เจ้าของร้านค้าย่อยที่เติบโตอยู่มากมายในตลาดค้าปลีกเมืองไทย ดูจะเป็นกลุ่มยัปปี้รุ่นล่าสุดขนาดแท้ที่มีงานและการใช้ชีวิตที่เป็นสุขกับอาชีพอิสระในฐานะเจ้าของกิจการส่วนตัวเล็กๆ
พร้อมกับอุปกรณ์การดำเนินชีวิตตามสูตรของยัปปี้ที่ครบครัน ตั้งแต่ขับรถส่วนตัว
พกเครื่องมือสื่อสาร ใช้เครดิตการ์ด เที่ยวคลับ ดื่มโคล่า พักคอนโด ฯลฯ
มาบุญครอง ซึ่งเป็นแหล่งเติบโตอย่างมากของกลุ่มร้านค้าย่อย ผู้ค้าส่วนใหญ่มีด้วยกันหลายประเภท
ตั้งแต่ปากกัดตีนถีบมาด้วยตัวเองไต่เต้าจากการขายของตามแผง แบกะดิน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องอดทนและอดมากกว่าจะมีวันนี้
อีกกลุ่มที่ใหญ่ไม่แพ้กัน และมักจะเป็นเจ้าของร้านใหญ่ๆ ก็คือกลุ่มลูกคนรวย
ซึ่งที่บ้านมีฐานะและทุนสำรองให้เข้ามาลงทุนในธุรกิจนี้ แทนการเรียนหนังสือที่ไม่ค่อยเป็นที่พิสมัย
"ลูกคนรวยกลุ่มนี้ มีทั้งทำตัวเป็นพ่อค้าคนกลางชอบเที่ยวต่างประเทศ
พอกลับก็หิ้วของเข้ามาขายหารายได้ให้ตัวเองแต่ไม่เปิดร้าน บางคนก็ทำเป็นหลักแหล่ง
นอกจากกลุ่มนี้แล้วกลุ่มพ่อค้าที่รวมตัวกันค่อนข้างใหญ่ก็เป็นกลุ่มคนใต้
ซึ่งชอบอาชีพอิสระและหันมาทำการค้า และเป็นกลุ่มที่มีพื้นฐานเศรษฐกิจดี คนกลุ่มนี้แม้จะมีรายได้ดี
มีอำนาจการใช้จ่ายสูงแต่ก็ใช้เงินเป็น ไม่ฟุ่มเฟือย จะเที่ยวผับ เที่ยวเธคบ้างก็จะพาเด็กในร้านไปเลี้ยง"
เจ้าของร้านรายหนึ่งในมาบุญครองเล่าให้ฟังถึงพฤติกรรมของร้านค้าย่อยบางกลุ่ม
อีกกลุ่มก็จะเป็นกลุ่มที่อยากหารายได้เพิ่มเติมพิเศษระหว่างเรียนหรือทำงานประจำ
ขอทุนพ่อแม่มาเปิดร้านว่างจากงานหรือการเรียนก็มาดูแลร้าน บางรายเรียนจบมาก็มาคุมร้านอย่างเดียว
เหล่านี้คือตัวอย่างที่มาของกลุ่มเจ้าของร้านค้าย่อย ซึ่งยังเป็นอาชีพที่อีกหลายคนยังอยากจะเข้ามาเมื่อมีโอกาสและความพร้อม
หมี่ จุ๊บ และเมี่ยง สามพี่น้องที่มีความเห็นตรงกันที่อยากจะมีอาชีพอิสระตัดสินใจดำเนินกิจการร้านขายเสื้อผ้าครั้งแรกเมื่อประมาณ
7 ปีก่อนโดยเปิดร้านที่วิกตอรี่ย่านสามเหลี่ยมดินแดงด้วยเงินลงทุนที่ยืมมาจากพ่อแม่
40,000 บาท ทำได้ไม่นานห้างหยุดกิจการก็เลยต้องเลิกตามแม้ที่ผ่านมาจะมีรายได้พออยู่ได้และที่นี่ก็เป็นที่กำเนิดของชื่อ
"จอแจจัง" ที่ขยายสาขากว่า 4 ห้องในย่านสยามสแควร์
"ฐานะทางบ้านของพวกเราก็พอมี ไม่ได้เดือดร้อน ที่มาทำตรงนี้ก็เริ่มทำแบบพอดีกับตัว"
หนึ่งในสามกล่าว
คงจะจริงที่ทั้งสามไม่ได้เดือดร้อนกับรายได้ว่าจะมีเงินเท่าไร เพราะยังมีอารมณ์ขันที่จะตั้งชื่อร้านประชดห้างที่แสนเงียบว่า
"จอแจจัง" ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้มาถึงทุกวันนี้
จุ๊บเล่าว่าเข้ามาทำอาชีพนี้เต็มตัวตั้งแต่เรียนจบ เริ่มจากการเข้าไปคลุกคลีกับร้านค้าเสื้อผ้า
ดูวิธีการจัดการแล้วก็มาคิดกันว่าเราน่าจะทำกันได้ และโดยพื้นฐานก็รู้จักการค้ามาจากพ่อแม่ซึ่งมีอาชีพค้าขายมาบ้าง
จึงเริ่มทำกันเองตั้งแต่หาซื้อผ้าเหมาล็อต ออกแบบจ้างคนเย็บ ขนส่ง ค่อยๆ
เรียนรู้เพิ่มเติม ทุกอย่างใช้จ่ายเป็นเงินสดและทำโดยช่วยกัน 3 คน ส่วนหมี่
และเมี่ยง เคยทำงานประจำกันมาก่อนจะออกมาทำอาชีพนี้เต็มตัว
"ที่ไม่ใช้เครดิต เพราะไม่อยากให้งบบานปลายทำเท่าที่พอทำได้ ทุกอย่างจะเคลียร์ด้วยเงินสด
การเพิ่มลดสินค้าตามภาวะตลาดก็จะทำได้เร็วเพราะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเรา
ซึ่งจะรู้ว่าภาวะการค้าเป็นอย่างไรช่วงไหนขายดีหรือไม่ดีอย่างตอนนี้จะมีสินค้าออกใหม่ทุกอาทิตย์"
หมี่เล่าถึงการทำงาน
การดำเนินชีวิตของทั้งสามคนเป็นไปอย่างอิสระตามอาชีพ เช้าตื่นนอนได้ตามสะดวกเลิกงานตามความพอใจ
"ปกติจะตื่นประมาณ 9 โมงครึ่งจากบ้านที่นนทบุรีก็จะมาเปิดร้านเบื่อก็เดินชอปปิ้งใกล้ๆ
จะไปไหนก็ไปได้ ตอนเย็นปิดกลับบ้านก็พักผ่อน ไม่ค่อยเที่ยวเพราะเที่ยวมามากแล้วสมัยเรียน
ไปต่างประเทศบ้างก็ปีละ 2 ครั้ง ไปใกล้ๆ อย่างฮ่องกง เพราะยังมีภาระต้องดูแลร้านไปไหนนานก็ไม่ดี
ส่วนการใช้เงินก็ไม่ฟุ่มเฟือย ใช้น้อยกินข้าวก็กินข้าวแกง เสื้อผ้าก็ใส่ของที่ตัดขายเอง
มีพกบัตรเพราะกลัวใช้เงินเพลิน บางร้านอาจจะทำเพราะต้องใช้เงินหมุน แต่เราอยากทำแบบสบายไปตามกำลังที่มี"
นี่คือการดำเนินชีวิตคร่าวๆ ของทั้งสาม ซึ่งใช้ชีวิตและทำงานร่วมกันตลอด
ธุรกิจของ "จอแจจัง" หลังจากเลิกร้านที่วิกตอรี่ ก็หันไปจับพื้นที่ที่สวนจตุจักรขายเสื้อกางเกง
ทั้งปลีกและส่งโดยจ่ายค่าเช่าเดือนละ 3,500 บาท ซึ่งเป็นที่ที่ทำรายได้ดีมาก
เป็นช่วงที่สนุกสนานกับงานที่สุด มาตอนหลังก็ต้องเลิกกิจการที่นี่ไปประมาณไม่ถึงปีที่ผ่านมา
เพราะเริ่มมีปัญหาผลิตสินค้าไม่ทันมีช่างเย็บรายเดียวและไม่มีเวลาดูแล เพราะช่วง
3 ปีหลังจอแจจังขยายมาเปิดร้านเพิ่มที่โบนันซ่ามอลล์ อี 2 ล็อก
การมีช่างเย็บรายเดียวไม่ใช่เพราะไม่มีคนรับงาน ตรงกันข้ามมีคนขอรับงานเยอะ
แต่ต้องเลือกที่ฝีมือดี และหากเกิดปัญหาช่างเย็บจะออกไปเปิดร้านขายเองคิดว่าคงสู้เราไม่ได้
เพราะจะขาดความชำนาญในเรื่องการออกแบบ และประสบการณ์ด้านการขาย ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ร้านอยู่รอด
ปัจจุบันจอแจจังมีร้านของตนเองอยู่ 4 ล็อก ที่โบนันซ่ามอลล์ 2 ล็อก บริเวณหัวมุมชั้นสอง
และร้านที่รับช่วงสินค้าไปขายอีกประมาณ 3 ล็อก เป็นร้านขายสินค้าราคาถูกเน้นขายปริมาณซึ่งเปิดมาได้
3 ปี โดยหมี่เล่าว่าปีแรกภาวะการค้าก็ยังไม่บูม มาบูมตอนเข้าปีที่สอง พอปีที่
3 กลับไปเหมือนปีแรก ปีต่อไปก็ไม่แน่ว่าอาจจะมีภาวะไม่ดี จึงขยายสาขาเพิ่มมาที่ศูนย์การค้าบริเวณโรงหนังลิโดที่สร้างใหม่หลังจากถูกไฟไหม้ไปเมื่อปีที่แล้ว
และมีแนวโน้มว่าจะบูมไม่แพ้มาบุญครอง
"ที่ลิโดค่าเช่าพื้นที่อาจจะดูแพงกว่าแต่เฉลี่ยแล้วก็พอกับโบนันซ่าเพราะพื้นที่มากกว่า
ร้านแรกที่ได้ที่ลิโดก็เลยลงเสื้อผู้ชายเพื่อจะได้ไม่ซ้ำกับที่โบนันซ่า พร้อมกับอัพเกรดสินค้าขึ้นมาอีกระดับเพื่อให้เข้ากับความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่เดินบริเวณนี้
พอได้ร้านที่สองก็เลยต้องลงเสื้อผ้าผู้หญิงซึ่งก็เป็นอีกเกรดกับเสื้อผู้หญิงที่ขายอยู่ที่โบนันซ่า"
ร้านที่โบนันซ่า จ้างเด็ก 2 คนมาดูแลร้าน ส่วนที่ลิโดก็ดูแลเอง ช่วยกันดูให้น้องชายมาช่วยขาย
จากที่ดูเองทำให้รู้ว่าที่นี่กำลังเป็นที่นิยม การลงทุนร้านเริ่มแรกก็ต้องใช้เงินหลายแสน
ผิดกับเมื่อก่อนที่ใช้เพียงไม่กี่หมื่น ถ้าทุกอย่างอยู่ตัวอีกไม่กี่ปีก็คงหยุดพัก
ให้เด็กขายซึ่งคิดว่ารายได้ก็ต่างจากเราขายเอง แล้วก็จะเริ่มเที่ยวกัน
อย่างไรก็ดี ทั้งสามคนพอใจแล้วกับสิ่งที่ได้ทำมา และไม่คิดจะทำอะไรที่เกินกำลังจะดูแลได้ถึง
และมีแผนจะหยุดพักแล้วเที่ยว เป็นการให้รางวัลแก่ชีวิตแม้ทั้งสามจะอยู่ในวัยเพียงไม่เกิน
30 ปี ซึ่งเป็นวัยที่อีกหลายคนยังไม่มีโอกาสได้เริ่มต้น อย่างนี้แล้วจะไม่ให้อาชีพนี้เป็นอาชีพที่น่าใฝ่ฝันหาของคนนอกวงการอีกหรือ
ตัวอย่างพัฒนาการของร้านค้าย่อยที่ประสบความสำเร็จก็เป็นเรื่องสวยงามที่น่ายินดี
ในทางกลับกัน หากสิ่งที่คิดไว้ไม่บรรลุเป้าหมาย สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดก็คือการต่อสู้เพื่อยืนบนลำแข้งตัวเองให้ได้ในฐานะที่ก้าวลงสนามมาแล้ว
ไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่าการต่อส ู้เพื่อความอยู่รอดของร้านค้าตัวเองเป็นเรื่องยาก
และมีตัวอย่างให้พบเห็นได้มากแล้วแต่ถ้าต้องแบกรับสุขหรือทุกข์ของเพื่อนร่วมอาชีพด้วยแล้ว
น้อยคนคงจะตอบได้ว่ามันเป็นอย่างไร
เสริมศักดิ์ จันทร์ศิริ ประธานชมรมร้านค้าย่อยเซียร์รังสิต คงเป็นหนึ่งในจำนวนน้อยคนที่สามารถอธิบายจุดยืนของตัวเองในขณะนี้ได้เป็นอย่างดี
หลังจากสู้ชีวิตกับอาชีพต่างๆ มาหลายอย่าง นับแต่นักข่าว ซื้อขายรถเก่า
จนมาลงเอยที่งานร้านค้าย่อย ที่เสริมศักดิ์หรือ "พี่ตุ้ย" ของผู้สนิทสนมพบว่าจะลงเอยกับชีวิตของตัวเองมากที่สุด
เพราะมีความเป็นอิสระ แถมวาดหวังไว้ว่าจะมีรายได้ดีพอสมควร แต่การณ์ก็กลับตรงกันข้าม
ด้วยภาพบรรเจิดที่ผู้บริหารศูนย์วาดไว้ให้เสริมศักดิ์ได้เคลิบเคลิ้ม ทำให้เขาได้จับจองร้านค้าย่อยใน
2 ทำเลชานเมืองคือ หลักสี่พลาซ่า และเซียร์รังสิต เขาทุ่มเทเม็ดเงินไปเกือบครึ่งหนึ่งที่เขามีอยู่
ทางหลักสี่พลาซ่าแม้ว่าจะกระท่อนกระแท่นเรื่องลูกค้าไปบ้าง แต่ก็ยังพอไปได้
แต่ที่เซียร์รังสิตทำเขาเจ็บช้ำมาก และด้วยวิสัยของผู้รักความเป็นธรรมมาแต่แรกบวกกับบุคลิกชอบช่วยเหลือผู้อื่นและกล้าแสดงออก
ทำให้เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานชมรมร้านค้าย่อยเซียร์รังสิตไปโดยปริยาย
"ทางผู้บริหารโฆษณาเสียสวยหรูแต่แรกว่า จะมีทั้งโรงภาพยนตร์ สวนสนุก
ศูนย์วัฒนธรรม ซึ่งจะเป็นตัวดึงคนได้เป็นอย่างดี แต่พออยู่ไปๆ ก็ไม่เห็นความคืบหน้าแต่อย่างใด
ทำให้ร้านค้าย่อยโดยเฉพาะชั้น 4 ที่ผมอยู่ลำบากมากอย่างบางวันนผมขายโค้กได้เพียงกระป๋องเดียวก็เคยมี
เราจึงได้มีการรวมตัวกันในกลุ่มร้านค้า ซึ่งใครไม่เห็นด้วยก็ไม่ว่าอะไร เพียงแต่ว่าถ้ามีเรื่องต้องต่อรองกับทางห้างทางชมรมจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย"
จนถึงวันนี้ เสริมศักดิ์ได้เจรจากับทางผู้บริหารศูนย์เสร็จสิ้นไประดับหนึ่งและได้หยุดการเคลื่อนไหวของชมรมไว้ชั่วครู่
เพื่อรอฟังผลต่อไปว่าภายในเดือนพฤษภาคมนี้ จะมีอะไรคืบหน้าหรือไม่ซึ่งหากไม่มีทางเสริมศักดิ์ก็พร้อมเดินหน้าเจรจาไม่หยุด
นี่ก็เป็นอีกบุคลิกหนึ่งของเจ้าของร้านค้าย่อยในโลกาภิวัตน์ที่ยังต้องต่อสู้ต่อไป