Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤษภาคม 2538








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤษภาคม 2538
ร้านค้าย่อย ทางรอดสุดท้ายของศูนย์การค้า             
 


   
search resources

เซียร์รังสิต
สุรพล เตชะหรูวิจิตร
Commercial and business
Shopping Centers and Department store




การเป็นพันธมิตรระหว่างศูนย์การค้ากับ "ร้านค้าย่อย" กลายเป็นสิ่งจำเป็นหลังจากที่ผู้บริหารศูนย์การค้าพบว่า ปริมาณพื้นที่ศูนย์การค้าที่เกิดขึ้นอย่างมากมาย กำลังอยู่ในภาวะล้นตลาดจะหวังพึ่งเพียง "ร้านค้าใหญ่" ที่เซ้งพื้นที่เป็นสิบๆ ปีย่อมเป็นไปไม่ได้

ร้านค้าย่อยกลายเป็นทางออกที่จำเป็นสำหรับศูนย์การค้าหลายแห่ง

อย่างไรก็ตาม พื้นที่ที่ถูกจัดเตรียมไว้หรือแผนส่งเสริมการขายแต่เดิมสำหรับ "ร้านค้าใหญ่" แต่ต้องมาถูกดัดแปลงสำหรับ "ร้านค้าย่อย" ที่มีความหลากหลายมากๆ กลับกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ผู้บริหารศูนย์การค้าหลายแห่งกำลังเผชิญ

ประการแรกที่เป็นจุดอ่อนสำคัญ ซึ่งจะทำให้ชอปปิ้งพลาซ่าไม่ประสบผลสำเร็จนั้นก็คือ การจัดโซนนิ่ง (zoning) หรือการแบ่งร้านค้าย่อยที่จะเข้ามาขายให้เป็นสัดเป็นส่วน ที่ผ่านมานั้นจะพบว่า หากเป็นห้างสรรพสินค้าระดับแนวหน้าซึ่งมีศักยภาพเพียงพอที่จะสามารถต่อรองและคัดเลือกร้านค้าย่อยเข้ามาอยู่ในศูนย์ได้แล้ว จะสามารถจัดโซนนิ่งร้านค้าย่อยในแต่ละแถบได้อย่างลงตัว

ผู้บริหารร้านค้าย่อยของห้างสรรพสินค้าชั้นนำแห่งหนึ่งให้ความเห็นว่า การจัดโซนนิ่งถือเป็นข้อพิจารณาได้อย่างดีว่าห้างสรรพสินค้าแห่งนั้นถึงพร้อมในการเป็นศูนย์ร้านค้าย่อยที่สมบูรณ์แบบหรือไม่ โดยจะพบว่าห้างสรรพสินค้าชั้นนำอย่างเซ็นทรัล หรือเดอะมอลล์จะมีเครดิตสูงที่ร้านค้าย่อยจะเข้าคิวรอให้ผู้บริหารศูนย์ของ 2 ห้างนี้คัดเลือกลงแต่ละจุดได้โดยมิอาจโต้เถียงแต่ประการใดได้ ในขณะที่ห้างแถบชานเมืองจะทำเช่นนี้แทบไม่ได้เลย

ข้อดีของการจัดโซนนิ่งที่เห็นได้ชัดคือทำให้คอนเซ็ปต์หลักในการจัดศูนย์ค้าย่อยเป็นหนึ่งเดียว อันจะนำมาซึ่งความมีระเบียบเรียบร้อย ซึ่งจะเป็นจุดดึงดูดใจลูกค้าสำคัญให้เข้าห้างอีกประการหนึ่ง แต่อาจจะมีข้อยกเว้นอยู่บ้างสำหรับมาบุญครอง ด้วยทำเลการค้าที่ดีเยี่ยม ทำให้ถึงแม้มาบุญครองจะไม่ค่อยใส่ใจในการจัดโซนนิ่งเท่าที่ควรแต่ร้านค้าย่อยก็สามารถประสบความสำเร็จได้

ในขณะเดียวกัน การจัดโซนนิ่งที่ไม่ดีก็จะเป็นการฆ่าร้านค้าย่อยทางอ้อมได้เช่นกัน การผลักดันให้ร้านค้าย่อยต้องระเห็จขึ้นไปอยู่ชั้นบนของห้าง ในขณะที่ทางห้างมีจุดดึงดูดใจอย่างอื่นอยู่ด้านข้าง หรือด้านหน้าของห้างนั้น เช่นกรณีของห้างหลักสี่พลาซ่า หรือเซียร์รังสิต

โดยเฉพาะในกรณีของห้างเซียร์รังสิตนั้นการเปิดตัว "เดอะดีโป้" ซูเปอร์สโตร์ขนาดใหญ่ขึ้นดักข้างหน้าห้างเต็มที่ ก่อนที่ลูกค้าจะเข้าไปพบกับร้านค้าย่อยในห้างบนชั้น 4 ก็เป็นการดักคนส่วนใหญ่ให้จับจ่ายกับห้างใหญ่เสียก่อนที่จะปล่อยบางส่วนไปจับจ่ายกับร้านเล็กๆ ที่อยู่ถึงบนชั้น 3-4

การที่ร้านค้าย่อยขึ้นไปอยู่บนชั้น 4 โดยมี "เดอะดีโป้" ดักอยู่ข้างล่างนั้นไม่ใช่เป็นแผนเดิมที่ผู้บริหารวางไว้ เพราะในข้อเท็จจริงเซียร์สตรีทเป็นโครงการที่เผชิญหน้ากับมรสุมทางเศรษฐกิจหลายลูก การเซ้งพื้นที่เป็นไปได้ค่อนข้างช้า ประกอบกับการทดลองเปิด "ลักกี้พลาซ่า" ด้านหน้าซึ่งเป็นร้านค้าย่อย และประสบความสำเร็จด้วยดี ทำให้ผู้บริหารศูนย์ตัดสินใจยกพื้นที่ชั้น 3-4 ทั้งชั้นให้ร้านค้าย่อย

ตัวอย่างของเซียร์รังสิตจะเป็นอุทาหรณ์ที่ดีในเรื่องนี้ โดยก่อนหน้าที่ร้านค้าย่อยจะถูกย้ายจากอาคารหลังเก่าไปอยู่บนชั้น 4 ตึกหลังใหม่นั้น ก็มีการคาดการณ์ว่าน่าจะขายดีกว่าที่เดิม เพราะเล็งว่าจะได้ทำเลการค้าที่ดีเยี่ยมแต่สถานการณ์กลับพลิกผันทำให้การค้าขายตกต่ำไปเป็นอย่างมาก

"ยิ่งช่วงแรกทางผู้บริหารใช้วิธีปิดประตูทางเข้าไปสู่ร้านค้าย่อย ทำให้ลูกค้าต้องเดินอ้อมไปขึ้นชั้น 3-4 นั้น ยิ่งทำให้คนมาเดินร้านค้าย่อยน้อยลงไปอีก แต่ก็มีการผ่อนปรนจากผู้บริหารให้ลูกค้าเดินผ่านประตูทางเข้าได้ ซึ่งทำให้สถานการณ์ดีขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่มาก"

การขาดความเข้าใจที่ดีต่อกันระหว่างผู้บริหารศูนย์กับร้านค้าย่อย เป็นปัญหาหลักประการที่สองที่จะวัดถึงความสำเร็จ หรือล้มเหลวของแต่ละศูนย์ได้

สุรพล เตชะหรูวิจิตร ผู้บริหารศูนย์การเซียร์สตรีทกล่าวว่า ความไม่พอใจต่างๆ ของร้านค้าย่อยนั้นเป็นสิ่งที่เขาตระหนักอยู่แล้วว่าจะต้องเกิดขึ้น เพราะจากบทเรียนที่เกิดขึ้นเมื่อเขาทดลองเปิด "ลักกี้สแควร์" ก็มีอาการคล้ายคลึงกัน มีแต่เสียงบ่นและข้อตำหนิต่างๆ มากมายจากร้านค้าย่อย จนกระทั่งเมื่อถึงเวลาที่ปรับตัวเข้าหากันได้ทุกอย่างก็เรียบร้อยดี เขาคาดหวังว่า สิ่งที่มีเกิดขึ้นที่ชั้น 3-4 ของเซียร์สตรีทวันนี้ เป็นเพียงระยะผ่านที่จะต้องปรับตัวเข้าหากันทั้งฝ่ายผู้บริหารศูนย์และร้านค้าย่อย และเดินไปข้างหน้าด้วยกันอย่างราบรื่น

อย่างไรก็ตาม การจัดโซนนิ่งที่ดีนั้น จะต้องควบคู่กันไปกับทำเล (location) ที่ผ่านการพิจารณาแล้วว่าดีที่สุดด้วย ในส่วนของห้างสรรพสินค้านั้น ไม่ค่อยจะมีปัญหามากนักเกี่ยวกับเรื่องน ี้เพราะการเลือกทำเลในการตั้งสาขาแต่ละที่นั้นจะต้องผ่านการกลั่นกรองจากทีมงานหลายฝ่าย เพื่อให้ได้ข้อยุติที่ลงตัว และดีที่สุดในขณะที่ร้านค้าย่อยส่วนใหญ่มักจะไม่มีการศึกษาถึงทำเลของห้าง ที่จะนำร้านค้าไปลงว่าสอดคล้องไปกันได้กับสินค้าของตัวเองหรือไม่ และมีศักยภาพระยะยาวไปได้นานเพียงใด

โดยพฤติกรรมของร้านค้าย่อยมักจะอาศัย "การตามแห่" ไปเปิดร้านตามสาขาของห้างสรรพสสินค้าที่เพิ่งเปิดใหม่ โดยไม่คำนึงถึงว่าสินค้าของตนเอง อย่างเช่นเสื้อผ้าซึ่งเป็นสินค้ายอดนิยมของร้านค้าย่อยนั้นจะเข้ากันได้กับความต้องการของผู้ซื้อในทำเลแถบนั้นได้หรือไม่

"อย่างเช่นชานเมืองแถบรังสิต หรือบางแคที่มีคนระดับกลางและล่างเป็นลูกค้าสำคัญนั้น การตามแห่ร้านค้าเสื้อผ้ารายใหญ่โดยเอาเสื้อราคาระดับกลางจนถึงสูงไปประกบนั้น ย่อมจะสู้ไม่ได้อย่างแน่นอน เพราะจะเปรียบเทียบกันไม่ได้เลยสำหรับศักยภาพในการดึงดูดใจผู้ซื้อ" ผู้บริหารศูนย์รายเดิมให้ความเห็น

จากการที่ไม่ได้ศึกษาทำเลอย่างดีพอเพียงนี้เอง จะส่งผลให้เจ้าของร้านค้าย่อยมักจะโยนความรับผิดชอบไปยังผู้บริหารศูนย์ว่า ไม่ได้ส่งเสริมการขายศูนย์นั้นอย่างเต็มที่ โดยไม่ได้มองถึงความผิดของตัวเอง

ซึ่งการส่งเสริมการขายที่ดีก็เหมือนมีชัยไปกว่าครึ่ง

การให้ความหวังแก่ร้านค้าย่อยมากเกินไป จนร้านค้าเก็บไปสร้างจินตนาการจนเลิศเลอนั้นถือเป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงของผู้บริหารศูนย์ โดยเฉพาะการให้ข้อเท็จจริงผิดพลาดเกี่ยวกับการส่งเสริมการขายรูปแบบต่างๆ ที่จะดึงดูดคนเข้ามาใช้บริการในศูนย์ เช่น โรงภาพยนตร์ สวนสนุก ศูนย์อาหาร หรือห้องประชุมที่สามารถจัดคอนเสิร์ตขนาดใหญ่ได้ ซึ่งการส่งเสริมการขายทั้งหลายเหล่านี้จะต้องอาศัยเวลาในการก่อสร้างและตกแต่งนานพอสมควร บรรดาจุดส่งเสริมการขายเหล่านี้จึงมักจะเสร็จท้ายสุดในการก่อสร้างหางทั้งหมด แต่ด้วยความจำเป็นของแต่ละศูนย์การค้าที่จำเป็นต้องรีบเปิด เพื่อป้องกันไม่ให้ดอกเบี้ยในธนาคารขึ้นตัวแดงมากกว่านี้ จึงมีการเปิดทีละโซนก่อน และโซนของร้านค้าย่อยดูจะเป็นโซนที่เปิดได้ง่ายที่สุด โดยที่ศูนย์การค้าไม่ต้องเสียต้นทุนอะไรเพิ่มเติม

ไกรฤทธิ์ บุณยเกียรติ นักการตลาดให้ความเห็นว่าการส่งเสริมการขายให้กับร้านค้าย่อยนั้น ต้องทำอย่างแยบยลโดยจะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการส่งเสริมการขายของห้างและของร้านค้าย่อยให้ดี ข้อสำคัญคือผู้บริหารศูนย์จะต้องบอกข้อเท็จจริงทุกประการก่อนหน้าที่เจ้าของจะเข้ามาเปิดร้านค้าย่อยแห่งนั้น ซึ่งข้อเท็จจริงนั้นจะต้องเป็นความจริงทุกประการ ไม่มีการ "หมกเม็ด" ไว้แต่ประการใด โดยจะต้องให้เจ้าของร้านยอมรับสภาพว่าส่วนส่งเสริมการขายหลายอย่าง จะไม่เสร็จตามกำหนดที่วางไว้แต่แรก เนื่องด้วยงานก่อสร้างที่มีรายละเอียดมากมาย หรือข้อติดขัดด้านเงินลงทุนของห้างและต้องบอกข้อเท็จจริงไปเลยว่า รายการส่งเสริมการขายเหล่านั้นจะเสร็จได้เร็วที่สุดเมื่อไร แต่โดยสภาพปัจจุบันจะพบว่าร้านค้าย่อยมักจะตกเป็นเบี้ยล่างของผู้บริหารศูนย์ตลอดเวลา

"พูดจริงๆ แล้ว ร้านค้าย่อยมักจะถูกมองว่าเป็นเงินเก็บตกของผู้บริหารศูนย์ชั้น 4-5 ขายได้หรือไม่ ก็ไม่กระเทือนเป็นเสมือนผลพลอยได้ ถ้าจะปิดเสียไม่ต้องขายยังทำได้เลย เจ้าของศูนย์นั้นเขาพร้อมจะดึงคนขึ้นไปอยู่ชั้นบนๆ มากอยู่แล้ว"

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวผู้บริหารศูนย์ระดับแนวหน้าให้ทัศนะว่า ในด้านความล่าช้าของจุดส่งเสริมการขาย ทางฝ่ายร้านค้าย่อยน่าจะเข้าใจทางผู้บริหารศูนย์บ้างว่า ด้วยภาระที่ต้องแบกรับเป็นจำนวนมากทางด้านห้าง แล้วยังต้องเข้ามารับภาระในส่วนของสวนสนุก ซึ่งต้องทุ่มทุนมหาศาลโดยยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะคืนทุนได้เมื่อไรนั้น เป็นความเสี่ยงที่แต่ละห้างต้องคิดหน้าคิดหลังให้ดีพอสมควร

การทำสัญญาระหว่างผู้บริหารศูนย์และผู้เข้ามาเซ้งหรือเช่าพื้นที่นั้น ดูจะเป็นอีกปัญหาด้านความเข้าใจซึ่งกันและกันเกี่ยวกับเรื่องนี้แหล่งข่าวผู้บริหารศูนย์ของห้างระดับแนวหน้าให้ความเห็นว่า การทำสัญญาของแต่ละศูนย์ร้านค้าย่อยจะชี้ให้เห็นถึงอนาคตของแต่ละแห่งได้เป็นอย่างดี ซึ่งหากศูนย์ใดจะออกมาในรูปของการเซ้งมากกว่าการให้เช่าพื้นที่ เช่น เดอะมอลล์ แต่ละสาขาจะเป็นการให้เช่ามากถึง 90% ของพื้นที่ศูนย์ทั้งหมดแล้ว ในขณะที่ถ้าเป็นการให้เช่าเป็นระยะเวลาต่อปี หรือเดือนอย่างที่ห้างชานเมืองบางแห่งทำกันอยู่ในขณะนี้


จากปัญหาดังกล่าวทั้งหมดก็จะมาถึงแนวทางปรับกระบวนกท่าของผู้บริหารศูนย์ เพื่อขจัดอุปสรรคดังว่า

โดยจะประเดิมด้วยความจำเป็นของแต่ละห้างที่จะต้องมีการฝึกอบรมประดาร้านค้าย่อยที่เข้ามาร่วมงาน เพื่อให้รู้ลึกซึ้งถึงกระบวนการบริหารร้านค้าย่อยให้ประสบผลสำเร็จ ทั้งในเรื่องการเงิน การบุคคล รวมถึงด้านอัธยาศัยในการให้บริการกับลูกค้าเพื่อสร้างความประทับใจซึ่งสิ่งเหล่านี้ ไกรฤทธิ์เปิดเผยว่ายังมีห้างสรรพสินค้าระดับแนวหน้าน้อยรายมากที่จะให้ความสนใจในจุดนี้ โดยปัจจุบันที่ทำอย่างเป็นล่ำเป็นสันก็มีเพียงเดอะมอลล์เท่านั้น แต่ก็ไม่ประสบผลเท่าที่ควร เนื่องจากบุคลากรที่อบรมไปแล้วมักจะมีการเปลี่ยนงานอยู่ตลอดเวลา ทำให้การพัฒนาร้านค้าย่อยไม่ค่อยเกิดความต่อเนื่องเท่าที่ควร

ในส่วนของห้างระดับรองลงไปกับการอบรมนั้น ยิ่งจะตั้งความหวังไม่ได้เลยกับการที่จะเปิดศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรร้านค้าย่อยขึ้นมา เนื่องจากความผูกพันจะอยู่ในรูปของการเช่าเสียมากกว่า จึงทำให้ผู้บริหารศูนย์ไม่เคยเห็นความสำคัญในจุดนี้เลยมิหนำซ้ำจะไปเพิ่มต้นทุนการดำเนินการของศูนย์แห่งนั้นโดยใช่ที่

การปรับกระบวนท่าประการต่อไปของผู้บริหารศูนย์นั้นก็คือ การจัดส่งเสริมการขายร่วมระหว่างศูนย์กับร้านค้าย่อยในรูปของโบนัสคืนกำไร หรือการลดราคาต่ำกว่าทุนดังเช่นที่จัดในห้างโดยปกติ โดยวิธีทำนั้นน่าจะเป็นการลงขันระหว่างห้างและแต่ละร้านค้าย่อย ซึ่งปัจจุบันห้างระดับแนวหน้า เช่น เซ็นทรัล เดอะมอลล์ ก็มีการทำกันบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่ทำอย่างจริงจังมากนักส่วนใหญ่จะเป้นการพ่วงไปกับการส่งเสริมการขายเสียมากว่า ในขณะที่ห้างชานเมืองอย่าง เซียร์รังสิต เสริมศักดิ์ ประธานชมรมร้านค้าย่อยเปิดเผยว่า เพื่อความอยู่รอดของร้านค้าย่อยทั้งหมด ทางชมรมมีมติจัดส่งเสริมการขายเฉพาะของกลุ่มตัวเองโดยจะขอความร่วมมือจากศูนย์บ้าง

แหล่งข่าวผู้บริหารร้านค้าย่อยรายเดิมให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า อันที่จริงแล้วผู้บริหารของทุกศูนย์ น่าจะเปลี่ยนกรอบการมองร้านค้าย่อยว่าเป็นเพียงผู้เข้ามาเช่าพื้นที่ ซึ่งเราสามารถ "บีบก็ตายคลายก็รอด" เมื่อไรก็ได้มาเป็น "ผู้ร่วมลงทุน" (joint venture) กลุ่มหนึ่งของศูนย์การค้าแห่งนั้น ซึ่งเมื่อมีการเปลี่ยนกรอบการมองอันนี้แล้ว กิจกรรมร่วมกันที่จะส่งเสริมร้านค้าย่อย ก็จะเป็นสิ่งที่ศูนย์การค้าจะมีความสำนึกโดยอัตโนมัติว่าจะต้องกระทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ซึ่งจะส่งผลให้อนาคตร่วมกันระหว่างศูนย์และร้านค้าย่อย ไม่กระท่อนกระแท่นดังบางห้างที่เป็นมา

ไกรฤทธิ์ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับอนาคตของความร่วมมือระหว่างคู่กรณีทั้ง 2 นี้ว่า จนถึงขณะนี้หากเป็นห้างระดับบนก็พอมีความหวังได้ระดับหนึ่งในความเอื้ออาทรซึ่งจะมีต่อกัน แต่ในส่วนของห้างระดับกลาง และห้างใหม่ที่เพิ่งเปิดขึ้นมายังหาความมั่นใจประการใดไม่ได้เลยจากผู้บริหารศูนย์ที่จะเหลียวแลผู้มาเช่าพื้นที่ของตัว

"คงพอจะพูดได้ว่าร้านค้าย่อยที่ดีที่สุดเท่านั้นจึงจะอยู่รอดในสภาพปัจจุบันจะต้องเตรียมตัวเผื่อเซ้งไว้ก่อนเลย หากจะต้องตกแต่งก็เอารูปภาพไปติดไว้จะดีกว่าเพราะหากจะต้องย้ายกลับบ้าน จะได้ทำอย่างง่ายดาย ต่อไปจะได้เตือนตัวเองว่าจะต้องทำร้านให้เป็นเชน หรือแฟรนไชส์ให้ได้"

จากคำกล่าวของผู้เชี่ยวชาญดังว่า คงพอจะทำให้มองได้ว่า ภาพของศูนย์การค้าในฐานะเสือนอนกิน กับร้านย่อยที่เป็นเสมือนหมาไล่เนื้อนั้น ไม่สามารถลบเลือนไปได้ง่ายๆ

มิหนำซ้ำจะยิ่งคมชัดขึ้นตามวันเวลาที่ล่วงเลยไป

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us