การร่วมมือกันระหว่างไดสตาร์ บริษัทของคนไทยกับยักษ์ใหญ่ "แดวู"
จากเกาหลีเป็นอีกก้าวหนึ่งที่น่าสนใจ โดยเฉพาะแดวูนั้นแสดงถึงทิศทางที่จะบุกไทยอย่างเต็มตัว
หลังจากผู้ผลิตสินค้ารายอื่นๆ ของเกาหลีบุกไทยมาก่อนหน้านี้แล้ว
จากอดีตที่มีการเติบโตอย่างสม่ำเสมอ ตั้แต่การเปิดเป็นบริษัทขายเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไปในชื่อ
"เซ็นทรัล ออดิโอ" ของตระกูล "ทีฆคีรีกุล" ปี 2525 แล้วก็เริ่มนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าสำเร็จรูปจากเกาหลีและสิงคโปร์มาจำหน่ายโดยติดยี่ห้อของตนเองว่า
Distar
ย่างปี 2531 ว่าจ้าง บริษัทไดสตาร์อุตสาหกรรมผลิตทีวีสีเพื่อขายในประเทศ
จากนั้นกิจการเริ่มเข้าที่เข้าทาง อุตสาหกรรมการผลิตทีวีสีเริ่มดีขึ้น ก็เพิ่มบทบาทตนเองมาเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้ายี่ห้อ
Funai อีกยี่ห้อหนึ่งโดยที่ตลาดระดับกลางลงมาล่างซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย
สองปีต่อมาได้เข้าซื้อกิจการบริษัทแอมคอลอิเลคโทรนิคแล้วเปลี่ยนชื่อมาเป็น
ไดสตาร์ จนปัจจุบัน จากนั้นก็ตั้งหน่วยวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้นเพื่อทำการผลิตทีวีสีและเครื่องเล่นวิดีโอเองตั้งแต่ปี
2535 โดยถือได้ว่าไดสตาร์คือผู้บุกเบิกตลาดวิดีโอแบบเล่นอย่างเดียวมาแต่ยุคนั้น
เมื่อตลาดผู้บริโภคระดับกลางลงมาล่างเติบโตสูงมากในช่วงปี 2536 ไดสตาร์ก็ได้ตั้งบริษัทไดสตาร์เชนขึ้น
เพื่อทำตลาดในลักษณะเงินผ่อน และตั้งบริษัทพานาเชน เพื่อทำการจำหน่ายสินค้าของ
เนชั่นแนล/พานาโซนิคในระบบเงินผ่อนอีกด้วยเมื่อต้นปี 2537 นอกจากนั้นยังตั้งบริษัท
ออดิโอเชน อีกบริษัทหนึ่งเพื่อทำตลาดเครื่องเสียงนำเข้ายี่ห้อ AIWA
กล่าวได้ว่าไดสตาร์ อิเลคทริก ก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ
เพราะมีสินค้าอยู่ในมือเกือบทุกชนิดแล้วไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อความบันเทิงอย่างเครื่องเสียง,
ทีวี, วิดีโอ หรือเทเลวิดีโอ และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านตั้งแต่พัดลม, กระทะไฟฟ้า,
หม้อหุงข้าว, เตาอบ, เครื่องซักผ้า, เตารีด, เครื่องทำน้ำอุ่น, เครื่องปรับอากาศ
ตลอดจนถึงเครื่องดูดฝุ่น ซึ่งจะผลิตเองแทบทั้งสิ้น
อัตราการเติบโตแต่ละปีมีไม่ต่ำกว่า 25% อย่างเมื่อสิ้นปี 2536 สามารถสร้างยอดขายได้กว่า
1,000 ล้านบาท อีกทั้งสามารถนำบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้สำเร็จเมื่อต้นปี
38
แม้ว่าการเติบโตของไดสตาร์จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่จากการปรับโครงสร้างภาษีนำเข้าของไทยตามข้อตกลงของ
GATT ซึ่งเริ่มมีผลบังคับตั้งแต่ 1 มกราคมปีนี้ ทำให้ไดสตาร์ต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรง
เนื่องจากสินค้านำเข้ามีราคาถูกลง แต่แม้ว่าภาษีนำเข้าชิ้นส่วนจะลดลงจากเดิม
ทว่าการลดในส่วนนี้มีน้อยกว่าสินค้าสำเร็จรูปนำเข้า ฉะนั้นไดสตาร์จะอยู่นิ่งรอการเติบโตต่อไปคงเป็นไปไม่ได้แล้ว
การร่วมทุนกับแดวู อิเลคโทรนิค เพื่อตั้งบริษัทแดวูคอนซูเมอร์อิเล็กโทรนิค
(ประเทศไทย) จำกัด โดยจุดประสงค์ในอันที่จะนำเทคดนโลยี, การบริหารการตลาด,
การขาย, การประกอบชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนชนิดต่างๆ รวมถึงชิ้นส่วนและอะไหล่
และเป็นบริษัทตัวแทนในการวางแผนการตลาด
"พูดง่ายๆ ก็คือเรากับแดวูจะร่วมกันผลิต และทำตลาดด้วยกัน ไดสตาร์
จะเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายแดวูแต่ผู้เดียวในประเทศไทย"
สมชาย ตั้งศรีสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สรุปความกับ "ผู้จัดการ"
ซึ่งการร่วมทุนกับแดวูครั้งนี้สามารถลดแรงกดดันให้กับไดสตาร์ได้อย่างมาก
หลังจากรัฐบาลประกาศลดอัตราภาษีนำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าจาก 1-30% เหลือ
0.5% แม้เป็นการทยอยลดลงไปเรื่อยๆ ในระยะ 10 ปีนับแต่บัดนี้ก็ตาม
ส่วนเหตุผลที่แดวูเลือกร่วมลงทุนกับไดสตาร์นั้น มร.เค เอช นัม ประธานกรรมการของแดวูอิเลคโทรนิค
(เกาหลี) ให้เหตุผลว่า "เป็นเพราะอัตราการเติบโตและผลประกอบการ เราดูแล้วเป็นที่น่าพอใจทั้งจากที่เขาสามารถนำบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้เมื่อต้นปี
2538 นั่นแสดงว่าไดสตาร์มีมาตรฐานที่ดีในการดำเนินงาน และคุณภาพสินค้าเป็นที่ยอมรับของตลาด
อีกทั้งช่องทางจัดจำหน่ายของเขาก็ครอบคลุมทั่วประเทศ"
สำหรับวิวัฒน์ ทีฆคีรีกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ไดสตาร์ กล่าวว่า "แดวูเขาติดอันดับ
1 ใน 3 ของบริษัทชั้นนำในเกาหลี และติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ขณะที่เราก็เป็นบริษัทซึ่งผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายไดสตาร์ที่มีอัตราการเจริญเติบโตถึงกว่า
50% คุณภาพของสินค้า, การบริหารการตลาด, การจัดจำหน่าย เรามั่นใจว่าได้มาตรฐาน
และราคาของเราก็เหมาะสมกับตลาด การร่วมมือกันครั้งนี้เป็นการใช้ความชำนาญคนละด้านรวมกันเป็นหนึ่งเดียวให้เกิดความสำเร็จในอุตสาหกรรมการผลิต
และจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าต่อไปในอนาคต"
โดยในปี 2536 ที่ผ่านมาแดวูอิเลคโทรนิคทั่วโลกสามารถทำยอดขายได้ถึง 2,479
ล้านเหรียญสหรัฐหลังจากได้ตั้งฐานการผลิตไปทั่วโลกกว่า 10 ประเทศและสำนักงานตัวแทนจำหน่ายอีก
16 ประเทศ
ฉะนั้นเกมความร่วมมือในสัดส่วนไดสตาร์ 70% แดวู 30% นี้ถือว่าได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่ายคือ
ไดสตาร์ได้เทคโนโลยีและสินค้าเข้ามาอยู่ในมืออีกยี่ห้อหนึ่ง รวมทั้งโรงงานใหม่ที่ระยองก็จะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นจากการถ่ายทอดเทคโนโลยีของแดวู
ส่วนแดวูก็สามารถเข้ามาเปิดช่องทางจัดจำหน่ายได้รวดเร็วขึ้น โดยอาศัยความคล่องตัวในการทำตลาด
และจากตัวแทนจำหน่ายกว่า 300 แห่งทั่วประเทศของไดสตาร์ รวมถึงตัวเลขการผลิตที่ทำขึ้นได้ถึง
10,000 กว่าเครื่องต่อเดือน (ส่งออก 30%) ย่อมจะสามารถนำพาสินค้าภายใต้ยี่ห้อแดวูไปได้อย่างไม่ยากเย็น
ซึ่งกลุ่มลูกค้าระดับกลางลงมาล่างยังมีช่องว่างอีกมากสำหรับแดวูหลังจากที่ไดสตาร์ทำตลาดมาบ้างแล้ว
โดยราคาของแดวูที่ไดสตาร์กำหนดไว้จะอยู่ในอัตราสูงกว่าไดสตาร์กำหนดไว้ จะอยู่ในอัตราสูงกว่าไดสตาร์นิดหน่อยแต่ไม่ถึงระดับสินค้าญี่ปุ่น
กลุ่มลูกค้าจะอยู่ระดับกลางลงมาล่างเช่นเดิม
จากเกมธุรกิจของไดสตาร์แม้กระทั่งแดวูเองครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการดิ้นท่ามกลางกระแสเสรีทางเศรษฐกิจ
จุกแข็งต่างๆ ของไดสตาร์ไม่ว่าจะเป็นฐานลูกค้าที่มีอยู่ทั่วประเทศ, เครื่องหมายการค้าที่มีเป็นของตนเอง,
การมีโรงงานถึง 2 โรงงาน, มีหน่วยงาน R & D ที่จะรับผิดชอบการค้นคว้าวิจัย
เพื่อพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ทำให้สามารถลดต้นทุนในการผลิตได้มากมาย, การใช้วัตถุดิบจากบริษัทชั้นนำอย่างมัซซูชิตะ, โตชิบา ยุโรป และอเมริกา เหล่านี้จะสามารถนำพาไดสตาร์และแดวูไปสู่จุดหมายปลายทางที่ทั้งคู่ตั้งไว้ได้แน่นอน