ใครว่าน้ำน้อยต้องแพ้ไฟ             
 


   
www resources

โฮมเพจ สยามพารากอน
โฮมเพจ โรงพยาบาลกรุงเทพ
โฮมเพจ บ้านปู

   
search resources

บ้านปู, บมจ.
สยามพารากอน ดิเวลลอปเม้นท์, บจก.
ครีเอทีฟ จูซ จีวัน
โรงพยาบาลกรุงเทพ
ทายาท ศรีปลั่ง




- เปิดเส้นทาง 5 ธุรกิจอยู่แบบไทยไปแบบอินเตอร์ ความสำเร็จบนที่สุดแห่งบริหารจัดการ
- ผลึกวิธีคิดแบบ "สยาม พารากอน-ครีเอทีฟ จู๊ซ\จีวัน-เคทีซี-รพ.กรุงเทพ-บ้านปู" ผลักชัยชนะไม่ไกลเกินเอื้อม
- ความเหมือนบนความต่างแต่ละธุรกิจ พลิกกลยุทธ์บนความถนัดที่มีแล้วไปเชื่อมต่อกับโลภาภิวัตน์
- เพราะโลกนี้เป็นหนึ่งเดียว รูปแบบการใช้ชีวิตบนสังคม Wi-Fi ทุกอย่างต้องขับเคลื่อนไปข้างหน้า วิ่งผ่านทุกอะตอมความคิด

ว่ากันว่าความสำเร็จในการทำธุรกิจมาได้หลายทาง บางเส้นทางมาเพราะเก็งดอกผลถูกจังหวะ ถูกเวลา บางเส้นทางมาเพราะถูกวางรากฐานมาดิบดีในคนรุ่นก่อนหน้า บางเส้นทางมาเพราะทุนหนาพอจะไปต่อยอดอะไรก็ดูจะสำเร็จ

แต่ทว่าท่ามกลางความสำเร็จที่มาได้ทั้งฟลุ๊คและไม่ฟลุ๊ค สิ่งเดียวที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนแบบตลอดรอดฝั่งคือ ความสำเร็จที่มาจากการบริหารจัดการ

5 กรณีศึกษาจากต่างอุตสาหกรรม เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนที่หยิบยกมาพอให้เห็นภาพแห่งความสำเร็จของการจัดการในแบบฉบับ local company ธุรกิจคนไทยที่ผสมผสานหลักคิดแบบไทยและเทศ ผลักออกมาเป็นโมเดลแข็งแกร่ง พร้อมจะเปิดเกมรุกและตั้งเกมรับต่างชาติได้ตลอดเวลา

สยาม พารากอน การตกผลึกศาสตร์แห่งค้าปลีก

สยาม พารากอน เป็นที่สุดของการตกผลึกในศาสตร์การจัดการค้าปลีกของกลุ่มเดอะมอลล์กับกลุ่มสยามเซ็นเตอร์ ด้วยสถานภาพศูนย์การค้าระดับโลก กับเป้าหมายสุดยอดแห่งไลฟ์สไตล์

กว่าจะมาเป็น The Pride of Bangkok ที่ตั้งตระหง่านทุกวันนี้ ต้องผ่านกระบวนการคิด กระบวนการเรียนรู้ ลองผิดลองถูกร่วมหลายทศวรรษ ในขณะที่เดอะมอลล์ ช้อปปิ้ง เซ็นเตอร์ เป็นศูนย์การค้าในยุคที่การตลาด 4P เบ่งบาน สยาม พารากอน กำลังคืบคลานเข้าสู่ยุค segmentation marketing เต็มสปีด

เกรียงศักดิ์ ตันติพิภพ Chief Marketing Officer บริษัท สยาม พารากอน ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด วิเคราะห์ว่า ธุรกิจค้าปลีกในกลุ่มไฮเอนด์ ช้อปปิ้งมอลล์ ถือเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับเมืองไทย ขณะที่ต่างชาติไปกันถึงไหนต่อไหน ภาพลักษณ์ความเป็นสินค้าหรูหราในไทยเพิ่งมาบูมช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเท่านั้นเอง

ฉะนั้นการขึ้นไปทัชดาวน์ธุรกิจที่ต้องอาศัยแนวคิดสลับซับซ้อน ตัวผู้บริหารระดับสูงเองจะต้องเข้าใจบทบาทของตัวเองว่ากำลังทำอะไรอยู่? ทิศทางที่จะก้าวเดินไปเป็นอย่างไร? "เราต้องเป็นแกนที่จะสร้างทุกอย่างให้เกิดขึ้นทุกวิถีทาง"

เมื่อสยาม พารากอนวางคอนเซ็ปต์เป็นศูนย์รวมการช้อปปิ้งระดับโลกในประเทศไทย ภาพรวมทุกอย่างก็จะต้องเป็นเวิล์ดคลาสจริงๆ เอาแบรนด์เนมจริงๆ ใส่เข้าไป ผู้บริหารเองก็ต้องเข้าใจจริงๆ ว่าเวิร์ลคลาสคืออะไร? ต้องเรียนรู้ เข้าใจ ปฏิบัติ และฝึกฝน "ทุกอย่างต้องพัฒนา ไม่ใช่ทุกคนจะเรียนรู้ในเร็ววัน"

สยาม พารากอนเป็นการยกระดับมาตรฐานการจัดการค้าปลีกในกลุ่มศูนย์การค้าโดยทีมผู้บริหารคนไทย แนวทางที่เดินไปข้างหน้าคือ ยึดหลักความเป็นสากล ธรรมชาติของไลฟ์สไตล์ที่ดูเหมือนๆ กันทั่วโลก ไม่ต่างอะไรกับการดูหนังฮอลลีวู๊ดที่ไปฉายซีกไหนของโลก คนจะดูเข้าใจ ส่วนเรื่องชอบไม่ชอบ ได้กระตังค์หรือไม่ได้กระตังค์เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

"ทั่วโลกถือเป็นรูปแบบบริหารธุรกิจที่เหมือนกัน สินค้าแตกต่างแต่คนคือมนุษย์ที่เหมือนกัน เป็นกรณีศึกษาที่มีน้อย ความยากคือแนวคิดต้องทะลุชัดเจนว่าเราจะไปตรงไหน?"

สยาม พารากอน วาง corporate concept หรือจุดยืนทางธุรกิจว่าเป็น world class shopping destination แล้วมองหาว่าระดับโลกเขาทำกันอย่างไร? จากนั้นก็แตกแนวคิดทุกอย่างไล่ออกมาตั้งแต่หัวจรดเท้า "พอเราวางคอนเซ็ปต์ได้เราก็ทำทุกสิ่งทุกอย่างให้ไปในจุดนั้น พอวางหัวใจได้ร่างกายทั้งหมดก็ต้องเดินไปในทิศทางเดียวกัน" เป็นศูนย์การค้าระดับบนที่พูดถึงการกิน การอยู่ การใช้ชีวิต ระเรื่อยไปถึงความชอบและไม่ชอบอะไร?

กระแสโลกาภิวัตน์มองในมุมหนึ่งก็คือการคุกคามเข้ามาของสิ่งที่ดีกว่า เหนือกว่า อำนาจที่มากกว่า ทุนที่ล้นหน้าตักมากกว่า ตัวอย่างเห็นได้ชัดเช่น มือถือจอขาวดำกำลังเป็นอดีตของวันวาน การค้าเสรีทำให้ไทยเราต้องถอยหลังพิงกำแพง การเข้าซื้อกิจการของต่างชาติในอุตสาหกรรมที่เป็นเส้นเลือดหลักของประเทศ

ในอีกมุมหนึ่งกระแสโลกาภิวัตน์คือ การปรับวิธีคิดเพื่อก้าวไปยืนในจุดที่ดีกว่า มีขีดความสามารถที่จะรับมือคู่แข่งขันได้เต็มไม้เต็มมือมากกว่า

เกรียงศักดิ์อธิบายว่า ปัจจุบันตลาดอเมริกามีแบรนด์ดังกระจุกตัวอยู่มากมาย ทุกคนต่างก็มีตลาดของตัวเอง เหตุที่แบรนด์อยู่ได้เพราะประชากรโลกมีเป็นพันๆ ล้านๆ คน บางที่ขายได้บางที่ขายไม่ได้ วิธีคิดก็คือต้องหาที่ที่ขายได้และอยู่รอด

สินค้าบางอย่างในบางประเทศขายได้ แต่บางประเทศขายไม่ได้ สินค้าบางอย่างในประเทศหนึ่งเชย แต่กลับไปทันสมัยอีกประเทศหนึ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นเพราะโลกาภิวัตน์

ความเป็นสยาม พารากอนคือ การเลือกอยู่ตลาดบน ก่อร่างสร้างตัวให้เป็นศูนย์กลางการจับจ่าย เปิดทางเลือกกว้างๆ ราวกับถนน 8 เลน คนอยากไปไหน? อยากทำอะไร? เปิดทางไว้ให้มีอิสระทุกอย่าง มีสไตล์การซื้อไม่ซ้ำแบบกัน

ทุกวันนี้สยาม พารากอนประสบความสำเร็จในการสร้างการรับรู้ในวงกว้างทั่วเอเชีย พอพูดถึงชื่อนี้ นักท่องเที่ยวหลายคนจะบอกว่าฉันเคยไปมาแล้ว และเป็นจุดแข็งอันหนึ่งของโนว์ฮาวการจัดการศูนย์การค้าที่อยู่ภายใต้การขับเคลื่อนขององค์กรไทยๆ

เกรียงศักดิ์ตั้งคำถามว่า "ทำไม? ศูนย์การค้าไฮเอนด์ถึงไม่เป็นต่างชาติทำ" คำตอบที่เขาเฉลยก็คือ "พยายามมา แต่มาไม่ได้" เพราะมีเรื่องของฝีไม้ลายมือ ประสบการณ์ความถนัดเฉพาะทางของธุรกิจในประเทศขวางลำอยู่

ต้องยอมรับว่าภาพรวมของอุตสาหกรรมค้าปลีกเมืองไทย วิธีคิดแบบไทยแต่ใช้การจัดการอินเตอร์สร้างสีสันให้กับวงการนี้อย่างมาก และถือเป็นไม่กี่ธุรกิจที่สู้ได้ ยืนหยัดได้ท่ามกลางมรสุมที่มาพร้อมกับคำว่าโลกาภิวัตน์

ครีเอทีฟ จู๊ซ\จีวัน ยุทธจักรของนักคิด

ธุรกิจโฆษณาเมืองไทยจัดเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะไปได้ไกลและไกลในเวทีโลก แต่ละปีมีผลงานโฆษณาทั้งฝั่งทีวีและสื่อสิ่งพิมพ์หลายชิ้นไปคว้ารางวัล อวดศักดาถึงต่างแดน หนึ่งในความสำเร็จที่ว่า "ครีเอทีฟ จู๊ซ\จีวัน" เป็นหนึ่งในปรากฏการณ์แห่งความสำเร็จ

ปีสองปีก่อนหน้า ครีเอทีฟ จูซ\จีวันเคยทำสถิติขึ้นไปรับรางวัลชุกที่สุดเป็นอันดับ 7 ของโลกครั้งแรกของเมืองไทย รวมถึงกวาดคะแนนนำสูงสุดของอุตสาหกรรมเอเยนซี่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กลายเป็นน้องใหม่พิมพ์นิยมที่แซงขาดสายพันธุ์อินเตอร์ไปหลุดลุ่ย สามารถถีบตัวเองขึ้นไปติดอันดับท็อปเท็นเอเยนซี่ในเวทีโลก

ภาพความสำเร็จของเอเยนซี่ลูกผสมไทยฝรั่งปีนี้ "วิทวัส ชัยปาณี" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ครีเอทีฟ จู๊ซ\จีวัน จำกัด กล่าวว่า แนวคิดการจัดการองค์กรไทยๆ ให้แข่งขันและรับมือกับต่างชาติได้ อย่างแรกจะต้องบริหารคนที่แตกต่างกันให้สามารถทำงานและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

"คนเก่งแต่ละคนมีวิธีคิดไม่เหมือนกัน มีสไตล์ที่ไม่เหมือนกัน ต้องเอาคนเก่งในหลายๆ มิติมารวมกันแล้วบริหารให้ได้ โดยไม่เปลี่ยนคนเหล่านี้ให้เป็นสไตล์เดียวกับผู้นำ แต่ต้องชูจุดเด่นความเก่งของแต่ละคนออกมา การเปลี่ยนคนเก่งให้เหมือนผู้นำจะทำให้เกิดเป็นองค์กรสไตล์เดียว ไม่เป็นผลดีต่อการแข่งขัน"

วิทวัสมองว่า หลายปีก่อนอุตสาหกรรมโฆษณาอยู่ภายใต้การนำของต่างชาติ เพราะแพ้กันที่เงินทุนและการจัดการเชิงระบบที่ต่างชาติแน่นหนามากกว่า แต่มาระยะหลังบทบาทของเอเยนซี่ไทยหรือลูกผสมมีมากขึ้น บางบริษัทก็พยายามพัฒนาเครื่องมือการจัดการที่เป็นของตัวเอง ถ้ามองในจุดยืนของครีเอทีฟ จู๊ซ\จีวัน สามารถผ่านอุปสรรคตรงนี้มาได้จากการคิดค้นเครื่องมือเป็นของตัวเอง โดยผสมผสานแนวคิดแบบไทยและเทศประยุกต์เข้าด้วยกัน

ลักษณะของ local company ในแวดวงเอเยนซี่ ที่จะประคองธุรกิจและหลีกเลี่ยงการถือครองของต่างชาติได้ ภารกิจแรกต้องขึ้นกับมุมมองผู้นำมีวิสัยทัศน์ มีความเข้าใจตลาด สามารถสร้างคนฝึกคนของตัวเอง เพราะธุรกิจจะไปรอดหรือไม่รอดต้องมาจากคนเก่ง อีกประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ระมัดระวังจุดเสี่ยงทางการเงิน ต้องวางระบบการจัดการหมุนเวียนเงินสดให้ดีๆ หลีกเลี่ยงปัญหาหนี้สินให้มากที่สุด หลายบริษัทที่ล้มไปก็เพราะให้ความสำคัญกับบริหารการเงินน้อยเกินไป

"คนไทยเราเก่งไม่แพ้ใคร การแข่งขันต่อสู้ในเวทีระดับโลก ต้องเร่งศึกษาตามโลกให้ทัน เวลาคิดรูปแบบการจัดการอย่ามองแค่งานครีเอทีฟอย่างเดียว แต่ต้องพัฒนาเครื่องมือการจัดการเอาไว้สู้กับต่างชาติ และก็ระมัดระวังเงินในกระเป๋าให้ดีด้วย"

เมื่อเร็วๆ นี้ครีเอทีฟ จู๊ซ\จีวันเพิ่งไปคว้ารางวัลใหญ่ "คานส์ไลอ้อน" จากเมืองคานส์ 3 รางวัลด้วยกัน ส่งผลรวมให้รางวัลจากการประกวดผลงานโฆษณาทั่วโลกของครีเอทีฟ จู๊ซ\จีวันในปีนี้ ติดอันดับ 1 ของเอเยนซี่มีผลงานยอดเยี่ยมประจำภูมิภาคเอเชีย โดยปัจจัยสู่ความสำเร็จ วิทวัสสรุปสั้นๆ ว่า มาจากการสะสมสมองดีๆ มีฝีมือ เลี้ยงคน พัฒนาคน สร้างคน และเก็บรักษาไว้อย่างดี ถ้าธุรกิจไม่มีคนเก่งโอกาสสร้างบริษัทให้เติบโตจะเป็นเรื่องยาก

บัตรเครดิตเคทีซี think global, act local

เคทีซีมาพร้อมกับสีสันการใช้จ่ายที่ดูฉูดฉาดมากขึ้นในวงการบัตรเครดิต ทุกวันนี้คนทำงาน 1.2 ล้านคนพกบัตรยี่ห้อนี้ไว้ในกระเป๋า และเป็นฐานสมาชิกที่เคทีซีพยายามใช้กิจกรรมการตลาดกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมการรูดบัตรใบนี้บ่อยขึ้น ไม่เปลี่ยนใจไปรูดบัตรใบอื่น โดยพยายามไม่ให้สวนทางหรือฝืนกับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

วรวุฒิ นิสภกุลธร Senior Vice President - Card Usage Credit Card Business บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) มองว่า ในเมื่อทุกวันคือการจับจ่าย การจับจุดให้เกิดการใช้จ่าย ก็ต้องหากิจกรรมที่สามารถตอบโจทย์ความจำเป็นในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นแกนที่จะทำให้เคทีซีประสบความสำเร็จในธุรกิจ เป็นความสำเร็จที่ยั่งยืน ไม่แกว่งไกวไปมาตามภาวะเศรษฐกิจ เพราะอย่างไรเสียคนก็ต้องกินข้าว เติมน้ำมัน ซื้อของใช้ในห้างลดราคา เจ็บป่วยก็ต้องรักษาพยาบาล

ในยุคสมัยหนึ่งธุรกิจบัตรเครดิตอยู่ภายใต้การผลักดันของต่างชาติ ภาพลักษณ์ของบัตรเครดิตพยายามสะท้อนถึงอำนาจของบัตรพลาสติกที่ดลบันดาลอะไรก็ได้ กลายเป็นสิทธิพิเศษที่ดูไกลเกินเอื้อมสำหรับคนธรรมดา

แต่หลังปี 2540 เป็นต้นมาการปรับตัวของธนาคารไทยหลายแห่งที่เบนมาหาธุรกรรมการเงินส่วนบุคคล การมอบภารกิจใหม่ให้บัตรเครดิตดูเป็นเพื่อนของคนรู้จักคิด คนรู้จักใช้จ่ายเงิน ผลักดันให้บัตรเครดิตแพร่หลายมากขึ้น และเคทีซีก็เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของการสร้างกติกาการใช้จ่ายในวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ กลายเป็นองค์กรไทยๆ ที่มีผลงานเข้าตากรรมการ ถูกคู่แข่งทั้งในและต่างประเทศจับตามอง

"โลกาภิวัตน์ทำให้ทุนต่างชาติสนใจอยากจับจองธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีดอกผล มีศักยภาพ ในความเป็นธุรกิจแบบไทยๆ โมเดลที่สามารถรับมือและสู้กับปัจจัยแวดล้อมได้ พื้นฐานเลยเราต้องเข้าใจลูกค้าของเราก่อน"

วรวุฒิวิเคราะห์ว่า ในธุรกิจบัตรเครดิตเวลาต่างชาติเข้ามา จะมองไปที่ห้างสรรพสินค้าซึ่งเป็นจุดใหญ่ของการใช้จ่าย เป็นแนวโน้มที่เหมือนๆ กันทั่วโลก "พอฝรั่งมาเมืองไทยก็ตรงดิ่งไปคุยกับห้างอย่างเดียว" ทั้งที่รูปแบบการใช้จ่ายที่แท้จริงอาจจะฝังตัวอยู่ในตลาดนัดสวนจตุจักร หรือแหล่งช้อปปิ้งตามชุมชนก็ได้ ซึ่งข้อได้เปรียบของความเป็นบริษัทในประเทศจะมีความเข้าใจตรงจุดนี้ได้ดีกว่า

"ผมชอบศัพท์คำว่า think global act local ถ้าใครทำได้แบบนี้ ความสำเร็จก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป โลกาภิวัตน์ดีในแง่ของการเป็นระบบ คิดอย่างเป็นระเบียบ เพียงแต่มีปัญหาว่าภาพรวมบางอย่างขาดหายไป

ฝรั่งจะคิดอะไรมองผลลัพธ์เพียงอย่างเดียว มองเฉพาะ performance based เหมือนจ้างคนถ้าไม่ดีก็ไล่ออกเลย แต่ถ้าคิดแบบไทยๆ อย่าเพิ่งไล่ออกเลย สงสารเขา ซึ่งถ้ามีมากไปก็ไม่ดี ต้องมีความสมดุลกันระหว่างสองแนวคิดนี้ จะทำให้ไปได้"

เขามองว่า ปัญหาส่วนใหญ่ที่ธุรกิจไทยตกม้าตายเพราะคิดสากลอย่างเดียวหรือไม่ก็คิดแบบไทยจ๋าอย่างเดียว ทำให้การฟอร์มองค์กรขาดความแข็งแรง หรือไม่ก็อ่อนแอจนถูกต่างชาติเข้าซื้อ

"ในแง่ทุน ความเป็นตลาดเสรีก็จำต้องมีการเคลื่อนไหวของทุน ธุรกิจไทยที่ไปไม่รอดขึ้นกับว่าอยากขายไหม? หรือยอมลดฐานะมาเป็นคนบริหารแทนที่จะเป็นเจ้าของกิจการ วันนี้ฝรั่งก็เริ่มกลัวแบงค์ไทย แบงค์ไทยก็พยายามสร้างเยอะ

บางธุรกิจที่เป๋เพราะบางปัจจัยไม่แข็งพอ เงินทุนไม่แข็ง บริหารไม่แข็ง จะทำธุรกิจต้องชัดที่ของที่จะขายก่อน ถ้าเรารู้สิ่งที่เราจะขายก็ยากจะถูกกลืน ทำกำไรดีได้ก็ไม่ต้องขาย ถ้าทำกำไรไม่ดีเจ๊งก็ต้องขาย ขึ้นกับความแข็งแรง หรือเชี่ยวชาญด้านไหน?

ธุรกิจที่แข็งต้องไปหลายอย่างคู่กัน ของต้องดีก่อน แล้วแบรนด์ดี บ้านเราของดีแต่ภาพไม่ดีอย่าง made in Thailand สำคัญของต้องดีก่อนแล้วอย่างอื่นก็จะตามมา ความสำเร็จอยู่ที่บริหารจัดการ ทุกคนต้องยืนอยู่บนจุดแข็งของตัวเอง"

ไม่ว่าจะเป็นมุมมองทางธุรกิจหรือมุมมองของผู้ซื้อผู้ใช้บริการ การใช้ชีวิตทุกวันนี้หนีไม่พ้นการวิ่งไปกระแสเดียวกับโลกาภิวัตน์ ขึ้นกับการยอมรับและปรับวิธีคิดได้มากน้อยแค่ไหน? คำถามที่น่าสนใจคือ ในเมื่อคนไทยเรานิยมใช้ของฝรั่งแล้วคิดแบบฝรั่งหรือเปล่า? ก็เปล่า? เรากินเป๊ปซี่ไม่ได้แปลว่าเราจะเป็นฝรั่ง เราก็ยังเป็นคนไทยที่นิยมบริโภคสินค้าและบริการฝรั่ง แต่ถ้าบางมุมเลือกเอาวิธีคิดดีๆ แบบฝรั่งมาประยุกต์ใช้ แล้วเอาความเป็นไทยผสมเข้าไป ความเป็น think global act local ก็จะมองออกได้ไม่ยาก

โรงพยาบาลกรุงเทพ บริหารต้นทุนผ่านเครือข่าย

โรงพยาบาลกรุงเทพวางจุดยืนว่าเป็น สถานที่ที่วิทยาการทางการแพทย์ และความเมตตาปราณีมาบรรจบกัน ความสำเร็จของโรงพยาบาลแห่งนี้มาจากกลยุทธ์การสร้างเครือข่าย เพื่อไปบริหารจัดการต้นทุน และสร้างการเติบโตแต่ละขั้น ด้วยการปักธงความเป็นผู้นำความเชี่ยวชาญแต่ละด้าน ได้แก่ ศูนย์การแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจ โรคมะเร็ง เป็นต้น

ทุกวันนี้โรงพยาบาลกรุงเทพติดอันดับความมีชื่อเสียง 1 ใน 3 ของโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำ ไม่น้อยหน้าโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ หรือโรงพยาบาลสมิติเวชซึ่งเป็นพันธมิตรในเครือ ขณะที่ภาพรวมของธุรกิจการให้บริการทางการแพทย์ กล่าวได้ว่าเป็นไม่กี่อุตสาหกรรมที่อยู่ในมือการจัดการขององค์กรไทยเกือบทั้งหมด ด้วยลักษณะเฉพาะของคนไทยที่แย้มยิ้มโอภาปราศรัย มีภาพลักษณ์การให้บริการสุดยอดในสายตาต่างชาติ ภายใต้ค่าใช้จ่ายที่คุ้มค่าเหมาะสม

สาธิต วิทยากร ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่/รองผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารกลุ่มธุรกิจในเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ มองว่า โรงพยาบาลเป็นธุรกิจที่แข่งขันและบริหารจัดการโดยกลุ่มบริษัทในประเทศเป็นหลัก ต่างชาติเข้ามามีบทบาทน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นลักษณะของการจ้างมือดีเข้ามาช่วยบริหารงาน หรือไม่ก็เข้ามาถือหุ้นไม่มีส่วนร่วมบริหาร การเข้ามาครอบงำเต็มตัวเหมือนบางธุรกิจมีให้เห็นน้อย จนกล่าวได้ว่าแทบไม่มีอิทธิพลอะไรเลย

ปัจจัยหลักมาจากการที่เมืองไทยมีแพทย์เก่งๆ ฝีมือดีอยู่มาก ครอบคลุมแทบทุกสาขา และเป็นธุรกิจเดียวที่ไม่มีปัญหาเรื่องสายป่านการลงทุน ขณะที่ความก้าวหน้าในการใช้เครื่องมือทางการแพทย์ ก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร หากมีความสามารถในการซื้อ มีเงินลงทุนเพียงพอที่จะซื้อเครื่องมือดีๆ จากเมืองนอกเข้ามาให้บริการคนไข้ และใช้บุคลากรมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาเป็นคนใช้เครื่องมือ

ความสำเร็จของการให้บริการในภาคนี้ ถือเป็นศักยภาพการเติบโตที่สามารถรองรับศูนย์กลางทางการแพทย์ประจำภูมิภาคเอเชียได้ ปัจจุบันโรงพยาบาลชั้นนำหลายแห่งพยายามสร้างภาพลักษณ์อินเตอร์ เพื่อซอยกลุ่มผู้ใช้บริการออกไปเฉพาะ โดยนำการจัดการสมัยใหม่ทั้งการตกแต่งแบบรีสอร์ท โรงแรมห้าดาว และการให้บริการเกินกว่าความคาดหวังของลูกค้า มาเป็นจุดแข็งในการทำธุรกิจ รวมถึงทำคู่ขนานกันไปกับการสร้างภาพลักษณ์องค์กร

บ้านปู ธุรกิจแห่งความโชติช่วง

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผลักภาพลักษณ์องค์กรสู่ความเป็นแถวหน้าในธุรกิจถ่านหินระดับภูมิภาค สามารถลบภาพอดีตที่ผ่านมา จากที่เคยเป็นเพียงบริษัทพลังงานเล็กๆ แห่งหนึ่งในไทยอย่างสิ้นเชิง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่ายักษ์ใหญ่แห่งความโชติช่วงตนนี้จะลืมเลือน ID ความเป็นสัญชาติไทย

บ้านปูใช้ความเป็นไทย ชื่อก็ไทยดีดตัวเองขึ้นไปบริหารจัดการแบบอินเตอร์ ยืนหยัดอยู่บน 2 ธุรกิจหลักคือ ธุรกิจเหมืองถ่านหิน กับธุรกิจโรงไฟฟ้าถ่านหิน ภายใต้วิสัยทัศน์ต้องการเป็นผู้นำกลุ่มบริษัทพลังงานในเอเชีย สร้างการยอมรับในฐานะนักพัฒนาที่มีจิตสำนึกที่ดี ทั้งมิติของนักลงทุน ความเป็นธรรมกับคู่ค้า ความเป็นมืออาชีพ เป็นผู้ผลิตและผู้ให้บริการสินค้าในกลุ่มพลังงานที่เป็นเลิศ

4 พันธกิจหลักที่บ้านปูกำหนดไว้คือ 1. พัฒนาธุรกิจพลังงานสู่ความเป็นผู้นำในเอเชีย 2. แตกการลงทุนในธุรกิจใหม่อย่างมีกลยุทธ์ สามารถรองรับและสนับสนุนกลุ่มธุรกิจหลักได้ 3. สนับสนุนและพัฒนาชุมชนในฐานะพลเมืองดี มุ่งมั่นที่จะรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ 4. ให้บริการลูกค้าในเอเชียด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มจากสินค้าและการบริการเปี่ยมด้วยคุณภาพ

หลายปีที่ผ่านมาบ้านปูสานฝันธุรกิจไทยสู่ความแข็งแกร่งในเวทีอินเตอร์ ด้วยการการลงทุนอย่างต่อเนื่องในประเทศอินโดนีเซียและจีน เป็นผู้ผลิตและส่งออกถ่านหินรายใหญ่ไปยังญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ เกาหลี มาเลเซียและอีกหลายประเทศในแถบยุโรป

**************

ความเป็นไทยแท้รอดยาก!

มุมมองจากที่ปรึกษาการจัดการองค์กร "ทายาท ศรีปลั่ง" กรรมการผู้จัดการ บริษัท วัทสัน ไวแอท (ประเทศไทย) จำกัด ชี้ว่าในโลกของการบริหารองค์กรยุคใหม่จะเป็นส่วนผสมคละกันระหว่างไทยและเทศ บางกิจการก็เป็นการถือหุ้นของต่างชาติโดยเบ็ดเสร็จ 100% ขณะที่บางกิจการเจ้าของเป็นคนไทยแต่ใช้ต่างชาติเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหาร

บางธุรกิจที่ขับเคลื่อนโดยผู้นำต่างชาติหรือผู้นำคนไทย โดยส่วนตัวแล้วเขามองว่า เป็นเรื่องของใครดีใครได้ ถือเป็นภาพสะท้อนของความสามารถที่มีน้ำหนักมากกว่าการเข้ามาครอบครองหรือไม่ครอบครอง

"ถ้าเราเป็นเจ้าของเงินเราไม่จ้างคนโง่ทำงานหรอก เราต้องจ้างคนเก่ง ถ้าคนไทยเก่งกว่าต่างชาติก็ต้องจ้างคนไทย เพราะถ้าจ้างต่างชาติที่เก่งน้อยกว่าแล้วต้องจ่ายแพงกว่าก็ไม่มีเหตุผลที่ต้องจ้าง ด้วยความเป็นไทย เราได้เปรียบอยู่แล้วเพราะค่าแรงถูกกว่า แต่ถ้าคนไทยเก่งน้อยกว่าก็ไม่มีใครเอา เขายอมเสียมากเพื่อให้ได้มาก ดีกว่าเสียน้อยเพื่อให้ได้น้อย"

แนวโน้มที่เห็นชัดเจนตอนนี้คือ มีหลายธุรกิจในไทยที่เจ้าของเป็นคนไทยต้องการเติบโตในระดับภูมิภาค จะเริ่มจ้างฝรั่งเข้ามาบริหารงาน "เจ้าของคนไทยอยากโกอินเตอร์ อยากทำให้ดีกว่าเดิมเริ่มจ้างฝรั่งเข้ามาบริหาร ถึงแพงกว่าแต่ทำได้มากกว่า คุ้มค่ากว่า เจ้าของเงินคิดไม่เหมือนคนทำงาน จ้างชาติอะไรทำงานก็ได้แต่ต้องให้คุ้มในเม็ดเงิน"

ขณะที่ประเด็นของการเติบโต หลายองค์กรจะมุ่งทำเฉพาะธุรกิจที่ตัวเองเก่ง ไม่กินรวบหรือครอบจักรวาลอย่างที่แล้วมา กรณีศึกษานี้เห็นได้ชัดกับปูนซิเมนต์ที่จะเลือกลงทุนกับคู่ค้าที่เก่งกว่า มีโนว์ฮาวสูงกว่า และเปิดใจกว้างทำธุรกิจเฉพาะสิ่งที่ถนัดจริงๆ หรือกรณีของกระทิงแดงที่โด่งดังขึ้นมาได้ก็เพราะให้แฟรนไชส์ออสเตรียใช้ชื่อเรดบูลไปช่วยตีตลาดโลก ถือเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับแบรนด์โดยที่ตัวตนของความเป็นไทยยังคงอยู่

อีกมุมมองที่เห็นได้ชัดคือ การที่ญี่ปุ่นยอมขายนิสสันให้ฝรั่งไปบริหาร ก็ถือเป็นตัวอย่างของการเติบโตต่อไปโดยไม่เสียความเป็นแบรนด์

"ทุกอย่างเปลี่ยนรูปไปหมดแล้ว ขึ้นกับว่าเราจะอิงกับอะไร? อิงกับตัวตนองค์กร หรืออิงกับความเป็นแบรนด์แล้วให้ชาติไหนบริหารก็ได้ โลกเปลี่ยนความเป็นไทยแท้อยู่ไม่รอด เราต้องจ้างฝรั่งเก่งมาทำงานแต่ให้คนไทยเป็นนาย ความเป็นไทยคงได้แต่ไม่โตขึ้นอีกแล้ว เพราะตลาดไทยทำ ไทยใช้ ไทยกินมันเต็มแล้ว จะขยายต่อต้องกินดินแดนคนอื่น ต่างชาติเข้ามามีบทบาทในหลายมิติต่างกันออกไป แต่เราต้องเลือกใช้คนให้ถูกกับงาน"

เขาวิเคราะห์ว่า แนวโน้มการจัดการองค์กรในไทยขณะนี้ น่าเป็นห่วงมากในเรื่องความสามารถหลัก หลายองค์กรมีแนวโน้มจะถดถอยลง ขณะที่บางโมเดลที่เป็นรากของไทยแท้ๆ บางครั้งก็ยังทำได้ไม่ดีเท่าต่างชาติ

อย่างเช่น มวยไทย เริ่มปรากฏสัญญาณบางอย่างที่สะท้อนว่าฝรั่งเตะมวยเก่งกว่าคนไทย มีศิลปะการร่ายรำที่ดูเนี้ยบกว่าคนไทย จุดนี้ทำให้น่าคิดว่าการคงอยู่ของความเป็นไทย จะคงเอาไว้กับแบรนด์คือคำว่ามวยไทย หรือคงไว้กับคนว่าต้องเป็นคนไทยเท่านั้นถึงจะทำได้ ซึ่งแนวทางบริหารจัดการแบรนด์ ก็อาจจะส่งเสริมไปเลยให้ฝรั่งมากินนอนเมืองไทย อยู่วัด และให้ฝรั่งใช้สินค้าไทยโดยไม่รู้ตัว

ความสำเร็จของธุรกิจไทยที่คิดได้แบบสากล ทายาทยกนิ้วให้กับวิธีคิดของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ที่ใช้ผู้บริหารต่างชาติเข้ามาช่วยผลักดันกิจการ หรือการเปิดตลาดเมืองนอกของบ้านปูก็เป็นแบบอย่างที่น่ายกย่อง รู้จักเลือกใช้คน ใช้ลูกจ้างต่างชาติมาเป็นส่วนหนึ่งของบริหารจัดการ "บ้านปูคง brand identity ไว้หมดเลยทุกอย่าง"

ซึ่งถ้ามองย้อนไปในรัชกาลที่ 5 ก็มีการจ้างคนทำงานเป็นฝรั่งเกือบทั้งหมด ทำให้เกิดพระราชวังสวยงามหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นพระราชวังบางปะอิน พระที่นั่งอนันตสมาคม ฯลฯ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นวิธีคิดทันสมัย อยู่รอด และสร้างการเติบโตต่อไปได้   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us