เงินทุน
การตัดสินใจจะลงทุนมีร้านเป็นของตัวเองสักร้าน คงไม่ใช่เรื่องที่สามารถตัดสินใจกันได้เพียงแค่ชั่วคืนเดียวเสียแล้ว
เพราะทุกวันนี้มีศูนย์การค้าเกิดขึ้นมากมายทั้งในเขตกลางเมือง ชานเมือง และนอกเมือง
ซึ่งแต่ละศูนย์ล้วนเป็นตัวแปรหลักให้เกิดร้านค้าย่อยมากมายนับร้อยเท่าต่อหนึ่งศูนย์
และต่างก็ต้องดึงร้านค้าเหล่านี้เข้ามา เพื่อสร้างความหลากหลายให้กับโครงการของตน
ทั้งยังสามารถใช้เป็นตัวดึงดูดซึ่งกันและกันระหว่างห้างและพลาซ่า
จึงเป็นเรื่องแน่นอนที่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าการแข่งขันของร้านย่อยซึ่งมีอยู่ถึง
200-500 ร้านต่อศูนย์การค้า 1 ศูนย์ จะมีอยู่ในปริมาณที่สูงมาก
เมื่อตัดสินใจเลือกทำเลลงร้านได้แล้ว
จึงเป็นเรื่องแน่นอนที่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าการแข่งขันของร้านค้าย่อย
ซึ่งมีอยู่ถึง 200-500 ร้านต่อศูนย์การค้า 1 ศูนย์ จะมีอยู่ในปริมาณที่สูงมาก
เมื่อตัดสินใจเลือกทำเลลงร้านได้แล้วขั้นตอนการหาเช่าพื้นที่โดยทั่วไป
สามารถติดต่อได้โดยตรงกับเจ้าของโครงการ โดยเฉพาะกรณีที่เป็นโครงการเปิดใหม่
แต่ถ้าสนใจพื้นที่โครงการที่มีชื่อแล้ว ถ้าไม่รู้จักคนวงในก็อาจจะใช้วิธีง่ายๆ
ด้วยการเลียบเคียงถามกับร้านค้าในละแวกใกล้เคียงว่ามีร้านไหนปล่อยให้ให้เช่า
พร้อมกับสืบราคาและเงื่อนไขไปด้วยในตัว
เจ้าของร้านค้าย่อยต่างก็มีวิธีมอง และเลือกทำเลเปิดร้านที่ต่างกันออกไป
สำหรับคนที่เพิ่งจะเริ่มต้นมักจะใช้วิธีศึกษาและดูตัวอย่างจากร้านที่เปิดมาแล้วว่ามีที่ไหนบ้างที่ขายดี
เพราะอะไร เช่น มาบุญครอง อยู่ท่ามกลางสถานศึกษา คนทำงาน เป็นย่านกลางเมือง
ซึ่งทำให้คนมารวมกันเป็นจำนวนมาก เมื่อมีคนเดินมาก โอกาสขายของได้ก็มีมาก
เพราะนิสัยคนไทย ให้ได้คนเห็นของถ้าถูกใจก็ตัดสินใจซื้อได้ไม่ยาก ทำให้การลงร้านที่นี่จึงต้องใช้เงินลงทุนในวงเงินที่สูงสำหรับค่าเช่าพื้นที่ในย่านที่ติดตลาดแล้ว
แต่ถ้าจะเอาตัวอย่างจากย่านที่ติดตลาด มาเป็นตัวตัดสินใจเลือกทำเลอื่นๆ
โดยคาดการณ์ความน่าจะเป็นในอนาคต ประโยชน์ที่เจ้าของร้านจะได้อย่างหนึ่งจากการตัดสินใจก่อนก็คือ
ต้นทุนค่าเช่าพื้นที่ที่จะถูกกว่าคนมาทีหลัง แต่ความเสี่ยงก็จะสูงกว่าด้วย
เพราะทำเลที่ตัดสินใจมาลงทุนก่อนคนอื่นจะประสบความสำเร็จหรือไม่ และต้องใช้เวลาเท่าไร
ไม่สามารถรู้ล่วงหน้า และการคาดการณ์ของเจ้าของร้านใช่จะถูกต้องเสมอไป
ฉะนั้นสิ่งสำคัญสำหรับการรอคอยเจ้าของร้าน จะต้องมีเงินทุนสำรองไว้ให้เพียงพอ
สำหรับกรณีที่การเริ่มต้นไม่ประสบความสำเร็จในทีเดียวด้วย ขั้นต้นของเงินลงทุนถ้าเป็นพื้นที่ชานเมืองก็จะต้องใช้ทุนอย่างต่ำสุด
1 แสนบาท สำหรับร้านขายเสื้อผ้า หรือเครื่องสำอางล็อกเล็กๆ ขนาด 2x2 เมตร
หรือสูงถึง 300,000-1,000,000 บาท ขณะที่กลางเมืองราคาที่กล่าวนี้เป็นเพียงตัวเลขเริ่มต้นในการลงทุนสำหรับสินค้าและค่าเช่าเดือนแรกเท่านั้น
และแม้จะตัดสินใจได้ทำเลลงร้านเรียบร้อยแล้ว
ก้ใช่ว่าทุกอย่างจะราบรื่นเสมอไป
กลุ่มลูกค้า
ประการแรกนั่นคือ การเลือกสินค้าของร้านค้าทั้งใหม่และเก่าต้องไว จับทิศทางตลาดได้ถูก
ดูความเคลื่อนไหวของตลาดให้ดี และต้องพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนได้เสมอ เช่น
การติดตามความเคลื่อนไหวของวัยรุ่นในแต่ละยุค การเลือกหาสินค้าโดยดูจากแมกกาซีนและรายการทีวีจากต่างประเทศ
ฯลฯ
ที่สำคัญต้องเลือกสินค้าให้เหมาะกับทำเลที่เลือกลงร้าน และต้องไม่ลืมว่าลูกค้าทุกวันนี้ไม่โง่
ยิ่งการสื่อสารเป็นไปได้อย่างรวดเร็วแล้ว คงไม่ครหากับแค่ราคาและประเภทสินค้าของห้างต่างๆ
ทั่วกรุงที่ลูกค้าจะไม่รู้รายละเอียด
"ถึงร้านเราจะอยู่ชานเมือง แต่ขายสินค้าเหมือนร้านในมาบุญครอง ก็ใช่ว่าจะขายได้แพงกว่า
ถ้าขายแพงกว่าลูกค้าก็ไม่ซื้อ ลูกค้าเดี๋ยวนี้ไม่โง่เขาสืบมาหมดว่าร้านไหนขายเท่าไร
แล้วจึงจะเลือกซื้อร้านที่ถูกที่สุด อย่างพวกเครื่องสำอางขายแพงไม่ได้ ส่วนใหญ่ก็กำไรชิ้นละ
3-10 บาท ต้องอาศัยขายได้มากถึงจะอยู่รอด และที่ยังอยู่ได้ทุกวันนี้ก็อาศัยลูกค้าประจำ
คนทำงานออฟฟิศที่ต้องใช้เครื่องสำอาง ถุงน่อง ซึ่งไม่ต้องเข้าเมืองไปซื้อของเล็กๆ
น้อยๆ แค่นี้" เจ้าของร้านเครื่องสำอางย่านหลักสี่พลาซ่า เล่าถึงภาวะการค้าขายของร้าน
สินค้า
ที่เซียร์สตรีทเสริมศักดิ์ จันทร์ศิริ ประธานชมรมร้านค้าย่อย กล่าวว่าสินค้าที่จะมาลงที่เซียร์
ต้องเน้นสินค้าสำหรับผู้มีรายได้น้อย ถ้าจะขายแบบร้านค้าย่อยแถวมาบุญครอง
คงไม่มีใครมาซื้อพราะเซียร์เป็นห้างชานเมือง บริเวณใกล้เคียงส่วนใหญ่เป็นโรงงาน
คนที่แวะมาเดินส่วนใหญ่ก็เป็นคนใช้รถเมล์ เพราะเป็นจุดต่อรถระหว่างคนจากนอกเมืองเข้าสู่เมือง
ในขณะที่มาบุญครองสินค้าที่มาลงถ้าไม่ใช่สินค้าที่ขายไอเดีย หรือมีชื่อร้านที่ติดตลาดแล้ว
ก็ต้องจับกระแสตลาดให้ทัน
สำหรับตอนนี้ สินค้าที่อยู่ในความสนใจของวัยรุ่น-คนทำงาน ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักและมีกำลังซื้อ
ก็คือสินค้าแบรนด์เนมนอก และของเลียนแบบสำหรับกลุ่มลูกค้าต่างจังหวัดและชาวต่างชาติที่ไม่สนใจเรื่องของยี่ห้อแต่เน้นที่สินค้าราคาถูก
บางร้านจะเน้นสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งบางร้านก็จะวางสินค้าผสมกันไป การเลือกซื้อขึ้นอยุ่กับสายตาลูกค้าที่จะเลือกซื้อ
ตาดีได้ ตาร้ายก็อาจจะได้ของในราคานอก
"เคยรับเสื้อจากโรงงานมาราคา 150 บาท ติดยี่ห้อทิมเบอร์แลนด์แล้วตั้งราคาขาย
1,500 ก็มีคนซื้อเหมือนกัน จะว่าไปแล้วจริงๆ ก็ไม่ใช่ของปลอมเพียงแต่เป็นเสื้อที่ยังไม่ได้เอาไปตีตราที่เมืองนอกมาก่อนเท่านั้น
ถ้าเป็นสินค้ายี่ห้อนอกที่คุ้นเคยกันดีก็จะตั้งขายกำไรประมาณชิ้นละ 300-400
บาท อย่างเอสปรี ลีวายส์ ต่ำสุดก็ต้อง 200 บาทต่อชิ้น ต้องใจแข็งเวลาลูกค้าต่อ
ลูกค้าที่ซื้อสินค้าพวกนี้จะเดินดูทั่วทุกร้านเลือกร้านที่ถูกที่สุดจึงซื้อบางครั้งแวะมาถามตอนเช้า
หายไปทั้งวันเย็นถึงเดินกลับมาซื้อก็มี
แต่ถ้าเป็นสินค้าที่อยู่ในกระแสความนิยมมากก็อาจจะทำกำไ 3-4 เท่าตัวต่อหนึ่งชิ้น
อย่างรองเท้าแก้วสะท้อนแสงที่เคยนิยมต้นทุนจากนอก 400 บาท เอาเข้ามาขายได้ราคาถึง
3,000 บาท ตรงกันข้ามถ้าของค้างจนล้าสมัยปล่อยได้ก็ต้องปล่อยโดยอาจจะไม่ได้กำไร
ที่ร้านเคยมีหมวกใบหนึ่งตั้งราคาเริ่มแรก 800 บาทจากทุน 500 บาท ลดลงมาทีละร้อยสุดท้ายต้องขายไปในราคาเท่าทุนดีกว่าเหลือทิ้งไว้ในร้าน"
อดีตเจ้าของร้านค้ารายหนึ่งในมาบุญครองกล่าวพร้อมกับเล่าถึงสาเหตุที่ต้องเลิกร้านไป
เพราะทุนน้อยลงสินค้าได้น้อย ทำให้สู้ร้านที่มีของเยอะๆ ไม่ได้ และแนะนำว่าถ้าจะทำร้านต้องมีเงินและกล้าทุ่มไปเลยเต็มที่ทั้งต้องมีสายป่านเผื่อไว้ด้วย
ปัจจุบันอาจจะเรียกได้ว่า มาบุญครองเป็นแหล่งรวมของสินค้าเหล่านี้ไปเสียแล้ว
และเป็นที่แน่นอนว่าส่วนใหญ่จะเป็นในลักษณะของสินค้าที่หิ้วเข้ามาโดยไม่ผ่านศุลกากร
แต่เท่าที่ผ่านมาก็ยังไม่มีการเหลียวมองจากภาครัฐในเรื่องความถูกต้อง ทุกอย่างยังคงปล่อยไปตามกลไกการค้าขายของกลุ่มร้านค้าย่อย
หรือเจ้าของลิขสิทธิ์สินค้านั้นๆ ที่ส่งคนของบริษัทออกตรวจจับ เช่น ผลิตภัณฑ์ของลีวายส์
ที่ดังและมีการละเมิดลิขสิทธิ์จนมีการกวาดจับหนาตาถึงขั้นที่ทำให้ร้านค้าย่อยเบื่อและเลิกขายกันไปมากแล้วในปัจจุบัน
ซัปพลายเออร์
การหาสินค้าของเจ้าของร้านค้าย่อยในมาบุญครอง ส่วนมากถ้าไม่ใช่เจ้าของผู้ผลิตสินค้าเอง
ก็จะต้องมีแหล่งซื้อสินค้าที่ชัดเจน ทั้งจากบุคคลหรือสถานที่ใดที่หนึ่ง
จากการสำรวจพบว่า ร้านค้าส่วนใหญ่ใช้วิธีไปเลือกสินค้าเองในต่างประเทศที่เป็นผู้นำด้านแฟชั่น
ต้นกำเนิดสินค้าแบรนด์เนมดังๆ หรือแหล่งที่มีสินค้าราคาถูก อาทิ อเมริกา
ฝรั่งเศส อิตาลี ฮ่องกง เกาหลี
กรณีที่ไม่บินไปซื้อของเองก็ต้องมีพ่อค้าคนกลางที่จะรับซื้อหรือส่งของให้อย่างต่อเนื่อง
แต่ในความเป็นจริงหากเป็นไปได้ทุกร้านในมาบุญครองเลือกที่จะบินไปหาซื้อสินค้าเอง
เพราะจะได้ต้นทุนที่ถูกกว่ารับต่อจากพ่อค้าคนกลาง ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือเจ้าของร้านค้าที่จะต้องมาขายสินค้าแข่งกันนั่นเอง
สินค้าบางส่วนยังถูกเสนอขายโดยพ่อค้าขาจรที่จะมีที่มา 3 แหล่งหลักๆ สำหรับสินค้านอกคือ
กลุ่มไกด์ทัวร์ต่างประเทศ, พนักงานสายการบินที่หิ้วของติดไม้ติดมือเข้ามาหลังจากทำงานเพื่อเสริมรายได้
"ของที่หิ้วเข้ามาแต่ละเที่ยวบินของพ่อค้าไม่ใช่น้อย เที่ยวหนึ่งอย่างน้อยก็
3-4 กระเป๋าใหญ่ๆ ศุลกากรก็ไม่มีโอกาสที่จะตรวจทุกกระเป๋าทุกชิ้น เพราะกระเป๋าเหล่านี้ก็เหมือนกับการหิ้วของใช้ของฝากกลับจากการไปเที่ยวเมืองนอกธรรมดาๆ
พ่อค้าที่บินเองจะรู้แหล่งซื้อสินค้าราคาถูก รู้วิธีการขน ที่เห็นชัดอย่างพวกน้ำหอมถ้าขนมาแบบแกะกล่องทิ้งก้จะได้ราคาที่ถูกกว่าแบบที่มีกล่องเกือบเท่าตัว
ส่วนเงินที่ใช้ในการซื้อสินค้าของกลุ่มนี้ และเจ้าของร้านค้าส่วนใหญ่จะใช้รูดบัตรตามวงเงินที่สูงสุดคือเที่ยวละประมาณ
3-4 แสน เป็นลักษณะของเงินหมุน โดยบัตรที่นิยมใช้กันมากจะเป็นของกสิกร เพราะวงเงินสูงดอกเบี้ยต่ำ
และบัตรไดเนอร์ ซึ่งให้ส่วนลดสินค้าบางยี่ห้อได้อีกเมื่อใช้บัตร " เจ้าของร้านค้าย่อยรายหนึ่งเล่าถึงขั้นตอนการเดินทางของสินค้าก่อนจะมาวางอยู่หน้าร้านค้าของตน
สอง-กลุ่มเจ้าหน้าที่ศุลกากรบางส่วนที่ช่วยหน่วยงานของตนระบายสินค้าหนีภาษีที่จับมาได้ออกสู่ตลาด
ซึ่งเป็นที่ทราบดีว่าไม่ใช่หน้าที่ที่ระบุไว้อย่างถูกต้องในกฎหมายบ้านเมือง
และสาม-กลุ่มโรงงานผู้ผลิตสินค้าส่งนอก นำสินค้าบางส่วนออกขายก่อนจะส่งไปประทับตรายังประเทศต้นตำรับเพื่อเพิ่มต้นทุนสินค้าด้วยการพะยี่ห้อให้ถูกต้อง
ทั้งสามกลุ่มจะใช้วิธีเดินดูร้านค้าย่อยร้านใดขายสินค้าประเภทที่ตนมีก็จะเสนอตัวเข้าไป
พร้อมกับยื่นนามบัตรทิ้งไว้
ด้วยความนิยมในการหาสินค้าในลักษณะนี้ จึงไม่ต้องสงสัยว่าตัวเลขในบัญชีหมุนเวียนของเจ้าของร้านค้าย่อยเหล่านี้จะต้องมีไม่ต่ำกว่าเลข
6 หลักในแต่ละเดือน เพราะนอกจากจะต้องจ่ายในส่วนค่าเช่าพื้นที่ที่สูงกว่าที่อื่นๆ
แล้วยังต้องจ่ายในเรื่องของต้นทุนสินค้าอีกส่วนหนึ่งด้วย
หรือเฉลี่ยอย่างต่ำก็ควรขายสินค้าได้เฉลี่ยวันละเป็นหมื่นบาทจึงจะอยู่ได้อย่างสบาย
ที่โบนันซ่าฯ ภาวะการค้าขายและค่าเช่าพื้นที่ ไม่แตกต่างกันมากจากมาบุญครอง
สินค้าส่วนใหญ่จะมีเปอร์เซ็นต์ของการก๊อบปี้สูงกว่าของแท้จากเมืองนอก เจ้าของร้านมีทั้งมือใหม่และผู้ประกอบการรายเก่าที่ย้ายตัวเองมาจากการขายของย่านจตุจักร
ตามตลาดนัด หรือแม้กระทั่งกลุ่มขายของแบกะดิน เช่นเดียวกับรายดั้งเดิม อย่างผู้ค้าส่วนใหญ่ในมาบุญครองที่พัฒนามาขึ้นห้าง
ผู้ค้ารายใหญ่ๆ ที่คร่ำหวอดในวงการมานานจึงมีร้านของตัวเองมากกว่า 1 แห่ง
สินค้าที่ขายแม้จะหลากหลายแต่ก็มีผู้ค้าในแต่ละกลุ่มสินค้าเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้ากิ๊ฟต์ชอป
รองเท้า แว่นตา หรือร้านเสื้อผ้าสั่งตัดการแข่งขันจึงอยู่ที่ความรวดเร็วในการวางตลาดของสินค้าใหม่และราคา
"จอแจจัง" ร้านขายเสื้อผ้าวัยรุ่นที่มีการขยายตัวสูงสุดในโบนันซ่ามอลล์จากพื้นที่
2x2 ตารางเมตร จำนวน 2 ล็อก ขยายเพิ่มเป็น 4-5 ล็อกโดยอีก 3 ร้านเป็นผู้รับสินค้าจากร้านไปขายประสบความสำเร็จเพราะมีโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าของตนเอง
จับตลาดได้เร็วว่าตลาดต้องการอะไร แล้วใช้วิธีเหมาผ้าทั้งล็อตสั่งตัดเป็นจำนวนมาก
เมื่อสามารถวางตลาดได้ก่อนใคร การตั้งราคาก็ได้เปรียบรายอื่น และเมื่อมีสินค้าจากผู้ค้าย่อยรายอื่นตามออกมา
จากกำไรที่โกยไปได้ก่อนแล้วทำให้ "จอแจจัง" สามารถกดราคาลงมาตัดราคาผู้ค้ารายอื่นได้อีกต่อหนึ่งด้วย
ทั้ง อาศัยที่เป็นร้านที่เปิดตัวมานานทำให้ชื่อของจอแจจังอยู่ตัวแล้วสำหรับกลุ่มร้านค้าในโบนันซ่าฯ
นี่ด้วย
เจ้าของร้านขายเสื้อผ้ารายหนึ่งในโบนันซ่า ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงในกรณีของจอแจจัง
กล่าวถึงสาเหตุที่ต้องเลิกกิจการไปว่าเป็นเพราะไม่ได้ผลิตสินค้าเองต้องรอผู้ค้าส่งย่านประตูน้ำผลิตแล้วรับมาขาย
ทำให้ตามตลาดไม่ทัน ซ้ำต้นทุนก็สูงกว่าผู้ที่ผลิตเอง กว่าจะได้สินค้ามาขาย
ร้านที่ผลิตเองก็ขายจนอิ่มตัวแล้ว เมื่อมีคู่แข่งเพิ่ม เขาจึงสามารถกดราคาลงได้
สุดท้ายทนขาดทุนไม่ไหว จึงต้องเลิกกิจการร้านไปในที่สุด
ตัวอย่างนี้จึงเป็นอีกข้อหนึ่งที่พึงระวังสำหรับผู้ที่คิดจะเปิดร้านใหม่ด้วยว่า
ถ้าคิดจะเป็นเจ้าของร้านค้าสักแห่งจะมีช่องทางการหาสินค้าอย่างไร ถ้าไม่มีเพื่อน
คนรู้จักที่มีโรงงานผลิต หรือไม่สามารถผลิตสินค้านั้นๆ ได้เอง โอกาสแข่งขันกับผู้อื่นก็ยิ่งน้อยลงไปอีกหลายเท่าตัว
หากเป็นอย่างนี้แล้ว เจ้าของร้านค้าย่อยอย่าหวังที่จะยืมจมูกคนอื่นหายใจเพราะในวงการไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวรผู้ที่คิดจะเป็น
เจ้าของร้านค้าย่อยจึงต้องมั่นใจแล้วว่าต้องมีทุกอย่างพร้อมและสามารถยืนบนลำแข้งของตนเองได้
ค่าเช่า
สำหรับศูนย์การค้าที่อยู่ตัวแล้วกลไกการปล่อยเช่าพื้นที่จะมีหมุนเวียนเดินได้ด้วยตัวของมันเอง
โดยที่เจ้าของศูนย์ผู้ปล่อยเช่าพื้นที่ให้กับผู้เช่ามือหนึ่งไม่ต้องเข้ามารับรู้
อย่างกรณีของมาบุญครอง ผู้เช่ามือหนึ่งที่ไม่สามารถประคองร้านตัวเองให้อยู่รอดได้
ถ้าไม่ทนทู่ซี้ขี่หลังเสือ หรือหมดทุนสำรองไปเสียก่อน ก็จะหาผู้เช่าต่อด้วยการบวกกำไรเพิ่มจากค่าเช่าที่ตนเช่ามาชดเชยกับการดำเนินงานที่ขาดทุนไป
ราคาของผู้เช่ามือต่อๆ ไปจึงเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5,000-10,000 บาทต่อล็อกพร้อมกับเงินเปล่าซึ่งไม่มีในสัญญาที่ผู้อยากจะเป็นเจ้าของร้านค้าย่อยรายใหม่ๆ
จำใจจ่ายกันสืบมาจนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ยั่งยืน
แม้จะรู้อยู่เต็มอกว่าในฐานะผู้เช่าต่อสิทธิ์การเช่าพื้นที่ในปีต่อๆ ไป
จะมีหรือไม่ก็ตาม
สิ่งนี้จึงต้องขึ้นอยู่กับความรอบคอบของการทำสัญญาเป็นรายๆ ไป ซึ่งเจ้าของโครงการโดยทั่วไปจะไม่รับรู้สัญญาในส่วนนี้ที่ทำกันเองระหว่างร้านค้าย่อย
โดยทุกโครงการมักจะระบุไว้ในสัญญาแล้วว่า "ห้ามให้ผู้อื่นเช่าต่อ"
สาเหตุที่เจ้าของร้านค้าย่อยต้องฝ่าฝืนสัญญาข้อนี้ เพราะถ้าปฏิบัติตามสัญญาแล้วไม่หาผู้เช่าต่อ
ก็จะต้องเสียเงินประกันหรือมัดจำที่จ่ายให้กับเจ้าของโครงการที่จ่ายไปก่อนหน้านั้นแล้ว
จึงต้องหาเงินชดเชยจากผู้เช่ารายต่อไปซึ่งต้องเป็นผู้มารับช่วงความเสี่ยงต่อ
ผู้เสี่ยงรายต่อไปจะเสี่ยงมากเสี่ยงน้อยก็ต้องวัดใจคู่สัญญาของตัวว่าจะเชื่อใจและให้ความช่วยเหลือได้มากน้อยเพียงไร
ลูกจ้าง
ปัญหาสุดท้ายของร้านค้าย่อยก็หนีไม่พ้นเรื่องของบุคลากร ที่เป็นปัญหาสำคัญในธุรกิจทุกแขนง
นอกเหนือจากตัวเจ้าของร้าน ซึ่งส่วนใหญ่ถ้าเป็นผู้ค้ารายเก่าๆ ที่สามารถแตกสาขาของร้านได้แล้ว
ก็จะลาออกจากงานประจำมาบริหารดูแลเอง สำหรับรายใหม่ที่ยังไม่มั่นใจเต็มที่
ส่วนใหญ่จะมีงานประจำโดยการหาเพื่อนหรือคนรู้จักที่ไว้ใจได้มาช่วยดูแลร้าน
รายที่มั่นใจแล้วก็จะลาออกจากงานประจำมาขายของอย่างเดียว ซึ่งกลุ่มนี้มักจะมีประสบการณ์การขายของบ้างแล้ว
เช่น เคยช่วยพี่ขายสมัยเรียนหนังสือ มีญาติทำอยู่ก่อนในลักษณะเดียวกัน
รายที่ต้องจ้างเด็กหน้าร้าน ก็ต้องฝึกฝนให้เด็กรู้จักและเรียนรู้ตลาดรอบด้านทั้งเรื่องของการตั้งและต่อรองราคา
เพราะถ้าไม่ชำนาญงานก็จะทำให้ลูกค้าหนีได้ ลูกค้าบางคนพอใจที่จะซื้อสินค้ากับเจ้าของร้านมากกว่าเด็กขายของ
เพราะเชื่อว่าจะทำให้ต่อราคาของได้ถูกที่สุด หรือตัวอย่างกรณีผู้ผลิตสินค้าให้จอแจจัง
ก็เริ่มมีความคิดที่จะหันมาเป็นผู้ค้าเอง ในฐานะที่ตัวเองมีความสามารถในการผลิตป้อนผู้อื่นมาแล้ว
ปัจจับอีกประการหนึ่งที่ทำให้ปัญหาบุคลากรรุนแรงขึ้นอีกคือ การทุ่มทุนซื้อตัวของร้านค้าใหญ่ที่มีการเปิดสาขาและมีความมั่นคงกว่า
ซึ่งพร้อมจะทุ่มเงินดึงคนขายหน้าร้านที่มีความสามารถมาอยู่กับตนได้อย่างเต็มที่
ปัจจุบันร้านค้าย่อยในห้างเกือบทุกแห่งจะประสบปัญหานี้อย่างถ้วนหน้าจนไม่สามารถพัฒนาคนขึ้นมาหน้าที่แทนได้ทัน
สารพันปัญหาและเรื่องราวของคนที่อยากจะมีร้านค้าเป็นของตัวเอง จึงไม่ใช่เรื่องธรรมดาๆ
ที่มือใหม่ๆ หรือแม้แต่มือเก่าแต่ต่างถิ่น จะคิดเข้ามารับโชคแห่งความสำเร็จได้โดยปราศจากฝีมือ
และการเรียนรู้กลไกที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วของสภาวะการแข่งขันของตลาดค้าปลีก
เพราะไม่มีสินค้าใดอีกแล้วที่จะมีผู้ค้าเพียงคนเดียว