|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ตัวเลขอัตราค้างชำระหนี้"บัตรเครดิต"ที่โผล่พรวดพราดขึ้นมา "ประจาน"ธุรกิจบัตรเครดิตและความสามารถในการผ่อนชำระของลูกค้า ในช่วงที่เงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยพุ่งทะยาน อาจจะสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการ ในขณะที่ฝั่งบางขุนพรหม "แบงก์ชาติ" ก็ยังไม่ยอมลดราวาศอกยืดหยุ่นให้กับหลักเกณฑ์ที่ค่อนข้างเข้มงวด ธุรกิจบัตรเครดิตจึงดูเหมือนจะถูกตีขนาบจากทุกๆด้าน แต่ถึงอย่างนั้น"แบงก์"หรือ"นอน แบงก์"แทบทุกรายก็ไม่ยอมตกเป็น "เป้านิ่ง" ให้โจมตีอยู่ฝ่ายเดียว เกือบทุกค่ายจึงหาทางออกด้วยการขยายแนวรบแบบไม่มีขีดจำกัด เพื่อรักษา "อาณาจักร"หรือฐานลูกค้าอย่างเหนียวแน่น....
ตามปกติในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ซึ่งตรงกับวันหยุดเทศกาลสงกรานต์และปิดภาคเรียน จะถือเป็นฤดูของการจับจ่ายใช้สอยประจำปี แต่ในปีนี้กลับเริ่มมีสัญญาณให้เห็นว่าการใช้จ่ายลดน้อยลง โดยเฉพาะยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่ลดลงจากเดือนมีนาคมถึง 5,877.67 ล้านบาท โดยมีมูลค่า 57,306.95 ล้านบาท
บัตรเครดิตไม่ว่าจะออกโดยธนาคารพาณิชย์ไทย สาขาธนาคารต่างประเทศ หรือสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (นอนแบงก์) ต่างก็ตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกันคือ ตัวเลขยอดใช้จ่ายลดลง ขณะเดียวกันอัตราการชำระคืนหนี้ของผู้ถือบัตรก็ลดลง ในขณะที่กฎเกณฑ์แบงก์ชาติกลับไม่ยอมลดราวาศอกกับการขอยืดหยุ่นกฎเกณฑ์ของฝั่งผู้ประกอบการ
ผู้ประกอบการพยายามยื่นเรื่องให้แบงก์ชาติยอมผ่อนปรนหรือยืดเวลาใช้เกณฑ์ชำระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำจาก 10% เหลือ 5% ออกไปอีกจากช่วงหลังปีนี้ เพราะกลุ่มที่ผ่อนชำระขั้นต่ำ 5% ยังมีสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง...
ธุรกิจบัตรเครดิตจึงเหมือนตกอยู่ในวงล้อมของข้าศึก เพราะไหนจะต้องเผชิญหน้ากับราคาน้ำมัน ดอกเบี้ยปรับตัวสูง ที่ฉุดกระชากกำลังซื้อ อีกมุมหนึ่งยังต้องดิ้นรนให้หลุดพ้นจากบ่วง "กฎเกณฑ์แบงก์ชาติ" ที่ควบคุมเสียแน่นหนา
ในขณะที่พฤติกรรมผู้ถือบัตรเครดิต ก็มักจะไม่มีความจงรักภักดีต่อแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งโดยเฉพาะ และพร้อมจะโบยบินไปเมื่อใดก็ได้ที่ฝ่ายตรงข้ามเสนอเงื่อนไขที่ดีกว่า ....
แต่ถึงอย่างนั้นแรงบีบคั้นจากทุกสารทิศก็ไม่อาจต้อนให้ธุรกิจบัตรเครดิตจนมุมได้ เกือบทุกค่ายเริ่มมองหาทางออกที่จะรักษาฐานรายได้และลูกค้าให้อยู่กับตัวให้นานที่สุด โดยอาศัยและพึ่งพาเครือข่ายพันธมิตรที่มีอยู่ในมือ
ธนาคารกสิกรไทย เป็นอีกค่ายหนึ่งที่อาศัยพันธมิตรหลากหลาย เพื่อให้บริการหักชำระค่าสาธารณูปโภคและค่าบริการต่างๆผ่านบัตรเครดิต อาทิ ค่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยูบีซี ค่าบริการอินเตอร์เน็ต ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์พื้นฐานและค่าน้ำประปา
พันธมิตรรายล่าสุดคือ การประปานครหลวงที่มีผู้ใช้บริการกว่า 1.73 ล้านราย จุดนี้ก็จะช่วยให้ผู้ถือบัตรในเขตกรุงเทพ ปริมณฑล ประมาณ กว่า 3 แสนราย จาก 880,000 บัตร ชำระผ่านบัตรโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
ประสาร ไตรรัตนวรกุล กรรมการผู้จัดการ บอกว่า วิธีนี้จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผู้ถือบัตรได้สิทธิประโยชน์ทางอ้อม ขณะที่แบงก์จะได้รับค่าธรรมเนียมจากการประปาแทน โดยเชื่อว่าจะมีผู้ถือบัตรชำระผ่านบัตรถึง 6 หมื่นรายการต่อเดือนในปีนี้
ทั้งหมดคือการแก้โจทย์กระตุ้นลูกค้าที่แทบจะไม่ใช้จ่ายเลยให้หันมาใช้จ่ายมากขึ้น เพราะการเร่งให้มีการใช้จ่ายผ่านบัตร ในอีกนัยหนึ่งก็คือ การรักษาฐานลูกค้าให้อยู่กับแบรนด์นั้นให้มากที่สุด
" รายได้จากการชำระค่าสาธารณูปโภคอาจไม่มาก แต่ในแง่กลยุทธ์ก็ทำให้ดึงลูกค้าไม่ให้หนีไปจากเรา"
กสิกรไทย มีลูกค้าที่ค่อนข้างแอคทีพคือใช้จ่ายผ่านบัตรสม่ำเสมอถึง 55% ไม่แอคทีพ 45% ในกลุ่มหลังก็ยังมีโอกาสจะเพิ่มยอดการใช้จ่ายได้อีก ถ้ามีแคมเปญกระตุ้นโดยเพิ่มมูลค่าสิทธิประโยชน์ลงไปไม่ให้หยุด ในจำนวนนี้สัดส่วน 65% เป็นกลุ่มผ่อนชำระ ส่วนที่เหลือคือชำระเต็มวงเงิน
หากดูตามนี้ แบงก์ก็จะได้รายได้ดอกเบี้ยจากการผ่อนชำระ และค่าธรรมเนียมจากเปอร์เซ็นต์การใช้จ่ายในแต่ละครั้งของลูกค้าที่ชำระเต็มวงเงิน ถ้ายังมีการโปรโมชั่นเพื่อเพิ่มยอดใช้จ่ายอยู่เป็นระยะ
อย่างไรก็ตาม รูปแบบการโปรโมชั่นที่ส่วนใหญ่ยังกระจุกอยู่ที่ร้านค้า หรือศูนย์สรรพสินค้า รวมถึงปั๊มน้ำมันเป็นหลัก กลับทำให้ลูกเล่นทางการตลาดมีหน้าตาไม่แตกต่างกันมากนัก แถมยังเหมือนก๊อปปี้กันออกมาเป็นทอดๆด้วยซ้ำ
เช่น ถ้าช่วงใดต้องการเร่งอัตราการรูดบัตร ก็จะทำโปรโมชั่นร่วมกับร้านค้า ห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆในจุดที่ครอบคลุมไปถึงชุมชนใหญ่ โดยเพิ่มส่วนลด เพิ่มแต้ม ลุ้นรางวัลให้ถี่ขึ้นเป็นระยะๆ แต่พอน้ำมันราคาสูงก็จะหันมากระตุ้นการรูดบัตรในปํ๊มน้ำมัน ด้วยส่วนลดที่ค่อนข้างจูงใจ
ในช่วงเดือนที่แล้ว ก็จะปรากฎแผ่นป้ายโฆษณา รวมถึงสื่อต่างๆเริ่มยิงตรงเกี่ยวกับบัตรส่วนลดในสถานีบริการน้ำมันมากเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็น เทสโก้โลตัส บัตรแคปปิตอลโอเค รวมถึงบัตรของ เอชเอสบีซี และซิตี้แบงก์ ที่ดูจะโดดเด่นกว่าเพื่อนๆในแวดวงเดียวกัน
สิ่งที่เห็นชัดเจนอย่างหนึ่งก็คือ ธุรกิจเริ่มจะหั่นค่าใช้จ่ายด้านสื่อโฆษณาที่ใช้ต้นทุนค่อนข้างสูง โดยหันมาให้ความสำคัญกับกิจกรรม และสื่อที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ แต่สามารถเข้าถึงและปะทะโดยตรงกับสายตาผู้คนบนท้องถนนแทน
ในรายของบมจ. บัตรกรุงไทยหรือ "เคทีซี" ถือเป็นอีกรายที่พยายามฉีกกลยุทธ์ให้ผิดแผกไปจากคู่อริรายอื่นๆอยู่ตลอดเวลา ..."เคทีซี" อาจจะมีพันธมิตรมากหน้าหลายตามาแล้วก่อนหน้านี้ แต่พันธมิตรใหม่ในกลุ่มตลาดสินค้าอุปโภค-บริโภค ยังถือเป็นเรื่องใหม่
เคทีซี เปลี่ยนคอนเซ็ปท์การใช้จ่ายที่หมุนเวียนในศูนย์การค้าใหญ่ มาที่สินค้าอุปโภค-บริโภค ที่อาจจะเป็นเครือสหพัฒน์ ฟูจิ คอลเกตหรือแม้แต่ซัมซุง เพราะเห็นว่ายอดใช้จ่ายสินค้ากลุ่มนี้มีสูงถึงล้านล้านบาทต่อปี ถือว่าห่างไกลจากยอดใช้จ่ายผ่านบัตรที่มีเพียง 1 แสนล้านบาทต่อปี
กลวิธีนี้จะทำให้บัตรเครดิตเข้าใกล้ตัวผู้บริโภค จนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน นอกจากนั้นรายได้จากค่าธรรมเนียมก็จะค่อยๆขยับขึ้นมาใกล้กับรายได้จากดอกเบี้ยที่มีสัดส่วนสูงถึง 60% เพราะทุกครั้งที่มีการใช้จ่าย บริษัทก็จะได้ค่าธรรมเนียมไหลเข้ากระเป๋า
เคทีซีถึงกับคาดการณ์ว่า ผู้ถือบัตรเครดิต 10 ล้านคน จะมีผู้ใช้บัตรถึง 3 ล้านคน เพราะในขณะที่กลุ่มมีรายได้ 15,000 บาทขึ้นไป มีประมาณ 20 ล้านคน จึงถือว่าบัตรเครดิตยังมีช่องว่างจะเติบโตได้อีกมาก
ปัจจุบันเคทีซี มีผู้ถือบัตรมากเกินกว่า 1.2 ล้านใบ และถือเป็นค่ายหนึ่งที่ไม่ยอมหยุดโปรแกรมส่งเสริมการขาย ไม่ว่าจะเป็นช่วงโลว์หรือไฮซีซั่น....
ขณะที่ฝั่ง "ซิตี้แบงก์" กำลังก้าวไปอีกขั้น พันธมิตรเก่าแก่ดั้งเดิมอย่าง แมคโคร การบินไทย สยามดิสคัฟเวอร์รี่ กลายเป็นเรื่องที่ไม่แตกต่างจากศัตรูคู่แข่งขัน ขณะที่การให้ส่วนลด แลก แจก แถม สะสมแต้ม ลุ้นรางวัลก็ยิ่งทำให้ธุรกิจบัตรเครดิตเกือบจะคล้ายคลึงกันแทบทุกกระเบียดนิ้ว
"ซิตี้แบงก์" เริ่มหันไปหาธุรกิจที่มีไลฟ์สไตล์ใกล้เคียงกันอย่างค่ายมือถือ... "ทรู มูฟ" จึงกลายมาเป็นพันธมิตรรายล่าสุด การจับมือในลักษณะ "โค แบรนด์"กับทรูมูฟ นอกจากจะทำให้เป็นการขายข้ามกันแบบแพกเกจทำให้ง่ายขึ้น ทั้ง 2 ฝ่ายยังจะกลายเป็นฐานลูกค้าซึ่งกันและกันได้ด้วย ขณะเดียวกันธุรกิจมือถือ ก็เป็นตลาดแมส ที่มีฐานลูกค้าถึง 30 ล้านคน
การร่วมเป็นพันธมิตรครั้งนี้ อยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าลูกค้าซิตี้แบงก์ จะใช้แคมเปญ "โทร 1 นาที รับฟรี 1 คะแนนซิตี้แบงก์ รีวอร์ด" ก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นลูกค้าทรูมูฟ หรือไม่อย่างนั้นลูกค้าทรูมูฟก็ต้องเปลี่ยนมาถือบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ เพื่อจะได้โปรแกรมสะสมคะแนนแลกของรางวัล
ตามปกติลูกค้าถือบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ จะมียอดใช้จ่ายประมาณ 1 หมื่นบาทต่อเดือน โดย 90% เป็นกลุ่มแอคทีพ ดังนั้นในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจตกอยู่ในช่วงสุญญากาศ ลูกค้าส่วนใหญ่ก็จะมองหา สิทธิประโยชน์และส่วนลดที่เหมาะสมกับตนเอง
วรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและธุรกิจบัตรเครดิต ธนาคารซิตี้แบงก์ บอกว่า ซิตี้แบงก์คงไม่เน้นปริมาณบัตร จากปัจจุบันที่มีอยู่ 8 แสนกว่าใบ แต่จะโฟกัสไปที่บัตรทุกใบต้องแอคทีพหรือมียอดใช้จ่ายสม่ำเสมอ เพื่อลดโอกาสเกิดความเสี่ยงโดยไม่จำเป็น
" เราคงไม่ทำโปรโมชั่นเพิ่มปริมาณบัตร แต่จะเน้นโปรโมชั่นเน้นสิทธิประโยชน์ และเลือกแคมเปญให้เหมาะกับลูกค้า ดังนั้นจึงไม่ใช่ว่าใครจะทำบัตรก็ให้ทำได้ง่ายๆ"
วรลักษณ์ บอกว่า ปีนี้ธุรกิจบัตรเครดิตมีเกณฑ์จะขยายตัว 16% อย่างไรก็ตามก่อนจะออกบัตรใหม่ ธุรกิจก็จะต้องพิจารณาดูด้วยว่าลูกค้ารายใดที่มีวินัยทางการเงินก็จะได้บัตรใหม่เพิ่ม ซึ่งจะทำให้เพิ่มฐานลูกค้าได้อีก 10-20% ...
ขณะที่แบงก์ใหญ่หลายแห่งเริ่มเล็งลูกศรพุ่งตรงไปที่ตลาดระดับพรีเมี่ยมมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่เว้นแม้แต่ซิตี้แบงก์ที่หันมาขยายฐานลูกค้า "ไฮโซ" ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายเฉพาะมากขึ้น จำนวนรายอาจจะน้อยเมื่อเทียบกับบัตรทั่วไป แต่ปริมาณยอดใช้จ่ายกลับห่างกันจนเทียบไม่ได้...
ฉะนั้นการปิดล้อมไม่ให้ธุรกิจบัตรเครดิตเคลื่อนตัวได้สะดวกนัก อาจจะสร้างความระคายเคืองให้กับธุรกิจในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ทั้งหมด เพราะรายได้จากดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่ไหลเข้ากระเป๋าในแต่ละปี คือเหตุผลหลักที่ทำให้แบงก์ หรือนอนแบงก์ ไม่อาจยอมสูญเสียพื้นที่ทำกินไปให้กับคู่แข่งรายอื่นๆได้ง่ายๆ...
|
|
|
|
|