ราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ไตรมาส 2/49 ร่วงยกกลุ่ม "สินเอเชีย"หนักสุด 32% ตามมาด้วย"นครหลวงไทย" รูด 23.5% บล.ฟิลลิป ชี้หากลงทุนระยะยาวกลุ่มแบงก์ยังน่าสนใจ ด้านบล.ฟาร์อีสท์ ชี้ยังมีประเด็นลบหลายเรื่อง "ดอกเบี้ย- น้ำมัน-การเมือง" ส่งผลให้ต่างชาติกังวลไม่กล้าซื้อลงทุน
จากการรวบรวมข้อมูลการซื้อขายหลักทรัพย์ในหมวดธนาคารพาณิชย์ช่วงไตรมาส 2/49 (เม.ย.- มิ.ย.) ที่ผ่านมาพบว่าดัชนีหมวดอุตสาหกรรมปิดที่ 250.36 จุด ลดลง 9.96% สูงกว่าการปรับตัวลดลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในช่วงเดียวกันซึ่งปิดที่ 678.13 จุด ลดลง 7.52% ขณะที่ราคาหุ้นทุกธนาคารปรับตัวลดลงค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากการเทขายของนักลงทุนต่างประเทศเพราะยังมีความกังวลในเรื่องการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดอย่างต่อเนื่อง โดยสิ่งที่นักลงทุนให้ความสำคัญอยู่ที่ว่าสัญญาณและทิศทางในการประชุมครั้งต่อไปช่วงเดือนส.ค.จะเป็นอย่างไร ซึ่งภายหลังการประชุมของเฟดเมื่อปลายเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมามีสัญญาณว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมครั้งหน้าและจะหยุด
ทั้งนี้ ราคาหุ้นธนาคารที่ปรับตัวลดลงมากที่สุดในช่วงไตรมาส2/49 คือ ธนาคารสินเอเซีย หรือ ACL ราคาปิดที่ 3.56 บาท ลดลง 1.69 บาท หรือ 32.19%, ธนาคารนครหลวงไทย หรือ SCIB ราคาปิดที่ 18.60 บาท ลดลง 5.70 บาท หรือ 23.46%, ธนาคารทหารไทย หรือ TMB ราคาปิดที่ 3.34 บาท ลดลง 0.88 บาท หรือ 20.85%, ธนาคารทิสโก้ หรือ TISCO ราคาปิดที่ 22.20 บาท ลดลง 5.55 บาท หรือ 20%, ธนาคารเกียรตินาคิน หรือ KK ราคาปิดที่ 29.25 บาท ลดลง 3.75 บาท หรือ 11.36%
นางสาวศศิกร เจริญสุวรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์อาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป จำกัด กล่าวว่า หุ้นกลุ่มธนาคารในครึ่งปีหลัง ยังคงได้รับปัจจัยบวกในเรื่องการชะลอขึ้นดอกเบี้ย แต่คงจะต้องรอความชัดเจนเป็นรายไตรมาส ประกอบกับความกังวลของนักลงทุนต่อการขยายตัวของสินเชื่อซึ่งส่งผลทำให้ธนาคารบางแห่งต้องปรับเป้าการเติบโตลดลง โดยบริษัทยังคงแนะนำถือในหุ้นกลุ่มธนาคาร
ทั้งนี้ ความน่าสนใจของหุ้นกลุ่มธนาคาร คือ ราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลงมาค่อนข้างมากก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นจังหวะที่ดีที่นักลงทุนระยะยาวจะเข้ามาถือลงทุน
สำหรับผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคารในปีนี้ จะต่ำกว่าปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน เนื่องจากในปีนี้หลายธนาคารจะต้องจ่ายภาษี 30% ประกอบกับแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อที่ลดลงซึ่งจะกระทบต่อรายได้ของธนาคาร
ในส่วนของผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/49 ที่จะมีการประกาศออกมาเป็นกลุ่มแรกน่าจะดีกว่าที่คาดไว้เดิม เนื่องจากก่อนหน้านี้คาดว่าผลประกอบการในไตรมาสที่ 2 จะไม่ดีเพราะได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ย โดยหุ้นกลุ่มธนาคารที่น่าสนใจในระยะสั้น คือ SCB, KBANK และ BAY แต่ถ้าสนใจจะลงทุนในระยะยาว แนะนำ SCB, KBANK และ BBL เนื่องจากมีพื้นฐานดีและเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในระยะยาวก็น่าจะสร้างผลตอบแทนที่ดีได้
นายศรัณย์ ถวิลหวัง ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ฟาร์อีสท์ จำกัด กล่าวว่า หุ้นกลุ่มธนาคารยังต้องเผชิญกับปัจจัยที่มีความไม่แน่นอนหลายด้านทั้งเรื่องดอกเบี้ย น้ำมัน และการเมืองในประเทศ ซึ่งนักลงทุนต่างประเทศค่อนข้างกังวลมาก จึงเป็นความเสี่ยงที่มีผลกระทบในแง่พื้นฐาน โดยให้น้ำหนักกับปัจจัยภายในมากกว่า เพราะขณะนี้เรื่องดอกเบี้ยเริ่มนิ่งระดับหนึ่งแล้ว
ทั้งนี้ผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2/49 ของกลุ่มธนาคาร คาดว่าการเติบโตลดลงจากไตรมาสแรก แต่ในอนาคตอาจจะปรับตัวดีขึ้นหรือลดลงก็ได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างแน่นอน เพราะรัฐบาลไม่สามารถใช้งบประมาณได้เต็มที่
"ปัจจัยเสี่ยงและความไม่แน่นอนทำให้มีลูกค้านำเงินกู้ไปคืนธนาคารจำนวนมาก เนื่องจากไม่มั่นใจในผลประกอบการ ทำให้สินเชื่อมีการชะลอตัว รวมถึงมีการชะลอการเบิกจ่ายสินเชื่อที่ขออนุมัติไว้แล้ว"นายศรันย์กล่าว
สำหรับหุ้นในกลุ่มธนาคารที่แนะนำให้ลงทุนในระยะยาว ได้แก่ SCB, KBANK และ BBL เนื่องจากราคาปรับลงมาต่ำกว่าพื้นฐานมาก
บทวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ดีบีเอสวิคเคอร์ส ระบุว่ากลุ่มธนาคารพาณิชย์น่าจะมีการเติบโตของสินเชื่อกลุ่มในระดับ 5.7% และกำไรสุทธิจะเติบโตลดลง 4.0% เนื่องจากทุกธนาคารมีการเสียภาษีเต็มปีในปี 2549 อย่างไรก็ตาม กำไรสุทธิก่อนหักภาษียังคงเติบโต 14.7%y-o-y และรายได้ค่าธรรมเนียมก็เติบโตต่อเนื่องอีก 12.1% เรายังคงน้ำหนักการลงทุนในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไว้ที่ Overweight และแนะนำซื้อลงทุนใน BBL, KBANK, KTB และ SCB ให้ถือลงทุนใน BAY และ SCIB
บทวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์บัวหลวง แนะนำถือ โดยระบุว่ากลุ่มธนาคารได้แสดงสัญญาณที่ดีของการเติบโตสินเชื่อในเดือนพฤษภาคม อย่างไรก็ตาม เรามองว่าการรักษาระดับการเติบโตของสินเชื่อของกลุ่มธนาคารจะทำได้ยากในครึ่งหลังปี 2549 หากสภาพเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวและสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองยังคงดำเนินต่อไป เราแนะนำให้ลงทุนในสถาบันการเงินขนาดใหญ่ (KBANK, SCB และ KTB) เนื่องจากมีฐานเงินทุนเข้มแข็งและมีเครือข่ายกว้างขวาง (economies-of-scale) ทำให้มีต้นทุนดำเนินงานต่ำกว่า คู่แข่ง และสามารถรับมือกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนได้เป็นอย่างดี
|