|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ธอส.ระบุอัตราการปฏิเสธปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นเป็น 20-30% จากปี 2548 ที่มีอัตรา 10-15% เนื่องจากผู้กู้มีคุณสมบัติไม่ผ่านเกณฑ์ของเครดิต บูโร จากการกู้สินเชื่อบุคคล พร้อมทั้งเตรียมเปิดผลสำรวจดัชนีศักยภาพการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย พร้อมเร่งหาแนวทางให้ผู้ประกอบอสังหาฯในตลาดหลักทรัพย์ฯขยันส่งข้อมูล หนักใจส่วนใหญ่ไม่ให้ความร่วมมือ ด้านผอ.ศูนย์ส่งไม้ต่อรักษาการฯ เร่งผลักดันให้ผู้ประกอบการส่งข้อมูล- คลอดพ.ร.บ.นายหน้าอสังหาฯ และเข้มงวดใบอนุญาตนักประเมิน
นายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ขณะนี้พบว่า อัตราการปฏิเสธปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยได้เพิ่มขึ้นเป็น 20-30 % จากปี 2548 ซึ่งเป็นช่วงที่ยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งผู้กู้จะถูกปฏิเสธในอัตรา 10-15% ของจำนวนผู้ยื่นกู้เท่านั้น โดยสาเหตุหลักมาจากการตรวจพบว่า ผู้กู้มีภาระหนี้มากขึ้นจากสินเชื่อรายย่อย ที่สถาบันการเงินปล่อยให้ผู้บริโภคในรูปแบบสินเชื่อบุคคล ทำให้เกิดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)ในหนี้กลุ่มนี้มาก และประวัติของลูกหนี้หรือผู้กู้จะถูกป้อนเข้าไปยังศูนย์เครดิต บูโร ทำให้ผู้กู้มีโอกาสน้อยมากในการได้รับอนุมัติสินเชื่อ นอกจากนี้ผู้กู้บางส่วนมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการชำระในภาวะที่ดอกเบี้ยสูงขึ้น ซึ่งธอส.แนะนำให้หาบ้านราคาถูกลง หรือหาผู้กู้ร่วมเพื่อให้รายได้รวมสูงขึ้น
โดยขณะนี้ ที่อยู่อาศัยระดับราคาเกิน 5 ล้านบาทเริ่มขายได้ยาก แต่ต่ำถ้าราคากว่า 3 ล้านบาทยังขายได้ดี ซึ่งในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ธอส.สามารถปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 10,000 ล้านบาทเศษ ส่วนเดือนก.ค.นี้คาดว่าจะอยู่ที่ 8,000-9,000 ล้านบาท จึงจะประชุมเพื่อพิจารณาอีกครั้งว่าจะปรับเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อหรือไม่ ประกอบกับภาวะเช่นนี้ ประชาชนเริ่มลังเลในการซื้อบ้านมากขึ้น เนื่องจากเงินในกระเป๋ามีไม่พอกับภาระค่าครองชีพ
อย่างไรก็ตาม เร็ว ๆ นี้ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นหน่วยหนึ่งของ ธอส. จะทำการเปิดเผยผลสำรวจดัชนีศักยภาพการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยในประเทศไทย เพื่อให้รู้ว่า ประชาชนในแต่ละเขตมีความสามารถที่จะเป็นเจ้าของบ้านได้หรือไม่ ด้วยการนำรายได้รวมของคนในครอบครัวมาเปรียบเทียบกับหลักเกณฑ์ของธนาคาร ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย
กลุ้มใจบริษัทอสังหาฯในตลาดไม่ป้อนข้อมูล
นายขรรค์ กล่าวในฐานะประธานอำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาฯธอส.ว่า ขณะนี้การส่งข้อมูลของบริษัทพัฒนาที่ดิน เพื่อจัดทำดัชนีชี้วัดในส่วนของอุปทานในตลาด มีผู้ประกอบการเพียงไม่กี่รายที่จัดส่งข้อมูลให้กับทางศูนย์ฯ โดยให้เหตุผลว่าข้อมูลที่ศูนย์ข้อมูลฯ ขอให้จัดส่งบางรายการถือเป็นความลับและอาจทำให้เกิดความเสียหายในการดำเนินธุรกิจ เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับที่ดินรอพัฒนา(แลนด์แบงก์),ข้อมูลด้านการขาย และสินค้าคงค้าง(สต๊อก) ซึ่งทางศูนย์ข้อมูลพยายามจะแก้ไขปัญหาด้านข้อมูลจากเอกชนที่ยังไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร โดยส่วนหนึ่งได้ว่าจ้างบริษัทประเมินลงสำรวจภาคสนามแทน
" ธอส.จะหารือกับตลาดหลักทรัพย์ฯในฐานะหน่วยงานที่เก็บข้อมูลบริษัทพัฒนาที่ดินในตลาดหลักทรัพย์ฯว่า จะมีแนวทางอย่างไรที่จะให้เอกชนส่งข้อมูลเพิ่ม"นายขรรค์กล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้น
"สัมมา คีตสิน"จ่อรับไม้ต่อดูศูนย์ข้อมูล
ในส่วนการหาผู้บริหารมานั่งตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลฯแทนนายพงษ์ศักดิ์ ที่ต้องไปรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ เอสเอ็มอีแบงก์นั้น นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า ทางศูนย์ฯได้แต่งตั้งนายสัมมา คีตสิน อดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัท ข้อมูลเครดิตไทย จำกัด เป็นรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์แทน
นายสัมมา คีตสิน กล่าวว่า ศูนย์ข้อมูลฯ มีแนวคิดที่จะส่งเจ้าหน้าที่ไปพบบริษัทพัฒนาอสังหาฯ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในลักษณะเดียวกับการ Visit Company ของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ที่เข้าไปเจาะข้อมูลของแต่ละบริษัท แต่ศูนย์ฯคงจะไม่ต้องการข้อมูลที่ลึกเหมือนที่นักวิเคราะห์ต้องการ ทั้งนี้ การขอข้อมูลคงจะทำในลักษณะแลกเปลี่ยนข้อมูลเหมือนที่ศูนย์ข้อมูลเครดิตบูโรเคยใช้
สำหรับภาระกิจเร่งด่วนที่ทางศูนย์ข้อมูลฯต้องดำเนินการ คือ 1. การขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการ ในการส่งข้อมูลอสังหาฯ โดยเฉพาะข้อมูลสต๊อกบ้าน ยอดขายที่แท้จริงและแลนด์แบงก์ โดยปัจจุบันผู้ประกอบการส่งข้อมูลเฉพาะราคาขายและจำนวนโครงการที่เปิดใหม่เท่านั้น 2.การออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นายหน้าอสังหาฯซึ่งรวมไปถึงใบอนุญาตนายหน้าอสังหาฯ หรือไลน์เซ็น ซึ่งที่ผ่านมาสมาคมนายหน้าอสังหาฯ ไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก ทั้งๆที่เป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง อีกทั้งยังเป็นผู้ผลักดันเรื่องดังกล่าวขึ้นมา
" ต้องการให้สมาคมนายหน้าฯ จริงจังกับเรื่องดังกล่าว ในการผลักดันและนำเสนอเรื่องไปยังรัฐบาลก็จะทำให้พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวเกิดขึ้นเร็วขึ้น"นายพงษ์ศักดิ์กล่าวก่อนไปรับตำแหน่งใหม่
3.ผลักดันให้มีความเข้มงวดในการขอใบอนุญาตนักประเมินราคา และกำหนดบทลงโทษในกรณีผู้ที่กระทำความผิดในหน้าที่อย่างน้อย 3-5 ปี
นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวอีกว่า ศูนย์ได้รวบรวมข้อมูลบ้านมือสองทั้งประเทศ พบว่ามีทั้งหมด 186,000 กว่ารายการ ซึ่งถูกนำไปขายบนเว็บไซต์ http://www.resalehomethai.com/ พบว่า ในช่วงไตรมาสแรกตัวเลขดังกล่าวได้ลดลงไป 30,000 รายการหรือเฉลี่ยเดือนละ 10,000 รายการ โดยในเบื้องต้นสรุปได้ว่าเป็นการขายออกไปหรือบางส่วนหมดสัญญา ลูกค้าเปลี่ยนใจไม่ขายเลยถอดรายการออกไป ซึ่งราคาเฉลี่ย 3 ล้านบาทต่อรายการ ถือเป็นแนวโน้มที่ดีของภาวะตลาดบ้านมือสอง
|
|
|
|
|