ผลพวงจากสภาพบ้านเมืองวุ่นทำให้ยอดขายรถครึ่งปีแรกตกลง 3.22 % งานนี้โดนทั้งปิกอัพ รถตู้ รถบรรทุก โดยเฉพาะรถอเนกประสงค์ขับเคลื่อน4 ล้อ ลดลงมากสุด 37.60 % ขณะที่รถเก๋งดวงดีสวนกระแสแต่โตแค่ 3.77 % เหตุปัจจัยลบรอบด้านรุมกระหน่ำทั้งการเมือง ดอกเบี้ย ราคาน้ำมัน อุทกภัยในหลายพื้นที่ภาคเหนือ ทำให้ผู้บริโภคขาดความมั่นใจไม่ยอมควักตังค์ คนในวงการยานยนต์ฟันธงเดือนก.ค.นี้ ยอดขายรุ่งริ่งไม่แพ้เดือนมิ.ย แน่นอน
บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด รายงานยอดขายรถยนต์ในครึ่งปีแรกมียอดขายรวม 334,776 คัน เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาในช่วงเดียวกัน 345,897 คัน ลดลง 3.22 % ที่สำคัญตลาดรถปิกอัพซึ่งเป็นเซกเม้นท์ที่ขายดีสุดและใหญ่สุดก็มียอดขายตกลงเช่นกัน ลดลง 2.06 % ตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ลดลง 2.85 % ขณะที่ตลาดรถยนต์นั่งอเนกประสงค์ขับเคลื่อน 4 ล้อ หรือเอสยูวี มียอดขายตกลงมากสุด ลดลงถึง 37.60 %
ขณะที่ตลาดรถยนต์นั่งเป็นรถประเภทเดียวที่สวนกระแสคือมียอดขายเพิ่มขึ้นในครึ่งปีแรกแต่เป็นการเพิ่มขึ้นที่ไม่มากนักแค่ 3.77 %หรือมียอดขาย 94,240 คัน และฮอนด้าเป็นค่ายเดียวที่มียอดขายเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา 41.28 % หรือ 33,347 คัน ขณะที่อันดับหนึ่งอย่างโตโยต้ากลับมีอัตราการเติบโตที่ลดลง 2.60 % ทั้งที่ครองอันดับหนึ่ง ส่วนคู่แข่งรายอื่นมียอดขายตกลงกันทั่วหน้า
หันกลับมาดูตลาดรถปิกอัพซึ่งเป็นรถที่มียอดขายสูงสุดของประเทศ งานนี้ต้องยอมรับว่าปัจจัยภายนอกส่งผลกระทบอย่างจังโดยครึ่งปีแรกตกลง2.06 % แม้จะเป็นตัวเลขที่ไม่มากนักแต่ช่วงเวลาที่ผ่านมาตลาดปิกอัพมีอัตราการเติบโตทุกเดือนไม่มีตก ที่สำคัญครึ่งปีแรกเจ้าตลาดอีซูซุยังคงครองความเป็นหนึ่งได้และมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเล็กน้อย 0.68 % แต่ถ้าพิจารณาแค่เดือนมิถุนายน อีซูซุ เป็นรองโตโยต้าด้วยยอดขาย 13,199 คัน ขณะที่โตโยต้าขายได้ 14,576 คัน ส่วนค่ายมิตซูบิชิ และนิสสัน มีตัวเลขลดลง โดยเฉพาะมิตซูบิชิ ฟอร์ด มาสด้า ต่างมีรถรุ่นใหม่จำหน่ายแต่ไม่สามารถฝ่าวิกฤตขาลงได้
อย่างที่กล่าวข้างต้นตลาดรถยนต์นั่งอเนกประสงค์ขับเคลื่อน 4 ล้อ หรือ เอสยูวี เป็นตลาดที่มีการหดตัวมากสุดคือ มียอดจำหน่ายรวมทุกยี่ห้อ 13,061 คัน ลดลง 37.60 % โตโยต้าครองอันดับหนึ่ง ด้วยยอดจำหน่าย 10,971 คัน แต่มีอัตราการเติบโตที่ติดลบถึง 29.90 % อีซูซุลดลง 66.48 % และฟอร์ดลดลง 64.15 %
ส่วนยอดขายรถในเดือนมิถุนายน มียอดขายรวม 55,532 คัน ลดลง 12.4 % เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดรถเพื่อการพาณิชย์มีอัตราการเติบโตลดลง 15.7 % รวมทั้งรถปิกอัพขนาด 1 ตัน ในเซ็กเม้นท์นี้ลดลง 15.3 % เช่นเดียวกับตลาดรถยนต์นั่งที่ปรับตัวลดลง 3.1 %
แน่นอนสาเหตุที่ทำให้ยอดขายของรถทุกประเภทหดตัวลงเกิดจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นความวุ่นวายด้านการเมืองที่ยังไม่มีข้อยุติและมีแนวโน้มจะส่อเค้ารุนแรงขึ้นทุกวันที่สำคัญคงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะได้รัฐบาลชุดใหม่ ขณะเดียวกันราคาน้ำมันขยับตัวสูงขึ้นตลอดเวลา ล่าสุดเบนซิน 95 ราคาขึ้นไปแตะ 30 บาทต่อลิตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และดูเหมือนจะมีการขยับขึ้นไปอีกในเร็ว ๆ นี้ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยปรับสูงขึ้น ที่สำคัญเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมาพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างประสบปัญหาอุทกภัย ส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อรถเนื่องจากไม่มั่นใจในสภาพเศรษฐกิจช่วงนี้
สำหรับตลาดรถยนต์ในเดือนกรกฎาคม นี้ คนในวงการคาดการณ์ว่าแนวโน้มยอดขายรถจะหดตัวลงอีก เนื่องจากสถิติการขายรถในเดือนนี้เป็นเดือนที่มียอดขายตกต่ำอยู่แล้ว อันเนื่องมาจากการเข้าสู่ช่วงฤดูฝนซึ่งเป็นช่วงนอกฤดูการขาย อย่างไรก็ตามค่ายรถคงไม่ปล่อยให้ยอดขายตกลงเรื่อย ๆ ดังนั้นแผนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายและข้อเสนอเช่าซื้อที่น่าสนใจจากค่ายรถยนต์น่าจะกระตุ้นยอดได้ไม่มากก็น้อย ประกอบกับการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่จะเป็นปัจจัยบวกที่ทำให้ตัวเลขยอดขายเพิ่มขึ้นได้บ้าง
|