|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
*- เปิด 4 มิติของแรงกดดัน การบริหารค่าจ้างในอนาคต
*-เงินเดือน โบนัส อัตราลาออก และทักษะความสามารถ 4 เงื่อนปมกดทับทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้าง ในภาวะเศรษฐกิจตึงตัว
*- สรุปผลสำรวจการบริหารงาน HR ไตรมาส 2 ปีนี้ ธุรกิจยาแชมป์เงินเดือนขึ้นสูงสุด ส่วนการเงินมือเติบจ่ายหนักสุด
*- "วัทสัน ไวแอท" วิเคราะห์ทักษะความสามารถคนไทยเทียบต่างชาติ วัฒนธรรมเกรงใจกลายเป็นข้ออ้างที่คนไทยหลีกเลี่ยงบริหารจัดการ
ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรก มีความไม่แน่นอนสูงจากปัจจัยภายใน ในเรื่องของ ดอกเบี้ย การขยับขึ้นของราคาสินค้าที่ส่งผลต่อการบริโภค
และปัจจัยภายนอกคือ ความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนและอินเดีย ซึ่งส่งผลต่อการจัดสรรทรัพยากรระหว่างประเทศ และการเปิดเสรีทางการค้า
ขณะที่เงินเฟ้อเดิมคาดว่าทั้งปีจะอยู่ที่ 4.5% แต่ตัวเลขล่าสุด 5 เดือนที่ผ่านมาพุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 6.5% ทำให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อแรงกดดันการบริหารค่าจ้างในอนาคต ทั้งฟากของผู้ประกอบการที่เผชิญกับปัญหาความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และฟากของพนักงานที่ประสบปัญหาเงินเฟ้อ
4 ประเด็นของ "การสำรวจแนวโน้มการบริหารทรัพยากรบุคคล ไตรมาสที่ 2 ปี 2549" ของบริษัท วัทสัน ไวแอท (ประเทศไทย) จำกัด ที่ปรึกษาทางด้านการจัดการองค์กร จึงยังคงพุ่งประเด็นหลักไปที่ การขึ้นเงินเดือน การจ่ายโบนัส อัตราการลาออก และการวิเคราะห์ทักษะความสามารถหรือ competency ซึ่งรัดปมแรงกดดันทั้งสองฝ่ายให้แน่นเข้า
ธุรกิจยาแชมป์ขึ้นเงินเดือน 7.5%
ทายาท ศรีปลั่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท วัทสัน ไวแอท (ประเทศไทย) จำกัด สรุปตัวเลขการขึ้นเงินเดือนทั้ง 16 อุตสาหกรรมในปีที่ผ่านมาเฉลี่ย 6.2% โดยอุตสาหกรรมยาเป็นกลุ่มที่มีการขึ้นเงินเดือนในอัตราสูงสุดเฉลี่ย 7.5% (บริษัทยาและเวชภัณฑ์สัญชาติไทยขึ้นเงินเดือน 5.5% ขณะที่บริษัทยาต่างชาติขึ้นเงินเดือน 8.6%)
รองลงมาคือสถาบันการเงิน 7.5% ข้อมูลที่น่าสนใจคือ บริษัทจัดการกองทุนมีการขึ้นเงินเดือน 8.8% ในกลุ่มธนาคารตั้งใหม่ขึ้นเงินเดือน 6.6% กลุ่มธนาคารและบริษัทหลักทรัพย์ขึ้นเงินเดือน 6.3% และการค้า 7.4% สำหรับชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ขึ้นเงินเดือนต่ำสุด 5%
การสำรวจครั้งนี้ มีจำนวนบริษัทที่เข้าร่วม 320 แห่ง แบ่งเป็นอุตสาหกรรมการผลิต 43% สินค้าอุปโภคบริโภค 8% และประกันภัย 8% โดยจำนวนนี้ 44% เป็นบริษัทร่วมทุนกับต่างประเทศ 48% เป็นบริษัทที่มีพนักงานมากกว่า 500 คน และ 63% เป็นบริษัทที่มีรายได้เกินกว่า 1 พันล้านบาทต่อปี
การเงินจ่ายโบนัสมือเติบ 4.8 เดือน
สำหรับการจ่ายโบนัสค่าเฉลี่ยทุกอุตสาหกรรม 2.8 เดือน โดยสถาบันการเงินจ่ายแพงสุด 4.8 เดือน รองลงมาคือ ยานยนต์และชิ้นส่วน 4.1 เดือน อันดับ 3 จ่ายใกล้เคียงกันกับค่าเฉลี่ย และสื่อสารมวลชน-บันเทิง เป็นกลุ่มที่จ่ายโบนัสน้อยสุด 1.5 เดือน
ค่าเฉลี่ยการจ่ายโบนัสคงที่ทุกอุตสาหกรรม 1.5 เดือน และโบนัสผันแปรตามผลประกอบการ 2.5 เดือน กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนจ่ายโบนัสคงที่สูงสุด 2.6 เดือน ขณะที่สถาบันการเงินจ่ายโบนัสผันแปรมากที่สุด 4.6 เดือน
สื่อสาร-บันเทิงลาออกต่ำสุด 6.4%
ผลการสำรวจอัตราการลาออกของพนักงานตั้งแต่ เม.ย.2548-มี.ค.2549 ทั้ง 16 อุตสาหกรรมพบว่า การลาออกเฉลี่ยอยู่ที่ 11.3% เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า 11% โดยกลุ่มสิ่งทอพนักงานลาออกสูงสุด 16.1% จากผลกระทบการเปิดเสรีการแข่งขันตลาดสิ่งทอระหว่างประเทศ
อันดับ 2 อสังหาริมทรัพย์ 15.5% เฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการบ้านจัดสรร มีอัตราการย้ายงาน 17.5% และอันดับ 3 การค้า 14.6% ขณะที่สื่อสารมวลชน-บันเทิง มีอัตราการลาออกต่ำสุดเพียง 6.4%
โดยปัจจัยค่าตอบแทนยังเป็นอันดับ 1 ของการตัดสินใจย้ายงาน 37.9% รองลงมาคือความก้าวหน้าในอาชีพ 18.3% อันดับ 3 ผลประโยชน์ต่างๆ ที่พนักงานได้รับ 7.6% อันดับ 4 อื่นๆ 6.5% อันดับ 5 โอกาสที่เปิดกว้าง 6.2% อันดับ 6 ความสมดุลในชีวิตงานและส่วนตัว 6.0% อันดับ 7 โอกาสที่จะได้พัฒนาตัวเอง 5.0% อันดับ 8 ค้นหาความสัมพันธ์ใหม่ๆ 3.2% อันดับ 9 เพิ่มพูนทักษะ 3.0% อันดับ 10 เพื่อความมั่นคงและอุ่นใจ 2.7%
จุดอ่อนการสื่อสาร 26.3%
สำหรับการวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งในประเด็นทักษะความสามารถของพนักงานระดับปฏิบัติการในมุมมอง HR พบว่า 3 ประเด็นหลักที่ถือเป็นจุดแข็งคือ การทำงานเป็นทีม 27% การแก้ปัญหา 14.3% และการเรียนรู้ 12.6% ส่วน 3 ประเด็นหลักที่ถือเป็นจุดอ่อนคือ การสื่อสาร 26.3% การคิดริเริ่ม 20.1% และการวางแผน 14.2%
ขณะที่ระดับผู้บริหารจุดแข็งที่สุดคือ การมีวิสัยทัศน์ 17.9% และการเจรจาต่อรอง 15.2% จุดอ่อนที่สุดคือ การบริหารคน 16.3% และการสร้างแรงบันดาลใจ 15.6%
แนวทางการพัฒนาความสามารถ ยังคงมุ่งเน้นการฝึกอบรมเพิ่มเติมในทักษะที่เป็นปัญหา 41.7% การสร้างให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง 38.4% และรับสมัครพนักงานใหม่ที่มีทักษะที่ต้องการ 13.9%
โดย 91% ของบริษัทที่ตอบแบบสอบถาม มีโครงการที่เกี่ยวกับทางด้าน HR อยู่แล้วหรือมีแนวโน้มที่จะดำเนินการใน 1-2 ปี ซึ่งโครงการที่ได้ดำเนินการไปส่วนใหญ่เป็นเรื่องของ KPI, BSC, ทางเดินทางอาชีพ และการพัฒนาทักษะความสามารถ
ทายาทชี้ว่า ทักษะความสามารถเชิงเปรียบเทียบระหว่างพนักงานคนไทยกับต่างชาติคือ ประเด็นของการใช้งานเทคโนโลยีที่คนไทยยังอ่อนด้อย และเรื่องของความคิดริเริ่มกับการเรียนรู้ สำหรับระดับบริหาร ความแตกต่างระหว่างผู้บริหารคนไทยกับต่างชาติคือ ความเป็นสากล วิสัยทัศน์ และผู้นำการเปลี่ยนแปลง
รวมถึงวัฒนธรรม "ความเกรงใจ" ที่ถูกนำมาใช้ผิดประเภท โดยความหมายดั้งเดิมของเกรงใจคือ ไม่อยากเอาเปรียบ แต่คนไทยเอามาใช้กับการไม่กล้าตัดสินใจ ไม่กล้ากระจายงาน และไม่มีความสามารถที่จะจูงใจคนให้ทำงาน
"คนไทยไม่ชอบวางแผน แล้วเอาระบบเกรงใจมาอ้าง ชอบให้งานพอกหางหมู แล้วค่อยลงตะลุมบอน ทำให้ความสามารถในการจัดการไม่ดี คนไทยไม่เกรงใจที่จะเอาเปรียบคนอื่น แต่เกรงใจที่จะบริหารคน เราเริ่มสับสนกับตรรกะและการใช้"
ทั้ง 4 มิติของการสำรวจในไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมานี้ ล้วนแล้วแต่เป็นแรงกดดันในการบริหารจัดการคนของนายจ้าง ขณะที่ลูกจ้างเองเมื่อต้องกรำกับภาวะเงินเฟ้อที่ไม่มีทีท่าว่าจะชะลอตัว ก็อาจจะพยายามดิ้นรนทุกทาง เพื่อไปสู่จุดยืนและความมั่นคงที่ดีกว่า
|
|
|
|
|